เลือกหน้า

กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ผนึกหน่วยงานภาครัฐร่วมมือทางวิชาการขับเคลื่อนโครงการป้องกันภัยไซเบอร์แก่ผู้สูงอายุและผู้เปราะบาง

(29 มีนาคม 2567) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม
ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,
พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน
รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการป้องกันภัยไซเบอร์แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง

ณ อาคารรัฐสภา

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางออนไลน์มากขึ้น และผู้สูงอายุมักมีความรู้ความเข้าใจ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จำกัด ประกอบกับอาชญากรรมทางออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลายและชับซ้อน
เช่น การหลอกลวงทางการเงิน การฉ้อโกง และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางออนไลน์ได้ง่าย ด้วยความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อาชญากรรมทางออนไลน์จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนในสังคมควรต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ความรู้
แก่ผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างระบบสนับสนุน เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทัน และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ได้อย่างปลอดภัย

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม กล่าวว่า ตลอดการประชุมของ
คณะกรรมาธิการหลายครั้ง เรามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับภัยออนไลน์ของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 12 ล้านคน นับเป็นจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นการคุกคาม ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านจิตใจและทรัพย์สิน เราจึงต้องการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือในการเพิ่มสัดส่วนการป้องกันภัยแก่ผู้สูงอายุ วันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลงนามความร่วมมือ เพื่อร่วมกันผลักดันกิจกรรมป้องกันไม่ให้เหตุเหล่านี้ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสัมฤทธิ์ของงานในวันนี้จะเป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของโครงการดังกล่าว โดย
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมลงนามและกล่าวถึงความร่วมมือในวันนี้ว่า ภัยออนไลน์หรือภัยไซเบอร์ ปัจจุบันเป็นภัยคุกคามของสังคมไทย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มองว่า ภัยร้ายมาจากสื่อและเทคโนโลยีที่พัฒนามาตามยุคสมัย ในฐานะที่เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราจึงมุ่งมั่นตั้งใจ ผลักดันให้เกิดสื่อที่สร้างการตระหนักรู้ สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน โดยอาศัยการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นที่มาในการลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ เพื่อผนึกกำลัง สร้างวัคซีนไซเบอร์ให้กับพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักแก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง เกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย
2. เพื่อพัฒนากลไก แนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่มีผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเป็นผู้เสียหาย
3. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน กำหนดช่องทางการแจ้งเตือนและแนวทางการช่วยเหลือผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง
ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางออนไลน์
4. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้สูงอายุและ
กลุ่มเปราะบางในโลกออนไลน์
5. เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น และรางวัลชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประกวดหนังสือดีเด่นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือดี มีคุณภาพ และสารประโยชน์สู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้จัดพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้วาดภาพประกอบ และบุคคลทั่วไปผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการผลิตหนังสือ เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญที่จะผลิตหนังสือดี มีคุณค่า มีสารประโยชน์ รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเนื้อหาสาระให้น่าสนใจ ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีหนังสืออ่านที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

ในปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 338 เรื่อง จากสำนักพิมพ์กว่า 90 แห่ง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ
12-18 ปี หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม

โดยผลงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัล ดังนี้

รางวัลดีเด่น
หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี ประเภทสารคดี
เรื่อง เมื่อมะลิผลิบาน
ประพันธ์โดย ผศ. สุทัศน์ ปาละมะ (โครงการสื่อ รู้แล้วรอด ป้องกันการล่วงละเมิด) ; จัดพิมพ์โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รางวัลชมเชย
ประเภทสารคดี มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่
1) ก๊อบแก๊บกับเพ็ตตี้
ประพันธ์โดย แมวอมยิ้ม ; จัดพิมพ์โดย โครงการนิทานวิทยาศาสตร์น่ารู้ สู่หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2) เที่ยวป่าพาเพลิน
ประพันธ์โดย พี่หมี แห่งป่าใหญ่ (โครงการสร้างเด็กดี ด้วยนิทาน ปี 2) ; จัดพิมพ์โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
3) พายล่องท่องเพลิน
ประพันธ์โดย พี่หมี แห่งป่าใหญ่ (โครงการสร้างเด็กดี ด้วยนิทาน ปี 2) ; จัดพิมพ์โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ประเภทสำหรับเด็ก
เมืองดินดี
ประพันธ์โดย แมวอมยิ้ม ; จัดพิมพ์โดย โครงการนิทานวิทยาศาสตร์น่ารู้ สู่หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์