เลือกหน้า

กลิ่นชีวิต กลิ่นผู้คน กลิ่นป่าเขา

“หอม” อาจจะเป็นเรื่องของกลิ่น แต่ความหอมของสารคดีชุดในชื่อ “หอมกลิ่นดอย” ที่จัดทำโดยโครงการ
หอมกลิ่นดอยนั้น ได้พัดพาความหอมหลากกลิ่นบนพื้นที่สูงของภาคเหนือในประเทศไทย มาแตะจมูกและนำไปสู่ภาพธรรมชาติของดอยสูง วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ภาษา การทำมาหากิน อาหาร ฯลฯ และทุกเรื่องทุกตอนในสารคดีนั้นมีกลิ่นรวมที่เรียกว่า กลิ่นดอยที่หอมฟุ้ง ระหว่างดูนั้นมีอยู่จริง คุณ “อริสรา กำธรเจริญ” หัวหน้าโครงการหอมกลิ่นดอย บอกเล่าถึงสาเหตุของที่มาของสารคดีชุดนี้ไว้ว่า เนื่องจากความคิดที่อยากจะทำหน้าที่บอกเล่ารวมถึงการเก็บบันทึกวิถีชีวิตของผู้คน คนเล็กคนน้อย ที่มีความพิเศษ มีอัตลักษณ์ ความสวยงามของธรรมชาติแวดล้อม การปกปักรักษา การอยู่ร่วมกันของคนกับป่ากับธรรมชาติ ในวิถีคนดอยสูง เธอจึงคิดอ่านจัดทำสารคดีชุดนี้ขึ้น จากการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ความหอมครั้งนี้ ไม่ใช่สารคดีที่นำเราไปสู่ความหอมเป็นครั้งแรก แต่คุณ “อริสรา กำธรเจริญ” เคยได้พาคนดูไปร่วมรับกลิ่นหอมของทะเลในภาคใต้ของไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่นเดียวกัน และความหอมในครั้งนั้นมีชื่อว่า “หอมกลิ่นเล” ครั้งนั้นสารคดีพาผู้ชมไปพบกับทะเลภาคใต้ เกาะแก่งสำคัญ พื้นที่ทางธรรมขาติที่สำคัญ วิถีประมงพื้นบ้าน การดูรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความหอมครั้งนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจในครั้งนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอริสรา เลือกที่จะพาผู้ชมผู้ฟัง ไปเห็นภาพที่ประกอบกลิ่นหอมอีกครั้ง ในพื้นที่ภาคเหนือบนดอยสูงของประเทศไทย และเล่าถึงความยากลำบากของการถ่ายทำซึ่งมีไม่น้อย ตั้งแต่ฝน เส้นทางยากลำบาก หรือเรื่องภาษาที่ต้องทำความเข้าใจกันและกัน ในบางฉากบางบทที่ยังไม่สวยและไม่สื่อได้ครบถ้วนดังใจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นไปถ่ายใหม่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคหนึ่งระหว่างถ่ายทำสารคดีหอมกลิ่นดอยนี้

อุปสรรคและความเหนื่อยล้าก็ถูกผ่อนคลายไปไม่น้อย เมื่อพบธรรมชาติตรงหน้า เมฆหมอกสลับขุนเขาความเขียว น้ำมิตรไมตรีของชาวบ้าน อาหารที่อร่อยล้ำ ยังไม่ได้นับรวมงานสารคดีที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทั้งภาพและเรื่องเล่า คุณอริสรา เล่าว่าเจอสิ่งเหล่านี้ระหว่างการทำงาน ทีมงานก็ได้รับการชาร์จแบตไปด้วยในตัวแล้วเช่นกัน ในสารคดีผู้ชมคนดูจะได้พบกับวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูง ในฐานะของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่าง ปกาเกอะญอ ลีซู อาข่า เป็นวิถีชีวิตที่สารคดีชุดนี้ไม่ต้องสรุปให้เห็น แต่เมื่อดูก็รู้ได้ทันทีว่านี้คือวิถีชีวิตที่สอดคล้องลงตัวในแง่ของการใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างปกปักรักษา ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นคุณค่าที่เธออยากบอกกับคนในสังคมผ่านเรื่องราวหอมๆนี้ อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ถูกนำขยายผล ในฐานะของซอฟต์เพาเวอร์ อย่างข้าวปลาอาหารบนดอย หรือแม้แต่ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่มีทั้งเอกลักษณ์และสามารถสร้างสรรค์ออกแบบให้ขยายสู่วงกว้างได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งทางทีมงานได้จัดงานตลาดย่อมๆในเมืองขึ้นมา และนำข้าวปลาอาหาร ผลิตภัณฑ์จากคนบนดอยมาให้คนในเมืองได้ลิ้มรสชาติ ได้พบเห็น ปรากฎว่า ข้าวของบ่งชี้ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และแน่นอนจึงเป็นที่มาของความมั่นใจได้ว่า นี่คือซอฟต์เพาเวอร์อีกหนึ่งอย่างที่ประเทศไทยนี้มีอยู่

ติดตามรับชมรายการ หอมกลิ่นดอย ได้ที่
Facebook : The Discoverer

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ดูเรียลลิตี้

การเลี้ยงลูกนับเป็นเรื่องสำคัญของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะว่าสำคัญการหาวิธีการเลี้ยงเด็กจึงเป็นความต้องการของพ่อแม่อีกไม่น้อย และส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเป็นการอธิบายในแบบทฤษฎี แต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปเป็นรอยได้ และถ้ามีก็จะเป็นการจัดฉากซะมากกว่า ครูอนุบาลคนหนึ่งที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กอย่างเชี่ยวชาญ จึงลุกขึ้นมาทำรายการเรียลลิตี้เลี้ยงเด็กที่ผลิตโดย “โครงการพ่อแม่พลังบวก เดอะเรียลลิตี้” เพื่อตอบปัญหานี้ ถ้าเข้าไปดูในรายการ เราจะได้เจอกับนักแสดงจริงที่ไม่ใช่สแตนอินแต่อย่างใด เขามักเป็นเด็กตัวน้อยที่กำลังร้องงอแงเพราะอารมณ์โกรธ เอาแต่ใจ และก็มีผู้ใหญ่ที่กำลังวุ่นวายกับการจัดการอารมณ์ให้เด็กน้อยคนนั้นสงบลง

เราอยากให้พ่อแม่ได้มีแนวทางการดูแลลูกได้แบบเป็นขั้นเป็นตอนที่สุด สมจริงที่สุด ดังนั้นในคลิปจะไม่ใช่การแสดง แต่เป็นชีวิตจริงของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกในแต่ละสถานการณ์” คุณ ณัฐสุดา พันธ์ประสิทธิ์เวช หัวหน้าโครงการ ให้เหตุผลที่ว่าทำไมถึงทำคลิปให้เป็นเรียลลิตี้มากกว่าจะจัดฉากและใช้การแสดง ในแต่ละฉากแต่ละตอนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะดีลกับเด็กๆได้อย่างลงตัว ต้องใช้เวลาต้องใช้วิธีการไม่น้อยกว่าเด็กๆจะสงบลงและจบเรื่องในหนึ่งสถานการณ์จริง ถ้าถามถึงชื่อตอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด “การรับมือเมื่อลูกงอแง” คือชื่อตอนของคลิปวีดีโอที่ยอดวิวมากที่สุดในคลิปเรียลลิตี้ทั้งหมดที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่เด็กร้องไห้งอแงเป็นปัญหาร่วมกันของพ่อแม่ทุกคน เป็นปัญหาพื้นฐานที่คนเป็นพ่อเป็นแม่อยากมีวิธีการแก้ไขที่มากกว่า1วิธี ก่อนที่จะเข้าจัดการปัญหาตรงหน้าที่เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ทางโครงการเน้นย้ำ หลักสำคัญที่สำคัญในการดูแลเด็กที่ทางโครงการพ่อแม่พลังบวก เดอะเรียลลิตี้อยากจะสื่อสารกับคุณพ่อแม่มากที่สุดคือการเลี้ยงลูกในเชิงบวก คุณณัฐสุดา เน้นย้ำว่า พ่อแม่ควรจะตั้งสติก่อนสิ่งอื่นใด การควบคุมอารมณ์ตัวเองจากสถานการณ์ที่ต้องดีลกับลูก เพราะมันจะเป็นหลักการเริ่มต้นในการดูแลลูกในสถานการณ์ต่างๆได้ทั้งหมด และข้อดีของมันก็คือการส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ความคิด อารมณ์ หรือแม้แต่การยั้งคิดตั้งสติที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของพ่อแม่ที่กระทำเป็นตัวอย่างให้กับเขา และใน 25 คลิป ของทางโครงการพ่อแม่พลังบวก เดอะเรียลลิตี้ นั้น การตั้งสติ การควบคุมอารมณ์ของคนเป็นพ่อแม่ จึงเป็นเส้นเรื่องสำคัญในทุกตอนของคลิปวีดีโอทั้ง 25 ตอนนี้

ถ้าจะบอกว่าการสาธิตให้ดูอย่างเป็นจริงที่สุดของเรียลลิตี้ชุดนี้เป็นความต้องการมากน้อยขนาดไหนของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน คำตอบนั้นทางหัวหน้าโครงการ เล่าว่าหลังจากที่เราทำการเผยแพร่ไปครบ 25 ตอนแล้ว ช่วงหลัง ๆ มานี้ก็ยังมีพ่อแม่หลายคนขอคำปรึกษาเข้ามาหลังไมค์ไม่น้อยเลย อย่างดูคลิปไปแล้ว ลองทำตามแบบที่คลิปแนะนำ แต่ก็ยังไม่ช่วยอะไรเขาได้มาก เขาก็มาขอคำปรึกษาเพิ่มเติม หรือก็มีคนเรียกร้องมาว่าอยากให้ช่วยผลิตคลิปวีดีโอในสถานการณ์ปัญหาอื่นๆอย่างเช่น เด็กถูกบูลี่จะทำอย่างไงดีพ่อแม่จะช่วยเขาอย่างไงได้บ้าง หรือ ลูกไม่กล้าแสดงออกเลยพ่อแม่จะต้องทำอย่างไงดี ฯลฯ เพราะการเลี้ยงลูกให้ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญของคนเป็นพ่อแม่ การมีใครสักคนมาช่วยแนะนำ ชี้ช่องทาง และยิ่งมีตัวอย่างวิธีการที่เรียลลิตี้จาก โครงการพ่อแม่พลังบวก เดอะเรียลลิตี้ นั้นยิ่งเหมาะสมถูกใจคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างมากที่สุด

สามารถรับชมรายการ พ่อเเม่พลังบวก เดอะเรียลลิตี้ ได้ที่

https://www.youtube.com/@PositiveParentingTH

คิดบวก

เมนต์บวก” เป็นประโยคสั้นๆที่ทาง “โครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์” ใช้เป็นประโยคหลักในการรณรงค์ให้คนในโลกออนไลน์มีพฤติกรรมการแสดงความคิดเห็นไปในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าในเชิงทำร้าย ทำลาย กลั่นแกล้งกัน “เมนต์บวก” ที่ไม่ได้เท่ากับว่าเป็นการชมการอย่างเดียว แต่เมนต์บวกนั้นจะเป็นคำติก็ได้ เป็นการติเพื่อก่อ เป็นการติด้วยเหตุผลและประโยคที่ที่สุภาพ ผ่านการไตร่ตรองฉุกคิดมาแล้ว “เมนต์บวก” จึงเท่ากับการสร้างความฉุกคิด ให้นึกถึงคำนี้ก่อนที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นอะไรในโลกออนไลน์ คำรณรงค์สั้นๆแต่มีประสิทธิภาพนี้เกิดขึ้นจากที่ “คุณรัฐพล ศักดิ์ดามพ์นุสนธิ์” หัวหน้าโครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีข้อสังเกตกับโลกออนไลน์ในปัจจุบันว่า “มีแต่ความคิดจะบวก แต่ขาดความคิดบวกอย่างมาก” ซึ่งคิดจะบวกเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งที่พบกันได้เสมอในโลกออนไลน์ เป็นพฤติกรรมการตอบโต้ไปมาระหว่าง “ผู้เมนต์” กับ “ผู้ถูกเมนต์” จนบางครั้งผู้ถูกเมนต์
ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า “ทัวร์ลง” กันทีเดียว

คำหยาบ คำเสียดสี คำล้อเลียน หรือกระทั่งคำขู่ นับเป็นพฤติกรรมการสื่อสารของคนกลุ่มใหญ่ไม่น้อยในโลกออนไลน์ การเป็นเป้าความรุนแรงจากคอมเมนต์พร้อมบวกที่โดนกับตัวเองในฐานะคนผลิตคอนเทนท์ออนไลน์หลายช่องของทางคุณรัฐพล ก็เป็นส่วนหนึ่งในการคิดอ่านทำโครงการรณรงค์นี้ขึ้นมา “อินฟลูเอนเซอร์” หลายคนในรายการที่มักเป็นเป้านิ่งจากคอมเมนท์เชิงลบกระหน่ำเข้าใส่ อินฟลูเอนเซอร์หลายคนถึงกับท้อแท้จิตตกกันไปหลายวัน เมื่อพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบด้วย พวกเขาจึงยินดีให้ความร่วมมือต่อการรณรงค์ในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ในบางรายการที่ได้เอาอินฟลูเอนเซอร์มารวมกันหลายคน และให้แต่ละคนหยิบสลากที่มีข้อความเชิงลบ จากนั้นให้อ่านและช่วยกันแสดงความรู้สึกจากการได้รับรู้ข้อความเชิงลบ และให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยแสดงท่าทีของพฤติกรรมเชิงบวกต่อข้อความเชิงลบนี้

เมื่อถามว่าพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบนี้ เป็นการสื่อสารของคนกลุ่มใหญ่หรือไม่ ทางหัวหน้าโครงการฯยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่สร้างปัญหาใหญ่มากกว่า เพราะถ้านับจากสถิติคนเข้ามาดูรายการของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในช่วงที่ทำโครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกฯนี้ มีคนดูรวมกันทุกรายการมากถึง 14 ล้านวิว และในช่วงเวลานั้นแทบไม่มีคอมเมนต์ลบๆแสดงตัวออกมาเลย อย่างน้อยก็แสดงได้ว่าคนส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนการเมนต์บวกมากกว่าเมนต์ลบอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อได้ว่าหลายคนอยากอยู่ในโลกออนไลน์ที่ไม่เป็นพิษเสียมากกว่า

สามารถรับชมรายการ ภายใต้เเคมเปญ #MOVEBYMENTS ได้ที่ :
1.​ เพลง เกินปุยมุ้ย (version เมนต์บวก) ที่ Mass Music
2. ​ช่องเทพลีลา
3.​ ช่อง โครตคูล
4.​ ช่อง Japan and Friends
5.​ ช่อง Powerpuff GAY
6.​ ช่อง Little Monster
7.​ ช่อง mintchyy
8.​ ช่อง ตู่ Soundtiss

หนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

“กลับไปที่ราก” ประโยคสรุปรวมการแก้ไขปัญหาของ คุณพวงเพชร สุภาวาณิชย์ หัวหน้าโครงการ “THE MAGIC SEEDS มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” ผลงานผู้รับทุน ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2566 ที่พูดถึงการแก้ไขปัญหาของคุณภาพชีวิตโดยรวม ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ปากท้อง สภาพจิตใจ รากที่ คุณพวงเพชรพูดถึงนั้น มันคือเรื่องของการดูแลดินน้ำป่าให้สมดุล โดยผ่านภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านที่ถูกสั่งสมและถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนได้เก็บเกี่ยวเรียนรู้กัน และนำไปใช้เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีเกิดขึ้นกับทั้งตัวเอง ชุมชน คุณพวงเพชรเชื่อว่า การที่เรากลับไปแก้ไขปัญหาเรื่องธรรมชาติที่ถูกทำลายลงไปทุกวันนั้น ควรเป็นภารกิจเร่งด่วน และเป็นลำดับความสำคัญแรกด้วยซ้ำก่อนที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นๆ เพราะถ้าแก้เรื่องธรรมชาตินี้ได้ มันก็จะส่งผลไปยังเรื่องอื่นๆด้วย เพราะทุกอย่างนั้นมันต่อเนื่องสัมพันธ์กันหมด

ด้วยความสำคัญของธรรมชาติ ด้วยความเชื่อว่าถ้าแก้ไขปัญหาเรื่องธรรมชาติที่ถูกทำลายไปได้ ด้วยเชื่อว่าถ้าธรรมชาติกลับมาดีมันจะส่งผลต่อสิ่งต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ต่อกัน และที่สำคัญ คือภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีทั้งความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติลงมือทำที่ผ่านการทดลองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โครงการ “THE MAGIC SEEDS มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” จึงมีความตั้งใจใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อจะได้บันทึกเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ และได้สื่อสารเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้คนในสังคมได้รับรู้ ตระหนักถึง หรือคาดหวังไปถึงให้คนในสังคมได้นำไปทดลองใช้ ทดลองปฏิบัติตามแนวคิดนี้ ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันกับชื่อของโครงการจึงเกิดขึ้น จากการสนับสนุนของ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ในชื่อภาพยนตร์ว่า “มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ”

เนื้อหาของหนังได้พาคนดูไปเปิดโลกทัศน์กับภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานในนาม “เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน” ผ่านการผจญภัยในฉากชนบทของเด็กหนุ่มจากเมืองกรุงที่มีคำถามกับความเชื่อของคนรุ่นเก่า และภูมิปัญญาของเหล่าปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานที่อยู่ในหนังนั้น เกิดจากการสั่งสมการทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน นับ 10 ปี เธอได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวภูมิปัญญาของเหล่าปราชญ์มาอย่างนับไม่ถ้วน เป็นภูมิปัญญาที่ทำให้เธอเชื่อว่าสามารถนำมาใช้ในการกอบกู้โลกและสร้างโลกที่น่าอยู่กว่านี้ขึ้นมาได้

เธอจึงไม่อยากพลาดเมื่อมีโอกาสที่จะได้สื่อสาร ได้ส่งต่อภูมิปัญญานี้ต่อให้กับผู้คนอื่นในวงกว้างมากขึ้น หรือการที่คำสอน แนวทางปฏิบัติของเหล่าปราชญ์ชาวบ้านจะเข้าไปอยู่ในหนังในฐานะบทภาพยนตร์หนึ่งนั้น ทางโครงการฯ ก็ได้ทำการตรวจทาน ตรวจสอบอีกครั้งกับเครือข่ายปราชญ์ เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วเราจึงเริ่มดำเนินการถ่ายทำ และความคาดหวังที่ทาง โครงการ “THE MAGIC SEEDS มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” หวังไว้นั้นคือการแสดงภูมิปัญญาจากฐานราก และกระจายตัวไปสู่การเติบโตขยายตัว เติบโตเป็นไม้ใหญ่ให้ดอกให้ผลต่อไปในอนาคต สมกับดังหนังที่เดินเรื่องด้วยชื่อเมล็ดพันธุ์มหัศจรรย์เมล็ดหนึ่ง

รับชมภาพยนตร์ “THE MAGIC SEEDS มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” ได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=ZoO_p3hxi90&t=42s

เปิดตัวโครงการ Cyber Booster ถึงเวลาฉีดวัคซีน #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ 5 หน่วยงานร่วมผนึกกำลัง ป้องกันประชาชนจากภัยร้ายออนไลน์

(7 พฤศจิกายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ,รายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ ในรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  

โครงการที่ผลิตและเผยแพร่สื่อเตือนภัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้ภัยไซเบอร์ ซึ่งมีจุดริเริ่มมาจากสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาที่มาจากภัยไซเบอร์ การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ และ การลักลอบใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายนำมาข่มขู่ให้เกิดความกลัวและยอมทำตามที่มิจฉาชีพต้องการ          

ซึ่งจากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว โครงการ Cyber Booster จะเข้ามาสร้างการตระหนักรู้ในภัยไซเบอร์ในช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมภูมิคุ้มกันต่อมิจฉาชีพแก่ประชาชน รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือจากภาครัฐให้ประชาชนทราบผ่านชุดคลิปวิดีโอจำนวน 17 เรื่องที่จัดทำขึ้น

นำโดย พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือ สารวัตรแจ๊ะ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB)ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ผู้กองวิน และ หมวดแพนด้า ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และ ทีมกากีนั้งทีวี พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์ร.ต.อ.พิชพงศ์ โสมกุลร.ต.อ.หญิง พิชญากร สุขทวี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (PCT) พร้อมทั้ง
คุณธิดารัตน์ อนันตรกิตติ ผู้ดำเนินรายการ สถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความจริงแล้วคนไทยมีความตระหนักในเรื่องการใช้สื่อมานาน รู้ว่าสื่อจะเป็นช่องทางที่สร้างประโยชน์และทำให้เกิดความเสียหาย ต้องยอมรับว่าวันนี้ทุกคนอยู่กับเครื่องมือสื่อสารมากกว่าสิ่งต่างๆในชีวิตแต่แม้จะมีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ให้ระวังมิจฉาชีพอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังพบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ถูกหลอก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่าไม่ใช่ความปกติ ฉะนั้นสังคมไทยถึงเวลาที่จะต้องมาร่วมกันคิดหาทาง และยกระดับการป้องกัน

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีหน้าที่รณรงค์ส่งเสริมให้สื่อสร้างสิ่งดีๆเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนผ่านการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดไปพร้อมกับ หน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่จะต้องช่วยกันรณรงค์ต่อเนื่อง

อย่าคิดว่าเรื่องอาชญากรรมออนไลน์เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง วันนี้เรามาเริ่มจุดประกายเชิญชวนให้ทุกคนการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์”  ดร.ธนกร กล่าว

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (IDMB) ระบุว่า ที่ผ่านมาตำรวจพยายามทำหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อสู้กับมิจฉาชีพ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพเองมีพัฒนาการต่อไปไม่หยุดยั้ง เปรียบเหมือนตำรวจที่อยู่ในสงครามสู้กับมิจฉาชีพ 5G 

และยิ่งปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการปราบปรามเป็นไปได้ยากขึ้นเพราะคนร้ายพยายามใช้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ เช่น กลุ่มคนร้ายประเทศ A ใช้ฐานที่ตั้งประเทศ B โดยมีลูกทีมเป็นคนประเทศ C  แต่ในวันนี้ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ Cyber Booster ทำให้เรามีความหวัง ทุกคนในที่นี้และที่กำลังจะร่วมมือกันในอนาคต กำลังสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วมกัน

คนไทยที่ถูกหลอกส่วนมากจะอายและไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว ในฐานะตำรวจขอให้ผู้ที่เสียหายเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ออกมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ออกมาแจ้งความเพื่อเป็นตัวอย่างและภูมิคุ้มกันให้คนอื่นๆพล.ต.ต.ธีรเดช กล่าว

ขณะที่ คุณนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  กล่าวว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนร้ายเองก็ร่วมเรียนรู้ไปกับข่าวสาร สิ่งสำคัญที่เราต้องทำในฐานะสื่อคือต้องเรียนรู้ก้าวไปข้างหน้าและพยายามกระจายข้อมูลวิธีการและรูปแบบของคนร้ายไปสู่ภาคประชาชน 

ในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ที่ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 50 สื่อชั้นนำ ทั้งสื่อใหม่และสื่อดั้งเดิม ทุกหน่วยพร้อมที่จะกระจายข้อมูล  ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม

ยุคนี้เราปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันคุณนันทสิทธิ์ กล่าว

ด้าน คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า บทบาทของภาคเอกชนในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ยังสามารถขยายและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีก แม้ว่าขณะนี้หลายภาคส่วนจะพยายามสร้างความตระหนักรู้แล้ว แต่เนื้อหาที่เป็นข่าวภัยไซเบอร์ยังคงต้องถูกนำเสนอในหลากหลายช่องทางและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้รับสารมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนใช้งานประจำ 

“Tellscore มองว่าการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ให้ข้อมูลในช่องทางที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างใกล้ชิด สามารถสร้างอิทธิพลให้คนเข้าใจและเห็นความสำคัญของภัยไซเบอร์ได้มากขึ้นคุณสุวิตา กล่าว

สามารถติดตามข่าวสารของ โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์   และช่องทางการเผยแพร่ชุดคลิปวิดีโอ ตามสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนี้

Facebook / Tiktok / Youtube

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 

รายการสถานีประชาชน 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตำรวจสอบสวนกลาง CIB 

สืบนครบาล IDMB

– Saranitet Police

– KhakinangTV กากีนั้งทีวี

– POLICETV

– Tellscore

สามารถดาวน์โหลดชุดคลิปวิดีโอ โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์
ผ่านทางช่องทางหลัก
https://www.sonp.or.th/ 

 #CyberBooster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ #รายการสถานีประชาชน #สำนักงานตำรวจแห่งชาติ #ตำรวจสอบสวนกลาง CIB 

#สืบนครบาล #IDMB #SaranitetPolice #KhakinangTV #กากีนั้งทีวี #POLICETV #Tellscore