เลือกหน้า

ในยุคที่เนื้อหาบันเทิงมีอิทธิพลต่อความคิดและค่านิยมของผู้ชม
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทดลองใช้ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละครโทรทัศน์ ที่พัฒนาโดยคณะทำงานฯ ใน กสทช. เพื่อประเมินคุณภาพละครเรท “ท” และ “น13+” ที่ได้รับความนิยม เป็นหน่วยการศึกษา จำนวน 4 เรื่อง และค้นหาคำตอบว่าละครโทรทัศน์ไทยมีคุณภาพและคุณค่า ในระดับใด

“คุณภาพละครไทย” ในทีวีดิจิทัล กับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของ กสทช.

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดผลการประเมินคุณภาพรายการละครตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพที่คณะทำงานฯ ใน กสทช. ได้จัดทำขึ้น โดยประเมินคุณภาพละครทั้งเรท “ท” และ “น13+” รวม 4 เรื่อง

วัตถุประสงค์การศึกษา

  • เพื่อประเมินคุณภาพรายการประเภทละครทั้งเรท “ท” และ “น13+” ด้วย (ร่าง) เกณฑ์ที่จัดทำโดยคณะทำงานฯใน กสทช. และจัดทำข้อเสนอ

วิธีการศึกษา: วิเคราะห์เนื้อหาด้วย (ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพของคณะทำงานฯ ใน กสทช.

วิธีการคัดเลือกหน่วยการศึกษา

  • อยู่ใน 3 อันดับละครยอดนิยมเรตติ้งทีวีดิจิทัลหรือในสื่อสังคมออนไลน์ตามรายงานการจัดอันดับเรทติ้งทีวีดิจิทัลข้ามแพลตฟอร์มในช่วงไตรมาสที่ศึกษา
  • เป็นละครผลิตใหม่จากต่างช่องสถานีโทรทัศน์
  • เป็นละครที่มีการจัดระดับความเหมาะสมที่แตกต่างกัน (ท และ น13+)
  • ได้หน่วยการศึกษา คือ ละครเรท “ท” ได้แก่ สงครามสมรส (ช่อง ONE) และนางฟ้ากรรมกร (ช่อง ONE) ส่วนละครเรท “น13+” ได้แก่ ลมเล่นไฟ (ช่อง 3) และใจซ่อนรัก (ช่อง 3)  

(ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพรายการประเภทละคร

ในปี 2566 กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดกระบวนวิธีวิทยาในการตรวจสอบและประเมินคุณภาพเนื้อหารายการ (Social Credit) เพื่อใช้สำหรับวัดระดับคุณภาพรายการ สำหรับรายการละครโทรทัศน์ได้มีการออกแบบ (ร่าง) เกณฑ์ประเมินคุณภาพรายการประเภทละคร โทรทัศน์โดยแบ่งเป็น

  • ระดับบรรทัดฐานคือ คุณภาพพื้นฐานที่รายการละครโทรทัศน์ต้องมี 8 ตัวชี้วัด
  • ระดับสูงกว่าบรรทัดฐานคือ คุณภาพของละครโทรทัศน์ที่ช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาผู้ชม 10 ตัวชี้วัด

*ทั้งนี้ (ร่าง) เกณฑ์ข้างต้นนี้พัฒนามาเพื่อประเมินคุณภาพละครโทรทัศน์เรท “ท” แต่เพื่อการพัฒนาเกณฑ์ในการประเมินให้ครอบคลุมรายการที่จัดระดับความเหมาะสมเรทอื่นๆ จึงนำ (ร่าง) เกณฑ์นี้มาทดลองใช้กับการประเมินละครเรท “น13+ ด้วย

คะแนนการประเมิน

  • พบเนื้อหา = 1 /ไม่พบ = 0 คะแนน
  • ยกเว้น “การนำเสนอเนื้อหาที่ควรจำกัด” พบ = ลบ 1 ไม่พบ = 1 คะแนน

เกณฑ์ระดับคุณภาพ

  • 96-100% ดีเยี่ยม
  • 80-95% ดีมาก แต่ไม่ครบทุกตัวชี้วัด
  • 65-79% ดี แต่ไม่ครบทุกตัวชี้วัด
  • 50-64% พอใช้ พบข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

ต่ำกว่า 50% ไม่ผ่านเกณฑ์

คุณภาพระดับบรรทัดฐานของละครโทรทัศน์เรท “ท” และ “น13+”

ด้านวัตถุประสงค์ของรายการ

  • ละครเรท “ท” และ “น13+” มีจุดแข็งในการให้ความบันเทิงและสร้างอารมณ์ร่วมได้ดี

ด้านเนื้อหาเชิงคุณค่า

  • ละครเรท “ท” สอดแทรกสาระเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว การแก้ปัญหา และคุณธรรมจริยธรรมได้ดี โดย สงครามสมรส เน้นสิทธิในครอบครัวและความยุติธรรมทางกฎหมาย ขณะที่ นางฟ้ากรรมกร นำเสนอการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานและการช่วยเหลือกันในสังคม
  • ละครเรท “น13+” มีสาระเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและมิตรภาพในสังคม ลมเล่นไฟ กล่าวถึงปัญหาครอบครัวที่ส่งผลต่อชีวิต ส่วน ใจซ่อนรัก สอดแทรกสาระเรื่องมิตรภาพและคุณค่าร่วมได้ดีทุกตอน

ด้านเนื้อหาที่ควรจำกัด (ความรุนแรง เพศ ภาษา และภาพตัวแทน)

  • ละครเรท “ท” สงครามสมรส มีการใช้ภาษาหยาบคาย (52.4%) และความรุนแรง (38.1%) ในระดับสูง ส่วน นางฟ้ากรรมกร มีการใช้ภาษาหยาบคาย (3.5%) และความรุนแรง (20.7%) ในระดับต่ำกว่า ส่วนด้านภาพตัวแทน สงครามสมรส มีอคติทางเศรษฐกิจและชนชั้น ส่วน นางฟ้ากรรมกร มีการดูหมิ่นชนชั้นอยู่บ้าง
  • สรุปได้ว่า ละครเรท”ท” มีจุดดีที่ไม่เน้นตอกย้ำประเด็นเพศ แต่ยังพบเนื้อหาที่ควรระวังคือ 1) ความหยาบคาย และ 2) ความก้าวร้าวรุนแรง
  • ละครเรท “น13+” ลมเล่นไฟ มีฉากความรุนแรงและการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมเกือบทุกตอน ใจซ่อนรัก มีเนื้อหาเกี่ยวกับอบายมุขในบางตอน ในด้านเนื้อหาเกี่ยวกับเพศพบว่า ทั้งสองเรื่องมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่จำเป็นประมาณ 30% ของเนื้อหา ประเด็นภาพตัวแทนพบว่าทั้ง 2 เรื่องยังมีอคติเชิงเพศและการดูหมิ่นบุคคลบางกลุ่ม
  • สรุปได้ว่า ละครเรท “น13+” ยังเน้นจุดขายในด้าน 1) ความก้าวร้าวรุนแรง 2) ภาษาหยาบคาย 3) การแสดงออกทางเพศที่ไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่อง

สรุปผลการประเมินคุณภาพระดับบรรทัดฐาน

  • เรท “ท” สงครามสมรส ได้ 71.37% ส่วนนางฟ้ากรรมกร ได้ 93.13%
  • เรท “น13+” ใจซ่อนรัก ได้ 78.12% และลมเล่นไฟได้ 41 %
  • ละครเรท “น13+” มีคะแนนสูงกว่าละครเรท “ท”

ผลดังกล่าวสะท้อนว่า การจัดเรทอาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของละคร อาจมาจากมาตรฐานการจัดเรทที่ไม่ชัดเจน การใช้วิจารณญาณที่ต่างกันของผู้ผลิต และการกำกับดูแลของ กสทช.

คุณภาพสูงกว่าบรรทัดฐานของรายการละครโทรทัศน์เรท “ท” และ “น13+” 

ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และประโยชน์ต่อสังคม

  • ละครเรท “ท“ สอดแทรกสาระด้านสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการใช้ชีวิตในสังคมได้ดี โดย สงครามสมรส เน้นสิทธิของผู้หญิงและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในครอบครัว นางฟ้ากรรมกร นำเสนอการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานและสร้างแรงบันดาลใจในการเอาชนะอุปสรรค
  • ละครเรท “น13+ พบว่าทั้ง 2 เรื่องมีพล็อตเข้มข้นและสะท้อนปัญหาสังคม แต่การสอดแทรกสาระและแรงบันดาลใจอยู่ในระดับปานกลาง

การส่งเสริมทักษะชีวิตและระบบวิธีคิด

  • ละครเรท “ท“ ส่งเสริมทักษะชีวิตและการคิดวิเคราะห์ในระดับดี โดยสงครามสมรส เน้นส่งเสริมการแก้ปัญหาภายในครอบครัวและความขัดแย้งในชีวิตด้วยกฎหมาย ขณะที่นางฟ้ากรรมกรนำเสนอการเอาตัวรอดและการวางแผนชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ละครเรท “น13+“ ทั้ง 2 เรื่องพบว่า มีเนื้อหาส่งเสริมทักษะชีวิต นำเสนอปัญหาและความขัดแย้งเข้มข้น แต่ขาดการชี้นำวิธีการแก้ปัญหาที่ชัดเจน

การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และยอมรับความหลากหลายทางสังคม

  • ละครเรท “ท” สอดแทรกคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และการเสียสละได้ดี สงครามสมรสเน้นความยุติธรรมและสิทธิของผู้หญิง นางฟ้ากรรมกร เน้นความกตัญญูและการช่วยเหลือในชุมชน
  • ละครเรท “น13+” ทั้ง 2 เรื่องพบการสอดแทรกคุณธรรมและการยอมรับความหลากหลายทางสังคมในระดับปานกลาง

สรุปผลการประเมินระดับสูงกว่าบรรทัดฐาน 

  • ละครเรท “ท” สงครามสมรส ได้ 20% และนางฟ้ากรรมกร ได้ 56.50%
  • ละครเรท “น13+” ลมเล่นไฟได้ 2% และใจซ่อนรักได้ 48.75%
  • ค่าคะแนนของละครเรท “น13+” สะท้อนว่า การเพิ่มคุณภาพของละครควรให้ความสำคัญกับความรุนแรงในการใช้ภาษา การสอดแทรกทักษะชีวิต และการยอมรับความหลากหลายทางสังคม

จากงานวิจัยสู่แนวทางพัฒนาละครไทยให้มีคุณภาพ

ข้อเสนอแนะต่อเกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละคร

  1. ใช้มาตรวัดที่ละเอียดขึ้นในการให้คะแนน จากการให้คะแนน “พบ/ไม่พบ” ควรใช้ Likert Scale (5 ระดับ) เพื่อวัดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาต่าง ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
  2. ปรับปรุงตัวชี้วัดให้ชัดเจนและมีอำนาจในการจำแนกคุณภาพ โดยการตรวจสอบรายละเอียดในตัวชี้วัด ไม่ให้ซ้ำซ้อนภายในเกณฑ์เดียวกันและระหว่างเกณฑ์ รวมถึงการลดความเป็นนามธรรมของตัวชี้วัด ไม่ให้ขึ้นอยู่กับการตีความหรือดุลพินิจของผู้ประเมิน
  3. ใช้วิธีการประเมินคุณภาพละครแบบผสมผสาน ทั้งเชิงคุณภาพที่ใช้เกณฑ์การประเมินรายตอนและวิธีการเชิงคุณภาพด้วยการประเมินภาพรวมร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย
  4. ทบทวนตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนคุณภาพละครอย่างแท้จริง เช่น ตัวชี้วัดด้านความนิยมจากผู้ชมในต่างประเทศ เพราะการถูกตัดต่อบางส่วนไปเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศอาจหมายความถึงการเป็นกระแส แต่อาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของละคร

ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิตละคร และองค์กรสื่อ

1.นำตัวชี้วัดไปปรับใช้เป็นคู่มือ สำหรับทีมผลิตในการตรวจสอบคุณภาพทั้งก่อนและหลังการออกอากาศ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2.อบรมบุคลากรผู้ผลิต ให้เข้าใจตัวชี้วัดคุณภาพละครโทรทัศน์อย่างชัดเจน และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ประเมินฝ่ายต่างๆ

3.ร่วมกับ กสทช. ในการพัฒนาคุณภาพละครโทรทัศน์แต่ละเรท ให้มีเกณฑ์การประเมินคุณภาพที่สอดคล้องกับการจัดเรทหรือความเหมาะสมของเนื้อหาต่อกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานกำกับดูแล

1.พัฒนาระบบประเมินและติดตามผล ใช้ทั้งข้อมูลปริมาณและคุณภาพ รวมถึงติดตามผลกระทบระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในการกำกับดูแลเนื้อหา

  1. ส่งเสริมการใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพในกระบวนการผลิตและประเมินผล
  2. สร้างความร่วมมือระหว่างภาคี ภาควิชาการ ธุรกิจ และวิชาชีพ เพื่อพัฒนามาตรฐานที่ยอมรับได้ในวงกว้าง
  3. ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการคัดกรองสื่อของผู้ชม เพื่อให้รับชมอย่างมีวิจารณญาณ พร้อมพัฒนาเครื่องมือประเมินที่เข้าถึงง่าย
  4. ปรับระดับความเหมาะสมของการรับชม (Content Rating) ให้สอดคล้องกับแพลตฟอร์ม ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รับชมทางสื่อออนไลน์และรับชมย้อนหลัง