ลอยกระทงเป็นประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอขมา
พระแม่คงคา บูชารอยพระพุทธบาท วันลอยกระทงจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามจันทรคติ ซึ่งปีนี้คือวันที่
27 พฤศจิกายน 2566
จากงานการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดย Media Alert
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจประเด็นวันลอยกระทง สูงสุดเป็นอันดับ 1 แทนที่กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ที่ครองอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับงานการศึกษาครั้งนี้ จะวิเคราะห์การสื่อสารทางออนไลน์ในประเด็นวันลอยกระทง 66 ในเชิงเนื้อหา ผู้สื่อสาร และ แพลตฟอร์ม ที่ได้รับความสนใจหรือที่มียอด Engagement สูงสุด
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT ใช้เครื่องมือ ZocialEye รวบรวม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันลอยกระทง 2566 ใน 5 แพลตฟอร์มได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram
4) YouTube และ 5) TikTok ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า ประเด็นวันลอยกระทง 66 ได้รับความสนใจ
จากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากถึง 85.41 ล้าน Engagement โดยส่วนใหญ่มาจาก TikTok 54.12 ล้าน Engagement ตามด้วย Facebook 16.14 ล้าน Engagement, Instagram 11.19 ล้าน Engagement, X 3.38 ล้าน Engagement และ YouTube 5.8 แสน Engagement
ด้านผู้สื่อสาร พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป 45.51 ล้าน Engagement ตามด้วย
ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 34.86 ล้าน Engagement, สื่อ สำนักข่าวประมาณ 4.06 ล้าน Engagement และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง รวม 9.7 แสน Engagement
เมื่อวิเคราะห์ในเนื้อหาการสื่อสาร สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มประเด็น ดังนี้
- การสื่อสารในโอกาสวันลอยกระทง มี Engagement สูงสุดที่ 84,430,795 Engagement เป็นโพสต์แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์งานวันลอยกระทงในสถานที่ต่างๆ การอวยพรเนื่องในโอกาสวันลอยกระทง
- เสนอให้ลด(ปรับ)-เลิก การลอยกระทง ที่ 969,002 Engagement เป็นการรณรงค์ให้ลด(ปรับ)–เลิกการลอยกระทง การนำเสนอผลกระทบของการลอยกระทง
- สนับสนุนให้คงมีแต่ปรับการลอยกระทง ที่ 6,512 Engagement เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่อยากให้ยกเลิกวันลอยกระทง แต่ควรมีการปรับเปลี่ยน สนับสนุนให้มีการลอยกระทงต่อไป มีความกังวลว่าถ้ายกเลิกการลอยกระทงแล้วเทศกาลลอยกระทงจะสูญหายไป
การสื่อสารในโอกาสวันลอยกระทง
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 66 ประเด็นวันลอยกระทงได้รับการกล่าวถึงอย่างมากทางสื่อสังคมออนไลน์ ในจำนวนถึง 85.41 ล้าน Engagement โดยเกือบทั้งหมดเป็นเนื้อหาในกลุ่มประเด็นการสื่อสารในโอกาสวันลอยกระทง ซึ่งมียอด Engagement ที่ 84,430,795 หรือคิดเป็นสัดส่วนคือร้อยละ 98.86
ในกลุ่มประเด็นการสื่อสารในโอกาสวันลอยกระทง เนื้อหาร้อยละ 91.48 เป็นการโพสต์แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ในงานวันลอยกระทง ข่าวการลอยกระทงในสถานที่ต่าง ๆ ภาพการเข้าร่วมงานวันลอยกระทง แชร์ภาพการทำกระทงจากวัสดุต่าง ๆ เป็นต้น
ที่เหลือคือร้อยละ 8.52% เป็นการโพสต์อวยพรเนื่องในโอกาสวันลอยกระทง โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น แพท ณประภา ตันตระกูล, อแมนด้า ออบดัม และ บุค กษิดิศ เป็นต้น
แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ TikTok (63.88%) รองลงมาได้แก่ Facebook (18.54%), Instagram (13.07%), X (3.83%) และ YouTube (0.68%) โดยส่วนใหญ่มาจาก ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (53.53%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (40.88%) สื่อ สำนักข่าว (4.44%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมือง (1.15%)
เสนอให้ ลด(ปรับ) – เลิก การลอยกระทง
การเสนอให้ลด(ปรับ) – เลิกการลอยกระทง มีจำนวน Engagement ที่ 969,002 หรือ สัดส่วนเพียงร้อยละ 1.1 ของเนื้อหาในประเด็นวันลอยกระทง 66 ส่วนใหญ่มาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสื่อ สำนักข่าว ทำให้ประเด็นการเสนอให้ลด(ปรับ) – เลิกการลอยกระทง ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสในช่วงเวลาดังกล่าว โดยสัดส่วนเนื้อหาร้อยละ 90.71 เป็นการเสนอให้ยกเลิกการลอยกระทง ด้วยการปรับเปลี่ยนที่เริ่มจากยกเลิกการลอยกระทงในพื้นที่เปิดอย่างทะเลหรือแม่น้ำ เป็นการลอยกระทงในพื้นที่ปิด เพื่อให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น ที่เหลือร้อยละ 9.29 เป็นการกล่าวถึงผลกระทบจากการลอยกระทง เช่น ผลการชันสูตรซากสัตว์ทะเลที่พบหมุด ตะปู จากกระทง น้ำเน่าจากกระทงขนมปัง เหตุเพลิงไหม้ที่จังหวัดเชียงใหม่จากโคมลอย การประกาศยกเลิกเที่ยวบินที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง 101 ไฟล์ท เพื่อป้องกันอันตรายจากโคมลอย เป็นต้น
ด้านแพลตฟอร์มการสื่อสาร พบการสื่อสารที่สนับสนุนข้อเสนอให้ ลด(ปรับ) – เลิกการลอยกระทง ส่วนใหญ่มาจาก TikTok (49.78%) รองลงมาได้แก่ Facebook (18.48%), Instagram (15.77%), YouTube (15.13%) และ X (0.84%) ส่วนผู้สื่อสาร ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (35.60%) ตามด้วย สื่อ สำนักข่าว (32.17%) ผู้ใช้งานทั่วไป (32.08%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง (0.15%)
สนับสนุนให้คงมีแต่ปรับการลอยกระทง
การสนับสนุนให้คงมีวันลอยกระทงแต่ปรับการลอยกระทง มียอด Engagement ที่ 6,512 หรือมีสัดส่วนเพียง 0.01% ของ Engagement ทั้งหมดในประเด็นวันลอยกระทง ความเห็นในกลุ่มประเด็นการสนับสนุนให้คงมีวันลอยกระทงแต่ปรับการลอยกระทง เกือบทั้งหมด คือ 99.43% ไม่อยากให้ยกเลิกวันลอยกระทง แต่ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ และมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน เช่น การลอยกระทงในสถานที่ปิด ไม่ลอยกระทงในแม่น้ำ ทะเล
ที่ทำให้การจัดการขยะจากกระทงทำได้อย่างยากลำบาก คงการลอยกระทงแต่ลดจำนวนกระทงลงเป็น 2 คนต่อ
1 กระทง หรือ ครอบครัวละ 1 กระทง รวมไปถึงข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนพนักงานทำความสะอาดในวันลอยกระทง
เพื่อให้สามารถจัดเก็บขยะจากกระทงได้รวดเร็ว ก่อนที่จะสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนความเห็นที่สนับสนุนให้สืบสานการลอยกระทงต่อไป มีสัดส่วน 0.52% ด้วยเหตุผลว่าสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และขยะจากกระทงไม่น่าจะสร้างปัญหามากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขยะจากครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
นอกนั้นเป็นความกังวลว่าเทศกาลลอยกระทงจะสูญหาย ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.05% ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ ต้องการให้คงมีการลอยกระทง และเห็นว่าเป็นปัญหาที่ตัวบุคคลมากกว่าประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน นอกจากนี้ยังตำหนิการเสนอให้ยกเลิกวันลอยกระทงว่าเป็นการไม่สืบสานประเพณีไทย จนกังวลว่าประเพณีวันลอยกระทงจะสูญหายได้ในอนาคต
กลุ่มประเด็นสนับสนุนให้คงมีการลอยกระทง ส่วนใหญ่มาจาก TikTok (98.37%) รองลงมาได้แก่ Facebook (0.71%), Instagram (0.45%), X (0.31%) และ YouTube (0.17%) ด้านผู้สื่อสาร ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้งานทั่วไป (72.71%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (26.41%) และ สื่อสำนักข่าว (0.88%)
สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในประเด็นวันลอยกระทง สูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วย Engagement สูงถึง 85,408,502 Engagement โดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ใน
5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา พบอันดับความนิยม คือ TikTok (63.37%) รองลงมาได้แก่ Facebook (18.90%), Instagram (13.10%), X (3.95%) และ YouTube (0.68%) ด้านผู้สื่อสาร พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้งานทั่วไป (53.29%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (40.82%) สื่อสำนักข่าว (4.76%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง (1.13%)
ด้านเนื้อหาการสื่อสาร
เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาการสื่อสาร จัดจำแนกได้ 3 กลุ่มประเด็น คือ
- การสื่อสารในโอกาสวันลอยกระทง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข้อมูล ประสบการณ์ ในงานวันลอยกระทง รองลงมาเป็น การอวยพรเนื่องในวันลอยกระทง
- เสนอให้ลด(ปรับ) – เลิกการลอยกระทง ในกลุ่มประเด็นนี้ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement สูงสุดคือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่พบมากที่สุดคือ TikTok เนื้อหาส่วนใหญ่เสนอให้ยกเลิกการลอยกระทง
โดยเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนจากการลอยกระทงในพื้นที่เปิดอย่างทะเลหรือแม่น้ำ เป็นการลอยในพื้นที่ปิด เพื่อให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น รองลงมาเป็นการกล่าวถึงผลกระทบของการลอยกระทงต่อสัตว์น้ำ ต่อสิ่งแวดล้อม - สนับสนุนให้คงมีแต่ปรับการลอยกระทง ในกลุ่มประเด็นนี้ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement สูงสุดคือผู้ใช้งานทั่วไป แพลตฟอร์มที่พบมากที่สุดคือ TikTok เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่อยากให้ยกเลิกแต่ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการลอยกระทงในสถานที่ปิด ไม่ลอยกระทงในแม่น้ำ ทะเล ที่ทำให้การจัดการขยะกระทงทำได้อย่างยากลำบาก สนับสนุนให้มีการลอยกระทงแต่ลดจำนวนกระทงลงเป็น 2 คนต่อ 1 กระทง หรือ ครอบครัวละ 1 กระทง รวมไปถึงข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนพนักงานทำความสะอาดในวันลอยกระทง เพื่อให้สามารถจัดเก็บได้อย่างรวดเร็วก่อนจะทำลายสิ่งแวดล้อม รองลงมาเป็นการสนับสนุนให้มีการลอยกระทงต่อไปเนื่องจากสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ความกังวลว่าประเพณีลอยกระทงจะสูญหายไปหากมีการยกเลิกวันลอยกระทง
ด้านผู้สื่อสาร
ผู้สื่อสารหลักในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นวันลอยกระทง คือ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป อาจเพราะเนื้อหา ความสนุกสนาน ความรื่นเริงในเทศกาล ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้สื่อสารหลักมากกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย แต่เมื่อเป็นประเด็นที่มีความจริงจัง เช่น ข้อเสนอให้ยกเลิกการลอยกระทง กลุ่มผู้สื่อสารหลักจะเปลี่ยนไปเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์, สื่อ สำนักข่าว ขณะที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปจะมีส่วนร่วมในการเพิ่มจำนวน Engagement จากการ
เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง มากกว่าการออกมาโพสต์ มารณรงค์เอง
ด้านแพลตฟอร์ม
TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด เนื่องจากรูปแบบที่ใช้ในการสื่อสาร
เป็นวิดีโอสั้น กระชับ ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์บรรยากาศงานวันลอยกระทง รูปกระทง
รูปตนเอง ทำให้โดยภาพรวม TikTok สามารถสร้าง Engagement ได้มากถึง 63.37% หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ Engagement ที่เกี่ยวข้องกับวันลอยกระทง แซงหน้าอันดับ 2 อย่าง Facebook ที่มี Engagement เพียง 18.90% ของ Engagement ทั้งหมด
บทวิเคราะห์
ข้อค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ ทำให้เห็นจุดร่วมของกลุ่มที่ต้องการยกเลิกการลอยกระทง และ กลุ่มที่ต้องการ
ให้สืบทอดวันลอยกระทง คือ การเสนอให้ลอยกระทงในสถานที่ปิด เพื่อให้สามารถจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นจากกระทงได้ ข้อเสนอนี้นับเป็นการต่อยอดจากงานการศึกษาของ Media Alert ร่วมกับ WISESIGHT ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในประเด็นข้อเสนอในวันลอยกระทง ที่มีการรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ แทนการใช้โฟมในการทำกระทง การลอยกระทงออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงในการ
แพร่ระบาดของ Covid 19 แต่การศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ประเด็นวันลอยกระทง โดย Media Alert กับ WISESIGHT ในปี 2566 กลับพบการสื่อสารว่า กระทงจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เช่น กรณีการชันสูตรพบหมุดตะปูจากกระทงใบตองในซากสัตว์ทะเล กระทงขนมปังทำให้
น้ำเน่าเสีย เป็นต้น
การลอยกระทงในสถานที่ปิด เป็นข้อเสนอทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2566 ทั้งจากกลุ่มคนที่ต้องการให้ลด (ปรับ)- เลิกวันลอยกระทง และจากกลุ่มคนที่สนับสนุนให้คงมีวันลอยกระทง แต่ให้มีการปรับเปลี่ยน ข้อเสนอของทั้ง 2 กลุ่มนี้ แม้ว่าจะมียอด Engagement ไม่สูง เพราะ Engagement ส่วนใหญ่ คือ เกือบ 100% ในประเด็นวันลอยกระทง เป็นของผู้ที่โพสต์แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ในงานวันลอยกระทง แม้จะเป็นความเห็นและความสนใจในจำนวนที่น้อย แต่ก็เป็นการเปิดประเด็นต่อการปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติทางประเพณี ด้วยเป้าหมายเพื่อคุณภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ความเห็นล่าสุด