เลือกหน้า

รายงานฉบับย่อ การศึกษารายการข่าวค่ำทีวีดิจิทัล 9 ช่องกับทิศทางของการกำหนดวาระข่าวสารและการประเมินคุณภาพข่าว

ข่าวโทรทัศน์กำลังเผชิญความท้าทายระหว่างการรักษาคุณค่าทางวารสารศาสตร์และแรงกดดันด้านเรตติ้ง รายการข่าวหลายรายการเน้นเนื้อหาที่เร้าอารมณ์และข่าวอาชญากรรมเพื่อดึงดูดผู้ชม ขณะที่ข่าวเชิงลึกกลับได้รับความสนใจน้อยลง สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและกลยุทธ์ทางธุรกิจ การศึกษานี้วิเคราะห์แนวทางการกำหนดวาระข่าว (Agenda Setting) ของรายการข่าวค่ำจาก 9 ช่องทีวีดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการจัดลำดับความสำคัญของข่าว การกระจายสัดส่วนเนื้อหา (Content Proportion) และรูปแบบการนำเสนอ ตลอดจนประเมินคุณภาพข่าวผ่านปัจจัยสำคัญ เช่น ความถูกต้อง ความเกี่ยวข้อง ความหลากหลายของแหล่งข่าว และการปฏิบัติตามจริยธรรม เพื่อทำความเข้าใจทิศทางของข่าวโทรทัศน์ในยุคสื่อดิจิทัล

 การศึกษานี้ใช้ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)  เพื่อวิเคราะห์แนวทางการนำเสนอข่าวภาคค่ำของ 9 ช่องทีวีดิจิทัล รายการข่าวที่ศึกษาได้รับการคัดเลือกผ่าน การสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่

✅ การเป็นรายการข่าวหลักที่ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ (Prime Time)

✅ มีเรตติ้งสูงและมีอิทธิพลต่อกระแสข่าวในสังคม

✅ มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น ข่าววิเคราะห์ ข่าวเร้าอารมณ์ ข่าวเฉพาะเหตุการณ์ และข่าวเชิงโครงสร้าง

✅ เป็นช่องที่ครอบคลุมประเภทการให้บริการข่าว ทั้งในกลุ่ม บริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง บริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ บริการสาธารณะประเภทที่ 1 และบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ได้แก่

 

บริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง

ช่อง 3 เรื่องเด่นเย็นนี้

ช่อง 7 ข่าวภาคค่ำ

ช่องไทยรัฐทีวี ไทยรัฐนิวส์โชว์

ช่อง PPTV HD36 เข้มข่าวค่ำ

ช่องอัมรินทร์ทีวี ทุบโต๊ะข่าว

บริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ

ข่าวค่ำ Nightly News ช่อง MONO

ลุยชนข่าว: ช่อง 8

บริการสาธารณะประเภทที่ 1

ช่องไทยพีบีเอส ข่าวค่ำไทยพีบีเอส

บริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ

ช่อง TNN16: ข่าวค่ำ

 

เก็บข้อมูล

  • วิเคราะห์ข่าวจาก 9 ช่องทีวีดิจิทัล
  • บันทึกเทปรายการข่าวสดจากโทรทัศน์ระหว่างวันที่ 13–19 มกราคม 2568 สุ่มเลือกวันเก็บข้อมูล 3 วัน (15, 17, 19 มกราคม 2568) ให้ครอบคลุมทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ศึกษา ข่าวข้ามสื่อ (Cross-Media Analysis) โดยเก็บข้อมูลจาก YouTube, Facebook และ TikTok ของแต่ละช่อง รวมหน่วยการศึกษาทั้งหมด 994 ชิ้นข่าว

เป้าหมายของการศึกษา คือ การทำความเข้าใจ แนวทางการกำหนดวาระข่าว (Agenda Setting) การกระจายสัดส่วนเนื้อหา (Content Proportion) และ คุณลักษณะด้านคุณภาพข่าว (Quality Indicators) ของรายการข่าวค่ำ เพื่อนำเสนอแนวโน้มของวารสารศาสตร์โทรทัศน์ไทยในยุคสื่อดิจิทัล

จากการศึกษารายการข่าวค่ำของ 9 ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมหน่วยการศึกษา 994 ข่าว เก็บข้อมูลจากการออกอากาศ 3 วัน (15, 17, 19 มกราคม 2568) และการสัมภาษณ์ตัวแทนสื่อที่ศึกษา พบว่าการกำหนดวาระข่าวสารไม่ได้ขึ้นอยู่กับบรรณาธิการข่าวเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการเลือกและจัดลำดับความสำคัญของข่าว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ เรตติ้งและตัวชี้วัดผู้ชม ยอดรับชมและ Engagement มีผลโดยตรงต่อการคัดเลือกประเด็นข่าว เนื่องจากรายการข่าวต้องแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้มากที่สุด อีกทั้งพฤติกรรมของผู้ชมที่เลือกดูข่าวตามความสนใจของตนเอง ส่งผลให้กองบรรณาธิการต้องพิจารณาว่าข่าวแบบใดที่คนสนใจและข่าวแบบใดที่ควรรู้

นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดข่าวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รายการข่าวต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง โดยมีการวิเคราะห์พฤติกรรมของรายการข่าวอื่น ๆ และนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น การนำเสนอข่าวเชิงลึก หรือการใช้เทคนิคดึงดูดความสนใจมากขึ้น

ในแง่ของรายได้ โฆษณายังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งผู้ลงโฆษณามักเลือกสนับสนุนรายการที่มีเรตติ้งสูงมากกว่าคุณภาพข่าวที่นำเสนอ ทำให้รายการข่าวต้องเผชิญกับแรงกดดันในการรักษาสมดุลระหว่างการผลิตข่าวที่มีคุณค่าและการดึงดูดผู้ชมให้มากพอเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

Key takeaway สำคัญจากการศึกษานี้คือ ข่าวที่มีคุณค่า คือข่าวที่ตอบโจทย์ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ความหมายของคุณค่านั้นแตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้ชม และสิ่งที่ถูกนำเสนอในรายการข่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของแต่ละช่องในการกำหนดวาระข่าวสารในบริบทของสื่อยุคดิจิทัล

จากการศึกษาพบว่า รายการข่าวค่ำของทีวีดิจิทัล 9 ช่องในการศึกษามีแนวทางการจัดรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามจุดเด่นของแต่ละช่อง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • กลุ่มรายการข่าวที่เน้นสถานการณ์ปัจจุบันและประเด็นที่กระตุ้นความสนใจของสังคม ได้แก่ ทุบโต๊ะข่าว (อัมรินทร์ทีวี), ไทยรัฐนิวส์โชว์, และลุยชนข่าว (ช่อง 8) รายการเหล่านี้มีจุดเด่นคือการนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่กระตุ้นอารมณ์ผู้ชม โดยใช้กรอบข่าวที่เน้นความขัดแย้ง (Conflict Frame), ความรู้สึกของบุคคล (Human Interest Frame) และกรอบศีลธรรม/จริยธรรม (Morality Frame) อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ทำให้รายการเหล่านี้มีแนวโน้มเน้นดราม่ามากกว่าการวิเคราะห์เชิงลึก บางครั้งอาจเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมข่าว
  • กลุ่มรายการที่มีเรตติ้งสูงและแข่งขันด้วยการนำเสนอข่าวสถานการณ์ อาชญากรรม และ ข่าวที่ใกล้ตัว เหตุการณ์ในสังคมที่ดึงดูความสนใจของคนดูได้ ได้แก่ รายการทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี รายการลุยชนข่าว ช่อง 8 รายการไทยรัฐ นิวส์โชว์ และรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 รายการเหล่านี้มีจุดเด่นคือการนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่กระตุ้นอารมณ์ผู้ชม โดยใช้กรอบข่าวที่เน้นความขัดแย้ง (Conflict Frame), ความรู้สึกของบุคคล (Human Interest Frame) และกรอบศีลธรรม/จริยธรรม (Morality Frame) ในการนำเสนอข่าวมีลักษณะของการพยายามสืบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ แนวทางของการทำข่าวอาชญากรรมมีการใช้วงจรปิด การสืบหาข้อมูล พยานเหตุการณ์ และ การทดสอบจำลองเหตุการณ์เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน หรือข้อสงสัย บางเรื่องมีการขยายประเด็นเพื่อให้เห็นลักษณะของอาชญากรรมโดยละเอียดจากหลายมุม ซึ่งผู้ผลิตข่าวมองว่า เป็นการช่วยทำให้สังคมเห็นรูปแบบของความผิดปกตินี้ บางข่าวที่สื่อสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่ม ทำให้คนที่มีอำนาจสนใจและมาแก้ปัญหา หรือช่วยเหลือชาวบ้าน บางเรื่องก็เป็นส่วนในการคลี่คลายอาชญากรรมเหล่านั้น

ลักษณะการนำเสนอข่าวอาชญากรรม

ข่าวอาชญากรรมมักใช้ การเล่าเรื่องแบบเร้าอารมณ์ โดยเน้นประเด็นที่กระตุ้นความสนใจของสังคม เช่น คดีสะเทือนขวัญ ข่าวดราม่า หรือเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่ออารมณ์ผู้ชม การใช้ ภาพซ้ำ คลิปเหตุการณ์จริง และ การตัดต่อที่กระตุ้นความรู้สึก ทำให้ข่าวเหล่านี้ได้รับความสนใจสูง แต่ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง การละเมิดจริยธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย

การใช้เทคนิคข่าวกึ่งสืบสวน” (Semi-Investigative Journalism) แม้บางรายการข่าวพยายามใช้แนวทางสืบสวน เช่น การใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อสร้างหลักฐานและความน่าเชื่อถือ การสัมภาษณ์พยานและผู้เกี่ยวข้องตำรวจ ทนาย ครอบครัวผู้เสียหาย หรือประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ การจำลองสถานการณ์เพื่อหาข้อสันนิษฐานหรือเติมเต็มช่องว่างของข้อมูล แต่โดยส่วนใหญ่ ขาดการสืบสวนเชิงลึกที่ตรวจสอบหลายแหล่งข้อมูล หรือวิเคราะห์เชิงโครงสร้างของปัญหา เช่น การขุดคุ้ยเครือข่ายอาชญากรรม หรือการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม การรายงานมักพึ่งพา คำให้การและข้อมูลจากแหล่งเดียว ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อน

ข้อดีของเทคนิค “ข่าวกึ่งสืบสวน” ดึงดูดความสนใจของผู้ชม และช่วยให้ข่าวเข้าถึงง่าย ทำให้บางคดีได้รับความสนใจจากสาธารณะ และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา เปิดโอกาสให้สังคม

ข้อควรระวัง การใช้ภาพซ้ำและเน้นดราม่า อาจลดทอนความเป็นกลางของข่าว อาจละเมิดสิทธิ์ของผู้เสียหาย หรือพาดพิงบุคคลที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน การขาดการตรวจสอบข้อมูลหลายแหล่ง อาจนำไปสู่ความคลาดเคลื่อนและสร้างความเข้าใจผิดในสังคม

แนวทางพัฒนา เพิ่มการตรวจสอบแหล่งข่าวจากหลายมิติ ใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยอธิบายเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือ ลดการใช้กรอบข่าวที่เน้นอารมณ์มากเกินไป คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหายและแหล่งข่าว

  • กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับข่าวเชิงโครงสร้างและการวิเคราะห์ ได้แก่ เข้มข่าวค่ำ (PPTV) ข่าวค่ำ ThaiPBS และข่าวค่ำ TNN16 รายการเหล่านี้มุ่งเน้นการอธิบายเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ โดยใช้กรอบอธิบายเชิงโครงสร้าง (Thematic Frame) มาประกอบกับกรอบการรายงานเฉพาะเหตุการณ์ เพื่อมีการขยายข้อมูลให้บริบทของข่าว อย่างไรก็ตาม บางรายการยังขาดการสืบสวนข่าวในเชิงลึก (Investigative Journalism) หรือการนำเสนอทางออกของปัญหา (Solution Journalism) ประเภทข่าวในรายการกลุ่มนี้จะมีความหลากหลาย และมีสัดส่วนแตกต่างตามประเด็นข่าวสำคัญในแต่ละวัน

ความต้องการของผู้ชมเฉพาะกลุ่มที่เป็นฐานคนดูหลัก ทั้งสามช่องมีการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมและพยายามสร้างเนื้อหาข่าวที่ตอบสนองความสนใจของกลุ่มเป้าหมายของตนเอง โดย ThaiPBS เน้นผู้ชมที่ต้องการข่าวสารที่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ข่าวกับโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงใช้กรอบการนำเสนอข่าวเชิงโครงสร้าง (Thematic Frame) ที่ให้ความรู้ความเข้าใจในระยะยาว ส่วน TNN ให้ความสำคัญกับผู้ชมที่สนใจข่าวต่างประเทศและข่าวเศรษฐกิจเป็นพิเศษ รายการข่าวของ TNN จึงมักเจาะลึกประเด็นด้านการลงทุน การเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก และผลกระทบที่อาจเกิดกับประเทศไทย โดยยังต้องคำนึงถึงเรตติ้งและความนิยมของผู้ชมเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร PPTV มีแนวทางการรายงานข่าวที่พยายามสร้างความแตกต่างจากช่องอื่น ด้วยการเจาะลึกข่าวเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยในเชิงระบบ การใช้ประเด็นที่ดึงดูดความสนใจ แม้ว่าทั้งสามช่องจะเน้นการรายงานข่าวที่มีสาระสำคัญต่อสังคม แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ข่าวที่มีองค์ประกอบของ Human Interest เพื่อสร้างความสนใจและความรู้สึกร่วมของผู้ชม ข่าวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในเหตุการณ์ การรายงานผลกระทบที่เกิดกับประชาชน หรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสังคม ถูกใช้เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมเข้าสู่ข่าวสารที่มีเนื้อหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า

ทั้งสามช่องมีแนวทางการนำเสนอข่าวที่เน้นไปยังประเด็นที่ส่งผลต่อสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ข่าวการเมืองมักถูกจัดวางในตำแหน่งเปิดรายการ และเป็นหมวดข่าวที่มีสัดส่วนมากที่สุดในแต่ละวัน แสดงให้เห็นถึงแนวทางการให้ความสำคัญกับนโยบายรัฐ การบริหารประเทศ และผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม TNN16 มีความโดดเด่นด้านการนำเสนอข่าวต่างประเทศและข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งมักถูกจัดอยู่ในช่วงต้นของรายการ โดยเน้นไปที่ประเด็นที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุน และนโยบายระหว่างประเทศ ในขณะที่ ThaiPBS มีความโดดเด่นด้านการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ในขณะที่ PPTV ให้ความสำคัญกับข่าวการเมืองและข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

ทั้งสามช่องเน้น การรายงานข้อเท็จจริง (Inform) เป็นหลัก โดยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และมีการขยายบริบทที่ลึกขึ้นในบางประเด็นโดยใช้วารสารศาสตร์เชิงอธิบาย (Explanatory Journalism) ThaiPBS – นอกจากรายงานข้อเท็จจริง ยังเน้น ขยายความเชิงนโยบายและประเด็นสังคม เช่น นโยบายรัฐ ประเด็นความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบทางสังคม มีแนวโน้มเพิ่ม Solution Journalism ที่มุ่งเสนอแนวทางแก้ปัญหาสังคม PPTV – เน้นรายงานสถานการณ์พร้อมให้ บริบทเชิงลึกเชื่อมให้เห็นความสัมพันธ์แต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกันในเหตุการณ์ ในข่าวสำคัญ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายรัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจผลกระทบของเหตุการณ์ TNN16 – โดดเด่นในการอธิบายข่าว เศรษฐกิจและนโยบาย โดยขยายความเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับการใช้ชีวิตของผู้คน การให้ความรู้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

คุณภาพข่าว รายการข่าวของ ThaiPBS, PPTV และ TNN16 มีความร่วมกันในด้านการรักษาคุณภาพข่าวตามมาตรฐานวารสารศาสตร์ โดยมีการใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างเคร่งครัด ทุกข่าวที่นำเสนอมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ปกป้องสิทธิ ระวังเรื่องการละเมิดสิทธิและเลี่ยงการนำเสนอที่ใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามหากสามารถเพิ่มสัดส่วนข่าวเชิงอธิบาย และมีพื้นที่สำหรับข่าวเชิงสืบสวนและข่าวหาทางออก ในการขยายประเด็นสำคัญ ๆ ก็จะยกระดับคุณภาพไปได้อีก

  • กลุ่มรายการที่รายงานข่าวกระชับและสั้น ได้แก่ ข่าวค่ำ ช่อง 7 และ MONO รายการเหล่านี้ให้ข้อมูลข่าวสารแบบตรงไปตรงมา (Inform) โดยไม่มีการวิเคราะห์เชิงลึกหรือการเชื่อมโยงประเด็นข่าวเข้ากับโครงสร้างสังคม ข้อดีของแนวทางนี้คือข่าวมีความเป็นกลางและกระชับ แต่ข้อเสียคือผู้ชมอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ครอบคลุมและลึกซึ้งพอในการเข้าใจปัญหาในภาพรวมเพราะพื้นที่เวลาของรายการข่าวจำกัด

รายการข่าวภาคค่ำของช่อง 7 และ MONO มีลักษณะเด่นคือการรายงานสถานการณ์ปัจจุบันด้วยข่าวสั้น กระชับ และมีเวลานำเสนอจำกัด โดยเน้นการคัดเลือกข่าวที่อยู่ในกระแสสังคม (Trending News) และเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับความสนใจจากผู้ชม เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวการเมือง และข่าวที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการดึงดูดผู้ชมภายในระยะเวลาสั้น ๆ

แนวทางการกำหนดวาระข่าว (Agenda Setting) ของทั้งสองรายการให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อความสนใจของสังคมมากกว่าการสร้างวาระข่าวใหม่ โดยเปิดรายการด้วยข่าวเด่นที่อยู่ในกระแสและปิดรายการด้วยข่าวที่เบากว่า เช่น ข่าวบันเทิงหรือข่าวที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด กรอบการนำเสนอข่าว (News Framing) ใช้กรอบข่าวเฉพาะเหตุการณ์ (Episodic Frame) เป็นหลัก เน้นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง โดยไม่ได้ขยายความไปถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างหรือผลกระทบในระยะยาว นอกจากนี้ กรอบเรื่องมนุษย์ (Human Interest Frame) ก็ถูกใช้บ่อย เพื่อดึงอารมณ์ของผู้ชมผ่านเรื่องราวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

ในแง่ของแนวทางการนำเสนอข่าว ทั้งสองรายการเน้นการรายงานข้อเท็จจริง (Inform) เป็นหลัก โดยหลีกเลี่ยงการใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ประกาศข่าว ใช้ภาพและวิดีโอที่สำนักข่าวถ่ายเองเป็นองค์ประกอบหลัก ควบคู่กับการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมความสมจริงของข่าว

คุณภาพข่าวค่ำ

การประเมินคุณภาพข่าวใช้ตัวชี้วัดหลักสองกลุ่ม ได้แก่ ตัวชี้วัดที่สามารถประเมินได้ในทุกข่าว และ ตัวชี้วัดที่ขึ้นอยู่กับลักษณะของข่าวที่นำเสนอ

ตัวชี้วัดคุณภาพข่าวที่ใช้ได้กับทุกข่าว ครอบคลุม แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างชัดเจนจากหน่วยงานรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข่าว นอกจากนี้ ยังเน้นให้ ผู้ประกาศข่าวหรือผู้สื่อข่าวไม่นำเสนอความเห็นส่วนตัว เพื่อป้องกันอคติและการชี้นำความคิดเห็นของผู้ชม อีกทั้ง การรายงานต้อง ไม่มีการเสียดสีหรือใช้ภาษาที่สร้างความแตกแยก เพื่อรักษาความเป็นกลาง และสุดท้าย ข่าวต้องมี ความชัดเจนของเนื้อหา รายงานข้อมูลที่ครบถ้วน เข้าใจง่าย และไม่ทำให้ผู้ชมเกิดความสับสน

ขณะที่ ตัวชี้วัดคุณภาพที่ขึ้นอยู่กับลักษณะของข่าว จะประเมินตามบริบทของเนื้อหา โดยข่าวที่มีความขัดแย้งหรือข้อถกเถียง ควรนำเสนอ มุมมองที่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับ ความสมดุลของข้อมูลทั้งสองฝ่าย เพื่อลดอคติในการนำเสนอ นอกจากนี้ ข่าวควร เคารพและปกป้องสิทธิของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตนของผู้เสียหายหรือพยานในข่าวอ่อนไหว เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวความรุนแรงในครอบครัว หรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงภาพเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่จำเป็น และ การนำเสนอข่าวโดยไม่กระตุ้นอารมณ์เกลียดชัง ซึ่งอาจสร้างความแตกแยกในสังคมหรือปลุกปั่นให้เกิดอคติในกลุ่มผู้ชม

แนวทางการประเมินคุณภาพข่าวนี้ ไม่ได้เป็นการระบุว่าข่าวใด รายการหรือช่องใดมีคุณภาพมากกว่ากัน แต่เป็นการประเมินเพื่อสะท้อนบทบาทหน้าที่ที่สำนักข่าวทำได้ดี และ กระตุ้นการช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาพบว่ารายการข่าวโทรทัศน์ในไทยยังคงรักษาคุณภาพในบางด้านได้ดี โดยเฉพาะในแง่ของ แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงการอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแหล่งข่าวที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ รายการข่าวยังให้ความสำคัญกับ ประเด็นที่สังคมสนใจ โดยเลือกนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อผู้ชมและได้รับความสนใจจากสาธารณะ อีกทั้งการนำเสนอข่าวยังคงมีลักษณะ กระชับ ตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย ช่วยให้ผู้ชมสามารถรับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ในบางรายการมีความพยายาม ขยายมุมมองของเหตุการณ์ ผ่านการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรืออธิบายบริบทที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจประเด็นได้ลึกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับคุณภาพข่าวในบางด้าน เช่น การกระตุ้นอารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์เชิงลึก รายการข่าวบางประเภทเน้นการเร้าอารมณ์ของผู้ชมแทนที่จะให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่ช่วยทำความเข้าใจปัญหาในระดับโครงสร้าง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยง ต่อการละเมิดจริยธรรมวารสารศาสตร์ เช่น การใช้ภาพซ้ำ การนำเสนอเหตุการณ์รุนแรง หรือขาดมาตรการปกป้องแหล่งข่าวที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง อีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญคือ แนวโน้มของข่าวที่กลายเป็นเพียงดราม่ารายวัน เนื่องจากรายการข่าวบางช่องมุ่งเน้นการรายงานเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยไม่ขยายความถึงสาเหตุของปัญหาหรือแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจทำให้ข่าวขาดมิติที่ลึกซึ้งและส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ชมในระยะยาว

ตารางสรุปคุณภาพข่าวของรายการข่าวค่ำแต่ละกลุ่ม

กลุ่มรายการข่าว จุดแข็งด้านคุณภาพต่อคุณภาพข่าว ประเด็นที่เสี่ยงต่อคุณภาพข่าว ข้อเสนอต่อการพัฒนา
กลุ่ม 1: กลุ่มรายการที่ให้ความสำคัญกับข่าวเชิงโครงสร้าง & การวิเคราะห์

มาตรฐานวารสารศาสตร์สูง

· ใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น หน่วยงานรัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งข่าวที่ผ่านการตรวจสอบ

· หลีกเลี่ยงอคติและการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้ประกาศ

· นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง ไม่ชี้นำ ไม่ปั่นกระแส

· การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

· เนื้อหาข่าวเชิงโครงสร้าง & วิเคราะห์

· ข่าวบางประเภท เช่น ข่าวสืบสวนหรือข่าวเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาสังคม อาจยังขาดการขยายประเด็นที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของปัญหา เพิ่มข่าวเชิงทางออก (Solution Journalism) วิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกแล้วต่อยอดไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา เช่น ผลกระทบของนโยบายรัฐต่อประชาชน หรือการขับเคลื่อนสังคมจากประเด็นข่าว
กลุ่ม 2: เน้นสถานการณ์ปัจจุบัน & กระตุ้นความสนใจของสังคม

· ใช้แหล่งข้อมูลจากตำรวจ หน่วยงานรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทำให้ข่าวมีความน่าเชื่อถือ

· มีการเบลอใบหน้าและปกป้องสิทธิของผู้เสียหายในข่าวอาชญากรรม

· รายงานข่าวกระชับ เข้าใจง่าย สื่อสารได้ตรงไปตรงมา

· มีความพยายามสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมในบางกรณี ซึ่งช่วยให้ข่าวมีรายละเอียดที่ลึกขึ้นและทำให้บางเหตุการณ์ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ

· บางครั้งแหล่งข่าวมาจากความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ

· มีการใช้ ภาพซ้ำ คลิปเหตุการณ์รุนแรง และภาษาที่เร้าอารมณ์ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ชม ซึ่งอาจขาดความสมดุลทางจริยธรรม

· ขาดมุมมองที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เน้นรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะหน้า (Episodic Frame) มากกว่าการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสาเหตุหรือผลกระทบระยะยาว

· ข้อสันนิษฐานในบางกรณี ขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ ทำให้ข่าวบางเรื่องยังขาดความน่าเชื่อถือ และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

· ข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม หรือเศรษฐกิจ ไม่มีการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง หรือแนวทางแก้ไขปัญหา ทำให้ข่าวมุ่งเน้นเพียงระดับ “เหตุการณ์” เท่านั้น

· ควรลดการใช้ภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และภาพเหตุการณ์รุนแรง เพื่อรักษามาตรฐานจริยธรรมข่าว

· เพิ่มการขยายมุมมองและการวิเคราะห์ เพื่อให้ข่าวเชื่อมโยงถึงต้นตอของปัญหา ไม่ใช่แค่การรายงานเหตุการณ์

· หากมีการสืบสวนเพิ่มเติม ควรใช้หลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบอย่างรอบด้าน เพื่อขยับไปสู่การทำข่าวสืบสวนที่แท้จริง

กลุ่ม 3: รายงานข่าวกระชับ & สั้น

· นำเสนอข่าวแบบกระชับ ตรงไปตรงมา

· ไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ประกาศ เน้นข้อเท็จจริง

· คัดเลือกประเด็นที่เป็นข่าวสำคัญของวัน ให้ผู้ชมได้รับข้อมูลสั้น ๆ แต่ครบถ้วน

· ให้ข้อมูลที่เป็นกลาง & ไม่มีการปั่นกระแสข่าว

· เหมาะสำหรับผู้ชมที่ต้องการอัปเดต

· ขาดการขยายความหรือให้บริบทของข่าว ผู้ชมอาจได้รับข้อมูลที่สั้นเกินไป และขาดความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์

· ข่าวมีลักษณะเป็นเพียงเหตุการณ์รายวัน (Episodic News) จึงขาดการเชื่อมโยงเชิงโครงสร้างของปัญหา

เพิ่มการขยายบริบทของข่าวที่สำคัญแม้รายการจะสั้น แต่สามารถเพิ่ม “สรุปผลกระทบ” หรือ “เชื่อมโยงประเด็นกับสถานการณ์ที่ใหญ่ขึ้น” เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจข่าวในระดับที่ลึกขึ้น

ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเสริมข้อมูลหากข่าวสั้นในทีวีไม่สามารถลงรายละเอียดได้มาก อาจ เสริมเนื้อหาขยายความในแพลตฟอร์มออนไลน์

การกำหนดวาระข่าวสารที่เปลี่ยนไป กับความท้าทายต่อคุณภาพข่าว

การศึกษาพบว่าแนวทางการกำหนดวาระข่าวสารของรายการข่าวโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับ คุณค่าข่าว (News Values) และลำดับความสำคัญของข่าว ปัจจุบัน ตัวชี้วัดผู้ชมและข้อมูลเชิงพฤติกรรม (Audience Metrics & Viewer Analytics) กลายเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการเลือกข่าว การเข้าถึงข้อมูลเรตติ้งแบบนาทีต่อนาที และพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้องค์กรข่าวต้องปรับกลยุทธ์การนำเสนอข่าวให้ตอบสนองต่อความสนใจของผู้ชมมากขึ้น แทนที่จะอาศัยการตัดสินใจของบรรณาธิการเพียงอย่างเดียว

ตัวชี้วัดผู้ชม & การกำหนดเนื้อหาข่าว นักวิจัยหลายคนชี้ให้เห็นว่า การใช้ข้อมูลตัวชี้วัดช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ชม (Engagement) และกระตุ้นรายได้จากโฆษณา แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างแรงกดดันให้เนื้อหาข่าวต้องมุ่งสู่ความนิยม มากกว่าคุณค่าทางวารสารศาสตร์ (Blanchett Neheli, 2018) งานศึกษาของ Zamith (2018) ยังตั้งข้อสังเกตว่า ตัวชี้วัดผู้ชมช่วยให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อาจทำให้ห้องข่าวผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองตัวเลขมากกว่าความต้องการของสังคม Dodds et al. (2023) พบว่า ตัวชี้วัดผู้ชมสร้างแรงกดดันให้กับห้องข่าว โดยเฉพาะ การแข่งขันภายในองค์กรข่าว ที่นักข่าวต้องแข่งขันกันผ่านยอดคลิกและเรตติ้ง แทนที่จะใช้หลักการทางวารสารศาสตร์ในการคัดเลือกข่าว ผลที่ตามมาคือ ข่าวที่ได้รับความนิยมอาจไม่ใช่ข่าวที่มีคุณภาพหรือส่งผลดีต่อสังคมมากที่สุด

งานศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดวาระข่าวสารในยุคดิจิทัลไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ถูกกำหนดโดยข้อมูลพฤติกรรมของผู้ชม ทำให้ข่าวคุณภาพเผชิญความท้าทายสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างความยั่งยืนทางธุรกิจ และบทบาทของวารสารศาสตร์ที่ต้องรับใช้ประโยชน์สาธารณะ และชวนตั้งคำถามเพื่อหาทางออกในการส่งเสริมคุณภาพข่าวรวมกัน ดังนี้

การพัฒนาคุณภาพข่าวไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อมวลชน แต่ยังเป็นเรื่องของสังคมและผู้ชมด้วย หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการ ขยับจากข่าวที่มุ่งเน้นปัญหาไปสู่ข่าวที่นำเสนอทางออก (Solution Journalism) โดยตั้งคำถามว่า ข่าวสามารถนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากขึ้นแค่ไหน? นอกจากการรายงานเหตุการณ์ ข่าวควรช่วยให้ผู้ชมเข้าใจรากเหง้าของปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้

อีกประเด็นสำคัญคือ บทบาทของผู้ชมในการสนับสนุนข่าวที่มีคุณภาพ ในยุคที่ตัวชี้วัดผู้ชมมีผลต่อการตัดสินใจของสื่อ ผู้ชมสามารถช่วยกำหนดทิศทางของข่าวได้โดย เลือกเสพข่าวที่มีคุณภาพ สนับสนุนสื่อที่ยึดหลักจริยธรรม และไม่สนับสนุนข่าวที่เน้นกระแสหรือเรตติ้งมากกว่าคุณค่า

ท้ายที่สุด “ข่าวที่ดีอยู่ได้ หากคนให้ความสำคัญ” หากสังคมให้ความสำคัญกับคุณภาพข่าวมากขึ้น ก็จะช่วยผลักดันให้สื่อมุ่งเน้นการรายงานข่าวที่มีคุณค่าต่อสังคม สุดท้ายแล้ว สังคมและผู้ชมข่าวเองก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของสื่อ เพื่อให้ข่าวสารที่เรารับรู้เป็นประโยชน์มากกว่าการสร้างกระแสชั่วคราว

ถอดบทเรียนการรายงานข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน: สื่อไทยกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

หนึ่งในความสูญเสียครั้งใหญ่ของปี 2567 คือ เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียนบนถนนวิภาวดีรังสิต

งานการศึกษาวิเคราะห์การรายงานข่าวนี้ของสื่อโทรทัศน์ โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยให้เห็นพัฒนาการของสื่อโทรทัศน์ ในการรายงานข่าวอุบัติเหตุซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเป็นเด็ก จึงต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมเรื่องการปกป้องสิทธิเด็ก ลดการใช้ภาพความรุนแรง และการสัมภาษณ์อย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเน้นการตรวจสอบสาเหตุและมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาเชิงระบบ

ชวนอ่าน! รายงานชิ้นนี้ เพื่อโอกาสพัฒนาแนวทางการรายงานข่าวอุบัติเหตุ

ข่าวอุบัติเหตุไม่ควรจบที่การรายงานเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ควรขยายมุมมองไปถึงการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เชื่อมโยงสถิติกับบริบทสังคม กฎหมาย และระบบการจัดการ พร้อมทั้งเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม เช่น การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย การรณรงค์ความตระหนักรู้ในชุมชน การพัฒนาโครงสร้างถนน เป็นต้น

ข่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ร่วมเรียนรู้และนำแนวทางนี้ไปต่อยอดสู่การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน!

“ถอดบทเรียนเหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสนักเรียน สู่แนวทางพัฒนาการรายงานข่าวอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน”

การศึกษาเรื่อง “ข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน” ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์และต่อเนื่อง 5 วันเพื่อศึกษาการพัฒนาประเด็นและการนำเสนอข่าว โดยมีหน่วยการศึกษา 1,261 ข่าว  แบ่งเป็น หน่วยการศึกษาจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ 11 สื่อ ได้แก่ ไทยรัฐ ,ข่าวสด, มติชน , ช่อง 3 , ข่อง 8 , อัมรินทร์ทีวี , PPTV HD36 , ช่อง 7 , ไทยพีบีเอส , The Standard  และบีบีซีไทย จำนวน 1,167 ข่าว และ จากรายการข่าวเรตติ้งสูง (เก็บจาก YouTube) 6 รายการ ได้แก่ ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี / เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3/ ทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี/ ลุยชนข่าว ช่อง8/ เข้มข่าวค่ำ PPTV HD36/ ข่าวค่ำช่อง 7 จำนวน 94 ข่าว

การศึกษาการรายงานข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจริยธรรมสื่อในการรายงานข่าวท่ามกลางความรุนแรงและความสูญเสีย ด้วยพบว่า ในการรายงานข่าวนี้ สื่อไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการดึงอารมณ์จากความเจ็บปวด แต่มีความพยายามนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย เช่น การให้ข้อมูลเหตุการณ์ที่ชัดเจน การตรวจสอบหาสาเหตุ ตลอดจนการเสนอทางออกเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต แม้ว่าสัดส่วนของการนำเสนอทางออกหรือมาตรการแก้ไขจะยังน้อย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนับสนุนและต่อยอด

งานการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนจากกรณีนี้ เปิดโอกาสให้นักข่าวและสื่อสามารถนำกรอบแนวคิด “Road Safety” ไปพัฒนาการรายงานข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนอื่น ๆ ได้ โดยปรับแนวทางการรายงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตั้งแต่การ ให้ข้อมูลเบื้องต้น (Inform) ที่ถูกต้องครบถ้วน การอธิบายเหตุและผล (Explain) เพื่อลงลึกถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบเชิงลึก (Investigate) เพื่อตีแผ่ต้นตอของปัญหา การรวบรวมและ เสนอแนวทางแก้ไข (Solution) ที่สามารถป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วม ผ่านงานข่าวที่สร้างพื้นที่ให้เสียงของคนทุกฝ่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันให้ถนนของเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน

 #ข่าวสร้างการเปลี่ยนแปลง #RoadSafety #SolutionJournalism”

การศึกษาเรื่อง “ข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน” ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์และต่อเนื่อง 5 วันเพื่อศึกษาการพัฒนาประเด็นและการนำเสนอข่าว โดยมีหน่วยการศึกษา 1,261 ชิ้นข่าว  แบ่งเป็หน่วยการศึกษาจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ 11 สื่อ ได้แก่ ไทยรัฐ ,ข่าวสด, มติชน , ช่อง 3 , ข่อง 8 , อัมรินทร์ทีวี , PPTV HD36 , ช่อง 7 , ไทยพีบีเอส , The Standard  และบีบีซีไทย จำนวน 1,167 ข่าว และ จากรายการข่าวเรตติ้งสูง (เก็บจาก YouTube) 6 รายการ ได้แก่ ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี / เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3/ ทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี/ ลุยชนข่าว ช่อง8/ เข้มข่าวค่ำ PPTV HD36/ ข่าวค่ำช่อง 7 จำนวน 94 ข่าว รวมหน่วยการศึกษาทั้งสิ้น 1,261 ชิ้นข่าว

 ถอดบทเรียนการรายงานข่าวเหตุโศกนาฏกรรม

เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียนสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในการรายงานข่าวของสื่อที่ศึกษา โดยมีการรักษาจริยธรรมและลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น การเลี่ยงนำเสนอภาพความรุนแรง การสัมภาษณ์ที่ไม่ซ้ำเติมผู้สูญเสีย และการรายงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

 การรักษาบทบาทในการช่วยลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ประสบเหตุและครอบครัว รวมถึงลดการสร้างความรุนแรงในสังคมผ่านข่าว ถือว่า สื่อทำได้ดีในการรายงานข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน

 การรายงานข่าวอย่างมีจริยธรรม: ลดความรุนแรงในเนื้อหา ป้องกันผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง

ผลการวิเคราะห์พบว่าสื่อที่ศึกษามีความระมัดระวังมากขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในข่าวและการหลีกเลี่ยงการนำเสนอความรุนแรง

  • ลดการใช้ภาพความรุนแรง: การใช้กราฟิกแทนภาพเหตุการณ์จริง หรือการเลือกใช้ภาพที่ลดความกระตุ้นอารมณ์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 1% สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดความรุนแรงในเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่มีความระมัดระวังสูงสุด
  • สื่อเลือกใช้ภาพ/คลิปที่ไม่รุนแรงในสัดส่วนที่มากที่สุด ส่วนภาพ/คลิปที่รุนแรงปานกลางเป็นการนำเสนอความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือสิ่งของ โดยหลีกเลี่ยงการเห็นภาพคนหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ส่วนภาพ/คลิปแบบรุนแรงสูงมีสัดส่วนการใช้ที่น้อย พบอยู่บ้างเป็นภาพ/คลิปแสดงอารมณ์ความเศร้า ความเจ็บปวด
  • สัมภาษณ์ที่ลดการกระตุ้นอารมณ์: สัดส่วนการสัมภาษณ์ที่เน้นคำถามเกี่ยวกับความเศร้าเสียใจมีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 5.1% สะท้อนให้เห็นว่าสื่อส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว และมีการหลีกเลี่ยงการนำเสนอในลักษณะที่อาจทำร้าย ซ้ำเติมความเจ็บปวด
  • ลดการใช้คำรุนแรง: การนำเสนอข่าวโดยใช้คำที่รุนแรง มีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 1.9%
  • ปกป้องบุคคลในข่าว:  การนำเสนอภาพความสูญเสียในลักษณะที่ไม่ปกป้องมีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 2.0% โดยเว็บไซต์ไม่มีการนำเสนอในลักษณะนี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่สื่อควรปรับปรุง เช่น การวนภาพความรุนแรงซ้ำ ๆ ซึ่งพบสูงสุดในเฟซบุ๊กที่ 15.6% รองลงมาคือยูทูป (คลิปรายการข่าวที่มีเรตติ้งสูง) ที่ 10.9% โดยเฉพาะคลิปข่าวของญาติผู้เสียชีวิต ยังมีการนำเสนออย่างย้ำอารมณ์ความเจ็บปวดสูงที่ 16.4% แต่ก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของการนำเสนออื่น ๆ ส่วนการนำเสนอของผู้ประกาศข่าว ยังต้องระวังเรื่องการแทรกอารมณ์และความรู้สึกร่วม การแสดงความเห็นโดยไม่มีการอ้างอิงข้อมูลประกอบ รวมถึงการเล่าข่าวที่เพียงกล่าวว่า “มีข้อมูล” หรือ “เขาบอกว่า” แต่ไม่ได้ระบุแหล่งข่าวที่ชัดเจน (แม้จะมีแหล่งที่มาข้อมูล) อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือ เป็นเพียงความเห็นของผู้ประกาศ โดยเฉพาะคลิปที่มีการตัดสั้นในสื่อสังคมบางคลิปพบว่าเนื้อหาในส่วนที่อ้างอิงแหล่งข่าว / แหล่งข้อมูลที่ชัดเจนหายไป ซึ่งทำให้ลดความน่าเชื่อถือของข่าว

การกำหนดวาระข่าวสาร: บทบาทข่าวต่อการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน 🚦

การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda-Setting) มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน สื่อที่ศึกษาเน้นการรายงานข่าวในกรอบประเด็นสำคัญ เช่น

กรอบรายงานเหตุการณ์ (Episodic Frame)
สัดส่วนสูงสุด (9.99%) เน้นการลำดับเหตุการณ์และการจัดการฉุกเฉิน

กรอบมิติของมนุษย์ (Human Interest Frame)
– รายงานการเยียวยาและการช่วยเหลือ (9.96%)
– ดึงอารมณ์ร่วม สะท้อนความสูญเสีย (9.15%)
– เสนอผลกระทบต่อผู้เสียหาย (7.17%)

กรอบความปลอดภัย (Safety Frame)
สร้างความตระหนักเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย (9.09%) โดยนำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การนำเสนอประเด็นการหาสาเหตุ
– การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้: (7.59%)
– การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ: (8.55%)

 **หมายเหตุ ร้อยละที่นำเสนอเป็นอันดับที่สูงอันดับต้น ๆ ของการวิเคราะห์ สามารถอ่านข้อมูลทั้งหมดได้ในรายงานฉบับเต็ม

 กรอบประเด็น “ความปลอดภัย (Safety Frame)” ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ในสังคม และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบมาตรฐานรถบัสการพัฒนาทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์เพลิงไหม้ในรถบัส/รถโดยสาร เป็นต้น การเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องและผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย แต่เนื่องจากความเข้มข้นและการเจาะลึกประเด็นให้ต่อเนื่องยังพบไม่มาก จึงยังเป็นเพียงการ “เปิดประเด็น” ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็อาจยังไม่สามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงหรือป้องกันเชิงระบบได้

กรอบ”ความสนใจในมิติของมนุษย์ (Human Interest Frame) การเล่าเรื่องราวของผู้สูญเสียหรือผู้เกี่ยวข้องในข่าว สร้างความเห็นอกเห็นใจและกระตุ้นความตระหนักรู้ในสังคม จึงเป็นเรื่องที่นำเสนอได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยหลักสำคัญคือการใช้เสียงของคนในข่าว “เพื่อสะท้อนปัญหาและกระตุ้นความต้องการร่วมของสังคมให้แก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำอีก” ซึ่งในการศึกษานี้พบว่า ยังเป็นมุมของอารมณ์ความรู้สึก ความสูญเสียและเศร้าโศกมากกว่า หากเพิ่มบริบทให้เชื่อมโยงไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา จะกำหนดวาระข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

 แต่ละสื่อที่ศึกษามีจุดยืนและความโดดเด่นในการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่ข้อสังเกตคือ มีการกระจายประเด็นหลากหลายไม่ได้เน้นเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สะท้อนความพยายามในการต่อยอดและนำเสนอมุมมองให้รอบด้านเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่าที่สื่อสามารถทำได้ในช่วงเวลาของการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์และข้อสังเกต
1️. สื่อที่ศึกษาเริ่มขยายบทบาทจากการรายงานเฉพาะหน้า (Episodic Frame) ไปสู่กรอบที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ความปลอดภัยบนท้องถนน
2️. การเชื่อมโยงปัญหาเชิงระบบ เช่น การตรวจสอบมาตรฐานรถบัส การหาคนรับผิดชอบ และการวิเคราะห์สาเหตุ ยังมีสัดส่วนต่ำ แต่มีแนวโน้มพัฒนาได้

โอกาสต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

  • เพิ่มการรายงานใน Safety Frame เพื่อกระตุ้นการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย
  • ขยายเนื้อหาเชิงลึก เช่น เทคนิคการเอาตัวรอด การใช้เทคโนโลยีในยานพาหนะ
  • ผลักดันประเด็นป้องกันในระยะยาว เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งและกฎหมาย

ข้อควรระวัง

  • ลดการเน้นอารมณ์ความเศร้าในกรอบมนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติม
  • รักษาความน่าเชื่อถือด้วยการอ้างอิงข้อมูลที่ชัดเจน

การกำหนดวาระข่าวสารในการรายงานข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียนสะท้อนบทบาทสำคัญของสื่อที่ไม่เพียงรายงานเหตุการณ์ แต่ยังสามารถผลักดันการตระหนักรู้ในระดับระบบและการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ในอนาคต!

  • Thairath ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ โดยเน้นการรายงานในเชิงรายละเอียดเหตุการณ์และการตรวจสอบหาสาเหตุและความไม่ปกติของรถและบริษัทรถบัส
  • Khaosod เน้นกรอบการลำดับเหตุการณ์สูงที่สุด โดยเน้นรายละเอียดของเหตุการณ์และการเชื่อมโยงกับบริบท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุ
  • Matichon ให้ความสำคัญกับ การชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุ การลำดับเหตุการณ์ และ การดึงอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์
  • 3HD เน้นคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การลำดับเหตุการณ์ การชดใช้ เยียวยา การตรวจสอบสภาพรถที่เกิดเหตุ
  • ช่อง 8 เน้น การลำดับเหตุการณ์ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ ความผิดของคนขับรถบัส และ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ
  • Amarin TV HD ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การดึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้ชม และ ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง
  • PPTV มุ่งเน้นที่คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน ผลกระทบต่อผู้เสียหาย ความผิดของภาคเอกชน โดยเน้นทั้งด้านเทคนิคและมิติของผู้ประสบเหตุ
  • 7 HD เน้นที่กรอบปุถุชนสนใจและเรื่องของผู้ประสบเหตุ โดยนำเสนอการดึงอารมณ์ร่วม การชดใช้ เยียวยา ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย
  • ThaiPBS ให้ความสำคัญกับ ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย การดึงอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน
  • BBC เน้นไปที่ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ และ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ
  • The Standard ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ

 

ส่วนรายการข่าวที่เรตติ้งสูง มีการให้ความสำคัญกับประเด็นนำเสนอดังนี้

ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ไทยรัฐทีวี) ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งสะท้อนถึงการเน้นประเด็นด้านความปลอดภัยและการป้องกันเหตุการณ์

เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง3) เน้นเหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ การชดใช้ เยียวยา การช่วยเหลือเป็นประเด็นหลัก ตามด้วยการตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ โดยการให้ข้อมูลสถานการณ์ ความคืบหน้าของเหตุการณ์และผลของการตรวจสอบหาสาเหตุ

ทุบโต๊ะข่าว (อัมรินทร์ทีวี) เน้นที่เหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ และการดึงอารมณ์ร่วมกับความเศร้าโศกเสียใจของเหตุการณ์

ลุยชนข่าว (ช่อง 8) ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการรายงานเกาะติดสถานการณ์ ร่วมกับการดึงอารมณ์ร่วม และ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้

เข้มข่าวค่ำ (PPTV HD36) เน้นการเปิดประเด็นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมกับการตรวจสอบความผิดของภาคเอกชน การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ และ การชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือ

ข่าวค่ำ (ช่อง 7) ให้ความสำคัญกับ การชดใช้ เยียวยา การดึงอารมณ์ร่วม ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย ความผิดของคนขับรถบัส ความผิดของภาคเอกชน และ ความผิดในระบบการจัดการของภาครัฐ

การนำเสนอข่าวเพื่อไปสู่อธิบายเชิงลึก การตรวจสอบ และการหาแนวทางป้องกัน (Beyond Accident)

จากการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน พบว่า แนวทาง Inform (ให้ข้อมูล) ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีสัดส่วนถึง 62.5% ของข่าวทั้งหมด ซึ่งมุ่งเน้นการรายงานข้อเท็จจริงพื้นฐาน เช่น เกิดอะไรขึ้น (What), ที่ไหน (Where), และเมื่อไร (When) เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นและลดความสับสนในสังคม

สำหรับแนวทาง Investigate (สืบสวน) พบว่า 15.8% ของข่าวมีการเจาะลึกสาเหตุและการตรวจสอบ เช่น ความผิดพลาดในระบบ มาตรฐานความปลอดภัย และผู้รับผิดชอบ ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชิงระบบและผลักดันให้เกิดการตรวจสอบ

แนวทาง Explain (อธิบาย) มีสัดส่วน 14.4% โดยขยายความและให้บริบทเพิ่มเติม เช่น มาตรฐานความปลอดภัย โครงสร้างถนน หรือการจัดการความเสี่ยง ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจของผู้รับข่าวในมิติเชิงลึก

ในขณะที่แนวทาง Solution (เสนอทางแก้ไข) มีสัดส่วนเพียง 7.3% โดยเน้นการเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข เช่น การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการสร้างความตระหนักในสังคม

การรายงานเหตุการณ์ (Inform) เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทุกสื่อที่ศึกษา

  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Matichon มีสัดส่วนสูงสุด (90.7%)
  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Khaosod (0%)
  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Thairath (8%)
  • ข่าวค่ำ ช่อง 7 (80.0%)
  • เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 (54.2%)

การนำเสนอข่าวที่มุ่งอธิบายบริบทและขยายความ (Explain) พบมากที่สุดใน

  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Amarin TV (6%) รายการทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี (50.0%)
  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ ช่อง 8 (22.2%) ลุยชนข่าว ช่อง 8 (52.9%)

การเจาะลึกและตรวจสอบ (Investigate) ในลักษณะการตั้งคำถาม และสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์

  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ CH3 และ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Amarin TV มีสัดส่วนสูงสุด (28.0% และ 27.6%)
  • ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี มีสัดส่วนสูงสุด (55.6%)
  • เข้มข่าวค่ำ PPTV (45.5%)

สำหรับการเสนอทางแก้ปัญหา (Solution)

  • เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ ThaiPBS และ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ PPTV โดดเด่นที่สุด (15.5% และ 15.0%)
  • เข้มข่าวค่ำ PPTV (18.2%)

 แนวทางการพัฒนา: โมเดลการนำเสนอข่าวเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

เพื่อพัฒนาและต่อยอดจากสิ่งที่สื่อทำได้ดีแล้ว เช่น การรักษาจริยธรรมและการนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย สัดส่วนของแนวทางทั้ง Inform, Explain, Investigate, และ Solution  ควรได้รับการปรับให้เหมาะสม ด้วยเหตุผลที่อุบัติเหตุไม่ใช่เพียงเหตุการณ์เดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับปัจจัยเชิงโครงสร้าง  ดังนั้นการรายงานข่าวในเชิงลึกและรอบด้านจะช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนในระยะยาวได้ ดังนี้

  1. Inform (ให้ข้อมูล)
    สิ่งที่ทำได้ดี: การนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่ครบถ้วน เช่น เวลา สถานที่ และลำดับเหตุการณ์ ช่วยลดความสับสนในสังคม

    สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
    – ขยาย DATA: รวบรวมข้อมูลที่หลากหลาย เช่น สถิติอุบัติเหตุ รายงานความปลอดภัยของถนน และสภาพรถ
    – เชื่อมโยงกับ Explain: เพิ่มการอธิบายบริบทของข้อมูล เช่น ผลกระทบจากการขาดมาตรฐานความปลอดภัย

  2. Explain (อธิบาย)
    สิ่งที่ทำได้ดี : การขยายบริบทเรื่องความปลอดภัย เช่น มาตรฐานการขนส่ง หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
    – เพิ่มการเชื่อมโยงปัญหาเชิงโครงสร้าง: เช่น การออกแบบถนนที่ไม่ปลอดภัย ความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีผลต่อการขับขี่และความปลอดภัยบนท้องถนน
    – เน้นการตั้งคำถาม: เช่น สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ การกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการ
    – ใช้ DATA เชิงลึก: นำเสนอข้อมูลสถิติที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ
  3. Investigate (สืบสวน)
    สิ่งที่ทำได้ดี: มีความพยายามเจาะประเด็นเพื่อหาผู้รับผิดชอบ เช่น การตรวจสอบความผิดของบุคคลหรือองค์กร การจุดประเด็นที่สำคัญในการตรวจสอบ เช่น การตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสและบริษัทที่เกี่ยวข้อง
    สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
    – เชื่อมโยงเหตุการณ์สู่ประเด็นเชิงระบบ: นำเสนอปัจจัยเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่อุบัติเหตุ เช่น กฎระเบียบที่ขาดการบังคับใช้ หรือการออกแบบโครงสร้างถนนที่มีข้อบกพร่อง
    – ขยายสาเหตุเชิงลึก เช่น ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาการบริหารจัดการในระบบขนส่ง
    – สร้างความต่อเนื่อง: ติดตามผลการตรวจสอบในระยะยาวและเจาะลึกในประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
  4. Solution (เสนอทางแก้ไข)
    สิ่งที่ทำได้ดี: มีการแนะนำและเสนอแนวทางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย เสนอแนวคิดในการแก้ไข เช่น การอบรมพนักงานขับรถ หรือการตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสาร
    สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
    – เน้นการเสนอแนะเชิงระบบ เช่น การพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบขนส่ง
    – ถอดบทเรียนจากตัวอย่างที่สำเร็จ นำกรณีศึกษาจากประเทศที่มีมาตรฐานสูงด้านความปลอดภัยทางถนนมาใช้เป็นแบบอย่าง
    – ให้ HOW-TO ที่นำไปปฏิบัติได้จริง เช่น แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปในการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการเดินทาง หรือข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ

 สรุปข้อเสนอในภาพรวม ในการรายงานข่าวเหตุการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนน หากสื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับแนวทาง Explain, Investigate, และ Solution มากขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงเหตุการณ์กับปัจจัยเชิงโครงสร้างและบริบทที่กว้างขึ้น สื่อจะสามารถสร้างข่าวที่ไม่เพียงแค่รายงานเหตุการณ์ แต่ยังช่วยสร้างความเข้าใจเชิงลึกและสนับสนุนการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ในระยะยาวได้

“เมื่อวิกฤตน้ำท่วมอาจเกิดขึ้นอีก… สื่อจะมีบทบาทอย่างไร?”

วิกฤตน้ำท่วม สื่อมีบทบาทอย่างไร? ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมปี 2567: คุณค่าและความน่าเชื่อถือ
น้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาชั่วคราว แต่สะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมเมื่อเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สื่อมวลชนเป็นด่านหน้าในการส่งต่อข้อมูล ตั้งแต่การเตือนภัย การรายงานสถานการณ์ ไปจนถึงการสะท้อนเสียงของผู้ประสบภัย

แต่บทบาทของสื่อควรไปไกลกว่านั้น! สื่อสามารถเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงข้อมูลในภาวะวิกฤต สู่การผลักดันการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายในระยะยาว

 งานการศึกษานี้เจาะลึกบทบาทของสื่อ ผ่านการถอดบทเรียนจากการรายงานข่าวน้ำท่วมใน 2 เหตุการณ์ใหญ่ของปี 2567 กรณี น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 และน้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงวันที่ 10-12 กันยายน 2567) โดยศึกษาช่วงวิกฤต 3 วันแรกกับบทบาทของสื่อในการรายงานข่าวพบกับข้อค้นพบสำคัญที่เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับคุณค่าและความน่าเชื่อถือของการรายงานข่าววิกฤตน้ำท่วม

ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมปี 2567: คุณค่าและความน่าเชื่อถือ

         น้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมเมื่อเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน สื่อคือผู้ส่งต่อข้อมูลสำคัญ ตั้งแต่การเตือนภัยล่วงหน้า การรายงานสถานการณ์ ไปจนถึงการสะท้อนเสียงของผู้ประสบภัย แต่บทบาทของสื่อควรไปไกลกว่านั้น! สื่อสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในภาวะวิกฤตสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย และสร้างความเข้าใจในระยะยาวต่อสังคม งานการศึกษานี้ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมใน 2 เหตุการณ์สำคัญของปี 2567

หน่วยการศึกษา

ศึกษาจากสำนักข่าวจากตัวแทนช่องทีวีดิจิทัล 6 ช่อง ดังนี้

คัดเลือกจากข้อมูลเรตติ้งทีวีดิทัล (ข้อมูลจากกสทช.) เดือนกรกฎาคม 2567  ในกลุ่มรายการข่าว โดยพบว่าช่องที่มีรายการข่าวติดอันดับสูงสุด 3 ช่องแรก ได้แก่ ช่อง 3 ไทยรัฐทีวี ช่อง 7  

คัดเลือกจากยอดเข้าชมทางเว็บไซต์ของทีวีดิจิทัลในเดือนกรกฎาคมจากเว็บไซต์ truehits.net โดยพบว่าเว็บไวต์ช่องทีวีดิจิทัลที่มียอดเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ช่องพีพีทีวี ช่องไทยพีบีเอส และ ช่องอัมรินทร์ทีวี

ช่วงเวลาที่ศึกษา

ศึกษา 2 ช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงที่ 1 เก็บข้อมูลวิเคราะห์ช่วง 21-23 สิงหาคม 2567 “ฝนตกต่อเนื่อง เกิดน้ำหลาก น้ำ ท่วมในหลายพื้นที่”

ช่วงที่ 2 เก็บข้อมูลวิเคราะห์ช่วง 10-12 กันยายน 2567 “น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย”

วิธีการเก็บข้อมูล

            ศึกษาชิ้นข่าวที่พบจากช่องทางออนไลน์ของช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 6 ช่อง   โดยเก็บเฉพาะข้อมูลการ รายงานข่าวน้ำท่วมในช่วงเวลาที่กำหนด โดยคัดเลือกข้อมูลที่เกี่ยวกับการรายงานข่าวน้ำท่วมภาคเหนือ และ ประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,846 ข่าว แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 จำนวน 621 ข่าว และช่วงที่ 2 จำนวน 1,225 ข่าว

ช่วง 21-23 สิงหาคม 2567 “น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ” สถานการณ์จากฝนตกหนักเพราะพายุเข้า เกิดน้ำป่าหลากท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา น่าน เพชรบูรณ์ และพื้นที่อีสานบางส่วน เช่น นครราชสีมา อุดรธานี

  • จำนวนข่าวน้ำท่วมทั้งหมด 621 ข่าวจาก 6 สำนักข่าว โดยวันที่ 21 มีปริมาณข่าวน้อยที่สุดในทุกช่อง วันที่ 22 เป็นวันที่มีข่าวเพิ่มขึ้นมากที่สุด
  • วันที่ 22 สิงหาคม จำนวนข่าวสูงสุดถึง 60 ข่าว แสดงถึงการเน้นรายงานทันทีเมื่อเหตุการณ์เริ่มชัดเจน อัมรินทร์ทีวี มีสัดส่วน 18.2% โดยกระจายข่าวค่อนข้างสม่ำเสมอใน 3 วันที่ศึกษา ช่อง 7 และ ThaiPBS มีการรายงานข่าวใกล้เคียงกันที่ 14.5% และ 11.1% ตามลำดับ โดยเน้นวันที่ 22 สิงหาคมเป็นพิเศษ ช่อง 3 มีสัดส่วนน้อยสุดที่ 9.0% แสดงถึงการให้ความสำคัญกับข่าวน้ำท่วมน้อยกว่าช่องอื่น
  • วันที่ 23 ข่าวลดลงเล็กน้อยในบางช่อง ไทยรัฐทีวี มีสัดส่วนการรายงานข่าวสูงสุดที่ 24.5% แสดงถึงการให้ความสำคัญกับข่าวในวันที่ 23 สิงหาคมมากที่สุด (78 ข่าว) หรือวันที่ 3 ของการทำการศึกษาน้ำท่วมภาคเหนือ ส่วน PPTV มีสัดส่วน 19.2%

 

ช่วง 10-12 กันยายน 2567 “น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย” พบข่าวรวมทั้งสิ้น 1,225 ข่าว จาก 6 สำนักข่าว โดย

  • ไทยรัฐทีวีมีจำนวนข่าวสูงสุดที่ 305 ข่าว (9%) รองลงมาคือช่อง 7 (259 ข่าว หรือ 21.1%) และ PPTV (222 ข่าว หรือ 18.1%) อัมรินทร์ทีวีตามมาอย่างใกล้เคียงที่ 221 ข่าว (18.0%) ขณะที่ ThaiPBS รายงาน 144 ข่าว (11.8%) และช่อง 3 มีสัดส่วนข่าวน้อยที่สุดที่ 74 ข่าว (6.1%)
  • วันที่ 11 กันยายน เป็นวันที่มีจำนวนข่าวสูงสุดในทุกช่อง โดยไทยรัฐทีวีรายงานถึง 139 ข่าว ตามด้วยช่อง 7 ที่ 129 ข่าว และ PPTV 115 ข่าว สะท้อนความเข้มข้นของสถานการณ์ในวันดังกล่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทำการศึกษา จำนวนข่าวลดลงในทุกช่อง เช่น ไทยรัฐทีวีรายงานลดลงเหลือ 130 ข่าว ช่อง 7 เหลือ 94 ข่าว และ PPTV เหลือ 85 ข่าว ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการลดความสนใจของสื่อเมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มคงที่

 

3 ประเด็นที่สื่อทำได้ดี และ 3 มิติที่ขาด

  • เปรียบเทียบจากจำนวนข่าว พบว่า ไทยรัฐทีวีให้ความสำคัญกับน้ำท่วมฉับพลันมากที่สุดโดยเน้นการรายงานที่ต่อเนื่องและเข้มข้น ขณะที่ช่อง 7 และ PPTV มีความใกล้เคียงกันในสัดส่วนการนำเสนอ ส่วนอัมรินทร์ทีวีและ ThaiPBS เน้นความละเอียดและการเจาะลึกบางประเด็น ส่วนช่อง 3 มีการรายงานในปริมาณน้อยที่สุด
  • การกระจายตัวของข่าวในช่วง 3 วันที่ทำการศึกษา (10-12 กันยายน 2567) พบว่าสื่อให้ความสนใจรายงานข่าวสูงสุดในวันที่ 11 กันยายน อาจด้วยการพัฒนาของสถานการณ์และความเร่งด่วนของข่าวสารในวันนั้นซึ่งเป็นวันแรกที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
  • ในช่วง 3 วันแรกของเหตุการณ์ที่มีความสับสนของข้อมูลและมีคนต้องการได้รับความช่วยเหลือ สื่อทำได้ดีในการรายงานสถานการณ์ สร้างความเข้าใจเร่งด่วนได้ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ มีการรายงานการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และ มีบทบาทในการช่วยระดมความช่วยเหลือ รวมถึงการให้พื้นที่สะท้อนเสียงของผู้ประสบภัยเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ และทำให้คนในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเกิดขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม แม้ช่วง 3 วันแรกจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือเฉพาะหน้า สื่อสามารถใช้โอกาสในการผลักดันประเด็นเรื่องผลกระทบ สาเหตุปัญหาเชิงพื้นที่ และโครงสร้างระบบต่าง ๆ ที่ยังมีปัญหาและทำให้เกิดน้ำท่วม หรือการช่วยเหลือที่ลำบากได้ แต่พบว่า ยังมีสัดส่วนของการนำเสนอประเด็นเหล่านี้น้อย ทำให้ไม่สามารถเกาะความสนใจของสังคมเพื่อขยายประเด็นต่อได้ หากสื่อให้สัดส่วนกับการให้ข้อมูลประกอบ บริบทในเรื่องเหล่านี้เพิ่มระหว่างการนำเสนอสถานการณ์ จะช่วยกระตุ้นความสนใจของสังคมต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากขึ้น

เมื่อภัยน้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นอีก สื่อควรทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน?
#น้ำท่วม #รายงานข่าว #บทบาทสื่อ #ภัยพิบัติ

3 วันแรกของวิกฤตน้ำท่วม: คนสนใจที่สุด กระทบสูงสุด โอกาสผลักดันประเด็นสำคัญที่สุด…สื่อกำหนดวาระข่าวสารอย่างไร?

ช่วง 3 วันแรกของวิกฤตน้ำท่วม สื่อคือหัวใจสำคัญในการให้ข้อมูลที่คนต้องการอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่สถานการณ์น้ำ การช่วยเหลือ ไปจนถึงผลกระทบในพื้นที่ และโอกาสสำคัญที่จะเปิดประเด็นใหญ่ เช่น การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำในระยะยาว และการวางแผนนโยบายเพื่ออนาคต

 “แหล่งข่าวและการกำหนดวาระข่าวสารในวิกฤตน้ำท่วม: ใครเป็นเสียงหลักในการเล่าเรื่อง?

การวิเคราะห์แหล่งข่าวที่สื่อใช้รายงานในช่วงวิกฤตน้ำท่วม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างการรายงานน้ำท่วมหลากในหลายพื้นที่ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เฉพาะอย่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ 1 ของการศึกษา) แหล่งข่าว 3 อันดับแรก มาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ (15.83%) และการช่วยเหลือ (15.20%) รองลงมาคือสื่อพลเมือง (13.94%) และประชาชนผู้ประสบภัย (12.95%) แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสื่อในการเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้จัดการสถานการณ์และเสียงสะท้อนจากพื้นที่จริง ส่วนที่เหลือจะเป็นการใช้แหล่งข่าวอื่น ๆ  

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ 2 ของการศึกษา) แหล่งข่าว 3 อันดับแรก พบว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นแหล่งข่าวหลัก (22.9%) ตามมาด้วยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ (22.5%) และประชาชนผู้ประสบภัย (13.8%) ที่เหลือเป็นการใช้แหล่งข่าวอื่น ๆ ส่วนการรายงานข่าวเน้นที่การช่วยเหลือและการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า

แม้สื่อจะให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐและหน่วยกู้ภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เสียงของประชาชนผู้ประสบภัยในมุมของการสะท้อนปัญหายังมีน้อย ซึ่งอาจลดทอนมิติทางสังคมและอารมณ์ของปัญหา การสร้างสมดุลระหว่างเสียงของประชาชนและข้อมูลจากผู้จัดการสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 “รูปแบบข่าวน้ำท่วม: ตัวแปรสำคัญที่ช่วยคนเข้าใจสถานการณ์”

การเล่าเรื่องผ่านภาพนิ่งและคลิปที่เน้นผู้ประสบภัย หรือการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จริง มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์และความเข้าใจต่อเหตุการณ์ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยลดความสับสนในช่วงวิกฤติ และกระตุ้นการสนับสนุนจากสังคมได้ดีขึ้น

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ 1 ของการศึกษา) คือ วันที่ 21-23 สิงหาคม 2567) องค์กรสื่อที่ศึกษา เน้นการใช้ ภาพนิ่งหรือคลิปเกี่ยวกับสภาพน้ำท่วม (36.5%) เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์เชิงภาพชัดเจน และเสริมด้วยภาพนิ่งหรือคลิปที่เน้นประชาชนผู้ประสบภัย (26.0%) เพื่อเชื่อมโยงมิติทางมนุษยธรรม ช่วยสร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชม

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ 2 ของการศึกษา) คือ วันที่ 10-12 กันยายน 2567) การนำเสนอของสื่อมีการเพิ่มสัดส่วนของภาพนิ่งหรือคลิปที่เน้นผู้ประสบภัย สูงขึ้นเป็น 40.4% สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อผู้คน ขณะที่ การลงพื้นที่รายงานสด และ การใช้แผนที่เพื่อระบุพิกัดพื้นที่ มีบทบาทรองลงมาในทั้งสองช่วง แต่ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความเข้าใจเชิงพื้นที่

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ศึกษา 21-23 สิงหาคม 2567) ประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญสามอันดับแรก คือ การรายงานสถานการณ์น้ำ (20.8%) สะท้อนถึงความต้องการข้อมูลพื้นฐานของประชาชนในช่วงวิกฤติ ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (17.7%) เช่น การอพยพและแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น รวมถึงผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิต (14%) เช่น ปัญหาสุขภาพ การเดินทาง การปิดโรงเรียน ก็เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสื่อสาร เช่น การแจ้งขอความช่วยเหลือ และการเตือนภัย มีสัดส่วนการรายงานที่น้อยกว่า แม้จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการรับมือสถานการณ์ในอนาคต

ไทยรัฐทีวีเน้นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นอันดับแรก ขณะที่ช่อง 7 และ PPTV ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เช่น การแจ้งขอความช่วยเหลือ ส่วนไทยพีบีเอสมุ่งเน้นการรายงานผลกระทบเชิงลึกด้านคุณภาพชีวิตและสังคม เช่น การขาดแคลนทรัพยากรและสุขภาพ ส่วนอัมรินทร์ทีวี ให้ความสำคัญกับการสะท้อนสภาพของผู้ประสบภัยเป็นลำดับรองจากสถานการณ์น้ำ

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ศึกษา 10-12 กันยายน 2567) ประเด็นหลักที่สื่อให้ความสำคัญสามอันดับแรก คือ การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (26.5%) ซึ่งสะท้อนถึงความเร่งด่วนและความสำคัญในการปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ รองลงมาคือ การรายงานสถานการณ์น้ำ (21.3%) และ สภาพของผู้ประสบภัย (19.5%) ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบโดยตรง

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การเน้นช่วยเหลือเฉพาะหน้าแสดงถึงบทบาทของสื่อในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเด็นเกี่ยวกับการเตือนภัยและการจัดการเชิงระบบยังมีบทบาทน้อย ซึ่งควรพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจและการป้องกันในระยะยาว

ในช่วงเวลาที่วิกฤตน้ำท่วมเข้ามากระทบหลายพื้นที่พร้อมกัน หรือเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ที่รุนแรง การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดข้อมูล แต่ยังเป็นตัวกำหนดวาระและกรอบการนำเสนอ (News Framing) ที่มีผลโดยตรงต่อความเข้าใจของผู้ชม และการผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว

การกำหนดกรอบข่าวน้ำท่วม: สะท้อนบทบาทและข้อจำกัดของสื่อมวลชน

  1. กรอบขอบเขตและความรุนแรง (Scope and Severity Frame
    – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ เน้น “รายงานสถานการณ์น้ำ” (20.8%) และ “สภาพผู้ประสบภัย” (13.4%) เพื่อให้ภาพรวมและความเข้าใจในหลายพื้นที่
    – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย เน้นเจาะลึก “สถานการณ์น้ำ” (21.3%) และ “ผลกระทบผู้ประสบภัย” (19.5%) ในพื้นที่เฉพาะ
    1. กรอบการตอบสนอง (Response Frame)
      – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ “การช่วยเหลือเฉพาะหน้า” (17.7%) เช่น การแจกจ่ายถุงยังชีพ
      – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย “การช่วยเหลือเฉพาะหน้า” เด่นชัด (26.5%) ตอบสนองสถานการณ์เร่งด่วน
      1. กรอบการเตือนภัย (Warning Frame): การเตือนภัยมีสัดส่วนน้อยในทั้งสองช่วง (6.2% ในฉับพลัน) ชี้ถึงการขาดข้อมูลเตรียมพร้อม
      2. กรอบผลกระทบ (Impact Frame)
        – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ เน้น “ผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิต” (14%)
        – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย โฟกัส “ผลกระทบเชิงมนุษยธรรม” แต่ขาดการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจ
        1. กรอบการสื่อสารเชิงนโยบาย (Policy Frame): ทั้งสองช่วงมีสัดส่วนน้อยสุด ชี้ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนประเด็นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสื่อเน้นการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่การรายงานเชิงระบบ เช่น การเตือนภัยและการเชื่อมโยงกับนโยบาย ยังมีบทบาทน้อย ส่งผลให้โอกาสในการสร้างความพร้อมและแก้ปัญหาระยะยาวถูกลดทอน สื่อควรเพิ่มกรอบการนำเสนอในมิติของผลกระทบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และธรรมชาติ รวมถึงเน้นสร้างการรับรู้เชิงนโยบาย จะช่วยให้การรายงานข่าวครอบคลุมและมีศักยภาพในการส่งเสริมการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

        หมายเหตุ: ร้อยละที่นำเสนอเป็นมาจากข้อมูลการนับซ้ำประเด็นการรายงานในแต่ละข่าว และ ดึง 5 อันดับสูงสุดนำเสนอ (ในภาพกราฟิก)

        #ข่าวน้ำท่วม #การกำหนดกรอบข่าว #สื่อมวลชน #วิเคราะห์ข่าว

        ผลการประเมิน “คุณภาพละครไทย” ในทีวีดิจิทัล

        ในยุคที่เนื้อหาบันเทิงมีอิทธิพลต่อความคิดและค่านิยมของผู้ชม
        กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทดลองใช้ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละครโทรทัศน์ ที่พัฒนาโดยคณะทำงานฯ ใน กสทช. เพื่อประเมินคุณภาพละครเรท “ท” และ “น13+” ที่ได้รับความนิยม เป็นหน่วยการศึกษา จำนวน 4 เรื่อง และค้นหาคำตอบว่าละครโทรทัศน์ไทยมีคุณภาพและคุณค่า ในระดับใด

        “คุณภาพละครไทย” ในทีวีดิจิทัล กับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของ กสทช.

        Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดผลการประเมินคุณภาพรายการละครตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพที่คณะทำงานฯ ใน กสทช. ได้จัดทำขึ้น โดยประเมินคุณภาพละครทั้งเรท “ท” และ “น13+” รวม 4 เรื่อง

        วัตถุประสงค์การศึกษา

        • เพื่อประเมินคุณภาพรายการประเภทละครทั้งเรท “ท” และ “น13+” ด้วย (ร่าง) เกณฑ์ที่จัดทำโดยคณะทำงานฯใน กสทช. และจัดทำข้อเสนอ

        วิธีการศึกษา: วิเคราะห์เนื้อหาด้วย (ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพของคณะทำงานฯ ใน กสทช.

        วิธีการคัดเลือกหน่วยการศึกษา

        • อยู่ใน 3 อันดับละครยอดนิยมเรตติ้งทีวีดิจิทัลหรือในสื่อสังคมออนไลน์ตามรายงานการจัดอันดับเรทติ้งทีวีดิจิทัลข้ามแพลตฟอร์มในช่วงไตรมาสที่ศึกษา
        • เป็นละครผลิตใหม่จากต่างช่องสถานีโทรทัศน์
        • เป็นละครที่มีการจัดระดับความเหมาะสมที่แตกต่างกัน (ท และ น13+)
        • ได้หน่วยการศึกษา คือ ละครเรท “ท” ได้แก่ สงครามสมรส (ช่อง ONE) และนางฟ้ากรรมกร (ช่อง ONE) ส่วนละครเรท “น13+” ได้แก่ ลมเล่นไฟ (ช่อง 3) และใจซ่อนรัก (ช่อง 3)  

        (ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพรายการประเภทละคร

        ในปี 2566 กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดกระบวนวิธีวิทยาในการตรวจสอบและประเมินคุณภาพเนื้อหารายการ (Social Credit) เพื่อใช้สำหรับวัดระดับคุณภาพรายการ สำหรับรายการละครโทรทัศน์ได้มีการออกแบบ (ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพรายการประเภทละคร โทรทัศน์โดยแบ่งเป็น

        • ระดับบรรทัดฐานคือ คุณภาพพื้นฐานที่รายการละครโทรทัศน์ต้องมี 8 ตัวชี้วัด
        • ระดับสูงกว่าบรรทัดฐานคือ คุณภาพของละครโทรทัศน์ที่ช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาผู้ชม 10 ตัวชี้วัด

        *ทั้งนี้ (ร่าง) เกณฑ์ข้างต้นนี้พัฒนามาเพื่อประเมินคุณภาพละครโทรทัศน์เรท “ท” แต่เพื่อการพัฒนาเกณฑ์ในการประเมินให้ครอบคลุมรายการที่จัดระดับความเหมาะสมเรทอื่นๆ จึงนำ (ร่าง) เกณฑ์นี้มาทดลองใช้กับการประเมินละครเรท “น13+ ด้วย

        คะแนนการประเมิน

        • พบเนื้อหา = 1 /ไม่พบ = 0 คะแนน
        • ยกเว้น “การนำเสนอเนื้อหาที่ควรจำกัด” พบ = ลบ 1 ไม่พบ = 1 คะแนน

        เกณฑ์ระดับคุณภาพ

        • 96-100% ดีเยี่ยม
        • 80-95% ดีมาก แต่ไม่ครบทุกตัวชี้วัด
        • 65-79% ดี แต่ไม่ครบทุกตัวชี้วัด
        • 50-64% พอใช้ พบข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

        ต่ำกว่า 50% ไม่ผ่านเกณฑ์

        คุณภาพระดับบรรทัดฐานของละครโทรทัศน์เรท “ท” และ “น13+”

        ด้านวัตถุประสงค์ของรายการ

        • ละครเรท “ท” และ “น13+” มีจุดแข็งในการให้ความบันเทิงและสร้างอารมณ์ร่วมได้ดี

        ด้านเนื้อหาเชิงคุณค่า

        • ละครเรท “ท” สอดแทรกสาระเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว การแก้ปัญหา และคุณธรรมจริยธรรมได้ดี โดย สงครามสมรส เน้นสิทธิในครอบครัวและความยุติธรรมทางกฎหมาย ขณะที่ นางฟ้ากรรมกร นำเสนอการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานและการช่วยเหลือกันในสังคม
        • ละครเรท “น13+” มีสาระเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและมิตรภาพในสังคม ลมเล่นไฟ กล่าวถึงปัญหาครอบครัวที่ส่งผลต่อชีวิต ส่วน ใจซ่อนรัก สอดแทรกสาระเรื่องมิตรภาพและคุณค่าร่วมได้ดีทุกตอน

        ด้านเนื้อหาที่ควรจำกัด (ความรุนแรง เพศ ภาษา และภาพตัวแทน)

        • ละครเรท “ท” สงครามสมรส มีการใช้ภาษาหยาบคาย (52.4%) และความรุนแรง (38.1%) ในระดับสูง ส่วน นางฟ้ากรรมกร มีการใช้ภาษาหยาบคาย (3.5%) และความรุนแรง (20.7%) ในระดับต่ำกว่า ส่วนด้านภาพตัวแทน สงครามสมรส มีอคติทางเศรษฐกิจและชนชั้น ส่วน นางฟ้ากรรมกร มีการดูหมิ่นชนชั้นอยู่บ้าง
        • สรุปได้ว่า ละครเรท”ท” มีจุดดีที่ไม่เน้นตอกย้ำประเด็นเพศ แต่ยังพบเนื้อหาที่ควรระวังคือ 1) ความหยาบคาย และ 2) ความก้าวร้าวรุนแรง
        • ละครเรท “น13+” ลมเล่นไฟ มีฉากความรุนแรงและการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมเกือบทุกตอน ใจซ่อนรัก มีเนื้อหาเกี่ยวกับอบายมุขในบางตอน ในด้านเนื้อหาเกี่ยวกับเพศพบว่า ทั้งสองเรื่องมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่จำเป็นประมาณ 30% ของเนื้อหา ประเด็นภาพตัวแทนพบว่าทั้ง 2 เรื่องยังมีอคติเชิงเพศและการดูหมิ่นบุคคลบางกลุ่ม
        • สรุปได้ว่า ละครเรท “น13+” ยังเน้นจุดขายในด้าน 1) ความก้าวร้าวรุนแรง 2) ภาษาหยาบคาย 3) การแสดงออกทางเพศที่ไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่อง

        สรุปผลการประเมินคุณภาพระดับบรรทัดฐาน

        • เรท “ท” สงครามสมรส ได้ 71.37% ส่วนนางฟ้ากรรมกร ได้ 93.13%
        • เรท “น13+” ใจซ่อนรัก ได้ 78.12% และลมเล่นไฟได้ 41 %
        • ละครเรท “น13+” มีคะแนนสูงกว่าละครเรท “ท”

        ผลดังกล่าวสะท้อนว่า การจัดเรทอาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของละคร อาจมาจากมาตรฐานการจัดเรทที่ไม่ชัดเจน การใช้วิจารณญาณที่ต่างกันของผู้ผลิต และการกำกับดูแลของ กสทช.

        คุณภาพสูงกว่าบรรทัดฐานของรายการละครโทรทัศน์เรท “ท” และ “น13+” 

        ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และประโยชน์ต่อสังคม

        • ละครเรท “ท“ สอดแทรกสาระด้านสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการใช้ชีวิตในสังคมได้ดี โดย สงครามสมรส เน้นสิทธิของผู้หญิงและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในครอบครัว นางฟ้ากรรมกร นำเสนอการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานและสร้างแรงบันดาลใจในการเอาชนะอุปสรรค
        • ละครเรท “น13+ พบว่าทั้ง 2 เรื่องมีพล็อตเข้มข้นและสะท้อนปัญหาสังคม แต่การสอดแทรกสาระและแรงบันดาลใจอยู่ในระดับปานกลาง

        การส่งเสริมทักษะชีวิตและระบบวิธีคิด

        • ละครเรท “ท“ ส่งเสริมทักษะชีวิตและการคิดวิเคราะห์ในระดับดี โดยสงครามสมรส เน้นส่งเสริมการแก้ปัญหาภายในครอบครัวและความขัดแย้งในชีวิตด้วยกฎหมาย ขณะที่นางฟ้ากรรมกรนำเสนอการเอาตัวรอดและการวางแผนชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
        • ละครเรท “น13+“ ทั้ง 2 เรื่องพบว่า มีเนื้อหาส่งเสริมทักษะชีวิต นำเสนอปัญหาและความขัดแย้งเข้มข้น แต่ขาดการชี้นำวิธีการแก้ปัญหาที่ชัดเจน

        การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และยอมรับความหลากหลายทางสังคม

        • ละครเรท “ท” สอดแทรกคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และการเสียสละได้ดี สงครามสมรสเน้นความยุติธรรมและสิทธิของผู้หญิง นางฟ้ากรรมกร เน้นความกตัญญูและการช่วยเหลือในชุมชน
        • ละครเรท “น13+” ทั้ง 2 เรื่องพบการสอดแทรกคุณธรรมและการยอมรับความหลากหลายทางสังคมในระดับปานกลาง

        สรุปผลการประเมินระดับสูงกว่าบรรทัดฐาน 

        • ละครเรท “ท” สงครามสมรส ได้ 20% และนางฟ้ากรรมกร ได้ 56.50%
        • ละครเรท “น13+” ลมเล่นไฟได้ 2% และใจซ่อนรักได้ 48.75%
        • ค่าคะแนนของละครเรท “น13+” สะท้อนว่า การเพิ่มคุณภาพของละครควรให้ความสำคัญกับความรุนแรงในการใช้ภาษา การสอดแทรกทักษะชีวิต และการยอมรับความหลากหลายทางสังคม

        จากงานวิจัยสู่แนวทางพัฒนาละครไทยให้มีคุณภาพ

        ข้อเสนอแนะต่อเกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละคร

        1. ใช้มาตรวัดที่ละเอียดขึ้นในการให้คะแนน จากการให้คะแนน “พบ/ไม่พบ” ควรใช้ Likert Scale (5 ระดับ) เพื่อวัดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาต่าง ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
        2. ปรับปรุงตัวชี้วัดให้ชัดเจนและมีอำนาจในการจำแนกคุณภาพ โดยการตรวจสอบรายละเอียดในตัวชี้วัด ไม่ให้ซ้ำซ้อนภายในเกณฑ์เดียวกันและระหว่างเกณฑ์ รวมถึงการลดความเป็นนามธรรมของตัวชี้วัด ไม่ให้ขึ้นอยู่กับการตีความหรือดุลพินิจของผู้ประเมิน
        3. ใช้วิธีการประเมินคุณภาพละครแบบผสมผสาน ทั้งเชิงคุณภาพที่ใช้เกณฑ์การประเมินรายตอนและวิธีการเชิงคุณภาพด้วยการประเมินภาพรวมร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย
        4. ทบทวนตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนคุณภาพละครอย่างแท้จริง เช่น ตัวชี้วัดด้านความนิยมจากผู้ชมในต่างประเทศ เพราะการถูกตัดต่อบางส่วนไปเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศอาจหมายความถึงการเป็นกระแส แต่อาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของละคร

        ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิตละคร และองค์กรสื่อ

        1.นำตัวชี้วัดไปปรับใช้เป็นคู่มือ สำหรับทีมผลิตในการตรวจสอบคุณภาพทั้งก่อนและหลังการออกอากาศ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

        2.อบรมบุคลากรผู้ผลิต ให้เข้าใจตัวชี้วัดคุณภาพละครโทรทัศน์อย่างชัดเจน และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ประเมินฝ่ายต่างๆ

        3.ร่วมกับ กสทช. ในการพัฒนาคุณภาพละครโทรทัศน์แต่ละเรท ให้มีเกณฑ์การประเมินคุณภาพที่สอดคล้องกับการจัดเรทหรือความเหมาะสมของเนื้อหาต่อกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

        ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานกำกับดูแล

        1.พัฒนาระบบประเมินและติดตามผล ใช้ทั้งข้อมูลปริมาณและคุณภาพ รวมถึงติดตามผลกระทบระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในการกำกับดูแลเนื้อหา

        1. ส่งเสริมการใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพในกระบวนการผลิตและประเมินผล
        2. สร้างความร่วมมือระหว่างภาคี ภาควิชาการ ธุรกิจ และวิชาชีพ เพื่อพัฒนามาตรฐานที่ยอมรับได้ในวงกว้าง
        3. ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการคัดกรองสื่อของผู้ชม เพื่อให้รับชมอย่างมีวิจารณญาณ พร้อมพัฒนาเครื่องมือประเมินที่เข้าถึงง่าย
        4. ปรับระดับความเหมาะสมของการรับชม (Content Rating) ให้สอดคล้องกับแพลตฟอร์ม ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รับชมทางสื่อออนไลน์และรับชมย้อนหลัง

         

        กองทุนสื่อ เตรียมนำทัพผู้ผลิตไทยไปอินเดีย จับมือสถานทูตหารือสนับสนุนการจัดงาน WAVES 2025 ผลักดันอุตสาหกรรมสื่อไทยสู่เวทีโลก

        (8 เมษายน 2568) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เข้าพบ Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนการจัดงาน WAVES 2025 – World Audio Visual & Entertainment Summit ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 พฤษภาคม 2025 ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย

        กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนและประสานงานการเชิญผู้ผลิตสื่อจากประเทศไทยเข้าร่วมงาน WAVES 2025 อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสื่อของประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อไทยได้แสดงศักยภาพในเวทีสากล อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือในระดับสากลในด้านการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

        การจัดงาน WAVES 2025 มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ผลิตสื่อและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อจากทั่วโลก งานนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพและการสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อจากทั่วโลกได้ร่วมมือกันในการพัฒนาและขยายตลาดสื่อที่ยั่งยืน