เลือกหน้า

ละครเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เด็กต้องเล่น ต้องได้ใช้ชีวิต

มีเด็กอีกหลายต่อหลายคน พวกเขาอาจรู้ว่ามีสัตว์ที่ชื่อว่าเป็ดอยู่ในโลกนี้ แต่ก็ไม่เคยได้รู้ไม่เคยได้เห็นเลยว่าหน้าตารูปร่างของมันเป็นอย่างไร มันเดินมันวิ่งแบบไหน ตัวมันนุ่มนิ่มขนาดไหน ลูกเป็ดกับเป็ดโตแล้วต่างกันอย่างไร มีเด็กอีกหลายต่อหลายคนเช่นเดียวกัน พวกเขาแทบไม่สามารถออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถไปเล่นในสนามเด็กเล่นที่เด็กคนอื่นเล่นกันอย่างสนุกสนานได้เลย พวกเขาต้องจำกัดตัวเองอยู่กับบ้าน เพราะการออกไปเล่นข้างนอกนั้นอันตรายไม่ปลอดภัย

และยังมีเด็กอีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ที่เกิดมาพร้อมกับความพิการทางการเห็น เมื่อไม่ได้เล่น ไม่ได้ซน ไม่ได้สัมผัสกับโลกข้างนอก พวกเขามักมีแนวโน้มไม่แข็งแรง ขาดความยืดหยุ่น ความคล่องตัว ที่สำคัญคือการฟอร์มบุคลิกภาพและการเคลื่อนไหวในวันที่พวกเขาเติบใหญ่ไปกว่านี้

การได้รู้จักโลก การได้วิ่งเล่น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย และสติปัญญา “โครงการจินตนาการเสรีสื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 เริ่มต้นขึ้นจากโจทย์ดังกล่าว พวกเขานำเอาการแสดงละครเวทีที่เป็นความถนัดของพวกเขาตั้งแต่ร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ใช้มันเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้กับกับเด็กที่เป็นผู้พิการทางการเห็น

เริ่มต้นด้วยการทำการบ้านอย่างหนัก ตั้งแต่การหาข้อมูลต่าง ๆ ของเด็กพิการทางการเห็นอยู่หลายเดือน เพื่อจะนำมาสู่การมาออกแบบละครที่มีเนื้อเรื่องแบบไหน ตัวละครอย่างไรที่จะเหมาะสมกับกลุ่มเด็กพิการทางการเห็นมากที่สุด เพื่อให้ละครนี้สามารถให้เด็ก ๆ นั้นได้พัฒนาการการเคลื่อนไหวร่างกาย เด็ก ๆ เล่นแบบไหนจะไม่เป็นอันตราย วัสดุประกอบเรื่องราวแบบไหนที่จะทำให้เกิดจินตนาการได้ว่า สิ่งนี้คือต้นหญ้า สิ่งนี้คือลำธาร สัตว์ตัวนี้คือตัวอะไร รูปร่างมันเป็นแบบไหน ละครเวทีที่ชื่อ “ลูกเป็ดผจญภัย” จึงถูกนำมาแสดงหลังจากทีมงานของโครงการฯ ได้ทำการบ้านอย่างหนักหน่วงมาหลายเดือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวของเป็ด จะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรให้กับเด็กที่พิการทางการเห็นได้ คุณเพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการเล่าให้เราฟังว่า “เพราะเป็ดนั้นเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวได้หลายแบบ ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนแบบท่าทางของเป็ด เป็นการฝึกเคลื่อนไหวได้หลายท่าทาง เนื้อเรื่องของละครลูกเป็ดผจญภัยนั้น บอกให้เห็นถึงความรักและความมั่นใจของแม่เป็ด ที่เป็นกำลังใจให้ลูกออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และในแต่ละด่านที่ลูกเป็ดผ่าน ลูกเป็ดนั้นเองที่จะได้ช่วยเหลือสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งละครเรื่องนี้ต้องการที่จะบอกพวกเขาว่า เด็ก ๆ ทุกคนมีความสามารถ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ แม้ว่าตัวเองจะไม่สมบูรณ์ก็ตามที” หัวใจที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การที่ลูกเป็ดกล้าที่จะออกมาผจญภัยในโลกภายนอก ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ๆ ของชีวิตนั้น อาจจะเจออุปสรรคในการใช้ชีวิต แต่ในตอนจบเป็ดตัวนั้นก็จะเติบโดขึ้นอย่างสวยงาม และชีวิตเขาก็จะพบแต่ความสุขใจ

ติดตามรับชมผลงานได้ที่  Facebook : The Little Blind Adventure

เมื่อซีรีส์ยูริ “หญิงรักหญิง (Girl’s Love)” กลายเป็นเทรนด์ออนไลน์ที่น่าจับตามอง และกำลังมาแรง

คอนเทนต์บันเทิงโดยเฉพาะซีรีส์ แนว ‘หญิงรักหญิง (Girl’s Love) ที่เรียกกันว่า Sapphic หรือยูริ (Yuri) กำลังกลายเป็นจุด สปอตไลต์ที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตและชวนตั้งคำถามต่อว่า ปรากฏการณ์ความฮิตของซีรีส์ยูรินั้นมีต้นสายมาจากจุดใด

สิ่งยืนยันว่า ซีรีส์ยูริ ได้กลายเป็นที่สนใจนั้นก็คือเทรนด์ในโลกออนไลน์ของไทย จากงานการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2567 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ  Wisesight  พบว่า คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับยูริ ติดเข้ามาใน Top 10 ประเด็นออนไลน์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จากช่วงกลางปีนี้

  • เดือน มิ.ย. 2567 มีคอนเทนต์แนวยูริติด Top 10 จำนวน 2 อันดับ ได้แก่

ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (16,413,533 engagement) อยู่ในอันดับที่ 5 นำแสดงโดย อิงฟ้า วราหะ และชาล็อต ออสติน เนื้อหาเป็นการสะท้อนปัญหาการทำร้ายจิตใจกันในสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวความรักของผู้หญิงสองคน

ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,629,797 engagement) อยู่ในอันดับที่ 7 เป็นซีรีส์ Girl’s Love แนวพีเรียด นำแสดงโดยนักแสดงสาว ‘ฟรีนสโรชา จันทร์กิมฮะ’ และ เบ็คกี้รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง

  • เดือน ก.ค. 2567 มีคอนเทนต์แนวยูริติด Top 10 จำนวน 2 อันดับ ได้แก่

ซีรีส์ใจซ่อนรัก (24,669,345 engagement) อยู่ในอันดับที่ 3 นำแสดงโดย หลิงหลิงศิริลักษณ์ คอง และ ออมกรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์’ เนื้อหาเล่าถึงแพทย์ผิวหนังผู้มีปมในใจจากการถูกหญิงสาวที่เธอรักหักอกจนชีวิตแทบพัง เธอพยายามอยู่นานกว่าจะกลับมามีชีวิตปกติได้ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกให้ทั้งคู่ต้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง

 งานเปิดตัวภาพยนตร์ยูเรนัส 2324 (14,679,970 engagement) อยู่ในอันดับที่ 10 ภาพยนตร์ไซไฟอวกาศเรื่องแรกของไทยที่ผสมเรื่องราวโรแมนติกดราม่าระหว่างนักบินอวกาศหญิงไทยคนแรกกับหญิงสาวผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาดำน้ำ นำแสดงโดยฟรีนสโรชา และเบคกี้รีเบคก้า

  • เดือน ส.ค. 2567 ซีรีส์ใจซ่อนรัก ยังคงมีกระแสต่อเนื่อง ได้ 21,045,173 engagement อยู่ในอันดับที่ 9
  • เดือน ก.ย. 2567 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ กลับขึ้นมาติดอันดับอีกครั้ง ได้ 14,264,331 engagement โดยครั้งนี้อยู่ในอันดับ
    ที่
    4

สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าในโลกออนไลน์ไทยมีการพูดถึง ‘ซีรีส์ยูริ’ มากขึ้น และการรับรู้ถึงคำ ๆ นี้มีมากขึ้นและชัดเจนขึ้น

ปรากฏการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และทิศทางต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มาร่วมกันหาความหมายที่แท้จริงของซีรีส์ยูริ พร้อมเหตุผลเบื้องหลังว่า เหตุใดคอนเทนต์แนว ‘หญิงรักหญิงจึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคมไทย

 

[ ความนิยม ‘ซีรีส์ยูริ’ เกิดขึ้นในไทยเมื่อใด ]

คำถามแรก ๆ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า คอนเทนต์แนว Sapphic คืออะไร ? ‘ซีรีส์ยูริ คืออะไร ? คงต้องเริ่มอธิบายในเรื่องนี้ก่อน โดยคำว่ายูริ (百合) ที่เราใช้กันในบริบทนี้ เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น แปลว่าดอกลิลลี่ และในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึงคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ นิยาย มังงะ เกม ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมย่อยอย่าง Sapphic ก็มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมวาย (Yaoi – คอนเทนต์แนวชายรักชาย) ที่มีรูปแบบความนิยมใกล้เคียงกัน แต่ทว่าในไทยนั้น วัฒนธรรม Sapphic จะมาช้ากว่าวัฒนธรรมวายเล็กน้อย

“สิ่งเหล่านี้เกิดมาพร้อม ๆ กับทีวีดิจิทัลในไทย เมื่อปี พ.ศ.2557 ขณะที่ในปี พ.ศ.2563 เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองในไทย (ชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฏร พ.ศ.2563) ได้ส่งผลมาถึงเนื้อหา และ ‘ความลึก ของเนื้อหาในการทำคอนเทนต์ความหลากหลายทางเพศในไทยด้วย เริ่มมีความสนใจ activism การเคลื่อนไหวทางสังคม สมรสเท่าเทียม เรื่องเกย์ เลสเบียน LGBTQIA+ ทั้งหลาย หรือ การปรากฏของ transgender ในซีรีส์วาย สิ่งเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดเจนหลังปี พ.ศ.2563 ทั้งสิ้น นี่คือจุดเปลี่ยนในเชิงอุดมการณ์ และเป็นจุดเปลี่ยนของสุนทรียภาพด้วย เพราะหลังจากนั้น จะมีความพิถีพิถันในการเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพราะการแข่งขันสูงขึ้น”

[ พลังของ ‘แฟนคลับ’ ]

ในส่วนของ ‘ซีรีส์ยูริ ความนิยมจากเหล่า แฟนคลับ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลมากถึงขั้นสามารถกำหนดได้ว่า อยากให้นักแสดงคนใด จิ้น กับใคร โดยจักรวาลของเนื้อหาในแนวความหลากหลายทางเพศนั้น ได้ถูกขยายออกไปเพราะกลุ่มแฟน ๆ นั่นเอง

“แฟนคอนเทนต์ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ มีอํานาจมาก นักแสดงคู่ใดจะคู่กันจริง ๆ หรือเปล่า ไม่รู้ แต่แฟน ๆ ซีรีส์สามารถจะบอกว่า จะเอาคนนั้น คนนี้ไหม จับคู่กันก็ได้ แล้วก็จะมาจินตนาการต่อ ด้วยการสร้าง fan fiction” รศ.ดร.นัทธนัยกล่าว

อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างกระแสให้กับ ‘ซีรีส์ยูริ คือ ผู้สร้างคอนเทนต์นั้นจะใช้กลยุทธ์จัดงาน fan meet ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ซึ่งนี่เป็นเครื่องย้ำว่า โมเดลของการสร้างความฮิตให้ปังนั้นคล้ายคลึงกับช่วงที่ซีรีส์วายได้รับความนิยมมาก่อน โดย รศ.ดร.นัทธนัยวิเคราะห์ว่า ในบางครั้งมีการวางกลยุทธ์สร้างการรับรู้ให้กับแฟน ๆ ด้วยการจับ “คู่จิ้น” กันก่อน เพื่อเป็นการวางกรอบเคมีของนักแสดงให้คนรับรู้ว่า ใครอยู่ในตำแหน่งโพล (Pole Position) ของความสัมพันธ์ ตามไวยากรณ์ของซีรีส์วาย ตั้งแต่รูปแบบ มังงะ อนิเมะ รวมถึงซีรีส์ที่ฮิตในไทยด้วย โดยชื่อของนักแสดงที่อยู่ข้างหน้าจะถือเป็นฝ่ายรุกในความสัมพันธ์

[ ยูริ-วาย ทำให้คนไม่เดียวดาย โดยเฉพาะในประเทศยังไม่เปิดรับ LGBTQ]

ขณะที่ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์แนวยูริ มองว่า สาเหตุที่คอนเทนต์วายรวมถึงยูริได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีกลุ่มฐานคนดูอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งกลุ่มคนที่เป็นแฟนซีรีส์เหล่านี้ ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะมีกลุ่มที่เป็นแฟนคลับอยู่ทั่วโลกด้วย

ขณะเดียวกัน บางประเทศในโลกนี้ยังไม่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการผลิตเนื้อหาในเชิงสนับสนุน LGBTQ หรือซีรีส์ยูรินั้น เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ที่ให้พวกเขาได้เติมเต็มความรู้สึก

“ผู้คนที่เสพซีรีส์วาย-ยูริ ไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQ เสมอไป กลุ่มคนดูคือเขาเลือกเสพสิ่งที่เขาดูแล้วมีความสุข แต่ในส่วนของแฟนคลับต่างประเทศ บางคนที่เป็น LGBTQ อาจมองว่าซีรี่ย์วายไทย-ยูริไทย เป็นเหมือนกับโอเอซิสกลางทะเลทราย เป็นสิ่งที่ปลอบประโลมจิตใจผูุ้คนในประเทศที่ความหลากหลายทางเพศ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เปรียบเสมือนพวกเขาเหล่านั้นมีเพื่อนและไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายบนโลกใบนี้”

อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก” ยังเชื่อว่า ในเชิงธุรกิจของกลุ่มเนื้อหา LGBTQ หรือหากเฉพาะเจาะจงไปที่ตัวซีรีส์แนวยูริ มีเม็ดเงินจำนวนมากในธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มากมาย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงโตได้ในระดับภูมิภาค

“ลองพิจารณาดูนะ ต่อให้เป็นคู่นักแสดงวาย ที่เล่นเรื่องเดียวแล้วดัง ก็กลายเป็น brand ambassador ระดับโลกได้ เป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าระดับโลกได้ นี่คือเครื่องยืนยันการันตีว่า กลุ่มแฟนคลับสามารถทําให้ศิลปินที่พวกเขาเชียร์ ไปแตะระดับนั้นได้ แปลว่ามันมีมูลค่าทางธุรกิจแน่นอน”

กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ยังฉายภาพให้เห็นอีกว่า การที่ประเทศไทยมีคอนเทนต์แนววาย-คอนเทนต์ยูริเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นกระจกเงาส่องสะท้อนสังคมว่าให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปกติ และเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างเป็นปกติอยู่แล้วในเชิงการรับรู้ของสังคม นั่นส่งผลในแง่กฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ผ่านแล้ว (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือตั้งแต่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป)

[ ใครคือกลุ่มคนดูของ ซีรีส์ยูริ ]

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าซีรีส์ยูรินั้น ‘ตลาด หรือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงคือใคร ต่อข้อสงสัยนี้ ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชน หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย มองว่า ซีรีส์ยูริเป็นตลาดของหญิงรักหญิงหรือผู้หญิงที่เป็น bisexual เป็นส่วนใหญ่

“ในช่วง 10 ปีหลัง เรามีการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศของซีรีส์วาย-ยูริ ซึ่งเป็นคนละตลาด อย่างซีรีส์วายตลาดจริง ๆ แล้วเป็นกลุ่มผู้หญิงตรงเพศ ขณะที่ซีรีส์ยูริเป็นตลาดของหญิงรักหญิง หรือผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล”

ครูธัญยังชี้ว่า สังคมไทยตอนนี้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ นี่ถือเป็นประตูที่ทําให้วัฒนธรรมบันเทิงกล้าที่จะผลิตอย่างท้าทายกรอบขนบเดิม

“เรื่องเล่าในสังคมจะเปลี่ยนไป จะครอบคลุมมากขึ้นในความหลากหลายทางเพศในทุกเพศวิถี ซีรีส์ยูริจะเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงการรับรู้เรื่องเล่าวรรณกรรม สื่อบันเทิงของสังคม” สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชนกล่าว

[ อนาคตคอนเทนต์ความหลากหลายทางเพศ ]

หากมองภาพอนาคต คอนเทนต์ยูริจะถูกถ่ายทอดหรือพัฒนาไปทางไหนต่อไป ครูธัญมองว่า ในอนาคต ‘ความไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชาย จะถูกนำเสนอมากขึ้น ขณะเดียวกันการเป็นซีรีส์ยูรินั้น ก็อาจจะนําพาไปสู่การเป็นเกิร์ลกรุ๊ปอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับที่คอนเทนต์ซีรีส์วายนำพาให้เกิดบอยแบนด์ในรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตเนื้อหาของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในชีวิตจริง กลุ่มคนเหล่านี้ยังถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม แต่สิ่งที่จะสะท้อนความหลากหลายได้ดีคือสังคมใดที่นำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศได้อย่างเป็นธรมมชาติได้มากเท่าไร ถือเป็นเครื่องชี้วัดความหลากหลายในสังคมได้มากขึ้นเท่านั้น

ขณะที่ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน คาดการณ์ว่า ต่อไปในอนาคต จะมีกระแสของคำว่า genderless (ไร้เพศ หรือ ไม่มีเพศ) ในงานบันเทิง จะมีการสร้างตัวละครที่มีคาแร็กเตอร์แบบ จะคบกับใครก็ได้ เพศใดก็ได้ กับผู้ชาย กับผู้หญิง หรือกับ LGBTQ ได้หมด ตัวละครจะสามารถคบหากันได้ ด้วยความเป็นมนุษย์ของคนสองคน

นี่คือบทสนทนาเกี่ยวกับความนิยมในซีรีส์ยูริที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้ โดยเสนออย่างกินความตั้งแต่เหตุผลที่คอนเทนต์แนวนี้ได้รับความนิยม, พลังของแฟนคลับ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยและในหลายประเทศที่มีการเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัวโครงการพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข ปี 3 “สื่อ เตือน สติ” หวังสร้างสื่อดีเตือนสติให้ประชาชน

(29 ต.ค. 2567)  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข  ปี 3  “สื่อ เตือน สติ”   โดยการจัดงานมหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข ปีนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3  ดำเนินการภายใต้แนวคิด “สื่อ เตือน สติ”   หวังสร้างสื่อดีเตือนสติให้ประชาชน     

ณ  The Quarter Ari by UHG  กทม.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวถึงที่มาของการจัดงานพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข  ปี 3  “สื่อ เตือน สติ”  เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล กองทุนพัฒนาสื่อฯ จึงได้สร้างสรรค์กิจกรรมทั้งในรูปแบบ On Ground Event และ On line Event  สร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา เผยแพร่ให้ประชาชนทั้งภายในและ ต่างประเทศเข้าถึงสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย  โดยการจัดงานพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข  ปี 3   ปีนี้จัดภายใต้แนวคิด  “สื่อ เตือน สติ”   เพราะถ้าทุกคนมีสติ ก็จะเข้าใจและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในรอบตัว  สามารถจัดการกับตัวเองได้ว่าจะทำอย่างไร เช่นการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร อย่างมีสติ  ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ข่าวปลอม    ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าเรามีวิธีคิดหรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาการเจริญปัญญาโดยการคิดแบบโยนิโสมนสิการ  ด้วยการพิจารณาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนและลึกซึ้ง  นำหลักธรรมมาช่วยรับมือกับสิ่งที่รอบตัว เพราะหลักธรรมในพุทธศาสนาสามารถขับเคลื่อนสังคมให้น่าอยู่    สำหรับอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญในปีนี้ คือการจัดประกวดคลิปสั้นหนูได้ธรรม ความยาวไม่เกิน 1.30 นาทีหัวข้อการให้ข้อคิดธรรมะในชีวิตประจำวัน  โดยเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ส่งผลงานชิงเงินรางวัลกว่า 90,000 บาท เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม  ถึง วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น.

โดยการจัดงานรูปแบบ On Ground Event จะจัดขึ้นวันที่ 13-14 เดือนธันวาคม 2567  ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมนิทรรศการแบบผสมผสาน ฟังการเสวนาธรรมจากวิทยากรชื่อดัง และคลินิกสุขาใจรับปรึกษาปัญหาด้วยกระบวนการเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ และการมอบรางวัลสำหรับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ชนะการประกวดคลิปสั้น “หนูได้ธรรม  ตั้งแต่ 10.00 – 20.00น.  

ติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์  www.thaimediafund.or.th
และเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือสร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมการเตือนภัยและการเฝ้าระวังอาชญากรรมทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ

(29  ตุลาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหาร ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์  เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนสื่อ และ นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโส  ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร   ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือ   ณ ห้องบรรยายวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมทั้ง การเตือนภัยและการเฝ้าระวังอาชญากรรมทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์และภัยที่มาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มทักษะในการรู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป
  2. เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้และการจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาด มีทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ สามารถปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเคารพสิทธิตนเองและผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)
  3. เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแต่ละฝ่าย
  4. เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
  5. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละฝ่าย ผ่านโครงการฝึกอบรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ
  6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรภาครัฐร่วมกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ หรือเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

TU-RAC เตรียมความพร้อมครูไทย (ระดับประถมศึกษา) ในโลกยุคดิจิทัล เปิดหลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อเพิ่มขีดความสามารถเด็กไทยฉลาดทันสื่อ

กรุงเทพฯ 26 ตุลาคม 2567 – สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หรือ TU-RAC ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัวโครงการหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับประถมศึกษา และจัดฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ที่ครอบคลุมสำหรับครูไทย เพื่อเตรียมความพร้อมครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของผู้เรียน ในระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม Basil ชั้น 3 ห้อง โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์

สำหรับหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับประถมศึกษา เป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่าง TU-RAC และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหลักที่สำคัญ และจำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร การรู้เท่าทันสื่อ และความเป็นพลเมืองดี โดยพัฒนาผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานโดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวัทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ครอบคลุมสำหรับครูไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างความรู้ และเสริมสร้างพลัง  ให้ครูสามารถนำทางผู้เรียนในโลกของสื่อที่ซับซ้อนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนให้สามารถดำรงชีวิตได้ในยุคดิจิทัล

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเปิดงานอบรม และเปิดตัวหลักสูตรการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ และการเสริมสร้างความฉลาด ทางดิจิทัลในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ต้องการพัฒนาหลักสูตรนี้โดยให้ความสำคัญกับเด็ก และเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี การสื่อสาร และข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ได้ง่าย รวมถึงครูไทยที่ปัจจุบันพบว่า 30% รู้สึกมั่นใจในการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (ผลสำรวจในปี 2564 ที่ดำเนินการโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความเร่งด่วนในการเสริมสร้างศักยภาพของครูให้สามารถนำทักษะการรู้เท่าทันสื่อไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายทุกภาคส่วนในการต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการ และร่วมพัฒนาหลักสูตรนี้ให้สมบูรณ์

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของครูที่เข้าร่วมอบรม  ทุกท่าน และช่วยให้เด็ก ๆ สามารถใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ เผชิญหน้ากับโลกดิจิทัลที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้าน ผศ. ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สำหรับหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับชั้นประถมศึกษา เราได้เป็นผู้พัฒนาหลักสูตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย การรับฟังความคิดเห็น และการทดลองใช้หลักสูตรนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และถือเป็นการเปิดโอกาสให้เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยสามารถพัฒนาจนนำไปสู่การใช้หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับชั้นประถมศึกษาไปได้ในวงกว้างขึ้น ทั้งนี้เราได้มีการวางแผนการจัดการการฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ครอบคลุมสำหรับแกนนำครูไทย ครอบคลุมพื้นที่ 6 ภูมิภาค ในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ เพื่อให้ครูในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตรนี้  ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการช่วยปูพื้นฐานความรู้ และเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อให้ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา ร่วมถึงการนำหลักสูตรด้าน MIDL ไปปรับใช้ในการสอนในสถานศึกษาได้อย่างเห็นผล”