เลือกหน้า

“มนต์รักกันตรึม เฟสติวัล” ผลักดัน Soft Power อาหาร การเเต่งกาย เเละวงดนตรีกันตรึมของดีประจำจังหวัดบุรีรัมย์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ ร่วมกับ ช่องวัน31 เเละจังหวัดบุรีรัมย์ จัดงาน “มนต์รักกันตรึม เฟสติวัล” เพื่อสนับสนุนเเละส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวชุมชน เชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งผลักดัน Soft Power ของจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งทางด้าน อาหาร การแสดง การเเต่งกาย ศิลปะการต่อสู้ ประเพณี เเละที่สำคัญร่วมเผยเเพร่วงดนตรี “กันตรึม” ให้เป็นที่รู้จัก ณ ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ภายในงาน ได้รับเกียรติจากนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , คุณกรอบแก้ว ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์ภาพลักษณ์และการสื่อสาร บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด รวมไปถึงผู้กำกับ ผู้เขียนบท และนักแสดงเข้าร่วมงาน

“มนต์รักกันตรึม เฟสติวัล” เป็นหนึ่งในฉาก Highlight ของละคร “มนต์รักกันตรึม” ผลงานผู้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำจากโบราณสถานที่มีชื่อเสียงอย่าง “ปราสาทเมืองต่ำ” งานนี้จึงถือว่าเป็นการสร้างเทศกาลเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้ร่วมงานให้เหมือนอยู่บรรยากาศในละครจริง ๆ

สามารถติดตามรับชมละคร “มนต์รักกันตรึม” ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 22.20 น. ทางช่องวัน31

เเละรับชมย้อนหลังได้ที่: https://youtube.com/playlist?list=PLXopbKxiivxrgn8WavEwRQ57BMFSkty_4&si=HwQj2gvtbOZs5aUp

คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประชุมครั้งที่ 2/2567

(23 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.30 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2567

โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข่าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (Microsoft Team)

ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนมกราคม-เมษายน 2567

วันสงกรานต์ได้รับความสนใจสูงสุด จากผลสำรวจการสื่อสารออนไลน์ใน 4 เดือนแรกของปี 67 (มกราคม – เมษายน) ขณะที่การเมืองไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement จากกลุ่มเนื้อหาเทศกาลมากที่สุด ส่วนคนทั่วไปให้ความสนใจเรื่องบันเทิงมากที่สุด ด้าน TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม

ขณะที่ประเพณีสงกรานต์ 2567 ซึ่งอยู่ใน กลุ่มเนื้อหาเทศกาลและวันสำคัญ ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 1 ในโซเชียลมีเดีย ด้วยสัดส่วนยอด Engagement ที่ 26.87% กลับพบว่า เนื้อหาทางการเมืองไม่ติดใน 10 อันดับความสนใจของเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 (พบเรื่องการเมืองเพียง 1 ประเด็นในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) แตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่เนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน 2566 จากกระแสการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยประเด็นวันสงกรานต์ในปีที่แล้ว ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายนและในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566

เหตุที่กระแสวันสงกรานต์ 2567 กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจและสื่อสารสร้าง Engagement มากที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี อาจเป็นเพราะช่วงปลายปี 2566 UNESCO ประกาศให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ด้านรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ขานรับยกระดับให้วันสงกรานต์ เป็น Mega Event สอดรับกับนโยบาย Soft Power โดยมีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ช่วยสื่อสารสร้าง Engagement จากกลุ่มเนื้อหาเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา เช่น สงกรานต์ หลานม่า ลาบูบู้ ป้าบัวผัน เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement จนพบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567  ดังนี้

อันดับที่ 1 ประเพณีสงกรานต์ 2567

          ประพณีสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นเทศกาลสำคัญสำหรับคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทย ที่มีความเคารพผู้ใหญ่ มีการละเล่นสาดน้ำสนุกสนาน ในแง่ของสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า Engagement จำนวนมากมาจากดารานักแสดงที่โพสต์ร่วมประเพณีสงกรานต์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เจแปน ภานุพรรณ น้องนุช      ประทุมทอง และ วันเดอร์เฟรม เป็นต้น รองลงมาเป็นการกล่าวถึงกับเทศกาลสงกรานต์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในแง่ความสนุกสนาน รวมถึงเพลงที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงสงกรานต์โดยเฉพาะ เมร่อน ร้องโดย เอแคลร์ JUEPAK ft จ๊ะ นงผณี X GUNNER  โดยทั้งหมด ทำให้วันสงกรานต์กลายเป็นประเด็นที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สื่อสารและสร้าง Engagement มากที่สุดทั้งในเดือนเมษายน 2567 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 ต่างจากผลการสำรวจในเดือนเมษายน ปี 2566 ที่พบว่า ประเด็นที่สามารถสร้าง Engagement คือประเด็น การปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อหาการเมือง โดยประเพณีสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก

อันดับที่ 2 วง BUS ในงาน TOTY Music Awards

          วง BUS ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล TOTY Music Awards 2023 โดยได้รับรางวัล Best Music of the Year สาขา Male Group และรางวัล Best Performance of the Year ทำให้ BEUS หรือกลุ่มแฟนคลับของวง
ได้สื่อสารร่วมแสดงความยินดีกับรางวัลดังกล่าว ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะทาง
X

อันดับที่ 3 เปิดตัวภาพยนตร์หลานม่า

          ภาพยนตร์หลานม่า เข้าฉายครั้งแรก วันที่ 4 เมษายน 2567 นำแสดงโดย บิวกิ้น พุฒิพงศ์ และ ตู ต้นตะวัน โดยเนื้อหาเป็นภาพยนตร์ไทยแนวครอบครัวที่มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการรีวิวภาพยนตร์หลังจากได้รับชมในทิศทางชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้

อันดับที่ 4 งาน GMMTV2024 UP&ABOVE PART 2

          เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 GMMTV ได้จัดงานแถลงข่าว “GMMTV 2024 UP & ABOVE PART 2 เปิดตัวคอนเทนต์บันเทิงทั้งโปรเจคพิเศษต่าง ๆ รวมถึงซีรีส์ 14 เรื่องที่จะผลิตขึ้นในพาร์ตที่สองของปี 2024 โดยในงานมีนักแสดงและศิลปินในสังกัด GMMTV เข้าร่วมจำนวนมาก โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Official Account ของ GMMTV และกลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่เข้ามาสร้าง Engagement ในช่องทางของดารานักแสดง เช่น เจมิไนท์ นรวิชญ์, ดิว จิรวรรตน์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ เป็นต้น

อันดับที่ 5 ความนิยม Art Toy ลาบูบู้

          ลาบูบู้ (Labubu) เป็นอาร์ตทอยที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะคอลเลกชัน ลาบูบู้มาการอง ที่ ลิซ่า
ลลิษา มโนบาล ได้ถ่ายรูปกับลาบูบู้คอลเลกชันนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาของลาบูบู้
พุ่งสูงขึ้นแตะหลักหมื่นบาท ในแง่ของสื่อสารในสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแกะกล่องสุ่ม ทั้งจากประชาชนทั่วไป ดารานักแสดง และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนั้นยังมีการออกมาเตือนให้ระวังมิจฉาชีพ และ ดราม่า พิมรี่ พาย ไลฟ์สดขายลาบูบู้ ในราคาถูกกว่าตลาด

อันดับที่ 6 การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้

          วันที่ 21 มีนาคม 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเกาหลีใต้ โดยทีมชาติไทยสามารถตีเสมอเกาหลีใต้ 1-1 พร้อมทำลายสถิติที่สามารถยิงประตูทีมชาติเกาหลีใต้ได้ในรอบ 26 ปี จากการทำประตูของ แบงค์ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ทำให้แฟนคลับออกมาชื่นชมทีมชาติไทยและ แบงค์ ศุภณัฏฐ์ ในการทำประตูประวัติศาสตร์นี้ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง Facebook

อันดับที่ 7 กะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11

          เกิดเหตุการณ์กลุ่มกะเทยชาวฟิลิปปินส์ 20 คนทำร้ายร่างกายกลุ่มกะเทยชาวไทย 4 คนบริเวณซอยสุขุมวิท 11 แล้วโพสต์คลิปเหยียดในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มกะเทยชาวไทย จึงนัดรวมตัวกันหน้าโรงแรมที่กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์พักอาศัย เมื่อตำรวจนำตัวกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ลงมาจากที่พัก ก็เกิดความวุ่นวายขึ้น เหตุการณ์นี้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่อนัดหมาย รายงานสถานการณ์ และสื่อสารชื่นชมกลุ่มกะเทยที่ไปรวมตัวกันในครั้งนี้

อันดับที่ 8 เตนล์ ชิตพล วง NCT เตรียมออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก

          เตนล์ ชิตพล ศิลปินจากวง NCT ประกาศวันออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
ส่งผลให้กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ วง
NCT และ เตนล์ ชิตพล ต่างร่วมแสดงความยินดี และรอการมาของมินิอัลบั้มในครั้งนี้ ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง X

อันดับที่ 9 คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว

          ป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ บัวผัน ตันสุ ถูกพบเป็นศพบริเวณบ่อน้ำ ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เบื้องต้นลุงเปี๊ยก ผู้เป็นสามี ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆาตกรรม ต่อมา ณัฐดนัย นะราช ผู้สื่อข่าวรายการลุยชนข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 พบสิ่งผิดปกติ เช่น ลุงเปี๊ยกไม่สามารถตอบคำถามนักข่าวได้ จากกล้องวงจรปิดพบกลุ่มเด็กอายุ 13 – 16 ปีทำร้ายป้าบัวผันในช่วงเวลาตี 2 เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างออกมาสื่อสารให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำงานที่ผิดพลาดของตำรวจ และยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงว่าทำไมลุงเปี๊ยกถึงได้กลายเป็นผู้ต้องหา และการไม่ดำเนินการใดกับผู้เยาว์ที่ก่ออาชญากรรมรุนแรง

อันดับที่ 10 มหกรรมฟุตบอลดาราช่อง 3

          วันที่ 23 มีนาคม 2567 โอกาสที่ช่อง 3 ครบรอบ 54 ปี จึงจัดงานฉลองในชื่อ 54 ปี 3 Miracles ที่สนามศุภชลาศัย โดยมีดารานักแสดงร่วมงานกว่า 70 คน มีการแข่งขันฟุตบอลของทีมดารา โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากโพสต์บรรยากาศในงาน ภาพดารานักแสดงที่เข้าร่วมงาน เช่น คิม คิมเบอร์ลี่, หมาก ปริญ, ญาญ่า อุรัสยา ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง Instagram รวมถึง ช่องทาง TikTok อย่างเป็นทางการของช่อง 3 เป็นต้น

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนมกราคม – เมษายน 2567 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 5 ประเด็นคิดเป็น 43.07% ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาเทศกาลซึ่งมีเพียง 1 ประเด็น แต่มีสัดส่วนถึง 26.87% ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งมี 2 ประเด็น มีสัดส่วน 13.34% กลุ่มเนื้อหาความงาม และ แฟชั่น มี 1ประเด็น สัดส่วนเป็น 8.40% และกลุ่มเนื้อหากีฬามี 1 ประเด็น สัดส่วน 8.32%

 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 พบว่า กลุ่มเนื้อหาการเมือง ได้รับความสนใจมากถึง 68% ของ Engagement ที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มเนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้จากกระแสการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยประเด็นเรื่องวันสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายน 2566 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566
แต่การสื่อสารออนไลน์ช่วงมกราคม-เมษายน 2567 กลับไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองติด 1 ใน 10 (พบประเด็นการเมืองเพียงประเด็นเดียวในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของสภาพการณ์การสื่อสารของสังคมในแต่ละปี เช่น ปี 2566 มีการเลือกตั้งทั่วไป ประเด็นการเมืองจึงอยู่ในความสนใจ ในขณะที่ปลายปี 2566 UNESCO ประกาศให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ส่งผลให้วันสงกรานต์ปี 2567 ถูกเรียกเป็นมหาสงกรานต์ และอยู่ในความสนใจของประชาชน

10 ประเด็น 5 กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 153,082,158 Engagement จาก 5 ประเด็น คือ วง BUS ในงาน TOTY Music Awards (47,108,325 Engagement), เปิดตัวภาพยนตร์หลานม่า (33,429,532 Engagement), งาน GMMTV2024 UP&ABOVE PART 2 (30,528,804 Engagement), เตนล์ ชิตพล วง NCT เตรียมออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก (24,212,208 Engagement) และ มหกรรมฟุตบอลดาราช่อง 3  (17,803,289 Engagement) รวมเป็นสัดส่วน 43.07%

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น คือ ประเพณีสงกรานต์ 2567 จำนวน 95,496,128 Engagement คิดเป็น 28.87%  

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 2 ประเด็น คือ กะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11 (27,053,545 Engagement) และ คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว (20,342,435 Engagement) รวมเป็น สัดส่วน 13.34%  

กลุ่มเนื้อหาความงาม และแฟชั่น 1 ประเด็น คือ ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ จำนวน 29,868,180 Engagement คิดเป็น 8.40%  

กลุ่มเนื้อหากีฬา 1 ประเด็น คือ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้ จำนวน  29,569,939 Engagement คิดเป็น 8.32%

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (71.91%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (19.33%), สื่อ สำนักข่าว (8.52%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และ ภาครัฐ รวม 0.24% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 38.28% รองลงมาได้แก่ Instagram (29.58%), X (27.48%), Facebook (4.00%),  YouTube (0.66%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (46.96%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (44.63%), สื่อ สำนักข่าว (4.99%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 3.42% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 74.68% รองลงมาได้แก่ Instagram (11.66%), Facebook (9.20%), X (3.59%), YouTube (0.87%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (45.72%) รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (30.30%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.58%), และอื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง และแบรนด์ รวม 0.4% โดยมี X เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 38.31% รองลงมาได้แก่ TikTok (33.52%), Facebook (20.60%), Instagram (4.19%), YouTube (3.38%)

กลุ่มเนื้อหาความงาม และแฟชั่น มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (59.04%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (36.28%), สื่อ สำนักข่าว (4.52%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.16% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 72.05% รองลงมาได้แก่ Facebook (11.14%), Instagram (9.19%), X (6.69%), YouTube (0.93%)

กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (45.80%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (44.82%), สื่อ สำนักข่าว (9.18%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.2% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 35.58% รองลงมาได้แก่ Instagram (28.46%), TikTok (22.77%), X (9.86%), YouTube (3.33%)

ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 พบว่า แต่ละกลุ่มเนื้อหามีสัดส่วน Engagement ของผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์มการสื่อสารที่แตกต่างกัน

วิเคราะห์กลุ่มผู้สื่อสาร

          ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567 สามารถจำแนกผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 5 กลุ่ม คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 55.84% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (32.86%), สื่อ สำนักข่าว (10.19%), และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 1.11%

โดยผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และอาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ชื่นชอบดารา ศิลปินจากกิจกรรมต่าง ๆ และกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง อย่างกะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11 และคดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว

ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา เทศกาล, ความงาม และแฟชั่น และกีฬา จากประเพณีสงกรานต์ 2567, ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง มักจะมีผู้ใช้งานทั่วไปเป็นผู้สร้าง Engagement หลักจากกลุ่มแฟนคลับหรือผู้ที่ชื่นชอบดาราและยังสามารถสร้าง Engagement ในกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567  ได้มากกว่าทุกกลุ่ม (45.72%)  ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี มักเป็นประเด็น หรือเรื่องราวเร้าอารมณ์ให้กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เกิดความรู้สึกร่วม และแสดงความคิดเห็นไปไกลกว่าสิ่งที่สำนักข่าวนำเสนอ เช่น การโพสต์รวมตัวกันของกะเทยที่ซอยสุขุมวิท 11 หรือ ความผิดหวังในการทำงานของตำรวจจากคดีฆาตกรรมป้าบัวผัน ที่สระแก้ว เป็นต้น แตกต่างจากผลสำรวจช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน  2566 ที่พบว่า ผู้สื่อสารในกลุ่มสื่อ สำนักข่าว คือผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุได้มากกว่าทุกกลุ่ม (41.12%)      

วิเคราะห์แพลตฟอร์มการสื่อสาร

 เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนมกราคม – เมษายน 2567 TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในการแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอสั้น ทำให้เหมาะกับการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดกิจกรรม  การละเล่นต่างๆ  ทั้งการเล่นสาดน้ำ ทำให้ผู้คนอยากแชร์หรือเก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นไว้

เมื่อพิจารณาที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่มี Engagement มากกว่ากลุ่มเนื้อหาอื่น พบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหานี้ คือ TikTok ที่ 38.28% รองลงมาได้แก่ Instagram (29.58%), X (27.48%), Facebook (4.00%), YouTube (0.66%) แตกต่างจากในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่พบว่ากลุ่มเนื้อหาการเมืองสร้าง Engagement ได้มากที่สุด จากกระแสความตื่นตัวในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยเนื้อหาที่ได้รับ Engagement จำนวนมาก คือ ปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกลและการดีเบตของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ในภาพรวม เมื่อพิจารณาในแง่ของแพลตฟอร์ม TikTok ยังคงสร้าง Engagement ได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจาก กลุ่มแฟนคลับดารา ศิลปิน ที่แบ่งปันรูปภาพ วิดีโอหรือช่วงเวลาประทับใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok Instagram และ X โดยข้อความที่ได้รับ Engagement สูงส่วนใหญ่เป็นโพสต์จากงานแถลงข่าว GMMTV 2024 UP & ABOVE PART 2 และ วง BUS ในงาน TOTY Music Awards จากกลุ่มที่ชื่นชอบศิลปินดาราที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือน มกราคม – เมษายน 2567 ประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ ประเพณีสงกรานต์ 2567 ด้วยสัดส่วน 26.87% ซึ่งถือเป็นประเด็นเดียวในกลุ่มเนื้อหาเทศกาลที่ติดอันดับในช่วงสำรวจ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงได้รับความสนใจสูงที่สุด ที่ 43.07% นอกจากนี้ยังมีอีก 3 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจรองลงมาคือ กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม มีสัดส่วน 13.34% กลุ่มเนื้อหาความงาม และ แฟชั่น มีสัดส่วนเป็น 8.40% และกลุ่มเนื้อหา กีฬามีสัดส่วน 8.32%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง, เทศกาล เป็นกลุ่มที่สร้าง Engagement ได้สูงในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 อาจเพราะเป็นประเด็นที่เป็นความสุข ความบันเทิงในเทศกาล ประเด็นที่เป็นความชื่นชอบในบุคคล/สื่อ/กิจกรรมทางบันเทิงเช่นเดียวกับผลการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 66 แต่ประเด็นที่จริงจัง กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่าง กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ก็สามารถสร้าง Engagement ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ เดิมมีผู้สื่อสารหลักเป็น สื่อ สำนักข่าว แต่ในช่วง มกราคม – เมษายน 2567 กลับกลายเป็นบุคคลทั่วไปที่สร้าง Engagement สูงถึง 45.72% ตามด้วย สื่อ สำนักข่าว (30.30%) ซึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นกะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาทที่สุขุมวิท 11 และ คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว เป็นประเด็นเชิงเร้าอารมณ์ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าที่สื่อและสำนักข่าวสามารถนำเสนอ  

          นอกจากกลุ่มเนื้อหาหลักที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากติดต่อกัน อย่าง สื่อสิ่งบันเทิง เทศกาล และอาชญากรรมแล้ว ในเดือนนี้มีกลุ่มเนื้อหา ความงามและแฟชัน กลุ่มเนื้อหากีฬา จาก ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ และ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทั้ง 2 กลุ่มเนื้อหาได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ได้รับอิทธิพลจากผู้มีชื่อเสียง จากกรณี ลิซ่า BLACKPINK ถ่ายรูปคู่กับลาบูบู้ ส่งผลให้กระแสความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจากผู้มีชื่อเสียงและประชาชนทั่วไปที่ต้องการตามกระแสความนิยมนี้ ส่งผลให้ราคาของลาบูบู้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนประเด็นทีมชาติไทย สามารถตีเสมอทีมชาติเกาหลีใต้ได้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรอบ 24 ปี ทำให้เกิดเป็นกระแสการชื่นชมฟุตบอลทีมชาติไทย และแบงค์ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ผู้ทำประตูประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองพิจารณาประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ตั้งแต่ช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567  พบว่า ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางการเมืองใดที่ติดอันดับความสนใจ  (พบเพียง 1 ประเด็นในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) แตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีประเด็นในกลุ่มเนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ จากกระแสการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤษภาคม 2566 ในขณะที่ประเด็นเรื่องวันสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายน 2566 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566

ความแตกต่างของผลการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ในช่วงปี 2566 และ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อ 28 มีนาคม 2567 ว่า ผลการสำรวจศึกษาในปี 2566 พบว่า คนส่วนใหญ่สนใจและสื่อสารเรื่องการเมืองมากที่สุด เพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่สภาวะปกติ เช่นเดียวกันกับงานการศึกษาของต่างประเทศในปีที่มีการเลือกตั้ง ก็จะเห็นข้อมูลและปรากฎการณ์ที่คล้ายกัน รวมถึงชี้ให้เห็นว่าจากเดิมคนมักคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง แต่งานครั้งนี้ทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ความสนใจร่วมดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆโดยในปี 2567 เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ ทำให้ความสนใจทางการเมืองได้รับความสนใจลดน้อยลงโดยไม่ติดทั้ง 1 ใน 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจใน 4 เดือนแรกของปี 2567

ผู้สื่อสาร

ในแง่ผู้สื่อสารพบว่าสัดส่วนของผู้สื่อสารที่แตกต่างกับ 4 เดือนแรกของปี 2566 กล่าวคือ ในช่วงเดือน มกราคมถึงเมษายน 2566 มีสัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 71.31% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 12.81%, สื่อ สำนักข่าว 12.20%, และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 3.68% ในขณะที่ปี 2567 มีสัดส่วนผู้สื่อสารคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 55.84% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 32.86%, สื่อ สำนักข่าว 10.19%, และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 1.11% สัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้มากขึ้นมาจากประเพณีสงกรานต์ 2567 ที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ร่วมงานตามสถานที่ต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้งานทั่วไป แม้จะสร้าง Engagement เป็นอันดับที่ 1 แต่เมื่อเทียบกับปี 2566 มีสัดส่วนลดลงประมาณ 15.47% โดยมาจากกลุ่มเนื้อหาการเมืองที่หายไปในปี 2567 ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว   

แพลตฟอร์ม

จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร ยังคงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่ายจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดติดต่อกันหลายเดือน

ทำอย่างไร? ให้การสื่อสารออนไลน์มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม

การสัมมนาประจำปี  Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 67 นำเสนอ
วิดีทัศน์ผลการศึกษา “การสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี
2566”  ที่ Media Alert ร่วมดำเนินการกับบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด และพบว่า ประเด็นการเมืองได้รับความสนใจสูงสุดในสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 58 โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุด 50% จากการสื่อสารในเกือบทุกกลุ่มเนื้อหา ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วไป คือ ผู้สร้าง Engagement ถึงครึ่งหนึ่งของการสื่อสารออนไลน์ทั้งหมด ต่อท้ายวิดีทัศน์เสนอผลการศึกษา ด้วยการเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไร? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในงาน ข้อมูล  แพลตฟอร์ม  สื่อมวลชน การขับเคลื่อนทางสังคม และวิชาการ 

The Story Thailand เรียงร้อยข้อมูล ความเห็น ข้อเสนอของคณะวิทยากร เพื่อต่อยอดข้อเสนอการขับเคลื่อนทางสังคมบนโลกออนไลน์ ให้ชัดเจน และกระตุ้นความสนใจสู่ปฏิบัติการร่วม 

ส่องปัจจัยช่วยหนุนการขับเคลื่อนทางสังคม 

ในฐานะแพลตฟอร์มที่มียอด Engagement สูงอย่าง TikTok ซึ่งหนึ่งในพันธกิจสำคัญขององค์กร คือ การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สุขภาวะดิจิทัล (Digital Wellness) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สิ่งแวดล้อม (Environment) การสนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย (Diversity & Inclusion) และการศึกษา ( Education) ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย นำเสนอว่า “การพัฒนาคอนเทนต์ให้ปัง ต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจแพลตฟอร์ม และเข้าใจคนฟัง” โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า “เข้าใจตัวเอง” คือ รู้ว่าองค์กรของเราเป็นใคร มีเป้าหมายหรือพันธกิจอย่างไร และสิ่งที่ทำจะเกิดความดีงามอย่างไรกับคนฟัง “เข้าใจแพลตฟอร์ม” คือ รู้ว่าแพลตฟอร์มใดเหมาะกับคนฟังกลุ่มไหน รู้จักรูปแบบ คุณลักษณะ และเครื่องมือพื้นฐานในการใช้งาน สุดท้าย คือ “เข้าใจคนฟัง” รู้ว่า คนฟังยุคปัจจุบันนิยมเสพเนื้อหาสั้น จากเดิมให้ความสนใจใน 8 วินาทีแรก เหลือเพียง 2 วินาที ก็ต้องแปะป้ายจั่วหัวไปเลยว่า ต้องการพูดเรื่องอะไร

นอกจากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ที่กว้างและมากขึ้น (Raise Awareness) หรือสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการกระทำหรือการรณรงค์บางอย่าง (Call to Action) บางแพลตฟอร์มยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนสนับสนุนได้ เช่น TikTok ได้เปิดตัวสติกเกอร์การบริจาค (Donation Sticker) สำหรับตกแต่งวิดีโอ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมบริจาคในแคมเปญขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

“หลายครั้งที่การวางแผนงานขับเคลื่อน ขาดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนสำคัญ ก็คือ ผู้บริโภค” กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพราะบุคคลหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนมักคิดว่า ตนเองอยากพูดอะไรมากกว่าสนใจว่าประชาชนชอบฟังอะไร ซึ่งผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่มีพลวัตสูงมาก ดังนั้น การเลือกพื้นที่นี้เป็นช่องทางขับเคลื่อน ก็ต้องเข้าใจผู้ชม เข้าใจสังคม พร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนคิด และจับกระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงให้เป็น

 

แต่เมื่อใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ และทุกคนสามารถมีเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ เห็นว่า หากต้องการผลิตเนื้อหาที่สร้างผลกระทบทางสังคม กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมี “คนขุดค้น และสร้างฐานข้อมูลต้นทาง อาจโดยสื่อมวลชนหรือบุคคลทั่วไปที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้ชาวเน็ตนำไปขยายผลต่อ” ดังเคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้น เช่น กลุ่มรณรงค์ประเด็นข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP- Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเสียประโยชน์ของเกษตรกรในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพยายามค้นคว้าข้อมูลเหล่านี้ นำไปย่อยให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และเล่าผ่านเสียงของตัวเอง

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า การปลุกกระแสสังคมให้เดินไปสู่การขับเคลื่อนที่ถูกควรและยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ต้องมี “การเชื่อมโยง ออกแบบ และทำงานร่วมกัน”
ยกตัวอย่าง Chris Anderson เจ้าของรายการ TED Talks เคยกล่าวว่า หลายครั้งที่ไอเดียดี ๆ ควรได้รับการขยายผลออกไปมาก ๆ แต่เป็นกระแสอยู่แค่พักเดียว ไม่ค่อยเกิดผลในการเอาไปใช้จริง วิธีแก้ไข คือ การออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือ หรือการถอดองค์ความรู้จากแคมเปญการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับการทำงานสื่อสารออนไลน์แล้วประสบความสำเร็จ แต่เท่าที่เห็นโดยส่วนใหญ่ องค์กรสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ ยังประสบปัญหาการทำงานร่วมกับสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ทำอย่างไรจึงจะเกิดการเชื่อมโยงที่เป็นบวก ไม่ขิงใส่กันไปมา ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องออกแบบและเรียนรู้ร่วมกัน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab เสนอว่า ยอด Engagement ไม่ใช่คำตอบของทุกเรื่อง หากอยู่ที่คุณภาพของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะการขับเคลื่อนในประเด็นย่อย ๆ ที่ถึงแม้จะมี Engagement ต่ำ แต่ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าได้เหมือนกัน ดังนั้น ก้าวต่อไปที่สำคัญ คือ ทำให้เกิด “We Power” ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ที่มีอยู่หลากหลาย จนเกิดความเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งผศ.อภิสิทธิ์ มองว่า สื่อนอกจากเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว อาจเป็นผู้กำหนดวาระ รวมถึงสร้างภาวะสมดุลของข้อมูลให้รอบด้านกับสังคม แล้วให้ผู้ใช้งานทั่วไปและอินฟลูเอนเซอร์นำข้อมูลไปเล่าต่อ จนนำไปสู่การ Call to Action ในที่สุด

จัดการอย่างไร? กับความสนใจบนโลกออนไลน์ที่สั้น ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นต้องใช้เวลาที่ยาว

“ก่อนมีสื่อสังคมออนไลน์ การวางแผนสร้างการรับรู้อาจใช้เวลาสัก 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปิดเวทีให้คนมาเข้าร่วม แล้วทำแคมเปญรณรงค์ต่อสัก 3 เดือน แต่ปัจจุบัน การทำแคมเปญเหลือแค่ 3 วัน การ Engagement นับกันเป็นหลักนาที” กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มว่า นั่นทำให้ศักยภาพของสื่อออนไลน์เดินหน้าไปไกลกว่าสื่อในบริบทเดิม กระทั่งผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถใช้ช่องทางสื่อสารนี้ด้วยตัวเอง ทำให้บางครั้งยอด Engagement ที่สะท้อนกลับมา ไม่ได้วัดว่า คนรับรู้หรือสนใจมากขึ้นจริงหรือไม่ สามารถสร้างผลกระทบที่อยากให้เกิด ณ ปลายทางได้หรือเปล่า ยกตัวอย่าง กลุ่มเรื่องบันเทิงที่มียอด Engagement เล็กน้อย แต่เป็นยอดที่มาจากแฟนคลับที่มีพลังขับเคลื่อนสูงในการสนับสนุนศิลปินดาราที่ตนเองชื่นชอบ ถ้าหยิบมาใช้ให้เป็น ก็จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก

บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา กล่าวว่า การผลิตเนื้อหาสั้น ๆ แบบ Short-form Content ปนด้วยความบันเทิง เป็นวิธีการหนึ่งในการดันยอด Engagement แต่ต้องตระหนักว่า กำลังทำเนื้อหาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายอะไร เพราะถ้ามุ่งแค่การนำเสนอเรื่องราวที่สั้นและบันเทิง เนื้อหาสำคัญที่ควรมี จะหายไป สื่อจึงต้องคิดให้หลากหลาย (Diversify) และเท่าทัน (Media Literacy) การใช้งานอย่างถูกจังหวะเวลา เช่น เลือกทำเนื้อหาสั้นเพื่อเข้าถึงผู้ชม เพื่อให้เกิดกระแสความสนใจ ต่อเนื่องด้วยการทำข่าวยาวเชิงลึกแบบ Long-form ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งจากผู้ฟัง มีเดียเอเจนซี แบรนด์ หรือแพลตฟอร์ม ให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน

แม้ว่า TikTok ได้พัฒนาฟีเจอร์ให้สามารถดาวน์โหลดคลิปวิดีโอที่ยาวเกินกว่า 10 นาทีแล้ว แต่ ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย เห็นว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ใช้งานว่าสนใจอยากชมคลิปยาวหรือไม่ ซึ่งประเด็นการขับเคลื่อนทางสังคมเป็นเรื่องต้องใช้เวลา การทำคลิปสั้นเพื่อเรียกความสนใจ แล้วเชื่อมไปหาลิงก์ที่เป็นเนื้อหาฉบับเต็ม น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหา

“ฟังดูเหมือนเรากำลังมองหาวิธีจัดการกับความสนใจของคนบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสั้นลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ศิลปะในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือการบอกเล่าเรื่องราวสำคัญนั้นยาว” ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion สุนิตย์ เชรษฐา เห็นว่า การ Call to Action แล้วเกิดผลแค่ครั้งเดียว เช่น บริจาคครั้งเดียว แยกขยะครั้งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่ไม่เกิดประโยชน์เท่ากับการผลักดันให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน จึงควรมีการจัดการร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ การกำหนดประเด็น การเชื่อมร้อยประเด็นที่ซับซ้อนกับเรื่องราวที่ต้องเล่ากันยาว การสร้าง Engagement การเลือกใช้สื่อออนไลน์ในการดึงดูดผู้คนอย่างเข้มข้น การจัดการกับประเด็นที่เผยแพร่ผ่านสื่อที่หลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

สื่อออนไลน์กับการขับเคลื่อนไม่ให้ประเด็นจมหาย ไม่ไหลไปตามกระแส และสร้างเรื่อง Toxic

ในมุมมอง “การขับเคลื่อนประเด็นไม่ให้จมหาย” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab ผศ.อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ กล่าวว่า ประเด็นขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน บางครั้งเป็นเรื่องเล็ก ๆ เสียจนบางคนไม่รู้ว่ามี ดังนั้น การ “Connect the Dots” ให้เห็นเป็นภาพใหญ่ระดับประเทศ และรวมพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน (We Power) โดยมี “สื่อ” เป็นตัวกลางร่วมกำหนดวาระ หนุนเสริมเนื้อหาให้มีจำนวนมากขึ้น ทั้งยังมีโอกาสเข้าถึงผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลง เช่น ภาครัฐ นักการเมือง รัฐบาล ขณะที่ผู้ใช้ทั่วไปและอินฟลูเอนเซอร์เข้าไม่ถึง ทำให้ประเด็นตั้งต้นโดยสื่อ กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แข็งแรง ไม่จมหาย และมีแรงขับเคลื่อนสูงขึ้น

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า สื่อใหม่ที่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนภาพการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในอดีตจากที่มีคนคิดและสรุปมาให้และสื่อมีหน้าที่แค่รับไปสื่อสาร มาสู่การเน้นการมีส่วนร่วม เช่น การสื่อสารใน TikTok จนเกิดเป็นกระแสสังคม สามารถดึงความสนใจของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหาข้อยุติ หรือข้อตกลงในยโยบายสาธารณะต่าง ๆ

สำหรับ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) เห็นว่า ไม่มีประเด็นที่จมหาย เพียงแค่หาไม่เจอเพราะอาจเป็นเรื่องที่เล็กมาก แต่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มีเครื่องมือสืบค้นข้อมูลและทำให้พบว่า เคยมีคนเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่พลังอาจหายไป จึงต้องกลับไปหาและดึงคนเหล่านั้นมาช่วยขับเคลื่อน ส่วนประเด็นใดที่ทำไปแล้วไม่ค่อยมีคนสนใจ ก็ควรนำกลับมาพิจารณาใหม่

“เนื้อหาที่มีอยู่จำนวนมากมักเป็นคอนเทนต์เชิงปรากฎการณ์ ทุกคนเห็นความสำคัญแต่มักหยุดอยู่แค่นั้น เหมือนจุดพลุแล้วก็หายไป ทำให้บางประเด็นที่มีความสำคัญแต่ทำการขับเคลื่อนได้แค่สร้างการตระหนักรู้ แต่ไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงปลายทางด้วยวิธีไหน” อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวและยกตัวอย่างเพิ่มเติมในประเด็นปัญหาแก๊ง Cal Center ซึ่งสังคมเห็นถึงภัยที่มาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาระดับปัจเจกบุคคลแต่เป็นภัยระดับภูมิภาคที่ต้องตั้งคำถามกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจ หน่วยงานโทรคมนาคม หรือธนาคาร ซึ่งมีความซับซ้อนและยากในการเล่าเรื่อง

ต่อประเด็น “การสื่อสารเพื่อไม่ให้ไหลไปตามกระแส” ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า กระแสไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่เนื้อหาเล็ก ๆ จากกลุ่มคนเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่อยากสนับสนุนให้เกิดการรวมพลังกัน เช่น การใช้แฮชแท็กร่วมกันต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การจัดข้อมูลหรือเนื้อหาให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อดึงคนเข้ามาดู เกิดพลังของกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังต้องรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่งสิ่งที่ TikTok ทำอยู่ คือ การพัฒนาคุณลักษณะที่ปลอดภัยในการใช้งาน เช่น การร่วมต่อต้านข้อมูลที่ผิดและบิดเบือน หรือแคมเปญ Digital Wellness Hub ที่สอนให้คนรู้จัก “หยุด คิด ตัดสินใจ และลงมือทำ” (Stop, Think, Decide and Act) เพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ข้อมูลไหลไปเร็วมาก ๆ หากสามารถหยุดคิดก่อนตัดสินใจแชร์หรือเชื่อ จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง

“สิ่งที่เป็นกระแส เป็นไวรัล ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป แต่ทำอย่างไรให้เนื้อหาที่เล็กกว่ามีที่ทางของตัวเองด้วย ซี่งสื่อต้องจัดสมดุลให้ดีระหว่างการเอายอด Engagement ไว้เลี้ยงกระแส กับการทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะสื่อ” อรพิณ กล่าว

สุนิตย์ เสนอ 3 ทางออก (Solutions) ได้แก่ 1) การส่งเสริมเนื้อหาด้านบวก ไม่ว่าจะเป็น Long Form หรือ Short Form ที่มีคุณภาพสูง การให้ทุนสนับสนุนสื่อที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึก หรือแนวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น 2) การป้องกันกระแสด้านลบ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน แพลตฟอร์ม และสื่อบุคคล ในการกำกับดูแลว่าเรื่องใดไม่เหมาะสม ผิดหลักเกณฑ์ที่ชุมชนโลกออนไลน์กำหนด ผิดข้อบังคับของแพลตฟอร์ม โดยไม่เป็นการปิดกั้นหรือคุกคาม และ 3) แบรนด์ที่ให้ทุนต้องแน่ใจว่า ไม่ได้สนับสนุนอินฟลูเอนเซอร์หรือการสื่อสารด้านลบ ที่เป็นภัยต่อชื่อเสียงของแบรนด์ แต่สนับสนุนการสื่อสารประเด็นสังคมร่วมกันของผู้อยู่ในแวดวงหรือในสายงานจริง เพื่อไม่ให้เงินสนับสนุนไหลไปในที่ ๆ ไม่สมควร

กล้า เสนอการทำ Collaboration โดยนำคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์มาคุยกัน เพื่อรับทราบข้อมูลและช่วยกันปรับสมดุลของการสื่อสารให้เข้ารูปเข้ารอยกว่าเดิม อาจช่วยให้กระแสถูกเกลี่ยไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น เพราะหลายครั้งที่นำเสนอข้อมูลไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะได้รับการตอบกลับมาว่า พวกเขาให้ความสนใจกับการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยไม่รู้ว่าได้ก่อผลเสียตามมา เช่น แบรนด์ต้องการสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดขายแต่ทำร้ายสังคม หรือ สังคมเรียกร้องบางสิ่งที่ทำร้ายองค์กร

ตบท้ายด้วย “การรับมือกับ Toxic บนโลกออนไลน์” กล้า แนะว่า “ถ้าฟังแล้ว Toxic ก็ไม่ต้องฟัง” เราฟังความเห็นเพราะต้องการนำมาปรับปรุง แต่ความเห็น Toxic เป็นอารมณ์ล้วน ๆ จึงขึ้นอยู่กับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของคนฟังที่จะไม่รับ ไม่คล้อยตาม ไม่รับการบูลลี่ ยกเว้นว่าอยากทะเลาะ เช่นเดียวกับ ผศ.อภิสิทธิ์ ซึ่งเห็นว่า ขอแค่ “รู้เท่าทัน ก็จะไม่มีอารมณ์ร่วม”

ชนิดา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ TikTok มีฟีเจอร์ตั้งค่าคำที่ไม่ชอบ คำที่เห็นแล้วบาดใจ รวมถึงความเห็นเป็นพิษ ไม่ให้ปรากฏเวลาลงคลิปวิดีโอหรือไลฟ์สตรีม ทั้งเจ้าของบัญชีหรือผู้ชมสามารถกดลบหรือรายงานได้เหมือนกัน ขอเพียงศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ของเครื่องมือที่แพลตฟอร์มเตรียมให้และใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งที่สื่อออกไป ขณะที่ อรพิณ กล่าวว่า ถ้าความเห็นนั้นเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ไม่ใช่ไอโอ โดยประสบการณ์แล้ว สามารถพูดคุยให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันได้

ด้าน สุนิตย์ เห็นว่า หากเป็นบุคคลทั่วไป ต้องมีความรู้ความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ส่วนแพลตฟอร์มต้องมีความรับผิดชอบและให้การช่วยเหลือ สำหรับพื้นที่สื่อออนไลน์ที่มีการจัดการ เช่น ในกลุ่ม Facebook กลุ่ม Line ควรกำหนดกติการ่วมกันในการเสนอความเห็นที่ไม่รุนแรง หรือปิดกั้นการมองเห็นความเห็น Toxic หากพบว่าใครไม่ปฏิบัติตาม

เมื่อประเด็นที่มี Engagement สูง มักเป็นเรื่องใกล้ตัว มีส่วนร่วมง่าย ทำอย่างไร? ให้ประเด็นสาธารณะหนัก ๆ เป็นที่สนใจ

ชนิดา กล่าวว่า ตัวเนื้อหาต้องมาก่อน แล้วค่อยมาพัฒนาเรื่อง Engagement ในภายหลัง หากเนื้อหาดีจริง สรุปได้ดี ไม่ว่าอย่างไรก็มี Engagement มีไวรัล เว้นแต่ว่าวิธีการสื่อสารอาจยังไม่โดนใจ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปยังสิ่งที่ได้กล่าวไว้ คือ ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักคนฟัง รู้จักแพลตฟอร์ม แต่ถ้าเนื้อหานั้นเข้าถึงยากมาก ก็สามารถใช้ผู้นำความคิด หรือ KOL (Key Opinion Leader) ที่สอดคล้องกับประเด็นสื่อสาร ในการดึงดูดคนให้สนใจประเด็นหรือทำให้เรื่องราวน่าติดตามมากขึ้นได้ อย่างประเด็นการแก้กฎหมายที่เข้าถึงยาก การใช้ KOL ที่มีแฟนคลับมาก เช่น นางงามหรือดาราที่มีชื่อเสียงมาเล่าเรื่อง เท่ากับเป็นการดึงคนวงนอกที่ไม่เคยสนใจประเด็นเหล่านี้มาก่อน เข้ามามีส่วนร่วมหรือสร้างการตระหนักรู้มากขึ้น

อรพิณ กล่าวว่า “หากคิดแบบใช้การตลาดนำ ก็ต้องใช้ KOL” การเล่าคนเดียวโดยสำนักข่าวเดียว อาจไม่มีพลังมากพอเท่ากับมีหลายคนมาช่วยเล่า ทำให้ข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น มีความถี่มากพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อระบบการค้นหา นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตาม เราต้องใส่โครงสร้าง ใส่ข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบ แต่ก็หนีไม่พ้นต้องมีการปลุกเร้าให้คนฟังเกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วม เพราะการให้แต่ข้อมูลมักไม่ค่อยสำเร็จ ขณะที่ สุนิตย์ กล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มนุษย์มีสมองข้างหนึ่งไว้ใช้ในการคิดวิเคราะห์ แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร ต้องมีสมองอีกข้างที่เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ ไว้ประเมินความสำคัญ หรือการให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ได้ย้ำถึงการสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืน ไม่ควรเกิดเป็นช่วง ๆ เป็นจังหวะ ๆ แล้วหายไป

ผศ.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องราวที่ประกอบด้วยความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ Engagement สูง แต่อยากให้กำลังใจสื่อว่า ขอให้ผลักดันต่อไปในเรื่องที่แม้ Engagement ต่ำ แต่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับสังคม เพราะประเด็นบางเรื่อง เช่น ความเจ็บป่วย หนี้สิ้น คนอ่านเพราะอยากมีความรู้ แต่ไม่อยากแชร์เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าป่วย ไม่อยาก Engagement เพราะไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเป็นหนี้ ถ้าสื่อเข้าใจและพยายามขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ จนสังคมมองเห็นความสำคัญ ทุกอย่างจะดีขึ้น

กล้า กล่าวว่า เมื่อเรื่องใกล้ตัวมีความเฉพาะตัว (Personalize) สูง จึงเข้าถึงคนทุกคนได้ง่าย ขณะที่ประเด็นสาธารณะหนัก ๆ เป็น Single Message ที่เน้นสื่อสารแบบ one size fits all คือ เนื้อหาหนึ่งเดียวใช้ได้กับทุกคน เป็นไปได้ไหมที่จะแตกประเด็นสาธารณะหลักออกเป็นประเด็นย่อยสัก 10-20 เรื่อง แล้วทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น นำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแตกเป็นประเด็นย่อยที่เน้นส่งผลกับเด็ก พ่อแม่ที่มีลูกก็จะอ่าน หรือ ในบางครั้ง ต้องยอมปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เหมาะกับคนฟัง โดยนักสื่อสารมวลชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ ปรับเรื่องราวที่ยาวและซับซ้อน ในการขับเคลื่อนประเด็นหนัก ๆ ให้เข้าใจได้ในเวลาสั้น ๆ

ท้ายที่สุด มุมมองของวิทยากรส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ภาคเอกชนช่วยผลักดันให้เกิดพลวัต ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง หรือเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน มีแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังในการออกแบบกลยุทธ์การสื่อสารที่โดดเด่น และหลากหลายไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้เป้าหมายหรือพันธกิจมีความคมมากขึ้น เข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มในสังคม และเดินไปสู่ปลายทางเดียวกัน คือ การพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นและดีต่อไป

ดังที่ สุนิตย์ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นต้องชัดเจนว่า จะเปิดใจคุยกันอย่างไรและจะวัดผลสำเร็จที่จับต้องได้ด้วยข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์แบบไหน ที่สำคัญ คือ ต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงปัญหา เพราะประเด็นสาธารณะต่าง ๆ นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ประเด็นปลาในทะเลไทยสูญพันธุ์ที่ระบุเหตุว่าเพราะคลื่นความร้อน โลกร้อน ทั้งที่ความจริงอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงที่ผิดกฏหมาย สะท้อนการเข้าถึงปัญหาที่ไม่ลึกหรือรอบด้านพอ

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ กล่าวปิดท้ายว่า จากผลการศึกษาและการ
จัดเสวนาครั้งนี้ ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารออนไลน์ที่มีบทบาทขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ขณะเดียวกัน การแก้ไขประเด็นความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ยังเป็นโจทย์ที่ต้องดำเนินการต่อ เช่น อันตรายไซเบอร์ต่อเด็ก ต่อกลุ่มผู้อ่อนไหวที่ใช้งานในโลกออนไลน์ รวมถึงการผลักดันความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เกิดขึ้น อาทิ การทำ MOU ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการแก้ปัญหาแก๊ง Call Center การรวมพลังอินฟลูเอนเซอร์ โปรซูเมอร์ทั้งหลาย มาร่วมกันผลิตเนื้อหาดี ๆ เพื่อสร้างโลกของสื่อที่ปลอดภัย ทำให้สังคมและประเทศน่าอยู่

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เชิญร่วมงานเสวนาส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อการขับเคลื่อนสังคม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอเชิญร่วมงานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือและเฝ้าระวังภัยจากสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พร้อมนำเสนอร่างมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม


ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ , คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , คณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป้าหมายการดำเนินงาน คือ ผลักดันและส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เราจึงได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการศึกษาวิจัย สร้างกลไก และจัดกิจกรรมในการส่งเสริมทักษะดังกล่าวผ่านการให้ทุนสนับสนุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) ลงพื้นที่ศึกษาวิธีการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งยังจัดการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อเพื่อติดตามสถานการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้จัดโครงการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2566 และนำผลจากการเสวนาทั้ง 5 ภูมิภาค มาสรุปผลเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป


ภายในงานครั้งนี้พบกับสรุปภาพรวมการเสวนาเกี่ยวกับส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม จากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ สงขลา , น่าน ,กาญจนบุรี, จันทบุรี และอุบลราชธานี พบปัญหามากมายเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค อาทิ ถูกหลอกลวงให้ซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ , ถูกหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ ดอกเบี้ยสูง, ถูกแฮกข้อมูลจากมือถือ, ถูกบูลลี่ทางโลกออนไลน์ ,ถูกหลอกให้รัก ,ภัยจากข่าวลวง ,การพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสาร เป็นต้น
เวทีการพูดคุยของผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากข้อมูลบิดเบือน การแก้ไขวิกฤต และการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว นำโดย ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พร้อมการนำเสนอมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยดร.ตรี บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ปิดท้ายด้วยการนำเสนอร่างมาตรการจากการเสวนา 5 ภูมิภาค


ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการด้านสื่อ ผู้ผลิตสื่อ สื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถเข้าร่วมงานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ในวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 8.00 – 12.15 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ หรือ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Zoom Meeting สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง https://evcnx.co/nKjEN หรือสแกน QR Code ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย