เลือกหน้า

ประกาศเเล้ว รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 38 “ประกายความสำเร็จของคนทีวี 38 ปี โทรทัศน์ทองคำ”

(08 มิถุนายน 2567) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 38 “ประกายความสำเร็จของคนทีวี 38 ปี โทรทัศน์ทองคำ” จัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ และมูลนิธิจำนง รังสิกุล ณ ห้องเเกลอรี่ ชั้น G หอศิลป์เเห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน เเละให้เกียรติขึ้นมอบรางวัลเกียรติยศคนทีวี จำนวน 3 รางวัล ให้เเก่ คุณณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์​ “ผู้จัดหญิงแกร่ง แห่งค่ายละครน้ำดี, คุณอุทุมพร ศิลาพันธ์ ​“นางเอกดังในตำนาน ดาวประดับวงการละคร เเละคุณสัญญา คุณากร “พิธีกรแถวหน้า ขวัญใจมหาชน นักแสดงมากฝีมือ”

นอกจากนี้ ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติร่วมประกาศเเละมอบรางวัล จำนวน 2 รางวัล ได้เเก่
– รางวัลรายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่น : รากสุวรรณภูมิ จากสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส
– รางวัลภูมิพลังวัฒนธรรมดีเด่น (Soft Power) : ละครพรหมลิขิต จากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3HD

ทางด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมประกาศเเละมอบรางวัล จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
– รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ดีเด่น : รายการ The Masterpiece เวทีบันลือโลก จากสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวี
– รางวัลรายการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น : รายการห้องเรียนธรรมชาติ จากช่อง ALTV โดยองค์การกระจายเสียงเเละเเพร่ภาพสาธารณะเเห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีคนบันเทิงทั้งเบื้องหน้าเเละเบื้องหลังจากหลากหลายสาขา อาทิ อี๊ด-สุประวัติ, หน่อง อรุโณชา, ก้อง-ปิยะ, เจมส์-จิรายุ, ป๊อก-ปิยธิดา, ด้า-อแมนด้า พร้อมเพรียงกันเข้าร่วมลุ้นรางวัล และร่วมแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลกันอย่างอบอุ่น

โทรทัศน์ไทยในวันที่รายการเด็กหายไป สังคมควรทำอย่างไร ?

ย้อนกลับไปวัยเด็ก ยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต สื่อที่สร้างความเพลิดเพลิน เพิ่มเติมสาระความรู้ และทักษะใหม่ ๆ แก่เด็ก คงหนีไม่พ้น “สื่อโทรทัศน์” ที่เต็มไปด้วยรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอย่างเจ้าขุนทอง สโมสรผึ้งน้อย ทุ่งแสงตะวัน หนูดีมีเรื่องเล่า ดิสนีย์คลับ ซูเปอร์จิ๋ว เทเลทับบีส์ กล้วยหอมจอมซน เป็นต้น

 แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้เด็ก ๆ มีเครื่องมือให้เลือกเปิดรับเนื้อหาที่ตัวเองสนใจเป็นการเฉพาะมากขึ้น การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มสื่อรูปแบบใหม่ วิกฤตความอยู่รอดของสื่อดั้งเดิมต่อรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องยากในการหาผู้สนับสนุนรายการ ทำให้รายการสำหรับเด็กบนหน้าจอโทรทัศน์ค่อย ๆ ลับหายไปตามกาลเวลา ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน นอกจากการ์ตูนจากต่างประเทศแล้ว มักเป็นรายการที่ให้เด็กมาแข่งขันกัน เช่น แข่งขันร้องเพลง แข่งขันทำอาหาร ซึ่งเน้นความสนุกสนานบันเทิง และสามารถขยายฐานผู้ชมจากเด็กไปยังผู้ใหญ่ได้ เช่น ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป ที่ชอบดูความน่ารักของเด็ก       

 

ประเทศไทยกับเส้นทางวิบากของโทรทัศน์สำหรับเด็ก    

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ “หลักเกณฑ์การจัดทําผังรายการสําหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหาสำหรับเด็กอย่างเหมาะสมผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว และเป็นสื่อที่เข้าถึงวัยเด็กได้ง่าย โดยกำหนดให้สื่อโทรทัศน์จัดสรรเวลาอย่างน้อย 60 นาทีให้กับรายการสำหรับเด็ก ในช่วงเวลา 16.00-18.00 น..ของทุกวัน และช่วงเวลา 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์  และเมื่อมีการเปิดประมูลโทรทัศน์ดิจิทัลในปี 2557 กสทช.ก็กำหนดให้มีช่องโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่อง ที่ผลการประมูล คือ ช่อง MCOT Family (บมจ. อสมท.)  ช่อง 3 Family (บมจ. บีอีซี เวิลด์) 
และ
LOCA (บจก. ไทยทีวี) แต่ภายในเวลาเพียง 1 ปี ช่อง LOCA ประกาศยุติการออกอากาศ  และบริษัท ไทยทีวี
ยื่นฟ้อง กสทช. จากเหตุความล่าช้าในการขยายโครงข่าย และดำเนินการแจกคูปองโทรทัศน์ดิจิทัล จนชนะคดี
ในปี
2564 กสทช. ต้องจ่ายคืนเงินค่าใบอนุญาต รวมถึงต้องคืนหนังสือค้ำประกันทั้งหมด หากคืนไม่ได้ ต้องคืน
เป็นเงินสดจำนวน 1
,750 ล้านบาท (อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/marketing/news-626338) ตามมาด้วยการขอคืนใบอนุญาตของ ช่อง MCOT Family ที่ได้รับค่าชดเชยการคืนใบอนุญาตสุทธิ จำนวน 161,034,083.65 บาท  (อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.mcot.net/view/8t1mYej) และช่อง 3 FAMILY ได้รับค่าชดเชยการคืนใบอนุญาตสุทธิ จำนวน 158,604,975.10  บาท  (อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://techsauce.co/news/nbtc-paid-compensation-to-3sd-3-family) ปิดฉากการมีช่องโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยเหตุผลเพราะไม่สามารถสร้างความสำเร็จในทางธุรกิจ เหลือเพียงรายการเด็กในผังรายการช่องโทรทัศน์ทั่วไปที่ก็มิได้มีสัดส่วนตามกำหนดในประกาศ กสทช. กับ ช่อง ALTV ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้รับใบอนุญาตในกลุ่มช่องบริการสาธารณะ หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว

          ข้อมูลจากหนังสือ ‘5 ปีบนเส้นทางทีวีดิจิทัล บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง’ โดยสำนักงาน กสทช. ตีพิมพ์ในปี 2562 ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของการออกอากาศในระบบโทรทัศน์ดิจิทัล ช่อง MCOT Family เป็นช่องที่มีรายได้รวมน้อยที่สุด ที่ 157 ล้านบาท ด้วยเหตุผลว่า กลุ่มช่องหมวดหมู่ เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นช่องที่หารายได้ในเชิงธุรกิจยาก เพราะต้องมีเนื้อหารายการสำหรับเด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการหารายได้จากโฆษณาที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมดังกล่าว

ผลสำรวจผังรายการสำหรับเด็กจากโทรทัศน์ดิจิทัล 19 ช่อง ในเดือนตุลาคม 2564 โดย กสทช. (ไม่รวมช่องรายการเด็ก ALTV ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองออกอากาศในปีดังกล่าว และช่องกีฬา TSports) สะท้อนปัจจัยที่ทำให้รายการสำหรับเด็กในช่องโทรทัศน์ดิจิทัลลดน้อยลงมาก เหตุเพราะอุตสาหกรรมโทรทัศน์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การคืนใบอนุญาตของกลุ่มช่องบริการธุรกิจ หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยียุคดิจิทัล ทำให้รายการสำหรับเด็กที่เป็นรายการสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม กระจายตัวไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงปัญหาการผลิตรายการสำหรับเด็กที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับชม เพื่อให้รายการได้รับความนิยมในวงกว้าง และความยากในการหาผู้สนับสนุน กลายเป็นข้อจำกัดทางธุรกิจ

 เปิดผลสำรวจโทรทัศน์ไทย มี.ค. 67 พบรายการเข้าข่ายรายการเด็ก 2.68% ขณะรายการเด็กประเภท ป
และ ด เป็นศูนย์  

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำการศึกษาเพื่อสำรวจสัดส่วนรายการสำหรับเด็กจากผังรายการโทรทัศน์ดิจิทัลเดือนมีนาคม 2567 ของทุกช่อง รวม 21 ช่อง โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการฯ ของ กสทช. ที่กำหนดรายการสำหรับเด็กเป็นรายการประเภท ป (ปฐมวัย) สำหรับวัย 3-5 ปี รายการประเภท ด
(วัยเรียน) สำหรับวัย 6-12 ปี  ร่วมกับการจำแนกเป็นรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กทั้งระดับ ป และ ด ทั้งที่แสดงหรือไม่แสดงระดับความเหมาะสม หรือแสดงเป็น ท (ทุกวัย) ตามเกณฑ์
5 ข้อ ที่พัฒนาจากการศึกษาเรื่อง “รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก” โดยมีเดียมอนิเตอร์ (มกราคม 2549) ได้แก่ 1)  ชื่อรายการสื่อเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เช่น จิ๋วซ่านักประดิษฐ์ 2) เรื่องย่อ คำอธิบายรายการ และเนื้อหาที่ระบุ หรือมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก 3) มีตัวละคร ผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการหลักที่เป็นเด็ก นักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง และมีการสื่อสารที่มุ่งถึงกลุ่มเด็ก 4) รูปแบบการนำเสนอดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายเด็ก เช่น การ์ตูน แอนิเมขัน หุ่นเชิด และ 5) ผู้สนับสนุนหลักเป็นสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หรือมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เช่น ขนมขบเคี้ยว นม ของเล่น

ผลการศึกษา พบว่า เมื่อพิจารณาจาก “รายการที่มีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็ก” มีเพียงรายการเข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก รวม 81 รายการ แต่ไม่พบการระบุระดับรายการสำหรับเด็กประเภท ป และ ด เลย ทั้งพบว่า ทั้ง 81 รายการ มีเวลาออกอากาศรวมเพียง 5,668 นาที/สัปดาห์ หรือ ร้อยละ 2.68 ต่อสัปดาห์ จากเวลาออกอากาศของทั้ง 21 สถานี รวม 211,680 นาที/สัปดาห์ เมื่อพิจารณาการจัดระดับเนื้อหารายการ พบเป็นรายการที่ไม่ระบุระดับ 62 รายการ รวม 2,765 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 1.31 โดยรายการส่วนใหญ่มาจากช่องทีวีเรียนสนุก ALTV มากที่สุด จำนวน 51 รายการ  ที่เหลือมาจากช่องบริการสาธารณะอื่น ๆ 11 รายการ เช่น โทรทัศน์รัฐสภา และพบรายการที่ระบุระดับ ท จำนวน 19 รายการ คิดเป็นเวลา 2,903 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 1.37 โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นรายการจากกลุ่มช่องประเภทบริการธุรกิจ แต่พบบ้างในช่องประเภทบริการสาธารณะ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) และโทรทัศน์รัฐสภา

สำหรับการออกอากาศตามช่วงเวลา พบว่า มี 45 รายการ จาก 81 รายการ ที่ออกอากาศตรงกับช่วงเวลาสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ตามเกณฑ์ของ กสทช.

เมื่อนำมาทั้ง 81 รายการ มาจำแนกตาม “ประเภทใบอนุญาต” พบรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กในกลุ่มช่องประเภทบริการสาธารณะ 65 รายการ โดยพบมากที่สุด 51 รายการ ในช่อง ALTV อีก 16 รายการ พบในกลุ่มช่องประเภทบริการธุรกิจ โดยช่อง True4U  มีจำนวนรายการออกอากาศมากที่สุด 4  รายการ แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเวลาการออกอากาศระหว่างช่องประเภทบริการสาธารณะ และประเภทบริการธุรกิจโดยภาพรวมทั้งหมด กลับพบว่า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ประเภทบริการสาธารณะ 2,835 นาที/สัปดาห์ และ ประเภทบริการธุรกิจ 2,833 นาที/สัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่า รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่มีจำนวนรายการมากขึ้น ไม่ได้ทำให้เวลาออกอากาศโดยรวมของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่พบ มีจำนวนเวลาการออกอากาศมากตามไปด้วย

เปรียบเทียบผลสำรวจเดือนม.ค. 66 และ มี.ค. 67 พบเพิ่มทั้งจำนวนรายการและเวลาแต่ในสัดส่วนที่ยังต่ำ

          เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กในผังรายการของเดือนมกราคม 2566 กับ เดือนมีนาคม 2567 ที่ดำเนินการโดย Media Alert พบว่า มีจำนวนรายการเพิ่มขึ้นจาก 57 รายการ เป็น 81 รายการ มีสัดส่วนเวลาในการออกอากาศจากเดิมร้อยละ 1.5ต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็นร้อยละ 2.68 ต่อสัปดาห์ โดยกลุ่มช่องประเภทบริการสาธารณะที่มีรายการเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข่อง ALTV, NBT และ ททบ.5 แต่พบเท่าเดิมในช่อง Thai PBS, โทรทัศน์รัฐสภา และ T-Sports

          กลุ่มช่องประเภทบริการธุรกิจพบรายการเพิ่มมากขึ้นในช่อง TNN24, True4U,  MCOT HD และ 3HD แต่พบเท่าเดิมในช่อง Workpoint Mono29, Thairath TV, และ 7HD  กับพบจำนวนรายการลดลงในช่อง GMM25 คือ จาก 2 รายการเหลือ 1 รายการ และ One31 จาก 1 รายการ เป็นไม่มีอยู่ในผังรายการ ส่วนกลุ่มที่ไม่พบรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก จากการสำรวจผังรายการทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ ช่อง JKN18, Nation, ช่อง 8, Amarin TV และ PPTV HD

สถานการณ์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่ไม่เป็นไปตามนโยบาย ทั้งไม่เติบโตทางธุรกิจ

 ความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมให้โทรทัศน์ดิจิทัลออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ได้มีแค่เพียงประกาศของ กสทช. แต่ยังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 และการจัดตั้งกองทุน เพื่อให้สื่อมีแหล่งเงินทุนในผลิตและเผยแพร่เนื้อหาสำหรับเด็กที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน

ผลการศึกษาผังรายการในเดือนมกราคม 2566 และเดือนมีนาคม 2567 โดย Media Alert  ชี้ให้เห็นว่า การจัดระดับความเหมาะสมของรายการประเภท ป และ ด ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง สังเกตจากการพบรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก แต่ไม่ระบุความเหมาะสม หรือจัดให้อยู่ในประเภท ท หรือ สำหรับผู้ชมทั่วไป สะท้อนถึงการไม่ให้ความสนใจในการระบุว่ามีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับผู้ชมที่เป็นเด็ก อีกทั้งแต่ละช่องมีการจัดความเหมาะสมของเนื้อหาที่แตกต่างกัน และยังขาดการกำกับดูแลอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ส่วนสัดส่วนเวลาในการออกอากาศ แม้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 ต่อสัปดาห์ ในปีที่แล้ว มาเป็นเพียงร้อยละ 2.68 ต่อสัปดาห์ในปีนี้ ก็สะท้อนว่า โทรทัศน์ดิจิทัลไทยยังไม่ให้ความสำคัญมากพอต่อการให้ช่วงเวลาเพื่อรายการสำหรับเด็ก

ALTV กลายเป็นโทรทัศน์ดิจิทัลกลุ่มช่องประเภทบริการสาธารณะ หมวดหมู่รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่รับภาระในการผลิตและออกอากาศเนื้อหารายการสำหรับเด็ก ขณะที่โทรทัศน์ดิจิทัลกลุ่มช่องประเภทบริการธุรกิจ หมวดหมู่รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้แก่ ช่อง 3 Family ช่อง MCOT Family และช่อง LOCA ก็ปิดตัวไปแล้ว สะท้อนว่า การกำหนดให้มีใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจ หมวดหมู่รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ส่วนการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้รับชมให้กว้างมากขึ้น ไม่เจาะจงเพียงเด็กแต่ เป็น “เด็ก เยาวชน และครอบครัว” ก็แสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก โดยเฉพาะเจาะจง

Media Alert ขอความชัดเจนของนโยบาย นิยาม และมาตรการสนับสนุน “รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก” และเสนอให้ ALTV เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก

          ผลการศึกษาของ Media Alert เกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก พบว่า การกำหนดหมวดหมู่เป็นโทรทัศน์สำหรับ เด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งการเปิดให้รายการเพื่อสร้างสรรค์สังคม จัดอยู่ในกลุ่มรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้กว้าง แทนการออกอากาศรายการที่ออกแบบเฉพาะสำหรับเด็ก ดังนั้น การกำหนดนิยามและลักษณะสำคัญของรายการที่แยกขาดจากกลุ่มรายการประเภทอื่น ๆ คือให้เป็นรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอย่างเฉพาะเจาะจง โดยไม่รวมถึงรายการสำหรับเยาวชน ครอบครัว หรือ รายการประเภทสร้างสรรค์สังคมอื่น ๆ  น่าจะแสดงถึงความรับผิดชอบอย่างจริงจังของสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ต่อรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

โดยสรุป Media Alert เสนอให้ปรับแก้กฎหมาย และระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. กำหนดให้รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก คือ รายการสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของผู้ให้บริการเนื้อหาในระดับสากลหรือระหว่างประเทศ ที่ระบุให้วัย 18+ เป็นวัยผู้ใหญ่ (อ้างอิงจากผลสำรวจ “การจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนในทีวีดิจิทัล Netflix และ Prime Video : พบการจัดเรตต่างกันของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม” โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 15-30 ธันวาคม 2566 ที่พบว่า Netflix และ Prime Video มีการจัดช่วงอายุของผู้ใหญ่ที่เหมือนกัน คือที่ 18+) ซึ่งเป็นวัยที่ควรได้สิทธิ์ในการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือ การบริการทั่วไป เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต
  2. ควรมีนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องมีรายการสำหรับเด็กอย่างน้อย 1 รายการ ใน 1 สัปดาห์ ในความยาวตามสมควร โดยเป็นรายการที่โดดเด่นเป็น Flagship ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ สร้างทัศนคติทั้งต่อสถานีหรือผู้รับใบอนุญาตและผู้สนับสนุนรายการว่า การมีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก คือ การแสดงทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม และสะท้อนศักยภาพในการสร้างสรรค์รายการ ทั้งเป็นการปฏิบัติตามประกาศ กสทช.
  3. เสนอให้ ALTV กำหนดบทบาทอย่างชัดเจนในการเป็น “โทรทัศน์แห่งชาติสำหรับเด็ก” เพื่อระดมองค์ความรู้และประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรด้านการพัฒนา เด็ก ฯลฯ ที่ร่วมส่งเสริมให้เกิดรายการต้นแบบที่มีคุณภาพสำหรับเด็กในช่องโทรทัศน์ดิจิทัลไทย
  4. ประกาศให้รายการสำหรับเด็กทางโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดินเป็นสิทธิ์ในการเข้าถึงและใช้บริการของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และเป็นหน้าที่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่หรือผู้ให้ใบอนุญาต และเป็นหน้าที่ในการให้บริการขององค์กรผู้รับใบอนุญาต

ประเทศไทยต้องมีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ด้วยช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นการบริการแบบทั่วไปที่ทั่วถึง ตอบสนองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตสำหรับเด็กทุกคนในทุกช่วงวัย ทั้งช่วงอายุ 3-5 ปี (ประเภท ป) ช่วงอายุ 6-12 ปี (ประเภท ด) ตามประกาศของ กสทช. รวมถึงเพิ่มความสำคัญต่อการจัดระดับ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในช่วงอายุ 13-17 ปี หรือ ต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังไม่มีการระบุในประกาศของ กสทช. โดย กสทช. ต้องจริงจังในการกำกับดูแล และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้ง สถาบันการศึกษา องค์กรด้านการพัฒนาเด็ก ฯลฯ เพื่อให้ “สื่อโทรทัศน์ดิจิทัลมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นสื่อเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กหรือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกคน”

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดผลการดำเนินงานเฝ้าระวังภัยออนไลน์จาก 5 ภูมิภาคของไทย รับมือเหล่ามิจฉาชีพ ยกระดับความปลอดภัยในโลกดิจิทัล

(6 มิถุนายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยผลสรุปเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อจาก 5 ภูมิภาค ของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค บ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย อาทิ การหลอกลวงให้ซื้อของออนไลน์ การหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ การแฮกข้อมูลจากมือถือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การหลอกให้รัก ข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอม การพนันออนไลน์ ในกลุ่มเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับภัยออนไลน์จากผู้แทนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากข้อมูลบิดเบือน ภายใต้หัวข้อ “เสริมพลัง ร่วมป้องกัน ปัญหาภัยออนไลน์” มุ่งยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพด้านดิจิทัล

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับภัยจากสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ พบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์จำนวนมาก อาทิ การหลอกลวงให้ซื้อของออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ  การหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ดอกเบี้ยสูง
การแฮกข้อมูลจากมือถือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การหลอกให้รักจนนำไปสู่ล่วงละเมิดทางเพศ ข้อมูลบิดเบือน ข่าวลวง การพนันออนไลน์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสารโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์
ทำให้ทางคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะในการวิเคราะห์ แยกแยะ และใช้สื่อในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ให้ตกเป็นเยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ จึงได้จัดเวทีเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ได้แก่ สงขลา, น่าน, กาญจนบุรี, จันทบุรี และอุบลราชธานี ในปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังภัยสื่อออนไลน์ ภายใต้แนวคิด รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์และใช้สื่ออย่างปลอดภัยในทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศไทย สามารถสรุปผลการดําเนินงานเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ดังนี้

ภาคใต้ ประชาชนนิยมรับฟังสื่อวิทยุควบคู่กับการดําเนินชีวิตประจําวัน และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริบทของการสื่อสารเปลี่ยนไปสู่การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเติมเต็มการสื่อสารของคนทุกกลุ่มวัย ตรงกับบริบทของกลุ่มมิจฉาชีพที่เน้นการสื่อสารข่าวเท็จหรือหลอกลวงในกลุ่มแคบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย พบปัญหาการถูกแฮกข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ การถูกหลอกลวงออนไลน์ผ่านกลุ่มไลน์ โดยรูปแบบการจัดทําเป็นข้อความในกรุ๊ปไลน์ ซึ่งเอื้อต่อการรับสารและส่งสารกระจายไปกลุ่มต่าง ๆ และหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก

ภาคเหนือ มุ่งประเด็นไปที่ใช้สื่อของเด็กและเยาวชนทั้งในมิติการรู้เท่าทันสื่อและการใช้เครื่องมือสื่อในการเรียรู้และพัฒนาตนเอง  ต้องมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อที่จะได้ดูแลคนใกล้ชิด คนในชุมชน และคนต่างวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยพบปัญหาต่าง ๆ อาทิ การหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย การกดลิงก์จาก SMS การถูกหลอกให้รัก (Romance Scams) การพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา การหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดียจนนําไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุการแฮกเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงาน การเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากสื่อ เช่น เกม เป็นต้น

ภาคตะวันตก มีทุนเดิมด้านการใช้เครือข่ายของวิทยุชุมชนในการแจ้งเตือนข่าวสารและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นต่าง ๆ มีกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มชาติพันธุ์ พบการถูกหลอกและถูกดูดเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่ใช้โซเชียลมีเดีย คอลเซ็นเตอร์ และ ลิงก์ การถูกหลอกโดยกลยุทธ์ทางการตลาดการโฆษณาทั้งในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ หรือสื่อโฆษณาที่ส่งผ่านมาในโทรศัพท์มือถือและกระจายข่าวที่เป็น Fake News

ภาคตะวันออก มีกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาความปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่การขยายผลการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ในภาคตะวันออก เป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกับภาคีความร่วมมือในทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในภูมิภาค โดยปัญหาที่พบในภาคตะวันออกคือ โฆษณาชวนเชื่อ เช่น สมุนไพรรักษาโควิด-19  รักษามะเร็ง การชวนให้เช่าพระปลอม หลอกให้รับพัสดุและเก็บเงินปลายทาง หลอกให้ลงทุนผ่านแชร์ลูกโซ่

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีทุนเดิมการทำงานของเครือข่ายความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน  ภาคประชาสังคมมีบทบาทการทำงานด้านสื่อที่เข้มแข็งเน้นเรื่องการเฝ้าระวังสื่อ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยให้คนไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมทุกรูปแบบ กรณีตัวอย่างของปัญหาที่พบ ได้แก่ การหลอกลวงที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เกิดเรื่องข่าวลวง(Fake News) รุนแรงในช่วงปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา เช่น ข่าวลือว่าโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีน้ำท่วม โดยมีภาพน้ำท่วมลานจอดรถของโรงแรมดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงทางโรงแรมได้สูบน้ำออกเรียบร้อยแล้วและไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมอีกแล้ว และปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์ รวมทั้งการติดพนันออนไลน์

ในส่วนการนำเสนอ(ร่าง)มาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อส่งเสริม
การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดย ดร.ตรี บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
โดยได้ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ตระหนักรู้ถึงสิทธิ์ และคุณค่าของตนเอง สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนที่ไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ด้วยการใช้สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุกระจายเสียง ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร รวมถึงเรื่องราวที่สอดแทรกสาระน่ารู้ ที่จะทำให้ทุกคนรู้จักการเฝ้าระวังภัยจากสื่อออนไลน์ ตลอดจนขับเคลื่อนให้ภาควิชาการได้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการรู้ทันสื่อผ่านการวิจัย และถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างคนเท่าทันสื่อ และก่อให้เกิดนิเวศสื่อที่ดีในสังคม

อนึ่ง โครงการเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค และงานสรุปผลการเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, คณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการศึกษาวิจัย สร้างกลไก และจัดกิจกรรมในการส่งเสริมทักษะดังกล่าวผ่านการให้ทุนสนับสนุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) ลงพื้นที่ศึกษาวิธีการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งยังจัดการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อเพื่อติดตามสถานการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้จัดโครงการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2566 และนำผลจากการเสวนาทั้ง 5 ภูมิภาค มานำเสนอต่อสาธารณะเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกและขับเคลื่อนสังคม ในชื่อของ งานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม

อีกทั้งได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เสริมพลัง ร่วมป้องกัน ปัญหาภัยออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาทางออนไลน์ โดย คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย, คุณณัชภัทร ขาวแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์และติดตามสอดส่องการประกอบธุรกิจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, พ.ต.ท. ดร.ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รอง ผกก.4 บก.สอท.1 ผู้แทนหน่วยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, คุณประภารัตน์ ไชยยศ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), คุณฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด (Whoscall), คุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebook Fanpage : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/ThaiMediaFundOfficial/

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมผู้ประสานงานโครงการ

คุณกัลยา เลิศตระกูลพิทักษ์ (คุณจ๊ะเอ๋) โทร. 099 509 894 อีเมล์ [email protected]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน

คุณภคินี เทียมคลี (คุณน้อย) โทร. 094 946 2565 อีเมล์ [email protected]

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ลงนามความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง สร้างความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านสื่อเครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ

(4 มิถุนายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ พลตรี จิตนาถ  ปุณโณทกเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีผู้บริหาร ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุน และ นาวาเอก วัฒนสิน  ปัตพี รองผู้อำนวยการกองผลิตสื่อ สำนักงานเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะ
ผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และ ผู้เข้าร่วมจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการผลิตสื่อและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง สร้างความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยผ่านสื่อเครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ สื่อโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี และสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งอยู่ในเครือข่ายกระทรวงกลาโหม

ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างความถูกต้องของเนื้อหาสาระเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงของประเทศ โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และบุคลากรในด้านการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เข้าถึงชุมชนทั่วทั้งประเทศ โดยการใช้ความ
หลากหลายในมิติต่าง ๆ ที่เป็นงานด้านความมั่นคงของประเทศผ่านการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชน และผู้นำองค์กรในแต่ละท้องถิ่น นำองค์ความรู้ด้านความมั่นคงของประเทศที่ผลิตออกมาเป็นสื่อที่มีคุณภาพสร้างองค์ความรู้
ในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับเผยแพร่ตามช่องทางสื่อสมัยใหม่ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในการสื่อสารและ
เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ และสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อ ในการสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มทักษะในการรับรู้
เท่าทันสื่อ รวมถึงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงของประเทศที่มาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อด้านต่าง ๆ