เลือกหน้า

สภาผู้แทนฯ รับทราบรายงานประจำปี 2566 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านผู้จัดการกองทุนฯ หวังเสริมภูมิคุ้มกันให้เสพสื่ออย่างเท่าทัน ด้าน สส.ก้าวไกล ตั้งคำถามหลังพบข้อมูลเรียกรับเงินทอน 30%

(25 ก.ค. 67 ) สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา รับทราบรายงานประจำปี 2566 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงสรุปรายงานประจำปี 2566 โดย ระบุว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2558 มี วัตถุประสงค์และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันนี้กองทุนฯ เน้นย้ำนโยบาย สร้างสื่อ ให้เป็นสื่อน้ำดี เป็นสื่อทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนและเยาวชน สร้างบุคลากรในการผลิตสื่อ สร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทัน สร้างความรู้ในการสนับสนุนส่งเสริม การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยรวมถึงการศึกษา และสุดท้ายคือการสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน

สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 มีงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทเศษโดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทาง กสทช. ซึ่งการดำเนินการก็มีการประเมินผลการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานซึ่งในปี 2566 ได้คะแนน 4.898 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นตามลำดับ

“วันนี้โลกเปลี่ยนเร็วการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ วิธีคิด ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาทางความคิดการทำงานของกองทุนฯ ผมยืนยันว่าพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการ” นายธนกร กล่าว

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้ลุกขึ้นอภิปรายสอบถามโดยฝากไปยังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีสมาชิกได้อภิปรายให้ข้อเสนอแนะ และกำลังใจมายังกองทุนฯ

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ต้องยอมรับว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ เป็นกองทุนที่ประชาชนให้ความสนใจและคาดหวังให้มีบทบาทเพื่อผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสื่อรายย่อยสามารถเติบโตได้ กลไกสำคัญของกองทุนคือการ อุดหนุนงบประมาณในการผลิตสื่อให้กับหน่วยงานต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาตนได้รับเรื่องร้องเรียนหลังพบข้อมูลว่ามีการเรียกรับเงินทอน 30% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กองทุนฯจะต้องชี้แจงเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส พร้อมย้ำว่าการใช้งบประมาณของกองทุนฯ จะต้องดำเนินการให้มีความคุ้มค่า โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ด้านผู้จัดการกองทุนสื่อ ยืนยันว่าบุคลากรในกองทุนฯ ไม่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องในการเรียกรับผลประโยชน์หรือเงินในทุกกรณี ซึ่งกองทุนได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) โดยสำนักงานฯ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังและไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวโดยทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำคณะ
ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ประจำปี 2567
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่ตามรอยพระยุคลบาท ในฐานะข้าของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2567

(17 ก.ค. 2567) พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หล่อเทียนพรรษา ปล่อยขบวนรถเทียนพรรษา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2567 ณ กระทรวงวัฒนธรรม

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ได้รับเมตตาจาก พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ. เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาส
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาเข้าร่วม

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นเจ้าภาพถวายเทียนพรรษา ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ได้รับเมตตาจาก พระธรรมคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ
ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ เป็นประธานในการถวายเทียนพรรษาและเครื่องไทยธรรมเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสืบต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ เข้าร่วมพิธี

ซีรีส์วายไทย เน้นขายความเท่าเทียม ความรู้เรื่องเพศ การยอมรับ หรือแค่ ฉากจิ้น ?

ซีรีส์วายไทย เน้นขายความเท่าเทียม ความรู้เรื่องเพศ การยอมรับ หรือแค่ ฉากจิ้น ?

18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ถือเป็นความสำเร็จของการผลักดันเพื่อสิทธิและความเสมอภาคของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย จนเป็นประเด็นข่าวสำคัญที่รายงานโดยสำนักข่าวทั่วโลก

นอกจากความก้าวหน้าในระดับภูมิภาค ที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันแล้ว ในแง่ของอุตสาหกรรมบันเทิง ประเทศไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย (Boys’ Love Series) ที่สามารถผลิตซีรีส์วายได้มากกว่า 177 เรื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา[1] และได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมเป้าหมายทั้งในไทยและต่างประเทศ นับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการผลักดันเชิงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันซีรีส์วายอาจมีศักยภาพ และบทบาทในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ในเชิงสังคมได้ด้วยเช่นกัน   

Media Alert จึงสนใจในการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาซีรีส์วายไทย 6 เรื่อง ที่มีจำนวนยอดการสืบค้นใน Google Search สูงสุด จาก 2 แพลตฟอร์ม OTT ได้แก่ iQIYI และ VIU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีซีรีส์แนวเอเชียเป็นหลัก เพื่อหาคำตอบว่า ซีรีส์วายไทยนำเสนอเนื้อหาหรือสอดแทรกแง่มุมใดที่น่าสนใจบ้าง

Media Alert สำรวจซีรีส์วายใน 2 แพลตฟอร์ม OTT  ได้แก่ iQIYI และ VIU เพื่อศึกษาวิเคราะห์ซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2566 จากแต่ละแพลตฟอร์ม โดยเลือกจากเรื่องที่มียอดการสืบค้นจาก Google Search สูงสุด แพลตฟอร์มละ 3 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 6 เรื่อง ได้แก่ (1) ความรักเขียนด้วยความรัก (2) รักไม่รู้ภาษา และ (3) อย่าเล่นกับอนล จากแพลตฟอร์ม iQIYI กับ (4) Cherry Magic 30 ยังซิง (5) ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe และ (6) เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night  จากแพลตฟอร์ม VIU

ประเด็นที่กำหนดในการศึกษาวิเคราะห์ คือ  

1) การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 2) การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ 3) อาชีพของตัวละครหลัก  4) การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก

 โดยทั้ง 4 ประเด็น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อาจสะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมไทยเกี่ยวกับชายรักชายหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ผ่านการนำเสนอของสื่อในรูปแบบซีรีส์

 นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ

การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การสอดแทรกชุดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ และความเท่าเทียมทางสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ประเด็นเรื่องกฎหมาย การรณรงค์ทางสังคม เป็นต้น 

การส่งเสริมความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ หมายถึง การสอดแทรกชุดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันโรค การรักษาโรค ความปลอดภัยที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น

อาชีพของตัวละครหลัก ตัวละครหลัก หมายถึง ตัวละครที่มีความสำคัญมากที่สุดของเรื่อง ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้เลือกเฉพาะคู่ตัวละครหลักที่สื่อถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบชายรักชาย จากละคร 6 เรื่อง รวม 12 ตัวละคร

การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก พ่อ/แม่ของตัวละครหลัก หมายถึง พ่อและ/หรือแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิด หรืออาจเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดู

เป็นผู้ที่มีความผูกพัน มีความสำคัญ และมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิด การแสดงออก และบุคลิกภาพของตัวละครหลักทั้ง 12 ตัวละคร จาก 6 เรื่องที่ศึกษา รวมเป็น 24 ตัวละคร

รูปแบบและพัฒนาการ ต่อรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) ของลูก โดยพ่อหรือแม่ของตัวละครหลัก แบ่งเป็นดังนี้

รสนิยม/ความสนใจทางเพศ หมายถึง ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออกว่า สนใจเพศเดียวกัน สนใจเพศตรงข้าม สนใจทุกเพศ หรือไม่ฝักใฝ่เพศใด

ยอมรับอย่างเต็มใจ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัย ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก เรื่อยไปจนถึงการแสดงความรู้สึกยินดี ภูมิใจต่อตัวตนและรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก

ยอมรับแบบไม่เต็มใจ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัย ต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก แต่ยังไม่เต็มใจ หรือไม่อยากเปิดเผยให้คนภายนอกรับรู้

ยอมรับแบบไม่สนใจใยดี หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัยต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก แต่ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย

ไม่ยอมรับ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการปฏิเสธ คัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกไม่ชื่นชอบ ไม่ยินดีต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก และมีความต้องการหรือความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของตัวละครหลักอย่างชัดเจน

ไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก หมายถึง ไม่พบการกระทำ คำพูด หรือการแสดงออกใด ๆ ที่ชัดเจน ถึงการรับรู้ ยอมรับ หรือการปฎิเสธ คัดค้าน ตั้งข้อสงสัยต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลักว่าชื่นชอบสนใจเพศเดียวกัน สนใจเพศตรงข้าม สนใจทุกเพศ หรือไม่ฝักใฝ่เพศใด

เนื้อเรื่องไม่กล่าวถึง หมายถึง ไม่พบและไม่มีการกล่าวถึง พ่อหรือแม่ของตัวละครหลักในเนื้อเรื่อง

ผลการศึกษา จากการสำรวจซีรีส์วายไทย 6 เรื่อง พบข้อมูลที่น่าสนใจ ในประเด็นการศึกษาที่กำหนด คือ  1) การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 2) การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ  3) อาชีพของตัวละครหลัก  4) การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก ดังนี้

  • การส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

พบซีรีส์วาย 3 เรื่องที่มีเนื้อหาการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ 1) Cherry Magic 30 ยังซิง 2) ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe และ 3) ความรักเขียนด้วยความรัก ซึ่งทั้ง 3 เรื่องกล่าวถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการยอมรับความรักในทุกรูปแบบของคนทุกเพศ แต่ทั้งหมดเป็นการนำเสนอในระดับสอดแทรกไว้เพียงแค่เรื่องละ 1 ตอน และคิดเป็นสัดส่วนเวลาสั้น ๆ ดังนี้

  • เรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 12 ตอนจบของเรื่อง ประมาณ 20 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 12 ตอน  ตอนละประมาณ 48 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 9 ชั่วโมง 42 นาที)  ดังตัวอย่าง

พ่อของการันต์ : “ถึงแม้ว่าวันนี้จะได้แต่งตามพิธี แต่มองจากรุ่นพ่อรุ่นแม่มาแล้ว เท่านี้ก็ถือว่ามาไกลมากแล้วนะลูก

แม่ของการันต์ : “แม่เชื่อนะว่าลูกทั้งสองจะได้จดทะเบียนกัน ทำทุกอย่างเหมือนทุก ๆ คนเขาทำกัน แล้วแม่จะรอวันนั้นพร้อม ๆ กับลูกนะ”         

  • เรื่อง ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 2 ของเรื่อง ประมาณ 45 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 12 ตอน ตอนละประมาณ 44 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 8 ชั่วโมง 54 นาที)  ดังตัวอย่าง

บทสนทนาระหว่างพนักงานรุ่นพี่ในบริษัทและเชร์

พนักงานรุ่นพี่: บอสเป็นผู้ชายชอบผู้ชาย

เชร์ : “นี่มันยุคไหนแล้วยังเหยียดอยู่หรอ เมื่อวานผมเพิ่งลงชื่อสมรสเท่าเทียมมา โครตวุ่นวายเลยอ่ะเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ยอมสรุปสักที เออ..แล้วพวกพี่ดูซีรีส์วายมั้ยครับ

พนักงานรุ่นพี่ :ดูซิ น่ารักออก 

เชร์ : เห็นมั้ยว่าความรักเกิดขึ้นกับใครก็น่ายินดีทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวผมส่งลิงก์ลงสมรสเท่าเทียมให้ ไปลงด้วยนะ”

  • เรื่องความรักเขียนด้วยความรัก เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 10 ของเรื่อง ประมาณ 1 นาที 26 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.20 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 14 ตอน  ตอนละประมาณ 45 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 10 ชั่วโมง 26 นาที ) ดังตัวอย่าง

กันถามรุ่นพี่ที่เป็นคู่รัก ชาย-ชาย ว่า แต่งงานกันมีผลอะไรกับตัวพี่มั้ย

รุ่นพี่ : “ไม่มีหรอกก็แค่ทางใจหน่ะ ประเทศเราไม่มีกฎหมายรองรับ

กัน : “พวกพี่ก็เลยยอมรับกันเองไปก่อนนะ แต่สังคมสมัยนี้ก็ยังไม่ยอมรับอ่ะพี่ กฎหมายก็ไม่มีลายลักษณ์อักษรมายืนยันอีก

กัน : แล้วแบบนี้ของที่พี่ซื้อด้วยกันในอนาคตทำไง ก็อยู่ที่ใจเราว่าเราเชื่อใจกันและกัน ถ้าคนนึงหมดใจเราก็รู้กันเองแหละ

รุ่นพี่ :  พี่ก็อยากจดทะเบียนนะ เราก็อยากให้มันเท่าเทียมกับคนอื่น อย่างเวลาที่เบสป่วยพี่ก็จะได้ตัดสินใจได้ไง ด้วยสถานะคู่ชีวิตไง นี่ก็หวังไว้นะว่าประเทศไทยจะมีสมรสเท่าเทียม น่าจะมีเนอะ

(ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวในช่วงปี พ.ศ. 2555)

  • การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ

พบว่า “อย่าเล่นกับอนล เป็นซีรีส์วายเพียงเรื่องเดียว จากหน่วยการศึกษาทั้ง 6 เรื่อง ที่มีการให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศในตอนที่ 2  ซึ่งกล่าวถึงการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของเอื้อและคิง ตัวละครหลักทั้ง 2 ตัว หลังจากที่ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่ได้มีการป้องกัน เพื่อความสบายใจ เอื้อและคิงจึงไปตรวจเลือดที่สถานพยาบาล  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ให้คู่รักชายรักชายตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะทางเพศและการดูแลตนเอง และมีความกล้าที่เข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยและป้องกันโรคติดต่อ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการให้รายละเอียดถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อก่อนการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม โดยซีรีส์มีการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว รวมเวลาประมาณ 4 นาที 10 วินาที  (คิดเป็นร้อยละ 0.78 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 10 ตอน ตอนละประมาณ 47 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 8 ชั่วโมง 10 นาที)

อาชีพของ 12 ตัวละครจากซีรีส์วายไทยที่ศึกษา

จากการสำรวจการนำเสนอ 12 ตัวละครหลักจากซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง พบว่า ตัวละครหลัก มีการประกอบอาชีพดังนี้

  • อาชีพพนักงานบริษัท พบ 4 ตัวละคร ได้แก่ คิง อาชีพ โปรแกรมเมอร์, เอื้อ อาชีพ กราฟฟิกดีไซน์ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล และ การันต์, อชิ อาชีพพนักงานบริษัทเครื่องเขียน จากเรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง
  • อาชีพเจ้าของกิจการ พบ 3 ตัวละคร ได้แก่ หยาง, ภูมิใจ เจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อ จากเรื่องรักไม่รู้ภาษา และ กันต์ เจ้าของบริษัทผลิตเกมออนไลน์ จาก เรื่องชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe
  • อาชีพสถาปนิก พบ 1 ตัวละคร คือ กอล์ฟ จากเรื่องความรักเขียนด้วยความรัก
  • นักศึกษา พบ 3 ตัวละคร คือ คิม, ซัน จากเรื่องเลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night และ เชต์ จาก เรื่องชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe
  • ไม่ระบุอาชีพ พบ 1 ตัวละคร คือ กัน จากเรื่องความรักเขียนด้วยความรัก

 

จากผลการสำรวจพบว่า การนำเสนอตัวละครหลักทั้ง 12 ตัวจากซีรีส์วาย 6 เรื่องที่ศึกษา มีอาชีพที่หลากหลาย โดยพบเพียง 1 ตัวละครที่ไม่มีการระบุอาชีพที่ชัดเจน อาจถือเป็นสัญญาณที่แสดงว่าสังคมไทยเริ่มมองเห็นชายรักชายในบทบาทอาชีพและบริบทการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะความรักของตัวละครนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นมา

การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อ/แม่ของตัวละครหลัก 

จากการสำรวจลักษณะการยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศจากพ่อแม่ของตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายทั้ง 6 เรื่อง รวมจำนวน 24 ตัวละคร พบว่าพ่อหรือแม่ของตัวละครหลัก มีรูปแบบและพัฒนาการ การยอมรับ-ไม่ยอมรับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) ของลูกตนเอง ดังนี้

  • ยอมรับอย่างเต็มใจ พบใน 4 เรื่อง คือ 1) ความรักเขียนด้วยความรัก 2) รักไม่รู้ภาษา 3) อย่าเล่นกับอนล 4) Cherry Magic 30 ยังซิง จำนวน 11 ตัวละคร เช่น พ่อและแม่ของกอล์ฟจากเรื่อง ความรักเขียนด้วยความรัก ที่แสดงให้เห็นถึงครอบครัวที่พร้อมจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจในความรักรูปแบบชายรักชาย ซึ่งในซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวในช่วงปี พ.ศ. 2555 ที่ประเทศไทยยังไม่เปิดรับคู่รักเพศเดียวกันมากนัก แต่พ่อแม่ของกอล์ฟสามารถยอมรับความสัมพันธ์ของลูกชาย และเข้าใจถึงบริบทสังคม โดยสนับสนุนการตัดใจของลูกชายในการไปเริ่มต้นชีวิตคู่ความรักเพศเดียวกัน ในประเทศที่มีการเปิดรับความรักของเพศเดียวกันมากกว่าสังคมไทยในยุคนั้น
  • ยอมรับแบบไม่เต็มใจในตอนแรก – สู่การยอมรับอย่างเต็มใจในภายหลัง พบใน 1 เรื่อง จำนวน 1 ตัวละคร คือ แม่ของการันต์ จากเรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง โดยปรากฏในตอนสุดท้ายของเรื่องเพียงตอนเดียว ในตอนแรกแม่ของการันต์ยังไม่สามารถยอมรับความรักของอชิและการันต์ได้ ซึ่งแม่แสดงให้เห็นถึงการไม่บอกความจริง และเปลี่ยนเป็นประเด็นอื่นเมื่อมีญาติถามถึงความรักของการันต์และอชิ แต่เมื่อพี่สาวของการันต์อธิบายให้แม่เข้าใจในความรักของการันต์ ไม่อยากให้แม่กดดันการันต์ เพราะการันต์ทำตามคำสั่งของแม่มาตลอด ไม่เคยทำให้ผิดหวัง แม่รับฟังและยอมรับความรักของอชิและการันต์ในที่สุด
  • ไม่ยอมรับในตอนแรก – สู่การยอมรับอย่างเต็มใจในภายหลัง พบใน 1 เรื่อง จำนวน 2 ตัวละคร คือ พ่อและแม่ของกันต์ จาก เรื่อง ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe ที่พยายามทำทุกวิถีทางให้กันต์เลิกชอบผู้ชาย เช่น พาเข้าวัดนั่งสมาธิ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่กันต์เป็นได้ จึงยอมรับตัวตนและรสนิยมทางเพศของกันต์ พร้อมทั้งเข้าใจ สนับสนุน และไม่คัดค้านความเป็นเกย์ของลูกอีก
  • ไม่ยอมรับในตอนแรก – สู่การยอมรับแบบไม่สนใจใยดี พบใน 1 เรื่อง จำนวน 1 ตัวละคร คือ แม่ของเอื้อ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล โดยแม่เริ่มต้นด้วยการดุ ด่า ทุบ ตี และใช้ความรุนแรงต่างๆ เพื่อให้เอื้อเลิกชอบผู้ชาย เอื้อเคยบอกแม่ว่าโดนพ่อเลี้ยงคุกคามทางเพศ แต่แม่ก็ไม่เชื่อ และโทษว่าเป็นความผิดของเอื้อเอง จนเมื่อเอื้อโตขึ้นและสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ จึงขอแยกไปอยู่ตามลำพัง ความสัมพันธ์ระหว่างเอื้อและแม่จึงค่อนข้างห่างเหิน  กล่าวคือ แม่รับรู้ในสิ่งที่เอื้อเป็น แต่ไม่ได้ใส่ใจหรือพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งยังคงคาดหวังให้เอื้อส่งเงินเลี้ยงดู และหวังประโยชน์จากเอื้อเมื่อรู้ว่าเอื้อมีเจ้านายที่เป็นผู้ชายมาชอบพอ 
  • ไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก พบใน 3 เรื่อง คือ 1) รักไม่รู้ภาษา 2) ชอร์กะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe 3) เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night จำนวน 7 ตัวละคร ตัวอย่างเช่น หยาง จากเรื่อง รักไม่มีรู้ภาษา ที่เนื้อเรื่องบอกแค่ว่าพ่อแม่อาศัยอยู่ที่ประเทศจีน หรือ เรื่อง เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night ที่มีการสร้างพล็อตให้ทั้งพ่อและแม่ของคิมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงกลางเรื่อง โดยทั้งสองเรื่องไม่มีการกล่าวถึงว่าพ่อและแม่ของตัวละครรับรู้หรือยอมรับรสนิยม/ความสนใจทางเพศของลูก เป็นต้น
  • เนื้อเรื่องไม่กล่าวถึง จำนวน 2 ตัวละคร คือ พ่อของเอื้อ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล และพ่อของเชร์ จากเรื่อง ชอร์กะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe ที่เนื้อเรื่องไม่มีการกล่าวถึงพ่อเลย

 

จากการสำรวจที่พบว่าส่วนใหญ่ พ่อ/แม่ของตัวละครหลักมีการยอมรับตัวตน รสนิยม/ความสนใจของลูกอย่างเต็มใจตั้งแต่แรก จำนวนรวมมากถึง 11 ตัวละคร สะท้อนว่า ซีรีส์วายมีการสร้างภาพจำของครอบครัวในยุคสมัยใหม่ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศ หรือคู่รักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องปกติ ไม่มีการตั้งคำถามหรือการคัดค้านในรสนิยมทางเพศของลูก แต่ในขณะเดียวกันก็พบตัวละครพ่อ/แม่ที่มีพัฒนาการตั้งแต่การไม่ยอมรับในตอนแรก สู่การยอมรับแบบเต็มใจในภายหลัง หรือ จากการไม่ยอมรับสู่การยอมรับแบบไม่สนใจใยดี ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่เป็นจริงส่วนหนึ่งได้เช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก ซึ่งจากการศึกษาพบมากถึง 7 ตัวละคร แม้ในแง่มุมหนึ่งอาจสื่อให้เห็นว่าพ่อแม่ของตัวละครดังกล่าวเลือกที่จะไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นแค่ความเพิกเฉยของซีรีส์วายไทยที่เลือกตัดประเด็นการยอมรับจากพ่อแม่ออกไป หรือกระทั่งการเลือกไม่กล่าวถึงพ่อแม่ในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ อาจเพื่อเน้นจุดขายเรื่องความรักของตัวละครเป็นสำคัญ

วิเคราะห์ผลการศึกษา

จากผลการศึกษา หรือ ข้อค้นพบข้างต้น วิเคราะห์ผลการศึกษาซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง ได้ดังนี้  

1) เน้นเรื่องรัก แต่ไม่เน้นเรื่องสิทธิ

พบว่าซีรีส์วายไทย มักเน้นที่การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความโรแมนติก เป็นหลัก แม้จะพบว่า มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ แต่ยังอยู่ในระดับสอดแทรก และมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเวลารวมของซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง

จากการศึกษาพบว่าซีรีส์วายส่วนใหญ่ยังคงเน้นเล่าเรื่องในระดับความสัมพันธ์รักของตัวละคร ที่เสมือนว่าไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของชายรักชาย หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ตัวอย่างเช่น อิสระในการใช้ชีวิต ความปลอดภัยในชีวิต การเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด สิทธิในการสมรส การมีบุตร สิทธิในการเข้าถึงความรู้เรื่องเพศศึกษาที่มีความเฉพาะ รวมถึงการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ยังคงเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย พยายามเคลื่อนไหวและเรียกร้อง และเป็นประเด็นที่ซีรีส์วายไทยสามารถนำมาใช้พัฒนาบทหรือการเล่าเรื่องเพื่อทำหน้าที่สะท้อนสังคมได้เช่นกัน แม้ซีรีส์วายที่ศึกษาบางเรื่องจะสะท้อนให้เห็นปัญหาดังกล่าว แต่อาจยังไม่มีน้ำหนักสำคัญมากเท่าการเน้นเล่าเรื่องความรักของตัวละครหลัก 

อาจสรุปได้ว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง ประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ อาจไม่ใช่แก่น เป้าหมาย หรือกระทั่งองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเนื้อเรื่องของซีรีส์วายไทย

2) นำเสนอชายรักชายผ่านอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่แกนหลักของเรื่อง

จากผลการศึกษาที่พบว่า ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง ถูกนำเสนอผ่านบริบทการทำงานที่มีความหลากหลาย มีเพียงตัวละครเดียวเท่านั้นที่ไม่พูดถึงเรื่องอาชีพอย่างชัดเจน ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพัฒนาการการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย จากที่ผ่านมามักเน้นนำเสนอความรักของตัวละครในรั้วสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยเป็นหลัก การที่ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยที่ศึกษา มีอาชีพที่หลากหลาย อาจช่วยส่งเสริมให้สื่อและสังคมหันมาใส่ใจและนำเสนอตัวละครกลุ่มเพศหลากหลายในมิติทางอาชีพ ทางสถานภาพ ที่หลากหลาย จากเดิมที่มักจำกัดบทบาทหรือเหมารวมให้ตัวละครกลุ่มนี้มีอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

จากการศึกษายังพบว่า ตัวละครทั้ง 12 ตัว ไม่ได้ถูกเลือกปฎิบัติในด้านหน้าที่การงานแต่อย่างใด ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าสังคมไทยยอมรับความสามารถของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในมิติการทำงานที่หลากหลาย แต่การเลือกเล่าเรื่องที่ไม่มีการกีดกันหรือไม่มีอุปสรรคในการทำงานของตัวละครอาจเป็นการหลีกเลี่ยงหรือเซ็นเซอร์สิ่งที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญในชีวิตจริงก็ได้เช่นกัน และอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “อาชีพ ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย เช่นเดียวกับเรื่อง พ่อ-แม่/ครอบครัว

3) พ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจ-ยอมรับ แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง

การไม่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ทำให้มีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อย เชื่อมโยงกับติดยาเสพติดสูง เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการขาดโอกาสทางด้านอาชีพและรายได้ เป็นต้น  สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวสามารถมอบให้ลูกหลานที่เป็น LGBTQ ได้ก็คือ ความรัก การสนับสนุน และยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ด้านสุขภาพในเชิงบวก รวมถึงความนับถือตนเอง[1]

ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ตัวละครพ่อแม่ส่วนใหญ่ยอมรับตัวตนและรสนิยมทางเพศของลูกแบบเต็มใจ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคมและความเปิดกว้างของพ่อแม่ในปัจจุบันมากขึ้น แต่พบว่าในซีรีส์ที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงแบบผิวเผิน และไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของความสัมพันธ์ รองลงมาเป็นการไม่กล่าวถึงตัวละครพ่อแม่ในเรื่อง นอกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครพ่อแม่ ที่อาจเริ่มจากการไม่ยอมรับ การยอมรับแบบไม่เต็มใจ สู่การยอมรับแบบเต็มใจ หรือไม่สนใจใยดีในภายหลัง และมักถูกเล่าแบบผิวเผิน หรือรวบยอดนำเสนอเพียงไม่กี่ตอน ทั้งหมดอาจสะท้อนให้เห็นว่าพ่อ/แม่ของตัวละครหลักในซีรีส์วายไทยนั้น ยังไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่อง และยังไม่ใช่การเล่าเรื่องเพื่อมุ่งสะท้อนให้สังคมเห็นความสำคัญของพ่อแม่ในการยอมรับ การสนับสนุนตัวตนของลูก ที่อาจเป็นชายรักชาย หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ

แม้ในปัจจุบันซีรีส์วายไทยจะเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก สร้างเม็ดเงินให้แก่นักลงทุน หรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมบันเทิง เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่หลายฝ่ายเล็งเห็นศักยภาพ แต่จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ยังมีช่องว่างที่ซีรีส์วายสามารถเติมเต็มให้กลุ่มละครประเภทนี้ (Genre) เป็นเครื่องมือในการช่วยสะท้อนและส่งเสริมสังคมแห่งการยอมรับเรื่องเพศวิถี ที่หมายรวมถึงพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สรีระ และการดูแลสุขอนามัย ทัศนคติ ค่านิยม สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ มิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อวิถีชีวิตทางเพศ (กระทรวงศึกษาธิการ และ UNICEF, 2559)[2]  

โดยหนึ่งในข้อสังเกตสำคัญจากการศึกษาพบว่า ซีรีส์วายมักเน้นให้น้ำหนักในเรื่องราวความรักของตัวละครชายรักชาย โดยมองข้ามมิติความซับซ้อนในความสัมพันธ์ การต่อสู้เรื่องสิทธิ ที่ในมุมหนึ่งอาจเป็นความพยายามในการส่งเสริมสังคมอุดมคติที่ปราศจากการเหยียดความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน แต่ในมุมหนึ่งก็อาจเป็นความพยายามในการหลีกเลี่ยง ไม่พูดถึง หรือเซ็นเซอร์ตัวเองจากปัญหาที่กลุ่มคนเพศหลากหลาย หรือสิ่งที่กลุ่มชายรักชายกำลังเผชิญอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้เช่นกัน  อีกทั้งยังอาจกลายเป็นแค่การสวมทับรูปแบบความสัมพันธ์แบบชาย-หญิง ลงไปในตัวละคร อันเป็นการนำเอาบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศมาครอบทับตัวละครคู่รักเพศเดียวกันอีกทีหนึ่ง (ปณต สิริจิตราภรณ์, 2022)[3]   

จากการที่วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 67 ที่ผ่านมา และจากผลการศึกษาข้างต้น จึงขอเสนอแนะให้ซีรีส์วายของไทยเพิ่มสัดส่วนการนำเสนอ ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1) เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมในแง่มุมต่าง ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ควรได้รับการคุ้มครองทั้งในระดับกฎหมาย รวมถึงในระดับการปฏิบัติและทัศนคติของสังคม

2) เรื่องสุขภาวะทางเพศ เช่น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และการสร้างความเข้าใจในการปกป้องและป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ฯลฯ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยทำให้สังคมมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องเพศของคู่รักชายรักชาย และสิทธิในการเข้าถึงเพื่อรับบริการด้านการแพทย์ของกลุ่มคนเพศหลากหลายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

3) เรื่องบทบาทอาชีพและบริบทการทำงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยการพัฒนาบทตัวละครกลุ่มที่มีเพศหลากหลายในบทบาทอาชีพการงานต่างๆ อาจเป็นได้ทั้งมุมบวกและมุมลบ แต่ไม่ควรเหมารวมหรือนำเสนอให้กลุ่มคนที่มีเพศหลากหลายสวมบทบาทอาชีพใดเพียงอาชีพหนึ่ง ทั้งสามารถนำเสนอให้อาชีพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการเล่าเรื่อง เช่น ความพยายามในการพัฒนาศักยภาพ การต่อสู้กับอคติในบริบทการทำงาน ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงมิติและพัฒนาการของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ที่ไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป  

4) เรื่องการยอมรับรสนิยมทางเพศของตัวละครจากพ่อแม่ ที่อาจเป็นได้ทั้งการนำเสนอทั้งเชิงบวกและเชิงลบเช่นกัน แต่ควรสอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญคือต้องเป็นการนำเสนอเพื่อสื่อให้คนดูตระหนักและสามารถเรียนรู้ว่าการยอมรับหรือไม่ยอมรับของพ่อแม่ มีผลกระทบสำคัญต่อพัฒนาการ บุคลิกภาพ พฤติกรรม การตัดสินใจ ฯลฯ และคุณภาพชีวิตโดยรวมของลูกหรือบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ หากซีรีส์วาย สามารถก้าวข้ามไปจากสูตรสำเร็จ โดยสามารถนำเสนอทั้งเส้นเรื่องความรักความสัมพันธ์ เพื่อตอบโจทย์ฐานคนดูที่กว้างมากกว่าเฉพาะสังคมไทย อันมีผลต่อความนิยมและรายได้รวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ควบคู่ไปกับการสอดแทรกมิติความซับซ้อนในความสัมพันธ์ พร้อมส่งเสริมเรื่องสิทธิ/เสรีภาพของกลุ่มคนเพศหลากหลาย หรือประเด็นอื่น ๆ ของกลุ่มชายรักชาย ที่สอดคล้อง หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงของชีวิตในสังคม ก็อาจนำไปสู่การยกระดับซีรีส์วายไทยที่ทั้งตอบโจทย์ด้านธุรกิจ รวมถึงตอบโจทย์สังคม และส่งเสริมทัศนคติที่ดีหรือที่ควรจะเป็น เกี่ยวกับกลุ่มคนเพศหลากหลายไปได้พร้อม ๆ กัน   

[1] https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1042489

[2] กระทรวงศึกษาธิการ และ UNICEF (2559). รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย

[3] ปณต สิริจิตราภรณ์ (2022) ความรุนแรงบนฐานเพศสภาพในซีรีส์วาย

ขับเคลื่อนประเด็นสังคมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล

ในยุคที่การสื่อสารบนโลกออนไลน์ไม่มีขีดจำกัด ทั้งในด้านผู้ส่งสาร ผู้รับสารและตัวข้อมูลข่าวสารเอง การสื่อสารออนไลน์กำลังครอบครองพื้นที่การสื่อสารจากช่องทางอื่น ๆ แม้ว่าหลายๆ ครั้ง พลังการสื่อสารบนโลกออนไลน์จะมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการกำหนดวาระการพูดคุยหรือถกเถียงในสังคม แต่อาจยังก้าวไปไม่ถึงการช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 ที่จัดทำโดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight พบว่า 10 ประเด็นการสื่อสารที่มียอด Engagement สูงสุดในโลกออนไลน์ปี 2566 เป็นประเด็นทางการเมืองมากถึง 9 ใน 10 อันดับ ในขณะที่ Engagement สูงสุด  10 อันดับแรกในแต่ละเดือน จากเดือนมกราคม – ธันวาคม 2566  รวมทั้งหมด 120 ประเด็น พบว่า เป็นเนื้อหาการเมือง 58.02% สื่อ สิ่งบันเทิง 28.68% เทศกาล 4.59% อาชญากรรม 4.03% กีฬา 1.57% เทคโนโลยี 1.07% การขับเคลื่อนทางสังคม 0.82% สัตว์ 0.57% สิ่งแวดล้อม 0.35% ศาสนา ความเชื่อ 0.16% คมนาคม 0.06% การศึกษา 0.04% และ แฟชั่น 0.04%

เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มพบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด (50%) ตามด้วย Facebook (23%), X หรือ Twitter (13%), Instagram (11%) และ YouTube (3%) ในด้านผู้สื่อสาร พบว่า กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป คือกลุ่มที่มีสัดส่วนในการสร้าง Engagement มากที่สุดถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของการสื่อสารที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหมด  รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (25%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23%) ภาคการเมือง แบรนด์ และภาครัฐ (2%) ตามลำดับ

ทำอย่างไร ? ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 นี้ จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสังคม

The Story Thailand ชวน สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มาให้มุมมองพร้อมข้อเสนอแนะว่าภาคประชาสังคมจะสามารถนำข้อมูลการสำรวจความสนใจของคนบนโลกออนไลน์ไปใช้ขับเคลื่อนสังคมอย่างไรได้บ้าง และช่วยวิเคราะห์ว่าประเด็นที่ได้รับยอด Engagement สูง ๆ มาจากปัจจัยหลักอะไรและสามารถเป็นกระจกสะท้อนสภาพการณ์ในสังคมได้จริงแท้เพียงใด รวมไปถึงข้อเสนอแนะต่อบทบาททางสังคม และธรรมาภิบาลของแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ใช้กระแสเพื่อการรณรงค์ ให้ความรู้ประเด็นที่ยังมีข้อขัดแย้ง

สุนิตย์ มองว่า ภาคประชาสังคมสามารถนำสิ่งที่เป็นกระแสหรือสิ่งที่คนสนใจบนโลกออนไลน์ไปใช้ในการขับเคลื่อนทางสังคมหรือใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานหรือทำแคมเปญรณรงค์ได้

“ผมว่าเราสามารถใช้กระแสหรือประเด็นสำคัญที่คนสนใจบนโลกออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเสี่ยงหรือความอ่อนไหว เพราะถ้าคนกำลังสนใจข่าวนั้นอยู่ ก็สามารถช่วงชิงพื้นที่มาสื่อสารและให้ความรู้ไปในตัวด้วย” สุนิตย์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างหลายกรณีที่ภาคประชาสังคมสามารถขับเคลื่อนสังคมจากกระแสที่คนสนใจ สมมติมีการถกเถียงกันเรื่องไฟป่าบนโลกออนไลน์ มีทั้งคนบ่นปัญหาจากฝุ่นควัน หายใจไม่ออก มีการตั้งคำถามว่าควรจะเป็นหน้าที่ของใครในการดับไฟ มีการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ กรณีนี้ องค์กรที่ทำเรื่องสิทธิชุมชนในพื้นที่สูงหรือทำงานกับชุมชนในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก็ควรถือโอกาสให้ความรู้กับชาวบ้านว่า ที่พูดกันว่าไฟป่าในไทยเกิดเองตามธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องไม่จริง แต่ 99 เปอร์เซ็นต์คือมนุษย์เป็นต้นเหตุ แม้ว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ธรรมชาติก็ตาม

ปัญหาไฟป่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ทำกินหรือไม่มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพในพื้นที่ เพราะพื้นที่ทำกินเดิมถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ เมื่อไม่มีสิทธิในที่ทำกิน ชาวบ้านจึงเลือกที่จะปลูกพืชง่าย ๆ เช่น ข้าวโพด เวลามีปัญหาก็ย้ายหนีไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าพวกเขามีสิทธิในที่ทำกินก็คงเลือกที่จะปลูกไม้ผลหรือไม้ที่ยั่งยืนกว่า

“การเกาะกระแสเรื่องพวกนี้และให้ความรู้ในเชิงประเด็น สามารถทำได้ ผมว่าสไตล์ของพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์ “บก.ลายจุด” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) น่าสนใจ พี่เขาพยายามจับกระแสความสนใจของสังคมในตอนนั้นและนำมาขับเคลื่อนทางสังคม” สุนิตย์ กล่าว

หรือในช่วงที่รัฐสภามีการผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมาย องค์กรที่ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศหรือ LGBTQ ก็ควรใช้กระแสช่วงนั้นในการให้ความรู้ในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาหรือข้อถกเถียง เช่น ข้อมูลที่ว่า LGBTQ ถูกบูลลี่ (การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น) มากที่สุดในโรงเรียน ในออฟฟิศ หรือข้อมูลที่ว่าศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่ากฎหมายจะผ่านแล้วก็ตาม ทั้งที่ในหลายประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ก็ยกเลิกกฎนี้ไปแล้ว

เปลี่ยนกระแสด้านลบให้เกิดผลเชิงบวก

ช่วงที่มีข่าวหญ้าทะเลตายจนกระทบต่อการหาอาหารของปลาพะยูน องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมควรใช้กระแสตอนนั้นให้ความรู้ว่าทำไมหญ้าทะเลถึงตาย นอกจากสาเหตุเรื่องโลกร้อนแล้ว ยังมีปัญหามาจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ปลูกหญ้าทะเลผิดที่ผิดเวลา เพราะไม่มีความรู้ คิดเองว่าปลูกบนชายเลนตอนน้ำลงก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด ส่วนใหญ่จะตายหมด เพราะฉะนั้นหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการรณรงค์เรื่องนี้ก็ควรจะออกมาสื่อสาร โดยพลิกกระแสข่าวเชิงลบให้เกิดผลในทางบวก

 

สุนิตย์แชร์ตัวอย่างที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคือ การที่สถาบัน Change Fusion ร่วมกับหลายภาคี ก่อตั้ง “เทใจดอทคอม” เว็บไซต์ระดมทุนเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดีๆเพื่อสังคม ถ้าช่วงไหนที่เทใจดอทคอมจับกระแสได้ เวลามีข่าวแรง ๆ หรือข่าวด้านลบ เช่น ข่าวการล่าเสือดำ หรือการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของโตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้อง ซึ่งมีทั้งคำสรรเสริญ และคำวิจารณ์ ถ้าจับกระแสแล้วดึงไปในทางบวกได้ ก็ทำให้ยอดบริจาคพุ่งขึ้นสูงได้

“เราไม่สามารถคุมกระแสให้เป็นบวกหรือลบ แต่ถ้าภาคประชาสังคมสามารถเกาะประเด็นและต่อยอดกระแสที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่กระแสมักจะเป็นด้านลบ แต่ผลักดันให้เกิดผลในทางบวก ทำให้คนสนใจเรื่องนั้นในทางบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้”

แนะ Media Alert เป็นเจ้าภาพทำยุทธศาสตร์เชิงรุก

สุนิตย์ตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมอาจจะยังไม่รู้ว่าจะนำเทรนด์ความสนใจข่าวสารของคน มาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร ถ้าเทียบกับภาคเอกชนที่พยายามมอนิเตอร์กระแส และพยายามทำแคมเปญของตัวเองให้เชื่อมโยงกับเทรนด์หรือกระแสที่คนสนใจ

สุนิตย์ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ Wisesight นำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ไปขายไอเดียให้ภาคธุรกิจเอกชน กว่าเอกชนจะเข้าใจได้ก็ต้องใช้เวลา 10 ปีกว่า เพราะตอนแรกภาคธุรกิจเอกชนอาจไม่รู้ว่าจะใช้ข้อมูลไปทำอะไร แต่พอเข้าใจแล้วก็เคลื่อนไปเร็วมาก ในเรื่องนี้ สุนิตย์มองว่าเป็นเรื่องของแรงจูงใจด้วย เพราะฝั่งเอกชนตรงไปตรงมามาก ถ้าจับกระแสได้ หรือเวลามีปัญหา ถ้าสามารถจัดการแก้ไขได้เร็ว ก็สามารถเพิ่มรายได้หรือลดค่าเสียหาย ในขณะที่ภาคสังคมไม่ได้ชัดขนาดนั้น

ดังนั้น สุนิตย์เสนอว่า วิธีการขับเคลื่อนทางสังคมโดยใช้เครื่องมือเหล่านั้นสามารถทำได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ ใช้ประเด็นที่เคยเกิดเป็นกระแสและคิดว่าจะเกิดเป็นกระแสอีก โดยจับกระแสนั้นมาพลิกเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ในการระดมสร้างความเข้าใจ

สุนิตย์เสนอให้คิดแบบครบวงจร โดยแนะให้ Media Alert เป็นเจ้าภาพในการออกแบบร่วมกันกับภาคประชาสังคม มาช่วยกันคิดว่าจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้อย่างไรตั้งแต่ต้น เป็นการสร้างความร่วมมือกันไว้ล่วงหน้า เช่น  ช่วยกันมอนิเตอร์ประเด็นหรือดูว่าช่วงนั้น ๆ มีกระแสอะไรที่จะเกิดขึ้นแรง ๆ บ้าง โดยดูจากเทรนด์ปีก่อน ๆ ได้ และถ้าจะแถลงหรือสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ก็ให้ชวนองค์กรหรือภาคประชาสังคม เช่น องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรด้านสิทธิ์ ฯลฯ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านั้น มาร่วมในงานแถลงข่าวหรืองานเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ต้น ทำให้องค์กรเหล่านั้นเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดกระแสอะไร อาจช่วยให้พวกเขาคิดออกว่าจะนำข้อมูลไปทำอะไรได้บ้าง  หรือบางกรณีเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับโครงการที่กองทุนสื่อสร้างสรรค์ให้ทุนอยู่แล้ว ก็ดึงคนเหล่านั้นมาทำงานด้วย

ประเด็นที่น่าจะเป็นกระแสได้ทุกปี เช่น ช่วงที่สภาพอากาศกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญไปสู่ลานีญา แล้วรู้ว่าน้ำจะมีแนวโน้มที่จะท่วมแน่ ๆ ก็ชวนองค์กรต้านภัยพิบัติหรือการจัดการน้ำมาร่วมพูดคุยและช่วยกันออกแบบได้

“ยิ่งเรื่องไหนที่เป็นกระแสซ้ำ ๆ และวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรจะวางแผนไปเลย จะได้เป็น Social Campaigning หรือการรณรงค์ทางสังคม ที่มีพลัง” สุนิตย์กล่าว

ใช้ประเด็นผลกระทบต่อสังคม กระตุ้นการตื่นรู้

อีกรูปแบบหนึ่งคือ ใช้ผลกระทบเป็นตัวตั้ง ใช้ประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคมสูงๆ เพื่อให้คนตื่นรู้มากขึ้นและมีปฏิกริยาตอบสนอง จากนั้นก็นำผลกระทบนั้นมาถอดว่า Media Alert และภาคีเครือข่ายจะช่วยกันออกแบบการนำเครื่องมือไปใช้อย่างไรได้บ้าง

สมัยก่อนมีเรื่อง Issue Management คือวางแผนไว้ล่วงหน้าเลยว่ามีประเด็นอะไร แล้วเตรียมการสื่อสารไว้ เช่น กระแสบุหรี่ไฟฟ้าแรงมาก มีการเก็บข้อมูลพบว่ามีเด็กชั้นประถมศึกษาจำนวนเกินครึ่งห้องขายบุหรี่ไฟฟ้า และเริ่มเข้าไปสู่การขายอย่างอื่นตามมา สถานการณ์แบบนี้ เราควรจะมอนิเตอร์หรือเตือนภัยในหัวข้อเหล่านั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตามการหาข้อมูลในประเด็นล่อแหลมเช่นนี้ก็มีข้อจำกัด สมมติเราอยากรู้ว่าคนมีการสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไรในโลกออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social Media Listening ก็อาจจะทำได้ส่วนหนึ่งแต่จะไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด เพราะบางครั้งเขาสื่อสารกันในกลุ่มปิด อาจจะต้องมีการจ้างนักวิชาการไปเก็บข้อมูลหรือหาคนไปสืบหาข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เป็นกลุ่มปิด ก็อาจจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เมื่อได้ข้อมูลเชิงลึกแล้วค่อยออกแบบตัว Intervention หรือ ตัวแทรกแซงในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทรนด์ในโลกจริง ๆ ตอนนี้คือ เครื่องมือที่ใช้ดึงข้อมูลมาวิเคราะห์จากข้อมูลสาธารณะ (Public Information) สามารถเข้าถึงข้อมูลได้น้อยลงเรื่อย ๆ เพราะช่องทางการสื่อสารกลายเป็นระบบปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลลึก ๆ เหล่านั้นอยู่ จึงต้องออกแบบหาวิธีอื่นมาเสริมด้วยในการดึงข้อมูล ต้องไล่เจาะข้อมูลเข้าไปคล้ายๆ นักสืบ คอยเก็บข้อมูลจากหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะประเด็นแรง ๆ ซึ่งความจริงไม่ต่างจากการหาข้อมูลผู้บริโภคหรือ Consumer Insight หรือการทำโฟกัสกรุ๊ป (Focus Group)ของพวกการตลาดที่เก็บข้อมูลจากผู้บริโภค

“ตอนผมทำเรื่องข่าวลวง ข่าวหลอก หรือเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง แทบจะหาข้อมูลในโลกออนไลน์ในระบบเปิดไม่ได้ ยกเว้นการแสดงความคิดเห็นบน YouTube ที่เละตุ้มเป๊ะ ส่วนข้อมูลที่เป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ กลับไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กหรือ กลุ่มไลน์ที่เป็นกลุ่มปิด” สุนิตย์เล่าให้ฟัง

แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลดีแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ ภาคประชาสังคมต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจน ให้มีความลึกพอและให้อยู่ในเงื่อนไขที่เครื่องมือจะดึงข้อมูลออกมาได้ ก็จะได้ข้อมูลเชิงลึกที่มหัศจรรย์

สุนิตย์ ยกตัวอย่างว่า ประเด็นที่ยังมีการถกเถียงกันสูงอย่างกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 ที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือการถอนที่อุทยานทับลานนับแสนไร่ เครื่องมือเก็บข้อมูลอย่าง Social Media สามารถเจาะได้เต็มที่ว่าในโลกออนไลน์คุยถึงประเด็นเหล่านี้กันอย่างไร แต่ต้องตีโจทย์ชัด ๆ ด้วยว่าต้องการดูมุมไหนหรือต้องการรู้ประเด็นไหน ประเด็นไหนที่เขาคุยกันในกลุ่มเปิด คำพูดที่คุยเป็นอย่างไร คือต้องทำคล้าย ๆ กับการ Prompt (การสั่งงาน AI) ซึ่งต้องใช้พลังมากในการตั้งคำถามถึงจะดึงข้อมูลเชิงลึกมาได้ เพราะถ้าถามกว้าง ๆ ก็จะได้คำตอบกว้าง ๆ ที่ไม่ได้ประโยชน์ แต่ก็จะมีประเด็นว่าแม้ตั้งคำถามแคบแล้ว คำถามนั้นน่าจะมีคนพูดคุยเรื่องนั้น ๆ อยู่จริงหรือไม่ หรือมีการคุยถึงเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด

มีข้อมูลแล้วต้องบูรณาการด้วย

“ต้องให้ความรู้ภาคประชาสังคม ให้จับประเด็นทางสังคมเป็น ต้องมีการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนภาคสังคมก็ต้องเรียนรู้การใช้การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytics ด้วย การจะใช้ข้อมูลก็ต้องนำไป Integrate หรือบูรณาการกับสิ่งอื่น ๆ หรือประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ด้วย จึงจะเป็นการใช้ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” สุนิตย์แนะ

สุนิตย์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันของหลายฝ่ายว่า ในอดีตคนที่นำการวิเคราะห์ข้อมูล Social Media Analytics ไปใช้ คือ ทีมพีอาร์หรือทีมที่ดูเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อดูว่าคนชอบหรือไม่ชอบแบรนด์ของเขามากน้อยแค่ไหน หรือเวลาออกสินค้าตัวใหม่ ก็เพื่อดูว่าคนชอบหรือไม่ชอบ ในขณะที่ทีมอื่น ๆ ในบริษัทเดียวกัน เช่น ทีมการตลาดแทบไม่ได้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นเลย หรือบางครั้งก็ใช้แยกกัน ใช้กันไปคนละทางสองทาง

การจะใช้ข้อมูลให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือต้องใช้ร่วมกัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ เมื่อรู้แล้วว่าคนชอบหรือไม่ชอบแบรนด์เราอย่างไร เราจะปรับปรุงหรือตอบคำถามอะไรอย่างไร ทำอย่างไรให้ทุกความคิดเห็นนำไปสู่โอกาสในการขายหรือ  Sales Lead หรือปิดการขายได้ ก็ต้อง Integrate Function หรือบูรณาการแบบครบวงจร ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการอบรมผู้บริหารด้วยเนื้อหาที่เรียกว่า Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่ต้องมองแบบภาพรวมว่าเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ หรือ  Digital Tools จะไปช่วยตรงนี้อย่างไรได้บ้าง หรือจะไปเชื่อมทั้งองค์กรอย่างไร เมื่อผู้บริหารเข้าใจแล้วจึงจะสามารถเชื่อม 2-3 ยูนิตเข้าด้วยกัน ก็จะเกิดการลงทุนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ

“สำหรับผู้บริหารของภาคประชาสังคมก็ต้องมีการเรียนรู้ อาจจะเริ่มจากคนที่คุมทิศทางขององค์กรที่ต้องมีความเข้าใจด้วย หรือคนที่เป็นเจ้าของโครงการก็ต้องเข้าใจด้วย บางครั้งส่งเจ้าหน้าที่แผนกไอทีมาอบรมแทน พออบรมจบก็นำไปใช้อะไรไม่ได้” 

การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในต่างประเทศ

สุนิตย์เล่าถึงในประเทศที่องค์กรสาธารณะมีการแข่งขันกันสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป หรือญี่ปุ่น มีการใช้การสื่อสารบนโลกออนไลน์มาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทางสังคมกันมาก แต่ส่วนมากจะเป็น Agency หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญประเด็นทางสังคมเป็นคนทำ หรือบางครั้ง Agency ก็ไปทำงานในองค์กรที่เป็นเจ้าของประเด็น

ในช่วงแรก ๆ การสื่อสารและความสนใจของคนบนโลกออนไลน์มักจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงการการเมือง เพราะนำมาใช้ทำแคมเปญชวนคนออกไปเลือกตั้ง แล้วค่อยขยายมาเป็นประเด็นทางสังคม

สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างของการนำการสื่อสารบนโลกออนไลน์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการระดมเงินบริจาค คือ การขับเคลื่อนของ UNICEF และ ของ Soi Dog Foundation หรือมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ที่ระดมทุนช่วยสุนัข ซึ่งยอดบริจาคแต่ละช่วงน่าจะสูงหลายล้านบาท คิดว่าเขาน่าจะลงทุนมากกับการทำข้อมูล ซึ่งลักษณะไม่ต่างกับการทำการตลาดทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคประชาสังคมจะต้องทำแบบนี้ทุกอย่าง

ความดราม่าสัมพันธ์กับยอด Engagement ที่เป็นกระจกสะท้อนสภาพการณ์สังคมได้ อย่างผลศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยโดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Wisesight ที่พบว่า กลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและสื่อ สิ่งบันเทิงมีสัดส่วน Engagement สูงสุดของปี 2566 ในขณะที่คนไม่สนใจในประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ ภัยพิบัติ เด็ก ผู้ปกครอง ศิลปะ วรรณกรรม การท่องเที่ยว ในมุมมองของสุนิตย์ เขาอธิบายว่า ยอด Engagement เป็นตัวสะท้อนว่าคนสนใจดราม่าอะไร ประเด็นดราม่าขายง่าย ประเด็นไหนที่มีความดราม่าสูง ยอด Engagement ก็จะสูงตามไปด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเครื่องมือเก็บข้อมูลทั้งโดย Wisesight หรือการมอนิเตอร์ประเด็นความสนใจของผู้คนบนโลกออนไลน์ เป็นกระจกที่ส่องเฉพาะบางมิติ ซึ่งก็ไม่ต่างจากยุคก่อนโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนตั้งแต่ยุคกรีกที่คนไปนั่งเล่าข่าวกลางเมือง หรือต่อมาเป็นสื่อมวลชน Mass Media ที่เลือกหัวข้อข่าวมาเล่าหรือมาขึ้นหน้าหนึ่ง ก็ถูกกำหนดจากความดราม่าของประเด็น หรือเรื่องที่แสดงถึงประเด็นที่มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรงหรืออย่างต่อเนื่องกับเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งสร้างยอด Engagement มหาศาล ข้อแตกต่างคือ ปัจจุบันสามารถรู้รายละเอียดของการมีส่วนร่วมได้ เช่น จำนวนคนดู ระดับความสนใจมากน้อยเพียงใด หรือสนใจไปทางใด

“ประเด็นใดที่มีความดราม่าสูง คนย่อมสนใจมากกว่า” สุนิตย์กล่าวพร้อมเปรียบเทียบว่า ระหว่างการขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คนย่อมพูดถึงนโยบายหลังมากกว่า อย่างมีดราม่าหรือหามุมมาพูดแรง ๆ อย่างไรก็ตาม การที่คนพูดถึงเรื่องนโยบายหรือประเด็นทางสังคมน้อย แต่ในบางเรื่องก็มีคนพูดอยู่ในระดับหนึ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือมอนิเตอร์ความสนใจของคนได้ อย่างน้อยก็ทำให้พอรู้ว่าเขาพูดกันในมุมไหนและพูดอย่างไร

สมมติกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภคอยากทำแคมเปญเรื่องฟอกเขียว หรือ Green Washing ของสินค้าที่ระบุว่าเป็นสินค้ารักษ์โลกเพื่อความยั่งยืนว่าพูดจริงเท็จเพียงใด ตอนนี้อาจจะมีคนพูดถึงประเด็นนี้ไม่มาก เพราะยังไม่มีดราม่า แต่ถ้าอยากผลักดันก็สามารถไปร่วมทำแคมเปญกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ แล้วดูว่าปลุกกระแสขึ้นหรือไม่ มีปฏิกริยาตอบรับจากบริษัทเอกชนหรือไม่ หรือนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การโฆษณาเกินจริง หรือไม่

ยอด Engagement  ไม่ได้สะท้อนความจริงทุกอย่าง

สุนิตย์กล่าวว่า ยอด Engagement สามารถบอก Sentiment หรือความรู้สึกได้ โดยส่วนแรก ดูจากการกดไลค์ กดแชร์ และคอมเมนท์ ส่วนที่ 2 สามารถวิเคราะห์ Sentiment ได้ เช่น ชอบไม่ชอบ ชอบมากชอบน้อย เกลียดมากเกลียดน้อย

แต่สุนิตย์ชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ โดยพฤติกรรมของมนุษย์ ถ้าเห็นด้วยคนมักจะไม่ค่อยทำอะไร อย่างมากก็กดไลค์ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ เกลียด คนมักจะคอมเมนท์ จะด่า จะแชร์ จะมีปฏิกริยาโต้กลับรุนแรงมาก ซึ่งพอคำนวณมาเป็นตัวเลขและลองวิเคราะห์ Sentiment จะพบว่า เนื้อหาที่คนชอบ แม้จะมีคนชอบมาก แต่ Engagement กลับไม่สูง หรือเรียกได้ว่า Engagement ฝั่งที่เป็นความรู้สึกทางบวกมีน้อย ในขณะที่ความรู้สึกด้านลบ Engagement จะชัดมาก เกลียดมาก ไม่พอใจสุด ๆ แปลว่า Engagement ประเด็นด้านลบเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าถามว่าประเด็นที่เป็นด้านบวก คนไม่เห็นด้วยหรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะพฤติกรรมคนไม่แสดงออกผ่านออนไลน์

“กล่าวโดยสรุปคือ อารมณ์ด้านลบมักจะนำอารมณ์ด้านบวกเสมอในโลกออนไลน์ แปลว่าเรื่องที่คนไม่มีส่วนร่วม  ไม่ได้หมายความว่าคนไม่เห็นด้วย เช่น คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและพอใจกับการเพิ่มสวัสดิการบางอย่าง แต่ไม่ได้ Engage หรือไม่ได้แชร์  แต่ถ้าเจออะไรที่ไม่เห็นด้วย ไม่พอใจคนก็จะแชร์และด่า” สุนิตย์กล่าว

“หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้ามองเป็นเครื่องมือเชิงมนุษยวิทยา เครื่องมือเหล่านี้จะเก็บร่องรอยการแสดงออกของพฤติกรรมมนุษย์บนโลกออนไลน์ผ่านการกระทำกับหน้าจอ หรือการกระแทกคีย์บอร์ดของตัวเอง เวลาคนมีความรู้สึกร่วมกับอะไรเป็นหลัก แต่ถ้ามนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์ที่แสดงออกเยอะ ๆ เวลาชอบอะไร ก็จะไม่เห็นร่องรอยดังกล่าว เพราะอย่างมากก็แค่กดไลค์” สุนิตย์สรุป

แต่ถ้ามองในมุมของเนื้อหาที่ผลิตมาในรูปแบบวิดีโอ ก็จะไม่เรียก Engagement  เช่น ถ้าเป็นเนื้อหาวิดีโอผ่านแพลตฟอร์ม TikTok หรือ YouTube ระยะเวลาที่ดูวิดีโอก็มีร่องรอยที่บอกได้ระดับหนึ่งถึงความชอบหรือพอใจ แต่คนดูจะไม่ได้ทำอะไรกับคีย์บอร์ดหรือหน้าจอ

ธรรมาภิบาลของแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อการสื่อสารไร้ข้อจำกัด คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงการกำกับดูแลแพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งสุนิตย์ชี้ว่าระบบธรรมาภิบาลของแพลตฟอร์มทั่วโลกตั้งอยู่บนฐาน 2 ประการคือ

  1. ฐานของเศรษฐกิจ หรือเป็นเครื่องมือของการสร้างรายได้ และมีแนวโน้มที่จะโน้มเอียงไปทางนั้น ซึ่งพูดยากว่าผิดหรือไม่ผิดจรรยาบรรณ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายหรือกระบวนการควบคุมดูแล แม้ว่าในตอนแรกจะพูดถึงการควบคุมดูแลกันเอง หรือ Self-Regulation มีการออกแนวทางปฏิบัติ Code of Conduct หรือ Code of Practice แต่สุดท้ายก็ต้องออกเป็นกฎหมายทั้งหมด อย่างประเทศในยุโรป ตอนแรกก็พูดถึงการตรวจสอบดูแลกันเอง บางอย่างอาจทำได้ แต่ตอนหลังมีบางส่วนที่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย เช่น การดูแล AI และอัลกอริทึม
  2. ธรรมาภิบาลของกฎหมายที่ออกมาควบคุมดูแลก็มีความเสี่ยงที่จะถูก Abused (ใช้อำนาจหรือกฎหมายในทางมิชอบ) จากฝั่งภาครัฐที่มาใช้ประโยชน์หรือบีบบังคับจนเกินความเหมาะสม หรือไปอีกขั้นคือ มีกฎหมาย แต่ไม่มีใครปฎิบัติตาม

สุนิตย์ ยกตัวอย่างการควบคุมกันเองของฝั่งยุโรปที่มีการออกแนวทางปฏิบัติหรือ Code of Practice เรื่องข่าวลวง และเปิดให้เครือข่ายแพลตฟอร์มมาลงนามในข้อตกลงร่วม โดยมีการทำวิจัยและมอนิเตอร์ข้อมูลจริงในแต่ละแพลตฟอร์มด้วย โดยปีที่แล้วทำวิจัยในโปแลนด์ สโลวาเกีย และสเปน เพื่อดูว่ามีแพลตฟอร์มใดละเมิดข้อตกลงที่เซ็นกันไว้หรือไม่ แล้วก็มีการวัดเชิงลึกแบบชัด ๆ โดยแบ่งออกเป็น

Disinformation Discovery วิจัยความยากง่ายของการค้นหาข่าวลวงบนแพลตฟอร์ม ผลออกมาพบว่าข่าวลวงหาได้ง่ายที่สุดบน X (Twitter เดิม)

Ratio of Disinformation Actor ดูสัดส่วนของ Actor หรือคนปล่อยข่าวลวงหรือตั้งใจบิดเบือนข้อมูล ผลการวิจัยพบว่าสัดส่วนของ Actor ที่ปล่อยข่าวลวงใน X ก็มากที่สุดเช่นกัน

Absolute Post Engagement ผลการวิจัยพบว่าเวลามีข่าวลวงออกมา TikTok มีปฏิสัมพันธ์กับข่าวชิ้นนั้นมากที่สุด รองลงมาเป็น YouTube แต่ถ้าทำฐานผู้ใช้ให้เท่ากันหมดทุกแพลตฟอร์ม กลายเป็น X มีปฏิสัมพันธ์กับข่าวชิ้นนั้นมากที่สุด

แนะใช้ การติดตามข้อมูลอย่างมีหลักฐาน (Evidence-based Monitoring)

สำหรับเรื่องธรรมาภิบาลสำหรับสื่อไทยรวมถึงสื่อบนโลกออนไลน์  สุนิตย์เสนอให้ Media Alert ใช้กลไกมอนิเตอร์หรือ Evidence-based Monitoring หรือการติดตามข้อมูลอย่างมีหลักฐานและมีข้อมูลยืนยันจริงในประเด็นบางเรื่อง เช่น ถ้าแพลตฟอร์มของไทยหรือเครือข่ายสื่อมวลชนของไทยมาร่วมทำข้อตกลงเกี่ยวกับ Code of Practice หรือหลักปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน 10 ด้าน แล้วร่วมมือกับมหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ โดยให้นักศึกษาเป็นคนเก็บข้อมูลเพื่อมอนิเตอร์ว่าใครละเมิดข้อตกลงบ้างหรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส หรือเวลามีปัญหาเกิดขึ้น บรรณาธิการหรือแพลตฟอร์มต่างๆ มีการจัดการอย่างไร และอาจส่งรายงานไปที่สมาคมโฆษณาที่ซื้อโฆษณาบนสื่อเพื่อเป็นการรับรองความน่าเชื่อถือของสื่อ

หรืออาจจะเป็น Code of Conduct เกี่ยวกับการไม่เผยแพร่ข่าวลวง ข่าวไม่จริง ข่าวที่มีความเสี่ยงกับสุขภาพหรือการนำเสนอเนื้อหาความรุนแรงและไม่เหมาะสม ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ เช่น เวลามีเด็กทำร้ายกันและมีคนไปถ่ายวิดีโอมา สมัยนี้สื่อทุกช่องไปตามถ่ายจนแทบจะเป็นการไลฟ์สดและกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หรือการที่สื่อพากันเสนอข่าวและวิดีโอของเด็กที่รุมทำร้ายยาย สิ่งเหล่านี้คือการละเมิดหลักสื่อมวลชนทุกข้อเลย

“ถ้ามีการกำหนดหลักเกณฑ์หลักการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม และมีกลไกที่เป็นดิจิทัลช่วยมอนิเตอร์ และส่งฟีดแบคกลับไปที่เจ้าของสื่อและผู้ลงโฆษณา หรือประชาชนหรือผู้บริโภค ก็อาจมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสื่อ ที่สุดท้ายไปจบที่ค่าโฆษณา ที่ลงโทษสื่อที่ละเมิดหลักจริยธรรมได้” สุนิตย์ กล่าวทิ้งท้าย