เลือกหน้า

บอร์ดกองทุนสื่อ “เห็นชอบ” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯ สมัยที่ 2

(28 มิถุนายน 2567 ) เวลา 15.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้าประชุม ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบให้ต่อสัญญา นาย ธนกร ศรีสุขใส เป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สมัยที่ 2 เป็นเวลาอีก 4 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

ขอบคุณภาพจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนพฤษภาคม 2567

บางกอกคณิกา ติดอันดับ 1 ประเด็นที่โลกออนไลน์สนใจในเดือน พ.ค. 67  ขณะที่ผลสอบ TCAS ติดอันดับ 7 ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement สูงสุด คือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมต่อเนื่อง

ในเดือนพฤษภาคม 2567 กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 9 ใน 10 อันดับ โดยอันดับที่ 1 คือ บางกอกคณิกา ละครจากช่อง One 31 ด้วยสัดส่วน 17.52% กลุ่มเนื้อหาการศึกษาเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับที่ 7 คือ ประเด็นประกาศผลสอบ TCAS ปี 67 ในสัดส่วน 5.69% ส่วนประเด็นเชิงสังคมอื่น ๆ เช่น ประเด็นขายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว บุ้งทะลุวังเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ไม่ติด 10 อันดับแรก

เหตุที่ละครบางกอกคณิกาเป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจและสร้าง Engagemant มากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 อาจมาจากเนื้อหาที่แตกต่างจากละครไทยทั่วไป เป็นเรื่องของนางคณิกา หรือ หญิงบริการที่ต้องต่อสู้เพื่อไถ่ถอนตนเองให้เป็นอิสระและได้ทำตามความฝันของตน ทำให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละครในทุกตอน นอกจากนั้นยังมีนักแสดงที่มีฐานแฟนคลับออนไลน์อย่างเหนียวแน่นอย่าง อิงฟ้า วราหะ ทำให้บางกอกคณิกาได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ในเดือน พฤษภาคม 2567 ในขณะที่ประกาศผลสอบ TCAS ปี 67 ถือเป็นประเด็นที่ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์กลุ่มเด็กชั้นมัธยมปลายที่กำลังรอผลสอบ ให้ความสนใจสื่อสารมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับตนเองโดยตรง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแชร์ผลการสอบในแพลตฟอร์ม TikTok และ X 

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนพฤษภาคม 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่น บางกอกคณิกา ขวัญฤทัย ดวงใจเทวพรหม GMMTV Outing 2024 เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567  ดังนี้

อันดับที่ 1 ละครบางกอกคณิกา

          บางกอกคณิกา ออกอากาศทางช่อง one 31 เป็นละครย้อนยุคที่เล่าถึง หญิงบริการ 3 คน พยายามจะเป็นอิสระเพื่อทำตามความฝันของตน จึงต้องพยายามหาเงิน เพื่อไถ่ถอนตนเองจากการเป็นหญิงคณิกา อาชีพที่โดนสังคมเหยียดหยาม ด้อยค่า ทำให้ทั้ง 3 คนต้องพยายามกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นคนของ นำแสดงโดยอิงฟ้า วราหะ, ก้อย อรัชพร, ชาร์เลท วาศิตา, อ้อม พิยดา และ นก ฉัตรชัย ในแง่ของสังคมออนไลน์ โพสต์ที่ได้รับ Engagement สูง เช่น การแต่งกายเลียนแบบ (Cover) นักแสดงในเรื่อง, การสัมภาษณ์ชาร์เลท วาศิตา นักแสดงนำ และการตัดฉาก Highlight ของละครในแต่ละสัปดาห์มาโพสต์ เป็นต้น

อันดับที่ 2 ละครขวัญฤทัย

          ขวัญฤทัยเป็นหนึ่งในละครชุด ดวงใจเทวพรหม ที่ออกอากาศมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ทางช่อง 3 นำแสดงโดย ไมค์ ปณิธาน ญดา นริลญา เนื้อเรื่องเล่าถึง ขวัญฤทัย เทวพรหม ที่มีนิสัยห้าว เหมือนผู้ชาย ได้พบกับพันตรีนายแพทย์ฉัตรเกล้า จุฑาเทพ แม้ในตอนแรกจะพยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากแม่ของขวัญฤทัยไม่ชอบหน้า แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต้องช่วยเหลือกันทำให้เริ่มมีความรู้สึกดีต่อกัน ในสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึง Highlight ของละคร เช่น ฉากขวัญฤทัย ปะทะคารมกับมารตีที่แสดงโดยอ๋อม สกาวใจ หรือการเลียนแบบ (Cover) บทพูดภายในละครฉากต่าง ๆ     

อันดับที่ 3 ละครชุดดวงใจเทวพรหม

          ดวงใจเทวพรหมเป็นภาคต่อของละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2556 ในภาคนี้มีทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ ลออจันทร์, ขวัญฤทัย, ใจพิสุทธิ์, ดุจอัปสร และพรชีวัน โดยในสังคมออนไลน์จะมีการติดแฮชแท็ก ดวงใจเทวพรหม ควบคู่กับ Highlight ของละคร นอกจากนั้น ยังมีการโปรโมทกิจกรรมดวงใจเทวพรหม Sports Day ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2567ส่งผลให้ดวงใจเทวพรหมได้รับการกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์  

อันดับที่ 4 กิจกรรม GMMTV Outing 2024

          กิจกรรม GMMTV Outing 2024 จัดขึ้นในวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2567 โดยใช้ชื่อ GMMTV OUTING 2024 UP & ABOVE เว่อร์ มีการ แบ่งทีมเล่นกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมแต่งชุดแฟนซีของนักแสดงในสังกัด GMMTV ในสังคมออนไลน์กล่าวถึงกิจกรรมนี้อย่างมาก กลุ่มผู้สื่อสารส่วนใหญ่มาจากดารา นักแสดงที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วโพสต์ภาพหรือวิดีโอของกิจกรรม และกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามกิจกรรม GMMTV Outing 2024 เช่น โฟร์ท ณัฐวรรธน์, นิว ฐิติภูมิ, เต ตะวัน, เจมิไนน์ นรวิชญ์ เป็นต้น

อันดับที่ 5 คอนเสิร์ต LOVE OUT LOUD FAN FEST

          คอนเสิร์ต LOVE OUT LOUD FAN FEST 2024 เป็นมหกรรมคอนเสิร์ตจาก GMMTV จัดขึ้นวันที่ 18 -19 พฤษภาคม 2567 ในครั้งนี้มีนักแสดงถึง 18 คนแบ่งเป็น 9 คู่ ที่จะพาผู้ชมผจญภัยไป ตามเกาะต่าง ๆ ตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมง โดยผู้ชมในคอนเสิร์ตร่วมกันแบ่งปันภาพลงในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงกลุ่มนักแสดงที่แสดงคอนเสิร์ตร่วมกันโพสต์ภาพคอนเสิร์ตผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการของตนเอง เช่น โฟร์ท ณัฐวรรธน์, เจมิไนน์ นรวิชญ์, เฟิร์ส คณพันธ์, ฟอส จิรัชพวศ์ เป็นต้น

อันดับที่ 6 ซีรีส์ We Are คือเรารักกัน

          We Are คือเรารักกัน ซีรีส์วายจากช่อง GMM25 เป็นเรื่องราวของเพื่อนในมหาวิทยาลัยที่มีทั้งเรื่องวุ่นวายและความรัก โดย Engagement ในสังคมออนไลน์ มาจากการโปรโมทละครจากช่องทางอย่างเป็นทางการของ GMMTV และการโพสต์เชิญชวนให้ชมละครของนักแสดง เช่น ปอนด์ ณราวิชญ์, ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน เป็นต้น   

อันดับที่ 7 ประกาศผลสอบ TCAS ปี 67

          เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นวันประกาศผล Admission ประจำปี 2567 ทำให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่พูดถึงในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ที่สอบติดเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่างเอาผลการสอบมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความยินดี

อันดับที่ 8 งาน Met Gala 2024

          งาน Met Gala 2024 คืองานที่รวมเหล่าคนดังระดับโลกเพื่อโชว์แฟชั่นทุกปี จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนในนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2024 มาในธีม Sleeping Beauties : Reawakening Fashion พร้อม Dress Code “The Garden of Time” สาเหตุหนึ่งที่ งาน Met Gala 2024 ได้รับการกล่าวถึงในประเทศไทยเนื่องจาก ไบร์ท วชิรวิชญ์ ได้ไปร่วมงานในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Burberry ทำให้กลุ่มแฟนคลับและสำนักข่าว ต่างร่วมแสดงความยินดีเนื่องจากเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้

อันดับที่ 9 พิธีแต่งงานของแก้มบุ๋ม ปรียาดาและพีท กันตพร

          แก้มบุ๋ม ปรียาดา สิทธาไชย ดารานักแสดง เข้าพิธีหมั้นและฉลองมงคลสมรสกับพีท กันตพร หาญพาณิชย์ นักธุรกิจในเครือโรงพยาบาลที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 โดยสังคมออนไลน์ทั้งสื่อสำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์และผู้ใช้งานทั่วไป ต่างแชร์ภาพบรรยากาศภายในงาน และร่วมแสดงความยินดีกับงานหมั้นในครั้งนี้

อันดับที่ 10 งานประกาศผลรางวัลนาฏราชครั้งที่ 15

          งานประกาศผลรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 15 จัดขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นเกียรติแก่คนในวงการวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีผลงานออกอากาศในปี 2566 จัดโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยในสังคมออนไลน์ เป็นการกล่าวถึงดาราที่มาร่วมงานโดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์และผู้ใช้งานทั่วไปที่ชื่นชอบดารานักแสดง เช่น เป้ย ปานวาด, ดารานักแสดงจาก GMMTV, ก้อย อรัชพร และชาร์เลท วาศิตา จากละครบางกอกคณิกา, เต้ย จรินทร์พร จากละครมาตาลดา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการโพสต์ขอบคุณรางวัลจากดารานักแสดงเช่น เพจโหนกระแส โพสต์แสดงความยินดีกับหนุ่ม กรรชัย ได้รับรางวัลผู้ประกาศข่าวชายยอดเยี่ยม ริว วชิรวิชญ์ โพสต์แสดงความยินดีกับละครมาตาลดาที่สามารถคว้ารางวัลนาฏราชได้มากถึง 6 รางวัล เป็นต้น

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนพฤษภาคม 2567 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ใน 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 9 ประเด็นคิดเป็น 94.31% และกลุ่มเนื้อหาการศึกษาซึ่งมีเพียง 1 ประเด็น แต่มีสัดส่วนถึง 5.69%

ในขณะที่ประเด็นเชิงสังคมอื่น ๆ พบว่า ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ตัวอย่างเช่น ประเด็นบุ้งทะลุวัง เสียชีวิต ซึ่งติดอันดับ 12 (4,208,929 Engagement ) เช่นเดียวกับประเด็นการขายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ติดอันดับ 15  (1,780,246 Engagement)

10 ประเด็น 2 กลุ่มเนื้อหา  จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม  189,951,871 Engagement จาก 9 ประเด็น คือ ละครบางกอกคณิกา (35,279,196 Engagement), ละครขวัญฤทัย (34,273,913 Engagement), ละครชุดดวงใจเทวพรหม (32,703,798 Engagement), กิจกรรม GMMTV Outing 2024 (25,625,425 Engagement) คอนเสิร์ต LOVE OUT LOUD FAN FEST (20,526,504 Engagement), ซีรีส์ We Are คือเรารักกัน (12,203,791 Engagement), งาน Met Gala 2024 (10,357,173 Engagement), พิธีหมั้นของแก้มบุ๋ม ปรียาดาและพีท กันตพร (10,343,004 Engagement),  งานประกาศผลรางวัลนาฏราชครั้งที่ 15  (8,639,067 Engagement) รวมเป็นสัดส่วน 94.31%

กลุ่มเนื้อหาการศึกษา 1 ประเด็น คือ ประกาศผลสอบ TCAS ปี 67 จำนวน 11,458,366 Engagement คิดเป็น 5.69%  

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (68.91%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (28.47%), สื่อ สำนักข่าว (2.62%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 40.19% รองลงมาได้แก่ Instagram (22.92%), X (22.53%), Facebook (12.90%), YouTube (1.46%)

กลุ่มเนื้อหาการศึกษา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (66.16%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.81%), สื่อ สำนักข่าว (0.03%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 51.95% รองลงมาได้แก่ X (25.16%), Instagram (17.12%), Facebook (5.75%), YouTube (0.02%)

วิเคราะห์กลุ่มผู้สื่อสาร

          ในช่วงพฤษภาคม 2567 สามารถจำแนกผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 3 กลุ่ม คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ในสัดส่วน 67.06% ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (30.46%) และ สื่อ สำนักข่าว (2.48%) โดยผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการชื่นชอบละคร การเลียนแบบ (Cover) ตามตัวละครที่ตนเองชื่นชอบ ผ่านทางสื่อออนไลน์ และผู้ที่ชื่นชอบดารา ศิลปินจากกิจกรรมต่าง ๆ  ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง จากการโพสต์ภาพกิจกรรมที่เข้าร่วม หรือ การสรุปกิจกรรม เช่น การแชร์ภาพกิจกรรมในงาน GMM TV Outing 2024 หรือการแสดงความยินดีกับการหมั้นของแก้มบุ๋ม ปรียาดา กับ พีท กันตพร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีความแตกต่างจากเดือนเมษายน 2567 ตรงที่ในเดือนเมษายน ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือผู้ใช้งานทั่วไป ที่เป็นฝ่ายสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในขณะที่เดือน พฤษภาคม 2567 ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้ยอด Engagement สูงกว่าผู้ใช้งานทั่วไป  แต่เป็นเพราะคนที่สนใจเนื้อหาบันเทิงมักเข้าไปมีส่วนร่วมสื่อสารแสดงความเห็นใต้โพสต์ของศิลปิน ดารา จากกิจกรรมบันเทิงหลายงานที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม เช่น กิจกรรม Outing ของ GMMTV ร่วมงานประกาศผลรางวัลนาฏราชครั้งที่ 15  และงานหมั้นของแก้มบุ๋ม ปรียาดา กับพีท กันตพร เป็นต้น  จึงทำให้คอนเทนต์ต่าง ๆ ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้ยอด Engagement สูงกว่าผู้สื่อสารทุกกลุ่ม

ในแง่ผู้สื่อสารของกลุ่มเนื้อหาการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่จะมาจาก ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 66.16% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.81%), และสื่อ สำนักข่าว (0.03%) ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ส่งสารเป็น นักเรียนที่นำผลสอบมาแสดงในโลกออนไลน์ รวมถึงแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบติด การสำรวจครั้งนี้ จึงสะท้อนให้เห็นภาพของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่ชัดเจนขึ้น และอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ในการส่งเสียงในเรื่องที่ตนสนใจ และส่งผลกระทบกับตนเอง ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อออนไลน์ ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนสอนกวดวิชา มหาวิทยาลัย และเพจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น Dek D และ Dek-Ds TCAS สอบติดไปด้วยกัน ที่โพสต์แสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนสื่อ สำนักข่าว มาจากการโพสต์ข่าวความโปร่งใสในการสอบ TCAS 67 และแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเช่นเดียวกัน

วิเคราะห์แพลตฟอร์มการสื่อสาร

 เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมจากฐานประเด็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรก พบว่า เดือนพฤษภาคม 2567 TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในการแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอสั้น เหมาะกับการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในเดือนนี้จะเห็นคอนเทนต์ที่มีในลักษณะเลียนแบบบทละคร (Cover) ที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง แม้จะเป็นเพียงผู้ใช้งานทั่วไป TikTok จึงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเมื่อพิจารณาที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในช่วงเดือน พบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหานี้ คือ TikTok ที่ 40.19% รองลงมาได้แก่ Instagram (22.92%), X (22.53%), Facebook (12.90%), YouTube (1.46%)  ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผลสำรวจเดือน เมษายน 2567

ในภาพรวม เมื่อพิจารณาในแง่ของแพลตฟอร์ม TikTok ยังคงสร้าง Engagement ได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจาก กลุ่มแฟนคลับดารา ศิลปิน ที่แบ่งปันรูปภาพ วิดีโอหรือช่วงเวลาประทับใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok แต่ใน Instagram และ X ผู้โพสต์ที่ได้รับ Engagement สูงจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่ากลุ่มแฟนคลับหรือผู้ใช้งานทั่วไป โดยข้อความที่ได้รับ Engagement สูงส่วนใหญ่เป็นโพสต์จากละครบางกอกคณิกา ละครขวัญฤทัย ละครชุดดวงใจเทวพรหม และกิจกรรม GMMTV Outing 2024 จากดารานักแสดงรวมถึงผู้ที่ชื่นชอบศิลปิน ดาราที่เข้าร่วมกิจกรรมข้างต้น

จะเห็นได้ว่าในเดือนพฤษภาคม 2567 มีลักษณะสำคัญคือ เมื่อแบ่งกลุ่มประเด็นที่ติด 10 อันดับแรก จะสามารถแบ่งกลุ่มเนื้อหาได้เพียง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหาการศึกษา โดยลักษณะของผู้สื่อสารของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นผู้สื่อสารหลักจากการโพสต์ของดารานักแสดงที่ไปร่วมงาน หรือกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งพบว่า Engagement ส่วนใหญ่ อยู่ในแพลตฟอร์มฟอร์ม TikTok ส่วนกลุ่มเนื้อหาการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปหรือนักเรียน นักศึกษาที่ออกมาโพสต์เกี่ยวกับผลการสอบ TCAS 67 ซึ่งพบว่าสัดส่วน Engagement ครึ่งหนึ่งอยู่ในแพลตฟอร์มฟอร์ม TikTok สะท้อนให้เห็นว่า TikTok คือแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในการใช้สื่อสาร และแสดงความสนใจ ได้ในเกือบทุกกลุ่มประเด็น/เนื้อหา ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิงเท่านั้น อาจเป็นเพราะความง่ายและรวดเร็วในการสร้างคอนเทนต์ตามความสนใจของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถสร้างความสนใจได้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นที่ใช้ตัวอักษรในการสื่อสารเป็นหลัก   

ประเด็นและกลุ่มเนื้อหา
กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนพฤษภาคม 2567 ใน 10 อันดับแรก พบว่า ประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ ละครบางกอกคณิกา ด้วยสัดส่วน 17.52% ในขณะที่ประเด็นเรื่องผลสอบ TCAS ติดอันดับที่ 7 ด้วยสัดส่วน 5.69%  ทั้งนี้ ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงได้รับความสนใจสูงที่สุดเป็นจำนวน 9 ประเด็น คิดเป็นสัดส่วนที่ 94.31%

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นสำคัญที่สังคมให้ความสนใจอื่น ๆ เช่น ข่าวข้าว 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าว และ ประเด็นบุ้งทะลุวังเสียชีวิต พบว่า ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก แต่อยู่ในอันดับที่ 12 และอันดับ 15 (ส่วนใหญ่ เรื่องข้าวจากโครงการจำนำข้าว จะอยู่ในแพลตฟอร์ม Facebook บุ้ง ทะลุวังเสียชีวิติจะอยู่ในแพลตฟอร์ม TikTok) อาจเพราะเป็นประเด็นที่ซับซ้อน มีความอ่อนไหว มีความเห็นที่แตกต่างกันในสังคม หรืออาจเป็นที่จับตาของรัฐ จึงทำให้อันดับความสนใจและ Engagement ที่ปรากฎ ไม่มากเท่า Engagement ในประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อ สิ่งบันเทิง หรือกระทั่งประเด็นเรื่องการศึกษา ที่สาธารณะสามารถสื่อสารแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผยได้มากกว่า และสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของโลกออนไลน์ต่อประเด็นสาธารณะและเรื่องการเมืองที่ลดน้อยลงอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2566

ผู้สื่อสาร

ในแง่ผู้สื่อสารพบว่าสัดส่วนของผู้สื่อสารที่แตกต่างกับเดือนเมษายน 2567 กล่าวคือ ในช่วงเดือนเมษายน 2567 มีสัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 55.84% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (32.86%), สื่อ สำนักข่าว (10.19%), และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 1.11% ในขณะที่เดือนพฤษภาคมมีสัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากสุดคือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ในสัดส่วน 67.06% ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (30.46%) และ สื่อ สำนักข่าว (2.48%) โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้มากขึ้นมาจากละครบางกอกคณิกา, ละครขวัญฤทัย, กิจกรรม GMMTV Outing 2024 ด้วยการโพสต์ภาพหรือวิดิโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรมนั้น ๆ  โดยมีผู้ใช้งานทั่วไปที่มีส่วนทำให้ยอด Engagement เพิ่มขึ้น จากการร่วมสื่อสารแสดงความสนใจภายใต้โพสต์ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์  

          จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้สื่อสารมีส่วนสัมพันธ์กับประเด็นหรือกลุ่มเนื้อหาที่สื่อสาร  โดยนอกจากกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ซึ่งมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อออนไลน์ รวมถึงผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ บรรดาแฟนคลับศิลปินดารา ฯลฯ เป็นผู้สื่อสารสร้าง Engagement ที่สำคัญแล้ว ประเด็นประกาศผลสอบ TCAS ที่ติดอันดับ 7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารและความสนใจของกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังรอผลสอบ ซึ่งถือเป็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่มีพลังในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง ในโลกออนไลน์ได้ด้วยเช่นกัน

แพลตฟอร์ม

จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร ยังคงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่ายจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดติดต่อกันหลายเดือน นอกจาก TikTok แล้ว ยังมีแพลตฟอร์มที่น่าสนใจอย่าง Instagram และ X ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากเป็นอันดับ 2 และ 3 แซงหน้า Facebook ได้ อาจมาจากทั้งสองแพลตฟอร์มเป็นช่องทางที่ศิลปิน ดารา วัยรุ่น นิยมใช้เพื่อติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการกับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบมากกว่า Facebook ทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2567 Facebook สามารถสร้าง Engagement ได้ประมาณ 27 ล้านครั้ง หรือเพียง 12.52 % ของ Engagement รวมทั้ง 10 อันดับ

ในภาพรวม กล่าวได้ว่า แพลตฟอร์มที่ได้รับ Engagement สูงสุด จึงมักมีความสัมพันธ์กับประเด็นหรือกลุ่มเนื้อหาที่สังคมสนใจ และผู้สื่อสารด้วย

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมบำเพ็ญพระราชกุศลกิจกรรม จิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ปันรัก ปันสุข เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

(21 มิถุนายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมบำเพ็ญพระราชกุศลกิจกรรม
จิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ปันรัก ปันสุข เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

นำโดยเจ้าหน้าที่และบุคลากรของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกันบริจาคอาหารและสิ่งของแก่สัตว์พิการ และ บริจาคสิ่งของไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สมุด-หนังสือ และของใช้อุปโภค-บริโภคต่างๆ ให้กับมูลนิธิหลวงตาน้อย ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมหลายด้าน มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือคนพิการ เด็กกำพร้า ผู้ด้อยโอกาส
โดยเน้นการสร้างคนดีให้เป็นคนเก่ง โดยมีนายชิษณุพงศ์ ณ สงขลา เป็นวิทยากรในการประสานงานให้ความรู้และอำนวยความสะดวกในการศึกษาดูงาน

ณ มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
และมูลนิธิหลวงตาน้อย จังหวัดนครปฐม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายให้ความรู้ และพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(20 มิถุนายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม โดยมีผู้บริหาร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุน และ ดร.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ เลขานุการมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และ เยาวชน SEED Thailand ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือด้านการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ให้ความรู้ และพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า มูลนิธินักศึกษาสถาบัน
พระปกเกล้าเพื่อสังคม ทำงานกับกลุ่มเยาวชน SEED Thailand ที่มีเป้าหมายปลายทางเดียวกันกับกองทุน
พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเป้าหมายหลักของเราคือการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกัน เพื่อขยายขอบเขตการทำงานให้มีความเข้มแข็ง กว้างใหญ่มากยิ่งขึ้น และในอนาคตจะร่วมกันคิดกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะ
การรู้เท่าทันสื่อให้มีความเข้มแข็งเข้าสู่สังคมและประเทศชาติมากยิ่งขึ้น

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่จะนำเทคโนโลยีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นวัตกรรม มาสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และ ภูมิคุ้มกัน ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปต่อยอดและสร้างประโยชน์แก่ชุมชน บ้านเมือง เรามุ่งมั่นตั้งใจผลักดันให้เกิดสื่อที่สร้างการตระหนักรู้ เพื่อผนึกกำลังสร้างวัคซีนไซเบอร์ให้กับเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อสถาบันหลักของชาติ หลักประชาธิปไตยรวมถึงความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักประชาธิปไตยและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างผู้นำเยาวชน เปิดให้มีพื้นที่แสดงศักยภาพและความสามารถอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และ จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2567

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2567

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 11.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มอบหมายให้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร    ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2567

โดยมี นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล