
หนึ่งในความสูญเสียครั้งใหญ่ของปี 2567 คือ เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียนบนถนนวิภาวดีรังสิต
งานการศึกษาวิเคราะห์การรายงานข่าวนี้ของสื่อโทรทัศน์ โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยให้เห็นพัฒนาการของสื่อโทรทัศน์ ในการรายงานข่าวอุบัติเหตุซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเป็นเด็ก จึงต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมเรื่องการปกป้องสิทธิเด็ก ลดการใช้ภาพความรุนแรง และการสัมภาษณ์อย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเน้นการตรวจสอบสาเหตุและมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาเชิงระบบ
ชวนอ่าน! รายงานชิ้นนี้ เพื่อโอกาสพัฒนาแนวทางการรายงานข่าวอุบัติเหตุ
ข่าวอุบัติเหตุไม่ควรจบที่การรายงานเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ควรขยายมุมมองไปถึงการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เชื่อมโยงสถิติกับบริบทสังคม กฎหมาย และระบบการจัดการ พร้อมทั้งเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม เช่น การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย การรณรงค์ความตระหนักรู้ในชุมชน การพัฒนาโครงสร้างถนน เป็นต้น
ข่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ร่วมเรียนรู้และนำแนวทางนี้ไปต่อยอดสู่การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน!
“ถอดบทเรียนเหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสนักเรียน สู่แนวทางพัฒนาการรายงานข่าวอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน”
การศึกษาเรื่อง “ข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน” ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์และต่อเนื่อง 5 วันเพื่อศึกษาการพัฒนาประเด็นและการนำเสนอข่าว โดยมีหน่วยการศึกษา 1,261 ข่าว แบ่งเป็น หน่วยการศึกษาจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ 11 สื่อ ได้แก่ ไทยรัฐ ,ข่าวสด, มติชน , ช่อง 3 , ข่อง 8 , อัมรินทร์ทีวี , PPTV HD36 , ช่อง 7 , ไทยพีบีเอส , The Standard และบีบีซีไทย จำนวน 1,167 ข่าว และ จากรายการข่าวเรตติ้งสูง (เก็บจาก YouTube) 6 รายการ ได้แก่ ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี / เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3/ ทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี/ ลุยชนข่าว ช่อง8/ เข้มข่าวค่ำ PPTV HD36/ ข่าวค่ำช่อง 7 จำนวน 94 ข่าว
การศึกษาการรายงานข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจริยธรรมสื่อในการรายงานข่าวท่ามกลางความรุนแรงและความสูญเสีย ด้วยพบว่า ในการรายงานข่าวนี้ สื่อไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการดึงอารมณ์จากความเจ็บปวด แต่มีความพยายามนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย เช่น การให้ข้อมูลเหตุการณ์ที่ชัดเจน การตรวจสอบหาสาเหตุ ตลอดจนการเสนอทางออกเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต แม้ว่าสัดส่วนของการนำเสนอทางออกหรือมาตรการแก้ไขจะยังน้อย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนับสนุนและต่อยอด
งานการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนจากกรณีนี้ เปิดโอกาสให้นักข่าวและสื่อสามารถนำกรอบแนวคิด “Road Safety” ไปพัฒนาการรายงานข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนอื่น ๆ ได้ โดยปรับแนวทางการรายงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตั้งแต่การ ให้ข้อมูลเบื้องต้น (Inform) ที่ถูกต้องครบถ้วน การอธิบายเหตุและผล (Explain) เพื่อลงลึกถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบเชิงลึก (Investigate) เพื่อตีแผ่ต้นตอของปัญหา การรวบรวมและ เสนอแนวทางแก้ไข (Solution) ที่สามารถป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วม ผ่านงานข่าวที่สร้างพื้นที่ให้เสียงของคนทุกฝ่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันให้ถนนของเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน
#ข่าวสร้างการเปลี่ยนแปลง #RoadSafety #SolutionJournalism”

การศึกษาเรื่อง “ข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน” ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์และต่อเนื่อง 5 วันเพื่อศึกษาการพัฒนาประเด็นและการนำเสนอข่าว โดยมีหน่วยการศึกษา 1,261 ชิ้นข่าว แบ่งเป็หน่วยการศึกษาจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ 11 สื่อ ได้แก่ ไทยรัฐ ,ข่าวสด, มติชน , ช่อง 3 , ข่อง 8 , อัมรินทร์ทีวี , PPTV HD36 , ช่อง 7 , ไทยพีบีเอส , The Standard และบีบีซีไทย จำนวน 1,167 ข่าว และ จากรายการข่าวเรตติ้งสูง (เก็บจาก YouTube) 6 รายการ ได้แก่ ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี / เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3/ ทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี/ ลุยชนข่าว ช่อง8/ เข้มข่าวค่ำ PPTV HD36/ ข่าวค่ำช่อง 7 จำนวน 94 ข่าว รวมหน่วยการศึกษาทั้งสิ้น 1,261 ชิ้นข่าว
ถอดบทเรียนการรายงานข่าวเหตุโศกนาฏกรรม
เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียนสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในการรายงานข่าวของสื่อที่ศึกษา โดยมีการรักษาจริยธรรมและลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น การเลี่ยงนำเสนอภาพความรุนแรง การสัมภาษณ์ที่ไม่ซ้ำเติมผู้สูญเสีย และการรายงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
การรักษาบทบาทในการช่วยลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ประสบเหตุและครอบครัว รวมถึงลดการสร้างความรุนแรงในสังคมผ่านข่าว ถือว่า สื่อทำได้ดีในการรายงานข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน
การรายงานข่าวอย่างมีจริยธรรม: ลดความรุนแรงในเนื้อหา ป้องกันผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง
ผลการวิเคราะห์พบว่าสื่อที่ศึกษามีความระมัดระวังมากขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในข่าวและการหลีกเลี่ยงการนำเสนอความรุนแรง
- ลดการใช้ภาพความรุนแรง: การใช้กราฟิกแทนภาพเหตุการณ์จริง หรือการเลือกใช้ภาพที่ลดความกระตุ้นอารมณ์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 1% สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดความรุนแรงในเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่มีความระมัดระวังสูงสุด
- สื่อเลือกใช้ภาพ/คลิปที่ไม่รุนแรงในสัดส่วนที่มากที่สุด ส่วนภาพ/คลิปที่รุนแรงปานกลางเป็นการนำเสนอความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือสิ่งของ โดยหลีกเลี่ยงการเห็นภาพคนหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ส่วนภาพ/คลิปแบบรุนแรงสูงมีสัดส่วนการใช้ที่น้อย พบอยู่บ้างเป็นภาพ/คลิปแสดงอารมณ์ความเศร้า ความเจ็บปวด
- สัมภาษณ์ที่ลดการกระตุ้นอารมณ์: สัดส่วนการสัมภาษณ์ที่เน้นคำถามเกี่ยวกับความเศร้าเสียใจมีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 5.1% สะท้อนให้เห็นว่าสื่อส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว และมีการหลีกเลี่ยงการนำเสนอในลักษณะที่อาจทำร้าย ซ้ำเติมความเจ็บปวด
- ลดการใช้คำรุนแรง: การนำเสนอข่าวโดยใช้คำที่รุนแรง มีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 1.9%
- ปกป้องบุคคลในข่าว: การนำเสนอภาพความสูญเสียในลักษณะที่ไม่ปกป้องมีค่าเฉลี่ยรวมเพียง 2.0% โดยเว็บไซต์ไม่มีการนำเสนอในลักษณะนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่สื่อควรปรับปรุง เช่น การวนภาพความรุนแรงซ้ำ ๆ ซึ่งพบสูงสุดในเฟซบุ๊กที่ 15.6% รองลงมาคือยูทูป (คลิปรายการข่าวที่มีเรตติ้งสูง) ที่ 10.9% โดยเฉพาะคลิปข่าวของญาติผู้เสียชีวิต ยังมีการนำเสนออย่างย้ำอารมณ์ความเจ็บปวดสูงที่ 16.4% แต่ก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของการนำเสนออื่น ๆ ส่วนการนำเสนอของผู้ประกาศข่าว ยังต้องระวังเรื่องการแทรกอารมณ์และความรู้สึกร่วม การแสดงความเห็นโดยไม่มีการอ้างอิงข้อมูลประกอบ รวมถึงการเล่าข่าวที่เพียงกล่าวว่า “มีข้อมูล” หรือ “เขาบอกว่า” แต่ไม่ได้ระบุแหล่งข่าวที่ชัดเจน (แม้จะมีแหล่งที่มาข้อมูล) อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือ เป็นเพียงความเห็นของผู้ประกาศ โดยเฉพาะคลิปที่มีการตัดสั้นในสื่อสังคมบางคลิปพบว่าเนื้อหาในส่วนที่อ้างอิงแหล่งข่าว / แหล่งข้อมูลที่ชัดเจนหายไป ซึ่งทำให้ลดความน่าเชื่อถือของข่าว

การกำหนดวาระข่าวสาร: บทบาทข่าวต่อการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน 🚦
การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda-Setting) มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน สื่อที่ศึกษาเน้นการรายงานข่าวในกรอบประเด็นสำคัญ เช่น
กรอบรายงานเหตุการณ์ (Episodic Frame)
สัดส่วนสูงสุด (9.99%) เน้นการลำดับเหตุการณ์และการจัดการฉุกเฉิน
กรอบมิติของมนุษย์ (Human Interest Frame)
– รายงานการเยียวยาและการช่วยเหลือ (9.96%)
– ดึงอารมณ์ร่วม สะท้อนความสูญเสีย (9.15%)
– เสนอผลกระทบต่อผู้เสียหาย (7.17%)
กรอบความปลอดภัย (Safety Frame)
สร้างความตระหนักเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย (9.09%) โดยนำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การนำเสนอประเด็นการหาสาเหตุ
– การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้: (7.59%)
– การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ: (8.55%)
**หมายเหตุ ร้อยละที่นำเสนอเป็นอันดับที่สูงอันดับต้น ๆ ของการวิเคราะห์ สามารถอ่านข้อมูลทั้งหมดได้ในรายงานฉบับเต็ม
กรอบประเด็น “ความปลอดภัย (Safety Frame)” ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ในสังคม และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบมาตรฐานรถบัสการพัฒนาทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์เพลิงไหม้ในรถบัส/รถโดยสาร เป็นต้น การเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องและผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย แต่เนื่องจากความเข้มข้นและการเจาะลึกประเด็นให้ต่อเนื่องยังพบไม่มาก จึงยังเป็นเพียงการ “เปิดประเด็น” ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็อาจยังไม่สามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงหรือป้องกันเชิงระบบได้
กรอบ”ความสนใจในมิติของมนุษย์ (Human Interest Frame) การเล่าเรื่องราวของผู้สูญเสียหรือผู้เกี่ยวข้องในข่าว สร้างความเห็นอกเห็นใจและกระตุ้นความตระหนักรู้ในสังคม จึงเป็นเรื่องที่นำเสนอได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยหลักสำคัญคือการใช้เสียงของคนในข่าว “เพื่อสะท้อนปัญหาและกระตุ้นความต้องการร่วมของสังคมให้แก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำอีก” ซึ่งในการศึกษานี้พบว่า ยังเป็นมุมของอารมณ์ความรู้สึก ความสูญเสียและเศร้าโศกมากกว่า หากเพิ่มบริบทให้เชื่อมโยงไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา จะกำหนดวาระข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
แต่ละสื่อที่ศึกษามีจุดยืนและความโดดเด่นในการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่ข้อสังเกตคือ มีการกระจายประเด็นหลากหลายไม่ได้เน้นเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สะท้อนความพยายามในการต่อยอดและนำเสนอมุมมองให้รอบด้านเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่าที่สื่อสามารถทำได้ในช่วงเวลาของการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์และข้อสังเกต
1️. สื่อที่ศึกษาเริ่มขยายบทบาทจากการรายงานเฉพาะหน้า (Episodic Frame) ไปสู่กรอบที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ความปลอดภัยบนท้องถนน
2️. การเชื่อมโยงปัญหาเชิงระบบ เช่น การตรวจสอบมาตรฐานรถบัส การหาคนรับผิดชอบ และการวิเคราะห์สาเหตุ ยังมีสัดส่วนต่ำ แต่มีแนวโน้มพัฒนาได้
โอกาสต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
- เพิ่มการรายงานใน Safety Frame เพื่อกระตุ้นการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย
- ขยายเนื้อหาเชิงลึก เช่น เทคนิคการเอาตัวรอด การใช้เทคโนโลยีในยานพาหนะ
- ผลักดันประเด็นป้องกันในระยะยาว เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งและกฎหมาย
ข้อควรระวัง
- ลดการเน้นอารมณ์ความเศร้าในกรอบมนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติม
- รักษาความน่าเชื่อถือด้วยการอ้างอิงข้อมูลที่ชัดเจน
การกำหนดวาระข่าวสารในการรายงานข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียนสะท้อนบทบาทสำคัญของสื่อที่ไม่เพียงรายงานเหตุการณ์ แต่ยังสามารถผลักดันการตระหนักรู้ในระดับระบบและการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ในอนาคต!
- Thairath ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ โดยเน้นการรายงานในเชิงรายละเอียดเหตุการณ์และการตรวจสอบหาสาเหตุและความไม่ปกติของรถและบริษัทรถบัส
- Khaosod เน้นกรอบการลำดับเหตุการณ์สูงที่สุด โดยเน้นรายละเอียดของเหตุการณ์และการเชื่อมโยงกับบริบท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุ
- Matichon ให้ความสำคัญกับ การชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุ การลำดับเหตุการณ์ และ การดึงอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์
- 3HD เน้นคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การลำดับเหตุการณ์ การชดใช้ เยียวยา การตรวจสอบสภาพรถที่เกิดเหตุ
- ช่อง 8 เน้น การลำดับเหตุการณ์ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ ความผิดของคนขับรถบัส และ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ
- Amarin TV HD ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การดึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้ชม และ ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง
- PPTV มุ่งเน้นที่คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน ผลกระทบต่อผู้เสียหาย ความผิดของภาคเอกชน โดยเน้นทั้งด้านเทคนิคและมิติของผู้ประสบเหตุ
- 7 HD เน้นที่กรอบปุถุชนสนใจและเรื่องของผู้ประสบเหตุ โดยนำเสนอการดึงอารมณ์ร่วม การชดใช้ เยียวยา ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย
- ThaiPBS ให้ความสำคัญกับ ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย การดึงอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน
- BBC เน้นไปที่ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ และ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ
- The Standard ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ
ส่วนรายการข่าวที่เรตติ้งสูง มีการให้ความสำคัญกับประเด็นนำเสนอดังนี้
ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ไทยรัฐทีวี) ให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งสะท้อนถึงการเน้นประเด็นด้านความปลอดภัยและการป้องกันเหตุการณ์
เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง3) เน้นเหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ การชดใช้ เยียวยา การช่วยเหลือเป็นประเด็นหลัก ตามด้วยการตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ โดยการให้ข้อมูลสถานการณ์ ความคืบหน้าของเหตุการณ์และผลของการตรวจสอบหาสาเหตุ
ทุบโต๊ะข่าว (อัมรินทร์ทีวี) เน้นที่เหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ และการดึงอารมณ์ร่วมกับความเศร้าโศกเสียใจของเหตุการณ์
ลุยชนข่าว (ช่อง 8) ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการรายงานเกาะติดสถานการณ์ ร่วมกับการดึงอารมณ์ร่วม และ การตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้
เข้มข่าวค่ำ (PPTV HD36) เน้นการเปิดประเด็นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมกับการตรวจสอบความผิดของภาคเอกชน การตรวจสอบสภาพรถบัสที่เกิดเหตุ และ การชดใช้ เยียวยา ช่วยเหลือ
ข่าวค่ำ (ช่อง 7) ให้ความสำคัญกับ การชดใช้ เยียวยา การดึงอารมณ์ร่วม ผลกระทบต่อชีวิตผู้เสียหาย ความผิดของคนขับรถบัส ความผิดของภาคเอกชน และ ความผิดในระบบการจัดการของภาครัฐ

การนำเสนอข่าวเพื่อไปสู่อธิบายเชิงลึก การตรวจสอบ และการหาแนวทางป้องกัน (Beyond Accident)
จากการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวไฟไหม้รถบัสนักเรียน พบว่า แนวทาง Inform (ให้ข้อมูล) ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีสัดส่วนถึง 62.5% ของข่าวทั้งหมด ซึ่งมุ่งเน้นการรายงานข้อเท็จจริงพื้นฐาน เช่น เกิดอะไรขึ้น (What), ที่ไหน (Where), และเมื่อไร (When) เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นและลดความสับสนในสังคม
สำหรับแนวทาง Investigate (สืบสวน) พบว่า 15.8% ของข่าวมีการเจาะลึกสาเหตุและการตรวจสอบ เช่น ความผิดพลาดในระบบ มาตรฐานความปลอดภัย และผู้รับผิดชอบ ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชิงระบบและผลักดันให้เกิดการตรวจสอบ
แนวทาง Explain (อธิบาย) มีสัดส่วน 14.4% โดยขยายความและให้บริบทเพิ่มเติม เช่น มาตรฐานความปลอดภัย โครงสร้างถนน หรือการจัดการความเสี่ยง ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจของผู้รับข่าวในมิติเชิงลึก
ในขณะที่แนวทาง Solution (เสนอทางแก้ไข) มีสัดส่วนเพียง 7.3% โดยเน้นการเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข เช่น การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการสร้างความตระหนักในสังคม
การรายงานเหตุการณ์ (Inform) เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทุกสื่อที่ศึกษา
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Matichon มีสัดส่วนสูงสุด (90.7%)
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Khaosod (0%)
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Thairath (8%)
- ข่าวค่ำ ช่อง 7 (80.0%)
- เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 (54.2%)
การนำเสนอข่าวที่มุ่งอธิบายบริบทและขยายความ (Explain) พบมากที่สุดใน
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Amarin TV (6%) รายการทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี (50.0%)
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ ช่อง 8 (22.2%) ลุยชนข่าว ช่อง 8 (52.9%)
การเจาะลึกและตรวจสอบ (Investigate) ในลักษณะการตั้งคำถาม และสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ CH3 และ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Amarin TV มีสัดส่วนสูงสุด (28.0% และ 27.6%)
- ไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี มีสัดส่วนสูงสุด (55.6%)
- เข้มข่าวค่ำ PPTV (45.5%)
สำหรับการเสนอทางแก้ปัญหา (Solution)
- เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ ThaiPBS และ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ PPTV โดดเด่นที่สุด (15.5% และ 15.0%)
- เข้มข่าวค่ำ PPTV (18.2%)
แนวทางการพัฒนา: โมเดลการนำเสนอข่าวเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
เพื่อพัฒนาและต่อยอดจากสิ่งที่สื่อทำได้ดีแล้ว เช่น การรักษาจริยธรรมและการนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย สัดส่วนของแนวทางทั้ง Inform, Explain, Investigate, และ Solution ควรได้รับการปรับให้เหมาะสม ด้วยเหตุผลที่อุบัติเหตุไม่ใช่เพียงเหตุการณ์เดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับปัจจัยเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการรายงานข่าวในเชิงลึกและรอบด้านจะช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนในระยะยาวได้ ดังนี้
- Inform (ให้ข้อมูล)
สิ่งที่ทำได้ดี: การนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่ครบถ้วน เช่น เวลา สถานที่ และลำดับเหตุการณ์ ช่วยลดความสับสนในสังคมสิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
– ขยาย DATA: รวบรวมข้อมูลที่หลากหลาย เช่น สถิติอุบัติเหตุ รายงานความปลอดภัยของถนน และสภาพรถ
– เชื่อมโยงกับ Explain: เพิ่มการอธิบายบริบทของข้อมูล เช่น ผลกระทบจากการขาดมาตรฐานความปลอดภัย - Explain (อธิบาย)
สิ่งที่ทำได้ดี : การขยายบริบทเรื่องความปลอดภัย เช่น มาตรฐานการขนส่ง หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
– เพิ่มการเชื่อมโยงปัญหาเชิงโครงสร้าง: เช่น การออกแบบถนนที่ไม่ปลอดภัย ความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีผลต่อการขับขี่และความปลอดภัยบนท้องถนน
– เน้นการตั้งคำถาม: เช่น สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ การกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการ
– ใช้ DATA เชิงลึก: นำเสนอข้อมูลสถิติที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ - Investigate (สืบสวน)
สิ่งที่ทำได้ดี: มีความพยายามเจาะประเด็นเพื่อหาผู้รับผิดชอบ เช่น การตรวจสอบความผิดของบุคคลหรือองค์กร การจุดประเด็นที่สำคัญในการตรวจสอบ เช่น การตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสและบริษัทที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
– เชื่อมโยงเหตุการณ์สู่ประเด็นเชิงระบบ: นำเสนอปัจจัยเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่อุบัติเหตุ เช่น กฎระเบียบที่ขาดการบังคับใช้ หรือการออกแบบโครงสร้างถนนที่มีข้อบกพร่อง
– ขยายสาเหตุเชิงลึก เช่น ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาการบริหารจัดการในระบบขนส่ง
– สร้างความต่อเนื่อง: ติดตามผลการตรวจสอบในระยะยาวและเจาะลึกในประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข - Solution (เสนอทางแก้ไข)
สิ่งที่ทำได้ดี: มีการแนะนำและเสนอแนวทางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย เสนอแนวคิดในการแก้ไข เช่น การอบรมพนักงานขับรถ หรือการตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสาร
สิ่งที่ควรทำเพิ่ม:
– เน้นการเสนอแนะเชิงระบบ เช่น การพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบขนส่ง
– ถอดบทเรียนจากตัวอย่างที่สำเร็จ นำกรณีศึกษาจากประเทศที่มีมาตรฐานสูงด้านความปลอดภัยทางถนนมาใช้เป็นแบบอย่าง
– ให้ HOW-TO ที่นำไปปฏิบัติได้จริง เช่น แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปในการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการเดินทาง หรือข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ
สรุปข้อเสนอในภาพรวม ในการรายงานข่าวเหตุการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนน หากสื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับแนวทาง Explain, Investigate, และ Solution มากขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงเหตุการณ์กับปัจจัยเชิงโครงสร้างและบริบทที่กว้างขึ้น สื่อจะสามารถสร้างข่าวที่ไม่เพียงแค่รายงานเหตุการณ์ แต่ยังช่วยสร้างความเข้าใจเชิงลึกและสนับสนุนการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ในระยะยาวได้
ความเห็นล่าสุด