เลือกหน้า

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการประชาสัมพันธ์งานด้านการประพันธ์และงานด้านการแปลให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

(30 กรกฎาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหาร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุน และ นางสาวดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือ

ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยร่วมมือกันผลักดันกิจกรรมรักการอ่าน อาทิ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ และ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ มุ่งสนับสนุนการจัดหาลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการแปลหนังสือไทยเพื่อเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ โครงการแปลหนังสือต่างประเทศที่ดี ให้คนไทยได้อ่าน

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเผยแพร่ผลงานที่เกิดขึ้นจากการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์งานด้านการประพันธ์และงานด้านการแปลให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคคลกรสายวิชาการ สื่อมวลชน และสายสนับสนุนอื่น ๆ โดยให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งสนับสนุนการร่วมเผยแพร่กิจกรรมและงานวิจัยระหว่างกันผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสม

ได้ผลคะแนนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ “ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” (Corruption Management Systems : CRMS) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในระดับ Excellent : E (ดีเยี่ยม)

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้แจ้งเวียนคู่มือแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ได้ใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินความเสี่ยงการทุจริต และให้หน่วยงานภาครัฐรายงานแผนบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต และรายงานผลหรือความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริตไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเกณฑ์การประเมินและผลการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ “ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” (Corruption Risk Management Systems : CRMS)

ซึ่งคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมพิจารณาผลการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และได้มีมติให้แจ้งผลการประเมินฯ ให้หน่วยงานภาครัฐได้รับทราบ นั้น

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  มีผลคะแนนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ “ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” (Corruption Management Systems : CRMS) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในระดับ Excellent : E (ดีเยี่ยม) ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าวได้แสดงถึงความมุ่งมั่น ในการขับเคลื่อน และให้ความสำคัญต่อการประเมินความเสี่ยงการทุจริต เพื่อป้องกัน สกัดกั้น ลด และปิดโอกาสการทุจริตในการดำเนินงานของหน่วยงาน

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ พร้อมนำมาตรการต่าง ๆ ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป

ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ?

ในยุค “Data is King” ที่ข้อมูลกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ข้อมูลเปรียบเสมือนสินทรัพย์มีค่าที่เป็นตัวชี้นำทิศทางการตัดสินใจขององค์กรที่ไม่เพียงแค่ใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการตระหนักในความสำคัญของข้อมูลแล้ว ต้องรู้จักจัดการหรือใช้ข้อมูลได้อย่างถูกวิธีด้วยถึงจะเรียกว่าสามารถใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

The Story Thailand ชวน กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Wisesight (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการสำรวจ วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ มาให้ทัศนะเกี่ยวกับความสำคัญและพลังของข้อมูล (Data) และการนำ Data ไปขับเคลื่อนทางสังคมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย

ใช้พลังของข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะ

Wisesight เป็นบริษัทให้บริการด้านข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่มี Expertise (ความเชี่ยวชาญ) ในเรื่องการเก็บข้อมูล การประมวลผลข้อมูลและการตีความข้อมูล Wisesight ทํางานตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของโครงการ หรือเจ้าของแบรนด์ หรือเจ้าของอิเวนต์ เช่น โครงการความร่วมมือกับ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566

กล้าบอกว่ามีหลายครั้งที่ข้อมูลถูกประมวลผลมาแล้ว ถูกตีความไปผิดทาง หรือที่เรียกว่า Misleading ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของโครงการที่ต้องการนำข้อมูลนั้นไปใช้ จะเข้าใจข้อมูลนั้นอย่างถูกต้อง จึงต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่นำบทวิเคราะห์ข้อมูลไปใช้ไม่ได้นำไปตีความผิด ๆ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะนําไปสู่การตัดสินใจและลงมือปฏิบัติที่ผิดทางไปด้วย

“การปรุงอาหารที่ดี ต้องมีวัตถุดิบที่ดีมาปรุง ถ้าวัตถุดิบคือข้อมูล การปรุงอาหารเหมือนการประมวลผลข้อมูล ปรุงเสร็จแล้วเสิร์ฟบนจาน เล่าให้ฟังว่านี่เป็นอาหารอะไร” กล้ากล่าว 

ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลผลการวิจัย “การสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566”  Wisesight รับผิดชอบออกแบบ เก็บข้อมูล ประมวลผล และตีความข้อมูล ให้ Media Alert โดยมีขอบเขตของการวิจัยข้อมูลด้วยการคัดกรองเฉพาะประเด็นที่เป็น 10 อันดับของประเด็นหรือเนื้อหาที่คนบนโซเชียลมีเดียมี Engagement มากที่สุดในแต่ละเดือน พร้อมทั้งอธิบายผลการวิจัย

ผลการวิจัยคัด 10 อันดับเนื้อหาที่มี Engagement มากที่สุดในแต่ละเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 รวมได้ 120 ประเด็น จากนั้นนำประเด็นที่ได้ สรุปออกมาเป็นกลุ่มเนื้อหา

ข้อมูลจากผลสำรวจฯ ปี 2566 บอกว่าคนสนใจกลุ่มเนื้อหาการเมืองมากที่สุดในปีที่ผ่านมา เพราะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการเลือกตั้ง ซึ่งเหมือนกับสื่อโซเชียลของทั้งโลกที่เวลามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองคนจะสนใจมาก ส่วนประเด็นรองลงมาเป็นความสนใจเนื้อหาบันเทิง

สำหรับเนื้อหาที่มีความสำคัญกับสังคม เช่น นโยบายด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ ภัยพิบัติ การประกอบการธุรกิจ การอพยพย้ายถิ่น เด็ก ผู้ปกครอง ศิลปะ วรรณกรรม และการท่องเที่ยว ที่ไม่ติดอันดับความสนใจในผลการสำรวจครั้งนี้ กล้าบอกว่าไม่สามารถใช้ผลการศึกษานี้บอกว่าสังคมไม่สนใจเรื่องเหล่านั้น เพราะมีคนสนใจประเด็นเหล่านั้น เพียงแค่ไม่ติดอันดับ Top 10 จึงไม่อยู่ในขอบเขตของงานวิจัยชิ้นนี้

“งานวิจัยเล่มนี้เป็นการมองย้อนหลังกลับไปว่า Influencers หรือ Stakeholders ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียเขามีปฏิกริยาต่อประเด็นต่าง ๆ อย่างไรบ้าง”

กล้า เสนอว่า อยากขยายขอบเขตในการศึกษาให้มากขึ้น เช่น ปกติเก็บข้อมูลเพียง Top 10 หากขยายเป็น Top 20 อาจทำให้ประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ติดอันดับเข้ามา หรืออาจจะปรับการให้น้ำหนักของประเด็น เช่น ให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมมากกว่าประเด็นบันเทิง ซึ่งขึ้นกับขอบเขตของการศึกษา เพราะตอนนี้ให้น้ำหนักทุกเรื่องเท่ากันแบบ 1:1

“ถ้าปีหน้าเราได้มีโอกาสทํางานร่วมกับ Media Alert อีก เราก็อยากให้น้ำหนักกับประเด็นทางสังคมมากขึ้น”

คนมักเข้าใจว่าผลการสำรวจและศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารออนไลน์ของ Wisesight ส่วนใหญ่จะถูกบริษัทเอกชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา Wisesight สนับสนุนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐในการนำผลการศึกษาหรือผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารออนไลน์ไปใช้ประโยชน์ มีการทำงานกับมหาวิทยาลัยในการนำเครื่องมือเก็บข้อมูลของ Wisesight ไปใช้ และช่วยทําข้อมูลให้อิเวนต์ที่จัดโดยองค์กรประเภทที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อมูลที่เก็บมาแต่ไม่อยู่ในขอบเขตของการวิจัยจะถูกสรุปไว้ใน Wisesight Trend ซึ่งเป็นเครื่องมือฟรีที่คนทั่วไปสามารถล็อกอินเข้าไปดูได้ทั้ง 100 กว่าประเด็น ตอนนี้ก็มีนักการตลาดเข้าไปใช้อยู่พอสมควร องค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรก็ใช้เครื่องมือของ Wisesight ในการมอนิเตอร์และวิเคราะห์กระแสสังคมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนวัตกรรมทางสังคม

เม็ดเงิน ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดข้อมูลบนโลกอออนไลน์

ปัจจุบันสื่อบนโซเชียลที่อาศัย Organic Reach หรือจำนวนบุคคลที่เห็นเนื้อหาหรือโฆษณาจากการติดตามเพจโดยไม่ได้เกิดจากการใช้เงินเพื่อได้รับการสนับสนุน (Sponsored) ให้กลุ่มเป้าหมายเห็นเนื้อหานั้น ๆ  ไม่สามารถที่จะผลักดันประเด็นสังคมได้เสมอไป การจะผลักดันได้ต้องสร้างเป็นระดับวาระแห่งชาติ

“โอกาสที่องค์กรภาคประชาสังคมเพียงลำพังจะผลักดันประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่ได้มีสื่อหรือ Influencers หรือภาครัฐมาช่วยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ด้วยปัญหาเรื่องทุนและความสามารถในการทำสื่อ”

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมสามารถใช้เทคนิคการสื่อสารแบบเดียวกับองค์กรเอกชนได้ คือเลือกการใช้เงินซื้อเวลาหรือพื้นที่สื่อแทนการสื่อสารด้วยตัวเอง หรือจ้าง Influencers ให้สื่อสารให้ ซึ่งในบางกรณีกล้ามองว่าเป็นการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ สําหรับองค์กรภาคประชาสังคมที่มีงบประมาณค่อนข้างมากก็จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ได้มากกว่า อย่างเอ็นจีโอบางแห่งมีดารามาร่วมทําแคมเปญด้วย ก็จะได้พื้นที่สื่อมากขึ้นจากการ Follow (ติดตาม) ของแฟนคลับของดาราคนนั้น ๆ

“ผมมองว่าเป็นกลยุทธ์ในการที่จะสร้างการรับรู้ของสังคมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้อย่างไร เพราะเรื่องพวกนี้สามารถ Collaborate (ร่วมมือ) ข้ามกลุ่มกันได้เพื่อสื่อสารประเด็นสังคมที่เขาเชื่อเหมือนกัน” กล้ากล่าว

กล้า ยอมรับว่า การสื่อสารบนโซเชียลมีเดียให้ถึงกลุ่มเป้าหมายมาก ๆ ยังจำเป็นต้องมีการใช้เงิน เพราะโดยหลักการแล้วคนเสพสื่ออยู่ภายใต้อัลกอริทึมของแต่ละแพลตฟอร์ม โดยภาพรวมของประเทศไทย จำนวนผู้บริโภคสื่อมีเท่าเดิม ความสามารถของแพลตฟอร์มในการเข้าถึงผู้บริโภคก็อิ่มตัวแล้ว เวลาในการใช้งานของคนบนโซเชียลมีเดียในไทยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก หมายถึงว่าคนไม่ได้อยู่ติดหน้าจอตลอดเวลา ในขณะที่คนผลิตสื่อกลับผลิตเนื้อหามากขึ้น ส่วนเจ้าของอัลกอริทึมหรือแพลตฟอร์มล้วนแต่เป็นเอกชน เขามีหน้าที่ต้องทําเงินทํากําไร

“ถ้าใครมีเงินในการที่จะสปอนเซอร์หรือซื้อพื้นที่สื่อเพื่อให้คอนเทนต์เข้าไปกระแทกหน้าคนได้มากขึ้น ผมว่าก็จะเป็นหลักการตลาดในการทําเงินของของแพลตฟอร์มได้ง่าย ๆ” กล้า กล่าว

แต่มีบางประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพราะทุกคนสนใจกันเองได้ทันที อาทิ ข่าวอุบัติเหตุใหญ่ ข่าวการก่อวินาศกรรม หรือประเด็นที่เป็นวาระแห่งชาติ อย่างการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นประเด็นทั่วไปเชื่อว่ามีการใช้เม็ดเงินในการแย่งพื้นที่หน้าจอของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

3 ปัจจัยในการเปลี่ยนพฤติกรรมคน เพื่อขับเคลื่อนสังคม

การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นไม่สามารถบรรลุผลได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่ม แต่สิ่งสำคัญคือ การร่วมกันขับเคลื่อนของ Stakeholders (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ในการตั้งเป้าหมาย วางแผน กำหนดประเด็น และรณรงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Call to Action)

กล้ากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior Change) มีโมเดลที่เรียกว่า Fogg Behavior Model หรือโมเดลการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้ผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย โดยพฤติกรรมเกิดจากองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ Motivation หรือแรงจูงใจ, Ability หรือความสามารถ และ Triggers หรือสิ่งกระตุ้น ทั้ง 3 องค์ประกอบจะต้องเกิดขึ้นภายในเวลาเดียวกันถึงจะเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่

“เราสามารถใช้ Data มาบอกได้ว่าเราทำอะไรบางอย่างมากไปหรือน้อยไปหรือไม่ในเรื่องการขับเคลื่อนทางสังคม ข้อมูลสามารถบอกเราได้ว่ากระบวนการติดขัดตรงไหน ตอนนี้ต้องปลดล็อกอะไร ซึ่งถ้าปลดล็อกได้สำเร็จ แคมเปญก็สำเร็จ” กล้ากล่าว

ยกตัวอย่าง ปีที่ผ่านมาสังคมมีความกระตือรือร้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดขยะพลาสติกสูง มีการสื่อสารเรื่องลดการใช้กระทงโฟมในช่วงเทศกาลลอยกระทง มีความพร้อมที่ชัดเจนที่จะทำ คนสามารถซื้อกระทงที่ไม่ได้ทำจากโฟมได้ง่ายขึ้นและในราคาที่ถูกลง ถ้าสามารถสร้างเหตุการณ์แบบนี้ได้ในทุก ๆ กิจกรรมที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้

การใช้ข้อมูลการสื่อสารบนโลกโซเชียลมีเดียเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมนั้นต้องมีการวางแผน โดยเริ่มจากการเลือกประเด็น จากนั้นเฝ้ามองข้อมูลเพื่อจะได้ความชัดเจนมากขึ้นว่ากําลังมองอะไรกันแน่ เพราะถ้าเฝ้ามองข้อมูลก่อนแบบไม่มีหางเสือ จะทำสำเร็จยาก จากนั้นก็มองว่าคนมี Motivation พอหรือยัง หรือเขามี Motivation พอแล้วแต่ไม่มี Ability ที่จะทํา หรือมี Ability และมี Motivation แต่ไม่มี Trigger ที่ชัดเจนว่าควรทําวันนี้ ก็หันไปขับเคลื่อนเรื่องอื่นแทน

ในมุมมองของกล้า การจัดเทศกาลต่าง ๆ เป็นการสร้าง Triggers ที่ดี เช่น การจัดเทศกาล Pride Month บ่อย ๆ และจัดทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เกิด Triggers ให้คนรู้สึกตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ค่อยๆ บรรลุเป้าหมายทีละก้าว

“ผมเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ เราจะเปลี่ยนมันได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพลังของการสื่อสารของพวกเราด้วย” กล้ากล่าว

Butterbear ขึ้นอันดับ 1 ที่โลกออนไลน์สนใจในเดือน มิ.ย. 67Rockstar ลิซ่า มาอันดับ 3 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นอันดับ 9ผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement ได้สูงสุดและ X เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทนที่ TikTok

Butterbear ขึ้นอันดับ 1 ที่โลกออนไลน์สนใจในเดือน มิ.ย. 67 Rockstar ลิซ่า มาอันดับ 3 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นอันดับ 9 ผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement ได้สูงสุด และ X เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทนที่ TikTok

ในเดือนมิถุนายน 2567 กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 8 ใน 10 อันดับ โดยอันดับที่ 1 คือ ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear ด้วยสัดส่วน 19.55% อันดับที่ 2 เป็นการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการเนชันส์ลีก 2024 ที่ 14.17% ขณะที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการโหวตจาก สว. เป็นอันดับ 9 ที่ 6.54%

เหตุที่ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear เป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจและสร้าง Engagemant มากที่สุดในเดือนมิถุนายน มาจากการนำเสนอที่น่ารักสดใส ขี้อ้อน มีอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกเฉพาะที่โดดเด่น นอกจากนั้นยังมีเพลงของตนเอง ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ออกรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ และอีกมากมาย รวมถึงการเกาะติดทุกกระแสบนสังคมออนไลน์ทำให้ได้รับการกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นบทบาทของ “น้องหมีเนย” ที่เลื่อนขั้นจาก Mascot กลายเป็นคนดังในวงการบันเทิง ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเดือนมิถุนายน

ขณะที่เพลง Rockstar ของลิซ่า ก็ได้รับความนิยมในสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มปล่อยภาพโปรโมท ในวันที่ 20 มิถุนายน ตามด้วยตัวอย่างมิวสิควิดีโอ ในวันที่ 26 มิถุนายน และปล่อยมิวสิควิดีโอ ในวันที่ 28 มิถุนายน ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็สามารถสร้าง Engagement ได้อันดับที่ 3

ส่วนการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการ เนชันส์ลีก 2024 และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา เป็นเพียง 2 ประเด็นที่ติด 10 อันดับแรก ที่ไม่ใช่เรื่องบันเทิง ส่วนประเด็นเชิงสังคมอื่น ๆ เช่น Pride Month และ การเลือก สว. 2567 ไม่ติด 10 อันดับแรก

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนมิถุนายน 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เช่น butterbear วอลเลย์บอล ดุจอัปสร เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ดังนี้

อันดับที่ 1 ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (36,915,745 Engagement)

          ร้านเบเกอรี่ “Butterbear” เป็นร้านใหม่ในเครือ Coffee beans by Dao ร้านเค้กแบรนด์ไทย ตั้งอยู่ที่ เอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE) ชั้น G เปิดให้บริการมาแค่ 1 ปี แต่ได้รับการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก  เนื่องจากมาสคอต น้องหมีเนย ที่มีความน่ารักสดใส เต้นเก่ง ทำให้โด่งดังทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน โดยในปัจจุบันได้มีการปล่อยเพลงของตนเอง 2 เพลง ได้แก่ เพลงน่ารักมั้ยไม่รู้ และ it’s Butterbear นอกจากนั้นยังไปออกรายการ T-pop stage เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจาก กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เป็นแฟนคลับที่เรียกตนเองว่า มัมหมี รวมถึงการสื่อสารจากช่องทางอย่างเป็นทางการของร้าน โดยพบว่ามักเป็นการโพสต์ภาพความน่ารักของน้องหมีเนย โดยเฉพาะการเต้นคัฟเวอร์เพลงที่อยู่ในกระแสสังคม หรืออากัปกริยาที่ดูน่ารัก สดใส ขี้เล่น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear จะอยู่ในแพลตฟอร์ม TiikTok มากถึง 75.06%

อันดับที่ 2 การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการ เนชันส์ลีก 2024 (26,764,716 Engagement)

          ตลอดเดือนมิถุนายน 2567 มีการแข่งขันวอลเลย์บอลรายการเนชันส์ลีก 2024 โดยมีการแข่งขันตามประเทศต่าง ๆ เช่น มาเก๊า จีน ญี่ปุ่น รวมถึง กรุงเทพฯ เป็นต้น ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยได้เข้าร่วมการแข่งขัน โดยการแข่งขันที่ได้รับการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์จะเป็นการแข่งขันระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอื่น ซึ่งในการแข่งขันรายการนี้ทีมชาติไทยแพ้ทีมชาติจีน 2-0 เซต ชนะทีมบัลกาเรีย 3-2 เซต แพ้ทีมชาติบราซิล 3-0 เซต เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเสนอบรรยากาศการแข่งขันจากผู้ใช้งานทั่วไป รวมถึงการแบ่งปันภาพนักกีฬาประเทศต่าง ๆ ที่ชื่นชอบ เช่น มาร์ตินา ลูคาซิค, โอลิเวีย โรชานสกี และสไตเซต แมคดาลีนา จากทีมชาติโปแลนด์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการ เนชันส์ลีก 2024 จะอยู่ในแพลตฟอร์ม TikTok มากถึง 58.05%

อันดับที่ 3 ลิซ่าเปิดตัวเพลง Rockstar (24,013,210 Engagement)

          ลิซ่า ลลิษา มโนบาล นักร้องซุปเปอร์สตาร์สัญชาติไทยเปิดตัวเพลงใหม่ Rockstar โดยเริ่มปล่อยภาพ โปรโมทแรกในวันที่ 20 และ 22 มิถุนายน และปล่อย ตัวอย่างมิวสิควิดีโอในวันที่ 27 มิถุนายน รวมถึงปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ส่งผลให้เป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก โดย Engagement มาจากช่องทางอย่างเป็นทางการของลิซ่า, เนื้อหาที่สื่อสารเป็นการโปรโมทเพลง ส่วนผู้ใช้งานทั่วไปจะเป็นการโพสต์ภาพการแต่งกายเลียนแบบภาพโปรโมท การทำคลิปรีแอคชั่นตัวอย่างมิวสิควิดีโอ รวมถึงการแบ่งปันรายละเอียด หรือสรุป วิเคราะห์เนื้อเพลง สถานที่ถ่ายทำในมิวสิควิดีโอในแง่มุมต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ Engagement ของประเด็นลิซ่าเปิดตัวเพลง Rockstar จะอยู่ในแพลตฟอร์ม Instagram จำนวน 28.67%

อันดับที่ 4 ละครดุจอัปสร (17,460,190 Engagement)

          ดุจอัปสร เป็นหนึ่งในละครชุด ดวงใจเทวพรหม นำแสดงโดย กองทัพ พีค และ มิ้นท์ รัญชน์รวี ออกอากาศทางช่อง 3 เนื้อเรื่องเล่าถึงดุจอัปสรที่เติบโตมากับความแค้นของผู้เป็นแม่ที่มีต่อตระกูลจุฑาเทพ เธอจึงยอมมาสมัครงานที่บริษัทของจุฑาเทพเพื่อหวังตีสนิทคนในตระกูลจุฑาเทพ ทำให้หลงรัก และทำให้เจ็บปวด ทำให้ดุจอัปสรต้องเลือกระหว่างความแค้นของตระกูลและความรัก โดยใน Engagement ส่วนใหญ่มาจาก ผู้ใช้งานทั่วไปที่กล่าวถึงนักแสดง และฉาก Highlight ละครโดยเฉพาะฉากพบกันระหว่างพระเอก-นางเอก โดยส่วนใหญ่ Engagement ของละครดุจอัปสรจะอยู่ในแพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 56.17%

อันดับที่ 5 ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (16,413,533 Engagement)

          ซีรีส์ Club Friday The Series: Hot Love Issue ตอน Love Bully รักให้ร้าย เริ่มออกอากาศทางช่อง one 31 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 นำแสดงโดย อิงฟ้า วราหะ และชาล็อต ออสติน โดยเนื้อหาจะเป็นการสะท้อนปัญหาการบูลลี่ การทำร้ายจิตใจกันในสังคมออนไลน์ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวความรักของผู้หญิงสองคน การต่อสู้และการค้นหาความหมายของคำว่ารัก โดย Engagement มาจากผู้ใช้งานทั่วไปที่กล่าวถึงละคร, กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบนักแสดงนำทั้ง 2 คน, การโปรโมทละครของช่อง one 31 และ Change 2561 ผู้จัดละคร นักแสดง นางเอก โดยส่วนใหญ่ Engagement ของซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้ายจะอยู่ในแพลตฟอร์ม X เป็นส่วนใหญ่ที่ 84.28%

อันดับที่ 6 คอนเสิร์ต BABYMONSTER PRESENTS : SEE YOU THERE in Bangkok (15,122,543 Engagement)

          Babymonster เป็นศิลปินกลุ่มสังกัด YG Entertainment ของประเทศเกาหลีใต้ ได้รับความสนใจในสังคมออนไลน์ประเทศไทยเนื่องจากเป็น Girl Group ที่มีสมาชิกหลากหลายเชื้อชาติทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมีสมาชิกคนไทยถึง 2 คน เมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2567 ได้มีการจัดแฟนมีตติ้งในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้ออกรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ โดยในสังคมออนไลน์ ผู้ใช้งานทั่วไป กล่าวถึงสมาชิกวงโดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นคนไทย คือ Chiquita และ Pharita และแบ่งปันภาพแฟนมีตติ้งที่จัดขึ้น นอกจากนั้นมีโพสต์มิวสิควิดีโอจากช่องทางอย่างเป็นทางการของวง โดยส่วนใหญ่ Engagement ของคอนเสิร์ต BABYMONSTER PRESENTS : SEE YOU THERE in Bangkok จะอยู่ในแพลตฟอร์ม X จำนวน 50.49%

อันดับที่ 7 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,629,797 Engagement)

          ปิ่นภักดิ์ เป็นซีรีส์ Girl Love แนวพีเรียด นำแสดงโดยนักแสดงสาว ฟรีน สโรชา และ เบ็คกี้ รีเบคก้า ที่แจ้งเกิดจากซีรีส์ยอดฮิตอย่างทฤษฎีสีชมพู GAP The series เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยในเดือนนี้มีการปล่อย ตัวอย่างซีรีส์และประกาศปิดกล้อง ทำให้เกิด Engagement จากคลิปดังกล่าว นอกจากนี้ยังมี ผู้ใช้งานทั่วไปการทำคลิปรีแอคชั่นจาก ตัวอย่างซีรีส์ การโปรโมทซีรีส์จากช่องทางอย่างเป็นทางการของ IDOLFACTORY, theloyalpin2024 เช่น ฉากการพบกันของตัวละครหลัก ฉากเบื้องหลังซีนตกต้นไม้ของท่านหญิงอนิล เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของซีรีส์ปิ่นภักดิ์ จะอยู่ในแพลตฟอร์ม X จำนวน 65.87%

อันดับที่ 8 งานประกาศรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2024 (13,202,628 Engagement)

          งานประกาศรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2024 ที่ทาง อสมท จัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้กับนักแสดงและศิลปินหลากหลายสาขา ในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจาก ช่องทางอย่างเป็นทางการของศิลปิน นักแสดง เช่น ฟรีน สโรชา-เบคกี้ รีเบคก้า จากรางวัล คู่จิ้นแห่งปี นุนิว ชวรินทร์ รางวัลขวัญใจมหาชน และ 4EVE จากรางวัลศิลปินกลุ่มแห่งปี โดยตัวอย่างเนื้อหาที่ได้รับ Engagement สูง ได้แก่ 4EVE เต้น Cover ร่วมกับลำไย ไหทองคำ ในเพลงยายแล่ม หรือ นุนิว ชวรินทร์ขอบคุณแฟนคลับที่ทำให้ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของงานประกาศรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2024 จะอยู่ในแพลตฟอร์ม Instagram จำนวน 34.75%

อันดับที่ 9 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา (12,350,146 Engagement)

          เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น สส. โดย สว.ส่วนใหญ่เห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยส่วนใหญ่มาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ จากการร่วมแสดงความยินดีกับผลการลงคะแนนในครั้งนี้ รวมถึง ผู้มีชื่อเสียงที่โพสต์สนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น โยชิ รินลดา, เอิร์ธ กัษมนณัฏฐ์ , มอส ภาณุวัฒน์, แบงค์ มณฑป เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา จะอยู่ในแพลตฟอร์ม Instagram จำนวน 40.97%

อันดับที่ 10 คอนเสิร์ต 2024 NCT DREAM WORLD TOUR <THE DREAM SHOW 3> (11,982,515 Engagement)

          NCT Dream บอยแบนด์จากเกาหลีใต้ มีสมาชิก 7 คนจาก มีแนวเพลง R&B Hip Hop ด้วยเพลงที่ฟังง่าย และความเข้ากันของนักร้องในวง ส่งผลให้ได้รับกระแสการตอบรับที่ดี โดยในเดือนนี้ได้จัดคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 -23 มิถุนายน 2567 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ในสังคมออนไลน์พบว่าผู้สื่อสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปจากกลุ่มแฟนคลับที่ได้แชร์ภาพคอนเสิร์ต ภาพศิลปินที่ชื่นชอบรวมถึงโมเมนต์ต่าง ๆ ในคอนเสิร์ต เช่น มีการจุดพลุในคอนเสิร์ตทำให้คอนเสิร์ตนี้ดูน่าจดจำ การชื่นชมถึงความหล่อของศิลปิน ฉากการตีลังกาของ JENO สมาชิกวง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ Engagement ของคอนเสิร์ต 2024 NCT DREAM WORLD TOUR <THE DREAM SHOW 3> จะอยู่ในแพลตฟอร์ม X จำนวน 70.70%

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนมิถุนายน 2567 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ใน 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 8 ประเด็นคิดเป็น 79.29% กลุ่มเนื้อหากีฬา 1 ประเด็น แต่มีสัดส่วน 14.17% และกลุ่มเนื้อหาการเมือง 1 ประเด็นที่ 6.54%

ในขณะที่ประเด็นเชิงสังคมอื่น ๆ พบว่า ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ตัวอย่างเช่น Pride Month ซึ่งติดอันดับ 11 (11,448,478 Engagement ) การเลือก สว. 2567 ติดอันดับที่ 17 (4,322,406 Engagement)

10 ประเด็น 3 กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 149,740,161 Engagement คิดเป็น 79.29% จาก  8 ประเด็น คือ ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (36,915,745 Engagement), ลิซ่า เปิดตัวเพลง Rockstar (24,013,210 Engagement), ละครดุจอัปสร (17,460,190 Engagement), ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (16,413,533 Engagement), คอนเสิร์ต BABYMONSTER PRESENTS : SEE YOU THERE in Bangkok (15,122,543 Engagement) ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,629,797 Engagement), งานประกาศรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2024 (13,202,628 Engagement), คอนเสิร์ต 2024 NCT DREAM WORLD TOUR <THE DREAM SHOW 3> (11,982,515 Engagement)

กลุ่มเนื้อหากีฬา 1 ประเด็น คือ การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการ เนชันส์ลีก 2024จำนวน 26,764,716 Engagement คิดเป็น 14.17%  

กลุ่มเนื้อหาการเมือง 1 ประเด็น คือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา จำนวน 12,350,146 Engagement คิดเป็น 6.54%  

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (68.37%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (28.73%), สื่อ สำนักข่าว (2.75%) และ แบรนด์ 0.15% โดยมี X เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 41.4% รองลงมาได้แก่ TikTok (34.45%), Instagram (13.59%), YouTube (7.33%), Facebook (3.23%)

กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (67.30%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (24.85%), สื่อ สำนักข่าว (7.41%) และแบรนด์ 0.44% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 58.05% รองลงมาได้แก่ X (19.38%), Facebook (16.18%), Instagram (4.54%), YouTube (1.85%)

กลุ่มเนื้อหาการเมือง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (45.92%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (32.52%), สื่อ สำนักข่าว (18.96%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และภาครัฐ รวม 2.6% โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 40.97% รองลงมาได้แก่ TikTok (23.08%), X (21.21%), Facebook (13.26%), YouTube (1.48%)

วิเคราะห์กลุ่มผู้สื่อสาร

          ในช่วงมิถุนายน 2567 สามารถจำแนกผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 5 กลุ่ม คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 65.87% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (29.30%), สื่อ สำนักข่าว (4.47%), แบรนด์ (0.28%) และ พรรคการเมือง (0.08%)

โดยผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ส่วนใหญ่มาจากการแชร์ภาพน้องหมีเนย, Highlight ละครดุจอัปสร และการแชร์ภาพแฟนมีตติ้งของวง Babymonster

ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่ม

เนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง เช่นกัน จากการโพสต์เพลง Rockstar ของ ลิซ่า และการโพสต์การเข้าร่วมงานประกาศรางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2024 ของดารานักแสดง เช่น ฟรีน สโรชา นุนิว ชวรินทร์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ในเดือนมิถุนายน 2567 ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement ได้สูงกว่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเพราะประเด็นของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงในเดือนนี้ เป็นประเด็นที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ (User-Generated Content)  เช่น การแบ่งปันภาพ วิดีโอของน้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear ที่ได้ Engagement จากผู้ใช้งานทั่วไปถึง 90.73%, ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย ที่ผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement ในสัดส่วน 84.42% เป็นต้น ทั้งนี้ โดยไม่ใช่เป็นการแสดงความเห็นใต้โพสต์ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเช่นในเดือนพฤษภาคม 2567

กลุ่มเนื้อหากีฬา พบว่าเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 67.30% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (24.85%), สื่อ สำนักข่าว (7.41%) และ แบรนด์ (0.44%) โดยผู้ใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ชื่นชอบวอลเลย์บอล รวมถึงกลุ่มคนที่ร่วมเชียร์ทีมชาติไทยในการแข่งขันเนชันส์ลีก 2024  ด้านผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าเป็นการสรุปผลการแข่งขันเนชันลีกส์ การแชร์ภาพการแข่งขัน จากโพสต์ของรัศมีแข ดาราที่ชื่นชอบวอลเลย์บอล, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักกีฬาแบดมินตันชาวไทย, ในขณะที่สื่อ สำนักข่าว พบว่าเป็นการโพสต์ข่าว ผลการแข่งขันวอลเลย์บอลของทีมชาติไทยกับทีมอื่น ๆ, ส่วนกลุ่มแบรนด์ เป็นการร่วมแสดงความยินดีกับทีมวอลเลย์บอลหญิงชาติไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อชิงบัตรชมวอลเลย์บอลเนชันส์ลีกของแบรนด์ต่าง ๆ

กลุ่มเนื้อหาการเมือง พบว่าเป็นผู้อิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ในสัดส่วน 45.92% ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (32.52%), สื่อ สำนักข่าว (18.96%) และ อื่น ๆ ได้แก่แบรนด์ พรรคการเมือง และภาครัฐ รวม 2.6% โดยสาเหตุที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มี Engagement เป็นอันดับที่หนึ่ง มาจากการดารา นักแสดงที่สนับสนุนกฎหมาย เช่น โยชิ รินรดา, เอิร์ธ กัษมนณัฏฐ์, มอส ภาณุวัฒน์, แบงค์ มณฑป เป็นต้น โพสต์แสดงความยินดีกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาบนช่องทางของตนเอง เช่นเดียวกับผู้สื่อสารประเภทอื่น เช่น ผู้ใช้งานทั่วไป พรรคการเมือง ภาครัฐ ที่โพสต์ร่วมแสดงความยินดี ส่วนสื่อ สำนักข่าว ก็สามารถสร้าง Engagement จากประเด็นดังกล่าวได้เช่นกัน

วิเคราะห์แพลตฟอร์มการสื่อสาร

          ในช่วงมิถุนายน 2567 สามารถจำแนกแพลตฟอร์มการสื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 5 แพลตฟอร์มได้แก่ คือ X ในสัดส่วน 37.06% ตามด้วย TikTok (36.95%), Instagram (14.10%), YouTube (6.17%) และ Facebook (5.72%)

 เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมจากฐานประเด็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรกพบว่า เดือนมิถุนายน 2567 X เป็นแพลตฟอร์มที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 แทนที่ TikTok สาเหตุมาจากประเด็นที่ได้รับ Engagement สูง เป็นประเด็นที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านการค้นหาด้วยแฮชแท็ก (#) และเป็นช่องทางหลักที่กลุ่มศิลปินดาราเลือกใช้ เพื่อเข้าถึงแฟนคลับหรือผู้ติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบในดารานักแสดงวัยรุ่น รวมถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย, คอนเสิร์ต BABYMONSTER PRESENTS : SEE YOU THERE in Bangkok, ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ และคอนเสิร์ต 2024 NCT DREAM WORLD TOUR <THE DREAM SHOW 3>

ความนิยมที่เปลี่ยนจาก TikTok เป็น X ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นที่ใช้ในการสื่อสารมีความสอดคล้องกับแพลตฟอร์ม กล่าวคือ หากประเด็นมีความเกี่ยวข้องกับดารา นักแสดงวัยรุ่น หรือรูปแบบคอนเทนต์ที่ต้องการความสดใหม่ เรียลไทม์ เช่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้งานจะเลือกใช้ X ในการติดต่อสื่อสารมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น

อย่างไรก็ตาม พบว่าในกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ อย่าง กีฬา การเมือง TikTok ยังมี Engagement มากที่สุด จากการแบ่งปันภาพ Hightlights กีฬา หรือการแสดงความคิดเห็นในประเด็นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สาเหตุจากเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างคอนเทนต์ได้น่าสนใจ มีการใส่ความเห็น มุมมอง และการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ดีกว่า

ประเด็นและกลุ่มเนื้อหา

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนมิถุนายน 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงได้รับความสนใจสูงที่สุดเป็นจำนวน 8 ประเด็น คิดเป็นสัดส่วนที่ 79.29% โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear ด้วยสัดส่วน 19.55%  ตามด้วยประเด็นในกลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิงอื่น ๆ เช่น ลิซ่าเปิดตัวเพลง Rockstar ละครดุจอัปสร ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ไม่ใช่กลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิง ที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก คือ ประเด็นการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการเนชันส์ลีก 2024 ติดอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วน 14.17%  และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ติดอันดับที่ 9 ด้วยสัดส่วน 6.54%

          ทั้งนี้ ความโด่งดังของเพลง Rockstar ของลิซ่า ที่เปิดตัวมาช่วงไม่กี่วันสุดท้ายของเดือน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรื่อง Pride Month ตกไปอยู่ในอันดับที่ 11 โดยจากผลการศึกษาที่พบในครึ่งปีแรก นับตั้งแต่ ม.ค.- มิ.ย. 67 พบว่า ส่วนใหญ่ ประเด็นเชิงสังคม เช่น เรื่องการเมือง อย่างเรื่อง สว.  หรือประเด็นหนัก ๆ  (Hard Topics) ที่เข้าใจยาก หรือมีความซับซ้อน  มักจะไม่สามารถสร้าง Engagement ได้เท่ากับเรื่องสื่อ สิ่งบันเทิง หรือกระทั่งการแข่งขันกีฬาที่ ซึ่งในแต่ละฤดูกาลแข่งขัน มักกินเวลาหลายวัน และมีแรงกระเพื่อมสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในภาพรวมได้ Engagement สูง เช่น ประเด็นการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในรายการ เนชันส์ลีก 2024 ที่ติดอันดับ 2 ในเดือนนี้

          อย่างไรก็ตาม จากกระแส Butterbear และ เพลง Rockstar ของลิซ่า ถือเป็นประเด็นที่นักวิชาการ นักสื่อสารการตลาด หรือกระทั่งสื่อมวลชนที่สนใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์วัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) สามารถนำข้อมูลการสื่อสารในโลกออนไลน์ที่ปรากฎไป วิเคราะห์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรื่อง Soft Power รวมไปถึงการร่วมถอดบทเรียนในมิติต่าง ๆ ที่มีขอบเขตมากไปกว่าเรื่องบันเทิงได้เช่นกัน  

ผู้สื่อสาร

ในแง่ของผู้สื่อสารพบว่า มีความแตกต่างจากเดือนพฤษภาคม 2567 กล่าวคือ สัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากสุดคือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุด ในสัดส่วน 67.06% ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (30.46%) และ สื่อ สำนักข่าว (2.48%) ในขณะที่เดือนมิถุนายน มีสัดส่วนผู้สื่อสาร Engagement มากสุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (65.87%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (29.30%) สื่อ สำนักข่าว 4.47% และผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และภาครัฐ รวม 0.36%

จากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหากีฬา มีผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement มากที่สุด ส่วนกลุ่มเนื้อหา การเมือง มีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุด สะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่า ประเด็นที่มีความสนุกสนาน หรือ ประเด็นที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงและสร้าง Engagement ได้สูง ส่วนประเด็นที่มีความจริงจัง อาจมีความจำเป็นต้องใช้ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารเพื่อจุดประเด็น จึงสามารถผลักดันให้เป็นกระแสสังคมได้ ยกตัวอย่าง ประเด็นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ที่ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นผู้เข้าไปสื่อสารแสดงความเห็น สร้าง Engagement ภายใต้โพสต์ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเอง

แพลตฟอร์ม

จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ในเดือนมิถุนายน สะท้อนให้เห็นถึงการใช้แพลตฟอร์มในการสื่อสารตามคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอ โดยในกลุ่ม สื่อ สิ่งบันเทิง พบว่า X สามารถสร้าง Engagement มากเป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ดาราวัยรุ่น ซีรีส์ที่มีเนื้อหาความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความนิยมที่ต้องการความเรียลไทม์ โดยใช้การสื่อสารผ่าน แฮชแท็ก เหล่านี้ล้วนเป็นการผลักดันให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ X ในการสื่อสารมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ในขณะที่ กลุ่มเนื้อหา กีฬา การเมือง ซึ่งผู้ใช้งานเลือกใช้งาน TikTok ในการแชร์ วิดิโอ Highlight การแข่งขัน หรือการโพสคลิปแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะสามารถสร้าง Engagement ได้ดีกว่าแพลตฟอร์ม
อื่น ๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการศึกษาเดือนมิถุนายน Facebook กลับเป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้เป็นอันดับที่ 5 หรือประมาณ 5.72 % จากทั้ง 5 แพลตฟอร์ม อาจเป็นเพราะความนิยมในการใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มากขึ้น หรือประเด็นที่ติดอันดับความสนใจทั้ง 10 อันดับในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ อาจเป็นประเด็นที่เหมาะกับการสื่อสารสร้าง Engagement ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากกว่า Facebook

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเปิดตัว “โครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์”

(25 ก.ค. 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ นางภัคนันท์ ธนาศรม หัวหน้าโครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์ จัดงานเปิดตัว โครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์” โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ผลิตภาพยนตร์สารคดี เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของพหุวัฒนธรรม ณ บริเวณลานหน้าห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 มิวเซียมสยาม

โครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์ ผลิตสารคดีพหุวัฒนธรรม จำนวน 12 ตอน ความยาวตอนละ 25 นาที จะออกอากาศทาง ALTV และ ViPA เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจและเห็นคุณค่า ของพหุวัฒนธรรม โดยได้รับเกียรติจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (พชร.) หรือมิวเซียมสยาม เป็นพันธมิตรสนับสนุนสถานที่จัดงาน ภายในงานมีการเปิดนิทรรศการภาพถ่าย และพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดภาพถ่าย พหุวัฒนธรรมในมุมมองของฉัน  และการประกวดคลิปสั้น ในหัวข้อ “พหุวัฒนธรรมในมุมมองของฉันประกอบเพลงไทยแลนด์ลองสเตย์” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสื่อสารให้ประชาชน ได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของพหุวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี บนวิถีแห่งพหุวัฒนธรรม รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม

ช่วงท้ายมีการจัด เวทีเสวนา ในหัวข้อ “ไทยแลนด์ ลองสเตย์” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ในหลากหลายมิติของพหุวัฒนธรรม ได้แก่ คุณพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินศิลปาธร ผู้ประพันธ์เพลง, คุณภัคนันท์ แสงขำ ธนาศรม หัวหน้าโครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์, Mr. Wim J F Simons แขกรับเชิญจากรายการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และนายอภินันท์ บัวหภักดี ช่างภาพอาวุโสอิสระ อดีตบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นกรรมการตัดสินภาพถ่าย

พิธีมอบรางวัลผู้ชนะ การประกวดคลิปประกอบเพลงฯ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

  1. คลิปขอเป็นคนไทยด้วยคน โดย มร.โรเมล คารัมเบล
  2. คลิป WONDERFUL THAILAND โดย คุณประสงศ์ กรรโมทาร
  3. คลิป DIVERSITY OF OUR COUNTRY โดย คุณศรายุทธ สุดราม
  4. คลิปสองล้อส่องพหุวัฒนธรรม โดย คุณณัฐวุฒิ แสงตรง

และรางวัล POPULAR VOTE TikTok และ Facebook VOTE สูงสุดได้แก่ ลอยอยู่แล  โดยคุณภาคิณ ผู้กำจัด

รางวัลผู้ชนะ การประกวดภาพถ่าย จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

  1. ภาพบันทึกพุทธศิลป์ โดย คุณจิตรกร เขียวสะอาด
  2. ภาพตักบาตรบนหลังช้าง โดยคุณโกวิท พลาศรี
  3. ภาพแห่งดาวเทศกาลคริสต์มาส โดย คุณเอนกพงศ์ สงสกุล
  4. ภาพตักบาตรพระร้อยทางเรือ โดย คุณศักดิ์นิรันด์ คุ้มเมือง
  5. ภาพนวราตรี ณ วัดแขก โดย คุณหทัยชนก โล่สุนทรชัย

สำหรับ นิทรรศการภาพถ่าย บอกเล่าเรื่องราว “พหุวัฒนธรรมในมุมมองของฉัน” จะนำภาพที่ได้รับรางวัลมาจัดแสดง และยังมีภาพจากช่างภาพชั้นแนวหน้าของประเทศไทย คุณอภินันท์ บัวหภักดี อดีดบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. แชมป์การประกวดภาพข่าวอาเซียน และคุณจิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ ศิลปินนักถ่ายภาพไทยประจำปี 2559 และแชมป์รายการ One pic big dream season 1 ให้เกียรติร่วมจัดแสดงภาพในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนผู้สนใจได้ชม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ณ บริเวณลานหน้าห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 25 – 30 กรกฎาคม 2567

โครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์ ขอเชิญชวน ประชาชนทั่วไป และผู้สนใจ ชมนิทรรศการภาพถ่าย ที่มิวเซียมสยาม และสามารถติดตามกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งคลิปสั้น และภาพถ่าย ของผู้ส่งเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ที่สื่อ Facebook : Thailand longstay