เลือกหน้า

ประกาศ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอแจ้งเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อชั่วคราว

เนื่องด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นฝ่ายอาคารและสถานที่ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารที่ตั้งทำการของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เพื่อเป็นการเฝ้าระวังสถานการณ์และความปลอดภัย ในวันจันทร์ ที่ 31 มีนาคม 2568 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอแจ้งเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อชั่วคราว จากหมายเลข 02 273 0116 -9 เป็นหมายเลข
063-3234592 (สอบถามเกี่ยวกับการขอรับทุน)
090-6020357 หรือ 089-2452085 (แจ้งปัญหาการใช้งานระบบ)

ทั้งนี้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมประจำปี 2568 สามารถยื่นข้อเสนอโครงการฯ
ผ่านช่องทาง https://granting.thaimediafund.or.th/
ภายในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 31 มีนาคม 2568

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขออภัยเป็นอย่างสูงกับความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น มา ณ โอกาสนี้

กองทุนพัฒนาสื่อฯ เร่งสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางสื่อ” เผยบทสรุป เสวนาสัญจร  “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” ทั้ง 5 ภูมิภาค ต่อยอดองค์ความรู้ ยกระดับแนวทางป้องกันภัยจากสื่อ AI พร้อมระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้าน

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสรุปผลการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด“รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อ AI อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงการรับฟังและแบ่งปันมุมมองในการรู้เท่าทันสื่อและนำไปสู่การสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

โดย ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เปิดเผยว่า นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจของ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  “สื่อ” จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารอีกต่อไป แต่กลายเป็นพลังสำคัญที่กำหนดทิศทางความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของสังคม ดังนั้น ความสามารถในการรู้เท่าทัน แยกแยะ และใช้สื่ออย่างรับผิดชอบ จึงเป็นทักษะสำคัญที่เราทุกคนควรมี โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบางในสังคม

คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังสื่ออย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรม เสวนาสัญจรทั้ง 5 ภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนสังคมแห่งการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากภาคีเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน และในปี 2568 นี้  ได้ต่อยอดภารกิจดังกล่าว ด้วยการจัด งานเสวนาสัญจรเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ภายใต้แนวคิด “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถรู้เท่าทันต่อ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามามีบทบาททั้งในเชิงบวกและในรูปแบบที่อาจสร้างความเข้าใจผิด

ในกิจกรรมสัญจรได้มุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ พร้อมยังเป็นเวทีสำคัญในการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวบรวมข้อเสนอแนะ และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป จึงได้ข้อมูลสำคัญเชิงลึก สะท้อนความสำคัญของการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และสื่อสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความเสี่ยงจากการใช้ AI อย่างไม่ระวัง ขาดการคิดวิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มสื่อมวลชนที่ต้องรับมือกับกระแสข่าวลวงที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งแนวทางการรับมือจึงไม่เพียงแต่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับ AI Literacy เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบเฝ้าระวัง การส่งเสริมบทบาทชุมชนท้องถิ่น และการบ่มเพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ในสังคมผ่านเครื่องมือและกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค

“ การเสวนาสัญจรทั้ง 5 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ครั้งนี้ ที่ทำต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยเน้นหนักเรื่องของสื่อ AI  เน้นคำว่ารู้รอบ เพราะต้องการให้เกิด รอบคิด รอบรู้ และรอบโลก เพราะ AI อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งทั้ง 5 ภูมิภาค พบปัญหาเดียวกัน คือเรื่องของ AI แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดแต่ละพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ กลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ จึงได้ข้อสรุปตรงกันว่า ในแต่กลุ่มต้องมีแกนนำ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้รู้เท่าทันสื่อ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การอธิบายเท่านั้น และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ต้องทำงานเชิงรุกในการลงพื้นที่ และพบว่าให้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี  เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและมีการส่งต่อองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ได้มีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการ ต่อยอดองค์ความรู้ ส่งต่อให้สังคมรู้เท่าทันสื่อ โดยเน้นเฉพาะเจาะจงไปแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และยังได้ทำงานคู่ขนานไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมพลัง จับมือแก้ปัญหา เพราะหากใช้ AI ไม่ถูกวิธีก็จะเป็นอันตราย ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน AI มีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีอันตรายจากการที่มิจฉาชีพมาหลอกลวงประชาชนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลอมเสียง คลิป และ live กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงต้องเร่งเสริมสร้างให้ประชาชนมีองค์ความรู้ สามารถป้องกันภัยออนไลน์ และรู้เท่าทันสื่อ โดยการดำเนินการ เสวนาสัญจร  “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI”ทั้ง 5 ภูมิภาค เป็นเวทีสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชน และคนในสังคมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำปัญหามาประมวลเป็นองค์ความรู้เพื่อนำเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปีนี้ครบรอบ 10 ปี ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้เห็นได้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์และระบบนิเวศของสื่ออย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน รู้เท่าทันสื่อให้รอบด้าน

“ อยากให้ประชาชนมีทักษะและความเข้าใจป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ใช้ AI  ทั้งการปลอมเสียง คลิป และ Live ที่เหมือนจริง ด้วยการตั้งคำถามปลอดภัย ที่คนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะรู้คำตอบ เพื่อให้ยืนยันตัวตนว่าใช่คนใกล้ชิดจริงหรือไม่ เป็นการป้องกันตนเองและครอบครัวจากภัยออนไลน์  ดร.ชำนาญ กล่าวทิ้งท้าย”

โดยงานสรุปผลการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด“รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” ที่จัดขึ้นในวันนี้ ยังเป็นเวทีในการต่อยอดองค์ความรู้ สู่สาธารณะ มีวิทยากรจากหลายภาคส่วนมาร่วม แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อ AI อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยมีช่วง TMF Talk เสวนาการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ประจํา ปี 2568 “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” เพื่อส่งเสริมการรับรู้และพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนและปลอดภัยจากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ วิทยากรได้แก่ ศ. กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์  พ.ต.ท.ดร.ปุริปุ ริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รอง ผกก.4 บก.สอท.1 คุณวิภาส สุตันตยาวลี อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT)

รวมทั้งการเสวนา ในหัวข้อ “รู้เท่าทัน รู้รอบสื่อ AI” พูดคุยถึงแนวทางป้องกันภัยจากสื่อ AI โดยคุณตรี บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์  คุณนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  คุณวรภัทร เด็นเพชรหน้ง เครือข่ายเยาวชน SEED Thailand ภาคกลาง  คุณคามิน ภัคดุรงค์ Co-founder/LOOK ALIVE Studio และคุณวิภาส สุตันตยาวลี อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT)

และภายในงานยัง มีปัญญาประดิษฐ์ ชื่อน้อง MIA (มีญ่า) เข้ามาเป็นพิธีกร
โดยความหมายของ MIA: คือ 
M = Media – สื่อที่มีคุณภาพและการรู้เท่าทันข้อมูล
I = Intelligence – ปัญญาประดิษฐ์และความฉลาดรู้ และ
A = Awareness – ความตระหนักรู้และการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม

ดังนั้น MIA คือ AI ที่จะช่วยให้สังคมไทยเข้าใจและใช้สื่ออย่างฉลาด รู้เท่าทัน และมีจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี
ซึ่งงานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดและความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางสื่อ” ให้กับประชาชนไทยทุกคน สามารถใช้สื่ออย่างมีสติ รู้เท่าทัน รู้รอบสื่อ และอยู่กับสื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

“สุดาวรรณ” เผยกองทุนพัฒนาสื่อฯ ยกทัพศิลปินโคราช  จัด “คอนเสิร์ตนครเพลง โคราชมรดกโลก” ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี  ประจำปี 2568  

วันที่ 27 มีนาคม 2568  นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน คอนเสิร์ตนครเพลง โคราชมรดกโลก ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี  ประจำปี 256ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับบริษัทมาจอยกัน จำกัด ผู้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อ ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการการอนุรักษ์และส่งเสริมการรักษาขนบธรรมเนียมภาษาท้องถิ่นเมืองโคราชและบทเพลงโคราช

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล  กล่าวว่า  กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ ให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อน Soft Power การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติเพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยว ของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก  กระทรวงวัฒนธรรมมีความยินดี ที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับผู้รับทุน จัด คอนเสิร์ตนครเพลง โคราชมรดกโลก ในงานฉลองชัยชนะ ท้าวสุรนารี ประจำปี 2568  โดยได้รวบรวมศิลปินที่มีชื่อเสียง และเป็นความภูมิใจของชาวโคราช 
กว่า 20 ชีวิต มาไว้ในการแสดงครั้งนี้  โครงการฯ นี้ นับว่าเป็นการนำวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย 
มาสืบสาน รักษา ต่อยอดผ่านมิติของผลงานเพลงและสร้างชื่อเสียงให้กับ จ. นครราชสีมา 

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสือปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ  ได้ให้ทุนสำหรับผู้สนใจผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลากหลายรูปแบบ สำหรับคอนเสิร์ตนครเพลง โคราชมรดกโลก โครงการฯ นี้  อยู่ภายใต้โครงการการอนุรักษ์และส่งเสริมการรักษาขนบธรรมเนียมภาษาท้องถิ่นเมืองโคราชและบทเพลงโคราช  ใช้ดนตรี บทเพลง มิวสิกวิดีโอ มาถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย กองทุนพัฒนาสื่อฯ  ต้องขอขอบคุณผู้รับทุน และศิลปินโคราชกว่า 20 ชีวิต ที่มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้  นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองโคราชแล้ว โครงการนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน  
ในอนาคตเราอาจจะมีศิลปินหน้าใหม่เป็นคนโคราช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย  

สำหรับ คอนเสิร์ตนครเพลง โคราชมรดกโลก จัดแสดงในวันที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีศิลปินชาวโคราชที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง  อาทิ  มนัสวิน นันทเสน (ติ๊ก ชีโร่) , สุนารี ราชสีมา , สมจิตร จงจอหอ , กำปั่น บ้านแท่น , ศรายุทธ สุปัญโญ ,  เจเน็ต เขียว , อรวรรณ เย็นพูน (ปุ้ม สาว สาว สาว) , เอ มหาหิงค์ , ตั๊กแตน ชลดา ,ศรลักษณ์ สวนจะบก , เฉลิมศักดื์ อังศุพันธุ์ , สามารถ คำโคกกรวด , แสนรัก เมืองโคราช  ,ภิชชาพร หอมขุนทด (ขิม The Voice Kids) , สหรัฐ โอเลียรี่ (เควิน The Voice) ,ชัยณรงค์ พรหมบุปผา (เอส The Voice) ,อาชาไนย ธรรมนิยาย ,ณรงค์ บุญเลี้ยง ,สรธร ชิ้นจอหอ (ขุนสมาน) ,นันทิตา ฆัมภิรานนท์ (เบลล์ Thailand Got’s Talent) และชุมพล สุปัญญา ร่วมด้วยการนำเสนอมิวสิควิดีโอ 5 บทเพลงขับร้องโดยศิลปินโคราช ผีมือการกำกับของปรัชาญา ปิ่นแก้วเพลงร่วมสมัยผสมผสานภาษาถิ่นโคราชและมีเนื้อหาสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมของชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา  

ขอบคุณภาพเพิ่มจาก : สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ย้ำ! ผู้บริหารสื่อที่ดีต้องขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อ ไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) “Lead Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และได้จัดพิธีปฐมนิเทศเปิดหลักสูตรอบรมไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดการอบรม และมีผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 33 คน จากกลุ่มอาชีพและองค์กรที่หลากหลาย อาทิ ผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้ผลิตสื่อที่เคยผ่านการอบรมหรือได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา และเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาในด้านการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นให้สื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมความปลอดภัย จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาหลักสูตรผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) “LEAD Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” นี้เป็นครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กร และอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กร และสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว โดยหลักสูตรประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ 38 ชั่วโมง มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ภาวะผู้นำในองค์กรสื่อยุคใหม่ (Leadership for Media Organization: L) 2. ผู้สร้างนวัตกรรมเชิงจริยธรรม (Ethical Innovators: E) 3. นักวางแผนยุทธศาสตร์ขั้นสูง (Advanced Strategists: A) และ 4. ผู้สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต (Dynamic Change Creators: D)

“กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ผู้ผลิตสื่อระดับต้น ระดับกลาง และในมุมของกองทุนฯ สิ่งที่สำคัญคือ เรื่องของจริยธรรมในการทำงานด้านสื่อ ถัดมา คือ ผู้ผลิตสื่อในระดับสูง หรือผู้บริหาร ที่มีความจำเป็นต้องเติมเต็มความรู้ อัพสกิล รีสกิลตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถหยุดนิ่งได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของหลักสูตรผู้ผลิตสื่อระดับสูง ที่เน้นเปิดพื้นที่ให้คนที่มีประสบการณ์ มีความสามารถ มีผลงานมาแล้วได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เติมเต็มทักษะความรู้ ช่วยกันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ ยังต้องการให้คนที่ผ่านหลักสูตรนี้กับเราเป็นเดอะเทรนเนอร์ (The Trainer) เป็นครูที่สามารถไปสอนคนอื่นได้ และสุดท้ายคือ เราหวังว่าทุกคนที่เข้าร่วมกับเราจะสามารถไปผลิตสื่อที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคมได้ เพราะผู้บริหารผู้ผลิตสื่อระดับสูงที่ดีในยุคนี้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่คำนึงถึงเฉพาะเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักหาจุดที่สมดุลระหว่างเรตติ้งและรายได้ โดยไม่ปล่อยให้เนื้อหาสื่อมาทำลายสังคมจนเกินพอดี และผู้บริหารสื่อที่ดีจะต้องมีทั้งธรรมาภิบาลและจริยธรรม”

ผศ.ดร.พิชญาณี พูนพล หัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงหลักสูตรผู้บริหารผู้ผลิตสื่อระดับสูงนี้ว่า  หลักสูตร “LEAD Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) โดยผสมผสานการเรียนรู้รูปแบบไฮบริด (Hybrid) มีทั้งการเรียนออนไลน์และ On-site รวมประมาณ 38 ชั่วโมง เหมาะกับผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ตลอดจนผู้ที่มีบทบาทการเป็นผู้นำ ผู้บริหาร หรือเป็นเจ้าของกิจการด้านสื่อ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

          โครงร่างรายวิชาพัฒนาตามกรอบ Organization Environment Strategy หรือ OES โดยมีเนื้อหารายวิชาที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อมสื่อในปัจจุบัน เรียนรู้วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ศึกษาบทบาทผู้นำองค์กรสื่อ เสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม การศึกษาดูงานองค์กรสื่อชั้นนำ และแลกเปลี่ยนมุมมองผ่านการเสวนาเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรสื่อ รวมทั้งการบูรณาการองค์ความรู้ และทักษะสู่การพัฒนาโครงงาน (Project) ในหัวข้อ “บริหารสื่ออย่างไรให้ปลอดภัย สร้างสรรค์ และยั่งยืน” ผู้เข้าร่วมจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากทีมวิทยากรระดับแนวหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร, ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี, ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์, ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร, คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล, ดร.อธิป อัศวานันท์, คุณกานท์กลอน รักธรรม เป็นต้น

รศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ การทำการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อค้นหา “ช่องว่างของหลักสูตร” และความต้องการที่แท้จริง ก่อนออกแบบหลักสูตร มีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขา ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่ศึกษาความต้องการ ทักษะ และคุณลักษณะที่ผู้บริหารสื่อยุคใหม่จำเป็นต้องมี จนได้ข้อสรุปร่วมจากมุมมองวิชาการและประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมสื่อ จนทำให้เราสามารถออกแบบหลักสูตรที่มี เนื้อหาเข้มข้นจากศาสตร์ที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นมิติ “การบริหารองค์กรสื่ออย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” หลักสูตรการเรียนรู้เป็นการบูรณาการกันของหลากหลายศาสตร์ อาทิ มุมมองจากสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เข้ารับการอบรมจึงได้รับองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งการประเมินผลกระทบต่อสังคม การนำองค์กร การกำหนดยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน และสามารถบูรณาการแนวคิดเรื่อง “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มาขับเคลื่อนในองค์กรได้จริง และมี รูปแบบการเรียนรู้หลากหลาย หลักสูตรให้ความสำคัญกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมการศึกษาดูงานองค์กรสื่อชั้นนำ การเสวนาหัวข้อเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรสื่อ เวิร์กชอปสร้างโมเดลธุรกิจสื่อ และนำเสนอโครงงาน (Project) ในหัวข้อ “บริหารสื่ออย่างไรให้ปลอดภัย สร้างสรรค์ และยั่งยืน” ทั้งหมดก็เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร คือ เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จริยธรรม และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Media Alert พบ Influencer มีบทบาทมากขึ้น ขณะที่รายการข่าว-ละคร ยังต้องปรับตัวผู้เชี่ยวชาญแนะสังคมต้องช่วยสนับสนุนสื่อ พร้อมพัฒนาคุณภาพผู้รับสื่อในสังคม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Media Alert เพื่อถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านสื่อ ผ่านการศึกษา 3 ชิ้นงาน ครอบคลุมประเด็นด้านการสื่อสารออนไลน์ การยกระดับคุณภาพรายการข่าว และการประเมินคุณภาพรายการละคร พร้อมการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวของคนทำงานสื่อในปัจจุบัน และการพัฒนาผู้รับสื่อในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสื่ออย่างยั่งยืน

19 มีนาคม 2568 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และโครงการ Media Alert ได้จัดเวทีสัมมนา “มองสื่อและสังคมไทย…ทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดียขยับ ข่าวปรับ ละครเปลี่ยน” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยของปี 2567 และรับฟังความเห็น ข้อเสนอเพื่อการสร้างสรรค์นิเวศสื่อ ทั้งในการสื่อสารออนไลน์ และในสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่ต้องมีการปรับตัวกันในทุกภาคส่วนของสังคม  โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเวทีสัมมนาในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการขับเคลื่อนให้ตามยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนและสังคม  และเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการสร้างฐานข้อมูลความรู้ เพื่อให้มีงาน Media Academy และ Media Learning Center ที่เท่าทันสถานการณ์สื่อและสังคม เพื่อส่งเสริมบทบาทพลเมืองในนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า เวทีในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษา ที่ดำเนินการโดยโครงการ Media Alert และภาคี ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ “แนวโน้มการสื่อสารออนไลน์ของสื่อและสังคมไทยปี 67”, บทบาทของสื่อและการยกระดับคุณภาพข่าวสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม และ “คุณภาพละครไทย” ในทีวีดิจิทัล กับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของ กสทช. โดยหวังว่าผลที่ได้รับจากงานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน และร่วมกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนและสร้างระบบนิเวศของสื่อที่ดี รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้คนเท่าทันสื่อ

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนองานวิจัย “แนวโน้มการสื่อสารออนไลน์ของสื่อและสังคมไทยปี 67” โดยผลการวิจัยพบว่า ในปี 2567 ภูมิทัศน์สื่อออนไลน์กลับมาสู่สภาวะปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีความเข้มข้นทางการเมืองสูง เนื่องจากมีมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองคือ การเลือกตั้งทั่วไป เกิดขึ้น โดยในปี 2567 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจคือ กลุ่มสื่อบันเทิง สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของกระแสวัฒนธรรมประชานิยม  และความสนใจในบุคคลสำคัญที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาพรวมการใช้แพลตฟอร์มสื่อสารในโลกออนไลน์นั้น พบว่า TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการโพสต์วิดีโอสั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด สำหรับภาพรวมของผู้สื่อสารในโลกออนไลน์ พบว่าอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการสื่อสารสูงสุดในสังคมไทย สื่อหลักหรือสำนักข่าวมีบทบาทที่ลดลง

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม  รองคณบดีด้านวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab  นำเสนองานวิจัย “บทบาทของสื่อและการยกระดับคุณภาพข่าวสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งเป็นการศึกษาบทบาทการรายงานข่าวการเมือง กรณีศึกษาข่าวข้าว 10 ปี, บทบาทการรายงานข่าวน้ำท่วม, บทบาทการรายงานข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน, ศึกษาการรายงานข่าวภาคค่ำ ทีวีดิจิทัล 9 รายการ โดยจากผลการวิจัยพบว่า สื่อยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสารของสังคม และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ พบความพยายามในการให้คำอธิบาย ขยายความ (Explain) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  พร้อมมีข้อเสนอว่า ควรมีการขยายบทบาทการทำข่าวที่มีการเจาะลึกและส่งเสริมการทำข่าวที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น และผู้นำเสนอข่าวควรระมัดระวังในการนำเสนอหรือเล่าข่าวอย่างใส่ความคิดเห็นหรือเร้าอารมณ์

รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ อาจารย์สาขาดิจิทัลมัลติมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “คุณภาพละครไทย” ในทีวีดิจิทัล กับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของ กสทช. โดยเป็นการทดสอบ (ร่าง) เกณฑ์ ดังกล่าวฯ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ละคร 4 เรื่อง แบ่งเป็น  ละครเรท “ท” สงครามสมรส และนางฟ้ากรรมกร และละครเรท “น13+” คือ ลมเล่นไฟ และใจซ่อนรัก ผลการศึกษาพบว่าการจัดเรทอาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง ปัญหาเกิดจากมาตรฐานการจัดเรทที่ไม่ชัดเจน และเป็นการใช้วิจารณญาณที่ต่างกันของผู้ผลิตและการกำกับดูแลของ กสทช. โดยในส่วนของ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละครนั้น เสนอให้มีการพัฒนามาตรวัดที่ละเอียดขึ้น ควรเปลี่ยนจากแบบ “พบ/ไม่พบ” เป็น มาตรประมาณค่า (Rating Scale) รวมถึงทบทวนตัวชี้วัดบางตัวที่สะท้อนถึงความนิยมแต่ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพ และมีข้อเสนอต่อผู้ผลิตควรออกแบบรายการที่สมดุลระหว่างความบันเทิงและสาระประโยชน์ เหมาะกับเรทกับเรทหรือการกำหนดความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

หลังการนำเสนอผลการศึกษา เป็นการเสวนา “จากการสื่อสารของสื่อและสังคมไทยในปี 2567 สู่ข้อเสนอการสื่อสารที่สร้างสรรค์”  นายเทพชัย หย่อง ผู้เชี่ยวชาญงานข่าว อดีตผู้บริหารองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อในระดับประเทศและในภูมิภาคระหว่างประเทศ กล่าวว่า บทบาทที่เพิ่มขึ้นของ Influencer เกิดในหลายประเทศไม่ใช่แค่ประเทศไทย Influencer กับสื่อกระแสหลักไปด้วยกันได้ถ้าทำให้สังคมมีประเด็นถกเถียง แต่ก็มี Influencer ที่ใส่อารมณ์ ใช้ความคิดเห็น สื่อกระแสหลักหรือสื่อดั้งเดิมจึงยังมีความจำเป็นด้วยการรายงานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผ่านการตรวจสอบ ทั้งรับฟังเสียงสะท้อนของสังคม  Social Media ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อกระแสหลักในทุกประเทศ สื่อดั้งเดิมจึงต้องปรับตัว แต่การที่สื่อกระแสหลักต้องลดจำนวนคน ลดการลงทุนสร้างคน ในอนาคตคนทำข่าวอาจเป็นแค่คนพูดเก่ง ไม่มีนักข่าวสืบสวน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญข่าวเฉพาะด้านอย่างที่เคยมี สังคมต้องร่วมกันสร้างสื่อที่มีคุณภาพ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  รวมถึงต้องพยายามหาโมเดลการทำงานที่ผู้บริโภคสื่อมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้สื่อคุณภาพอยู่รอดได้  ขณะเดียวกัน ระบบสังคมและการศึกษาต้องช่วยกันบ่มเพาะการเท่าทันสื่อให้สมาชิกสังคมตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อวิจารณญาณในการเลือก การรับสื่อ การวิเคราะห์สื่อ และการสะท้อนกลับต่อการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมีคุณภาพ

นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ เกริ่นนำว่า ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของ Wisesight และ Media Alert ทำให้เห็นบทบาทที่มาแรงของ Influencer แล้วคิดว่า  การทำงานของ กสทช. ต้องเร่งเครื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้   เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสทช.เห็นชอบ(ร่าง)หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมองทั้งวงจรไม่เฉพาะผู้ประกอบกิจการ  แต่สนับสนุนกลไกการผลิต คุณภาพเนื้อหา เช่น การเสนอข่าวเชิงลึก การพัฒนาบทละครโทรทัศน์ ไปจนถึงช่องทางการเผยแพร่  สำหรับเรื่องสัญญาสัมปทานทีวีดิจิทัลที่จะหมดอายุลงใน ปี 2572  ทาง กสทช. เองก็จะใช้วิธีการประมูลหรือไม่ประมูล ถ้าใช้การประมูล ต้นทุนผู้ประกอบการก็จะสูง ถ้าไม่ใช้การประมูลอุตสาหกรรมก็ไปได้  แต่อย่างไรต้องมีการดูแลคุณภาพ สื่อหลักยังจำเป็นต้องมี เป็นแกนหลักเป็นเสาหลัก สิ่งที่ กสทช.ต้องดูแล คือ ส่งเสริมให้ต้นทุนลดลง มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ตัดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นออก ส่วนในเรื่องการพัฒนาผู้บริโภคสื่อนั้น กสทช. อาจพิจารณาใช้ผ่านการจัดสรรเงินให้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็ได้   โดยส่วนตัวมองว่า การพัฒนาคุณภาพสื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต หรือหน่วยงานกำกับดูแลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องมุ่งพัฒนาที่โครงสร้างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมไทย โดยเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ข้อเสนอจากกิจกรรมในวันนี้ไปไกลกว่าผลการวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ เช่น พบปัญหาการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา  การยืนยันว่าสื่อมวลชนยังมีความสำคัญ  เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อเนื้อหาของ Influencer และถึงเวลาแล้วที่องคาพยพทั้งหมดของประเทศไทยต้องขยับร่วมกัน โดยยกระดับให้สื่อเป็นวาระที่สำคัญของชาติ วางเป้าหมายร่วมกันในอนาคต และวางแผนแม่บทของการสื่อสาร โดยยึดเอาหลักการและมาตรฐานการทำหน้าที่ของสื่อในระดับสากล ตลอดจนหลักคุณธรรมจริยธรรมของไทย เป็นตัวตั้ง และพัฒนาร่วมกัน

สำหรับผู้สนใจอ่านสรุปผลการศึกษา สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊กของ Media Alert
และเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์