กระแสสังคมออนไลน์และจริยธรรมสื่อมวลชน เมื่อศาลตัดสินจำคุกลุงพล 20 ปี
11 พฤษภาคม 2563 สื่อเสนอข่าวการหายตัวอย่างลึกลับของน้องชมพู่เด็กหญิงอายุ 3 ปี จากบ้านกกกอก
อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ต่อมา วันที่ 14 พฤษภาคม พบศพน้องชมพู่ห่างจากบ้านไป 2 กิโลเมตร แม้ในการสืบคดีพบความเป็นไปได้ว่าน้องชมพู่อาจหลงขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟเอง แต่ตำรวจก็ไม่ตัดเรื่องฆาตกรรมออกไป แม้กระทั่งพ่อและแม่น้องชมพู่ก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อตำรวจขยายการสอบปากคำคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จนมาถึงลุงพล นายไชย์พล วิภา ซึ่งเป็นสามีของป้าแต๋น สมพร หลาบโพธิ์ พี่สาวแท้ ๆ ของแม่น้องชมพู่ ลุงพลกับน้องชมพู่สนิทกันมาก ขนาดลุงพลเคยเอ่ยปากจะรับเลี้ยงน้องชมพู่ หากในอนาคตพ่อแม่ไม่เลี้ยงน้องชมพู่แล้ว
หลังพบศพน้องชมพู่ ประมาณ 2 เดือน ผลการชันสูตรระบุว่าน้องชมพู่เสียชีวิตเพราะขาดอาหารและน้ำ ไม่มีร่องรอยการข่มขืน ฆาตกรรม เท่ากับว่าสาเหตุการตายของน้องชมพู่เป็นไปได้สองทาง คือ มีคนจับน้องชมพู่มาปล่อยกลางป่า หรือน้องพลัดหลงในป่าก่อนจะเสียชีวิตเพราะขาดอาหารและน้ำ จากพยานหลักฐานในขั้นต้น ลุงพลอาจเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย แต่มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่เชื่อว่าลุงพลเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ถูกกลั่นแกล้ง หลังจากนั้น การสนับสนุน ช่วยเหลือลุงพลและป้าแต๋นในรูปแบบต่าง ๆ ก็หลั่งไหลมาจากทั่วประเทศ รวมถึงมีกระแส #Saveลุงพล บนสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงเวลานั้น สื่อต่าง ๆ รวมทั้งยูทูบเบอร์ มุ่งความสนใจไปยังบ้านกกกอก มีบางสื่อส่งผู้สื่อข่าวไปประจำทำข่าวจากแหล่งข่าวในชุมชน ลุงพล ป้าแต๋น เป็นกระแสทางสังคมมากขึ้น ลุงพลเปิด YouTube Channel เสนอคลิปวิถีชีวิตทั่วไป เช่น คลิปทานข้าว ขับรถ ก็มียอดรับชมเป็นหลักแสนหรือล้านในบางคลิป
จนต่อมา มีมิวสิควิดีโอ งานโชว์ตัว เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา ฯลฯ
แม้กระแสลุงพลจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ในแง่ของคดีก็ยังคงดำเนินต่อไป ในช่วงปี 2564 ตำรวจออกหมายจับลุงพลทำให้กระแสเริ่มเงียบไป จนกระทั่ง 20 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดมุกดาหารพิพากษาจำคุกลุงพล 20 ปี ในข้อหากระทำโดยประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา
โดยปราศจากเหตุอันสมควร
กระแสลุงพลฟีเวอร์เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คือ ขณะที่ลุงพลตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ แต่สื่อและสังคมกลับให้ความสนใจลุงพลประหนึ่งเป็นคนดังด้านความบันเทิง โดยเฉพาะสื่อที่ให้พื้นที่กับลุงพลอย่างต่อเนื่อง จนสังคมและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายคน ตกอยู่ในวังวนของเนื้อหาที่นำเสนอวิถีชีวิตของลุงพล ป้าแต๋น จนเมื่อศาลพิพากษาจำคุกลุงพล 20 ปี ทำให้จริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อ ถูกนำกลับมาเป็นประเด็นทางสังคมอีกครั้งจากสื่อที่ให้พื้นที่ลุงพลในฐานะคนดัง มากกว่าผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรม
จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนธันวาคม 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ ให้ความสนใจในประเด็นลุงพลถูกตัดสิน
จำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ เป็นอันดับ 4 จาก 10 อันดับ สำหรับการศึกษาครั้งนี้ จะวิเคราะห์ความเห็นของสังคมออนไลน์ทั้งในด้านเนื้อหา ผู้สื่อสาร และ แพลตฟอร์ม ที่ได้รับความสนใจหรือยอด Engagement สูงสุด ในประเด็นเกี่ยวกับลุงพลทั้งด้านคดีความและแง่มุมอื่น ๆ กับความสนใจต่อประเด็นจริยธรรมของสื่อ เมื่อศาลตัดสินจำคุก
ลุงพล 20 ปี จากคดีน้องชมพู่
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT ใช้เครื่องมือ ZocialEye
รวบรวม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ลุงพลถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปีในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่
ใน 5 แพลตฟอร์มได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok ตลอดเดือนธันวาคม 2566 พบว่า ประเด็นลุงพลถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากถึง 20.46 ล้าน Engagement โดยส่วนใหญ่มาจาก Facebook 11.49 ล้าน Engagement ตามด้วย TikTok 4.7 ล้าน Engagement, YouTube 2.53 ล้าน Engagement, X 1.18 ล้าน Engagement และ Instagram 5.74 แสน Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากสื่อ สำนักข่าว 13.02 ล้าน Engagement คิดเป็น 63.67% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 4.43 ล้าน Engagement (21.64%) ผู้ใช้งานทั่วไป 3.01 ล้าน Engagement (14.69%)
เมื่อวิเคราะห์ในเนื้อหาการสื่อสาร สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มประเด็น ดังนี้
1. ข่าวและความเห็นต่อผลการพิพากษาให้ลุงพลจำคุก 20 ปี มี Engagement สูงสุดที่ 12,039,329 Engagement คิดเป็น 58.85% ส่วนใหญ่เป็นโพสต์การวิเคราะห์เกี่ยวกับคดีลุงพล ข่าวสารเกี่ยวกับคดีลุงพล โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ สื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และ ผู้ใช้งานทั่วไปตามลำดับ
2. ข่าวและความเห็นต่อลุงพลและผู้เกี่ยวข้อง ที่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับคดีความโดยตรง เป็นการกล่าวถึงลุงพลในแง่มุมอื่น ๆ นอกจากคดีความ มี Engagement ที่ 8,258,352 Engagement คิดเป็น 40.37% ส่วนใหญ่เป็นโพสต์เกี่ยวกับ ลุงพล และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวถึงแต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความโดยตรง เช่น ลุงพลให้สัมภาษณ์ต่อสื่อประเด็นแยกทางกับยูทูบเบอร์รายหนึ่ง เนื่องจากไม่แบ่งรายได้ให้หลังจากช่องลุงพลถูกแบน, ปู่มหามุนีเอาพวงหรีดมาให้กำลังใจ แต่ต้องปะทะคารมกับแฟนคลับลุงพล, หมอปลาประกาศตัดความสัมพันธ์กับลุงพล เป็นต้น โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ สื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และ ผู้ใช้งานทั่วไปตามลำดับ
3. จริยธรรมของสื่อ มี Engagement ที่ 158,931 Engagement คิดเป็น 0.78% แบ่งเป็น 1) การตำหนิสื่อบางสำนักที่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงบันเทิงมากกว่าคดีฆาตกรรม 2) การวิเคราะห์จริยธรรมสื่อในกรณีลุงพล และ 3) ชื่นชมสื่อบางสำนักที่ไม่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงความบันเทิง โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป สื่อ สำนักข่าว และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ตามลำดับ
ข่าวและความเห็นต่อผลการพิพากษาให้ลุงพลจำคุก 20 ปี
ในช่วงเดือนธันวาคม 66 ประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ ในจำนวนถึง 20.46 ล้าน Engagement โดยส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงข่าวคำตัดสินคดีลุงพลซึ่งมียอด Engagement ที่ 12,039,329 หรือคิดเป็นสัดส่วนคือร้อยละ 58.85
ในการกล่าวถึงข่าวคำตัดสินคดีลุงพล ร้อยละ 78.71 เป็นโพสต์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากสำนักข่าว และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์
ที่เหลืออีกร้อยละ 21.29 เป็นการสรุปเหตุการณ์คดีน้องชมพู่ตั้งแต่ต้นจนถึงการตัดสินคดีความ และการวิเคราะห์คำตัดสินของศาล เช่น หลักฐานที่ทำให้ลุงพลต้องโทษจำคุก ท่าที่พิรุธของลุงพล สาเหตุที่ตำรวจเชื่อว่าลุงพลเป็นผู้ก่อเหตุ เป็นต้น
แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ Facebook (56.38%) รองลงมาได้แก่ TikTok (35.21%), YouTube (6.28%), X (1.67%) และ Instagram (0.46%) โดยส่วนใหญ่มาจาก สื่อ สำนักข่าว (55.78%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.23%) และ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (20.99%)
ข่าวและความเห็นต่อลุงพลและผู้เกี่ยวข้อง ที่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับคดีความโดยตรง
หลังจากคำพิพากษาตัดสินคดีลุงพลได้เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีการกล่าวถึงลุงพลและบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอีกครั้ง ใน Engagement โดยรวมที่ 8,258,352 หรือคิดเป็นร้อยละ 40.37 ในประเด็นข่าวและความเห็นต่อลุงพลและผู้เกี่ยวข้อง ที่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับคดีความโดยตรง ผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ ลุงพล ที่ร้อยละ 65.62 มาจากข่าวที่ลุงพลให้สัมภาษณ์สื่อว่าแตกหักกับยูทูบเบอร์รายหนึ่งเพราะไม่ยอมแบ่งรายได้ให้ หลังช่อง YouTube ของลุงพลถูกแบน
นายชัยรัตน์ ยอดพรม หรือ ปู่มหามุนี นำพวงหรีดมาให้กำลังใจลุงพล แต่โดนแฟนคลับลุงพลไม่พอใจจนปะทะคารมกัน (ร้อยละ 9.00)
พล.ต.ท เรวัช กลิ่นเกสร อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ยื่นฟ้องแฟนคลับลุงพล จากการไลฟ์สดหมิ่นประมาท (ร้อยละ 8.46)
หมอปลาปะทะคารมกับลุงพลและประกาศตัดความสัมพันธ์กับลุงพล (ร้อยละ 7.49)
อาจารย์ชัญญา ทำนายดวงชะตาลุงพลหลังจากประกันตัว พร้อมทำนายอนาคตของลุงพล (ร้อยละ 4.05)
ข่าวพ่อแม่กอดรูปน้องชมพู่ร้องไห้ดีใจและกล่าวว่าได้รับความยุติธรรม (ร้อยละ 3.40)
พ่อแบม ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการเป็นพยานปากสำคัญในการเอาผิดลุงพล (ร้อยละ 1.98)
แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ Facebook (63.36%) รองลงมาได้แก่ TikTok (28.81%),
X (4.23%) และ YouTube (3.60%), โดยส่วนใหญ่มาจาก สื่อ สำนักข่าว (65.69%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.68%) และ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (10.63%)
จริยธรรมของสื่อในกรณีลุงพล
ด้วยวิธีการปั่น ขยาย ขายข่าวของสื่อบางสำนัก ทำให้ลุงพลที่มีสถานะจากผู้ใกล้ชิดกับครอบครัวผู้ตาย กลายเป็น คนในข่าว คนในสื่อ คนดังในสื่อบันเทิงและในสื่อสังคมออนไลน์ แม้จะมีสถานะเป็นผู้ต้องสงสัย จนสุดท้ายเป็นผู้ต้องคำพิพากษา
ผลสำรวจการสื่อสารในโลกออนไลน์ในประเด็นจริยธรรมของสื่อในกรณีลุงพล มียอด Engagement 158,931 Engagement หรือคิดเป็นร้อยละ 0.78% ของ Engagement ทั้งหมด
แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ X (68.93%) รองลงมาได้แก่ Instagram (16.69%), Facebook (13.81%) และ YouTube (0.57%), โดยส่วนใหญ่มาจาก ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (68.65%) ตามด้วย
สื่อ สำนักข่าว (19.47%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (11.88%)
จากความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นจริยธรรมของสื่อในกรณีลุงพล พบว่า ร้อยละ 51.49 เป็นการตำหนิสื่อบางสำนักที่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงบันเทิงมากกว่าคดีฆาตกรรม จนทำให้เกิดความเบื่อหน่ายข่าวที่เกี่ยวข้องกับลุงพล และมองว่าข่าวลุงพลไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เมื่อศาลตัดสินว่าลุงพลกระทำผิดจริง ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จึงทวงถามหาความรับผิดชอบจากสื่อที่ปั่นกระแสลุงพล ให้แสดงความรับผิดชอบอย่างการออกมาขอโทษสังคม
ส่วนเนื้อหาการวิเคราะห์จริยธรรมสื่อ หลังจากลุงพลถูกศาลพิพากษาตัดสินให้จำคุก 20 ปี และการตั้งคำถาม
ต่อจริยธรรมสื่อ คิดเป็นร้อยละ 47.88 เช่น บทวิเคราะห์ ปรากฎการณ์ลุงพลฟีเวอร์ จาก The Standard, การวิเคราะห์สาเหตุที่ช่อง 7 ไม่ให้ความสนใจข่าวลุงพล แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มคนต่างจังหวัด, ข่าวอาจารย์อุ๋ย อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เรียกร้องไปยัง กสทช. ให้ใช้อำนาจกำกับดูแลสื่อให้มีจรรยาบรรณ เป็นต้น
สำหรับประเด็นการชื่นชมสื่อบางสำนักที่ไม่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงความบันเทิง คิดเป็นร้อยละ 0.63 ส่วนใหญ่เป็นการชื่นชมสื่อที่มีจริยธรรม นำเสนอข่าวลุงพลตามข้อเท็จจริง ไม่ปั่นกระแสเพื่อเรียก Engagement เช่น การชื่นชม กรุณา บัวคำสี ผู้จัดรายการของช่อง PPTV ที่ไม่นำเสนอข่าวลุงพล แม้ต้องแข่งขันเรตติ้งกับช่องอื่น
ในช่วงเวลาดังกล่าว, ชื่นชมนักข่าวจากช่อง Nation STORY ที่สัมภาษณ์ลุงพลอย่างไม่มีอคติ เป็นต้น
บทสรุป
จากการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ในเดือนธันวาคม 2566 ใน 5 แพลตฟอร์ม คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT พบว่า ประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ ได้รับความสนใจจากยอด Engagement เป็นอันดับ 4 จาก 10 อันดับ
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกในด้านเนื้อหา ผู้สื่อสาร และ แพลตฟอร์ม ที่ได้รับความสนใจหรือยอด Engagement สูงสุด
ในประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ ในด้านเนื้อหา พบว่า สัดส่วนสูงสุดถึง 58.85% เป็นเนื้อหาข่าวและความเห็นต่อผลการพิพากษาให้ลุงพลจำคุก 20 ปี ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นโพสต์ที่
นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากสำนักข่าว และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (78.71%) ส่วนอีก 21.29% เป็นความสนใจในโพสต์สรุปเหตุการณ์คดีน้องชมพู่ตั้งแต่ต้นจนถึงการตัดสินคดีความ และการวิเคราะห์คำตัดสินของศาล แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ Facebook (56.38%) ผู้สื่อสารที่สร้างความสนใจหรือยอด Engagement สูงเป็นอันดับแรก คือ สื่อ สำนักข่าว (55.78%) รองลงมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.23%) และ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (20.99%)
เนื้อหาที่ได้รับความสนใจรองลงมาในสัดส่วน 40.37% เป็นข่าวและความเห็นต่อลุงพลและผู้เกี่ยวข้องที่เนื้อหา
ไม่เกี่ยวกับคดีความโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นโพสต์เกี่ยวกับ ลุงพล และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวถึง เช่น ลุงพลให้สัมภาษณ์เรื่องความขัดแย้งกับยูทูบเบอร์ รายหนึ่งเรื่องการไม่แบ่งรายได้ให้, ปู่มหามุนีปะทะคารมกับแฟนคลับลุงพล, หมอปลาประกาศตัดความสัมพันธ์กับลุงพล เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มาจาก สื่อ สำนักข่าว (65.69%) ตามด้วย
ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.68%) ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (10.63%) แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ Facebook (63.36%) รองลงมาได้แก่ TikTok (28.81%), X (4.23%) และ YouTube (3.60%)
เนื้อหาที่ได้รับความสนใจในลำดับสุดท้าย และ ในสัดส่วนที่น้อยที่สุด (0.78%) คือ ความเห็นต่อสื่อมวลชน เช่น
การตำหนิสื่อบางสำนักที่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงบันเทิงมากกว่าคดีฆาตกรรม การวิเคราะห์จริยธรรมสื่อในกรณีลุงพล การชื่นชมสื่อบางสำนักที่ไม่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงความบันเทิง โดยส่วนใหญ่เป็นโพสต์ของ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (68.65%) สื่อ สำนักข่าว (19.47%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (11.88%) แพลตฟอร์ม
ที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ X (68.93%) รองลงมาได้แก่ Instagram (16.69%), Facebook (13.81%)
และ YouTube (0.57%)
บทวิเคราะห์
แม้เวลากว่า 3 ปี ของการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่จะมีความเห็น บทวิเคราะห์ จำนวนมาก ไหลเวียนทางสื่อหลัก สื่อออนไลน์ ในประเด็นการทำหน้าที่อย่างไม่เหมาะสมของบางสื่อมวลชน การสร้างรายได้จากการสื่อสารเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับลุงพล ป้าแต๋น ฯลฯ ของกลุ่มยูทูบเบอร์ รวมทั้งการสร้าง การปั่นกระแสลุงพลฟีเวอร์ โดยตัวลุงพลเอง และโดยบางสื่อ บางธุรกิจบันเทิง
การศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกในด้านเนื้อหา ผู้สื่อสาร และ แพลตฟอร์ม ที่ได้รับความสนใจหรือยอด Engagement สูงสุด ในประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ WISESIGHT ในครั้งนี้ มีทั้งส่วนที่ยืนยันความเห็น การวิเคราะห์ในแนวทางดังระบุข้างต้น กับส่วน
ที่ค้นพบความสนใจของคนในสังคมผ่านการสื่อสารทางออนไลน์ใน 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา ดังนี้
1. เรื่องราวเกี่ยวกับลุงพล ยังคงได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม ทั้งสื่อหลัก สื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกลุงพล 20 ปี ในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ โดยในสื่อสังคมออนไลน์
5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา เนื้อหาการสื่อสารที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ ข่าวและความเห็นต่อผลการพิพากษาจำคุกลุงพล 20 ปี กับการสรุปเหตุการณ์คดีน้องชมพู่ตั้งแต่ต้นจนถึงการตัดสินคดีความ และการวิเคราะห์คำตัดสิน
ของศาล โดยมีสื่อ และสำนักข่าว เป็นผู้สื่อสารที่สร้างความสนใจได้สูงสุด และ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานการศึกษาที่ผ่านมา ที่พบว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของสื่อ และสำนักข่าว เนื่องจากสามารถนำเสนอในหลากหลายรูปแบบทั้ง วิดีโอ รูปภาพ และข้อความ
2. การที่โพสต์เนื้อหาข่าวและความเห็นต่อผลการพิพากษาจำคุกลุงพล 20 ปี การสรุปเหตุการณ์คดีน้องชมพู่
โดย สื่อ สำนักข่าว ได้รับความสนใจหรือยอด Engagement สูงสุด ก็เป็นธรรมดาของเหตุการณ์ทางคดีความ
ที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 3 ปี แต่เนื้อหาที่ได้รับความสนใจในลำดับรองลงมา
คือ ข่าวและความเห็นต่อลุงพลและผู้เกี่ยวข้องที่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับคดีความโดยตรง เช่น ความขัดแย้งเรื่องการแบ่งรายได้ของลุงพลกับยูทูบเบอร์รายหนึ่ง, ปู่มหามุนีปะทะคารมกับแฟนคลับลุงพล, หมอปลาประกาศตัดความสัมพันธ์กับลุงพล, การทำนายดวงชะตาและอนาคตลุงพล ฯลฯ ก็เป็นเนื้อหาที่ส่วนใหญ่มาจาก สื่อ สำนักข่าว (65.69%) และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.68%) แสดงว่า แม้ในช่วงที่เกิดข่าวใหญ่ คือ ศาลพิพากษา
จำคุกลุงพล 20 ปี ทั้งสื่อ สำนักข่าว ในสถานะผู้ส่งสาร และ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในฐานะผู้เพิ่มยอด Engagement ทางออนไลน์ โดยเฉพาะใน 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา ก็ยังคงให้ความสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับลุงพล
ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีความ เรียกว่ามีการส่งสาร-การรับสารที่สอดรับกันของสื่อและสังคม ในเรื่องลุงพล
3. แม้ดูเหมือนว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของบางสื่อมวลชน บางธุรกิจบันเทิง รวมทั้งยูทูบเบอร์กลุ่มหนึ่ง ในกรณีทำให้ผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา กลายเป็นคนในวงการบันเทิง แต่ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ในเดือนธันวาคม 2566 ในประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ WISESIGHT ในครั้งนี้ กลับพบว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ส่วนใหญ่โพสต์โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (68.65%) ในสัดส่วนที่มากกว่า สื่อสำนักข่าว (19.47%) และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (11.88%) ทั้งที่เป็นความเห็น หรือ วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อย่างน่าสนใจ เช่น ตำหนิสื่อที่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงบันเทิงมากกว่าคดีฆาตกรรม ทวงถามหาความรับผิดชอบจากสื่อที่ปั่นกระแสลุงพล วิเคราะห์จริยธรรมสื่อในกรณีลุงพล ชื่นชมสื่อที่ไม่นำเสนอข่าวลุงพลในเชิงความบันเทิง ฯลฯ แต่กลับได้รับความสนใจหรือมียอด Engagement ในสัดส่วนที่น้อยที่สุด (0.78%)
หรือว่า ขณะที่มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งใช้สถานการณ์จริงของข่าวที่เป็นความสนใจของสังคม เพื่อสร้างความนิยมและรายได้ โดยการขยายประเด็น วาระ แหล่งข่าว เรื่องราว อย่างไม่สนใจในคุณค่าของข่าวทางวารสารศาสตร์ และ มาตรฐาน จริยธรรม ความรับผิดชอบของสื่อมวลชน นั้น คนส่วนใหญ่ในสังคม เช่นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ศึกษาครั้งนี้ ก็ให้ความสนใจถึงชื่นชอบ หรือไม่ชื่นชอบ แต่ไม่ต่อต้าน หรือ ไม่สื่อสารสะท้อนความเห็น ในขณะที่กลไกการกำกับดูแลทั้งโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ และ กลไกการกำกับดูแลกันเองของกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ดูเหมือนไม่มีบทบาทเด่นชัดในการกระตุกเตือนหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขยี้ขยายขายข่าว
ของบางสื่อมวลชน
ถ้าเป็นเช่นนี้ กรณีลุงพลฟีเวอร์ การปั่นกระแสลุงพลหรือผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรม โดยสื่อมวลชน สื่อบันเทิง ยูทูบเบอร์ ฯลฯ ก็คงไม่ใช่ปรากฎการณ์สุดท้ายของสังคมไทย
ความเห็นล่าสุด