เลือกหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Engagement กลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการสื่อสารในโลกออนไลน์ยุคปัจจุบันอย่างไม่ต่างกับเรตติ้งในสื่อโทรทัศน์ แต่ทว่า Engagement บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ได้เพียงสะท้อนว่าคอนเทนต์นั้น ๆ มีคนดูมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ไม่ได้นับแค่ยอดวิว แต่ยังสะท้อนว่าคอนเทนต์นั้นได้รับความสนใจจากผู้คนมากน้อยแค่ไหน จากท่าทีการมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์นั้น ๆ ด้วยการกดชอบ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ แต่ละแพลตฟอร์มใช้วิธีนับค่า Engagement ที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับ Facebook คะแนนหลังบ้านที่ได้จากการกด Like จะน้อยกว่าการกด Love หรือกด Wow และที่ได้คะแนนมากสุดคือการกด Share ในขณะที่ TikTok คิด Engagement Rate จากการมีส่วนร่วมโดยเฉลี่ยของบัญชีผู้ใช้งาน ด้วยการนับยอด Like การแสดงความคิดเห็น และจำนวนการแชร์ จากนั้นนำมาหารด้วยจำนวนการดูวิดีโอในช่วงเวลาที่กำหนด เมื่อได้ผลลัพธ์จะนำมาคูณด้วย 100 อีกครั้ง (อ้างอิง: เพจการตลาดวันละตอน, พฤศจิกายน 2022) เป็นต้น

การนับค่า Engagement ของแพลตฟอร์ม  ทำให้ส่วนใหญ่ของเนื้อหาที่นำเสนอ มักมุ่งกระตุ้นสร้างความสนใจใคร่รู้ด้วยสีสัน ความขัดแย้ง ดราม่า ซึ่งการทำงานที่ตอบสนองความสนใจใคร่รู้ เป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของสื่อมวลชน เพียงแต่ว่าสิ่งที่น่ากังวลคือ ค่า Engagement ครอบงำการทำงานของสื่อมวลชนจนเบียดบังการทำงานในมิติอื่น ๆ ทำให้สื่อทำงานเพื่อสร้างยอด Engagement มากกว่าการทำหน้าที่กำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) หรือการทำข่าวนำสังคมซึ่งมักจะไม่ได้ยอด Engagement มาโดยเร็ว

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา อดีตบรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ อดีตบรรณาธิการบริหาร The MOMENTUM และอดีตผู้บริหาร iLaw  กล่าวว่า คุณภาพของข่าวไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนทำงานข่าวแต่เพียงผู้เดียว แต่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องรับผิดชอบร่วมกัน การสร้างระบบนิเวศของเนื้อหาที่ดี จะเรียกร้องเฉพาะคนทำเนื้อหาไม่ได้ จะไปโทษคนดูว่าไม่สนใจก็ไม่ได้ แต่เพราะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เนื้อหาที่จำเป็นและสำคัญถูกกลบไป เนื้อหาสำคัญ ๆ จึงต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป

“ถ้าคาดหวังการเปลี่ยนแปลง คิดว่าไม่ใช่เรียกร้องกับคนทำงานข่าว คนทำงานคอนเทนต์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงเอเจนซี่โฆษณาด้วย อยากจะบอกคนที่พิจารณาซื้อโฆษณาสื่อด้วย ว่าควรจะมองหลาย ๆ ทางเพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาคุณภาพตรงนี้ ไม่ใช่มองแค่ Engagement”

สิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้ มีเกณฑ์การให้ค่า Engagement ที่แตกต่างกันออกไป YouTube ชอบแบบหนึ่ง Facebook ชอบแบบหนึ่ง TikTok ชอบอีกแบบหนึ่ง พูดคร่าว ๆ ณ ตอนนี้ YouTube อาจจะดึงดูดคลิปที่มีความยาวกว่า ในขณะที่ Facebook และ TikTok ชอบคลิปสั้น ๆ กระชับ ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้บังคับทิศทางคนทำงานข่าวไปโดยปริยาย และเกณฑ์ Engagement ของแต่ละแพลตฟอร์มเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา TikTok ทำให้แพลตฟอร์มอื่น ๆ หันมาทำวิดีโอสั้นแนวตั้ง ในขณะที่ TikTok เองหันกลับมาทำวิดีโอที่ยาวขึ้น ทั้งหมดสร้างความปั่นป่วน คนทำสื่อต้องตามการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มอย่างรู้เท่าทัน ควรตามแต่พอประมาณ ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสื่อแต่ละรายอาจหวั่นไหวกับ Engagement ในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับการพึ่งพิงแพลตฟอร์ม

บางสื่อ เช่น สื่อใหญ่กับสื่อเล็กที่ต้องการรายได้จากยอดวิว ก็ต้องหาวิธีทำงานที่สอดคล้องกับกติกาของแพลตฟอร์ม ส่วนสื่อขนาดกลางๆ มักใช้ยอดวิวเพื่อไปต่อยอดความน่าเชื่อถือแล้วหารายได้มากกว่า ความคาดหวังที่แตกต่างกันไป ก็จะกำหนดวิธีออกแบบเนื้อหาที่แตกต่างกันไป

ก้าวพ้นกับดัก Engagement ด้วยความหลากหลายของแหล่งรายได้ และการให้รางวัลคนทำงาน

อรพิณ มองว่า การที่สื่อจะก้าวพ้นกับดัก Engagement ของแพลตฟอร์มได้นั้น สื่อจะต้องทำสองสิ่ง นั่นคือ การกระจายความเสี่ยงของรายได้ ปรับลดสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้จากการโฆษณาซึ่งอ่อนไหวกับยอด Engagement ของข่าว และการปรับการทำงานภายในมาให้ความสำคัญกับการสร้างระบบที่เอื้อการทำงาน รวมถึงให้รางวัลกับคนทำข่าวที่นำเสนอประเด็นทางสังคม มากกว่าวัดประเมินผลงานของนักข่าวจากข่าวที่ได้รับยอด Engagement สูง ๆ แต่เพียงอย่างเดียว

การกระจายความเสี่ยงของรายได้ ฝ่ายบริหารองค์กร ไม่ควรทำให้ช่องทางรายได้แบบใดแบบหนึ่งมาครอบงำการทำงานข่าวจนเกินไป ทางออกคือต้องมีรูปแบบธุรกิจที่สร้างรายได้หลายแบบ

รายได้ของสื่อในเวลานี้ ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาทางตรงที่ได้จากภาครัฐและเอกชน และโฆษณาในกลุ่ม Programmatic Ads ที่มากับระบบ Ad network รวมถึงโฆษณาแทรกในแพลตฟอร์มต่างๆ

แต่ละช่องทางรายได้ มาพร้อมข้อจำกัดในการทำงานเสมอ เช่น ถ้ารายได้มาจากโฆษณาทางตรงเป็นหลัก หนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับโลกของความเกรงใจ ซึ่งจะดีหากสื่อ เอเจนซี่ตัวกลาง รวมถึงผู้ซื้อโฆษณาเข้าใจ เคารพ และไม่ล้ำเส้น การทำงานสื่อสารมวลชน

“โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าความแข็งแรงของคนทำงานมีมากน้อยแค่ไหน มีความพยายามเพียงใดที่จะปฏิเสธลูกค้าที่คิดว่าหากซื้อโฆษณาแล้ว อยากจะขอแก้ข่าวอย่างไรก็ได้ ก็อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรด้วยว่าอนุญาตได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งนี้จะแข็งแรงกับคนทำงานมากขึ้นหากองค์กรข่าวมีช่องทางของรายได้ที่หลากหลาย”

การมีช่องทางรายได้ที่หลากหลาย ช่วยสร้างสมดุลการทำงานเนื้อหาให้สื่อช่วยเพิ่มอิสระและอำนาจการต่อรองให้สื่อได้มากขึ้น สำหรับสื่อใหญ่หลายๆ แห่ง การทำข่าวหวย ข่าวความเชื่อ ก็มีข้อดีที่ช่วยสร้างรายได้จาก Programmatic Ads (การซื้อขายพื้นที่โฆษณาดิจิทัลในแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์) แต่ถ้ามีมากเกินไปก็กัดกินทรัพยากรบุคคลที่ต้องทุ่มกำลังมาทำเนื้อหาไวรัลแทนที่จะทำข่าวจริงๆ สิ่งนี้ก็ต้องจัดสมดุลกับการรับโฆษณาทางตรง ที่มักมาพร้อมกับความเกรงใจลูกค้าภาครัฐและเอกชน และอีกช่องทางคือรายได้จากคนอ่าน ซึ่งมีข้อดีที่ทำให้สื่อต้องผูกพันกับสังคมและคนอ่าน แต่ก็จะมาพร้อมกับข้อเสียหากสื่อต้องเสนอเนื้อหาที่ผูกพันกับแฟนคลับหรืออุดมการณ์เฉพาะ และมีความเสี่ยงที่สื่ออาจจะโดนต่อต้านหากวันหนึ่งนำเสนอข่าวที่คนอ่านไม่พอใจ เพราะในการทำงานข่าว สื่อไม่จำเป็นต้องเอาใจคนอ่านตลอดเวลา  

นอกจากนี้ การจัดอิเวนต์ การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ ก็เป็นอีกวิธีการที่ดี เพราะสื่อได้สร้างสรรค์เนื้อหา ได้ทำงานเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายองค์กรธุรกิจ 

สำหรับสื่อขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนการทำงาน ให้มีสัดส่วนของการนำเสนอข่าวตามวิชาชีพ คือ นำเสนอข่าวที่ประชาชน “ควรรู้” “ต้องรู้” ในสัดส่วนที่สมดุลกับการนำเสนอข่าวที่ประชาชน “อยากรู้”

ปัจจุบันสื่อนำเสนอข่าวที่ประชาชนอยากรู้ เพราะข่าวที่คนอยากรู้สามารถสร้างยอด Engagement ได้มาก สามารถทำให้สื่อสร้างรายได้สูงจากการโฆษณา เนื้อหาข่าวที่คนอยากรู้มักเป็นข่าวสายบันเทิงมากกว่าข่าวซีเรียสแบบข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวต่างประเทศ แม้มีจำนวนผู้อ่าน ผู้ดู จำนวนมาก แต่ก็จะไม่มากจนเป็นไวรัลแบบข่าวความขัดแย้ง

อรพิณ กล่าวว่า ในฐานะบรรณาธิการข่าว เธอไม่ปฏิเสธชิ้นงานไวรัล และเห็นว่าทีมงานจำเป็นต้องมีทักษะในการคิดว่างานแบบไหนที่จะได้ยอดคนดูคนแชร์จำนวนมาก แต่หากสื่อให้ความสำคัญกับ Engagement ของแพลตฟอร์มมาก ก็จะหลงทางมากจนไม่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น วิธีคิดของคนทำงานเนื้อหาและองค์กรสื่อ ควรจัดการองค์กรและสร้างรูปแบบธุรกิจที่กระจายความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด เพื่อระบบนิเวศสื่อที่มีคุณภาพ

“คนทำงานข่าวรู้ทั้งรู้ ว่าเขาจะทำข่าวเพียงเพื่อสร้าง Engagement เท่านั้นมันไม่ได้ ดังนั้น ถ้าระบบของกองบรรณาธิการเอื้อ นักข่าวก็พร้อมที่จะแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง เพื่อนำเสนอประเด็นข่าวที่มีคุณภาพ ที่สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำงานให้สมดุลกับข่าวสีสันที่ได้รับ Engagement สูง  โดยระบบและหัวหน้าทีมต้องทำให้นักข่าวรู้ว่า มีประเด็นข่าวเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าข่าวไวรัล และให้รางวัลกับคนทำข่าวที่ไม่ไวรัลด้วย เพื่อให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องทำข่าวเพียงเพื่อดึงยอด Engagement อย่างเดียว แต่ให้การทำงานข่าวเพื่อนำประเด็นสังคม เพื่อกำหนดวาระการสื่อสารที่สำคัญของสังคม ก็ควรเป็น KPI (Key Performance Indicator-ตัวชี้วัดความสำเร็จ) ของทีมด้วย”

การสร้างคุณค่าข่าวเป็นบทบาทของทุกคน ทั้งคนทำสื่อ คนเสพสื่อ และคนซื้อสื่อ องค์กรข่าวจะต้องมีระบบที่เอื้อให้นักข่าวและทีมข่าวทำงานเพื่อนำประเด็นทางสังคมด้วย เช่น เป็น KPI หรือ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น

“ขณะที่คนทำข่าวใช้พลัง ใช้ทรัพยากรกับการทำข่าวเพื่อให้อาหารแพลตฟอร์ม ก็ต้องแบ่งชั่วโมงการทำงานและทรัพยากรของสำนักงานให้กับงานที่เป็นภาระตามหน้าที่ ตามวิชาชีพด้วย”

คนทำสื่อ คนเสพสื่อ  เอเจนซี่ คนซื้อสื่อ แพลตฟอร์ม มีหน้าที่ร่วมสร้างและรักษาคุณค่าข่าวสาร

คนทำสื่อ คนเสพสื่อ และคนซื้อสื่อ รวมถึงแพลตฟอร์ม ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรักษาคุณค่าของข่าว แต่ไม่รู้ว่าสามารถเรียกร้องจากแพลตฟอร์มได้หรือไม่ ดูจากในประเทศอื่น ๆ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย ที่พยายามหาทางสื่อสารกับแพลตฟอร์ม แต่ผลลัพธ์อาจสุดโต่งคือเข้า Facebook แล้วไม่เห็นเนื้อหาข่าวเลย มีข่าวที่คนไม่เห็น เพราะถูกระบบอัลกอริทึม นำคอนเทนต์อื่นที่มี Engagement สูง ๆ กลบ บดบังโอกาสการมองเห็น

เมื่อคนดูคนอ่านอยู่บนแพลตฟอร์ม คนทำข่าวก็ไขว่คว้าหาคนดูคนอ่าน จึงนำเนื้อหาข่าวไปนำเสนอบนแพลตฟอร์มแบบฟรี ๆ แล้วทำให้แพลตฟอร์มเติบโต ในขณะที่สื่อต้องหาช่องทางรายได้ด้วยการติด Ads กันเอง

อรพิณเรียกร้องผู้ซื้อสื่อว่ายอด View กับยอด Engagement ไม่ควรนำมาเป็นตัวชี้วัดหลัก หากผู้ซื้อสื่อนำเรื่องคุณภาพข่าวมาคำนวณด้วย โลกจะดีกว่านี้มาก ๆ ความยากในการเรียกร้องให้มีคอนเทนต์ที่สามารถสนับสนุนให้คนทำข่าวสามารถทำข่าวเชิงลึกได้ มีบทวิเคราะห์ได้ คือ ข่าวที่ดี ข่าวที่มีคุณค่า ไม่สามารถวัดออกมาเป็นเชิงตัวเลข แต่สามารถวัดผลกระทบแบบอื่น คอนเทนต์ที่ดี อาจมียอดไลค์ไม่มาก แต่ผลกระทบได้จริง ผลกระทบที่เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว คือ การสร้างชุมชนใหม่ ๆ แล้วชุมชนเหล่านั้นขยายใหญ่จนสามารถสร้างขนาดธุรกิจได้อีกรูปแบบหนึ่ง

อรพิณยกตัวอย่างกรณี The Cloud เป็นสื่อไลฟ์สไตล์และสื่อธุรกิจ แต่มีรูปแบบการสร้างรายได้ที่สามารถไปได้ไกลและหลากหลายกว่าสื่อที่นำเสนอข่าวรายวัน วิธีการขายโฆษณาของ The Cloud มีความน่าสนใจมาก ตัวอย่างหนึ่ง คือ การริเริ่มงาน Thailand Coffee Fest มหกรรมกาแฟที่เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ บาริสต้า และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาออกร้าน โดยทั้งก่อนและหลัง มีการทำเนื้อหาเกี่ยวกับกาแฟ และมีผลให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา รสนิยมของคนกินกาแฟค่อยๆ เปลี่ยนไป ผ่านการพยายามสื่อสารอย่างละเอียดละเมียดละไม งานนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และสร้างผลกระทบได้จริง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ซัพพลายเออร์และอื่น ๆ ในระบบนิเวศกระบวนการผลิตกาแฟทั้งหมด มาเจอกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มคนที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยให้สามารถทำธุรกิจของตัวเองให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

“สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของการทำคอนเทนต์ที่สร้างผลกระทบ และวัดผลได้ แม้งานชิ้นหนึ่งที่อาจจะมีคนอ่านหลักพันถึงหมื่นวิว ถือว่าไม่มากหากเทียบเกณฑ์การนับยอดของการทำข่าวสีสันหรือข่าวอุบัติเหตุที่ได้ยอดวิวหลักล้าน แต่หากเป็นเนื้อหาที่สามารถสร้าง Community ได้ตรงจุด ก็จะสามารถต่อยอดจากจุดนี้ได้มาก”

คนทำสื่อทุกคนอยากทำให้สังคมดีขึ้น สิ่งที่เสนอไปต้องช่วยให้ความรู้ ทำให้คนเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต เป็นคุณค่าของการทำงานสื่อ ที่สามารถกลับมาสร้าง Engagement เพิ่มมากขึ้นได้ มีคนติดตาม (Follower) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติ หากสามารถสั่งสมค่านิยมนี้ไปเรื่อย ๆ

สื่อมวลชน กับการเป็น “อิฐก้อนแรก” ของข้อมูลข่าวสาร

บทบาทในการกำหนดวาระข่าวสารของสื่อจะยิ่งสำคัญกว่าเดิม ถ้าเน้นย้ำการทำหน้าที่เป็นอิฐก้อนแรกของข้อมูลข่าวสาร เพราะในโลกที่มีคอนเทนต์จำนวนมาก แต่ทว่าคอนเทนต์ส่วนมากเป็นการผลิตซ้ำ เล่าใหม่ แต่คนที่จะทำหน้าที่เป็นก้อนข้อมูลก้อนแรกเพื่อให้คนเอาไปต่อยอด มีน้อยมาก

“ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเข้าเว็บไซต์ไหน ข่าวก็เหมือนกันไปหมด ต่างแค่ลีลาในการเล่า ลีลาในการเขียน และเปลี่ยนสำเนียงเล่า หรือสรุปความให้” 

สิ่งหนึ่งที่มักกระตุกคนข่าวได้ คือคำถามที่ว่า “วิธีการเล่าแบบเดิม ๆ ไม่ยั่วยวนเท่าอินฟลูเอนเซอร์ทำ เป็นสิ่งที่คนข่าวต้องเรียนรู้ว่าสามารถทำข่าวแล้วนำเสนอให้สนุกได้ไหม ?”  คนทำข่าวต้องหาวิธีนำเสนอข่าวที่คนอ่านคนดูชอบ

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปลายน้ำ สิ่งแรกที่เป็นหน้าที่ของคนทำงานข่าว คือ การผลิตวัตถุดิบชิ้นแรกมา ซึ่งถ้าไม่มี อินฟลูเอนเซอร์ก็ไปต่อกันไม่ได้  AI ก็ไม่รู้จะเอาข้อมูลที่ไหนมาตอบยิ่งทำให้เห็นว่างาน Original Content ซึ่งเป็นเสมือนอิฐก้อนแรกของเรื่อง มีความสำคัญมากขึ้น และยิ่งจำเป็นมากขึ้น แต่ที่น่าเศร้าคือ ไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าและยอมลงทุนกับสิ่งนี้ เพราะว่าการเป็นอิฐก้อนแรกนั้นเหนื่อย ใช้ทรัพยากรมาก และราคาการลงทุนแพง อรพิณ ยกตัวอย่างการทำงานของ “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ที่จะส่งทีมข่าวลงสนามทำข่าว ในขณะที่ข่าวจากสำนักอื่นนั่งดูไลฟ์ของฐปณีย์ แล้วรายงานข่าว

“ถ้าไม่มีคนที่ทำงานเพื่อได้ข้อมูลชุดแรกแล้ว เราจะเอาข้อมูลใหม่ ๆ จากที่ไหน โลกมักง่ายมากขึ้นจากการที่เราอ่านข้อมูลที่ถูกผลิตซ้ำจากการคิดชั้นสอง คิดชั้นสาม ซึ่งสำหรับคนอ่าน แล้ว ข้อมูลชั้นสองชั้นสามที่สรุปมาให้แล้วมันย่อยง่าย ง่ายกว่าเวลาที่นักข่าวรายงานข้อมูลชุดแรกจากพื้นที่ แต่นั่นคือวัตถุดิบที่สำคัญ จึงไม่แปลกใจที่ในมุมของผู้เสพข่าว จึงชอบวิธีการเล่าซ้ำ แต่ในวงจรการทำข่าว เราต่างรู้ดีว่า ทั้งหมดนี้ต้องการคนที่สร้างเนื้อหาต้นฉบับ (Original Content) ขึ้นมาก่อน และงานข่าวมันคือ Process มากกว่าที่จะเป็น Product ด้วย”

การเล่าซ้ำเป็นการย่อยข้อมูลให้เสพได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ชอบเนื้อหาแบบนี้ แต่หากไม่มีอิฐก้อนแรก คือ Original Content ที่มากพอ ก็จะไม่มีประเด็นข่าวใหม่ ๆ  ที่น่าเศร้ามากกว่าเดิมคือ งานข่าวออนไลน์ทุกวันนี้ก็ทำข่าวด้วยการนำประเด็นของอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์มาผลิตซ้ำและเล่าใหม่ หรือหยิบข้อเขียนของคนบนหน้าฟีด Facebook มาเป็นข่าว นั่นเป็นเพราะสำนักข่าวไม่ได้ให้การลงทุนกับเวลาของคนทำงานที่จะไปหาข่าวใหม่ ๆ มา จึงใช้วิธีเล่าซ้ำไปเรื่อย ๆ

“วิธีการเล่นประเด็นข่าวตามกระแสออนไลน์ คือการทำข่าวแบบ Passive ซึ่งการทำข่าวแบบนี้สุดท้ายแล้ว AI ทำแทนได้”

อรพิณชี้ว่า สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสื่อ คือการทำงานข่าวแบบ Active นักข่าวต้องคิดประเด็นได้เอง การตั้งต้นจากข้อมูลบนโซเชียลไม่ใช่เรื่องผิด แต่นักข่าวต้องมองสิ่งนั้นเป็น Hint ข่าว ซึ่งทุกอย่างเป็น Hint ข่าวได้หมด พอได้มาแล้ว แทนที่จะนำมารายงาน นักข่าวต้องคิดประเด็นต่อจาก Hint นั้น อาทิ เจอสิ่งผิดปกติในน้ำดื่ม นักข่าวไม่ควรรายงานแค่ว่าเจอสิ่งผิดปกติในน้ำดื่มโดยอินฟลูเอนเซอร์คนนี้เป็นคนเจอ แต่นักข่าวต้องคิดให้ลึกกว่าแค่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น คิดประเด็น วางแผนการเก็บข้อมูล

“งานที่มีคนอ่านน้อยไม่ได้แปลว่าคุณค่าข่าวน้อยกว่างานที่คนอ่านมาก งานที่ถูกผลิตซ้ำและทำให้เนื้อหาย่อยง่ายย่อมได้รับการตอบรับจากคนอ่านมากกว่า มียอดอ่านมากกว่า”

หน้าที่พื้นฐานของสื่อ คือ การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) และสร้างเนื้อหาต้นฉบับ (Original Content) ที่ทำให้งานทุกชิ้นของคนทำข่าวเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง อรพิน มองว่า ต้องเริ่มจากคนทำข่าวที่มีหน้าที่โยนโจทย์ลงไปในสังคม หากประเด็นนั้นน่าดึงดูดใจพอ คนใช้อินเทอร์เน็ตและอินฟลูเอนเซอร์ก็จะตามมาเองโดยธรรมชาติ

“เรื่องที่เป็นวาระต่าง ๆ ของสังคม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มีโครงสร้างของประเด็นซับซ้อน มีความยาก ต้องใช้เวลา คนที่เป็นเจ้าของเรื่องก็มีธงไปแล้วว่าอยากนำเสนอเนื้อหาอย่างไร แต่หากสื่อสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ ก็จะทำให้สังคมได้ข่าวสารที่มีคุณภาพ”