เลือกหน้า

การสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ 5 แพลตฟอร์มในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า น้องหมีเนย หรือ Butterbear ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด เป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว ด้วยสัดส่วน Engagement มากถึง 18.73% ตามด้วยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 13.81% ขณะที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เป็นอันดับ 9 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 6.37%

ทั้งนี้ เหตุที่ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear เป็นประเด็นที่คนในสื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจและสร้าง Engagemant มากที่สุดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม มาจากกิจกรรม Meet and Greet ที่ทางร้านจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ การร่วมมือ (Collab) กับศิลปิน เช่น ไอซ์ ศรัณยู, ภีม วสุพล ไปจนถึงห้องเสื้อแบรนด์ดังต่าง ๆ ทำให้สามารถสร้างกระแสความนิยมได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ได้รับ Engagement เป็นอันดับที่ 2 โดยในช่วงแรกเป็นประเด็นชุดพิธีการของนักกีฬาไทยและประเทศต่าง ๆ จากนั้นเป็นบรรยากาศพิธีเปิดโอลิมปิก 2024  ที่เชื่อมโยงกับการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส การทำ Vlog ของนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมโอลิมปิก และการร่วมเชียร์การแข่งขันของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ซึ่งติดอันดับที่ 8 และปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ซึ่งติดอันดับที่ 9 เป็นอีก 2 ประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องสื่อ สิ่งบันเทิง ซึ่งสามารถติด 10 อันดับแรก ในเดือนกรกฎาคม 2567 แต่ในภาพรวม พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ยังได้รับความสนใจมากถึง 7 ใน 10 อันดับ ที่น่าสนใจ คือ ความนิยมของซีรีส์เรื่องใจซ่อนรัก ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ซึ่งกระโดดจากอันดับที่ 14 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่อันดับ 3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง ยูเรนัส 2324 ซึ่งติดอันดับที่ 10  โดยทั้งสองเรื่อง มีเนื้อหาเกี่ยวความสัมพันธ์รักระหว่างหญิง-หญิง  

ส่วนประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ เช่น พื้นที่ทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลาน และ การตั้งข้อสงสัยในวุฒิการศึกษาของแพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา โดนัล ทรัมป์ ถูกลอบสังหารระหว่างปราศรัยหาเสียง และฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพ ไม่ติด 10 อันดับแรก

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกรกฎาคม 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok โดยเริ่มจากการค้นหาเทรนด์ หรือกระแสสังคมที่เป็นที่พูดถึงจากหลากหลายที่มา เช่น Wisesight Trend และเทรนด์ของแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์ม หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่พบจากการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เช่น Butterbear โอลิมปิก ใจซ่อนรัก เป็นต้น และนำข้อมูลที่ได้มาจัดเป็นประเด็น หมวดหมู่ ประเภทแพลตฟอร์ม กลุ่มผู้สื่อสาร กลุ่มเนื้อหา ตามเกณฑ์ที่ได้จัดทำขึ้น และเรียงลำดับตามจำนวน Engagement ได้ 10 อันดับ เมื่อนักวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำการคัดกรองและจัดหมวดหมู่ข้อมูลแล้ว จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาโดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ได้แก่ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ วันที่และเวลา จำนวนค่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง และเป็นการลดอคติของนักวิเคราะห์ข้อมูล โดยประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 มีดังนี้

อันดับที่ 1 น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear (44,187,828 Engagement)

          น้องหมีเนย มาสคอตจากร้าน Butterbear ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน โดยลักษณะของโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูง ยังคงเป็นคลิปน้องหมีเนยเต้นเพลงที่ได้รับความนิยม เช่น เพลงยายแล่ม ของลำไย ไหทองคำ การร่วมเต้นหรือร่วมกิจกรรมกับศิลปิน (Collab) อื่น ๆ เช่น ไอซ์ ศรัณยู การแต่งกายเลียนแบบ  ลิซ่าในเพลง Rockstar รวมทั้งชุดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพ แชร์วิดีโอความน่ารักของน้องหมีเนยระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ จากกลุ่มมัมหมี หรือ Fanclub มีการใช้ช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของร้าน Butterbear โดยผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 61.65%

อันดับที่ 2 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 (32,572,979 Engagement)

          โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2567 โดย Engagement มาจากการเปิดตัวชุดพิธีการของทีมชาติไทยและทีมชาติต่างๆในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เช่น มองโกเลีย ฝรั่งเศส เกาหลี รวมถึงดราม่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ชุดพิธีการของประเทศไทย จากการเปิดตัว โดย Presenter ปอป้อ ทรัพย์สิรี เกิดกระแสสังคมตำหนิว่าดูโบราณ ไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ รวมทั้งมีการตัดต่อภาพของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงล้อเลียนชุดประจำชาติในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงบรรยากาศพิธีเปิดโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ เช่น การจุดคบเพลิงที่แตกต่างจากโอลิมปิกครั้งก่อนอย่างการใช้บอลลูน อัศวินขี่ม้ากลางแม่น้ำแซน ตัวละครหน้ากากลึกลับที่ถือคบเพลิง การแสดงของวง Gojira ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ณ Conciergerie สถานที่คุมขังสุดท้ายก่อนถูกประหารด้วยกิโยติน รวมถึงรีวิวห้องพักนักกีฬาและและสิ่งของที่ได้รับจากผู้สนับสนุนหลักในการจัดงาน การเชียร์กีฬาประเภทต่าง ๆ ที่นักกีฬาไทยลงแข่ง โดยผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 35.60%

อันดับที่ 3 ซีรีส์ใจซ่อนรัก (24,669,345 Engagement)

          ใจซ่อนรัก (The Secret Of Us) เป็นซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หรือ หญิงรักหญิง นำแสดงโดยหลิงหลิง ศิริลักษณ์ และ ออม กรณ์นภัส ออกอากาศทางช่อง 3 เนื้อหาเล่าถึง แพทย์หญิงฟ้าลดา แพทย์ผิวหนังผู้มีปมในใจจากการถูก เอิน หญิงสาวที่เธอรักหักอกจนชีวิตแทบพัง เธอพยายามอยู่นานกว่าจะกลับมามีชีวิตปกติได้ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกให้ทั้งคู่ต้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง และครั้งนี้เอินต้องการจะพิสูจน์ว่ายังรักฟ้าลดาอยู่ และต้องการกลับมารักกัน แต่รักครั้งนี้กลับเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางอุปสรรคความรักที่ประดังเข้ามา โดยมีผู้ใช้งานทั่วไป เป็นผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement มากที่สุด จากการแบ่งปัน Highlight ละคร และคลิปเบื้องหลัง ซึ่งแพลตฟอร์ม X สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 46.22%

อันดับที่ 4 เพลง ROCKSTAR ของลิซ่า ลลิษา (24,333,374 Engagement)

          หลังจาก ลิซ่า ลลิษา ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง Rockstar ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ส่งผลให้เป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก ต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยในเดือนนี้เนื้อหาที่ได้รับ Engagement สูง เป็นการเต้น Cover การแต่งหน้าและแต่งกายเลียนแบบลิซ่า การกล่าวถึงมิวสิควิดีโอ Rockstar ที่มียอดผู้เข้าชมถึง 100 ล้านครั้ง รวมถึงติดอันดับเพลงมาแรงบนยูทูปไปทั้งหมด 71 ประเทศ โดยผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์  โดยใช้แพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 47.22%

อันดับที่ 5 นาย ณภัทร และใบเฟิร์น พิมพ์ชนกประกาศยุติความสัมพันธ์ (23,659,226 Engagement)

          นาย ณภัทร ประกาศยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่รักอย่างเป็นทางการกับใบเฟิร์น พิมพ์ชนก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ส่งผลให้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งเป็นผู้สื่อสารหลักในประเด็นนี้ให้ความสนใจประเด็นสาเหตุของการเลิกกันของทั้งสองคน การให้สัมภาษณ์ของนาย ณภัทร และ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก รวมถึงการแสดงความเสียใจกับทั้งสองคน โดยแพลตฟอร์ม TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 54.74%

อันดับที่ 6 ละครดุจอัปสร (22,894,210 Engagement)

          ดุจอัปสร เป็นหนึ่งในละครชุด ดวงใจเทวพรหม นำแสดงโดย กองทัพ พีค และ มิ้นท์ รัญชน์รวี ออกอากาศทางช่อง 3 โดยในเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงท้ายของละคร ที่อวสานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ส่งผลให้มี Engagement จำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากการตัดฉากสำคัญภายในละครมาโพสต์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ TikTok ของผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้ได้รับ Engagement จำนวนมาก ที่ 48.96%

อันดับที่ 7 ซีรีส์เขียนรักด้วยยางลบ (18,042,539 Engagement)

          My Love Mix-Up! – เขียนรักด้วยยางลบ ซีรีส์วายจากช่อง GMM25 นำแสดงโดย เจมีไนน์ นรวิชญ์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ ซึ่งโด่งดังมาจากซีรีส์แฟนผมเป็นประธานนักเรียน ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับ อะตอม นักเรียนมัธยมปลายได้ยืมยางลบของ มัดหมี่ เพื่อนร่วมห้องสาวที่เค้าแอบรัก ทำให้ได้เห็นว่ามัดหมี่แอบเขียนชื่อของ กองทัพ หนุ่มนักบาสสุดหล่อลงในยางลบ อะตอมเผลอทำยางลบตก ทำให้กองทัพเห็นว่ายางลบก้อนนั้นมีชื่อของตัวเอง นำมาสู่ความเข้าใจผิดว่าอะตอมแอบชอบเขาอยู่ ส่วนใหญ่ Engagement ของซีรีส์ มาจากผู้ใช้งานทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มแฟนคลับของนักแสดงที่แชร์ภาพ วิดีโอ เบื้องหลังละคร และเพลงไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ที่ร้องโดย เจมีไนน์ นรวิชญ์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ โดยแพลตฟอร์ม Instagram สามารถสร้าง Engagement ได้สูงสุดที่ 37.10%

อันดับที่ 8 การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 (15,875,359 Engagement)

          การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูโร 2024 จัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2567 โดยในเดือนกรกฎาคมเป็นการแข่งขันในรอบ 8 ทีมสุดท้าย Engagement ที่มากที่สุดมาจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระหว่างอังกฤษ และสเปน ในวันที่ 14 กรกฎาคม โดยผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement สูงสุดเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการรายงานผลการแข่งขัน และการแสดงความยินดีกับผู้ชนะ บนแพลตฟอร์ม Facebook จำนวน 37.53%

อันดับที่ 9 ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด (15,019,759 Engagement)

          จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ทั้งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ เนื่องจากปลาหมอคางดำสามารถอาศัยได้ในทุกแหล่งน้ำ สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกสาเหตุที่ประเด็นนี้เป็นกระแสดังในช่วงข้ามคืน เนื่องจากมีการปล่อยข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศ ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจ โดยผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ สื่อ สำนักข่าว บนแพลตฟอร์ม Facebook จำนวน 52.87%

อันดับที่ 10 งานเปิดตัวภาพยนตร์ยูเรนัส2324 (14,679,970 Engagement)

          ภาพยนตร์ยูเรนัส2324 เป็นภาพยนตร์ไซไฟอวกาศเรื่องแรกของไทยที่ผสมเรื่องราวโรแมนติกดราม่าของนักบินอวกาศหญิงคนไทยคนแรก และหญิงสาวผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาดำน้ำ นำแสดงโดย ฟรีน สโรชา และ เบคกี้ รีเบคก้า ซึ่งโด่งดังมาจากซีรีส์ทฤษฎีสีชมพู และจะมีผลงานคู่กันอีกในซีรีส์เรื่องปิ่นภักดิ์ นอกจากนี้ยูเรนัส2324 ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างเพื่อส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ และยังสามารถขายลิขสิทธิ์การฉายไปมากกว่า 27 ประเทศ โดยผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำภาพ วิดีโอในวันเปิดตัวภาพยนตร์ และภาพเบื้องหลังมาโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม X ที่สร้าง Engagement สูงสุด จำนวน 64.52%

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนกรกฎาคม 2567 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ใน 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง 7 ประเด็นคิดเป็น 73.10% กลุ่มเนื้อหากีฬา 2 ประเด็น มีสัดส่วน 20.53% และกลุ่มเนื้อหาการเมือง 1 ประเด็นที่ 6.37%

ในขณะที่ประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ พบว่า ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ติดอันดับ 11 (14,273,993 Engagement ) ซึ่งช่วงแรกมาจากแคมเปญ #saveทับลาน ที่สะท้อนความห่วงใยและความหวงแหนพื้นที่ป่า จากนั้นจึงมีการนำเสนอข้อมูลอีกด้าน โดยเฉพาะจากฝั่งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน รวมทั้งจากสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่อาจทำให้ความร้อนแรงของกระแส #saveทับลาน ลดลง

นอกจากนี้ ยังพบประเด็นการตั้งข้อสงสัยในวุฒิการศึกษาของแพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับหนึ่ง ติดอันดับ 16 (5,071,706 Engagement) และเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ข่าวโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถูกลอบสังหารระหว่างปราศรัยหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งอีกครั้ง ติดอันดับที่ 17 (3,858,954 Engagement) และข่าวฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพ ในโรงแรมหรูกลางกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 18 (2,052,450 Engagement) เป็นต้น

10 ประเด็น 3 กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 172,466,492 Engagement คิดเป็น 73.10% จาก 7 ประเด็น คือ น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear (44,187,828 Engagement), ซีรีส์ใจซ่อนรัก (24,669,345 Engagement), เพลง ROCKSTAR ของลิซ่า ลลิษา (24,333,374 Engagement), นาย ณภัทรและใบเฟิร์น พิมพ์ชนกประกาศยุติความสัมพันธ์ (23,659,226 Engagement), ละครดุจอัปสร (22,894,210 Engagement), ซีรีส์เขียนรักด้วยยางลบ (18,042,539 Engagement), งานเปิดตัวภาพยนตร์ยูเรนัส2324 (14,679,970 Engagement)

กลุ่มเนื้อหากีฬา รวม 48,448,338 Engagement คิดเป็น 20.53% จาก 2 ประเด็น  คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 จำนวน 32,572,979 Engagement และการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 จำนวน 15,875,359 Engagement

กลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อม 1 ประเด็น จำนวน 15,019,759 Engagement คิดเป็น 6.37% คือ ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด จำนวน 15,019,759 Engagement คิดเป็น 6.36%  

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (61.34%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (28.08%), สื่อ สำนักข่าว (10.26%) และ แบรนด์ (0.32%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 43.61% รองลงมาได้แก่ X (27.90%), Instagram (18.25%), Facebook (7.78%), YouTube (2.46%)

กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (44.62%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (42.20%), สื่อ สำนักข่าว (12.20%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (0.96%) และพรรคการเมือง (0.02%) โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 35.77% รองลงมาได้แก่ TikTok (35.61%), X (15.63%), Instagram (10.23%), YouTube (2.76%)

กลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อม มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือสื่อ สำนักข่าว (48.52%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (27.29%), ผู้ใช้งานทั่วไป (22.22%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (1.82%) แบรนด์ (0.15%) โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 52.88% รองลงมาได้แก่ TikTok (29.92%), YouTube (7.76%), X (4.95%), Instagram (4.49%)

วิเคราะห์กลุ่มผู้สื่อสาร

          ในช่วงกรกฎาคม 2567 สามารถจำแนกผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 5 กลุ่ม คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 54.92% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (31.42%), สื่อ สำนักข่าว (13.10%), แบรนด์ (0.44%) และ พรรคการเมือง (0.12%)

โดยผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ส่วนใหญ่มาจากการแชร์ภาพน้องหมีเนย, Highlight ซีรีส์ใจซ่อนรัก, Highlight ละครดุจอัปสร และ ข่าวนาย ณภัทรและใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ประกาศยุติความสัมพันธ์

ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่ม เนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง เช่นกัน จากการเต้น Cover การแต่งหน้าและแต่งกายเลียนแบบลิซ่าในเพลง ROCKSTAR และโพสต์ของช่องทางอย่างเป็นทางการของน้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ในเดือนกรกฎาคม 2567 ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement สูงสุด โดยการสร้างคอนเทนต์ (User-Generated Content) ขึ้นมาเอง เช่น การแบ่งปันภาพ วิดีโอของน้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear ที่พบว่ามี Engagement จากผู้ใช้งานทั่วไปที่สัดส่วน 61.65% (ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่มีสัดส่วนมากถึง 90.73%), ซีรีส์ใจซ่อนรักที่ผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement ที่ 76.40% ยกตัวอย่าง เช่น การตัด Highlight ละครมาโพสต์ซ้ำ เบื้องหลังละคร เป็นต้น

กลุ่มเนื้อหากีฬา พบว่า Engagement ที่ได้มักมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ในสัดส่วน 44.62% ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (42.20%), สื่อ สำนักข่าว (12.20%) และแบรนด์ (0.96%) ส่วนใหญ่เป็นการแชร์คอนเทนต์เกี่ยวกับโอลิมปิกของนักกีฬา เช่น เฟรม ธนาคาร นักกีฬาจักรยาน แชร์วิดิโอห้องพักนักกีฬาและสิ่งของที่ได้รับจากผู้สนับสนุน และการวิเคราะห์ผลการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ชื่นชอบฟุตบอล เช่น นิกกี้ ณฉัตร วาทะ ลูกหนัง –Football Quotes- ตัวเทพฟุตบอล เป็นต้น

กลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องปลาหมอคางดำเพียงประเด็นเดียว พบว่า Engagement ที่ได้มักมาจากสื่อ สำนักข่าว (48.52%) ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (27.29%), ผู้ใช้งานทั่วไป (22.22%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง 1.82% แบรนด์ 0.15% โดยสาเหตุที่สื่อสำนักข่าวมี Engagement เป็นอันดับหนึ่ง มาจากการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการกำจัดปลาหมอคางดำ และการหาสามารถของการแพร่ระบาด เช่น ข่าวการปล่อยสัตว์นักล่า อย่างปลากะพง ตัวนาก เพื่อกำจัดและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ ข่าวการพบปลาหมอคางดำในทะเล ข่าวความทนต่อสภาพแวดล้อมของปลาหมอคางดำ ตากแดดไม่ตาย และการเปิดไทม์ไลน์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จากช่อง Thai PBS ส่วนสำนักข่าวอื่นจะเน้นไปในการอัพเดทสถานการณ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหา  

วิเคราะห์แพลตฟอร์มการสื่อสาร

          จาก 10 อันดับที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงกรกฎาคม 2567 สามารถจำแนกแพลตฟอร์มการสื่อสารที่สร้าง Engagement ตามลำดับ คือ TikTok ในสัดส่วน 41.09% ตามด้วย X (23.92%), Facebook (16.40%), Instagram (15.73%) และ YouTube (2.86%)

 เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมจากฐานประเด็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรกพบว่า เดือนกรกฎาคม 2567 TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 แทนที่ X (ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในเดือนก่อนหน้า) อาจเนื่องมาจากประเด็นที่ได้รับ Engagement สูง ในเดือนกรกฎาคม 2567  เป็นประเด็นที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นิยมสร้างเนื้อหาในลักษณะวิดีโอมากกว่าการอัพเดทสถานการณ์หรือแชร์ภาพ เช่น คลิปน้องหมีเนยเต้น เพลงยายแล่ม ของลำไย ไหทองคำ การทำวิดีโอวิเคราะห์สาเหตุที่นาย ณภัทร และใบเฟิร์น พิมพ์ชนกประกาศการยุติความสัมพันธ์ การทำคลิปเต้น Cover และการแต่งหน้าและแต่งกายเลียนแบบลิซ่าในเพลง ROCKSTAR ซึ่งTikTok มักตอบโจทย์ในการสื่อสารและสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ลักษณะนี้ได้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น กล่าวคือ หากประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นในลักษณะวิดีโอสั้น มีการใส่ความเห็น มุมมอง และการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ดีกว่า ทำให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้ TikTok สร้าง ในการสื่อสารได้มากกว่า แต่ถ้าหากเป็นประเด็นที่เฉพาะเจาะจง เช่น ประเด็นมีความเกี่ยวข้องกับดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือรูปแบบคอนเทนต์ที่ต้องการความสดใหม่ เรียลไทม์ หรือการสื่อสารมีส่วนร่วมแบบทันที (React/Feedback) แพลตฟอร์ม X จะสามารถสร้าง Engagement ได้ดีกว่า

นอกจากนี้ในกลุ่มเนื้อหากีฬา พบว่า Facebook สร้าง Engagement ในการสื่อสารได้มากกว่า TikTok เพียงเล็กน้อยจากการแบ่งปันภาพ Hightlight กีฬา การวิเคราะห์ผลการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 การแบ่งปันภาพ วิดิโอที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก 2024 สาเหตุที่ทำให้ Facebook รวมไปถึง TikTok สามารถสร้าง Engagment ได้สูงในกลุ่มเนื้อหานี้ อาจเนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ทำให้มีผู้รับชมทุกเพศทุกวัย และอาจเป็นแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการสื่อสารในประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อม ในประเด็นปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด พบว่าส่วนใหญ่แล้ว สื่อสำนักข่าว มีบทบาทในการนำเสนอประเด็นอย่างมาก ทั้งในภาพรวมการสื่อสาร และกาวิเคราะห์รายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Facebook และ YouTube ซึ่งสื่อ สำนักข่าวสามารถสร้าง Engagement ได้เป็นอันดับที่ 1 ในขณะที่ช่องทาง TikTok ซึ่งในภาพรวมพบว่าเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 2 ที่มีการสื่อสารในประเด็นปลาหมอคางดำ แต่ผู้สื่อสารที่สามารถสร้าง Engagement ในเรื่องปลาหมอคางดำผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ได้มากที่สุด คือ กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป

ประเด็นและกลุ่มเนื้อหา

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนกรกฎาคม 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงได้รับความสนใจสูงที่สุดเป็นจำนวน 7 ประเด็น คิดเป็นสัดส่วนที่ 73.10% โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear ด้วยสัดส่วน 18.73% ตามด้วยประเด็นในกลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิงอื่น ๆ เช่น ซีรีส์ใจซ่อนรัก เพลง ROCKSTAR ของลิซ่า ลลิษา ละครดุจอัปสร นาย ณภัทรและใบเฟิร์น พิมพ์ชนกประกาศยุติความสัมพันธ์ เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ไม่ใช่กลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิง ที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ติดอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วน, การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ติดอันดับที่ 8 และ ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ติดอันดับที่ 9

ทั้งนี้ น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear และเพลง Rockstar เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากเดือนมิถุนายน ซึ่งรูปแบบในการสื่อสารมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเดือนมิถุนายน ที่เป็นการแบ่งปันภาพ วิดีโอความน่ารักของน้องหมีเนยจากกลุ่มแฟนคลับที่เรียกตนเองว่ามัมหมี รวมถึงการพยายามเกาะกระแสเพลงที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น เช่น เพลงยายแหล่ม ของลำไย ไหทองคำ เป็นต้น ส่วนกระแสเพลง ROCKSTAR ของลิซ่า กลับกลายเป็นโพสต์ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการเต้น Cover หรือ การแต่งหน้าและแต่งกายเลียนแบบลิซ่าในเพลง ROCKSTAR ผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ TikTok แทนการกล่าวถึงมิวสิควิดีโอเพลง

ที่น่าสนใจคือ ความนิยมของกระแสซีรีส์ใจซ่อนรัก และภาพยนตร์เรื่องยูเรนัส 2324 ซึ่งได้รับความนิยมสูง ในอันดับ 3 และ 10 ตามลำดับ จัดเป็นคอนเทนต์สื่อ สิ่งบันเทิง แนวหญิงรักหญิง หรือแซฟฟิก (Sapphic) ทั้ง 2 เรื่อง โดยจะเห็นว่า จากการจัดอันดับความสนใจตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา กระแสความนิยมของละครหรือคอนเทนต์แนวหญิงรักหญิง เริ่มติด 10 อันดับความสนใจครั้งแรก ในเดือนมิถุนายน 2567 จากกระแสละคร Club Friday the Series:  Love Bully รักให้ร้าย นำแสดงโดยอิงฟ้า-ชาร์ล็อต ซึ่งติดในอันดับ 5 และการเปิดตัวซีรีส์เรื่องปื่นภักดิ์ (ซึ่งใช้นักแสดงนำชุดเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่องยูเรนัส 2324) ในอันดับ 7 ซึ่งสะท้อนให้เห็นเทรนด์  หรือแนวโน้มความสนใจ การสื่อสาร และการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟนละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์แนวหญิงรักหญิง ที่มีพลัง ตลอดจน โอกาส ของผู้ผลิตซีรีส์ไทย ที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พบว่ามักมีละคร ซีรีส์ หรือคอนเทนต์วาย หรือแนวชายรักชาย ติดอันดับความสนใจเป็นหลัก รวมถึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยต่อการโอบรับความหลากหลายทางเพศ ในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน  

ส่วนอีก 3 ประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง แบ่งเป็นกลุ่มเนื้อหากีฬา จากประเด็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน คือ Engagement จะมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งการวิเคราะห์ผลการแข่งขัน หรือการแบ่งปันวิดีโอที่บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นของนักกีฬาโอลิมปิก อย่างการถ่ายภาพห้องพักนักกีฬา หรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชุดพิธีการในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของแต่ละประเทศ เป็นต้น ส่วนประเด็นปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อน และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนและการเมือง ส่งผลให้ สื่อ สำนักข่าว มีบทบาทมากกว่า ผู้สื่อสารอื่น ๆ เพื่อจุดประเด็นให้สามารถผลักดันให้เป็นกระแสสังคมได้

นอกจาก 10 อันดับแรกของความสนใจ จากการสำรวจยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่สื่อสังคมออนไลน์มีส่วนร่วมเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม การตั้งข้อสงสัยในวุฒิการศึกษาของแพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความโปร่งใสในกระบวนการสรรหา สว. ข่าวโดนัล ทรัมป์ ถูกลอบสังหารระหว่างปราศรัยหาเสียง ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก รวมถึงคดีฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพ คดีสะเทือนขวัญที่นานาชาติให้ความสนใจ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของไทย เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า การสื่อสารและความสนใจในโลกออนไลน์ในลำดับต้น ๆ มักเป็นเรื่องสื่อ สิ่งบันเทิง ขณะที่ความสนใจ การสื่อสาร และการมีส่วนร่วม ในประเด็นเชิงสาธารณะอื่น ๆ ของสังคมในโลกออนไลน์มักได้รับ Engagement ไม่มากเท่า ซึ่งเป็นลักษณะเทรนด์ความสนใจที่พบจากการสำรวจมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 67

ผู้สื่อสาร

ในแง่ของผู้สื่อสารพบว่า มีความใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน 2567 กล่าวคือ สัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากสุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อ สำนักข่าว และผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และภาครัฐ ในขณะที่เดือนกรกฎาคม มีสัดส่วนผู้สื่อสาร Engagement มากสุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อ สำนักข่าว และผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และพรรคการเมือง

จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้งานเทียบกับกลุ่มเนื้อหาพบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง Engagement มากที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มแฟนคลับ หรือผู้ที่ติดตามละคร ดารา นักแสดง ส่วนกลุ่มเนื้อหา กีฬา มีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement มากที่สุด เช่น นักกีฬา หรือ เพจที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล กีฬา เป็นต้น 

ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อม พบว่ามีสื่อ สำนักข่าว สร้าง Engagement มากที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่า ประเด็นที่มีความสนุกสนาน หรือ ประเด็นที่สามารถเข้าใจได้ง่าย มักมีผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงและสร้าง Engagement ได้สูง เช่นเดียวกับผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับมิติสาธารณะ หรือเป็นเรื่องหนักที่มีความซับซ้อนของเรื่องราว อาจมีความจำเป็นต้อง อาศัยพลังของสื่อ สำนักข่าวในการสื่อสารเพื่อจุดประเด็น จึงสามารถผลักดันให้เป็นกระแสสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดที่สร้าง Engagement ภายใต้โพสต์ของสื่อ สำนักข่าวได้มากกว่าการที่คนทั่วไปสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเอง

แพลตฟอร์ม

จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ในเดือนกรกฎาคม สะท้อนให้เห็นถึงการใช้แพลตฟอร์มในการสื่อสารตามคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอ โดยในกลุ่ม สื่อ สิ่งบันเทิง พบว่า TikTok สามารถสร้าง Engagement มากเป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความสนุกสนาน รวมถึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยการบันทึกวิดีโอ ดังนั้นผู้ใช้งานจึงเลือกใช้ TikTok ในการแชร์วิดิโอ Highlight เช่น การแสดงความเห็นกรณี นาย ณภัทร และใบเฟิร์น พิมพ์ชนกประกาศยุติความสัมพันธ์ การทำคลิปเต้น Cover สอนแต่งหน้า การแต่งหน้าและแต่งกายเลียนแบบลิซ่าในเพลง ROCKSTAR เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการศึกษาเดือนกรกฎาคม แม้โดยภาพรวม Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้เพียง 7.78% เมื่อเทียบกับทุกแพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่สำหรับในกลุ่มเนื้อหาสิ่งแวดล้อมกลับพบว่า Facebook สร้าง Engagement ได้มากถึง 52.88% จากความสนใจและมีส่วนร่วมในประเด็นการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจาก Facebook เป็นเครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกลุ่มของผู้ใช้งานที่กว้างและครอบคลุมในทุกช่วงอายุ ประกอบกับประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สื่อ สำนักข่าวให้ความสนใจ และเลือกใช้แพลตฟอร์ม Facebook ในการสื่อสารเรื่องราวดังกล่าวมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยคาดหวังให้กลุ่มเป้าหมายสาธารณะได้ตระหนักถึงปัญหา  หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันที่สื่อ สำนักข่าวพยายามสื่อสารเรื่องปลาหมอคางดำผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย แต่แพลตฟอร์ม Facebook กลับสามารถสร้าง Engagement ได้สูงสุด  โดยพบตัวอย่างการนำเสนอเรื่องปลาหมอคางดำจากสื่อ สำนักข่าว ที่น่าสนใจ เช่น ThaiPBS นำเสนอวิธีการกำจัดปลาหมอคางดำโดยใช้ปลากะพง รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 นำเสนอเกี่ยวกับการพบปลาหมอคางดำบริเวณทะเล และอมรินทร์ทีวีนำเสนอข่าวปลาหมอคางดำแดดเผาไม่ตาย เป็นต้น  

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสื่อ สำนักข่าวตั้งใจเลือกสื่อสารเรื่องดังกล่าวผ่าน Facebook โดยเฉพาะ หรือเป็นเพราะ Facebook เหมาะกับการสื่อสารประเด็นในลักษณะนี้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ  แต่ประเด็นเรื่องปลาหมอคางดำ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สัดส่วน Engagement ในภาพรวมของ Facebook ในเดือนนี้ อยู่ที่ 7.78%  เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่มีสัดส่วน Engagement ประมาณ 5.72%