เลือกหน้า

ใคร ? กำหนดวาระการสื่อสารบนโลกออนไลน์

กระแสการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตที่มีการเกิดปฏิสัมพันธ์จำนวนมากนั้น แท้จริงแล้วเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือเป็นการจัดกระทำโดยตัวบุคคล? โดยองค์กร? โดยแบรนด์? และเราสามารถถอดบทเรียนนี้ออกมาเพื่อประยุกต์ใช้ในการสื่อสารประเด็นสาธารณะ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้หรือไม่ อย่างไร

การเปิดตัว iPhone 15 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2023 ได้สร้างกระแสและยึดครองประเด็นการสื่อสารบนโลกออนไลน์จนติดอันดับหนึ่งแซงหน้าหลายประเด็น แม้ข่าวใหญ่ 2 ข่าวในเดือนเดียวกัน คือ เหตุการณ์ยิงตำรวจที่บ้านกำนันนก จังหวัดนครปฐม และการบุกค้นบ้านพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือบิ๊กโจ๊ก ด้วยเหตุที่สืบสวนพบว่าลูกน้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเว็บพนันออนไลน์

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนกันยายน 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบ10 อันดับประเด็นที่ได้รับ Engagement มากที่สุดได้แก่

1. การเปิดจองให้ซื้อและกระแส iPhone 15 ในประเทศไทย

2. เหตุการณ์ยิงตำรวจที่บ้านกำนันนก จังหวัดนครปฐม

3. การบุกค้นบ้านบิ๊กโจ๊กด้วยเหตุที่สืบสวนพบว่าลูกน้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเว็บพนันออนไลน์

4. กระแสละครเกมรักทรยศ

5. การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

6. งานประกาศรางวัล Mint Award 2023

7. BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK

8. เทนนิส พาณิภัค ได้รับเหรียญทองเอเชียนเกมส์

9. การแถลงนโยบายครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา

10. อิงฟ้าร่วมงานกับแคมเปญ Shopee 9.9

 

โดยเป็นกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม 2 ประเด็น คือ เหตุการณ์ยิงตำรวจที่บ้านกำนันนก จังหวัดนครปฐม และการบุกค้นบ้านบิ๊กโจ๊กหรือ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีมากที่สุดถึง 4 ประเด็น คือ กระแสละครเกมรักทรยศ, งานประกาศรางวัล Mint Award 2023, BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK และ อิงฟ้าร่วมงานแคมเปญ Shopee 9.9

 กลุ่มเนื้อหากีฬา 2 ประเด็น คือ การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยใน 2 รายการ และเทนนิส พาณิภัคได้รับเหรียญทองเอเชียนเกมส์

 กลุ่มเนื้อหาการเมือง มีเพียง 1 ประเด็น คือ การแถลงนโยบายครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา

โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในเดือนกันยายน คือ การเปิดจองให้ซื้อและกระแส iPhone 15 ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ตั้งแต่ต้นปี 66 ที่ประเด็นในกลุ่มเนื้อหาด้านเทคโนโลยีติดอันดับความสนใจสูงสุดของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่เป็นหน่วยการศึกษา

หากจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์การสื่อสารที่เกิดในเดือนกันยายนจากผลการศึกษาของ Media Alert และ Wisesight ผ่านมิติของประเด็นที่สื่อสาร ตัวผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์มของการสื่อสาร จะพบความเชื่อมโยงกัน เช่น ถ้าเป็นประเด็นในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม ผู้สื่อสารที่สร้างความสนใจได้สูงสุด คือ กลุ่มสื่อ สำนักข่าว ขณะที่แพลตฟอร์มที่ใช้มากที่สุด คือ Facebook ถ้าเป็นประเด็นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ผู้สื่อสารที่สร้างความสนใจได้สูงสุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป และแพลตฟอร์มที่ใช้มากที่สุด คือ แพลตฟอร์ม X สำหรับประเด็น กระแส iPhone 15 ในประเทศไทย ผู้สื่อสารที่สร้างความสนใจได้สูงสุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่แพลตฟอร์มที่ใช้มากที่สุด คือ TikTok

 โจทย์น่าสนใจ คือ การสื่อสารในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าทางธุรกิจ เนื้อหาการสื่อสารเป็นการจัดกระทำ หรือ เป็นธรรมชาติ

 ทุกคอนเทนต์ถูกสร้างมาด้วยการจัดกระทำ

คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร Chief Customer Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ที่ทุกคอนเทนต์ถูกสร้างมาด้วยการจัดกระทำ คือ กระทำสิ่งนี้ไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้างอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ของการสร้างคอนเทนต์ไม่ได้มีเพียงรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ดังนั้นแน่นอนว่าทุกคนสร้างเนื้อหามาล้วนมีเป้าหมายของการสื่อสาร

ปัจจุบันผลลัพธ์ของการสร้างคอนเทนต์มีหลายมิติ ทำเพื่อสร้าง engagement ทำเพื่อสร้างฐานผู้ติดตามแล้วนำยอดผู้ติดตามไปหารายได้หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสื่อของตัวเอง โพสต์ทุกโพสต์มีเป้าหมาย เป็นการจัดกระทำ คนทำคอนเทนต์ล้วนเป็นคนทำคอนเทนต์ชั้นครู เขารู้ว่าเขาทำคอนเทนต์นี้ไปเพื่ออะไร

“จากข้อมูล Wisesight อธิบายได้ง่ายมาก คือ ถ้าเข้าใจเรื่องการตลาดจะเข้าใจเรื่องนี้ทันที ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการเสพคอนเทนต์ของมนุษย์ หรือเสพเรื่องราวในชีวิตของคนนั้นถูกแบ่งด้วยปัจจัย 2 ตัว คือ High Involvement และ Low Involvement”

เรื่องที่มี High Involvement คือ เรื่องที่มีความสำคัญกับชีวิตของคน เรื่องกำนันนกเป็น High Involvement เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมาก เป็นเรื่องของตำรวจที่มีประเด็นเรื่องการคอรัปชั่น เป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากเมื่อเทียบกับเรื่อง COP28 หรือ การประชุมประเทศภาคี (Conference of the Parties) ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 เป็นส่วนหนึ่งการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UN

Climate Change Conference) ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังดูเหมือนไกลตัวมาก จึงเรียกว่าเป็น Low Involvement สำหรับคนไทย

ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Media Alert และ Wisesight ที่พบว่ากลุ่มเนื้อหาอาชญากรรมที่ได้รับ engagement มากที่สุด คือ เหตุการณ์ยิงตำรวจที่บ้านกำนันนก และการบุกค้นบ้านบิ๊กโจ๊กหรือ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเนื้อหากลุ่มนี้ สื่อและสำนักข่าวคือกลุ่มผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลหรือสามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วยผู้ใช้งานทั่วไป โดย Facebook เป็นช่องทางที่มี Engagement มากที่สุด รองลงมาเป็น TikTok และ YouTube

สินค้าบางตัว(เท่านั้น) ที่เป็น “ประเด็น” การสื่อสารของทุกคน

คุณสุธีรพันธ์ กล่าวว่า iPhone เป็นสินค้าที่มีความแปลกกว่าสินค้าอื่นในแง่ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (sense of ownership) สำหรับแบรนด์อื่น ๆ นั้น ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะเป็นของแบรนด์นั้น อาทิ สินค้าและบริการของธนาคารไทยพาณิชย์ ความรู้สึกเป็นเจ้าของในสินค้านั้นจะเป็นเฉพาะของธนาคารไทยพาณิชย์ และลูกค้าบางกลุ่ม
ที่มีความภักดีในแบรนด์สูง แต่สำหรับ iPhone คนจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ iPhone มากกว่าบริษัทแอปเปิ้ล
พูดอีกมุมหนึ่งคือไม่ใช่เฉพาะบริษัทแอปเปิลที่รู้สึกว่าประเด็นเรื่อง iPhone เป็นของบริษัทหรือองค์กร ประเด็นเรื่อง iPhone เป็นของคนหลายกลุ่ม (segment) มาก

iPhone เป็นประเด็นของการสื่อสารที่มีมากกว่าแค่องค์กรหรือตัวผู้ใช้งานที่สนใจเรื่องนี้ คนที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี และแวดวงต่าง ๆ จะรู้สึกว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับ iPhone มีความเกี่ยวข้องกับเขา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำ Lifestyle Gadget หรือคนที่อยู่ในระบบนิเวศของ iPhone อาทิ ตัวแทนขาย รวมถึงบริษัทโทรคมนาคม เกี่ยวข้องทั้งสิ้น เวลา iPhone ทำอะไรจะสร้างแรงกระเพื่อมในระบบนิเวศทางธุรกิจของ Apple ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เห็นกับสินค้าอื่นที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจที่จำกัดแค่ตัวแบรนด์กับผู้ใช้งานเท่านั้น แม้กระทั่งสื่อเองก็มอง iPhone เป็นปรากฏการณ์ของสื่อที่ต้องให้ความสำคัญ “เฉพาะสินค้า iPhone ที่มีคาแรคเตอร์แบบนี้ ไม่ใช่ทุกสินค้าของ Apple เป็นเช่นนี้”

เมื่อ iPhone15 ไม่ใช่สินค้า แต่เป็นประเด็น เหมือนประเด็นเรื่องโลกร้อน เรื่องบล็อกเชน เรื่องเมตาเวิร์ส ที่ใครก็ต้องพูดถึง iPhone 15 จึงเป็นประเด็นการสื่อสารที่ต้องหยิบมาพูดไม่ว่าในมุมไหน มุมการรีวิว มุมการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ มุกตลก (มีม) หากต้องการมีความสัมพันธ์ (engagement) กับผู้รับสาร

การที่ผู้นำทางความคิด หรือ KOL (Key Opinion Leader) หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer) พูดถึง iPhone มาก เรื่องนี้คุณสุธีรพันธ์ บอกว่าไม่มีทางแยกออกว่าข้อความที่เกิดขึ้นจาก KOL หรือ Content Creator นั้นเกิดจากเป็นธรรมชาติหรือเป็นการจัดกระทำ เพราะการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการสื่อสารด้วยกลุ่มคนที่เป็น KOL, Influencer และ Content Creator เป็นการสื่อสารที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่มีสัญญาณบอกได้ว่าเป็นธรรมชาติ (organic) หรือเป็นการจัดกระทำ (paid)

สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Media Alert และ Wisesight ที่พบว่า ในกลุ่มเนื้อหาเทคโนโลยี กลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วย สื่อและสำนักข่าว โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด ที่ 53% รองลงมาได้แก่ Facebook 19% ตามด้วย X 16% และ Instagram 11%

 โดยส่วนตัว คุณสุธีรพันธ์ มองว่ามีธรรมชาติร่วมด้วย คือ ผู้ใช้งาน นักวิเคราะห์ คนที่เกาะกระแสเรื่องนี้ คนเหล่านี้สันนิษฐานได้ว่าเป็นธรรมชาติ แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่ามี Influencer มากน้อยอย่างไร ที่รับงานจากแบรนด์มาเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ แม้กระทั่งสื่อต่าง ๆ ที่รายงานข่าวเรื่อง iPhone ก็เป็นการหวังผลทางธุรกิจ เพราะสื่อมองว่า iPhone เป็นกระแสที่ต้องรายงาน สื่อพูดถึงเพราะต้องการอยู่ในกระแส คนทำคอนเทนต์ไม่อยากตกกระแส

 “คนที่ทำคอนเทนต์แล้วไม่ทำเรื่อง iPhone 15 แทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยต้องทำ 1-2 โพสต์ เพื่อเกาะกระแส ส่วนที่เป็นการจัดกระทำก็มีแน่นอน โดยเฉพาะจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากยอดขาย ซึ่งมีจำนวนมาก และเป็นผู้ที่ใช้การสื่อสารการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์กันหนักมาก”

 อีกประเด็นที่ทำให้ iPhone 15 ได้รับความสนใจมาก คือตัวสินค้าเองที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Major Change) คือ การใช้วัสดุไททาเนียม (Titamium) เป็นจุดขายใหม่ แต่มีประเด็นเรื่องความร้อนทำให้เกิดการถกเกียงกัน ภาษาการตลาดเรียกว่าเป็น noise ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบ แต่สร้างกระแสการพูดถึงที่มากขึ้น

 KOL (Key Opinion Leader), Influencer: เป็นธรรมชาติ (organic) หรือเป็นการจัดกระทำ (paid)

 การสื่อสารของ Influencer บนสื่อสังคมออนไลน์ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นการจัดกระทำ (Paid) ภาษาการตลาดเรียกว่าเป็น inorganic KOL หรือ inorganic Influencer หรือเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

 รูปแบบการตลาดแบบนี้ในปัจจุบันไม่สามารถแยกได้ว่าชิ้นไหนเป็นธรรมชาติ (organic) หรือเป็นการจัดกระทำ (paid) เพราะปัจจุบันการใช้การสื่อสารผ่านผู้ทรงอิทธิพลมีเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้น และมีกองทัพอินฟลูเอนเซอร์ในหลายระดับ แบรนด์หันมาใช้การตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้น

คุณสุธีรพันธ์ กล่าวว่า กระแสการสื่อสารแบรนด์และสินค้าบนโลกออนไลน์ เป็นทั้งการจัดกระทำและธรรมชาติ ชัดเจนมากในหลักการทำการตลาดยุคใหม่ที่ใช้วิธีการสื่อสารนี้ การใช้ influencer ในการตลาดเริ่มในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งสัดส่วนตอนนั้นอาจจะประมาณ 10% แต่ปัจจุบันเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น และการมาของ TikTok ในช่วงโควิด ที่ปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มที่ influencer ใช้กันมาก ซึ่งเนื้อหาการสื่อสารถึงแบรนด์หรือสินค้าส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์ม TikTok เป็นการจัดกระทำ (Paid) แทบทั้งสิ้น

 ตัวผู้สื่อสารหากเป็น content creator/KOL(Key Opinion Leader) ซึ่งหน้าที่ หรือ KPI (Key Performance Indicator คือ เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของผลงานเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่ได้ตกลงกันไว้) คือ การสร้างคอนเทนต์ที่ engage กับลูกค้าของแบรนด์ที่จ้าง คอนเทนต์ที่จะ engage ต้องเป็นคอนเทนต์ที่เกาะกระแส เรื่องที่สังคมสนใจ เป็นเรื่องกลาง ๆ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แต่ส่วนใหญ่สนใจเรื่องกลาง ๆ ไลฟ์สไตล์ บันเทิง

 ความยากของการกำหนดหรือประเมินความสำเร็จในการสื่อสารของ content creator/ Influencer

 การใช้เครื่องมือสื่อสารด้วยอินฟลูเอนเซอร์ หรือ content creator มีข้อควรระวังคือ ไม่สามารถควบคุมความสำเร็จของการสื่อสารได้ (ต่างจากการซื้อสื่อและซื้อการสืบค้นที่สามารถควบคุมจำนวนตัวเลขต่าง ๆ ได้ อาทิ ตัวเลขการมองเห็น ตัวเลขการปฏิสัมพันธ์ ตัวเลขการถูกค้นพบ ขึ้นกับขนาดของเม็ดเงินที่ใช้ รวมถึงกำหนดกลุ่มผู้รับสารได้ว่าจะให้ไปถึงคนกลุ่มไหน ควบคุมพื้นที่ของกลุ่มผู้รับสารได้) ความสำเร็จอาจจะน้อยกว่า หรือมากกว่าที่คาดคิด ควบคุมไม่ได้ด้วยว่าจะให้เนื้อหาไหลไปที่ไหน และไหลไปถึงใคร พอควบคุมการไหลของข่าวสารไม่ได้ คนที่วางกลยุทธ์การสื่อสารจะมีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ออกแบบไม่ได้ ไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้สูง

 สำหรับสื่อเอง ด้วยรูปแบบธุรกิจสื่อ ทำให้สำนักข่าวมีหลายแบบ คุณสุธีรพันธ์ กล่าวว่า การเป็นสำนักข่าวแบบที่มีภารกิจ (incumbent news agency) สำนักข่าวที่นักข่าวไม่สามารถรับสิ่งตอบแทนได้ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ดี เชื่อว่ายังมีอยู่ ตัวนักข่าวอาจจะไม่ได้รับ แต่ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขายของสื่อนั้นรับงานมา ปัจจุบันด้วยรูปแบบการขายพื้นที่สื่อที่

เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นการขายแบบเดิม คือ การขายพื้นที่ (ads space) และขายเวลา (airtime) สื่อมีรูปแบบการหารายได้ที่เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่ซับซ้อน เช่น การ tie-in เข้าไปในเนื้อหาข่าว การจัดสัมมนาแล้วให้แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของการทำคอนเทนต์ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าแบรนด์ที่สามารถพูดในงานสัมมนาได้นั้นเพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนงานสัมมนาหรือเพราะว่าเขามีเรื่องราวที่น่าสนใจจนสื่อเชิญเขาไปขึ้นเวที

สื่อสารประเด็นสาธารณะอย่างไร ในภาวะความกลัวการตกกระแส Fear of Missing Out (FOMO)

หากถอดสูตรการสื่อสารออกมาจะพบว่า กระแสการสื่อสารเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่มักจะสนใจหัวข้อที่คนอื่นสนใจ เรียกว่า Fear of Missing Out (FOMO) เรื่องอะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ คนจะมีแนวโน้มไม่อยากสนใจ เพราะไม่รู้ว่าจะสนใจทำไม สังคมคนรอบข้างไม่มีใครชวนคุยเรื่องนี้

อาทิ ปัจจุบันในองค์กรหากไม่พูดเรื่อง green เรื่อง climate เป็นเรื่องแปลก เชื่อว่าทุกองค์กรพูดถึงเรื่องนี้ ด้วยระเบียบโลกใหม่ที่มีผลต่อทุกองค์กร

เรื่องนี้บอกเราว่า เรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ หากเรารอให้ประเด็นนั้นเติบโตแบบธรรมชาติ รอให้คนสนใจเอง ถ้าประเด็นนั้นไม่ได้เกี่ยวพันกับชีวิตเขามากนัก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรอให้ประเด็นนั้นได้รับความสนใจแบบธรรมชาติ

“ผู้ที่วางนโยบายการสื่อสารประเด็นสาธารณะจะต้องมีการออกแบบการสื่อสารเพื่อให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึง รวมถึงออกแบบเครื่องมือการสื่อสารที่น่าจะได้ผล ในการออกแบบการสื่อสารที่ถูกต้อง ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารก่อน จากนั้นจึงค่อยเลือกแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เหมาะสม”