เลือกหน้า

วิกฤตน้ำท่วม สื่อมีบทบาทอย่างไร? ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมปี 2567: คุณค่าและความน่าเชื่อถือ
น้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาชั่วคราว แต่สะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมเมื่อเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สื่อมวลชนเป็นด่านหน้าในการส่งต่อข้อมูล ตั้งแต่การเตือนภัย การรายงานสถานการณ์ ไปจนถึงการสะท้อนเสียงของผู้ประสบภัย

แต่บทบาทของสื่อควรไปไกลกว่านั้น! สื่อสามารถเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงข้อมูลในภาวะวิกฤต สู่การผลักดันการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายในระยะยาว

 งานการศึกษานี้เจาะลึกบทบาทของสื่อ ผ่านการถอดบทเรียนจากการรายงานข่าวน้ำท่วมใน 2 เหตุการณ์ใหญ่ของปี 2567 กรณี น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 และน้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงวันที่ 10-12 กันยายน 2567) โดยศึกษาช่วงวิกฤต 3 วันแรกกับบทบาทของสื่อในการรายงานข่าวพบกับข้อค้นพบสำคัญที่เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับคุณค่าและความน่าเชื่อถือของการรายงานข่าววิกฤตน้ำท่วม

ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมปี 2567: คุณค่าและความน่าเชื่อถือ

         น้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมเมื่อเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน สื่อคือผู้ส่งต่อข้อมูลสำคัญ ตั้งแต่การเตือนภัยล่วงหน้า การรายงานสถานการณ์ ไปจนถึงการสะท้อนเสียงของผู้ประสบภัย แต่บทบาทของสื่อควรไปไกลกว่านั้น! สื่อสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในภาวะวิกฤตสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย และสร้างความเข้าใจในระยะยาวต่อสังคม งานการศึกษานี้ถอดบทเรียนการรายงานข่าวน้ำท่วมใน 2 เหตุการณ์สำคัญของปี 2567

หน่วยการศึกษา

ศึกษาจากสำนักข่าวจากตัวแทนช่องทีวีดิจิทัล 6 ช่อง ดังนี้

คัดเลือกจากข้อมูลเรตติ้งทีวีดิทัล (ข้อมูลจากกสทช.) เดือนกรกฎาคม 2567  ในกลุ่มรายการข่าว โดยพบว่าช่องที่มีรายการข่าวติดอันดับสูงสุด 3 ช่องแรก ได้แก่ ช่อง 3 ไทยรัฐทีวี ช่อง 7  

คัดเลือกจากยอดเข้าชมทางเว็บไซต์ของทีวีดิจิทัลในเดือนกรกฎาคมจากเว็บไซต์ truehits.net โดยพบว่าเว็บไวต์ช่องทีวีดิจิทัลที่มียอดเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ช่องพีพีทีวี ช่องไทยพีบีเอส และ ช่องอัมรินทร์ทีวี

ช่วงเวลาที่ศึกษา

ศึกษา 2 ช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงที่ 1 เก็บข้อมูลวิเคราะห์ช่วง 21-23 สิงหาคม 2567 “ฝนตกต่อเนื่อง เกิดน้ำหลาก น้ำ ท่วมในหลายพื้นที่”

ช่วงที่ 2 เก็บข้อมูลวิเคราะห์ช่วง 10-12 กันยายน 2567 “น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย”

วิธีการเก็บข้อมูล

            ศึกษาชิ้นข่าวที่พบจากช่องทางออนไลน์ของช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 6 ช่อง   โดยเก็บเฉพาะข้อมูลการ รายงานข่าวน้ำท่วมในช่วงเวลาที่กำหนด โดยคัดเลือกข้อมูลที่เกี่ยวกับการรายงานข่าวน้ำท่วมภาคเหนือ และ ประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,846 ข่าว แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 จำนวน 621 ข่าว และช่วงที่ 2 จำนวน 1,225 ข่าว

ช่วง 21-23 สิงหาคม 2567 “น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ” สถานการณ์จากฝนตกหนักเพราะพายุเข้า เกิดน้ำป่าหลากท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา น่าน เพชรบูรณ์ และพื้นที่อีสานบางส่วน เช่น นครราชสีมา อุดรธานี

  • จำนวนข่าวน้ำท่วมทั้งหมด 621 ข่าวจาก 6 สำนักข่าว โดยวันที่ 21 มีปริมาณข่าวน้อยที่สุดในทุกช่อง วันที่ 22 เป็นวันที่มีข่าวเพิ่มขึ้นมากที่สุด
  • วันที่ 22 สิงหาคม จำนวนข่าวสูงสุดถึง 60 ข่าว แสดงถึงการเน้นรายงานทันทีเมื่อเหตุการณ์เริ่มชัดเจน อัมรินทร์ทีวี มีสัดส่วน 18.2% โดยกระจายข่าวค่อนข้างสม่ำเสมอใน 3 วันที่ศึกษา ช่อง 7 และ ThaiPBS มีการรายงานข่าวใกล้เคียงกันที่ 14.5% และ 11.1% ตามลำดับ โดยเน้นวันที่ 22 สิงหาคมเป็นพิเศษ ช่อง 3 มีสัดส่วนน้อยสุดที่ 9.0% แสดงถึงการให้ความสำคัญกับข่าวน้ำท่วมน้อยกว่าช่องอื่น
  • วันที่ 23 ข่าวลดลงเล็กน้อยในบางช่อง ไทยรัฐทีวี มีสัดส่วนการรายงานข่าวสูงสุดที่ 24.5% แสดงถึงการให้ความสำคัญกับข่าวในวันที่ 23 สิงหาคมมากที่สุด (78 ข่าว) หรือวันที่ 3 ของการทำการศึกษาน้ำท่วมภาคเหนือ ส่วน PPTV มีสัดส่วน 19.2%

 

ช่วง 10-12 กันยายน 2567 “น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย” พบข่าวรวมทั้งสิ้น 1,225 ข่าว จาก 6 สำนักข่าว โดย

  • ไทยรัฐทีวีมีจำนวนข่าวสูงสุดที่ 305 ข่าว (9%) รองลงมาคือช่อง 7 (259 ข่าว หรือ 21.1%) และ PPTV (222 ข่าว หรือ 18.1%) อัมรินทร์ทีวีตามมาอย่างใกล้เคียงที่ 221 ข่าว (18.0%) ขณะที่ ThaiPBS รายงาน 144 ข่าว (11.8%) และช่อง 3 มีสัดส่วนข่าวน้อยที่สุดที่ 74 ข่าว (6.1%)
  • วันที่ 11 กันยายน เป็นวันที่มีจำนวนข่าวสูงสุดในทุกช่อง โดยไทยรัฐทีวีรายงานถึง 139 ข่าว ตามด้วยช่อง 7 ที่ 129 ข่าว และ PPTV 115 ข่าว สะท้อนความเข้มข้นของสถานการณ์ในวันดังกล่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทำการศึกษา จำนวนข่าวลดลงในทุกช่อง เช่น ไทยรัฐทีวีรายงานลดลงเหลือ 130 ข่าว ช่อง 7 เหลือ 94 ข่าว และ PPTV เหลือ 85 ข่าว ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการลดความสนใจของสื่อเมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มคงที่

 

3 ประเด็นที่สื่อทำได้ดี และ 3 มิติที่ขาด

  • เปรียบเทียบจากจำนวนข่าว พบว่า ไทยรัฐทีวีให้ความสำคัญกับน้ำท่วมฉับพลันมากที่สุดโดยเน้นการรายงานที่ต่อเนื่องและเข้มข้น ขณะที่ช่อง 7 และ PPTV มีความใกล้เคียงกันในสัดส่วนการนำเสนอ ส่วนอัมรินทร์ทีวีและ ThaiPBS เน้นความละเอียดและการเจาะลึกบางประเด็น ส่วนช่อง 3 มีการรายงานในปริมาณน้อยที่สุด
  • การกระจายตัวของข่าวในช่วง 3 วันที่ทำการศึกษา (10-12 กันยายน 2567) พบว่าสื่อให้ความสนใจรายงานข่าวสูงสุดในวันที่ 11 กันยายน อาจด้วยการพัฒนาของสถานการณ์และความเร่งด่วนของข่าวสารในวันนั้นซึ่งเป็นวันแรกที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
  • ในช่วง 3 วันแรกของเหตุการณ์ที่มีความสับสนของข้อมูลและมีคนต้องการได้รับความช่วยเหลือ สื่อทำได้ดีในการรายงานสถานการณ์ สร้างความเข้าใจเร่งด่วนได้ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ มีการรายงานการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และ มีบทบาทในการช่วยระดมความช่วยเหลือ รวมถึงการให้พื้นที่สะท้อนเสียงของผู้ประสบภัยเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ และทำให้คนในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเกิดขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม แม้ช่วง 3 วันแรกจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือเฉพาะหน้า สื่อสามารถใช้โอกาสในการผลักดันประเด็นเรื่องผลกระทบ สาเหตุปัญหาเชิงพื้นที่ และโครงสร้างระบบต่าง ๆ ที่ยังมีปัญหาและทำให้เกิดน้ำท่วม หรือการช่วยเหลือที่ลำบากได้ แต่พบว่า ยังมีสัดส่วนของการนำเสนอประเด็นเหล่านี้น้อย ทำให้ไม่สามารถเกาะความสนใจของสังคมเพื่อขยายประเด็นต่อได้ หากสื่อให้สัดส่วนกับการให้ข้อมูลประกอบ บริบทในเรื่องเหล่านี้เพิ่มระหว่างการนำเสนอสถานการณ์ จะช่วยกระตุ้นความสนใจของสังคมต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากขึ้น

เมื่อภัยน้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นอีก สื่อควรทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน?
#น้ำท่วม #รายงานข่าว #บทบาทสื่อ #ภัยพิบัติ

3 วันแรกของวิกฤตน้ำท่วม: คนสนใจที่สุด กระทบสูงสุด โอกาสผลักดันประเด็นสำคัญที่สุด…สื่อกำหนดวาระข่าวสารอย่างไร?

ช่วง 3 วันแรกของวิกฤตน้ำท่วม สื่อคือหัวใจสำคัญในการให้ข้อมูลที่คนต้องการอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่สถานการณ์น้ำ การช่วยเหลือ ไปจนถึงผลกระทบในพื้นที่ และโอกาสสำคัญที่จะเปิดประเด็นใหญ่ เช่น การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำในระยะยาว และการวางแผนนโยบายเพื่ออนาคต

 “แหล่งข่าวและการกำหนดวาระข่าวสารในวิกฤตน้ำท่วม: ใครเป็นเสียงหลักในการเล่าเรื่อง?

การวิเคราะห์แหล่งข่าวที่สื่อใช้รายงานในช่วงวิกฤตน้ำท่วม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างการรายงานน้ำท่วมหลากในหลายพื้นที่ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เฉพาะอย่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ 1 ของการศึกษา) แหล่งข่าว 3 อันดับแรก มาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ (15.83%) และการช่วยเหลือ (15.20%) รองลงมาคือสื่อพลเมือง (13.94%) และประชาชนผู้ประสบภัย (12.95%) แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสื่อในการเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้จัดการสถานการณ์และเสียงสะท้อนจากพื้นที่จริง ส่วนที่เหลือจะเป็นการใช้แหล่งข่าวอื่น ๆ  

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ 2 ของการศึกษา) แหล่งข่าว 3 อันดับแรก พบว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นแหล่งข่าวหลัก (22.9%) ตามมาด้วยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ (22.5%) และประชาชนผู้ประสบภัย (13.8%) ที่เหลือเป็นการใช้แหล่งข่าวอื่น ๆ ส่วนการรายงานข่าวเน้นที่การช่วยเหลือและการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า

แม้สื่อจะให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐและหน่วยกู้ภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เสียงของประชาชนผู้ประสบภัยในมุมของการสะท้อนปัญหายังมีน้อย ซึ่งอาจลดทอนมิติทางสังคมและอารมณ์ของปัญหา การสร้างสมดุลระหว่างเสียงของประชาชนและข้อมูลจากผู้จัดการสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 “รูปแบบข่าวน้ำท่วม: ตัวแปรสำคัญที่ช่วยคนเข้าใจสถานการณ์”

การเล่าเรื่องผ่านภาพนิ่งและคลิปที่เน้นผู้ประสบภัย หรือการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จริง มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์และความเข้าใจต่อเหตุการณ์ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยลดความสับสนในช่วงวิกฤติ และกระตุ้นการสนับสนุนจากสังคมได้ดีขึ้น

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ 1 ของการศึกษา) คือ วันที่ 21-23 สิงหาคม 2567) องค์กรสื่อที่ศึกษา เน้นการใช้ ภาพนิ่งหรือคลิปเกี่ยวกับสภาพน้ำท่วม (36.5%) เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์เชิงภาพชัดเจน และเสริมด้วยภาพนิ่งหรือคลิปที่เน้นประชาชนผู้ประสบภัย (26.0%) เพื่อเชื่อมโยงมิติทางมนุษยธรรม ช่วยสร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชม

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ 2 ของการศึกษา) คือ วันที่ 10-12 กันยายน 2567) การนำเสนอของสื่อมีการเพิ่มสัดส่วนของภาพนิ่งหรือคลิปที่เน้นผู้ประสบภัย สูงขึ้นเป็น 40.4% สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อผู้คน ขณะที่ การลงพื้นที่รายงานสด และ การใช้แผนที่เพื่อระบุพิกัดพื้นที่ มีบทบาทรองลงมาในทั้งสองช่วง แต่ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความเข้าใจเชิงพื้นที่

น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ (ช่วงที่ศึกษา 21-23 สิงหาคม 2567) ประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญสามอันดับแรก คือ การรายงานสถานการณ์น้ำ (20.8%) สะท้อนถึงความต้องการข้อมูลพื้นฐานของประชาชนในช่วงวิกฤติ ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (17.7%) เช่น การอพยพและแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น รวมถึงผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิต (14%) เช่น ปัญหาสุขภาพ การเดินทาง การปิดโรงเรียน ก็เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสื่อสาร เช่น การแจ้งขอความช่วยเหลือ และการเตือนภัย มีสัดส่วนการรายงานที่น้อยกว่า แม้จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการรับมือสถานการณ์ในอนาคต

ไทยรัฐทีวีเน้นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นอันดับแรก ขณะที่ช่อง 7 และ PPTV ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เช่น การแจ้งขอความช่วยเหลือ ส่วนไทยพีบีเอสมุ่งเน้นการรายงานผลกระทบเชิงลึกด้านคุณภาพชีวิตและสังคม เช่น การขาดแคลนทรัพยากรและสุขภาพ ส่วนอัมรินทร์ทีวี ให้ความสำคัญกับการสะท้อนสภาพของผู้ประสบภัยเป็นลำดับรองจากสถานการณ์น้ำ

น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ช่วงที่ศึกษา 10-12 กันยายน 2567) ประเด็นหลักที่สื่อให้ความสำคัญสามอันดับแรก คือ การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (26.5%) ซึ่งสะท้อนถึงความเร่งด่วนและความสำคัญในการปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ รองลงมาคือ การรายงานสถานการณ์น้ำ (21.3%) และ สภาพของผู้ประสบภัย (19.5%) ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบโดยตรง

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การเน้นช่วยเหลือเฉพาะหน้าแสดงถึงบทบาทของสื่อในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเด็นเกี่ยวกับการเตือนภัยและการจัดการเชิงระบบยังมีบทบาทน้อย ซึ่งควรพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจและการป้องกันในระยะยาว

ในช่วงเวลาที่วิกฤตน้ำท่วมเข้ามากระทบหลายพื้นที่พร้อมกัน หรือเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ที่รุนแรง การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดข้อมูล แต่ยังเป็นตัวกำหนดวาระและกรอบการนำเสนอ (News Framing) ที่มีผลโดยตรงต่อความเข้าใจของผู้ชม และการผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว

การกำหนดกรอบข่าวน้ำท่วม: สะท้อนบทบาทและข้อจำกัดของสื่อมวลชน

  1. กรอบขอบเขตและความรุนแรง (Scope and Severity Frame
    – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ เน้น “รายงานสถานการณ์น้ำ” (20.8%) และ “สภาพผู้ประสบภัย” (13.4%) เพื่อให้ภาพรวมและความเข้าใจในหลายพื้นที่
    – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย เน้นเจาะลึก “สถานการณ์น้ำ” (21.3%) และ “ผลกระทบผู้ประสบภัย” (19.5%) ในพื้นที่เฉพาะ
    1. กรอบการตอบสนอง (Response Frame)
      – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ “การช่วยเหลือเฉพาะหน้า” (17.7%) เช่น การแจกจ่ายถุงยังชีพ
      – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย “การช่วยเหลือเฉพาะหน้า” เด่นชัด (26.5%) ตอบสนองสถานการณ์เร่งด่วน
      1. กรอบการเตือนภัย (Warning Frame): การเตือนภัยมีสัดส่วนน้อยในทั้งสองช่วง (6.2% ในฉับพลัน) ชี้ถึงการขาดข้อมูลเตรียมพร้อม
      2. กรอบผลกระทบ (Impact Frame)
        – น้ำหลากท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือ เน้น “ผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิต” (14%)
        – น้ำท่วมฉับพลัน อ.แม่สาย โฟกัส “ผลกระทบเชิงมนุษยธรรม” แต่ขาดการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจ
        1. กรอบการสื่อสารเชิงนโยบาย (Policy Frame): ทั้งสองช่วงมีสัดส่วนน้อยสุด ชี้ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนประเด็นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสื่อเน้นการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่การรายงานเชิงระบบ เช่น การเตือนภัยและการเชื่อมโยงกับนโยบาย ยังมีบทบาทน้อย ส่งผลให้โอกาสในการสร้างความพร้อมและแก้ปัญหาระยะยาวถูกลดทอน สื่อควรเพิ่มกรอบการนำเสนอในมิติของผลกระทบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และธรรมชาติ รวมถึงเน้นสร้างการรับรู้เชิงนโยบาย จะช่วยให้การรายงานข่าวครอบคลุมและมีศักยภาพในการส่งเสริมการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

        หมายเหตุ: ร้อยละที่นำเสนอเป็นมาจากข้อมูลการนับซ้ำประเด็นการรายงานในแต่ละข่าว และ ดึง 5 อันดับสูงสุดนำเสนอ (ในภาพกราฟิก)

        #ข่าวน้ำท่วม #การกำหนดกรอบข่าว #สื่อมวลชน #วิเคราะห์ข่าว