ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จับมือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ กระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนส่งผลงาน สื่อสร้างสรรค์ 9 ประเภท ประกาศยกย่อง – สร้างการรับรู้ เกิดแรงบันดาลใจ กระตุ้นคนไทยทำความดี
14 พฤษภาคม 2564 : ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จัดงานแถลงข่าว โครงการสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ด ปี 2563 (Moral Media Awards 2020) จะดำเนินการคัดเลือกผลงาน “สื่อสร้างสรรค์คุณธรรม” หมายถึงสื่อที่มีแนวคิด เนื้อหา รูปแบบการถ่ายทอด นำเสนอสู่สาธารณะที่แสดงถึงการส่งเสริมคุณธรรม ที่มุ่งเน้นให้ผู้รับรู้สื่อมีพฤติกรรมด้านคุณธรรม หรือวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย แบ่งประเภทต่างๆ 9 ประเภท ดังนี้ 1) ประเภทละคร 2) ประเภทภาพยนตร์ 3) ประเภทคลิปวิดีโอสั้นที่เผยแพร่ทางโซเซียลมีเดีย 4) ประเภทโฆษณา 5) ประเภทบทเพลง 6) ประเภทรายการวิทยุ 7) ประเภทรายการโทรทัศน์ 8) ประเภท สื่อสิ่งพิมพ์ และ 9) ประเภทสื่อดิจิทัล ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องหรือสื่อสารถึงพฤติกรรมด้านคุณธรรม เพื่อประกาศยกย่อง บุคคล องค์กร หน่วยงานที่ผลิต และนำแง่มุมที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดทำโครงการคัดเลือกสื่อสร้างสรรค์คุณธรรม อวอร์ด ปี 2563 ครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็นประธานฯ และศูนย์คุณธรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักโครงการ และกิจกรรม Big Rock ในแผนปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมฯ ซึ่งโครงการคัดเลือกสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมฯ เป็นโครงการหนึ่งที่คณะปฏิรูปให้ความสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้มีการค้นหา ยกย่อง ให้รางวัลบุคคล หน่วยงานที่ผลิตสื่อหรือรายการสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรมที่ส่งผลกระทบต่อจิตสำนึกและเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างกว้างขวาง เพื่อเผยแพร่ ขยายผลสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับรู้ เข้าใจ และเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดีด้านต่างๆ เป็นการยกย่องสื่อสร้างสรรค์ 9 ประเภท โดยคุณสมบัติของสื่อสร้างสรรค์ ต้องเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่มีการผลิตและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ในช่วงปี 2562 – 2563 (มกราคม 2562 – ธันวาคม 2563) เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่มีเนื้อหา บท เรื่องราว ที่สื่อความหมายสื่อสะท้อนด้านคุณธรรมต่างๆ ที่เป็นการ กระตุ้นจิตสำนึกด้านคุณธรรมของผู้รับสื่อในกลุ่มต่าง ๆ ตามประเภทบริบทของสื่อ ที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม ไม่สื่อถึงการยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง
ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ มีบทบาทในการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมสื่อแบบต่างๆ เพื่อทลายกรอบการผลิตเนื้อหาแบบเดิมๆ เพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ในมิติที่คนต้องการเพื่อการเล่าเรื่องที่รอบด้าน หลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้ พร้อมทั้งสร้างฐานความรู้ด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้าง “การมีส่วนร่วม” ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนโดยสร้างรูปแบบการประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้าง “การรู้เท่าทันสื่อ” และ “การเฝ้าระวังสื่อ” ระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย จับมือ เครือข่าย ร่วมแรง ร่วมทุน เตรียมความพร้อม ในการผลักดันการรู้เท่าทันสื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา จัดเตรียมทรัพยากรด้านข้อมูลหรืออื่นใด สนับสนุนการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อและการสื่อสารของไทยในเชิงลึกและองค์ความรู้เกี่ยวกับการชี้วัดระดับการรู้เท่าทันสื่อ เป็นแหล่งทุนเพื่อการสร้างสังคม “รู้เท่าทันสื่อ” ให้แก่เด็ก เยาวชนและครอบครัวเป็นสำคัญ พร้อมทั้งมีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวังสื่อที่คำนึงถึงการตรวจสอบแบบกัลยาณมิตร สร้างฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรม ทำงานเชิงประเด็นและมีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย สร้างพลเมืองที่ไหวรู้ต่อการเฝ้าระวัง ทำงานแบบเครือข่ายเข้มแข็ง และเคลื่อนไหวผ่านสื่อสารสาธารณะ ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับศูนย์คุณธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตสื่อควรเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการผลิตและสร้างสรรค์สื่อที่มีเนื้อหาเป็นการส่งเสริม ปลุกจิตสำนึกด้านคุณธรรมเผยแพร่ให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับรู้และเลือกชมสื่อที่ดี
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนของบุคคล หน่วยงาน องค์กร กลุ่มคน ชมรม สื่อมวลชน หรือประชาชนทั่วไปสามารถเสนอชื่อผลงาน ที่ตามหลักเกณฑ์และแบบฟอร์มที่กำหนด พร้อมระบุบุคคลหรือหน่วยงาน ที่อยู่ของผู้ที่เสนอเพื่อให้ติดต่อกลับได้ คณะทำงานคัดเลือกสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ด ปี 2563 จะได้สามารถค้นหา และเสนอชื่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ได้ซึ่งผลงานที่เสนอชื่อและได้รับการคัดเลือกต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของผลงาน
โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกแต่ละประเภทจะได้รับการยกย่องจาก ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม และได้รับโล่เกียรติคุณ พร้อมรวบรวมเรื่องราวจัดทำเป็นสื่อ เพื่อการเผยแพร่ขยายผลต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ และยังมีการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้วยการประสานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลนั้น เพื่อรับทราบต่อไป
เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 15 มิถุนายน 2564 สามารถส่งผลงาน หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่กำหนดเข้าร่วมโครงการและสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) www.moralcenter.or.th โทรศัพท์ 02 644 9900 รวมทั้ง เว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ www.thaimediafund .or.th กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานความร่วมมืออื่น ๆ
ความเห็นล่าสุด