เลือกหน้า

กองทุนสื่อ ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย จับมือลงนามความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนด้านเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในสังคม

24 ตุลาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย โดยมีผู้บริหาร ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์  เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนสื่อ และ นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือ

ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อประเภทเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ การนำนวัตกรรมแขนงต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการผลิตสื่อประเภทเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาผู้ผลิตสื่อประเภทเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตสื่อประเภทเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนด้านเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในสังคม โดยใช้เทคโนโลยีสื่อดิจิทัลและวิทยาการแขนงใหม่
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาประยุกต์หรือสอดแทรกในเนื้อหาของสื่อประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสื่อประเภทเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์
  4. ร่วมมือ วางแผน ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนให้ทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์ รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจในด้านที่เกี่ยวกับเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้สร้างสรรค์ ผู้พัฒนา ผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขยายการตลาดของเกมและเกมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้เติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  5. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแต่ละฝ่าย
  6. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละฝ่าย ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำผลงานของทั้งสองฝ่ายไปสร้างชื่อเสียงและประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ปี 2567 หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยสื่อสร้างสรรค์ เริ่มต้นบุกอีสาน จ.ร้อยเอ็ด

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าจัด กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่ว 5 ภูมิภาค ประจำปี 2567 มุ่งเน้นให้คนในสังคมรวมพลัง ร่วมกันสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมที่มั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมุ่งหวังการสร้างเครือข่าย นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ประชาชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มคิกออฟโครงการฯ ครั้งแรกแล้วที่ภูมิภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะไฮเพลส จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานคับคั่ง

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า

ด้วย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนางานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามที่กำหนดในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้กองทุนมีภารกิจในการรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายเพื่อการเข้าถึง เผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย

ในปี 2564 – 2565 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้จัดทำโครงการจัด กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปี 2567 กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค จัดขึ้นตามวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2) เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการรู้เท่าทันสื่อ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 5 ภูมิภาค 3) เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อไปยังภาคีเครือข่าย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปในระดับภูมิภาค และ 4) เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจตามยุทธศาสตร์ และการสนับสนุนทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับภาคีเครือข่าย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงภารกิจและการสนับสนุนทุนของกองทุนฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคีเครือข่ายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ผู้รับทุน ผู้สนใจขอรับการสนับสนุนจากกองทุน สื่อมวลชนท้องถิ่น ผู้ผลิตสื่อท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในทุกภาคส่วน

ท้ายสุด เรียนให้ทราบว่า กองทุนฯ ยังคงยึดมั่นตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ด้วยการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อที่ดีต่อสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่เน้นส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์และเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแสดงความเห็น แต่ยังเป็นพื้นที่ในการขยายขอบข่ายการทำงานของภาคีเครือข่ายใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ตอบสนองต่อบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ในฐานะตัวแทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมและการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสื่อที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมสร้างทักษะ และปกป้องสังคมไทยจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย เพื่อสร้างอนาคตที่สื่อจะเป็นพลังบวกสำหรับทุกคน การมีส่วนร่วมของคุณคือพลังสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นจริง

กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค  ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดงานด้วยชุดการแสดงดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัย “สาวสะกิดแม่และออนซอนหอโหวด” โดยพ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) จากนั้นกล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคุณศักดิ์ศรี  ไชยกุฉิน  ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และกล่าวเปิดงาน โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยหัวข้อ  TMF TALK: “เครือข่ายยุค AI ขับเคลื่อนอย่างไรให้ In Trend” ต่อด้วยงานเสวนาจากภาคีเครือข่าย ผู้รับทุน และเจ้าหน้าที่จากกองทุนฯ ในหัวข้อ  “TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี คุณศรีมาลาฌ์ ยะภักดี คุณสว่าง สุขแสง คุณเทินพันธ์ แพนสมบัติม และคุณอุษา รุ่งโจน์การค้า       ต่อจากนั้นช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม Workshop TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างสื่อสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อบรมเชิงปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สร้างสื่อสร้างคน กลุ่มที่ 2 รณรงค์รู้เท่าทันสื่อ และกลุ่มที่ 3 เครือข่ายแบ่งปันแลกเปลี่ยน

สำหรับ  กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ในปี 2567 กำหนดจัดครั้งต่อไป ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ: วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 3 ภาคใต้: วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง และครั้งที่ 4 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก: วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ บางนา

รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้จากเฟสบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขอเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดคลิปสั้นการให้ข้อคิด ธรรมะในชีวิตประจำวันในโครงการ “หนูได้ธรรม”

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวด
คลิปสั้นการให้ข้อคิด ธรรมะในชีวิตประจำวัน ในโครงการ “หนูได้ธรรม” ความยาวไม่เกิน 1.30 นาที
ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 90,000 บาท
.
สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่ :
https://forms.office.com/r/kgCMaebsWB?origin=lprLink
.
ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม – 20 พฤศจิกายน 2567
ภายในเวลา 16.00 น.

ปรากฏการณ์ “หมีเนย” Mascot Marketing สะพานเชื่อมใจในยุคที่มีคนรู้สึกโดดเดี่ยว

ในโลกออนไลน์ ตามธรรมชาติแล้ว กระแสหรือเทรนด์ต่าง ๆ มักจะมาไวไปไว ไม่ต่างอะไรกับ แสงไฟจากประกายพลุบนท้องฟ้าที่สว่างวาบเพียงชั่ววูบแล้วก็หายไป..

แต่ปรากฏการณ์คลั่งรัก ‘หมีเนย’หรือButterbearในช่วง 3-4เดือนที่ผ่านมาดูจะเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปจากธรรมชาติของเทรนด์ฮิตในโลกออนไลน์  เพราะความฮิตและกระแส ‘หมีเนยฟีเวอร์’ อยู่ได้ยาวนานเป็นหลักเดือน ๆ โดยมีเครื่องพิสูจน์คือการติด TOP10 ประเด็นที่ได้รับ engagement มากที่สุดจากการสำรวจโดย Wisesight ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 – เดือน ก.ย. 2567 ไม่มีประเด็นไหนจะติด TOP10 ยาวนานเช่นนี้อีกแล้วในปีนี้

ที่สำคัญ ยังเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 2 เดือนซ้อนติดต่อ คือในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. 2567

  • เดือน มิ.ย. 2567 หมีเนยได้รับ 36,915,745 engagement ติด TOP10 เป็นครั้งแรก เป็นอันดับที่หนึ่ง
  • เดือน ก.ค. 2567 หมีเนยได้รับ 44,187,828 engagement อยู่ในอับดับที่หนึ่งอีกครั้ง
  • เดือน ส.ค. 2567 หมีเนยได้รับ 26,841,751 engagement ตกมาเป็นอันดับที่ห้า ในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
  • เดือน ก.ย. 2567 หมีเนยได้รับ 9,652,391 engagement ตกมาอยู่ในอันดับที่แปด โดยมีปรากฎการณ์ ‘หมูเด้ง’ ลูกฮิปโปแคระโผล่ของสวนสัตว์เขาเขียวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในเดือนเดียวกัน

หากเจาะลึกลงไป จะพบว่า engagement ของหมีเนยจำนวนมาก จะมาจากแพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม ‘ผู้ใช้งานทั่วไป’ เป็นแฟนคลับที่เรียกตนเองว่า ‘มัมหมี’ รวมถึงการสื่อสารจากช่องทางอย่างเป็นทางการของร้านต้นสังกัดของหมีเนย – ร้านเบเกอรี่ Butterbear ซึ่งเป็นร้านใหม่ในเครือ Coffee beans by Dao ร้านเค้กแบรนด์ไทย ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า Emsphere ชั้น G เปิดให้บริการมาแค่ 1 ปี แต่พอหมีเนยดังทะลุกราฟ นั่นก็ทำให้ร้านนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นมาด้วยตาม ๆ กัน

กับปรากฏการณ์ไวรัลครั้งนี้, อะไรที่ทำให้น้องหมีเนยครองใจผู้คนได้ขนาดนี้ ทำไมเหล่าแฟนคลับ รวมทั้ง มัมหมี จึงมีความรู้สึกร่วมกันต่อหมีเนยอย่างร่วมกันละเลยว่าข้างในหุ่นนั้น คือ คน ทั้งไม่ร่วมกันค้นหาว่าคนๆนั้น คือ ใคร ? ร่วมถอดปรากฎการณ์หมีเนยไปกับ ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด

จุดเริ่มต้นของการพูดคุย ผศ.ดร.บุปผาตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า หมีเนยไม่ใช่ mascot ทั่วไป แต่หมีเนยนั้นคือ ‘คน’ (เด็กหญิง วัย 3 ขวบ) เมื่อคนที่ใช้โซเชียลมีเดียหรือคนที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของหมีเนยแล้ว ก็จะเห็นภาพการจำลองชีวิตของคน ๆ หนึ่ง

“ฉะนั้นมันคือการถอดรหัสพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน แล้วใส่รหัสนี้เข้าไปในตัวน้องหมี ผ่านคาแร็กเตอร์ น่ารัก ขี้เล่น ขี้เขิน ขี้อาย ฉะนั้น มันเลยเป็นการฝั่งวิธีคิดต่าง ๆ โดยการจำลองพฤติกรรมของลูกค้ายุคนี้ แล้วทำให้เขา react ออกมาเหมือนคนที่มีช่วงเวลาของการผิดหวัง เสียใจ เริ่มต้นของการก่อนจะดัง ต้องมีความพยายาม สร้างตัวตน” ผศ.ดร.บุปผาให้ความเห็น

ขณะเดียวกัน ทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมี 2 ด้านเหมือนกับเหรียญ, แต่หมีเนยกลับไม่ค่อยมีกระแสต่อต้าน หรือ anti มากเท่าไรนักส่วนใหญ่จะเทไปในทางเดียวกันคือชื่นชอบ ตรงประเด็นนี้ ผศ.ดร.บุปผามองว่า เป็นเพราะการสร้างหมีเนยขึ้นมา ไม่ได้วางตัวเองเป็นไอดอล แต่มีเป้าหมายในชีวิตที่อยากจะเป็นไอดอลต่างหาก ช่วงแรก หมีเนยจะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ ตรงจุดนี้เลยทำให้ หมีเนยได้ใจเหล่าแฟนคลับ

หมีเนย คือ หนึ่งในสะพานเชื่อมใจคน

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ หมีเนยถือเป็นตัวแทนของผู้บริโภค เปรียบเสมือนกับเขาเป็นคน ๆ หนึ่งในยุคสมัยนี้ มีวิถีชีวิต มีไลฟ์สไตล์เหมือนกับคนยุคนี้ ดังนั้น มันจึงสามารถ connect เชื่อมต่อความรู้สึก กับผู้คนในยุคนี้ได้

ถ้าหากใช้ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ปรากฏการณ์หมีเนยที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ‘หมีเนย’ จะอยู่ในลำดับขั้นที่ 3 นั่นคือ ความต้องการด้านความรักหรือการเป็นเจ้าของ (Love/Sense of Belongings) เพราะหมีเนยที่ทำให้วัยรุ่นชอบ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง การแชร์ การส่งต่อ เป็นความสัมพันธ์แนวระนาบ ในระดับเดียวกัน กล่าวคือ ‘เพื่อนส่งต่อเพื่อน’

แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็เกิดความสัมพันธ์ในแนวตั้งด้วย เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างสังคมครอบครัวให้แน่นหนายิ่งขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกไปที่ Emsphere ไปดูหมีเนย หรือทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในองค์กร พนักงานสามารถเอาน้องหมีเนยมาคุยกับหัวหน้าได้ พ่อแม่เอาน้องหมีเนยมาคุยกับลูกได้ เพราะนี่คือ Sense of Belongings ที่เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

“หมีเนยคือสะพานเชื่อม ยุคนี้มันคือยุคของความว้าเหว่ โดดเดี่ยว แต่อย่างน้อยน้องหมีเนยทำให้คนเห็นแล้วยิ้มได้ หัวเราะได้ และรู้สึกจับต้องได้ในความเป็นจริง เขาไม่ใช่แค่ตุ๊กตา เราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของน้องหมีเนย เหมือนเขาเป็นเพื่อนเรา เขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้”

กับไวรัลหมีเนยที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นกระจกสะท้อนสังคมในหลาย ๆ มิติ หนึ่งในนั้นคือภาพสะท้อนเศรษฐกิจสังคม เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บอกว่า ‘คนยังมีกำลังซื้ออีกเยอะ’ ..หากมองหมีเนยเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง สำหรับคนที่มีกำลังซื้อ ในแง่ของการชื่นชอบที่เป็นความรู้สึก ผู้ใช้จับจ่ายหรือ ‘เปย์’ ให้กับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับหมีเนย จะไม่มีเหตุผลของคำว่าเงิน

คนทั่วโลก มีความสุขน้อยลง หมีเนยจึงเป็นโอเอซิส ?

และอีกสิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ ก็คือการเจอ ‘พฤติกรรมร่วม’ อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ทำให้หมีเนยดังไปยังต่างประเทศ จนไปสัมผัสใจคนต่างชาติ ซึ่งหากลองถอดรหัสจริง ๆ แล้ว นั่นแปลว่าคนทั่วโลกกำลังมี pain point เรื่องนี้อยู่

“คนทั่วโลกมีความสุขลดลง ไม่ค่อยได้หัวเราะ” ผศ.ดร.บุปผาระบุ

เหตุผลที่คนทั่วโลกมีความสุขน้อยลง นั่นอาจจะเป็นเพราะตอนนี้ ทุกคนอยู่ใน โซเชียลมีเดียมากเกินไป  ทำให้ปฏิสัมพันธ์ความเป็นจริงลดลง ผลที่ตามมาคือทำให้คนว้าเหว่ในใจลึก ๆ และแสวงหาความสัมพันธ์เสมือน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจับต้องไม่ได้สักเท่าไร

และหากลงลึกไปกว่านั้น ทุกวันนี้ ทุกคนบีบคั้นตัวเองมากขึ้น ความเร่งรีบกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวทุกคนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นภาพสะท้อนว่า นี่คือสังคมของการแข่งขัน ที่ความเป็นเมืองทั่วโลกมีเหมือนกัน

“เราต้องการออกซิเจนคล้ายกัน ออกซิเจนที่มาจากความน่ารัก ฮีลใจ ตรงนี้หมีเนยคือ oasis เป็นพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ให้เราได้หัวเราะ กลายเป็น save zone เป็นที่ที่เราได้ปล่อยใจ หัวเราะดัง ๆ ได้ โดยไม่ต้องระแวงว่าจะมีใครมาแทงข้างหลัง” ผศ.ดร.บุปผาเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

 

หมีเนย คือความ real แบบศตวรรษที่ 21 

ในเชิงปรากฏการณ์ของสังคม ‘หมีเนยฟีเวอร์’ นี่คือกระบวนการสร้างตัวตนผ่าน mascot ด้วยเทคนิคเหนือชั้นกว่า mascot แบบเดิม ๆ ในอดีต โดยมีการใส่ความ real (จริง) ของชีวิตเข้าไปในตัวหมีเนย

“มันคือความเรียลแบบ Gen Z เรียลแบบศตวรรษที่ 21 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีขนาดนี้” ผศ.ดร.บุปผากล่าว

ส่วนในแง่มุมการตลาดนั้น, หมีเนยถือเป็นสินค้าหนึ่ง ซึ่งลูกค้าพอใจจะจ่าย โดยทุกสินค้าในท้องตลาด ‘ราคา’ จะเป็นส่วนผสมระหว่าง functional benefit (ประโยชน์ด้านการใช้สอย) กับ emotional benefit (ประโยชน์ด้านอารมณ์ความรู้สึก) อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะให้ตรงไหนมากกว่า มันจึงไม่สำคัญว่าถูกหรือแพง แต่อยู่ที่ว่า การจ่ายให้กับหมีเนยนั้น ‘เติมเต็ม’ เขาได้แค่ไหน เพราะสินค้าแบบหมีเนย มันคือคุณค่าที่เขาได้รับจากสิ่งนี้

ในภาคส่วนขยายไปในภาพใหญ่ของประเทศกับประเด็น soft power ที่ใครหลายคนพูดถึง ผศ.ดร.บุปผามองว่า ประเด็นนี้ สามารถแตกกอต่อยอดไปได้อีกไกล ขึ้นอยู่กับว่าทางรัฐจะเอาจริงแค่ไหน

“สิ่งที่อยากจะฝากกับทางภาครัฐ กับประเด็น soft power จะเริ่มทำจริง ๆ ได้หรือยัง เพราะหมีเนยไม่ได้เกิดมาครั้งแรก เรามีปรากฏการณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ‘หมีเนย’ แล้วต่อมาก็เป็น ‘หมูเด้ง’ ถ้าคุณทำจริงจัง จะให้หมีเนยไปหาหมูเด้งยังได้เลย ให้เกิดการ collab กันระหว่างแบรนด์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาดจากมหาวิทยาลัยหอการค้ารายนี้กล่าวทิ้งท้าย

ปรากฎการณ์หมีเนยเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปหลาย ๆ อย่างทั้งในสังคมไทยและโลกว่า เราต่างก็เหงา เศร้า และโดดเดี่ยว แม้จะมีสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย แต่ความรู้สึกเร่งรัดบีบคั้นในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน การจะหาบางสิ่งมาเป็น oasis เป็นที่พักใจ ฮีลใจ เป็นเซฟโซนให้ได้พักหายใจ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

หากยังจำกันได้ ก่อนจะมี ‘หมีเนย’ ก็เคยมี Art Toy น่ารักอย่าง ‘ลาบูบู้’ ที่คนจำนวนมากคลั่งไคล้ หรือเมื่อกระแส mascot ร้านเบเกอรี่นี้เริ่มแผ่ว ก็มีลูกฮิปโปแคระอย่างน้อง ‘หมูเด้ง’ ผู้สะดีดสะดิ้งโดดเด้งมารับลูกต่อ

เหล่านี้เป็น soft power ที่ภาครัฐน่าจะหยิบไปต่อยอด อย่าให้กลายเป็นเพียงพลุบนท้องฟ้า ที่สว่างเพียงชั่ววูบแล้วก็หายไป เหมือนกับปรากฎการณ์อื่น ๆ ที่เคยผ่านมาในอดีต

 

“หมูเด้ง” ขึ้นอันดับหนึ่ง ความสนใจโลกออนไลน์

เดือน ส.ค. 2567 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สื่อสายการเมือง ยุ่งที่สุด ครั้งหนึ่งในรอบปี เพราะมีสารพัดอีเว้นต์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้ง

  • พรรคก้าวไกลที่มี สส.อันดับหนึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ จากคดีเสนอแก้ไข ม.112 (7 ส.ค. 2567)
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองยอดนิยมถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี (7 ส.ค. 2567)
  • นายกรัฐมนตรีคนเดิมถูกถอดถอน ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศและคนที่ 4 จากสายตระกูลเดียวกัน (14-18 ส.ค. 2567)

 

แต่แม้จะมีเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบสำคัญทางการเมืองอย่างครบถ้วน (พรรคอันดับหนึ่งถูกยุบ, เปลี่ยนตัวนายกฯ, พิธาโดนตัดสิทธิ) จนน่าจะได้เอ็นเกจเม้นต์ถล่มทลายจากชาวเน็ตไทย

เชื่อหรือไม่ว่า หากเทียบกับข่าวอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ‘การก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของ
อุ๊งอิ๊งค์-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร’ หรือ ‘พรรคก้าวไกลถูกยุบ เปิดตัวพรรคใหม่ พรรคประชาชน’
กลับไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่ผู้คนสนใจเป็นอันดับ 1 แต่ได้รับความสนใจมาเป็นอันดับที่ 4 (28,369,606 เอ็นเกจเม้นต์) และอันดับที่ 6 (24.787,182 เอ็นเกจเม้นต์) ตามลำดับ แพ้ให้กับมหกรรมโอลิมปิก, เทศกาลวันแม่ หรือกระทั่งความนิยมของละครพรชีวัน ที่อยู่ในละครชุดดวงใจเทวพรหม ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3

ขณะที่เดือน ก.ย. 2567 ที่เริ่มต้นการจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากถึง 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรไทยทั้งหมด แต่ประเด็นนี้กลับได้รับความสนใจอยู่ในลำดับที่ 11 ของเดือน (8,200,741 เอ็นเกจเม้นต์) ไม่ติดกระทั่ง TOP 10 แพ้ให้กับประเด็น หมูเด้งลูกฮิปโปแคระ ซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ที่ได้ 86,830,577 เอ็นเกจเม้นต์ หรือได้รับความสนใจน้อยกว่านับสิบเท่า

หากย้อนเวลากลับไปยังครึ่งแรกของปี 2567 ก็จะพบข้อมูลในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีประเด็นการเมือง
แค่
2 เรื่องเท่านั้น ที่ติด TOP 10 ในเดือนนั้น ๆ คือ การกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล หลังพ้นผิดจากคดีถือหุ้น ITV โดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของเดือน ม.ค.2567 (13,464,309 เอ็นเกจเม้นต์) และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่อยู่ในอันดับที่ 9 ของเดือน มิ.ย. 2567 (12,350,146 เอ็นเกจเม้นต์)

นั่นแปลว่า ระหว่าง ม.ค. – ก.ย. 2567 จากทั้งหมด 90 ประเด็นที่ติด TOP 10 ความสนใจของผู้คนในช่วง 9 เดือน มีประเด็นการเมืองติดอันดับเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

อ่านข้อมูลจนถึงบรรทัดนี้ นึกย้อนกลับไปปี 2565 และปี 2566 หลายคนอาจต้องเกาศีรษะ เพราะถ้ายังจำกันได้ 2-3 ปีก่อน จะเต็มไปด้วย ข่าวการเมือง ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทั้งข่าวการเมืองในและการเมืองต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม., กระแสชัชชาติฟีเวอร์, สงครามรัสเซียยูเครน, ไปจนถึงการเลือกตั้ง สส. ทั่วประเทศของไทย ที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างสุดเซอร์ไพรส์ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกขัดขวางจากกลไกที่คณะรัฐประหารวางเอาไว้ โดยเฉพาะเหล่า สว. แต่งตั้ง

เวลาผ่านมาไม่นาน เหตุใดประเด็นการเมืองจึงถูกลดระดับความสนใจในโลกออนไลน์อย่างน่าใจหาย ทำไมคนไทยจึง ‘เลิกสนใจการเมืองมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

คนไทยเคยสนใจการเมืองแค่ไหน

ข้อมูลเรื่องข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับความสนใจ SpringNews ได้มาจากรายงานการศึกษาการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ของสังคมไทย โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ผู้ให้บริการรวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ที่สำรวจเอ็นเกจเม้นต์ต่อประเด็นต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ที่เป็น TOP 10 ในแต่ละเดือน บนแพลตฟอร์มหลัก ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์(เอ็กซ์) อินสตาแกรม และติ๊กต๊อก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน

 ถามว่าแล้วคนไทย ‘เคยสนใจการเมือง มากแค่ไหน ? หากเอาข้อมูลดิบมากาง 

ปี 2565 ประเด็นการเมืองติด TOP 10 ทุกเดือน โดยเอ็นเกจเม้นต์รวมทั้งปี ข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (อันดับ 2 – 135,743,129 เอ็นเกจเม้นต์) ได้รับความสนใจมากกว่าข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก (อันดับ 3 – 100,930,319 เอ็นเกจเม้นต์) แพ้ให้กับข่าวการเสียชีวิตของแตงโมนิดา พัชรวีระพงษ์ ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนา จนชาวเน็ตต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตั้งข้อสมมุติฐานและหาพยานหลักฐานกันเอง จากความไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐ (อันดับ 1 – 394,602,306 เอ็นเกจเม้นต์) เพียงข่าวเดียวเท่านั้น

ปี 2566 คนก็ยิ่งสนใจข่าวการเมือง โดยในเดือน พ.ค. ที่มีการเลือกตั้ง สส. ทั่วประเทศ การเมืองติด TOP 10 ถึง 9 ประเด็นข่าว !

ทว่านับแต่เดือน ต.ค. 2566 ลากยาวไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2567 สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อประเด็นการเมืองแค่ 2 เรื่อง  ที่ติด TOP 10 ในช่วงเวลาดังกล่าว คือกรณีนายพิธากลับเข้าสภาฯ หลังสิ้นสุดคดี ITV และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ส่วนระหว่าง มิ.ย. – ก.ย. 2567 ที่สถานการณ์การเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งจากการยุบพรรคการเมืองยอดนิยม, การเปลี่ยนตัวนายกฯ, การเริ่มต้นนโยบายที่จะมีคนได้รับประโยชน์หลักสิบล้านคน ประเด็นการเมืองก็กลับมาได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์แค่ ในระดับหนึ่งเท่านั้น

เหตุใดประเด็นการเมือง จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจนักในระยะหลัง และสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลเสียอย่างไร

ไม่สนใจ เพราะไร้ความหวัง?

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อมวลชน และอดีตนักข่าวสายการเมือง มองว่า ปรากฎการณ์ที่คนไทยให้ความสนใจข่าวการเมืองน้อยลงเรื่อย ๆ นับแต่เลือกตั้ง สส. ทั่วไปในปี 2565 เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะความสนใจในข่าวการเมืองมักจะผูกโยงกับ ความหวัง ที่จะได้สร้างความเปลี่ยนแปลง หลังจากการเมืองหยุดนิ่งมานาน นับแต่รัฐประหาร ปี 2557

แต่พอผลการเลือกตั้งออกมา ‘สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับเป็นการ ทำลายความหวัง ของผู้คน

“มีศัพท์ในเชิงรัฐศาสตร์อย่างหนึ่ง คือเรื่องของ Political Hopelessness หรือความไร้หวังทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกท้อถอยหรือเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ทางการเมือง คือขณะที่ตัวเองมีความหวังและโดนทุบทำลาย ก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ! แล้วเราจะติดตามไปทำไม ยิ่งเจอกับกระบวนการในเชิงตุลาการต่าง ๆ ด้วย จึงไม่แปลกที่ข่าวการเมืองจะลดทอนความสนใจของคนไทยไป

“แล้วพอในโลกออนไลน์ ความสนใจของคนไม่ได้อยู่แค่การเมือง คนก็เลยหันไปสนใจเรื่องอื่นที่เขารู้สึกว่ามันผ่อนคลายกว่า ทั้งเรื่องใกล้ตัวหรือเศรษฐกิจสังคมต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีศัพท์ทางการเมืองอีกอันหนึ่งก็เรียกว่า Political Apathy คือแยกการเมืองออกจากชีวิตของเขาเลย” ดร.มานะกล่าว

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ที่กล่าวว่า หัวใจสำคัญเลยคือความหวัง ถ้ามีความหวัง คนจะคึกคัก จะสนใจการเมืองมากกว่านี้

“แต่ตอนนี้ คนมันไม่มีความหวัง”

อีกเหตุผลคือ ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นระยะหลังเป็นสิ่งที่ ‘ไกลตัว เช่น จะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา แล้วมันเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนอย่างไร หรือความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองของลุงบ้านป่า (หมายถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ที่สื่อสายการเมืองหรือคอการเมืองอาจจะสนใจ แต่คนทั่ว ๆ ไปจะรู้สึกว่า แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา มันไม่ใช่ การเมืองกินได้ ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของผู้คน

“โดยสรุปก็คือ 1.คนไม่มีความหวัง 2.ประเด็นมันไกลตัวคน ทำให้ความสนใจข่าวการเมืองลดลง” บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่นสรุป

ผลเสียของการ ‘ไม่สนใจการเมือง’ และทางออก

การที่คนไทยลดระดับความสนใจข่าวการเมือง จะส่ง ‘ผลเสียอย่างไรต่อสังคมบ้าง ..อาจเป็นคำถามที่หลายคนสนใจ

นายวีระศักดิ์มองว่า มันเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจสอดไส้ทำอะไรก็ได้ เพราะบางเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก ๆ แต่อาจจะกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของเรื่องใหญ่ในอนาคต

“ถ้าคนสนใจเยอะ มันจะเก็บรายละเอียด คอยเกาะติดตามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าคนสนใจน้อยลงหรือไม่ใส่ใจรายละเอียด วันหนึ่งมันก็จะเกิดเป็นพายุใหญ่ข้างหน้า คือความสนใจก็เหมือนสปอตไลต์ เหมือนแสงสว่างไม่ให้พวกผีเข้ามาทำอะไร แต่พอคนไม่สนใจ สปอตไลต์น้อยลง จะทำอะไรก็ง่ายเลย”

ดร.มานะก็คิดถึงมุมการตรวจสอบการใช้อำนาจเหมือนกันว่า ยิ่งคนสนใจข่าวการเมืองน้อยลง โอกาสในการเกิดคอร์รัปชั่นก็ยิ่งง่ายขึ้น ทั้งในเชิงนโยบายหรือในเชิงปฏิบัติ ทั้งจากนักการเมืองไปจนถึงข้าราชการประจำ

แล้วสถานการณ์เช่นนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

นักวิชาการด้านสื่อรายนี้มองว่า มันต้องมีสถานการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกว่ายังพอมีความหวังอยู่ คนถึงจะหันกลับมาสนใจข่าวการเมือง สิ่งเหล่านี้คนที่ยังหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจะต้องช่วยกัน อาจจะทำเรื่องเล็กๆ ให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่เรื่องใหญ่ “ต้องค่อย ๆ ก่อกองไฟเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายเป็นไฟกองใหญ่”

ส่วนตัว ดร.มานะมองว่า พลังจากโลกออนไลน์ยังช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ แต่ถึงขนาดจะสร้างกระแสเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563-2564 คงจะเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก

ด้านนายวีระศักดิ์กล่าวในฐานะสื่อมวลชนว่า สื่อเองก็ต้องพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดี รายงานสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล และพยายามให้ความหวังกับผู้คน ในมุมที่ใกล้ตัวของพวกเขา – “เราต้องเป็นตัวกลางในการบอกสังคมนะว่า ในวิกฤตมันก็ยังมีความหวังอยู่ คนจะสนใจมากหรือน้อยก็เรื่องหนึ่ง แต่สื่อก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด”

เมื่อ ‘ความหวัง, ความใกล้ตัว’ เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดว่า คนจะสนใจข่าวการเมืองหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันที่คนสนใจประเด็นทางการเมืองน้อยลง จึงเป็นภาพสะท้อนที่ทั้งน่าสนใจและน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน เพราะยิ่งสปอตไลต์สาดแสงน้อยลง ผู้มีอำนาจก็มีโอกาสที่จะทำอะไรก็ได้โดยไร้การตรวจสอบมากขึ้น