มิวสิกวิดีโอบทเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ในเวอร์ชั่นเดี่ยวระนาดเอกโดย Fino the Ranad ที่เลียนความนิยมในการบรรเลงเพลงรูปแบบออเคสตร้าของดนตรีตะวันตก มาฟีเจอริ่งกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ดนตรีไทยมากฝีมือ และเหล่านักดนตรีไทย “ชาวเตรง ๆ”
ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนเหล่านักดนตรีไทยทั้งหมด ที่พร้อมใจวีดีโอคอลกันเข้ามาในโซนลานบรรเลงที่สร้างขึ้นในโลกเมตาเวิร์ส ทั้ง ขิม ขลุ่ย ระนาดเอก และระนาดทุ้ม ตัดสลับกับรูปภาพบรมครูดนตรีไทยจากหอเกียรติยศ“เรือนตระการ”เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ทุกคนพร้อมออกลูกหมด (outro) ด้วยกัน เป็นสัญลักษณ์ว่าชาวดนตรีไทยทั้งองคาพยพ ได้มาบุกเมตาเวิร์สแล้ว และเทคโนโลยีเมตาเวิร์สนี้จะช่วยทำให้ดนตรีไทยไร้พรหมแดน
การรวมตัวประกาศศักดาอันยิ่งใหญ่ของเหล่านักดนตรีไทย ในบทเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” เกิดขึ้นจากความรักในดนตรีไทยของ “ฟีโน่ ระนาดเอก” หรือ ปาเจร พัฒนศิริ อินฟลูเอนเซอร์ระนาดเอกร่วมสมัย และทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยและเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่พยายามช่วยกันผลักดันให้ดนตรีไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เข้าถึงได้ง่ายทั้งชาวไทยและต่างชาติ
นอกจากเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ก็ยังมีมิวสิกวิดีโอเพลง “เชิดนอก” รบ “Canon Rock” และ เพลง “คำหวาน” ที่ฟีโน่และทีม ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นในโครงการเมตะดนตรีไทย ระนาดไทยในเมตาเวิร์ส ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 เผยแพร่อยู่ในช่องยูทูบและติ๊กต็อก Fino the Ranad และแม้ว่าเฟสแรกของมิวสิกวิดีโอทั้ง 3 คลิปนี้ จะเป็นเพียงการจำลองให้เห็นไอเดียและฟังชั่นการทำงาน ยังไม่ได้สร้างเป็นเมตาเวิร์สเต็มรูปแบบ แต่ก็รับได้รับฟีดแบคจากผู้ชมกลับมาอย่างล้นหลาม
“หลังจากปล่อยคลิปออกไปแล้ว ฟีดแบคออกมาดี ดีมากกว่าที่เราคาดไว้ มันก็เป็นความสุขที่เราได้นั่งอ่านคอมเมนต์ ที่ผู้ชมมองว่ามิวสิกวิดีโอของเรามันเป็นซอฟต์พาวเวอร์นะ มันเป็นอัลเทอร์เนทีฟใหม่ เทคโนโลยีสามารถเอามาช่วยดนตรีไทยได้จริง ๆ และยอดการดูการแชร์ก็สูงหลายล้าน ซึ่งเป็นยอดออร์แกนิกจริง ๆ ทะลุเกินเป้าเคพีไอที่กำหนดไว้กับกองทุนสื่อไปถึง 200 %”
“คลิปที่มีผู้ชมมากที่สุด ก็คือ เพลงค้างคาวกินกล้วย ตอนแรกเราโฟกัสแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่มันมีสิ่งที่ตกผลึกได้กลับมาอีกอัน นั่นก็คือ การรวมนักดนตรีที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์และที่เป็นมือสมัครเล่น มาโชว์ศักยภาพดนตรีไทยด้วยกัน เป็นการรวมพลังของคนรุ่นใหม่ที่สร้างพลังได้ดีมาก ทุกคนช่วยกันแชร์ผลงานออกไป มีคอมเมนต์ที่อยากให้มารวมตัวกันจริง ๆ เล่นในสถานที่จริง หรือจัดเป็นคอนเสิร์ตไปเลย หลายคนมองว่านี่ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ แต่ยังเป็นการต่อยอด พัฒนาให้ร่วมสมัย และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้จริง”
ฟีโน่ เล่าด้วยรอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในทุก ๆ ครั้งที่ได้อ่านคอมเมนต์จากผู้ชม แต่กว่าที่เขาและทีมงานจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ก็ต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายมากมาย ทั้งการสร้างสื่อเมตาเวิร์สให้ดูเข้าใจง่าย การเลือกใช้เพลงที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ถึงแม้จะเป็นเพลงไทยเดิมก็ต้องเป็นเพลงที่คนทั่วไปรู้จักด้วย ในขั้นตอนนี้จึงใช้เวลาประชุมและทำรีเสิร์ชอยู่นานนับเดือน กว่าจะได้เพลงที่เหมาะสม รวมถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด ก็คือ การสร้างฉากโซนต่าง ๆ ในโลกเมตาเวิร์ส และการประสานงานกับเหล่านักดนตรีไทยหลายสิบชีวิต ให้มาร่วมฟีเจอริ่งโชว์ในมิวสิกวิดีโอ
“เราเอานักดนตรีไทยทั้งที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์และนักดนตรีทั่วไปเกือบ 30 คน มาเล่นด้วยกัน มันก็ต้องใช้การประสานงานที่หนักหน่วงมาก และจะต้องทำarrangeเพลง แบ่งพาสด้วยว่าใครจะต้องเล่นตรงไหน จึงใช้เวลาค่อนข้างมาก กว่าจะได้เพลงออกมา แล้วที่บ้านของนักดนตรีแต่ละคนก็ไม่ได้มีสตูดิโอ ต้องอัดผ่านโทรศัพท์มือ หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งคุณภาพที่ส่งมาก็ไม่ได้ดีมาก เราต้องนำมาปรับแต่งภาพและเสียงให้มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“ในส่วนของการสร้างฉากเมตาเวิร์ส ก็ท้าทายมาก ๆ เช่นกัน ว่าจะสร้างออกมาให้สมจริงได้อย่างไรภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด เราพรีเซนต์และเปลี่ยนแบบฉากไปเรื่อย ๆ หลายรอบมาก กว่าจะได้ฉากที่นำเสนอออกไป และก็ยังมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ต้องแบ่งกันเรนเดอร์ การบริหารจัดการเวลา ถ้าในส่วนของการถ่ายทำ เรากำหนดเวลาได้ว่าต้องเสร็จเมื่อไหร่ แต่พอเป็นเรื่องการเรนเดอร์ฉาก มันจะมีความดีเลย์ อย่างเช่นในฉากเมตาเวิร์สจะต้องมีการปรับแก้เล็กน้อย เราก็ต้องใช้เวลาแก้อยู่เป็นวัน เวลาก็จะยิ่งดีเลย์ออกไปอีก”
ดนตรีไทยในเมตาเวิร์ส ทั้ง 3 บทเพลงนี้ จึงเป็นความภูมิใจของทีมผู้ผลิตและเหล่านักดนตรีไทยรุ่นใหม่ ที่จะอยากร่วมกันอนุรักษ์ ต่อยอด พัฒนาดนตรีไทยให้ร่วมสมัย เข้าถึงง่าย และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างแท้จริง ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ชม สามารถไปหาชมกันได้ที่ช่องยูทูบและติ๊กต็อก Fino the Ranad แล้วคุณจะได้พบกับความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่ช่วยทำให้ดนตรีไทยไร้พรหมแดน
ความเห็นล่าสุด