เลือกหน้า

หลายครั้งที่สื่อมวลชนไทยถูกตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาล (Good Governance) ขององค์กรสื่อ ความรับผิดรับชอบ (Good Accountability) ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรมส่วนบุคคล เช่น ปรากฎการณ์ลุงพล-น้องชมพู่ การรายงานสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน ประเด็นมาตรา112 และในอีกหลายประเด็นสะท้อนการรายงานข้อเท็จจริงที่ปนเปไปด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็น ทั้งจากบุคคลในข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือ ผู้รายงานข่าวในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งเกินเลยเสียจนบดบังข้อเท็จจริงที่ควรนำเสนอ ทำให้ผู้รับสารหรือสังคมโดยรวมมองประเด็นปัญหาคลาดเคลื่อน มีมุมมองหรือความเข้าใจไม่รอบด้านต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สับสนระหว่างความคิดเห็นเป็นข่าว หรือข้อเท็จจริงเป็นข่าว

The Story Thailand ได้มีโอกาสสนทนากับ ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อชวนคลี่ปมความเป็นละครในข่าว (News Dramatization) หรือ การใส่ “ความเป็นดราม่า” ลงไปในการรายงานข่าว หรือการเล่าข่าว ทั้งในสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ที่หยิบประเด็นในกระแสมานำเสนอโดยอิสระ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ อันส่งผลต่อการตระหนักรู้และการให้ทางออกที่ถูกควรกับสังคม

เติมเต็มสังคมแห่งปัญญามากกว่าย้ำซ้ำปมเร้าอารมณ์

“การนำเสนอข่าวในปัจจุบัน ดูเหมือนเป็นการบอกเล่า ณ ปลายทางของความขัดแย้ง แต่สิ่งที่สื่อมวลชนควรอธิบายต่อ คือ ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ เพื่อให้สังคมได้ประโยชน์จากความเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมด” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ไม่ว่าจะเป็นการรายงานความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือปมปัญหาจากความขัดแย้งส่วนบุคคลที่นำไปสู่การทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต อาจไม่ได้พาสังคมไปสู่การหยั่งลึกถึงรากของปัญหา หากสื่อนิยมรายงานเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น เกิดสงคราม เกิดเหตุฆาตกรรม คนนี้เป็นคนทำ คนนั้นถูกทำร้าย ใครที่ถูกตัดสิน สนใจกับการผูกปมว่าฝ่ายที่ทุกข์ทรมานรู้สึกอย่างไร ซึ่งเข้าใจได้ว่า อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น การได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่การนำเสนอย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ แค่ความขัดแย้งหรือความรู้สึกของคนไม่กี่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ช่วยให้สังคมรับรู้และเข้าใจจุดเริ่มต้นของปัญหาหรือพบคำตอบร่วมกันในการจัดการแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก อาทิ การให้ปูมหลังของสงครามที่ยาวนานมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ หรือเป็นสงครามเพื่อธำรงความเป็นรัฐชาตินั้น สภาพแวดล้อม ความขัดแย้งเป็นอย่างไร ทำไมจึงเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา หรือเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความบิดเบี้ยวของสังคม หรือกระบวนการยุติธรรมถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น หลายกรณีจึงจบตรงการรับรู้แค่ว่าถ้าคุณไปยิงคน ๆ นี้ตาย ก็ฆ่าให้ตายตกไปตามกัน ถ้ากลุ่มนี้ก่อสงครามจนมีประชาชนล้มตาย ก็ฆ่าคนกลุ่มนี้ให้สิ้นซาก แต่จริง ๆ แล้วทุกคนก็รู้ว่ามันไม่จบ ปัญหายังคงอยู่และดำเนินต่อไป

“ไม่ได้ห้ามการรายงานความรู้สึกหรืออารมณ์แต่อย่างได แต่สื่อมวลชนไม่ควรละเลยการฉายภาพกว้างให้เห็นที่มาที่ไปด้วยว่าความรู้สึกหรืออารมณ์ของสังคมที่ปรากฏอย่างนี้มาจากสาเหตุใด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ 2-3-4 ตามมา แล้วเราต้องมาคุยกันอยู่เรื่อย ๆ ว่า ทำไมสื่อไม่นำเสนอข่าวในมุมอื่น ๆ เลย จดจ่อแต่เรื่องการนำเสนอข่าวเร้าอารมณ์” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว                 

ข่าวเร้าอารมณ์ทำได้ง่าย ประเมินผลได้เร็ว ขณะที่การทำงานข่าวเชิงลึกรอบด้าน ต้องทุ่มเทและใช้เวลา

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า อารมณ์เป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการชูอารมณ์ว่าใครรู้สึกอย่างไรในเรื่องใดเป็นปัจจัยเชื่อมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงของผู้คนในสังคมได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ การที่สื่อมวลชนเลือกสนใจการรายงานข่าวเชิงเร้าอารมณ์เพราะไม่มีต้นทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเสนอข่าวเชิงลึกที่ต้องค้นคว้าข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ หรือการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการ เพื่อขยายผลว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน อะไรที่ไม่ชอบธรรม เช่น การทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ของอิสราเอล-ฮามาส รัสเซีย-ยูเครน ให้ลึกซึ้ง การสัมภาษณ์นักวิชาการที่อาจจะมีไม่กี่คน แล้วนักวิชาการมีเวลาให้หรือไม่ การอ่านงานวิจัย การค้นคว้าหาเอกสาร คนทำงานมีเวลาหรือไม่ เพียงใด กองบรรณาธิการให้เวลาในการทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ บางครั้งจึงง่ายและประหยัดเวลากว่าที่จะโยนคำถามธรรมดาพื้น ๆ ไปให้แหล่งข่าวสักคนที่คุยง่าย ยอมคุย เพื่อให้ได้ชิ้นข่าวที่นำเสนอได้รวดเร็ว สามารถแข่งขันกับองค์กรสื่ออื่น ๆ ได้

ทั้งการเกิดขึ้นของสื่อใหม่บนสังคมออนไลน์ทำให้ภูมิทัศน์ของสื่อกระแสหลัก (Traditional Media) เปลี่ยนไป ในอดีตเป็นที่รู้กันว่าจำนวนผู้อ่าน ยอดการจำหน่ายของสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวนผู้รับชม หรือเรตติ้งในสื่อโทรทัศน์ เป็นตัวชี้วัดความนิยมที่เอเจนซีนำมาประกอบการพิจารณาให้งบโฆษณา แต่ทุกวันนี้ สื่อกระแสหลักต้องเปลี่ยนผ่านเนื้อหา รูปแบบการผลิต และวิธีการนำเสนอที่ไม่ใช่แค่บนสื่อสิ่งพิมพ์ หรือหน้าจอทีวี แต่ต้องเหมาะเจาะกับการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อช่วงชิงรายได้จากการโฆษณาเช่นกัน ทำให้การลงทุนทั้งเวลาและกำลังคนของสื่อกระแสหลักจึงไม่ได้อยู่ที่การหาข้อมูลให้ลึกขึ้น หรือ กว้างขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงการนำข้อมูลมาผลิตคอนเทนต์ เพื่อนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ไปพร้อมกัน หรือ สามารถแตกต่อข้อมูลจากแพลตฟอร์มใหญ่ไปใช้กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ

“เหตุที่สื่อมวลชนหันไปนำเสนอโดยเน้นอารมณ์ ความรู้สึก หรือ ข้อมูลเบื้องต้นที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะ หนึ่ง อย่างไรก็มีคนอ่านคนดู เพราะเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับความรู้สึกของคนได้ง่ายอย่างที่กล่าวไป และ สอง ไม่ได้มีเวลาในการหาข้อมูลอะไรมาก หรือ บริษัทไม่ได้เห็นความสำคัญว่าต้องให้เวลาผู้สื่อข่าวไปทำงานเชิงลึกมาก เพราะต้องแข่งขันกับสื่อเจ้าอื่นเพื่อชิงพื้นที่ข่าว ไม่อย่างนั้นโฆษณาจะไม่เข้า” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

เมื่อคน (เล่า) ข่าวอยากดราม่า ต้องพร้อมรับผิดชอบผลกระทบที่ตามมา

แม้ประเด็นข่าวจะเป็นหัวใจหลักในเรื่องที่นำเสนอ แต่วิธีการนำเสนอให้อ่านง่าย ฟังง่าย ย่อยง่าย เข้าใจง่าย ก็มีความสำคัญ การเล่าข่าวที่ตัดเฉพาะคำคม ภาพที่สะเทือนใจ การนำเสนอความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกของคนในข่าว กระทั่งการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายผ่านการเลือกใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง การใส่ความคิดเห็นที่เจือด้วยอารมณ์ของผู้ประกาศข่าว หรือผู้รายงานข่าว ซึ่งทำให้ประเด็นนำเสนอแหลมคมกว่าเดิม หรือย้ำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ แต่ในทางกลับกัน อาจกลายเป็นการเน้นองค์ประกอบของอารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง

“มันไม่ได้เป็นจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติที่ดีในการใส่ความคิดเห็นลงไป แต่ผู้ดำเนินรายการเล่าข่าวโดยเฉพาะในทีวีอาจคิดว่าต้องเล่าให้เข้าใจง่าย แต่การเล่าให้เข้าใจง่ายหมายถึงการเลือกใช้ถ้อยคำ การเรียบเรียงเรื่องราว หรือเลือกแหล่งข่าวคนไหนเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการใส่อารมณ์ความคิดเห็น” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ในมุมนักวิชาการจึงไม่ฟังธงว่าสื่อมวลชนทำได้หรือไม่ได้ แต่บอกได้แค่ว่าการใส่ความคิดเห็นของผู้เล่าข่าวลงไปทำให้ผู้รับสารมีโอกาสคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เล่าข่าว หรือมีผลชี้นำให้สังคมคิดไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจตรงหรือแย้งกับสิ่งที่สื่อกำลังเสนอ ตลอดจนแนวทางที่สื่อนำเสนอก็ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นวิธีคิดที่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งหรือป้องกันความรุนแรงได้ ดีไม่ดีอาจทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงซ้ำหรือเป็นการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังก็ได้

“หากคิดจะเลือกใส่ความคิดเห็นผ่านถ้อยคำ ภาพ น้ำเสียงใด ๆ เพื่อเล่าข่าว ก็ต้องตระหนักรู้ว่ากำลังทำอะไรกับสังคมอยู่ และต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าในวันหนึ่งข้างหน้าเกิดสิ่งที่เป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับที่คุณหวัง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หรือบรรเทาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในสังคม” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

สื่อติดกับดักการเสนอข่าวแบบปิงปอง วนเวียนกับแหล่งข่าวที่ทำให้คอนเทนต์ขายได้

ปรากฎการณ์ลุงพล-น้องชมพู่ คดีฆาตกรรมอำพรางที่สังคมให้ความสนใจ เป็นหนึ่งกรณีศึกษาเกี่ยวกับการเลือกแหล่งข่าว ผู้ให้สัมภาษณ์ หรือผู้ให้ข้อมูล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนประเด็น หรือแง่มุมที่ต้องการสื่อให้สังคมได้เห็น ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวว่า การเลือกแหล่งข่าวต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นแค่ความขัดแย้งส่วนบุคคลหรือไม่ เช่น ถ้ามองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างลุงพลกับบ้านน้องชมพู่ สื่อจะวนเวียนอยู่กับการสัมภาษณ์คนกลุ่มนี้จนพวกเขากลายเป็นแหล่งข่าว หรือบุคคลสาธารณะไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้นำไปสู่ข้อเท็จจริงเพื่อการคลี่คลายคดี หรือแก้ปัญหาภาพรวมไม่ให้เกิดคดีฆาตกรรมเด็กขึ้นอีก

ตราบใดที่สื่อมองว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนไม่กี่กลุ่ม เช่น ฆาตกร ผู้ถูกกล่าวหา ครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งไม่ได้ให้คำตอบอะไรมากนักแก่สังคม แต่กลับส่งผลต่อชีวิตของคนเหล่านั้นไม่ว่าทางบวกหรือลบ ทั้ง “การถูกนำมาเป็นตัวละคร เป็นสินค้า เป็นเรื่องราวที่ขายได้” สื่อมวลชนซึ่งหมายรวมถึงคนทำงานหน้างาน กองบรรณาธิการ เจ้าขององค์กรสื่อ ต้องระลึกรู้ว่ากำลังนำเสนอข่าวเพื่อต้องการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงนั้นจริง ๆ หรือแค่ต้องการผลิตคอนเทนต์ มีคีย์เวิร์ดให้สืบค้นไว้เรียกเรตติ้ง ทั้งที่เนื้อหาอาจไม่มีอะไรก็ได้ 

ดังนั้น หลังจากรู้ว่านี่คือประเด็นสำคัญต้องติดตาม แต่เมื่อตามแล้วไม่ได้ข้อเท็จจริงจากการสัมภาษณ์ สื่อควรมุ่งสืบเสาะจากข้อมูลสาธารณะซึ่งเป็นที่เปิดเผย เช่น ข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ถูกนำมาพิจารณาในคดีแล้วหรือยัง ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่การนำสืบข้อมูลสาธารณะของสื่อมวลชน นำไปสู่การคลี่คลายคดีที่เดิมปิดคดีไม่ได้ เป็นปิดคดีได้ในที่สุด

“สื่ออาจพูดว่ากำลังพยายามหาข้อเท็จจริง แต่ขึ้นอยู่กับคุณหาข้อเท็จจริงจากอะไร ด้วยวิธีการแบบไหน ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้มากกว่าแค่ความไม่ดีของบุคคล ความขัดแย้งของสองบ้าน แต่อาจมีตัวแปรเหตุอื่น ๆ เช่น ความเปราะบางของสังคม การไม่มีพื้นที่และกลไกในการดูแลเด็กเล็ก กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า เป็นต้น ทำให้แหล่งข่าวขยายไปได้มากกว่าครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ หรือถูกกล่าวหา แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงประเด็นการจัดการความรุนแรงในครอบครัว การพิจารณาคดีที่โปร่งใส การขยายผลจากแหล่งข่าวบุคคลไปเป็นแหล่งข่าวสาธารณะอื่น ๆ โดยไม่ไปละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือเปิดเผยอัตลักษณ์โดยไม่ได้รับการยินยอม หรือสร้างคนบางกลุ่มให้กลายเป็นคนโด่งดังทั้งที่ยังควรอยู่ภายใต้การจับตามองของสังคม” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

นอกจากนี้ หลายครั้งที่การเล่าเรื่องให้เป็นบันเทิงหรือละคร ทำให้สื่อหลุดจากการจับตาสาระสำคัญในข่าว เช่น การนำเสนอข่าวนโยบายสาธารณะให้มีความเป็นดราม่า การหยิบประเด็นไขว้กันไปมาของพรรคการเมืองมานำเสนอ โดยไม่ได้ลงไปในสาระที่แท้จริงของความขัดแย้ง รวมทั้งละเลยการตามติดนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงว่าเกิดผลในเชิงรูปธรรมแล้วหรือไม่ การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคสะท้อนทิศทางของพรรคหรือการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไร ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยได้รับรู้สักเท่าไร

ท้ายที่สุด จึงกลายเป็นการให้แสง ให้ความสำคัญกับความขัดแย้งของคนไม่กี่กลุ่มที่ตอบโต้กันไปมาแบบปิงปอง แหล่งข่าวที่มาวิเคราะห์ก็เป็นแหล่งข่าวหน้าเดิมที่กระจุกตัวอยู่แค่นั้น ซึ่งบางครั้งไม่สามารถอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน เพราะมัวจับตาอยู่แค่ความขัดแย้งเฉพาะหน้าที่เห็น หรือคอนเทนต์จากแหล่งข่าวเฉพาะหน้าที่เห็น โดยไม่มีข้อมูลจากแหล่งอื่นมาประกอบเลย อย่างการนำเสนอข่าวการเมืองที่วนเวียนอยู่กับประเด็นว่า พรรคโน้นพรรคนี้จะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะล่มหรือไม่ล่ม ทั้งที่ประชาชนต้องการรู้มากกว่านั้น เช่น ถ้ารัฐบาลล่มจะเกิดอะไรกับชีวิตของเรา ถ้าต้องเลือกตั้งไหม่จะเสียงบประมาณอีกเท่าไร นโยบายที่หาเสียงยังไม่เกิดผลอย่างใดต่อประชาชน

“นอกจากแหล่งข่าวบุคคลที่คุ้นชิน ก็ควรมีแหล่งข่าวอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งตัวสื่อมวลชนเองควรเรียกร้องการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต่าง ๆ จากภาครัฐ โดยไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยากในการขอหรือค้นหาข้อมูล หรือทำให้เป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเอาไปวิเคราะห์ต่อได้ ไม่ใช่เพียงแค่การยื่นไมค์ถามนักการเมืองที่เกี่ยวข้องแล้วไม่ได้คำตอบอะไรนอกจากโยนกันไปมา” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ทำอย่างไร (ได้) เมื่อข่าวแนวบันเทิง ดราม่า ใส่อารมณ์ เป็นที่นิยม   

เมื่อชวนตั้งคำถามจากมุมมองของนักวิชาการว่ายังมีปัจจัยใดที่ผลักดันให้เกิดการรายงานข่าวปนดราม่าของสื่อ แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งคือ “การหารายได้” ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกของวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อเชิงพาณิชย์ที่ต้องแสวงหาผลกำไร ยิ่งเป็นองค์กรสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยิ่งต้องแสดงถึงตัวเลขผลประกอบการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ว่า รายได้หลักของสื่อมาจากโฆษณา แต่ปัจจุบันช่องทางสร้างรายได้มีรูปแบบที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไป จากการขายโฆษณาเป็นชิ้น การขายพื้นที่สื่อเพื่อลงเนื้อหาเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Advertorial) ไปสู่การเสนอพื้นที่ในการขาย หรือลงแคมเปญโฆษณาบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์ผ่านระบบอัตโนมัติ (Programmatic Advertising) เป็นต้น

ในอดีตมีองค์กรสื่อหลักใหญ่ ๆ ที่แข่งขันกันอยู่ไม่กี่รายและต้นทุนประกอบการก็สูง เช่น สื่อทีวีก็จะมีค่าสัมปทานการออกอากาศ มีเรื่องของเทคโนโลยี สื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องมีโรงพิมพ์ แต่พอเกิดสื่อสังคมออนไลน์ด้วยต้นทุนประกอบการที่ถูกลง แต่ทำกำไรได้มากขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น เราจึงเห็นปรากฎการณ์การลดคนในองค์กรข่าวใหญ่ ๆ ที่หมุนเวียนไปอยู่ในองค์กรสื่อเกิดใหม่ที่เล็กกว่า เมื่อคู่แข่งเพิ่มขึ้น เม็ดเงินรายได้ลดลง ทำให้การแข่งขันยิ่งสูง ยิ่งต้องช่วงชิงรายได้ เมื่อช่องทางเพิ่มรายได้จากโฆษณาขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เว็บไซต์ การโฆษณาผ่านระบบอัตโนมัติ หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สื่อหลักที่ไม่สามารถอยู่กับต้นทุนแบบเดิมได้ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำสื่อที่เคยเผยแพร่ผ่านช่องทางปกติ ขึ้นสู่ช่องทางออนไลน์ ในแง่กระบวนการผลิตจึงต้องคัดเลือกประเด็น ปรับแต่งตัดทอนเนื้อหาข่าวทั้งรายการให้สั้นลงให้เหมาะสมกับการเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์มเพื่อตามติดผู้รับสารไปทุกที่ ทั้งผู้รับสารเดิมจากหน้าจอ และผู้รับสารใหม่จากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้เนื้อหาขาดความลึกหรือตกหล่นบริบทบางอย่าง

“แล้วสูตรสำเร็จในการหารายได้ก็จะย้อนกลับไปที่ว่าคนสนใจเรื่องประเภทไหน เช่น เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ (Human Interest) ซึ่งมักเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว เนื้อหาที่ใส่ความดราม่า บันเทิงเริงอารมณ์” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการสื่อออนไลน์มีข้อดีตรงที่ทำให้มีประเด็นข่าวในการนำเสนอที่หลากหลายขึ้น มีแง่มุมต่าง ๆ ให้เลือกติดตาม เช่น ช่วงเลือกตั้งที่ประชาชนให้ความสนใจกับนโยบายพรรคการเมือง สื่อก็แข่งขันด้วยการนำเสนอนโยบาย แต่ถ้าเห็นว่า การนำเสนอด้วยสูตรดราม่าเร้าอารมณ์ได้ผลดีกว่า ก็หันไปเสนอแง่มุมนั้นเพื่อเรียกความสนใจ หรือบางรายที่เลี้ยงตัวได้แล้ว อาจมีจุดยืนในการไม่เสนอประเด็นบันเทิงหรือปลุกเร้าอารมณ์ เพราะมีกลุ่มติดตามที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกมากกว่าบันเทิง   

“เห็นได้ว่าไม่ใช่แค่องค์กรสื่อ แต่เรายังมีผู้ผลิตคอนเทนต์อิสระ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าสื่อ แต่มาเล่าข่าวในสไตล์การสื่อสารด้วยอารมณ์ มียอดเข้าชมเป็นล้าน ซึ่งรับประกันว่าสื่อก็อยากทำให้ได้เช่นนี้ ไป ๆ มา ๆ เลยจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า ใครเริ่มก่อน ใครเลียนแบบใคร แต่ที่แน่ ๆ คือ วิธีการแข่งขันหรือสูตรสำเร็จในการหารายได้บนพื้นที่ออนไลน์ มันเป็นไปในแนวทางบันเทิง ดราม่า การใส่อารมณ์ แล้วคนก็นิยมดูเพราะถูกจริตโดยธรรมชาติของมนุษย์” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

รอการผลัดใบโดยคนรุ่นใหม่ คุณค่าใหม่ เพื่อการสื่อข่าวที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา  

อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวโดยมุ่งรูปแบบการนำเสนอที่เน้นความดราม่า หรือปลุกเร้าอารมณ์โดยอ้างว่าผู้รับสารนิยมเสพ อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไป

ทั้งนี้ เพราะข้อแรก ตัวเลือกในการรายงานข่าวคุณภาพมีเพียงพอให้ผู้รับสารเลือก เป็นข่าวแบบไหน เร้าอารมณ์ไหม จะตามต่อข้อมูลเชิงลึกได้จากไหนหรือไม่ ยิ่งเป็นการแข่งขันบนสื่อออนไลน์ ข้อมูลจะไหลบ่าสู่หน้าฟีดหรือหน้าไทม์ไลน์อย่างรวดเร็ว หากมีประวัติการเข้าดูข่าวแบบเร้าอารมณ์ อัลกอริธึมของแต่ละแพลตฟอร์มก็พร้อมส่งเฉพาะข้อมูลลักษณะนั้นมาให้ จึงแลดูเหมือนสังคมสนใจเรื่องราวอยู่ไม่กี่เรื่อง    

ข้อสอง การที่ประชาชนนิยมเสพข่าวแบบบันเทิงมากกว่า เพราะข้อมูลเชิงลึกบางอย่าง เช่น นโยบายสาธารณะต่าง ๆ ประชาชนทำได้แค่รับรู้แต่ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ไม่ได้ทำให้เสียงของเขาต่อประเด็นดังกล่าวมีความหมาย หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับสังคม ดังนั้น การโทษผู้รับสารเพียงอย่างเดียวจึงดูง่ายเกินไป แต่มักถูกใช้เป็นข้ออ้างที่ธุรกิจสื่อมักจะพูดว่าทำเรื่องดี ๆ ไป คนก็ไม่สนใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าการนำเสนอข่าวที่เน้นข้อมูลเชิงลึก อาจไม่ได้ยอดเรตติ้ง ยอดการมองเห็น (Eyeballs) หรือยอด Engagement มากเท่าการนำเสนอเรื่องราวปนความดราม่าที่เสพง่ายกว่า ย่อยง่ายกว่า

“ต้องย้อนกลับไปถามว่าแล้วพันธกิจของสื่อมวลชนคืออะไร ถ้าคิดว่าธุรกิจสื่อต้องทำเพื่อความอยู่รอดก็ทำไป แต่สังคมอาจไปไม่ถึงไหน แล้วอีก 10 ปีข้างหน้าก็ต้องวนเวียนกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีก แต่ยังมีความหวังว่า คงมีสักวันที่ผู้รับสารรู้สึกว่า ต้องการข้อมูล ต้องการการบอกกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า สื่อต้องให้ทางเลือกแก่ผู้รับสารด้วย”

ส่วนอินฟลูเอนเซอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์อิสระ บุคคลทั่วไปที่ใช้ติ๊กต็อก (TikTok) หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ คงไม่สามารถไปกล่าวถามถึงจริยธรรมวิชาชีพ เพราะไม่ใช่อาชีพ การกำหนดแบบแผนหรือรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคมยังเป็นเรื่องยาก เพราะพื้นที่บนออนไลน์นั้นกว้างมาก นอกจากจะอาศัยมาตรฐานของชุมชนในแต่ละแพลตฟอร์มเป็นแนวปฏิบัติ รวมถึงความมุ่งหวังของสังคมว่า อยากได้พื้นที่สื่อสารที่มีคุณภาพบนสื่อสังคมออนไลน์แบบไหน เช่น ไม่เสนอเนื้อหาที่เป็นเท็จ บิดเบือน สนับสนุนความรุนแรง การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความเข้าใจ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แต่หากต้องการสื่อเรื่องราวด้วยอารมณ์ ใช้คำด่าทอ หรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ก็ต้องรับรู้ถึงผลของการสื่อสารแบบนั้นด้วย

“ฟังดูอุดมคติอยู่สักหน่อยถ้าจะพูดว่า ต้องตระหนักรู้ด้วยตัวคุณเองสิ แต่อย่างน้อยมาตรฐานของชุมชนบนพื้นที่ออนไลน์น่าจะเป็นตัวกำหนดเบื้องต้น หากละเมิดความเป็นส่วนตัว ใช้ข้อความดูถูกเหยียดหยาม ก็ให้กฎหมายจัดการ หรือการใช้มาตรการลงโทษทางสังคม โดยไม่สนับสนุนสื่อที่เลือกแง่มุมการนำเสนอข่าว หรือวิธีสื่อสารที่ไม่เหมาะสม สุดท้ายเขาจะเลือนหายไปจากพื้นที่ตรงนี้เอง เพราะการเกิดขึ้นดับไปของสื่อออนไลน์มีอยู่ตลอดเวลา” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ตัดภาพมาที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ แบรนด์หรือผู้สนับสนุนรายได้ ผศ.ดร.พรรษาสิริ เล่าว่า มีความพยายามขององค์กรระดับนานาชาติในการจัดทำรายชื่อเว็บไซต์ที่ประเมินดูแล้วมีความเสี่ยงเผยแพร่ข้อมูลเป็นเท็จ บิดเบือน หรือสร้างความความเกลียดชัง ส่งให้กับแบรนด์ เอเจนซี ผู้ซื้อสื่อโฆษณาไว้พิจารณาว่าสมควรจะนำแบรนด์ไปพัวพันกับองค์กรสื่อที่มีแนวโน้มกระทำเช่นนี้หรือไม่ ถ้าพวกเขาเห็นความสำคัญจะช่วยลดทอนท่อน้ำเลี้ยงไปยังองค์กรสื่อที่ใช้วิธีการด้อยคุณภาพหรือเน้นความดราม่าเสียจนไม่ให้ข้อมูลด้านอื่น ๆ แก่ผู้รับสารเลย เว้นเสียแต่ว่าแบรนด์ เอเจนซี หรือผู้ซื้อสื่อโฆษณาจะมองแค่ชื่อเสียง เรตติ้งขององค์กรสื่อ โดยไม่ได้มองที่วิธีการนำเสนอ

อีกด้านหนึ่งคือเม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งควรดำเนินการตามพันธกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยการอุดหนุนสื่อที่เน้นการตอบสนองประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นกัน แทนที่จะพิจารณาสื่อที่มียอดผู้อ่านผู้ชมสูง มียอด engagement มาก แต่ใช้วิธีการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เน้นการเล่าประเด็นดราม่า แต่ไม่ได้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ตอบโจทย์การใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน

หากสุดท้ายแล้วคือการที่ทุกฝ่ายต่างมี Good Governance และ Good Accountability ที่ดี คุณต้องรับผิดรับชอบกับสิ่งที่สื่อสารออกไป และนึกถึงการตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ มากกว่าการมองแค่ตัวเลขการติดตาม ปริมาณการเข้าถึงของผู้รับสาร แต่ถูกต่อว่าเรื่องการละเมิดจริยธรรมมาตลอดโดยปราศจากการแก้ไข

ผศ.ดร.พรรษาสิริ ทิ้งท้ายว่า เราอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน เพียงแต่ต้องให้ความเชื่อมั่นกับสังคมประมาณหนึ่งว่า “ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยการผลัดใบโดยคนรุ่นใหม่ หรือการยึดถือคุณค่าใหม่ ๆ ที่อาจมองเห็นความสำคัญของการสื่อข่าวในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาในอดีตก็ได้”