เลือกหน้า

“A Time To Fly บินล่าฝัน” คว้ารางวัลชนะเลิศ Thailand moral awards 2023 ประเภทสื่อสาขาภาพยนตร์

 (12 กันยายน 2567) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลรางวัล “Thailand Moral Awards 2023” ไทยแลนด์คุณธรรมอวอร์ด รางวัลสะท้อนคุณธรรมเชิงพฤติกรรม ประเภทสื่อ 9 สาขา ได้แก่
-สาขาละคร
-สาขาภาพยนตร์
-สาขาคลิปวิดีโอสั้น ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย
-สาขาโฆษณา
-สาขาบทเพลง
-สาขารายการวิทยุ
-สาขารายการโทรทัศน์
-สาขาสิ่งพิมพ์
-สาขาสื่อดิจิทัล

ภาพยนตร์แห่งความภาคภูมิใจ “A Time To Fly” บินล่าฝัน ผลงานของ ผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คว้ารางวัลชนะเลิศ Thailand moral awards 2023 ประเภทสื่อสาขาภาพยนตร์
“A Time To Fly” บินล่าฝัน โดยบริษัท อิเมจิแมกซ์ จำกัด ฝีมือการกำกับของ โส่ย-ศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ บอกเล่าเรื่องราวล่าฝันของ “หม่อง ทองดี” เด็กชายไร้สัญชาติ ผู้มีชื่อเสียงจากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษจนคว้าแชมป์ระดับประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัล “ประเภทสื่อสาขาละคร รางวัลชมเชย 2 รางวัล” ได้แก่
1. “นักสืบสายรุ้ง Season 2 : Finding Joy” เรื่องราวของแก๊งนักสืบสายรุ้งพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งความสั่นคลอนของมิตรภาพในกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบจากโควิด และการมีคอนโดมิเนียม สุดหรูมาตั้งในชุมชน เกิดการกระทบกระทั่งต่าง ๆ เกิดขึ้น “จ้อย” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นต้องขอพักการเรียน เพราะครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนัก พ่อป่วยติดโควิด ตกงาน แม่ต้องแบกภาระคนเดียวด้วยการเป็นแม่บ้านที่คอนโดหรู วันหนึ่งจ้อยถูกลักพาตัวไปจากชุมชน แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชน ในที่สุดจ้อยจึงถูกช่วยกลับมาได้ การหายตัวไปและการกลับมาของเขา ทำให้ชุมชนค้นพบคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอีกครั้ง รวมทั้งมิตรภาพในกลุ่มนักสืบสายรุ้งด้วย

2.“เภรีระบัดชัย” โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ดำเนินการผลิตละครสะท้อนความเป็นท้องถิ่น ชุด ฮัลโหล ไทยแลนด์ (Hello Thailand) ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักเขียนบทละครหน้าใหม่จากแต่ละภูมิภาค นำมาพัฒนาจนได้เป็นบทละครที่มีอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น

ประเภทสื่อสาขาบทเพลง คว้ารางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่
1. เพลง สมาธิ
2. เพลง เพราะโลก คือบ้านเรา
3. เพลง พอเพียง
ผลงานของผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงการต้นกล้าของอนาคต เพลงเพื่อเด็ก

สามารถรับชมผลงานได้ที่
ตัวอย่าง ภาพยนตร์ A Time To Fly “บินล่าฝัน” https://www.youtube.com/watch?v=7MFuR64Cgf4&t=15s
“นักสืบสายรุ้ง Season 2 : Finding Joy” https://www.thaipbs.or.th/program/RainbowKids/season2
“เภรีระบัดชัย” https://www.thaipbs.or.th/program/wayofspirit
เพลง สมาธิ , เพลง เพราะโลก คือบ้านเรา , เพลง พอเพียง https://www.youtube.com/@tonkaanakron

#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#ศูนย์คุณธรรม ประกาศผลรางวัล
#ไทยแลนด์คุณธรรมอวอร์ด
#ThailandMoralAwards2023

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งมอบหนังสืออักษรเบรลล์ ให้แก่เครือข่ายโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งมอบหนังสืออักษรเบรลล์ เรื่อง โลกกลม ๆ ที่เรียกกว่าดิจิทัล
และ A new you is coming_Social Life Balance

ให้เครือข่ายโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด 25 แห่ง ได้แก่
1. มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น
3. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ร้อยเอ็ด
4. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมา
5. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี
6. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ จ.สงขลา
7. โรงเรียนธรรมิกวิทยา
8. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย
9. โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา
10. โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ จ.ชลบุรี
11. โรงเรียนพัฒนาการศึกษาคนตาบอดและคนพิการลำปาง
12. โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา จ.แพร่
13. โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
14. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
15. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือฯ จังหวัดเชียงใหม่
16. โรงเรียนสอนคนตาบอดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่
17. โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ
18. วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น
19. สถาบันส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
20. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนนครนายก
21. ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด
22. ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
23. ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
24. ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม
25. สำนักหอสมุดเบญญาลัย

แฟนโปรเจกต์ : การสื่อสารของแฟนคลับ รักแค่ไหน? รักอย่างไร? จึงเหมาะสม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศิลปิน K-pop ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่แฟนเพลงชาวไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับฉายาจากกลุ่มแฟนคลับด้วยกันเอง ว่าเป็น “ไทยแลนด์แดนคอนเสิร์ต” โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในประเทศไทยมากถึง 200 คอนเสิร์ต โดยมีศิลปินเอเชียประกอบด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 46% เติบโตถึง 160%[1] ทำให้ในแต่ละเดือนเราจะพบกับศิลปิน มาจัดคอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติ้ง ในบ้านเราอย่างไม่ขาดสาย

นอกจากจะมีคอนเสิร์ตบ่อยครั้งแล้ว ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานแฟนคลับ K-pop ที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการรวมตัวของแฟนคลับ หรือที่เรียกกันว่า “แฟนด้อม”  ในประเทศไทยที่ทุ่มเทสนับสนุนศิลปินโปรดในแต่ละคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของศิลปินผ่าน “แฟนโปรเจกต์” (Fan Project) เพื่อสร้างความประทับใจและความยิ่งใหญ่ ทั้งในมุมมองของศิลปินและคนดู

[1] คอนเสิร์ตระเบิดความมัน! ไทยจัด 900 งานในปีเดียว สร้างเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท https://thestandard.co/thailand-900-concerts-in-one-year/

 

แฟนโปรเจกต์ (Fan Project) คืออะไร ทำไมทุกคอนเสิร์ตศิลปินเอเชียถึงมี ?

แฟนโปรเจกต์ (Fan Project) คือ กิจกรรมการสื่อสารของแฟนคลับที่จัดทำขึ้นให้แก่ศิลปินเพื่อสร้างความประทับใจและความทรงจำที่ดี เป็นประสบการณ์พิเศษระหว่างแฟนคลับกับศิลปินในโอกาศพิเศษต่าง ๆ อาทิ วันเกิดของศิลปิน คอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติ้ง เป็นต้น[1] การทำโปรเจกต์ในช่วงแรกส่วนใหญ่ถูกยึดโยงเข้ากับการเรียกร้องสิทธิบางประการให้แก่ศิลปิน ผลงาน หรือสิ่งที่แฟนคลับสนับสนุนเห็นชอบ โดยโปรเจกต์ของแฟนคลับจะผ่านการรวมกันภายในกลุ่มแฟนคลับเพื่อทำบางสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแสดงออกถึงจุดยืนของกลุ่มแฟนคลับ[2] ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มแฟนคลับศิลปิน K-pop

ถึงแม้จะไม่มีกฎตายตัวหรือข้อบังคับในการจัดทำแฟนโปรเจกต์ในกิจกรรมของศิลปิน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อมีการประกาศกิจกรรมต่าง ๆ ของศิลปิน ที่มาเยือนในประเทศไทย เราจะเห็นเหล่าแฟนด้อม[3] (มีที่มาจากการรวมคำระหว่าง Fanclub และ Kingdom หมายถึง อาณาจักรของแฟนคลับ หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย คือ ชุมชนหรือที่รวมตัวของแฟนคลับ) ที่รวมตัวกันคิดทำแฟนโปรเจกต์ ที่จะทำร่วมกันในกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านบ้านเบส (บ้านเบสคือ แฟนคลับผู้ที่เป็นศูนย์กลาง หรือแฟนคลับที่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่คอยติดตามและเป็นผู้คอยอัพเดตผลงานที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ) ของศิลปินนั้น ๆ และประกาศแจ้งให้แฟนด้อมที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทราบผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย ตัวอย่างที่ชาวไทยน่าจะคุ้นชินในการทำแฟนโปรเจกต์มากที่สุด เช่น การทำไฟป้ายขนาดใหญ่ การแปรอักษรกล่องไฟในคอนเสิร์ตโดยเลือกคำที่มีความหมายพิเศษให้แก่ศิลปิน หรือระยะหลังเราจะเห็น บ้านเบสต่าง ๆ มีการแจกสโลแกนกระดาษ (สโลแกนกระดาษ คือ ป้ายกระดาษที่ระบุข้อความพิเศษต่าง ๆ ที่จะสื่อสารให้กับศิลปิน เช่น ข้อความให้กำลังใจ ข้อความแสดงความยินดี) ให้แก่แฟนคลับก่อนเข้าคอนเสิร์ตให้กับแฟนคลับ เพื่อชูสโลแกนกระดาษในช่วงเพลงต่าง ๆ ที่มีความหมายพิเศษตรงกับคำสโลแกนที่เตรียมไว้ ซึ่งเราจะเห็นสโลแกนเหล่านี้ในช่วงที่ศิลปินถ่ายรูปกับแฟนคลับในคอนเสิร์ตเกือบทุกครั้ง

ฉะนั้นการทำแฟนโปรเจกต์ในทุกคอนเสิร์ตของศิลปินเอเชีย โดยเฉพาะศิลปิน K-pop จึงเป็นที่นิยมในการจัดทำในคอนเสิร์ต หรือแฟนมิตติ้ง เนื่องจากถือเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการสนับสนุนและความรักที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน โดยการทำแฟนโปรเจกต์นั้นมีการทำสืบทอดกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของแฟนคลับ ทำให้วัฒนธรรมการสื่อสารในแฟนด้อมมีความซับซ้อนและหลากหลาย การจัดแฟนโปรเจกต์ กลายเป็นเรื่องที่คาดหวังหรือเป็นเรื่องปกติในสังคมแฟนด้อม ทำให้การมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ต่าง ๆ กลายเป็นการสื่อสารถึงความจงรักภักดี (Loyalty) และความเป็นหนึ่งเดียวกับแฟนด้อม การสื่อสารความภักดีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทำโปรเจกต์ในงานคอนเสิร์ต แต่ยังรวมถึงการติดตามผลงาน การสนับสนุนสินค้าของศิลปิน การร่วมกิจกรรมออนไลน์ และการปกป้องศิลปินจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าพวกเขามีบทบาทในการสนับสนุนและปกป้องศิลปินของตน

และการทำแฟนโปรเจกต์นั้นยังเป็นการสื่อสารทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงอัตลักษณ์เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางสังคม เพราะแฟนคลับชาวไทยมักรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ละเลย หรือไม่ได้รับความใส่ใจจากบริษัทต้นสังกัด หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานอยู่เสมอ จนมีการเปรียบเปรยจากแฟนคลับชาวไทยกันเองว่าเป็นเหมือน “เมียน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับแฟนคลับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในเกาหลี และญี่ปุ่น ที่มักถูกเปรียบเปรยว่าเป็น เมียหลวง การทำแฟนโปรเจคของแฟนคลับชาวไทยจึงยิ่งเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งความสนใจ หรือพื้นที่ทางสังคมบนสื่อออนไลน์  จึงทำให้ในบางครั้งที่มีการนำเสนอเชิงสติถิเกี่ยวกับการสนับสนุนศิลปินของแต่ละประเทศ ประเทศไทยมักจะเป็นประเทศที่อยู่อันดับ 1 หรืออันดับสูงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้แฟนคลับชาวไทยมองว่าตนเองก็ให้การสนับสนุนศิลปินได้ไม่ต่างจากแฟนคลับประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องความเท่าเทียมในการให้ความสำคัญแก่ตนเองต่อบริษัทต้นสังกัดของศิลปินอยู่เสมอ[4]   แม้ว่าการสื่อสารดังกล่าวอาจมิได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับระดับชั้นของแฟนคลับชาวไทยเมื่อเปรียบเทียบกับแฟนคลับชาติอื่น ๆ

[1] บุณยนุช นาคะ (2560) แฟนคลับเกาหลี อัตลักษณ์เชิงวัตถุและชุมชนแฟนคลับ
[2] ปภาดา ราญรอน (2562) แฟนคลับศิลปินเกาหลีกับการทำแฟนโปรเจกต์ : การเป็นเจ้าแม่แฟนโปรเจคของแฟนคลับชาวไทย
[3] ชวนรู้จัก “แฟนด้อม” คืออะไร? https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/968947
[4] บุณยนุช นาคะ (2560) แฟนคลับเกาหลี อัตลักษณ์เชิงวัตถุและชุมชนแฟนคลับ

ขั้นตอนไปสู่ความสำเร็จในการรวมพลังทำแฟนโปรเจกต์ของแฟนด้อม

          ก่อนจะเป็นหนึ่งแฟนโปรเจกต์ ของแต่ละคอนเสิร์ตนั้น มีหลายขั้นตอนที่เหล่าแฟนด้อมและบ้านเบสต้องทำ เรียกได้ว่าศิลปินหนึ่งวงหากมีการเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยหลายวัน จะมีแฟนโปรเจกต์ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเลยทีเดียว โดยขั้นตอนการที่จะทำให้โปรเจกต์ ประสบความสำเร็จได้ ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้  

1.บ้านเบสเป็นหัวเรือใหญ่ในการทำแฟนโปรเจกต์  บ้านเบสของศิลปินที่ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมข่าวสารต่าง ๆ ของศิลปิน ผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น Facebook และ X โดยหน้าที่หลัก ๆ ของบ้านเบสคือการแปลข่าวสารให้เหล่าแฟนด้อม อัพเดทกิจกรรมต่าง ๆ และรวมไปถึงการโปรโมตศิลปินหลาย ๆ ด้อมจึงใช้บ้านเบสในการรวมตัวของแฟนคลับในการช่วยกันคิดแฟนโปรเจกต์ ให้กับคอนเสิร์ตต่าง ๆ โดยการทำแฟนโปรเจกต์ หนึ่งงานจะประกอบด้วย 1) การคิดโปรเจกต์ 2) การโหวตโปรเจกต์จากเหล่าแฟนด้อมว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น Food Support (การสนับสนุนศิลปินด้วยอาหารในโอกาสต่าง ๆ)  การแปรอักษร การชูสโลแกนกระดาษ หรือการแต่งตัวของผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตตามเดรสโค้ด (dress code) ที่กำหนด 3) นำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ ให้กับค่ายต้นสังกัดของศิลปิน หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานคอนเสิร์ตในประเทศไทย 4) รอการอนุมัติว่าโปรเจกต์ใดสามารถดำเนินการในคอนเสิร์ตได้บ้าง 5) เมื่อโปรเจกต์ผ่านการอนุมัติแล้วหน้าที่ที่สำคัญของบ้านเบสอีกอย่างคือ การร่วมระดมทุนเหล่าแฟนด้อมเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโปรเจกต์ และผลิตออกมาเพื่อใช้ในงานคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่าง ๆ

2.พลังเล็ก ๆ ของแฟนด้อมที่เข้าร่วมคอนเสิร์ต เมื่อโปรเจกต์ผ่านการอนุมัติแล้ว จะต่อด้วยการเตรียมพร้อมในคอนเสิร์ต สิ่งที่แฟนคลับให้ความสนใจ คือ การสร้างโปรเจกต์ให้ประสบความสำเร็จ เช่น แฟนคลับบางคนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การระดมทุนให้กับโปรเจกต์นั้น ๆ การเป็นอาสาสมัครในการช่วยจัดทำอุปกรณ์ การกระจายข่าวสาร การช่วยกันติดแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียล เพื่อให้ชื่อคอนเสิร์ตอยู่ในเทรนด์โซเซียลมีเดีย รวมถึงในวันสำคัญที่มีการแสดงคอนเสิร์ต แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตจะเป็นกำลังหลักให้โปรเจกต์ที่เตรียมไว้สำเร็จลุล่วง โดยให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อกำหนดของบ้านเบสหรือต้นสังกัดของศิลปิน

เงิน-ความโปร่งใส-ความเชื่อใจ เรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบแฟนโปรเจกต์

          ทุก ๆ กิจกรรมที่ได้รับการอนุมัติจากต้นสังกัดให้สามารถทำโปรเจกต์ในคอนเสิร์ตได้ ล้วนสำเร็จได้จากการระดมทุน (Donate) ของเหล่าแฟนคลับ ที่มีการตั้งเป้าหมายของยอดเงินในการระดมทุนไว้ เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะทำ ยิ่งด้อมใหญ่ยิ่งใช้เงินเยอะ ตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ตของวง TREASURE ศิลปิน   K-POP ที่ได้จัดคอนเสิร์ตชื่อ 2024 TREASURE RELAY TOUR [ REBOOT ] IN BANGKOK ในประเทศไทย เป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม–26 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ที่มีหนึ่งในแอดมินของบ้านเบสนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในการทำแฟนโปรเจกต์ ไปใช้โดยพลการเป็นการส่วนตัวและผิดวัตถุประสงค์ จึงทำให้เหล่าแฟนคลับหลายคนเกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การนำเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ถึงแม้นี่จะไม่ใช่กรณีแรกที่บ้านเบสมีการฉ้อโกง แต่ทำให้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของการบริหารจัดการของบ้านเบสที่รับหน้าที่ในการเป็นตัวกลางการประสานทั้งแฟนคลับและต้นสังกัด

เหตุการณ์ฉ้อโกงที่เกิดขึ้น ทำให้เหล่าแฟนคลับเริ่มคิดหนักในการระดมทุนแต่ละครั้ง ว่าบ้านเบสที่ระดมทุนไปนั้นนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่นอกจากใช้ความเชื่อใจของเหล่าแฟนคลับต่อบ้านเบสแล้ว ประเทศไทยควรมีมาตรการที่มีส่วนช่วยให้เกิดไม่มีการฉ้อโกงในการทำแฟนโปรเจกต์ เช่น ต้นสังกัดของศิลปิน หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานในประเทศไทยควรมีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนบ้านเบส และประกาศข้อกำหนดที่ชัดเจน ประกอบด้วยขอบเขตแฟนโปรเจกต์ ไม่ให้มีการจัดโปรเจกต์ที่มากเกินไปในกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตของศิลปิน และการกำกับการดูแลเรื่องความโปร่งใส

ภาระคนดู ? สิ่งที่หลายคนรู้สึกแต่พูดได้ไม่เต็มปาก

แม้ว่าแฟนโปรเจกต์จะมีเจตนาดี แต่ก็อาจกลายเป็นภาระสำหรับคนดูบางส่วนที่ไม่ได้มีความสนใจหรือไม่ได้เตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ บางครั้งแฟนโปรเจกต์ที่ต้องการการเข้าร่วมจากคนดูทุกคน อาจทำให้เกิดความกดดันหรือความไม่สะดวกในกลุ่มคนดูที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ นอกจากนี้ การจัดแฟนโปรเจกต์ที่ซับซ้อนหรือมีค่าใช้จ่ายสูง อาจเป็นภาระที่หนักสำหรับแฟนคลับที่มีทรัพยากรจำกัด ความคาดหวังในการสนับสนุนโปรเจกต์อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกว่าตนเองถูกบังคับให้เข้าร่วม

เช่น คุณบีม แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นเรื่องการมีแฟนโปรเจกต์ว่า ไม่ได้กดดันในการมีแฟนโปรเจกต์ แต่เราจะไม่รู้จังหวะเค้าที่แบบว่าจะต้องทำอะไร ตอนไหน เราต้องคอยมองรอบข้างว่าตรงนี้ใช่ไหม ตรงนั้นใช่ไหม แบบเก้ ๆ กัง ๆ บ้าง พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้การดูคอนเสิร์ตเราเสียอรรถรส เราก็ไม่ได้โฟกัสศิลปินเราเต็มที่ ต้องมากังวล พะวงอีกว่าจะต้องถืออะไรขึ้นตอนไหนหรือคุณเจมส์ แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า ที่ไม่เห็นด้วยคือบางทีบางโปรเจกต์มันส่งผลกระทบต่อผู้ชม เช่น บางทีเราตั้งใจไปดูศิลปินโดยตรง บางทีในโมเม้นต์นั้นเราอาจไม่ได้อยากทำโปรเจกต์ขนาดนั้น อาจจะอยากตั้งใจฟัง ตั้งใจดูศิลปินมากกว่า

แล้วแฟนโปรเจกต์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้ ?

          เป็นคำถามที่ท้าทายในการทำแฟนโปรเจกต์แต่ละครั้งที่มักมีเสียงแตกออกเป็นสองฝั่งเสมอ ระหว่างการทุ่มสุดตัวให้กับการทำแฟนโปรเจกต์ กับอีกหนึ่งคำถามว่าทำไมเราต้องทำอะไรมากมายกับการมาดูคอนเสิร์ตที่เราจ่ายเงินเพื่ออยากไปฮิลใจไม่ใช่ไปทำอะไรที่ยุ่งยากมากมาย ซึ่งในผู้ชมบางท่านไม่ได้คาดหวังการมีอยู่ของแฟนโปรเจกต์ คุณเจมส์ แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า ไม่คาดหวังในฐานะที่ไปคอนมาคือจะไปดูศิลปิน ไม่ได้ตั้งใจจะไปทำอะไรให้ศิลปิน เรารู้สึกว่าเราไปเสพโมเม้นต์อะไรแบบนั้น มากกว่าที่ไปนั่งทำอะไรที่งุ้งงิ้งแบบนั้น ทำได้นะแต่โฟกัสที่เราไปคอนเสิร์ตอ่ะ เราอยากไปเจอศิลปิน ไปฟังเพลง ไปเสพบรรยากาศ

แต่ในแฟนคลับบางคนก็คาดหวังและสนับสนุนการมีแฟนโปรเจกต์ด้วย เช่น คุณอ้อม แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า การมีแฟนโปรเจกต์ในคอนเสิร์ตมันเป็นการที่ให้ศิลปินประทับใจในตัวแฟนคลับที่เราพยายามทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความรักให้เขาค่ะและ คุณโดนัท แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า การทำแฟนโปรเจกต์เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่ารักดีนะ เพราะว่ามันเป็นความทรงจำของศิลปินด้วย แล้วก็เวลาเราทำศิลปินเขาแฮปปี้ เราก็รู้สึกแบบคอมพลีท

นอกจากจะสร้างความประทับใจให้ศิลปินแล้ว การทำแฟนโปรเจกต์ก็เป็นอีกใบเบิกทางหนึ่ง ที่สื่อให้เห็นว่าฐานแฟนคลับที่แข็งแรงนั้นนำมาด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความนิยมของศิลปินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ศิลปินที่เราชอบมาทำกิจกรรมในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

แม้จะเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับจากต้นสังกัดหรือบ้านเบสโดยตรง แต่การทำแฟนโปรเจกต์ ต้องไม่เป็นการกดดันผู้คนที่มาดูคอนเสิร์ตมากเกินไป โดยทั้งต้นสังกัด ศิลปิน หรือกระทั่งแฟนคลับควรมีส่วนร่วมในการสร้างข้อกำหนดหรือกฎระเบียบในการทำแฟนโปรเจกต์ ให้มีความโปร่งใส ผ่านการบริหารจัดการที่ดี และสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงการคำนึงถึงความยินยอมในการการทำแฟนโปรเจกต์ของผู้เข้าร่วม เช่น การกรอกแบบฟอร์มความยินยอมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการบังคับในทางอ้อมต่อผู้เข้าร่วม จะทำให้แฟนโปรเจกต์เป็นกิจกรรมการสื่อสารความรัก ที่สร้างความรู้สึกและความทรงจำที่ประทับใจระหว่างศิลปินและแฟนคลับ รวมถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตนั้น ๆ ด้วย

สืบสานตำนานลายผ้าเมืองเขมราฐ สู่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

เรื่องราวจากลายผ้ามาสร้างสรรค์เป็นเพลงพื้นบ้านอีสาน ผ่านท่วงทำนองเพลงอันหลากหลาย เช่น ลำเพลิน ลำเดิน เต้ยพม่า เต้ยโขง ขับโสม เต้ยเดือนห้า ล่องโขง นาคสะดุ้ง เป็นต้น โดยทำนองเหล่านี้มีรากเหง้าเดิมมาจากแผ่นดินล้านช้างที่ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและ สปป.ลาว มีวัฒนธรรมร่วมกันและรังสรรค์เป็นการแสดงฟ้อนประกอบ เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ อันจะทำให้เรื่องราวตำนานผ้าอันทรงคุณค่าของเมืองเขมราฐถูกจารึกไว้ในอีกรูปแบบหนึ่ง และทำให้ผ้าเขมราฐเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางส่งผลดีต่อการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคสินค้าพื้นเมือง ทั้งยังเป็นการทำให้เยาวชนที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป

ผลความสำเร็จของโครงการ

ผลผลิต: เพลงและมิวสิกวิดีโอเรื่องราวตำนานลายผ้าเขมราฐ จำนวน 13 เพลง
ผลลัพธ์:
มียอดการรับชมผ่านทางออนไลน์ทั้งสิ้น 1,156,883 ครั้ง โดยแบ่งเป็นยอดการรับชมทาง YouTube 75,928 ครั้ง Facebook 89,855 ครั้ง และ TikTok 990,700 ครั้ง

ลิงก์ผลงาน ตำนานผ้าลายหยาดสายฝน จ๋า เกวริน x นะเดียว พงศธร

ลิงก์ผลงาน เพลง

ลิงก์ผลงาน MV

เดอะ วัดโพธิ์เอ้ม โค้ด ถอดรหัสโคลงกลบทมรดกโลกสู่สากลบนจักรวาลเสมือน

วิดีโอภาพจําลองของโคลงกลบทบนจารึกวัดโพธิ์ คัดเฉพาะบทที่มีชั้นเชิงกลเม็ดในการนําเสนอ ที่หลากหลายโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกจําลองแผนผังแนวทางการถอดรหัสการอ่าน โคลงกลบทพร้อมคําบรรยาย ภาษาอังกฤษ นําเสนอผลงานวิดีโอเผยแพร่ผ่าน YouTube จัดทำเพลงร่วมสมัยโดยศิลปินชั้นนํา บอกเล่าเรื่องราว เกี่ยวกับจารึกวัดโพธิ์ และโคลงกลบท และผลิตมิวสิกวิดีโอที่เล่าเรื่องราวของวัดโพธิ์ จารึกวัดโพธิ์ และชั้นเชิง ไหวพริบการประพันธ์ของโคลงกลบท รวบรวมผลงานทั้งหมดจัดนิทรรศการเสมือนจริงบน Virtual space ที่ Spatial.io ซึ่งเป็น Metaverse Virtual Community ชั้นนําของโลก เพื่อให้ผู้ชมจากทั่วโลกสามารถรับชมมิวสิกวิดีโอและ Video content ภาพจําลองของโคลงกลบทบนจารึกวัดโพธิ์ รวมถึงมีการรวบรวมผลงานทั้งหมด ไว้ที่เว็บไซต์ Watphoemdecode.com อีกช่องทางหนึ่งด้วย เป็นการสร้างสรรค์มิติใหม่ในการนำเสนอเรื่องราว ทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างการตระหนักรู้และความภาคภูมิใจในคุณค่าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย รวมถึงสร้างสรรค์ช่องทางใหม่ในการนำเสนอ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ผลความสำเร็จของโครงการ

ผลผลิต: วิดีโอภาพจำลองโคลงกลบท จำนวน ๒๕ บท, Music content video จำนวน ๑ ชิ้นงาน, นิทรรศการเสมือนจริงบน Virtual space จำนวน ๑ ชิ้นงาน เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ Facebook, YouTube และ Tiktok ของโครงการฯ โดยมียอดการรับชมทั้งสิ้น ๑,๔๒๐,๐๔๗ ครั้ง

ผลลัพธ์: ผู้รับชมมีการพูดถึงงานในสื่ออนไลน์และมีการรับรู้คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านโคลงกลบท

ลิงก์ผลงาน The Wat Pho-em Code