เมื่อรายการเด็กหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ !!! สังคมควรทำอย่างไร ?
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำรวจผังทีวีดิจิทัลทุกช่องในเดือนมีนาคม 67 ไม่พบรายการประเภท ป และ ด แต่พบรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก โดยรวมทุกช่อง 5,668 นาที/สัปดาห์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.68 ต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจเดือน ม.ค. ปี 66 ที่ร้อยละ 1.5 ต่อสัปดาห์
วัตถุประสงค์
- เพื่อสำรวจสัดส่วนรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย (3-5 ปี) หรือประเภท ป และสำหรับเด็กวัยเรียน (6-12 ปี) หรือประเภท ด จากผังรายการทีวีดิจิทัลเดือนมีนาคม 67 ของ 21 ช่อง
- เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอต่อปัญหารายการเด็กหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์
วิธีการ
สำรวจผังรายการทีวีดิจิทัล 21 สถานี ของเดือนมีนาคม 2567 ในช่วง 1 สัปดาห์ คือ ระหว่างวันที่ 18-24มีนาคม 67
เกณฑ์การสำรวจ
- เกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของรายการ*
รายการสำหรับเด็กปฐมวัย (ป) หมายถึง รายการที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ชมวัย 3-5 ปี
รายการสำหรับเด็ก (ด) หมายถึง รายการที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ชมวัย 6-12 ปี
รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย (ท) หมายถึง รายการทั่วไป สามารถรับชมได้ทุกวัย
*อ้างอิงจากภาคผนวก ก ในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ 2556
- เกณฑ์การพิจารณารายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กทั้งระดับ ป และ ด ในการศึกษาครั้งนี้* คือ รายการ ทั้งที่แสดงหรือไม่แสดงระดับความเหมาะสม หรือแสดงเป็น ท ที่มีลักษณะสำคัญ 5 ประการ ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ หรือทุกข้อ ดังนี้
1) มีชื่อรายการที่สื่อถึงเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เช่น จิ๋วซ่านักประดิษฐ์ เป็นต้น
2) มีเรื่องย่อ คำอธิบายรายการ หรือเนื้อหาที่ระบุถึง หรือมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก
3) มีตัวละคร ผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการหลักที่เป็นเด็ก หรืออาจเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และมีการสื่อสารที่มุ่งถึงกลุ่มเด็ก
4) มีรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายเด็ก เช่น การ์ตูน อนิเมชั่น หุ่นเชิด เป็นต้น
5) ผู้สนับสนุนรายการหลักเป็นสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หรือมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มนม ของเล่น ฯลฯ
*พัฒนาจากการศึกษาเรื่อง “รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก” โดยมีเดียมอนิเตอร์ (มกราคม 2549) และ จากการสำรวจรายการที่เป็นหน่วยศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้
- ช่วงเวลารายการสำหรับเด็ก หมายถึง ช่วงเวลา 16.00 – 18.00 น. ของทุกวัน และช่วงเวลา 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
รายการสำหรับเด็กที่พบ ในภาพรวม
– ไม่พบการระบุระดับความเหมาะสมประเภท ด และ ป ในผังรายการทีวีดิจิทัล มีนาคม 2567 ทั้ง 21 ช่องที่สำรวจ
– พบรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กตามเกณฑ์ที่กำหนด* จำนวน 81 รายการ รวม 5,668 นาที/สัปดาห์ หรือมีสัดส่วนเวลาออกอากาศรวมจากทุกสถานีที่ศึกษา ที่ประมาณร้อยละ 2.68 ต่อสัปดาห์ โดยในจำนวน 81 รายการ แบ่งเป็น 1) รายการที่ไม่ระบุระดับ จำนวน 62 รายการ (2,765 นาที/สัปดาห์ หรือประมาณร้อยละ 1.31) โดยส่วนใหญ่เป็นรายการจากช่อง ALTV จำนวน 51 รายการ และช่องบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น โทรทัศน์รัฐสภา เป็นต้น 2) รายการที่ระบุระดับ ท จำนวน 19 รายการ (2,903 นาที/สัปดาห์ หรือประมาณร้อยละ 1.37) โดยส่วนใหญ่เป็นรายการจากช่องบริการธุรกิจเกือบทุกช่องที่สำรวจพบ และพบบ้างในช่องบริการสาธารณะ เช่น NBT, ททบ. 5 และโทรทัศน์รัฐสภา
– จากรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กตามเกณฑ์ที่กำหนด* จำนวน 81 รายการ พบว่า เป็นรายการที่ออกอากาศในช่วงเวลาสำหรับเด็ก หรือระหว่างช่วง 16.00 – 18.00 น. ของทุกวัน และช่วง 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมจำนวน 45 รายการ แบ่งเป็น 1) รายการที่ออกอากาศช่วง 16.00 – 18.00 น. ของทุกวัน จำนวน 18 รายการ 2) รายการที่ออกอากาศช่วง 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จำนวน 21 รายการ และ 3) รายการที่ออกอากาศทั้งสองช่วง จำนวน 6 รายการ
เปรียบเทียบจำนวนรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กรายช่องและประเภทใบอนุญาต
– ช่องที่มีรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กตามเกณฑ์ที่กำหนดมากที่สุด คือ ALTV พบ 51 รายการ รองลงมาคือช่องโทรทัศน์รัฐสภา พบ 7 รายการ ช่อง True4U พบ 4 รายการ ช่อง NBT ช่อง MCOT HDพบช่องละ 3 รายการ ช่อง ททบ5 ช่อง 3HD ช่อง TNN24 พบช่องละ 2 รายการ ที่เหลือพบว่ามีช่องละ 1 รายการ ในขณะที่ช่อง Amarin TV ช่อง PPTV HD ช่อง 8 ช่อง Nation และช่อง JKN18 ไม่พบว่ามีรายการที่มีเนื้อหาตามเกณฑ์ที่กำหนด
– เมื่อจำแนกทีวีดิจิทัลตามประเภทใบอนุญาต พบว่า รายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กส่วนใหญ่พบในกลุ่มบริการสาธารณะ (พบ 65 รายการ) มากกว่ากลุ่มบริการธุรกิจ (พบ 16 รายการ) โดยในกลุ่มบริการสาธารณะ รายการส่วนใหญ่มาจากช่อง ALTV มากที่สุด คือ 51 รายการ ส่วนกลุ่มบริการธุรกิจ รายการส่วนใหญ่มาจากช่อง True4U คือ 4 รายการ
– แม้ผลสำรวจจะพบว่ารายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กจำนวนมากที่สุด พบในกลุ่มบริการสาธารณะ แต่ไม่ได้ความว่าเวลาออกอากาศโดยรวมของรายการสำหรับเด็กที่พบจะมากตามไปด้วย เพราะเมื่อเปรียบเทียบเวลาออกอากาศโดยรวมของรายการสำหรับเด็กในกลุ่มบริการสาธารณะจำนวน 65 รายการ กับเวลาออกอากาศโดยรวมของรายการสำหรับเด็กในกลุ่มบริการธุรกิจจำนวน 16 รายการ พบว่า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน (2,835 นาที และ 2,833 นาที ตามลำดับ) โดยพบรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ออกอากาศทางช่อง True4U ทุกวันในช่วงเวลา 01.30-02.30 น. และ 04.00-06.00 น. และออกอากาศทางช่อง TNN ทุกวัน ในช่วงเวลา 04.30-05.30 น. จึงทำให้ผลรวมเวลาออกอากาศรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กในกลุ่มบริการธุรกิจมีสัดส่วนเวลาใกล้เคียงกับกลุ่มบริการสาธารณะ แม้จะมีจำนวนรายการน้อยกว่า
เปรียบเทียบผลการสำรวจเดือน ม.ค. 66 และเดือน มี.ค. 67
– พบว่ารายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก (ป และ ด) ตามเกณฑ์ที่กำหนด มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 57 รายการในช่วง ม.ค. ปี 66 เป็น 81 รายการในช่วง มี.ค. ปี 67 และมีสัดส่วนเวลาออกอากาศโดยรวมเพิ่มขึ้น จาก 1.5% ต่อสัปดาห์ เป็น 2.68% สัปดาห์
– พบว่าแต่ละช่องมีจำนวนรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กตามเกณฑ์ที่กำหนด แตกต่างจากผลการสำรวจเดือน ม.ค. ปี 66 โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ
(1) กลุ่มที่มีจำนวนรายการเพิ่มขึ้น ได้แก่ ALTV, NBT, ททบ.5, TNN24, True4U, MCOT HD และ 3HD
(2) กลุ่มที่มีจำนวนรายการเท่าเดิม ได้แก่ ThaiPBS, โทรทัศน์รัฐสภา, T-Sports, Workpoint, Mono29, Thairath TV และ 7HD
(3) กลุ่มที่มีจำนวนรายการลดลง ได้แก่ GMM25 (จาก 2 เหลือ 1 รายการ) และ One (จาก 1 เหลือ 0 รายการ)
(4) กลุ่มที่ไม่พบจากผลการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ JKN18, Nation, 8, Amarin TV และ PPTV HD
– พบว่า รายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนใหญ่มักเป็นรายการที่พบจากการสำรวจในเดือน ม.ค. 66 ตัวอย่างเช่น รายการทุ่งแสงตะวัน (ช่อง 3 HD) รายการ 9 การ์ตูน (ช่อง MCOT HD) รายการการ์ตูนสัมมาทิฐิ ทะลุมิติมายา (ช่อง NBT และ T-Sports) เป็นต้น โดยพบรายการที่แตกต่างจากผลการสำรวจผังรายการในเดือน ม.ค. 66 จำนวน 36 รายการ จำนวนนี้เป็นรายการจากช่อง ALTV (24 รายการ) ช่อง NBT (2 รายการ) ททบ.5 (2 รายการ) TNN24 (2 รายการ) True4U (2 รายการ) MCOT HD (2 รายการ) Thairath TV (1 รายการ) และ 3 HD (1 รายการ)
เด็ก คือทรัพยากรและกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองในมิติของการดูแล ปกป้อง ส่งเสริม พัฒนา ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ตามหลักการสากลด้านสิทธิเด็ก รวมทั้งหลักมนุษยธรรมสำหรับผู้เยาว์วัย สถาบันสำคัญในการดูแลและพัฒนาเด็ก คือ ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา สถาบันต่าง ๆ ทางสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน
ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงมีประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ 2556 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้คลื่นความถี่ต้องจัดให้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคมหรือรายการสําหรับเด็กและเยาวชน อย่างน้อยวันละหกสิบนาที ระหว่างช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวัน และระหว่างช่วงเวลา 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
รวมถึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 และการจัดตั้งกองทุน ด้วยเหตุเพราะสื่อในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ในขณะที่สื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อย เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ จึงจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย (3-5 ปี) หรือประเภท ป และเด็กวัยเรียน (6-12 ปี) หรือประเภท ด รวมถึงรายการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก จากทีวีดิจิทัลทั้ง 21 ช่อง ในเดือนมกราคม 66 และ มีนาคม 67 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์เกี่ยวกับรายการเด็กในทีวีดิจิทัลไทย ดังนี้
(1) แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมรายการประเภท ป และ ด นั้น เป็นระเบียบที่ไม่มีการบังคับใช้หรือถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เห็นได้จากการสำรวจที่พบรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่าย ด หรือ ป แต่ไม่ระบุระดับความเหมาะสม ในช่อง ALTV, ไทยพีบีเอส และช่องอื่น ๆ อีก รวมถึงการจัดให้เป็นรายการประเภท ท สะท้อนการไม่ให้ความสำคัญกับการจัดและแจ้งระดับความเหมาะสมของเนื้อหา ทั้งมีความแตกต่างในการจัดระดับความเหมาะสมเนื้อหาของแต่ละช่อง รวมถึงมาตรการในการกำกับดูแลอย่างแข็งขันของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่
(2) จำนวนรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็กที่การสำรวจผังเมื่อมีนาคม 67 พบเพียง 81 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วนเวลาการออกอากาศเพียงร้อยละ 2.68 ของผังรายการทั้งหมด 21 ช่อง สะท้อนให้เห็นว่า ในภาพรวม ทีวีดิจิทัลไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับรายการที่มีเนื้อหาสำหรับเด็ก แม้จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลการสำรวจในเดือน ม.ค. ปี 66 แต่ในภาพรวมสะท้อนว่าทีวีดิจิทัลไทยไม่ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาสำหรับเด็ก เท่าที่ควร
(3) จำนวนรายการที่เข้าข่ายรายการสำหรับเด็ก ที่พบใน ALTV มากถึง 51 รายการ จากทั้งหมด 81 รายการ สะท้อนว่า ALTV คือช่องทีวีดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเด็กมากกว่าทุกช่อง เนื่องจากเป็นผู้รับใบอนุญาตกลุ่มบริการสาธารณะ ประเภทช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เหลืออยู่เพียงช่องเดียว จากเดิมที่ กสทช. เคยออกใบอนุญาตประเภทช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว ให้กับกลุ่มบริการธุรกิจจำนวน 3 แห่ง คือ 1) บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3 Family ช่อง 13 2) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT Family ช่อง 14 3) บริษัท ไทยทีวี จำกัด ช่อง LOCA ที่ต่อมามีการขอคืนใบอนุญาตทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดให้มีใบอนุญาตประเภทช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวสำหรับทีวีดิจิทัลกลุ่มบริการธุรกิจนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ยังสะท้อนการไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก
(4) แม้ปัจจุบันกฎหมายจะไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของรายการสำหรับเด็กในระดับ ป และ ด แต่ก็ไม่ควรผลักภาระให้ ALTV เป็นช่องที่มีการผลิตและออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กเพียงช่องเดียว เพราะผู้รับใบอนุญาตทุกรายต่างก็ใช้คลื่นซึ่งเป็นทรัพยากรการสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
จากสถานการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอหลัก เพื่อการกำกับดูแล พัฒนา และส่งเสริมให้เกิดรายการสำหรับเด็กในทีวีดิจิทัลของไทย ที่มีความสมดุล ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ดังนี้
(1) ควรมีการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ เกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมรายการจากหน่วยงานกำกับดูแล โดยมีการกำหนดนิยามและลักษณะสำคัญของรายการสำหรับเด็กที่แยกขาดจากกลุ่มรายการประเภทอื่น ๆ โดยไม่รวมถึงรายการสำหรับเยาวชน ครอบครัว หรือรายการประเภทสร้างสรรค์สังคมอื่น ๆ รวมถึงควรนิยามรายการสำหรับเด็ก คือ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ควรได้สิทธิ์ในการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต สอดคล้องกับการที่ผู้ให้บริการเนื้อหาในระดับสากลหรือระหว่างประเทศ กำหนดให้วัย 18+ เป็นวัยผู้ใหญ่
(2) จากประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการฯ ของ กสทช. ที่กำหนดให้ทีวีดิจิทัลต้องมีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม หรือรายการสำหรับเด็กและเยาวชนในระดับ ป, ด หรือ ท อย่างน้อยวันละ 60 นาที ในช่วง 16.00 – 18.00 น. ของทุกวัน และช่วง 07.00 – 09.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า รายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายรายการสำหรับเด็กที่พบเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่ได้ออกอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งการกำหนดให้เป็นรายการสำหรับเด็กและเยาวชน หรือมีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถจัดผังออกอากาศรายการได้อย่างกว้างในช่วงวัยและเนื้อหา แทนที่รายการที่ออกแบบเฉพาะสำหรับเด็ก
ดังนั้น จึงควรมีการปรับแก้กฎหมาย และระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดว่ารายการสำหรับเด็กคือสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และควมีนโยบายที่มุ่งส่งเสริมให้ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องมีรายการสำหรับเด็กอย่างน้อย 1 รายการ ใน 1 สัปดาห์ ในความยาวตามสมควร ที่โดดเด่นเป็น Flagship ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์
(3) ALTV ซึ่งแม้จะเป็นผู้รับใบอนุญาตบริการสาธารณะ ประเภทช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ควรกำหนดบทบาทเป็นโทรทัศน์แห่งชาติสำหรับเด็ก เพื่อระดมองค์ความรู้ ประสบการณ์ เนื้อหา จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรด้านการพัฒนา ฯลฯ ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดรายการต้นแบบสำหรับเด็กที่มีคุณภาพในทีวีดิจิทัลไทย
(4) ควรยกระดับปัญหา การมีรายการสำหรับเด็กทางโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดิน ให้เป็นสิทธิในการเข้าถึงเนื้อหารายการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตที่จำเป็นสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นช่วงปฐมวัย (3-5 ปี) หรือประเภท ป และสำหรับเด็กวัยเรียน (6-12 ปี) หรือประเภท ด ที่มีการระบุถึงในประกาศของ กสทช. อยู่แล้ว รวมถึงกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ซึ่งยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนในประกาศ ทั้งนี้ เพื่อหน่วยงานให้ใบอนุญาตและกำกับดูแล เช่น กสทช. สามารถกำหนดมาตรการในการกับดูแล และการสร้างแรงจูงใจ รวมถึงกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อส่งเสริมรายการสำหรับเด็กที่มีคุณภาพร่วมกับหน่วยงานด้านการส่งเสริม เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต
ความเห็นล่าสุด