“ภูมิทัศน์สื่อ” กับ “การกำหนดวาระข่าวสาร” ของสังคมไทย
นับวันโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเชื่อมผู้คนถึงกันอย่างกว้างขวางและรวดเร็วได้เข้ามามีบทบาท
สร้างพลังทางสังคมในการจุดประเด็นสาธารณะ ปลุกกระแสความคิด และเพิ่มช่องทางตรวจสอบผู้ถืออำนาจรัฐ องค์กร หรือบุคคลทั่วไป ทำให้วาระข่าวสาร (Agenda Setting) นอกจากจะถูกกำหนดโดยสื่อกระแสหลักที่มีอยู่เดิม แต่ยังเพิ่มเติมด้วยภูมิทัศน์ของสื่อใหม่เช่นสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสามารถกระจายพื้นที่การรับรู้ข่าวสารและเข้าถึงผู้รับสารได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Wisesight สนใจในการสื่อสารทางออนไลน์
ในสังคมไทย ทั้งมิติ ช่องทาง ความเห็น ความรู้สึกต่อประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมทางออนไลน์ จึงร่วมกัน
ดำเนินงานโครงการสำรวจการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยในปี 2566 เริ่มจากในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม–สิงหาคม 66) พบสิ่งที่น่าสนใจทั้งในมิติของเนื้อหาที่ผู้คนให้ความสนใจและแพลตฟอร์มที่ผู้คนนิยม
ใช้เพื่อสื่อสารและรับสาร รวมถึงความน่าสนใจในมิติของตัวผู้ส่งสาร ความเข้มข้นของปฎิสัมพันธ์ที่ผู้คน
มีต่อข่าวสารนั้น ๆ
ความน่าสนใจที่พบ คือ สังคมออนไลน์ของไทยให้ความสนใจในประเด็นการเมืองค่อนข้างสูงมาก เห็นได้จากประเด็นการสื่อสารส่วนใหญ่ของผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์แทบทุกแพลตฟอร์มตลอดช่วงค่อนปีที่ผ่านมา
ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จวบจนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” พฤติกรรมการสื่อสารของคนไทยบนสื่อสังคมออนไลน์กลับสู่ความสนใจเรื่องความบันเทิง
อีกครั้ง
ความสนใจของโลกออนไลน์ใน 4 แพลตฟอร์ม ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 66
จากการเก็บข้อมูลบน 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูป ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า โลกออนไลน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสูงสุดถึง 66% ส่วนความบันเทิงอยู่ที่ 23% เมื่อสำรวจลงลึกถึง 10 ประเด็นแรกที่ได้รับ engagement สูงสุด ปรากฎข้อมูลท็อป 5 ยังคงเป็นประเด็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงของพรรคก้าวไกล การดีเบต การจัดตั้งรัฐบาล นโยบายพรรคเพื่อไทย และความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นที่เหลือเป็นเรื่องความบันเทิง กิจกรรม Outing ของดารานักแสดงบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023, กระแสละครมาตาลดาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ กระแสป็อป
คัลเจอร์โดยเพลงธาตุทองซาวด์ของยังโอมที่ปลุกชีพยุค Y2K กลับมาอีกครั้ง การประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์รอบสุดท้าย รวมถึงประเด็นกีฬาจากการแข่งขันซีเกมส์ล่าสุดที่ประเทศกัมพูชา
เมื่อเพิ่มติ๊กต็อกในแพลตฟอร์มที่ศึกษาจากเดือนกรกฎาคม 66 เป็นต้นไป
เดือนกรกฎาคม 2566 ได้เพิ่มการสำรวจในติ๊กต็อก ทำให้เป็นเดือนแรกที่มีการเก็บข้อมูลจากเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์
อินสตาแกรม ยูทูป และติ๊กต็อก ปรากฎว่า 10 ประเด็นแรกที่ได้รับความสนใจสูงยังคงเป็นประเด็นการเมือง
ถึง 8 ใน 10 ประเด็น โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกล การเป็นแกนนำ
จัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเด็น คือ
ละครมาตาลดา และพลายศักด์สุรินทร์เดินทางกลับไทย โดยผู้ส่งสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์
ทั่วไป รองลงมา คือ สื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ แบรนด์และภาครัฐ ตามลำดับ เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเดือนนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ของการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ยังให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองเป็นอย่างมากอาจเป็นเพราะสื่อและผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์
ยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นทางการเมืองยังคงได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งยังพบข้อชวนสังเกต คือ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปเลือกใช้แพลตฟอร์มติ๊กต็อกเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว และยังพบว่าพรรคก้าวไกลได้ตั้งบัญชีติ๊กต็อกของพรรคอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานติ๊กต็อกเป็นจำนวนมากซึ่งจะเห็นได้จากการโพสต์ประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกล
สิงหาคม 66 เดือนที่ 8 ของปี ที่ทำการศึกษาการสื่อสารใน 5 แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ผลสำรวจ 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป
และติ๊กต็อก พบว่า 10 ประเด็นทางการเมืองยังคงมียอด engagement สูงถึง 53% รวมถึงความสนใจในประเด็นการเมืองยังมีมากถึง 5 จาก 10 ประเด็นที่มี engagement สูง ทั้งมีการแสดงออกต่อประเด็นการเมืองด้วยการ
ติดแฮชแท็ก เช่น #นายกคนที่30 #นายกส้มหล่น #notmypm #โหวตนายกครั้งที่3 #ประชุมสภา ขณะเดียวกัน
ก็ให้ความสนใจในสื่อบันเทิงในสัดส่วนถึง 47% ด้วยการสร้างกลุ่มคนคอเดียวกัน เช่น กลุ่มของแฟนคลับดาราที่แชร์คอนเทนต์แล้วติดแฮชแท็กที่เกี่ยวกับละครหรือนักแสดงที่ชื่นชอบร่วมกัน ส่วนแพลตฟอร์มติ๊กต็อกยังคงเป็นช่องทางหลักที่สร้างการปฏิสัมพันธ์ได้เป็นอันดับหนึ่งเช่นเดียวกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าสนใจ
เพิ่มเติม คือ ผู้ใช้งานติ๊กต็อกส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปมากถึง 60% ของ engagement ทั้งหมดของติ๊กต็อก เมื่อเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มหลักอย่างเฟซบุ๊คที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วไปเพียง 14% ของ engagement
ทั้งหมดของเฟซบุ๊ก
การเมือง การเลือกตั้ง ทำให้สื่อสังคมออนไลน์สร้างสมดุลการสื่อสารและปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere)
รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นว่า สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาการเลือกตั้ง
และระหว่างเกิดสูญญากาศทางการเมือง เพราะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทในการเป็น
เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง และใช้ช่องทางนี้ในการกำหนดกลยุทธ์และส่งต่อแคมเปญการเมืองต่าง ๆ
รวมถึงวางตำแหน่งของผู้ส่งสารซึ่งก็คือนักการเมืองให้เป็นจุดสนใจของประชาชน ขณะที่สื่อกระแสหลัก
เลือกใช้ทั้งช่องทางสื่อสารเดิมที่มีอยู่ (Linear) เช่น ทีวี รวมถึงใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นทางการ
ในการเปิดเวทีดีเบตให้นักการเมืองมาพูดด้วยเสียงของตัวเอง สังคมจึงเห็นภาพการกำหนดวาระข่าวสาร
ที่ขับเคลื่อนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างสูง
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ภูมิทัศน์สื่อ ณ ปัจจุบันมีความสมบูรณ์และสมดุลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน วัดจากการที่ทุกคนสามารถสะท้อนเสียงของตัวเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้างขึ้นได้เอง มีช่องทางในการส่งข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่แค่โดยรัฐ นักการเมือง องค์กร ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ดารา คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ แต่ยังหมายถึงประชาชนคนธรรมดาที่สามารถผลิตคอนเทนต์ที่ไม่ได้จริงจังนักแต่สามารถสร้าง “มีม” สร้างมุกขำขันล้อเลียนที่ให้ความบันเทิงและจูงใจให้เกิด engagement หรือผู้ติดตามเป็นจำนวนมากได้
“ความที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นพื้นที่ปลอดรัฐ ปลอดการควบคุม ทำให้คนในสังคมนิยมเสพย์สื่อประเภทนี้เพื่อค้นหาคอนเทนต์บางอย่าง เกิดเป็นปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ที่เสียงของประชาชนได้ถกแถลงแสดงออก ได้ส่งเสียงกรีดร้อง ระบายความรู้สึก แม้ว่าเสียงสะท้อนเหล่านั้นอาจไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ทุกครั้ง แต่ก็สร้างกระแสกดดันบางอย่างได้เหมือนกัน”
รองศาสตราจารย์พิจิตราชวนคิดว่า หากเปรียบเทียบแพลตฟอร์มออนไลน์ Top 3 ที่ได้รับความนิยมตามผลงานวิจัย “ติ๊กต็อก (Tik Tok)” นับว่ามีบทบาทสูงเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มก่อนหน้านี้ ด้วยอัลกอริธึมที่เปิดกว้างให้เข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่าย ฟีเจอร์ใช้งานที่มีลูกเล่นแพรวพราวมากกว่า เน้นสร้างความบันเทิงเป็นที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ และสร้างยอดการเอนเกจได้มาก โดยมีตัวเลขการใช้งานตามผลการวิจัยที่สูงราว 35% ขณะที่แพลตฟอร์มก่อนหน้านี้ เช่น เฟซบุ๊คมีการใช้งานราว 33% และเอ็กซ์หรือเดิมคือทวิตเตอร์อยู่ที่ 19%
“ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป จะเห็นว่าบางพรรคการเมือง เช่น ก้าวไกลใช้ติ๊กต็อกเป็นสื่อในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ นักการเมืองบางคนที่ไม่ได้มีโอกาสขึ้นเวทีดีเบตก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์แทนได้เช่นกัน แต่เมื่อพลวัตการสื่อสารเกิดใหม่ทำให้มีช่องทางหลากหลาย ทุกคนก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นเพื่อแตะให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย”
การใช้แพลตฟอร์มเปลี่ยนแปลงตามคอนเทนต์และผู้ใช้งาน
ธรรมชาติของทุกแพลตฟอร์มจะคำนึงถึง “ความสนุกในการใช้งาน” ทำให้คอนเทนต์ที่ผลิตออกมามุ่งเน้นที่ความบันเทิงเป็นหลัก แต่ก็จะมีคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มความสนใจ (Niche) เช่น การเมือง การเงิน เศรษฐกิจ เป็นต้น การกระจายการใช้แพลตฟอร์มจึงแตกต่างออกไปตามคอนเทนต์และผู้ใช้งาน
ติ๊กต็อกนั้นมีภาษีดีกว่าในเรื่องของการทำคลิปวิดีโอประกอบเพลงซึ่งถูกซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานสามารถนำมาประกอบการสร้างคอนเทนต์ที่สั้น ๆ เสพย์แบบเร็ว ๆ และให้ความสนุกสนานเฮฮาได้ไม่ต่างจากการดูโทรทัศน์ จึงมัดใจฐานคนรุ่น Gen Z
ขณะที่ในสายตาของคนสายเทคโนโลยีจะบอกว่า รูปแบบของไลน์จะเป็นการแชร์หรือส่งต่อง่าย ๆ เหมือนอีเมล์จึงเหมาะกับผู้สูงอายุ ส่วนการใช้งานเฟซบุ๊คจะอยู่ในรูปแบบข้อความเป็นส่วนใหญ่ และบางคอนเทนต์ก็ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะให้เข้าถึงได้นอกจากกลุ่มเพื่อน ก็จะได้กลุ่มผู้ใช้งานเป็นคนรุ่นเจนเอ็กซ์ เจนวายต้น ๆ ส่วนทวิตเตอร์เดิมผู้ใช้หลักจะเป็นคนทั่วไป อินฟลูเอนเซอร์ ดาราแล้วก็สายเกม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเอ็กซ์กลับแผ่วลงเนื่องจากนโยบายที่ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรองศาสตราจารย์พิจิตรากลับเห็นว่า ต่อให้มีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นใหม่มากเท่าไร เฟซบุ๊คก็ไม่ตาย เพราะเฟซบุ๊คเป็นแหล่งรวมของบุคคลที่มีส่วนกำหนดวาระข่าวสารและวาระสังคม ทั้งองค์กรรัฐและเอกชน นักการเมือง สำนักข่าว สื่อ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นจุดเริ่มต้น และด้วยรูปแบบการเผยแพร่คอนเทนต์ที่ค่อนข้างจริงจังและเป็นทางการมากกว่า จึงถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลต้นทางที่นำไปเผยแพร่ต่อในแพลตฟอร์มอื่น ๆ
“งานวิจัยที่เคยเก็บข้อมูลเมื่อ 4-5 ปีก่อน คนแทบจะดูเฟซบุ๊คแทนทีวี เฟซบุ๊คคนที่นำ (Lead) ก็คือ นักข่าว คนที่โพสต์และเอนเกจเยอะสุดก็คือ สื่อมวลชน”
สื่อกระแสหลักยังคงกำหนดวาระข่าวสารและสังคมบนโลกโซเชียล
รองศาสตราจารย์พิจิตรา วิเคราะห์ว่า แม้สื่อสังคมออนไลน์จะก่อเกิดแรงกระเพื่อมต่อบทบาทหน้าที่ของสื่อกระแสหลักในการกำหนดวาระข่าวสารและสังคม ทว่าโดยภาพรวมกลับทำให้ความเป็นสื่อแข็งแกร่งขึ้น ทั้งกระตุ้นให้สื่อกระแสหลักต้องปรับตัวเองโดยเฉพาะการขยายช่องทางสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเปิดพื้นที่ในการชี้ชวนสังคม โดยมีเนื้อหาข่าวเป็นตัวกำหนดวาระ ล้อมรอบด้วยเสียงของประชาชนที่เอนเกจเข้ามาผ่านคอมเมนต์ใต้ข่าว ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับความสนใจมากกว่าเนื้อหาข่าวด้วยซ้ำ และทำให้สื่อกระแสหลักกลายเป็น “ฮับ (Hub)” ของปริมณฑลสาธารณะ ในประเด็นต่าง ๆ
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์พิจิตรา ยังให้เหตุผลได้น่าสนใจว่า เพราะการผลิตคอนเทนต์บนสื่อสังคมออนไลน์ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จและมีผู้ติดตามเสมอไป เนื่องจากอัลกอริธึมของบางแพลตฟอร์มมีการปิดกั้นการมองเห็น ทำให้ผู้ใช้งานบางรายหรือบางองค์กรจำเป็นต้องนำคอนเทนต์ไปผูกกับสื่อกระแสหลัก เช่น ทีวีออนไลน์ซึ่งมีฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว หรืออินฟลูเอนเซอร์จากสายต่าง ๆ อาทิ สายเศรษฐกิจ การเมือง หรือ แฟชั่น เป็นต้น ในการทำอีเวนต์เพื่อให้เกิดการมองเห็นหรือติดตามมากขึ้น
“สุดท้ายสื่อดั้งเดิมที่เป็นลิเนียร์และสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นสื่อกระแสหลักที่ทำงานคู่ขนานกันไป เพียงแต่สื่อสังคมออนไลน์จะมีความได้เปรียบมากหน่อยตรงที่การได้รับผลตอบกลับหรือฟีดแบ็คที่รวดเร็วกว่า แต่ผู้กำหนดวาระหลักยังคงเป็นตัวสื่อสารมวลชนเอง หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลสาธารณะโดยมีสื่อเป็นผู้กระจายข่าวสาร”
ทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากการถูกชี้นำ ถูกปิดกั้นการรับรู้ ตกเป็นเหยื่อข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลไม่รอบด้าน
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์พิจิตราเตือนว่า สิ่งที่น่ากลัว คือ ทำอย่างไรไม่ให้สื่อทั้งสองช่องทางถูกใช้ในการจัดการ หรือปิดกั้นการรับรู้ ด้วยข้อมูลที่บิดเบือน หรือไม่รอบด้าน ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยรัฐหรือผู้มีอำนาจ ผ่านมา
ทางสื่อส่งต่อถึงประชาชน และด้วยอำนาจของแพลตฟอ์มนั้น ๆ เองที่สามารถกำหนดอัลกอริธึมได้ตามใจชอบ
เช่น คอนเทนต์แนะนำที่ถูกส่งมาที่หน้าจอมือถือของเราโดยอัตโนมัติเพียงเพราะมีคนคอมเมนต์เยอะ มีคนกดไลค์มาก ทำให้การรับรู้ข่าวสารของคนมีความบิดเบี้ยวไปเหมือนกัน ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการป้องกันการเสพย์สื่อที่โน้มเอียงไปในทาง Manipulate ผู้รับสาร ซึ่งรองศาสตราจารย์พิจิตราได้ให้ข้อแนะนำไว้ คือ
1. ผู้ใช้สื่อควรเลือกตามข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลัก หรือสำนักข่าวออนไลน์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งช่วยลดเวลา
ในการสืบค้นติดตาม และทำตัวเองให้ปลอดจากการรับรู้ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ รวมถึงการถูกจูงใจ
ด้วยข้อมูลผิด ๆ ตลอดจนการตระหนักรู้ว่า ข่าวใดเป็นข่าวแจก ช่าวขอมา หรือข่าวจูงใจเพื่อปั่นกระแส
2. สื่อมวลชนต้องพยายามเรียนรู้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ใหม่ ๆ เพื่อผลิตสื่อที่เข้าถึงประชาชน
ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะมีส่วนช่วยกันผู้รับสารออกจากคอนเทนต์ขยะ (Junk) ที่ไม่เกิดประโยชน์และไม่น่าเชื่อถือ
แต่อย่างใด
3. การเปิดรับและใช้งานแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของประเทศต่าง ๆ ก็ควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะของประเทศตัวเองด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่แพลตฟอร์มได้จากผู้ใช้งานไปนั้นแพลตฟอร์มมีนโยบายในการป้องกันหรือเซ็นเซอร์หรือไม่อย่างไร เช่น ตั้งแต่มีติ๊กต็อกเกิดขึ้น ภาครัฐในหลายประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาหันมาเข้มงวดเรื่องแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์มากขึ้น บางรัฐในสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ติ๊กต็อกไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มหรือดีไวซ์ต่าง ๆ เกาหลีก็ไม่ให้ประชาชนใช้ติ๊กต็อก ซึ่งก็ดูไม่ได้มีปัญหา เพราะเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มใช้เองได้ ต่างจากประเทศไทยที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง
“สื่อสังคมออนไลน์ให้ผลลัพธ์ทั้งด้านบวกและลบ แต่ขอสนับสนุนให้มีดีกว่าไม่มี เพราะถึงอย่างไรก็ยังถูกใช้ไปเพื่อเป็นปริมณฑลสาธารณะเชิงบวกมากกว่า รวมถึงทำให้ประชาชนมีสื่อเป็นเครื่องมือ เพียงแต่ต้องเพิ่มการตระหนักรู้ในการติดตาม และใช้งานอย่างระมัดระวัง ส่วนเจ้าของแพลตฟอร์มก็จะต้องมีหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกัน
เรื่องคอนเทนต์ที่ไม่พึงประสงค์”
เมื่อสังคมออนไลน์ใช้อารมณ์เป็นหลัก ทางออก คือ การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) และ ความโปร่งใส
รองศาสตราจารย์พิจิตราตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า สื่อสังคมออนไลน์ได้สร้าง 2 วัฒนธรรมใหม่ให้กับผู้คนในสังคม คือ “วัฒนธรรมที่เน้นอารมณ์และความคิดเห็นเป็นหลัก” โดยมีพื้นที่บนโลกออนไลน์เป็นที่ระบาย รวมถึงการเฮละโลไปตามกระแสบอกต่อ (Viral) ที่มาไวไปไว ทำให้การอยู่กับวาระในแต่ละเรื่องมักสั้นและปล่อยผ่านไปในเวลา
ไม่นาน ขณะเดียวกัน สื่อสังคมออนไลน์ยังจุดประกาย “วัฒนธรรมของความอยากรู้ อยากขุดคุ้ยและตรวจสอบ”
เกิดความกล้าท้าทายอำนาจมากขึ้น
“เมื่อเราอยู่ในสังคมออนไลน์ที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก วิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ไม่ว่าโดยรัฐ หน่วยงาน องค์กรใด ๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ไม่อย่างนั้นคนในสังคมก็จะเถียงวนไปวนมาอยู่บนฐานของอารมณ์มากกว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริง สุดท้ายทุกคนก็จะเหนื่อยกันหมด”
นี่คือ บทวิเคราะห์ของ รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อผลการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยในปี 2566 ในช่วงเดือน มกราคม–สิงหาคม 66 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ผู้สนใจสามารถติดตามผลการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยในอีก 4 เดือนสุดท้ายของปี 66 ซึ่งจะรายงานผลการสำรวจรายเดือน พร้อมบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ ทางช่องทางนี้ ต่อไป
ความเห็นล่าสุด