เลือกหน้า

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567

“ลอยกระทง” ขึ้นอันดับ 1 ของความสนใจในโลกออนไลน์เดือนพฤศจิกายน 67

“หมูเด้ง”รั้งอันดับ 2 “แม่หยัว” อันดับ 3 “หมีเนย” กลับขึ้นมาติด 10 อันดับอีกครั้ง

TikTok ยังครอง Engagement สูงกว่าทุกแพลตฟอร์ม

จากการสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ผ่าน 5 แพลตฟอร์มในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า “เทศกาลลอยกระทง” ได้รับความสนใจสูงสุด โดยมีสัดส่วนการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงถึง 36.27% ซึ่งสูงที่สุดในอันดับที่ 1 เช่นเดียวกับเดือน พ.ย.ปี 66 ตามมาด้วย “หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ” ในอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 12.45% “ละครแม่หยัว” อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 11.97% และ “GMMTV2025 RIDING THE WAVE” อยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 10.41% นอกจากนี้ “น้องหมีเนย” ยังสามารถกลับมาติด 10 อันดับแรกได้อีกครั้งในเดือนนี้

สาเหตุที่สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจใน “เทศกาลลอยกระทง” เนื่องจากเป็นประเพณีอันทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาช้านาน และยังเป็นเทศกาลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่มีการจัดงานลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ เช่น งานลอยกระทงที่เชียงใหม่, สุโขทัย และกรุงเทพฯ เป็นต้น ด้วยความสำคัญทางวัฒนธรรม และการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจสูงสุดในสื่อสังคมออนไลน์และติดอันดับที่ 1 ในการสำรวจครั้งนี้

ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป, กระแสน้องเอวาเสือโคร่งสีทองของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, หนุ่ม กรรชัยตัดขาดฟิล์ม รัฐภูมิจากกรณีถูกแอบอ้างชื่อเรียกร้องเงินจากบอสดิไอคอนเพื่อให้มาออกรายการโหนกระแส, งาน “DENTISTE” Presents LISA Fan Meetup in Asia 2024 และงานรับปริญญาของ ออม กรณ์นภัส นักแสดงจากซีรีส์ใจซ่อนรัก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดดังกล่าวกลับไม่ติด 10 อันดับแรกความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนพฤศจิกายน 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับบริษัท Wisesight ได้ดำเนินการศึกษาการสื่อสารในโลกออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye ในการสำรวจข้อมูลจาก 5 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok การศึกษาครั้งนี้เริ่มต้นจากการค้นหาแนวโน้มกระแสสังคมที่ได้รับความสนใจ เช่น Wisesight Trend และแนวโน้มจากทั้ง 5 แพลตฟอร์ม จากนั้นได้ทำการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับความสนใจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่น “ลอยกระทง” “หมูเด้ง” “แม่หยัว” “gmmtv2025″ “missuniversethailand2024” “คนตื่นธรรม” “ทนายตั้ม” “มิตรภาพคราบศัตรู” “ปิ่นภักดิ์” และ “Butterbear” หลังจากนั้น ข้อมูลที่ได้จะถูกคัดกรองและจัดหมวดหมู่ตามประเด็น กลุ่มเนื้อหา ประเภทแพลตฟอร์ม และกลุ่มผู้สื่อสารตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและเป็นกลาง โดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ซึ่งประกอบด้วย จำนวนค่าการมีส่วนร่วม ข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงวันที่และเวลาในการโพสต์ เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้องและลดอคติในการวิเคราะห์ประเด็นที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 มีดังนี้

อันดับที่ 1 เทศกาลลอยกระทง (95,578,396 Engagement)

เทศกาลลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยมีความเชื่อว่าการลอยกระทงในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นการขอขมาพระแม่คงคา และบูชารอยพระพุทธ ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้มีบทบาทสำคัญในการแบ่งปันภาพถ่าย และวิดีโอจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังสถานที่จัดงานในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย และกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกระแสการลดหรือยกเลิกการใช้กระทงแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะมีความสนใจน้อยกว่าในปี 2566 แต่ในปีนี้เริ่มมีการพูดถึงกระทงที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น “น้องวันเพ็ญกระทงพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิ TerraCycle Thai และเพจ Konggreengreen ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แม้ Engagement ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการปัญหาขยะจากกระทงรูปแบบใหม่ในปีนี้ ในด้านของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นแหล่งข้อมูลที่สร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งมียอดการมีส่วนร่วมสูงสุดถึง 71.67%

อันดับที่ 2 หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (32,796,339 Engagement)

            หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระ ได้รับความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนกันยายน มีการเผยแพร่ภาพ และวิดีโอความน่ารักในอิริยาบถต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ความนิยมยังคงต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤศจิกายน มีการนำเสนอในรูปแบบ วิดีโอการ์ตูน ภาพวาด การ Cover เพลงที่เกี่ยวกับหมูเด้ง รวมถึงการใช้ชื่อ “หมูเด้ง” ในรูปแบบการ์ตูนฮิปโปในการสอนศาสนาของบัญชี krubaheng ประเด็นที่น่าสนใจในเดือนนี้ ได้แก่ การนำเสนอความน่ารักของหมูเด้งผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในชื่อ ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง ได้รับความสนใจจนได้รับรางวัลสาขา Video of the year ในงาน TikTok Award นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากแฟนคลับที่ไม่พอใจที่พี่เลี้ยงหมูเด้งมีแฟนแล้ว และการเปรียบเทียบความน่ารักของหมูเด้งกับน้องเอวาเสือโคร่งสีทอง ในส่วนของผู้สื่อสารพบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์เป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงสุด เช่น khamoo.andthegang, kie_alan, และ pondonnews โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 63.71%

อันดับที่ 3 ละครแม่หยัว (31,546,213 Engagement)

ละคร “แม่หยัว” ทางช่อง One 31 เป็นละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์” ซึ่งเป็นสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราช นำแสดงโดยใหม่ ดาวิกา, ฟิล์ม ธนภัทร, และตุ้ย ธีรภัทร์ ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายน ละครกลับมามีกระแสทางลบ เนื่องจากมีฉากหนึ่งในละครมีการใช้ยาสลบกับแมว ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ แม้ว่าผู้กำกับจะออกมาชี้แจงว่าแมวตัวดังกล่าวไม่ได้รับอันตราย แต่กระแสยังคงมีอยู่ และเกิดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ขึ้น ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตละครจากช่อง One 31, ผู้จัด, นักแสดง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักแสดง เช่น davikahchannel, pizza_movie, และ fernynopjira เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 50.65%

อันดับที่ 4 GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (27,428,973 Engagement)

GMMTV 2025 RIDING THE WAVE เป็นงานแถลงข่าวที่เปิดเผยคอนเทนต์ และซีรีส์ของบริษัท GMMTV ในปี 2025 ซึ่งมีนักแสดงเข้าร่วมงานมากกว่า 100 ชีวิต และสร้างปรากฏการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์จนทำให้แฮชแท็ก #GMMTV2025 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ใน X ทั่วโลกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงที่สุด โดยเฉพาะจากบัญชีนักแสดง fourth.ig, gemini_nt, และ dew_jsu เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม Instagram สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดถึง 61.83%

อันดับที่ 5 การประกวด Miss Universe 2024 (16,095,568 Engagement)

การประกวด Miss Universe 2024 เป็นการประกวดครั้งที่ 73 ซึ่งรอบตัดสินจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก โดย โอปอล สุชาดา ช่วงศรี จากประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลรองอันดับที่ 3 มาได้ ในขณะที่ตำแหน่ง Miss Universe 2024 ตกเป็นของ มารีแอ วิกทอแอร์ แคร์ ไทล์วี จากประเทศเดนมาร์ก ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เช่น missuniverse.in.th, namtanlita, และ suchaaata เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม Instagram มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 42.58%

อันดับที่ 6 อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (14,350,608 Engagement)

อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ด้านธรรมะ ได้รับความนิยมจากการถ่ายทอดคำสอนในสไตล์ที่เข้มข้น และเข้าใจง่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง ในเดือนพฤศจิกายนอาจารย์เบียร์ได้ไปออกรายการโหนกระแสร่วมกับแพรรี่ ไพรวัลย์ และพระครูปลัดธีระ หรือ พระปีนเสา การปรากฏตัวในครั้งนี้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งจากผู้ใช้งานทั่วไป และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่นำวิดีโอจากรายการโหนกระแสไปตัดต่อ และเรียบเรียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อคำสอนของอาจารย์เบียร์เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 57.32%

อันดับที่ 7 ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง (12,639,975 Engagement)

ทนายษิทรา หรือ ทนายตั้ม ทนายความชื่อดังจากคดีหวย 30 ล้านระหว่างหมวดจรูญ และครูปรีชา ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงในกรณีหลอกลวงนางสาวจตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ให้ลงทุนในธุรกิจหวยออนไลน์เป็นเงินจำนวน 71 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมทนายษิทรา ขณะกำลังขับรถไปจังหวัดสระแก้ว ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า สื่อ สำนักข่าวเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยเฉพาะ amarintvhd, khaosodonline, และ thairath_news เป็นต้น ส่วนแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 61.44%

อันดับที่ 8 ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (12,551,059 Engagement)

ซีรีส์ High School Frenemy หรือมิตรภาพคราบศัตรู จากช่อง GMM25 นำแสดงโดยสกาย วงศ์รวี และ นานิ หิรัญกฤษฎิ์ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างนักเรียนจากสองวิทยาเขตที่ต้องมาเรียนร่วมกันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินของโรงเรียน ในส่วนของการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตซีรีส์จากนักแสดงบริษัท GMMTV โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารหลัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการของซีรีส์ รวมถึงบัญชีของนักแสดง เช่น skywongravee, junewanwimol19, และ Viu_th เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 37.47%

 

 

อันดับที่ 9 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (10,531,578 Engagement)

ปิ่นภักดิ์” ซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หญิงรักหญิง ที่มีเนื้อหาพร้อมบรรยากาศย้อนยุคโรแมนติก ทางช่อง Workpoint นำแสดงโดย ฟรีน สโรชา และ เบ็คกี้ รีเบคก้า ในเดือนพฤศจิกายนซีรีส์เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง ส่งผลให้ผู้ชมพูดถึงละครเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเนื้อหาในตอนที่ 16 ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่อง ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารหลัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่องทางอย่างเป็นทางการของซีรีส์ รวมถึงบัญชีของนักแสดง เช่น freen_official, idolfactory และ workpointofficial เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม X ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 68.40%

อันดับที่ 10 ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (9,983,541 Engagement)

น้องหมีเนย มาสคอตจากร้าน Butterbear กลับมาได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้งในอันดับที่ 10 หลังจากที่หลุดออกจาก 10 อันดับแรกในเดือนตุลาคม โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูงที่สุดในเดือนนี้มาจากกิจกรรม Butterbear’s 1st Fam Meeting และคลิปการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของ น้องหมีเนย ซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของร้าน Butterbear รวมถึงจากกลุ่มแฟนคลับ มัมหมี ในส่วนของผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด ยังคงเป็นผู้ใช้งานทั่วไป โดยแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 41.89%

ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ในด้านกลุ่มเนื้อหา ผู้สื่อสาร แพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามจำนวน Engagement ดังนี้

อันดับหนึ่ง กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 140,933,271 Engagement คิดเป็น 53.48% จาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (32,796,339 Engagement) ตามด้วย ละครแม่หยัว (31,546,213 Engagement), GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (27,428,973 Engagement), การประกวด Miss Universe 2024 (16,095,568 Engagement), ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (12,551,059 Engagement), ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (10,531,578 Engagement) และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (9,983,541 Engagement)

อันดับสอง เทศกาล พบ 1 ประเด็น คือ เทศกาลลอยกระทง โดยมีจำนวน 95,578,396 Engagement คิดเป็น 36.27%

อันดับสาม กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ พบ 1 ประเด็น คือ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม โดยมีจำนวน 14,350,608 Engagement คิดเป็น 5.45%

อันดับสี่ กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ พบ 1 ประเด็น คือ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง โดยมีจำนวน 12,639,975 Engagement คิดเป็น 4.80%

จะเห็นว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงเป็นกลุ่มเนื้อหาหลักที่ได้รับ Engagement มากกว่าทุกกลุ่ม และติด 10 อันดับแรกของทุกเดือน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าละครและซีรีส์ต่าง ๆ เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง เช่น ละครแม่หยัว ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม GMMTV 2025 RIDING THE WAVE เพื่อโปรโมตผลงานของบริษัท GMMTV ในปี 2025 และมีซีรีส์ใหม่ที่เพิ่งออกอากาศ เช่น ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในประเด็นสื่อสิ่งบันเทิงมากถึง 7 ประเด็น

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (57.38%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (27.23%), สื่อ สำนักข่าว (15.13%) และ แบรนด์ (0.26%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 34.75% รองลงมาได้แก่ Instagram (28.24%), X (20.46%), Facebook (13.93%), และ YouTube (2.62%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (50.21%) รองลงมา ได้แก่สื่อ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (44.40%), สื่อ สำนักข่าว (3.77%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (1.61%) ภาครัฐ (0.01%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 71.67% รองลงมาได้แก่ Instagram (12.31%), Facebook (11.80%), X (3.42%) และ YouTube (0.80%)

กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (34.02%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.22%), สื่อ สำนักข่าว (32.70%) และ แบรนด์ (0.06%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 57.32% รองลงมาได้แก่ Facebook (33.03%), YouTube (6.40%), Instagram (2.24%) และ X (1.01%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (61.66%) รองลงมา ได้แก่สื่อ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.81%), ผู้ใช้งานทั่วไป (3.87%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (0.66%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 61.44% รองลงมาได้แก่ YouTube (19.75%), Facebook (15.12%), Instagram (2.02%) และ X (1.67%)

กลุ่มผู้สื่อสาร

            ในภาพรวมช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่ากลุ่มผู้สื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ในสื่อออนไลน์ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (47.48%) ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน (37.56%), สื่อ สำนักข่าว (14.20%), แบรนด์ (0.72%) พรรคการเมือง (0.03%) และภาครัฐ (0.01%)

กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้าง Engagement สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง จากการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับหมูเด้ง เช่น ครูบาเฮงที่สอนธรรมะโดยการใช้ตัวละครฮิปโปที่ชื่อหมูเด้งรวมถึงการโพสต์ภาพชีวิตประจำวันของหมูเด้ง การเต้น Cover เพลงหมูเด้ง ส่วนละครแม่หยัวเป็นการโปรโมตละครของนักแสดง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ส่วนในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล เป็นการเป็นการแบ่งปันภาพถ่าย วิดีโอการลอยกระทง ส่วนในกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้น เช่น การตัดคลิปอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม สอนธรรมะ และตัด highlight การดีเบตธรรมะในรายการต่าง ๆ การสรุปประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง ได้แก่ sunny_rung, khamoo.andthegang, ช่อง one Lakorn เป็นต้น

ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้างก Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาเทศกาลจากการแบ่งปันภาพถ่าย หรือวิดีโอจากเทศกาลลอยกระทงตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมาจากกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง เช่น การแชร์ภาพหมูเด้ง, ละครแม่หยัว, GMMTV 2025 RIDING THE WAVE, การประกวด Miss Universe 2024, ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู, ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear รวมถึงการกล่าวถึงอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม โดยการแชร์คลิปสั้นของอาจารย์เบียร์ ส่วนประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง เป็นการแชร์ข้อมูลการแสดงความคิดเห็น เช่น การคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีทนายษิทรา เป็นต้น

สื่อ สำนักข่าว สร้าง Engagement สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรรม อุบัติเหตุ จากประเด็น         ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง โดยสื่อ สำนักข่าวยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาหนักอย่างอาชญากรรม อุบัติเหตุ ด้วยผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและมีทักษะในการนำเสนอที่ดีกว่าผู้สื่อสารกลุ่ม  อื่น ๆ

ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์, พรรคการเมือง และ ภาครัฐ พบว่า แม้ในภาพรวมสร้าง Engagement ได้น้อยกว่า 3 กลุ่มแรก แต่ก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล รวมถึงการเชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมลอยกระทง แม้จะไม่ได้เป็นผู้สื่อสารหลัก ยกตัวอย่างเช่น การประกวดนางนพมาศไอคอนสยาม 2567 การซ้อมลอยกระทงออนไลน์ การนำเสนอไอเดียการลอยกระทงรักษ์โลก การจัดกิจกรรมที่ล้อไปกับเทศกาลลอยกระทง เป็นต้น

แพลตฟอร์มการสื่อสาร

         จากการสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในโลกออนไลน์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวมพบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TikTok ซึ่งมีสัดส่วน 50.65% ตามด้วย Instagram 19.79%, Facebook 14.25%, X 12.32% และ YouTube 2.99%

 เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์ม พบว่า TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง แต่ในเดือนพฤศจิกายน พบ Engagement ส่วนใหญ่บน TikTok จากเทศกาลลอยกระทง ทั้งการแบ่งปันภาพ วิดีโอ ในงานลอยกระทงในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะประเพณียี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ และลอยกระทงในจังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ยังพบความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระทงพลาสติกรีไซเคิล “น้องวันเพ็ญ” กระทงจิ๋ว ทำจากใบลิ้นกระบือ ดอกเข็ม การลอยกระทงออนไลน์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ยังคงมาจากความนิยมในเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่นชอบในเดือนนี้ เช่น การตามติดหมูเด้งในอิริยาบถต่าง ๆ, การเผยแพร่คำสอนพุทธศาสนาของอาจารย์เบียร์ การตัดฉากสำคัญของละครแม่หยัวมาเผยแพร่ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง ซึ่ง TikTok สามารถตอบโจทย์การสื่อสาร และสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น

ขณะที่แพลตฟอร์ม X พบว่า เด่นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเฉพาะจาก GMMTV 2025 RIDING THE WAVE และซีรีส์ปิ่นภักดิ์ ทั้งนี้ การสื่อสารในแพลตฟอร์ม X ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารหรือแสดงความสนใจในเรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเนื้อหาที่ต้องการความสดใหม่และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ จากกลุ่มแฟนคลับละคร รวมถึงแฟนคลับนักแสดงที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค หรือ หญิงรักหญิง และละครวัยรุ่นจากบริษัท GMMTV ที่พบว่าเริ่มเป็นที่นิยมหรือมีการสื่อสารใน X มากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567

Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement จากเทศกาลลอยกระทงและสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเทศกาลลอยกระทงจะมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์แต่งกายเป็นนางนพมาศ การโพสต์ Highlight ละครแม่หยัว ส่วนสื่อสิ่งบันเทิงจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อติดตาม เพื่อรายงานเรื่องราวที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เช่น การดีเบตระหว่างอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม กับพระครูปลัดธีระ หรือ พระปีนเสา ในรายการโหนกระแส เป็นต้น

Instagram สร้าง Engagement ได้สูง ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหาเทศกาล เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายได้ดีที่สุด และเป็นช่องทางที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้มากในทุกกลุ่มเนื้อหา เช่น GMMTV 2025 RIDING THE WAVE, การโพสต์โปรโมตละครของนักแสดง, การโพสต์ภาพผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2024, ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear เป็นต้น

YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ โดยเฉพาะจากสื่อ สำนักข่าว จากประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้รับสารต้องการเปิดรับข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถลงพื้นที่เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ได้ดีกว่ากลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงที่อยู่ใน YouTube มักถูกใช้โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์ตัวอย่างละครที่จะเผยแพร่ในปี 2025 ของบริษัท GMMTV  การโพสต์ฉากสำคัญของซีรี่ส์หรือละครตอนต่าง ๆ บนช่องทางอย่างเป็นทางการของช่องที่ออกอากาศหรือจากทางผู้สร้างละคร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้ความสนใจสูงถึง 7 อันดับ คิดเป็นสัดส่วนที่ 50.65% โดยนับรวม หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (อันดับที่ 2) และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (อันดับที่ 10) นอกนั้นเป็นสื่อและกิจกรรมให้ความบันเทิง คือ ละครแม่หยัว (อันดับที่ 3) GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (อันดับที่ 4) ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (อันดับที่8) และซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (อันดับที่ 9) ตามด้วยกลุ่มเนื้อหาเทศกาล จากประเด็นเทศกาลลอยกระทง (อันดับที่ 1) กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ จากประเด็นอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (อันดับ 6) นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 1 ประเด็น ได้แก่ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง (อันดับ 7)

 

เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจมากเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนผู้สื่อสารและแพลตฟอร์มคล้ายกับปีที่แล้ว

ในปี 2566 เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจเป็นอันดับที่ 1 โดยมี Engagement ประมาณ 85 ล้านครั้ง มีผู้สื่อสารหลักเป็นผู้ใช้งานทั่วไปที่ 53.29% และมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ 63.37% ในขณะที่ปี 2567 เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจเป็นอันดับที่ 1 โดยมี Engagement ประมาณ 95 ล้านครั้ง มีผู้สื่อสารหลักและแพลตฟอร์มหลักคือ ผู้ใช้งานทั่วไป และ TikTok กล่าวได้ว่า จำนวนผู้ที่ให้ความสนใจกับเทศกาลลอยกระทงมีเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่เนื้อหายังมีลักษณะคล้ายกับปี 2566 คือ การแบ่งปันภาพความสวยงามของสถานที่จัดงานตามจังหวัดต่าง ๆ และภาพของผู้ที่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังพบแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น กระทงทำจากพลาสติกเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้ กระทงจิ๋ว การลอยกระทงออนไลน์ เป็นต้น  

หมูเด้งได้รับความนิยมลดลง ในขณะที่ หมีเนย มีความนิยมใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

         หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2567 สื่อสังคมออนไลน์เริ่มให้ความสนใจลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนเนื้อหาที่ยังได้รับความสนใจสูงเป็นความน่ารักของหมูเด้งผ่านช่องทาง ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง ซึ่งได้รับรางวัลในงาน TikTok Award นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวจากแฟนคลับที่ไม่พอใจที่พี่เลี้ยงหมูเด้งมีแฟนแล้ว และการเปรียบเทียบความน่ารักของหมูเด้งกับน้องเอวาเสือโคร่งสีทอง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ความสนใจลดน้อยลงอาจเป็นเพราะสื่อสังคมออนไลน์เริ่มไปโฟกัสที่น้องเอวา เสือโคร่งสีทองที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ประกอบกับหมูเด้งเริ่มโตขึ้นทำให้ไม่น่ารักเท่ากับตอนที่ยังเล็ก

            ในเดือนพฤศจิกายน หมีเนยสามารถกลับเข้ามาเป็นอันดับที่ 10 หลังจากหลุดไปอยู่อันดับที่ 12 ในเดือนตุลาคม แม้จำนวน Engagement อยู่ในระดับเดียวกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน คือที่ประมาณ 9 ล้านครั้ง ซึ่งอาจสรุปได้ว่ากลุ่มฐานแฟนคลับของหมีเนยเริ่มคงตัวแต่ยังคงมีความเหนียวแน่น

สื่อ สิ่งบันเทิงยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซีรีส์วายเริ่มกลับมาได้รับความนิยม

            ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 7 ใน 10 ประเด็น นอกเหนือจากหมูเด้ง และหมีเนยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีละครและซีรีส์ที่เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่องอย่าง แม่หยัว และปิ่นภักดิ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว Content ใหม่ในปี 2025 ของบริษัท GMMTV และการประกวด Miss Universe 2024 ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ได้จนติดอันดับที่ 4 และอันดับที่ 5 ในเดือนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ ซีรีส์วาย กลับมาติดอันดับอีกครั้งหลังจากซีรีส์เขียนรักด้วยยางลบติดอันดับที่ 7 เดือนกรกฎาคม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จัดละครเริ่มกลับมาให้ความสนใจกับซีรีส์วายมากขึ้น หลังจากการทดสอบความนิยมซีรีส์แนวแซฟฟิกซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน

ประเด็นที่ไม่ติด 10 อันดับแรก และแนวโน้มความสนใจในภาพรวม

การสำรวจข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2567 ยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่อยู่ในความสนใจในอันดับที่ 11-20 เช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป (อันดับที่ 11) ที่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการออกหมายจับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยเฉพาะนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช นักการเมืองชื่อดัง, หนุ่ม กรรชัยตัดขาดฟิล์ม รัฐภูมิจากการแอบอ้างชื่อเรียกร้องเงินจากบอสดิไอคอนเพื่อให้มาออกรายการโหนกระแส (อันดับที่ 16)

กล่าวได้ว่า 10 อันดับแรกความสนใจของโลกออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นเรื่องของสื่อ สิ่งบันเทิง เป็นหลัก ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่พบตั้งแต่เดือนมกราคม 67 แต่การที่ “เทศกาลลอยกระทง” ขึ้นอันดับ 1 ความสนใจของโลกออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในเดือนธันวาคม ที่มีทั้งวันสำคัญ และ เทศกาล อย่างคริสต์มาส และวันสิ้นปี จะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับวันลอยกระทงหรือไม่

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิปัญญาวุฒิ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชน ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมและบันเทิง สร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิปัญญาวุฒิ

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชน ศิลปวัฒนธรรม

วรรณกรรมและบันเทิง สร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

(24 ธันวาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิปัญญาวุฒิ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชน ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมและบันเทิง สร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค เลขานุการ มูลนิธิปัญญาวุฒิ  โดยมีผู้บริหาร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนสื่อ และ นายสุปัน รักเชื้อ กรรมการ มูลนิธิปัญญาวุฒิ ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และผู้บริหารมูลนิธิปัญญาวุฒิ ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือ

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑. เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชน ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมและบันเทิง เพื่อการสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

๒. เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้มีการศึกษา วิจัย อบรม พัฒนาความรู้ ที่เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

๓. เพื่อร่วมกันเผยแพร่และสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม และประชาชน

๔. เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบุคลากร รวมตลอดถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างสองหน่วยงานภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทั้งสองหน่วยงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง   

นิทานคุณธรรม

ในปริมาณหนังสือสำหรับเด็กที่มีอยู่ไม่น้อยนั้น ไม่ว่าจะเป็นตามชั้นหนังสือในร้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นในห้องสมุดของโรงเรียน หรือของชุมชนหมู่บ้าน หนังสือสำหรับเด็กที่เราเห็นนั้นมักจะเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ข้อมูลในด้านต่างๆ อย่างวิทยาศาสตร์รอบตัว ความรู้ประวัติศาสตร์ ความรู้ทางด้านสังคม แต่ที่ไม่ได้พบเห็นเลยคือหนังสือที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีให้กับเด็ก ๆ ข้อสังเกตเบื้องต้นนี้เกิดขึ้นจากการได้สัมภาษณ์ “คุณวรพรต ก่อเจริญวัฒน์” หัวหน้าโครงการ “สร้างเด็กดีด้วยนิทาน ปี 3” ซึ่งนิทานที่ทางโครงการได้ทำขึ้นมานั้นเกิดจากข้อสังเกตที่ว่าหนังสือนิทานที่ทำให้เด็กตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรม ยังมีอยู่ในตลาดหนังสือสำหรับเด็กน้อยจนเกินไป ในฐานะของคนวาดการ์ตูนจึงคิดริเริ่มทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่จุดเน้นอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็ก และที่สำคัญไม่แพ้กันของจุดหมายปลายทางของโครงการ คือสร้างการเข้าถึงหนังสือที่ดี เพื่อสร้างนิสัยการรักการอ่านให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่านี่คือการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็ก

ในกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจหนังสือนิทานของทางโครงการ ยังไปทำให้เกิดเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัวเกิดขึ้นอีกด้วย พ่อแม่ได้อ่านนิทานให้ลูกฟัง และที่สำคัญพ่อแม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในการสอนเรื่องคุณธรรมและลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกได้ โรงเรียนก็เช่นกัน หนังสือนิทานนั้นสามารถถูกใช้เป็นสื่อการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญจะไปช่วยเพิ่มปริมาณของสื่อที่สร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์สำหรับการเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพในด้านจิตใจได้อีกด้วย หรือเสียงสะท้อนของคุณครูในหลากหลายโรงเรียนที่ได้รับหนังสือนิทานของทางโครงการไป “มีประโยชน์ต่อเด็กมาก ๆ เนื่องจากเป็นโรงเรียนชนบทที่หนังสือนิทานดี ๆเข้าถึงได้ยาก” หรือความเห็นของคุณครูที่ใช้เป็นสือการสอน “ใช้สอนเรื่องพฤติกรรมเชิงบวกได้ง่ายกว่าการที่เราพูดหรือสอนเอง” หรือในความเห็นของครูในโรงเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ “เด็กที่ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาหลัก นิทานเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกภาษาไทยให้กับเด็ก ๆ “ หรือความเห็นของผู้ปกครองที่ได้รับหนังสือนิทานไป “ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างแท้จริง เมื่อพ่อแม่อ่านนิทานไปพร้อมกับลูก

หนังสือนิทานเล่มที่คุณวรพรต แนะนำว่าอยากให้เด็ก ๆ ได้อ่าน คือ นิทานเรื่อง “พ่อรักลูกนะ” เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการให้ความรัก ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่สุดที่เด็ก ๆ ควรมี และเรื่องนี้ถูกชื่นชมจากผู้ปกครองอย่างมากเช่นกัน “ประทับใจเรื่องพ่อรักลูกนะ เพราะพ่อเขาทำงานที่กทม. เวลาอยู่กับลูกมีน้อย ชอบที่สุดคือประโยคจบ เพราะตอนเล่าให้ลูกได้ฟังจะมีประโยคที่พ่อในนิทานบอกรักลูก เพราะเหมือนพ่อกำลังบอกรักไปโดยปริยาย เพราะปกติพ่อไม่ค่อยพูด” หรือในความเห็นของคุณแม่อีกหนึ่งคน “ประทับใจนิทานพ่อรักลูกนะมาก ๆ เพราะว่าตัวคุณพ่อทำงานไกลบ้านมาก และลูกก็จะเฝ้ารอวันที่พ่อกลับมาแล้วอ่านนิทานเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วเขาก็จะอยากฟังประโยคพ่อรักลูกนะจากพ่อของเขา”
.
ติดตาม สร้างเด็กดีด้วยนิทาน ได้ที่
Facebook : สร้างเด็กดี ด้วยนิทาน

คดีแห่งปี “ดิไอคอนฯ” จะไม่ใช่แชร์ลูกโซ่สุดท้าย หากสังคมและรัฐยังไม่เปลี่ยน

ข่าวใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2567 คงไม่มีเรื่องไหนเกิน การทลายอาณาจักร “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ก่อนนำตัวเหล่า “บอส” พร้อมดารานักแสดงดังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีผู้เสียหายนับหมื่นคน มูลค่าความเสียหายเกิน 3 พันล้านบาท ..

  • แม้การสำรวจการสื่อสารออนไลน์ โดย Wisesight ร่วมกับ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็พบว่า ประเด็น ดิไอคอน ได้รับความสนใจสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเดือนตุลาคม 67 ด้วยยอด Engagement สูงถึง 103.9M
  • กลไกทางจิตวิทยาอะไรที่อยู่เบื้องหลังความสูญเสียมหาศาลเช่นนี้ “เหยื่อ” คือเฉพาะคนที่โลภอย่างเดียวจริงไหม หรือ ใครๆก็มีโอกาสเป็นเหยื่อได้

 

เปิด “กลไกทางจิตวิทยา” ที่มิจฉาชีพใช้ในการชักชวนคนเข้าสู่วงการ ก่อนจะกลายมาเป็น “เหยื่อ” ที่มีคดี “ดิไอคอน” เป็นกรณีล่าสุด และกลายเป็นสุดยอดข่าวแห่งปี พ.ศ. 2567 เพราะผู้เสียหายนับหมื่น มูลค่ารวมกันเกิน 3 พันล้านบาท

 การชักชวนข้าสู่ธุรกิจอะไรบางอย่างที่ฟังดูยากจะเข้าใจ แต่ให้ข้อมูลชัดเรื่องผลตอบแทนที่ดีมากกว่าที่ได้จากการลงทุนแบบอื่น ทั้งไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ (ถึงจะมีให้ขาย) แต่ให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะ ๆ แทน ฟังผ่าน ๆ ก็น่าจะพอรู้กันใช่ไหมว่า นี่คือ “แชร์ลูกโซ่” ที่หลายฝ่ายส่งเสียงเตือนกันมาเป็นสิบปี แต่เชื่อหรือไม่ว่า 85% ของคนที่ได้รับการชักชวน ถึงจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ก็ยังกล้าที่จะเสี่ยง ปัจจัยสำคัญมาจาก “ผลตอบแทน” ที่นำเสนอ (อ้างอิง1: งานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์” ของ DSI เผยแพร่ปี พ.ศ. 2565)

 ยิ่งธุรกิจนั้น นำเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาช่วยการันตี พร้อมกับสร้าง story ซึ้ง ๆ จากคนเคยจนมาตั้งตัวได้เพราะการลงทุนนี้ พร้อมกับถ้อยคำเด็ด ๆ โดนใจจนติดหูผู้ฟังด้วยแล้ว ยากมากที่เหยื่อทั้งหลายจะไม่ตก “หลุมพราง” เข้าสู่วงจรการหลอกลวงนี้ กว่าจะรู้ตัวก็เสียทรัพย์สินไปมากมาย บางคนถึงขั้นล้มละลาย เงินเก็บทั้งชีวิตหายไปในพริบตา

 ปี พ.ศ. 2567 คงไม่มีข่าวไหนดังไปกว่าการทลายอาณาจักร “ดิไอคอนกรุ๊ป” ที่หลายคนคงเคยได้เห็นการโฆษณาผ่านป้ายในรถไฟฟ้า ในย่านธุรกิจสำคัญ หรือบนบิลบอร์ดยักษ์มาหลายปี พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า นี่คือธุรกิจอะไรกันแน่? นอกเหนือจากหน้าตาของดารานักแสดงชื่อดังที่ปรากฎอยู่ในนั้น ก่อนความจริงจะมาเฉลยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ว่า นี่อาจเป็นธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” ตามคำกล่าวหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยังปฏิเสธ

ดิไอคอนฯ ก่อตั้งโดย “บอสพอล-นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล” เมื่อปี พ.ศ. 2561 อ้างว่าทำธุรกิจขายตรง จำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งเรียกกันว่า “พ่อทัพแม่ข่าย” แต่แทนที่จะเน้นการจำหน่ายสินค้า กลับมุ่งหาคนมาเป็น “ดาวน์ไลน์” ด้วยการเสนอสิ่งจูงใจสารพัดเพื่อให้ “เปิดบิล” ในเรต 2,500 บาท, 25,000 บาท ไปจนถึง 250,000 บาท ทั้งมีการจ้างดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น “กันต์กันต์ กันตถาวร” “มีนพิชญา วัฒนามนตรี” “แซมยุรนันท์ ภมรมนตรี” “บอยปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” ฯลฯ พร้อมกับวลีติดปากที่น่าจะโดนใจคนวัยทำงาน “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย!

เมื่อพูดถึงแชร์ลูกโซ่ เรามักคิดกันว่า “ความโลภ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนจำนวนมากตกเป็น “เหยื่อ” แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ว่าจะกรณีแชร์ลูกโซ่, ฉ้อโกง, ปั่นหุ้น หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น คอลเซ็นเตอร์, โรแมนซ์สแกม ที่ลงเอยด้วยการสูญเสียทรัพย์สิน แค่ความ “อยากได้-อยากมี” อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ต่างก็มีโอกาสสูญเสียไม่ต่างกัน เช่นนั้น ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้ใคร ๆ ก็อาจเป็นเหยื่อได้ – แม้กระทั่งตัวคุณเองชวนติดตามไปพร้อมกัน

 

กับดักทางจิตวิทยา

 SPRiNG รวบรวมคดี “แชร์ลูกโซ่” ที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษ หรือสื่อมวลชนพูดถึงซ้ำ ๆ นับแต่คดีแชร์แม่ชม้อย. แชร์ชาร์เตอร์, เสมาฟ้าคราม, แชร์บลิสเชอร์ มาจนถึงดิไอคอนฯ ได้กว่า 30 คดี ความเสียหายรวมกันกว่า 25,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายรวมกันอย่างน้อย 84,000 คน ยังไม่รวมถึงคดีอื่น ที่อาจจะมีชื่อเสียงหรือเป็นข่าวน้อยกว่าใน DSI อีก 118 คดี (ช่วงปี 2547 – 2566) รวมความเสียหายอีกกว่า 42,000 ล้านบาท (อ้างอิง2: ข่าวประชาสัมพันธ์จาก DSI เมื่อปี พ.ศ. 2566) หากประมวลจาก 2 แหล่งข้อมูลข้างต้น เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ทั้งสิ้นอย่างน้อย 148 คดี รวมความเสียหายกว่า 67,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 คดี สร้างความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่มหาศาลไม่น้อย ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงแชร์ลูกโซ่อื่น ที่วงยังไม่ล่มจนกลายเป็นคดีความ หรือมีมูลค่าความเสียหายไม่มาก ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากเรดาร์ของสื่อฯ หรือภาครัฐ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกมากน้อยเพียงใด ทั้งจำนวนคดี, มูลค่าความเสียหาย, จำนวนผู้เสียหาย ที่มหาศาลทุกชุดข้อมูล ชวนให้สงสัยว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นใช้วิธีการใดในการดึงคนเข้าสู่ขั้นตอนการถูกหลอกลวงได้? ทั้งที่รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหานี้เป็น “วาระแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 พร้อมระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยหาทางออก มีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดการเงิน ให้คำอธิบายกับ SPRiNG ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่เงิน” มันสำคัญกับชีวิตของพวกเขา และแทรกซึมในทุกอณูของจิตใจ หรือกระทั่งสัญชาตญาณ โดยเฉพาะคนที่มีความอ่อนไหวทางการเงิน

จากที่เคยให้คำปรึกษามา คนที่จะเป็นเหยื่อสามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่

  • กลุ่มแรก คนที่ไม่มีความรู้ทางการเงินการลงทุน หรือมีความรู้ใน money game น้อย
  • กลุ่มที่สอง คนที่ขาดประสบการณ์ในการเงินการลงทุน
  • กลุ่มที่สาม คนที่ขาดความฉลาดรู้เท่าทันเกมการเงินการลงทุน คืออาจจะมีความรู้ มีภูมิต้านทานระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะทันเกม หรือคนที่มีประสบการณ์ก็อาจจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม
  • กลุ่มที่สี่ คนที่ขาดการควบคุมความรู้สึก
  • กลุ่มที่ห้า คนที่มีปัญหาทางการเงิน เช่น เพิ่งตกงาน อย่างเคสดิไอคอนฯ ก็มีเหยื่อหลายคนที่เพิ่งตกงานจากโควิด
  • กลุ่มที่หก คนที่มีปัญหาชีวิต เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหากับลูกหลาน รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ต้องพึ่งเงินลูกหลาน ก็อาจจะเป็นเหยื่อได้
  • กลุ่มที่เจ็ด การเล่นกับ “อำนาจ” หรือจุดอ่อน โดยเฉพาะการโชว์ว่ามีอำนาจเงินกว่า มีอิสรภาพทางการเงิน ชีวิตที่ดี ซึ่งทำให้คนเหล่านั้น ถ้าไม่มี self-esteem หรือเห็นคุณค่าในตัวเอง ก็เป็นจุดที่ทำให้มิจฉาชีพเล่นงาน

 “คนที่ตกเป็นเหยื่อ อาจจะมีข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อปนกันได้ มิจฉาชีพเขาจะเก่งในเรื่องการหลอกล่อมุมที่เหยื่ออ่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะอ่อนไหวไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเรื่องความโลภ บางคนเป็นเรื่องความกลัว บางคนก็จะใช้ความรัก”

 บทบาทคนดังกับโซเชียลฯ ในการช่วยหลอกลวง

 ทำไม มิจฉาชีพหลายรายถึงมักแสดงไลฟ์สไตล์หรูหรา โชว์ความร่ำรวย อยู่ในแวดวงไฮโซผู้มีชื่อเสียง จนแทบจะเป็น “ท่ามาตรฐาน”

 ดร.รพีพงค์ให้คำอธิบายว่า มันเป็นวิธีหนึ่งในการแสดง “อำนาจ” การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีดูรวย เหมือนเป็นการ dominant เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตาม การเอาเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาโปรโมต ก็ช่วยในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ เสมือนการ “สะกดจิต” ให้เหยื่อหลงเชื่อโดยง่าย และตกเข้ามาสู่ในวังวนของขบวนการ ในมุมของนักจิตวิทยา มี 3 ด่านที่มิจฉาชีพทางการเงิน โดยเฉพาะขบวนการแชร์ลูกโซ่จะใช้ เพื่อทะลวงเข้าไปในจิตใจและเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นเหยื่อ

ด่านแรก “เปิดใจ”  เป็นขั้นตอนที่ยากสุด ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีพูดกันปากต่อปาก หรือใช้คนใกล้ตัวมาชักชวน

ด่านที่สอง “เชื่อใจ” เมื่อลองเปิดใจแล้ว อีกวิธีที่จะช่วยให้โอกาสสำเร็จของมิจฯ มากขึ้น คือการทำให้เชื่อใจ ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการชวนไปฟังงานสัมมนา ให้เห็นความสำเร็จ ให้เชื่อว่าถ้าเข้ามาร่วมแล้วจะมีรายได้

ดร.รพีพงค์กล่าวว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นมักจะสร้าง “เรื่องราว” ที่เน้นความแฟนตาซี เพื่อให้เห็นว่าหากมาร่วมมีโอกาสประสบความสำเร็จ เช่น เคยขับวินมอเตอร์ไซค์มาร่วมลงทุนไม่นานก็ร่ำรวย พร้อมกับวลีเด็ด ๆ ที่โดนใจคน อาทิ

“ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย

“ธุรกิจนี้ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด

“คนไม่ให้โอกาสเราอะไม่น่าเสียดายเท่าเราไม่ให้โอกาสตัวเอง

“ถ้าเราอยากสําเร็จเราก็ต้องทําตามคนที่สําเร็จ

 ด่านสุดท้าย “ศรัทธา” ซึ่งคำว่าศรัทธา-ลุ่มหลงงมงาย มันเป็นเส้นบางๆ แต่ใครที่เกิดความศรัทธาแล้วก็มักจะพร้อม all-in หรือทุ่มหมดหน้าตัก ยอมขายบ้าน ขายรถ หรือสร้างหนี้สินมาลงทุน เพราะศรัทธา

 การใช้ดารานักแสดงหรือผู้มีชื่อเสียงก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนตกเป็นเหยื่อ “เงินมันจะอยู่ทุกอณูของจิตใจเรา พอเวลามันไปคลิ๊กเราตรงไหนปุ๊บอ่ะ เราจะรู้สึกว่ามันอ่อนไหว แล้วเราก็รู้สึกว่ามันใช่ พอฟังบ่อยเราก็เริ่มเชื่อ เค้าถึงชอบให้เรามาฟังสัมมนา เพราะว่าเวลาฟังสัมมนาบ่อย มันซึม ยิ่งได้ดาราด้วย ความสวยหล่อของดารามันก็เป็นตัวสะกดจิตเหมือนกันนะครับ เพราะว่ามีบางคนที่ sensitive กับเรื่องความสวยหล่อ

 “ถ้าสะกดจิตได้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ทำให้เปิดใจเร็วขึ้น ก่อนจะไปสู่สเต็ปถัดไป คือเชื่อใจหรือศรัทธาตาม level สมมุติเต็มสิบ บางคนไม่ต้องถึงสิบ แค่สาม ก็เอาเงินออกจากกระเป๋าได้แล้ว แต่บางคนต้องให้ไปถึงสิบเสียก่อน มันมีเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน

 “กรณีแชร์ลูกโซ่ จะ sensitive กับความโลภ เขาจึงเน้นความร่ำรวย ความลำบากในการทำงานหาเงิน เขาจะเน้นเรื่องการได้เงินง่าย ๆ สร้างแรงจูงใจให้เหยื่อมาเข้าร่วม แล้วก็ปิดเกมเหยื่อให้เร็วที่สุด” ดร.รพีพงค์กล่าว

ส่วนบทบาทของโซเชียลมีเดีย ดร.รพีพงค์มองว่า เป็น 3 ปัจจัยในการช่วยเหลือมิจฉาชีพ ทั้ง 1) ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นและในวงกว้างขึ้น 2) ช่วยให้มีข้อมูลใช้ประกอบการดึงคนเข้าสู่วงจร เช่นไปสืบข้อมูลต่าง ๆ ของเหยื่อล่วงหน้า และ 3) ใช้พรางตัวในการหลอกลวง เพราะหลายแพล็ตฟอร์มก็ไม่ได้บังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

 บทสรุปทางออก

 หนึ่งในวิธีป้องกันเหล่ามิจฉาชีพ หลายฝ่ายมักรณรงค์ให้ประชาชนต้องรู้เท่าทัน อย่างกระทรวงยุติธรรม ก็เคยให้ความรู้ 5 วิธีสังเกตว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่”

1.ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

2.การันตีผลตอบแทนเป็นตัวเลขแน่นอน

3.เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรอง

4.อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวน หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง

5.ธุรกิจจับต้องไม่ได้ บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้

 พร้อมกับแนะนำ tips (เคล็ดลับ) สร้างเกราะป้องกันภัย “ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่”

  • ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน
  • มีสติ คิดก่อนตัดสินใจ
  • รู้ผลกระทบที่มากกว่าเสียเงิน
  • ตื่นตัวและติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ

อีกมุมหนึ่ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้กำหนดหน่วยงานรัฐที่เป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประชาชนสับสนไปจนถึงการสร้างภาระแก่เหยื่อเมื่อถูกหลอก เช่น

  • ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อ สคบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงยุติธรรมได้ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจสอบสวน
  • หากจะร้องเรียนต่อ DSI ก็ต้องถึงเกณฑ์ที่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เช่น มีผู้เสียหายเกิน 300 คน หรือมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท
  • จะร้องเรียนกับตำรวจหรือ ปปง. ก็ล่าช้า จนหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเสียก่อน

ไปจนถึงกฎหมายแชร์ลูกโซ่ปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน) ก็มีบทบัญญัติไม่ทันสมัย รวมไปถึงการกำหนดให้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี อาจทำให้มิจฉาชีพมองว่าคุ้มค่าเสี่ยงในการหลอกลวงคนได้เป็นหลักร้อยล้านพันล้านบาท

ในมุมของ ดร.รพีพงค์มองว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่เพิ่งออกกฎหมายให้ธนาคารและบริษัทมือถือต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หากมีลูกค้าถูกหลอกให้โอนเงินออนไลน์ โดยจะเริ่มใช้ปลายปี พ.ศ. 2567 แต่การจะปรับปรุงการทำงานภาครัฐหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้ คือ การที่ทุก ๆ คน ต้องรู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่จะพัฒนาตลอดเวลา จึงต้องพัฒนาความรู้ทางการเงินของตัวเองให้เท่าทัน ที่สำคัญ คือ ต้องเพิ่ม “ความเข้มแข็งทางจิตใจ” เพราะอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เล่นกับกลไกทางจิตวิทยา เป็นเรื่องของ mind game ในการหาช่องโหว่ทางจิตใจต่าง ๆ เพื่อดึงเข้าสู่ขบวนการหลอกลวง ตามที่ ดร.รพีพงค์ว่าไว้ข้างต้น ไม่ได้มีแค่ “ความโลภ” เท่านั้น ที่จะทำให้เรากลายเป็นเหยื่อ ยังรวมถึง “ความกลัว” “ความรัก” หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่น ที่อาจเปิดช่องให้ถูกลวงได้สักทาง

 คดีดิไอคอนฯ แม้จะเป็นข่าวใหญ่สุด ๆ ของปีนี้ แต่คงไม่ใช่คดี “แชร์ลูกโซ่” สุดท้ายอย่างแน่นอน

 TOP 5 แชร์ลูกโซ่ ความเสียหายสูงสุด

1. แชร์ชาร์เตอร์ 5,000 ล้าน

2. แชร์แม่ชม้อย 4,500 ล้าน

3. ดิไอคอน 3,200 ล้าน

4. FOREX-3D 2,000 ล้าน

5. เช่าพื้นที่คราวด์ 1,600 ล้าน

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกับ fuse. เทศกาลหนังสั้นเด็กเยาวชน ประกาศผู้ชนะ fuse. KIDS Film Festival 2024 พร้อมมอบประสบการณ์เรียนรู้ Soft Power ในญี่ปุ่น

(15 ธันวาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ fuse. เทศกาลหนังสั้นเด็กเยาวชน ผู้รับทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2567 กลุ่มเด็กและเยาวชน จัดงานประกาศรางวัล fuse. KIDS Film Festival 2024 ครั้งที่ 3 ณ โรงภาพยนตร์ คิดส์ ซีนีมา พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนในการสร้างสรรค์ผลงานสื่อและต่อยอดความสามารถในระดับนานาชาติ โดยมีหนังสั้นจากเด็กและเยาวชนส่งเข้าประกวดมากถึง 922 เรื่อง และมีการมอบรางวัลใน 16 สาขาให้กับผลงานที่โดดเด่น ซึ่งรางวัลใหญ่ Best Film Award มอบโอกาสพิเศษให้เด็กเยาวชนได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองแห่ง Soft Power และ Pop Culture ระดับโลก

ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม ได้แก่ นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม, ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้แทนคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์สาขาละครและซีรีส์และนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน, ผศ.ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสิโรรส เอ็มอธิ สุรฐาชัยวัฒน์ นักแสดงภาพยนตร์และละครเวที และ นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการเทศกาล และที่ปรึกษาชมรม Young Filmmakers of Thailand ร่วมมอบรางวัล

รายชื่อผลงานที่ได้รับรางวัลประจำเทศกาล fuse. KIDS Film Festival 2024 ได้แก่

   1. Best Film Award (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า)

– In the Deep of Flavor  จิต รู้ รส โดย ธนพนธ์ เพ็ญพิมาย

   2. Best Film Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Crayon กลับบ้าน โดย อัครวิทย์ มีนาค

   3. First Runner-Up Award (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า)

– บันทึกความดี โดย ดาราวลี คีรีสุขไสว

   4. Second Runner-Up Award (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า)

– Trashure ขยะที่(ไม่)ไร้ค่า โดย ศิวัช เจิมเฉลิม

   5. Special Jury Prize (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– The Curtain โดย เปรม ผลิตผลการพิมพ์

   6. Special Jury Prize (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Love Me Love Me เดทอีกทีเดี๋ยวก็รักเอง โดย พิชชานันท์ โอภาส

   7. Best Animation Film Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Tune Up โดย ขวัญพิชชา หนูทอง

   8. Best Director Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– อัครวิทย์ มีนาค จาก    Crayon กลับบ้าน

   9. Best Performance Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– ครองขวัญ เหาตะวานิช จาก Crayon กลับบ้าน

   10. Best Screenplay Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

–  Love Me Love Me เดทอีกทีเดี๋ยวก็รักเอง โดย พิชชานันท์ โอภาส

   11. Best Cinematography Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Believe อัล-มาน โดย ปรเมษฐ์ สุขพินิจ

   12. Best Cinematography Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– A Man and the Child โดย ณภัทร อุนนะนันทน์

   13. Best Art Direction Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Believe อัล-มาน โดย สุรยุทธ์ เเดงบุหงา

   14. Best Film Editing Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– In the Meantime ในวันเมื่อวาน โดย ขจร โรจน์ศิริกุล

   15. Best Visual Effects Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Ji: The Colorful Friend จี้ เพื่อนรักดินสอสี โดย พัสกร พิพรณ์พงษ์, ณัฐฐาพร แก้วพิลา, รัชวัลส์ ธนันท์ธนพนธ์, ฐิติวัชร์ เจียมจิตปิติ และถิรวุษิ จันทะ

   16. Best Recording and Sound Mixing Award (ระดับอุดมศึกษาและมากกว่าหรือเทียบเท่า)

– Believe อัล-มาน โดย ธนภัทร อนุฤทธิ์รังสี, นันทชัย ปราณีต

นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้เกียรติมอบรางวัลและกล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ “กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนนโยบาย Soft Power โดยเฉพาะด้านภาพยนตร์
การส่งเสริมเยาวชนรุ่นใหม่ในวันนี้ จะช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงสําหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในอนาคต และกระทรวงวัฒนธรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมเป็นส่วนสําคัญ ในการสานต่อให้เกิดเทศกาล fuse. Film ในอนาคต”

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในฐานะหน่วยงานให้ทุน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนงาน fuse. KIDS Film Festival ผ่านโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับสื่อเยาวชน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์ให้เด็กเยาวชนได้แสดงศักยภาพในการผลิตสื่อ สามารถใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงประเทศไทย”

นายเปรมปพัทธ ผู้อำนวยการเทศกาล ขอเชิญชวนให้เด็กเยาวชนได้ร่วมกันใช้แพลตฟอร์ม fuse. Film ให้เกิดประโยชน์ “fuse. ยังมีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นสำหรับแลกเปลี่ยนเครือข่ายและดูหนังสั้นฟรี จึงอยากเชิญชวนทุกคนไปดูหนังของเพื่อน ๆ และหาโอกาสพูดคุย เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างผลงานในอนาคต”

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมผลงานที่ได้รับรางวัลหรือผลงานอื่น ๆ ที่ส่งเข้าประกวด ติดตามข้อมูลข่าวสารงานประกวดครั้งต่อไปได้ที่เว็บไซต์https://fuse-film.com/

และแฟนเพจhttps://www.facebook.com/fuse.filmth  

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]