ณ ร้านอาหารตามสั่งในชุมชนแห่งหนึ่ง ยายแซ่บ กับ ยายแจ๋น แห่งแก๊งสูงวัย กำลังเปิดศึกโต้เถียงกันใกล้ถึงจุดแตกหัก
ยายแซ่บ : แกจะหักกับฉันจริง ๆ ใช่ไหม
ยายแจ๋น : ใช่สิ เรื่องแบบนี้ ไม่มีใครเขายอมกันหรอก
ยายแซ่บ : ถ้าอย่างนั้น มิตรภาพระหว่างเรา 10 กว่าปี คงต้องจบลงวันนี้แล้วสินะ
ยายแจ๋น : ถ้าเพื่อเรื่องนี้นะ ฉันก็ยอม ไส้กรอกชิ้นสุดท้ายเนี่ยนะ มันต้องเป็นของฉัน
ยายแซ่บ : มันต้องเป็นของฉัน
ก่อนที่การโต้เถียงในศึกชิงไส้กรอกของทั้งสองยายจะลุกลาม จู่ ๆ ยายเนียนก็โผล่มาเป็นกรรมการ ด้วยการใช้ส้อมจิ้มไส้กรอกชิ้นสุดท้ายในจานเข้าปาก ปิดฉากการแย่งชิง ทำให้ยายแจ๋นและยายแซ่บ ที่เถียงกันอยู่นาน ถึงกันอ้าปากค้าง ที่ยายแจ๋น กลายเป็นตาอยู่มาเดี๋ยวเดียว คว้าไส้กรอกเพียว ๆ ไปกิน แถมเตือนทั้งสองยายให้ระวังการกินเพื่อเลี่ยงเบาหวาน ที่ไม่ได้เกิดจากแค่เพียงการกินของหวาน หรือเป็นโรคจากกรรมพันธุ์เท่านั้น แต่ยังเกิดจากอาหารอีกหลายชนิด
พร้อม ๆ กับที่นายแพทย์ยศพล เตียวจิตติ์เจริญ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธานินทร์ จะมาอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากของหวานและกรรมพันธุ์ อาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน รวมทั้งอาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม เบคอน ที่มีคาร์โบไฮเดรตและให้พลังงานสูง รวมทั้งผลไม้บางชนิดที่มีรสหวาน ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดเบาหวานได้ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อหลีกเลี่ยงโรคเบาหวาน ให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ
กลายเป็นเรื่องราวสนุก ๆ ของ 3 คุณยาย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้สูงอายุ ในซิทคอมชุดชะลอชรา ทั้ง 30 ตอน ในโครงการชะลอชรา สื่อเคล็ดลับชะลอวัย เลี่ยงเสื่อมก่อนตาย เพื่อคนวัยเกษียณ โดย วรีธร ภิรมย์นาม หัวหน้าโครงการนี้ ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี2565 ได้สร้างสรรค์ซิทคอมชุดนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างความสนุกสนานและให้ความรู้แก่ผู้สูงวัยในการดูแลสุขภาพให้ชะลอชรา
“จุดเริ่มต้นของโครงการคือ เวลาเราพูดหรือเตือนอะไร แล้วเขาไม่เชื่อเรา แต่เขาจะเชื่อจากสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ที่มาจากแพลตฟอร์มดิจิตัลต่าง ๆ เช่น เขาเล่นเฟชบุ๊ก ไปอยู่ในกลุ่มไลน์เพื่อน ๆ ก็เชื่อข้อมูลที่เพื่อนแชร์มา เขาไปกินข้าว ไปสภากาแฟ ก็ไปเชื่อคนนั้นคนนี้ เขาไม่ได้เชื่อข้อมูลจากต้นทางที่ลูกหลานพยายามบอก หรือแม้แต่โรงพยาบาลที่ไปตรวจรักษาประจำปี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือคุณหมอพูด น้ำหนักก็ยังน้อยกว่าการไปเชื่อคนอื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนข้างบ้านหรือข้อมูลจากโซเชียล และเชื่อในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเหมือน ๆ กัน อย่างเช่น เขาเล่ากันเรื่องเขาทำแบบนี้แล้วปวดเข่า เขาก็จะเออ ๆ ปวดเข่าเหมือนกัน พวกเราต้องไม่เดินเยอะ ๆ เออใช่เราต้องไม่เดินเยอะ ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เราจะต้องทำยังไง ที่จะทำให้เกิดการสื่อสร้างสรรค์ที่ถูกต้อง ทำให้เขาเชื่อถือ”
วรีธร เล่าถึงจุดเริ่มต้นจนกลายเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ซิทคอม ชุดชะลอชรา ทั้ง 30 ตอนขึ้นมา โดยใช้นักแสดงมืออาชีพรุ่นคุณตาคุณยาย ในวัย 60-70 ปี สวมบทบาทตัวละครหลักในเส้นเรื่อง ที่มีทั้งยายแซ่บ กับ ตาชะลอ มีหลานคือน้องพราว ยายแจ๋นข้างบ้าน ยายเนียนร้านขายกับข้าว แถมด้วยเบิ้มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มาร่วมสร้างความสนุกสนานในซิทคอม ความยาวตอนละ3-5นาที สื่อสารความรู้ไปถึงกลุ่มผู้สูงวัย โดยแต่ละตอนมีพล็อตเรื่องความสนุกสนานจากสถานการณ์จำลองต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุเจอในชีวิตประจำวัน อย่างเวลาลุ้นหวยแล้วตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็วจนตกใจ ผู้สูงอายุมักกินยานอนหลับ แต่ไม่ปรับพฤติกรรมการนอน หรือ ความเชื่อเรื่องถั่งเช่า ยาสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งตอนจบของทุกตอนจะมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องด้วย
“เรานำเรื่องราวสถานการณ์มาจากงานวิจัย ที่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะอยู่กันตามลำพังแค่สองคนตายาย นาน ๆ จะมีหลานมาหา แต่เขาไม่ได้อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ คือทุกคนแยกไปอยู่บ้านตัวเอง แล้วค่อยมาเจอคุณตาคุณยาย และมักจะมีเพื่อนบ้านที่แจ๋น ๆ เจ๋อ ๆ และมีวินมอเตอร์ไซค์ที่เขาสั่งให้ไปซื้อของให้ มันเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย เมื่อเดินไปปากซอย ก็จะมีร้านอาหารตามสั่ง มีที่ให้เมาท์คล้ายกับสภากาแฟ เรื่องราวสตอรี่ก็จะมาแบบนี้ เชื่อหมอผี ดูหมอดู หมอดูบอกให้กินยาต้มอันนี้ แล้วจะหายปวดเข่า เขาก็จะเชื่อและบอกต่อ ๆ กันไป ทั้ง 30 ตอนจะมีนักแสดงหลักแบบนี้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปและมีนักแสดงรับเชิญเข้ามา”
ซิทคอมชะลอชรา ทั้ง 30 ตอน ใช้เวลาถ่ายทำเกือบ 4 เดือน ซึ่งกลายเป็นกองถ่ายที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานของนักแสดงสูงวัย แม้ทีมงานต้องทำงานอย่างหนักในการรับมือ ทั้งการเสิร์ฟน้ำแดงให้นักแสดงในช่วงบ่าย เพราะคุณตาคุณยายหลายคนน้ำตาลตก หรือต้องมีบริการนวดแก้เมื่อยให้ กลายเป็นทั้งความสนุกสนานและความท้าทาย กว่าจะกลายมาเป็นซิทคอมชะลอชรา ทั้ง 30 ตอน ที่เผยแพร่ผ่านทาง เฟซบุ๊กและยูทูบชะลอชรา รวมถึงส่งต่อให้ชมรมผู้สูงวัยและเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ที่ทำงานกับชุมชน อย่างอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. ให้นำไปเผยแพร่ต่อในชุมชนด้วย
นอกจากนี้ทีมงานยังตัดต่อซิทคอม ทำเป็นคลิปสั้น ๆ ความยาว 30 วินาที ถึง 1 นาที ให้ผู้สูงอายุได้แชร์ให้เพื่อนในกลุ่มไลน์ ซึ่งจะช่วยส่งต่อความรู้ความเข้าใจให้ผู้สูงอายุทั่วไทย ได้ดูแลสุขภาพให้ชะลอชรา และสุดท้ายถึงจะแก่ แต่ก็ขอให้แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ และมีความสุขมากขึ้น
สามารถรับชมได้ทาง : Facebook Fanpage ชะลอชรา https://www.facebook.com/elderlyslowdown
#กองทุนสื่อ #ชะลอชรา
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ความเห็นล่าสุด