จากกระแสภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” สู่ความพยายามผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์
ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนตุลาคม 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับ WISESIGHT พบว่า สื่อสังคมออนไลน์สนใจในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มากที่สุด เป็นจำนวนถึง 8 จาก 10 อันดับ Engagement สูงสุดของเดือนตุลาคม 2566 โดยมีภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ”
ได้รับความสนใจสูงสุด ถึง 74.02 ล้าน Engagement และไม่ใช่แค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสามารถสร้างรายได้มากถึง 720 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 46 วัน สร้างสถิติภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดในรอบ 10 ปีหรือในหนึ่งทศวรรษ จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงน่าสนใจที่จะวิเคราะห์ เนื้อหา และ อารมณ์ ความรู้สึก ของการสื่อสารในประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจสูงสุดในการสื่อสารออนไลน์ของเดือนตุลาคม 2566
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT ใช้เครื่องมือ ZocialEye รวบรวม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อใน 5 แพลตฟอร์มได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok ตลอดเดือนตุลาคม 2566 พบว่า ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากถึง 74.02 ล้าน Engagement โดยส่วนใหญ่มาจาก TikTok 36.50 ล้าน Engagement ตามด้วย Facebook 30.26 ล้าน Engagement, Instagram 4.78 ล้าน Engagement, X 1.60 ล้าน Engagement และ YouTube 8.8 แสน Engagement
ด้านผู้สื่อสาร พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 49.36 ล้าน Engagement ตามด้วย ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป 15.11 ล้าน Engagement, สื่อ สำนักข่าวประมาณ 9.41 ล้าน Engagement และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมืองรวม 1.4 แสน Engagement
อาจสรุปได้ว่า สำหรับกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ผู้สร้างกระแสและมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิด Engagement ตลอดทั้งเดือน ตุลาคม 66 คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มักนิยมใช้ TikTok นำเสนอวีดีโอ ซึ่งเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ จากการสำรวจเนื้อหาการสื่อสารสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มประเด็น ดังนี้
- เนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม มี Engagement สูงสุดที่ 47,357,400 Engagement เป็นการกล่าวถึงเนื้อหาของภาพยนตร์ ความรู้สึกหลังจากชมภาพยนตร์ การชื่นชมภาพยนตร์ที่สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนอีสานได้ดี และการกล่าวถึงความสำเร็จทางรายได้ของภาพยนตร์ที่ไต่ระดับขึ้นมาจนถึง 720 ล้านบาท
- ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดง และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 24,359,080 Engagement เป็นการกล่าวถึงบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เช่น ต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับ, ก้อง ห้วยไร่, ฐา ขนิษ ผู้ที่คอยสนับสนุนต้องเต ธิติ, สส. โต้ง สิริพงศ์ อังคกุลเกียรติ ผู้อำนวยการสร้าง รวมถึงนักแสดงที่ถูกกล่าวถึงจากการโปรโมทภาพยนตร์ในสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น
- การผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ หลังจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติร่วมชมภาพยนตร์พร้อมถ่ายรูปกับ ต้องเต ธิติ ผู้กำกับ เกิดกระแสความพยายามจากทางภาครัฐผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อให้ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ด้วยยอด Engagement ที่ 1,735,623 Engagement ซึ่งน้อยกว่า อันดับ 1 และ 2 ของกลุ่มประเด็น เนื้อหา ความนิยม และผู้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์
เมื่อทำการวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึก หรือ Sentiment Analysis ใน 3 กลุ่มประเด็น คือ กลุ่มที่ 1 เนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม กลุ่มที่ 2 ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดง และผู้เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 3 การผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยจัดกลุ่มความคิดเห็นเป็น 3 ประเภทคือ 1) ความคิดเห็นเชิงบวก เป็นข้อความในเชิงสนใจ แสดงความยินดี แสดงความชื่นชอบภาพยนตร์ 2) ความคิดเห็นเชิงกลาง เป็นข้อความในเชิงสอบถาม ให้ข้อมูล และข่าว 3) ความคิดเห็นเชิงลบ เป็นข้อความในเชิงตำหนิ ไม่ชอบ เช่น การตำหนิบุคคลที่ถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์ ตำหนิโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเพียงเรื่องเดียวทำให้ผู้ชมไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องอื่น ตำหนิรัฐบาลที่ใช้กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตำหนิคลิปรายการบันเทิงที่พิธีกรใช้คำพูดในลักษณะข่มเหงรังแก (Bully) ต้องเต ธิติ เป็นต้น
Sentiment Analysis หรือ ผลการวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึก ต่อประเด็น เนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม
เป็นดังนี้
ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อปลุกกระแสวงการภาพยนตร์ไทยขึ้นมาอีกครั้งด้วยเนื้อหาที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตอีสาน และสื่อสารออกมาได้ครบรส ทั้งตลก เศร้า สยองขวัญ จนทำให้ประสบความสำเร็จทางรายได้ที่ 720 ล้านบาท
โดยประเด็น เนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม มีสัดส่วนเป็น 64.75% ของ Engagement ทั้งหมดที่กล่าวถึงภาพยนตร์ จากการสำรวจ พบว่า แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ TikTok (55.60%) รองลงมาได้แก่ Facebook (34.84%), Instagram (4.53%), X (3.22%) และ YouTube (1.81%) โดยส่วนใหญ่มาจาก
ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคม (73.65%) ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป (22.26%) และ สื่อ สำนักข่าว (4.09%)
จากความคิดเห็นของสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า 89.08% เป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงกลางถึงเนื้อหาภาพยนตร์โดยกล่าวถึงเนื้อเรื่องบางช่วงที่น่าจดจำ เช่น ฉากใบข้าวหลอกผู้ใหญ่คำตัน ฉากพระวิ่งหนีผี เป็นต้น และการวิเคราะห์สถานการณ์ของตัวละครต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์เหตุการณ์หลังจากบักลอดสมหวังกับความรัก บักเซียงสามารถลืมใบข้าวได้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบการกล่าวถึง เพลงประกอบภาพยนตร์อย่างเพลง ยื้อ ที่ได้รับ Engagement สูงเช่นเดียวกัน
ส่วนความคิดเห็นเชิงบวกมีสัดส่วน 10.87% ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความยินดีที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างรายได้มากถึง 720 ล้านบาท ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี การชื่นชมภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความเป็นคนอีสานในเรื่อง วิถีชีวิต ความรัก ความเชื่อ และอาชีพสัปเหร่อ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ความสำเร็จของภาพยนตร์ที่มาจากความตั้งใจผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์จากผู้ชมทั่วไปและผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์
ขณะที่ 0.05% เป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงลบจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ตำหนิโรงภาพยนตร์ ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเป็นภาพยนตร์ที่สร้างกระแสในสังคม ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต้องการสร้างรายได้ให้มากที่สุด จนบางโรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเพียงเรื่องเดียว ทำให้เกิดการตำหนิจากผู้ที่ต้องการชมภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ฉายในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน(ไม่)สนิท ที่เข้าฉายเพียง 1 วัน แล้วถูกแทนที่ด้วยภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ นอกจากนั้น ยังมีการตำหนิผู้ถ่ายคลิปในโรงภาพยนตร์แล้วนำมาโพสต์ผ่าน YouTube ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้มีการเสนอให้ทางค่ายภาพยนตร์ฟ้องร้องค่าเสียหายกับผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
Sentiment Analysis หรือ ผลการวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึก ต่อประเด็น ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดงและ
ผู้เกี่ยวข้อง เป็นดังนี้
จากการสำรวจ พบข้อมูลในประเด็น ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดงและผู้เกี่ยวข้อง มีสัดส่วนสร้าง Engagement ถึง 32.91% ส่วนใหญ่มาจาก TikTok (62.79%) รองลงมาได้แก่ Facebook (28.50%), Instagram (6.86%), YouTube (0.89%) และ X (0.96%) ส่วนผู้สื่อสารส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (76.07%) ตามด้วย สื่อ สำนักข่าว (16.98%) และ ผู้ใช้งานทั่วไป (6.95%)
ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดงและผู้เกี่ยวข้อง ถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้กำกับ ต้องเต ธิติ ศรีนวล ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดทั้งในแง่ของการชื่นชมความสามารถในการกำกับและบุคลิกภาพที่เป็นเอกลักษณ์ รองลงมาได้แก่ ก้อง ห้วยไร่ , ฐา ขนิษ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของ ต้องเต ธิติ ที่คอยช่วยเหลืออยู่เสมอ นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึง สส. โต้ง สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ จากข่าวการเข้าชมภาพยนตร์พร้อมกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ส่วนการกล่าวถึงนักแสดง เช่น ใบข้าว, ปริม, บักเซียง, ผู้ใหญ่คำตัน, บักลอด, เฮียป่อง เป็นต้น จะเป็นการกล่าวถึงจากกิจกรรมโปรโมทภาพยนตร์ตามสถานที่ต่าง ๆ
จากการวิเคราะห์ ความคิดเห็นของการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ พบความคิดเห็นเชิงกลางที่กล่าวถึงบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ สามารถสร้าง Engagement ถึง 54.02% ส่วนใหญ่มาจาก ข่าวของต้องเต ธิติ ผู้กำกับและนักแสดง ไปออกรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ข่าวต้องเต ธิติ ให้สัมภาษณ์ในสื่อหรือรายการต่าง ๆ ข่าวผู้กำกับ และนักแสดงแต่งเป็นผู้หญิงรำแก้บนหลังทำรายได้ 700 ล้านบาท เป็นต้น
ความคิดเห็นเชิงบวก มีสัดส่วน 45.88% ส่วนใหญ่มาจากการชื่นชมต้องเต ธิติ ถึงความสามารถในการกำกับและการทำหน้าที่อื่น เช่น เขียนบท ตัดต่อ ทำเพลง ของภาพยนตร์เรื่องนี้
ส่วนความคิดเห็นเชิงลบ มีสัดส่วนเพียง 0.10% เป็นการตำหนิคลิปสัมภาษณ์ต้องเต ธิติ ในรายการบันเทิงรายการหนึ่ง ที่พิธีกรใช้คำพูดเชิงข่มเหงรังแก (Bully) สภาพต้องเต ธิติและการแต่งตัว
Sentiment Analysis หรือ ผลการวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึก ต่อประเด็นการผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นดังนี้
ประเด็นการผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้าง Engagement ในสัดส่วนเพียง 2.34% ส่วนใหญ่มาจาก Facebook (51.29%) รองลงมาได้แก่ Instagram (28.82%), X (14.54%) และ YouTube (5.35%) ด้านผู้สื่อสาร ส่วนใหญ่มาจาก สื่อ สำนักข่าว (58.68%) ตามด้วยผู้ใช้งานทั่วไป (20.99%) และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (20.33%) ทั้งนี้ไม่พบเนื้อหาการผลักดันเป็นซอฟพาวเวอร์ในแพลตฟอร์ม TikTok อาจเนื่องจากประเด็นซอฟพาวเวอร์ถูกพูดถึงในเชิงของข่าว ซึ่ง TikTok ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่สื่อ สำนักข่าวให้ความสนใจมากนัก
เมื่อทำ Sentiment Analysis หรือ วิเคราะห์ อารมณ์ ความรู้สึก ต่อประเด็นการผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ พบความคิดเห็นเชิงกลางมี Engagement มากที่สุด ในสัดส่วน 87.74% ส่วนใหญ่
มาจากสื่อ สำนักข่าว ที่เสนอข่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำคณะรัฐมนตรีเข้าชมภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อที่สยามพารากอน นอกนั้นเป็นการวิเคราะห์ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อกับแนวคิดการผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์
ของประเทศ
ส่วนความคิดเห็นเชิงบวก คือ ชื่นชมภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตคนอีสาน มีสัดส่วน Engagement ที่ 11.15% จากข่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมภาพยนตร์ที่สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตคนอีสานได้อย่างดี และพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
ความคิดเห็นเชิงลบ มีสัดส่วน Engagement ที่ 1.11% คือ ตำหนิรัฐบาลที่ใช้กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการตำหนิภาครัฐที่ไม่สนับสนุนภาพยนตร์ไทย และฉวยโอกาสเมื่อภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความต้องการให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ หรือกองเซ็นเซอร์ เพื่อให้วงการภาพยนตร์ไทยพัฒนายิ่งขึ้น รวมถึงการตำหนิการใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์พร่ำเพรื่อ
แม้ประเด็นการผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์จะมีสัดส่วนสร้าง Engagement น้อยสุดใน 3 กลุ่มเนื้อหา แต่พบว่า เป็นประเด็นที่มีการพูดถึง ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้สื่อสารบนโลกออนไลน์บางส่วนยังมีคำถามถึงความหมายที่แท้จริงของซอฟต์พาวเวอร์ และถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของภาพยนตร์ไทย
สรุปผลการศึกษา
เดือนตุลาคม 2566 เป็นอีกเดือนที่สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจกับกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง มากที่สุด ซึ่งกระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเป็นประเด็นที่น่าจับตา เนื่องจากสามารถสร้าง Engagement ได้ถึง 74,028,103 Engagement ขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ในเดือนตุลาคม 66 เมื่อวิเคราะห์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ใน 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา พบอันดับความนิยม คือ TikTok (55.60%) รองลงมาได้แก่ Facebook (34.84%), Instagram (4.53%), X (3.22%) และ YouTube (1.81%) เมื่อวิเคราะห์ผู้สื่อสาร พบว่าส่วนใหญ่มาจากผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 66.67% ตามด้วย ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป 20.41%, สื่อ สำนักข่าวประมาณ 12.72% และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมืองรวม 0.20% โดยใช้การวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึก หรือ Sentiment Analysis ใน 3 กลุ่มประเด็นที่จัดจำแนกตามเนื้อหาการสื่อสาร สรุปได้ดังนี้
1) กลุ่มประเด็นเนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม ในกลุ่มนี้ ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement ได้สูงสุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่พบมากที่สุด คือ TikTok ด้านความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นเชิงกลางต่อเนื้อหา การแสดง องค์ประกอบของภาพยนตร์ ส่วนน้อยเป็นความคิดเห็นเชิงบวก ที่ชื่นชมในการถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ยินดีกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจนถึง 700 ล้านบาท ส่วนน้อยที่สุดเป็นความคิดเห็นเชิงลบที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาภาพยนตร์ อย่างการตำหนิโรงภาพยนตร์ที่ฉายแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อยู่ในกระแส
ส่งผลให้ภาพยนตร์บางเรื่องถูกถอดออกแม้จะฉายได้เพียง 1 วัน การตำหนิผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยการบันทึกคลิปแล้วนำมาโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเรียกยอดเข้าชม
2) กลุ่มประเด็นผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้แสดงและผู้เกี่ยวข้อง ในกลุ่มนี้ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement ได้สูงสุด คือ
ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่พบมากที่สุด คือ TikTok ความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นเชิงกลางจากข่าวต้องเต ธิติ ผู้กำกับและนักแสดงไปออกสื่อหรือรายการต่าง ๆ รองลงมาเป็นการกล่าวถึง สส. โต้ง สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ จากข่าวการไปชมภาพยนตร์พร้อมกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในส่วนของนักแสดงเป็นการกล่าวถึงตัวละครที่แสดงได้อย่างสมบทบาท การกล่าวถึงการที่นักแสดงไปโปรโมทภาพยนตร์ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ความคิดเห็นเชิงบวก คือ ชื่นชมการทำงานหลายบทบาทของต้องเต ธิติ สัดส่วนน้อยมากที่สุดคือความคิดเห็นเชิงลบเป็นการตำหนิคลิปสัมภาษณ์ต้องเต ธิติ
ในรายการบันเทิงรายการหนึ่ง ที่พิธีกรใช้คำพูดเชิงข่มเหงรังแก (Bully) สภาพต้องเต ธิติ และการแต่งตัว
3) กลุ่มประเด็นการผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement ได้สูงสุด คือ สื่อ สำนักข่าว แพลตฟอร์มที่พบมากที่สุด คือ Facebook ความเห็นส่วนใหญ่เป็นความเห็นเชิงกลาง จากข่าวภาพยนตร์
เรื่องสัปเหร่อนำร่องปลุกกระแสภาพยนตร์ไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ความเห็นเชิงบวกเป็นการชื่นชมภาพยนตร์
ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตคนอีสาน ส่วนน้อยที่สุดเป็นความเห็นเชิงลบ คือ ตำหนิรัฐบาลที่ใช้กระแสภาพยนตร์ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์
วิเคราะห์ผลการศึกษา
ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการศึกษาการสื่อสารในประเด็นเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ คือ ใน 2 กลุ่มประเด็นที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มประเด็นเนื้อเรื่อง โปรดักชั่น ความนิยม และ กลุ่มประเด็นผู้สร้าง ผู้กำกับ
ผู้แสดงและผู้เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement สูงสุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์
ในขณะที่กลุ่มสื่อ สำนักข่าว และผู้ใช้งานทั่วไป พบว่ามีสัดส่วน Engagement ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก
ขณะที่กลุ่มประเด็นการผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ พบว่า ผู้สื่อสารในกลุ่มสื่อ สำนักข่าว มีบทบาทสร้าง Engagement สูงสุด อาจเพราะเป็นข่าวที่มีคนในรัฐบาลเข้าชมภาพยนตร์ ทำให้สื่อ สำนักข่าวมีบทบาทสำคัญ
ในการสื่อสารสร้าง Engagement ในประเด็นดังกล่าวมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่เมื่อพิจารณากลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้งานทั่วไป พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มสามารถสร้าง Engagement ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า การผลักดันภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นประเด็นที่ทุกคนกำลังจับตามองและถกเถียงกันในวงกว้าง ไม่เพียงแค่จากโพสต์ของสื่อ สำนักข่าว เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถสื่อสารสร้าง Engagement ใกล้เคียงกับผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน หากประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับ
ความสนใจคนมากพอ
ในแง่แพลตฟอร์มการสื่อสาร TikTok ยังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้งานทั่วไป ส่วน Facebook เป็นช่องทางที่สื่อ สำนักข่าวใช้งานมากกว่าช่องทางอื่น ๆ สอดคล้องกับผลศึกษาก่อนหน้าของ Media Alert เป็นการตอกย้ำการเลือกใช้งานของผู้สื่อสารที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้งานทั่วไป มักจะเลือก TikTok เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารเนื่องจากใช้งานง่ายและอยู่ในรูปแบบวิดีโอที่เข้าใจง่าย ส่วนสื่อสำนักข่าวจะเลือกใช้ Facebook เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีเหมาะกับการนำเสนอในหลากหลายรูปแบบทั้ง วิดีโอ รูปภาพ และข้อความ
ข้อเสนอ
ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อสร้างปรากฏการณ์เขย่าวงการภาพยนต์ไทยในรอบ 10 ปีให้กลับมาคึกคัก หลังเกิดกระแส “สัปเหร่อฟีเวอร์” พาคนไทยกลับเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อดูภาพยนตร์ไทยอีกครั้งหลังความซบเซาของวงการ
ความน่าสนใจของภาพยนตร์สัปเหร่อมาจากหลายเหตุปัจจัย จึงเป็นเรื่องที่น่าถอดรหัสว่ามีปัจจัยใดที่ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทั้งเป็นเรื่องน่าติดตามความต่อเนื่อง ความจริงจัง ในการผลักดันของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง
เพื่อยกระดับคุณภาพสื่อไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก รวมถึงทัศนคติเชิงบวกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ของผู้บริโภคต่อภาพยนตร์ไทย
เพื่อนำไปสู่บทสรุปว่าภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ เป็นกระแสคลื่นใหญ่ที่พลิกโฉมวงการ หรือเป็นเพียงแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ที่มาแล้วจากไป เหลือทิ้งไว้เพียงค่าสถิติอันน่าประทับใจ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีภาพยนตร์ไทยที่เคยประสบความสำเร็จจนได้รับรายได้มากถึง 720 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 46 วัน
ความเห็นล่าสุด