เลือกหน้า

ซีรีส์วายไทย เน้นขายความเท่าเทียม ความรู้เรื่องเพศ การยอมรับ หรือแค่ ฉากจิ้น ?

18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ถือเป็นความสำเร็จของการผลักดันเพื่อสิทธิและความเสมอภาคของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย จนเป็นประเด็นข่าวสำคัญที่รายงานโดยสำนักข่าวทั่วโลก

นอกจากความก้าวหน้าในระดับภูมิภาค ที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันแล้ว ในแง่ของอุตสาหกรรมบันเทิง ประเทศไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย (Boys’ Love Series) ที่สามารถผลิตซีรีส์วายได้มากกว่า 177 เรื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา[1] และได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมเป้าหมายทั้งในไทยและต่างประเทศ นับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการผลักดันเชิงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันซีรีส์วายอาจมีศักยภาพ และบทบาทในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ในเชิงสังคมได้ด้วยเช่นกัน   

Media Alert จึงสนใจในการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาซีรีส์วายไทย 6 เรื่อง ที่มีจำนวนยอดการสืบค้นใน Google Search สูงสุด จาก 2 แพลตฟอร์ม OTT ได้แก่ iQIYI และ VIU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีซีรีส์แนวเอเชียเป็นหลัก เพื่อหาคำตอบว่า ซีรีส์วายไทยนำเสนอเนื้อหาหรือสอดแทรกแง่มุมใดที่น่าสนใจบ้าง

Media Alert สำรวจซีรีส์วายใน 2 แพลตฟอร์ม OTT  ได้แก่ iQIYI และ VIU เพื่อศึกษาวิเคราะห์ซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2566 จากแต่ละแพลตฟอร์ม โดยเลือกจากเรื่องที่มียอดการสืบค้นจาก Google Search สูงสุด แพลตฟอร์มละ 3 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 6 เรื่อง ได้แก่ (1) ความรักเขียนด้วยความรัก (2) รักไม่รู้ภาษา และ (3) อย่าเล่นกับอนล จากแพลตฟอร์ม iQIYI กับ (4) Cherry Magic 30 ยังซิง (5) ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe และ (6) เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night  จากแพลตฟอร์ม VIU

ประเด็นที่กำหนดในการศึกษาวิเคราะห์ คือ  

1) การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 2) การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ 3) อาชีพของตัวละครหลัก  4) การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก

 โดยทั้ง 4 ประเด็น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อาจสะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมไทยเกี่ยวกับชายรักชายหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ผ่านการนำเสนอของสื่อในรูปแบบซีรีส์

 นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ

การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การสอดแทรกชุดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ และความเท่าเทียมทางสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ประเด็นเรื่องกฎหมาย การรณรงค์ทางสังคม เป็นต้น 

การส่งเสริมความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ หมายถึง การสอดแทรกชุดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันโรค การรักษาโรค ความปลอดภัยที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น

อาชีพของตัวละครหลัก ตัวละครหลัก หมายถึง ตัวละครที่มีความสำคัญมากที่สุดของเรื่อง ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้เลือกเฉพาะคู่ตัวละครหลักที่สื่อถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบชายรักชาย จากละคร 6 เรื่อง รวม 12 ตัวละคร

การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก พ่อ/แม่ของตัวละครหลัก หมายถึง พ่อและ/หรือแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิด หรืออาจเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดู

เป็นผู้ที่มีความผูกพัน มีความสำคัญ และมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิด การแสดงออก และบุคลิกภาพของตัวละครหลักทั้ง 12 ตัวละคร จาก 6 เรื่องที่ศึกษา รวมเป็น 24 ตัวละคร

รูปแบบและพัฒนาการ ต่อรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) ของลูก โดยพ่อหรือแม่ของตัวละครหลัก แบ่งเป็นดังนี้

รสนิยม/ความสนใจทางเพศ หมายถึง ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออกว่า สนใจเพศเดียวกัน สนใจเพศตรงข้าม สนใจทุกเพศ หรือไม่ฝักใฝ่เพศใด

ยอมรับอย่างเต็มใจ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัย ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก เรื่อยไปจนถึงการแสดงความรู้สึกยินดี ภูมิใจต่อตัวตนและรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก

ยอมรับแบบไม่เต็มใจ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัย ต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก แต่ยังไม่เต็มใจ หรือไม่อยากเปิดเผยให้คนภายนอกรับรู้

ยอมรับแบบไม่สนใจใยดี หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการไม่คัดค้าน ไม่ตั้งข้อสงสัยต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก แต่ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย

ไม่ยอมรับ หมายถึง การกระทำ คำพูด หรือพฤติกรรมอื่นใด ที่แสดงถึงการปฏิเสธ คัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกไม่ชื่นชอบ ไม่ยินดีต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลัก และมีความต้องการหรือความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของตัวละครหลักอย่างชัดเจน

ไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก หมายถึง ไม่พบการกระทำ คำพูด หรือการแสดงออกใด ๆ ที่ชัดเจน ถึงการรับรู้ ยอมรับ หรือการปฎิเสธ คัดค้าน ตั้งข้อสงสัยต่อรสนิยมทางเพศของตัวละครหลักว่าชื่นชอบสนใจเพศเดียวกัน สนใจเพศตรงข้าม สนใจทุกเพศ หรือไม่ฝักใฝ่เพศใด

เนื้อเรื่องไม่กล่าวถึง หมายถึง ไม่พบและไม่มีการกล่าวถึง พ่อหรือแม่ของตัวละครหลักในเนื้อเรื่อง

ผลการศึกษา จากการสำรวจซีรีส์วายไทย 6 เรื่อง พบข้อมูลที่น่าสนใจ ในประเด็นการศึกษาที่กำหนด คือ  1) การส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 2) การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ  3) อาชีพของตัวละครหลัก  4) การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก ดังนี้

  • การส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

พบซีรีส์วาย 3 เรื่องที่มีเนื้อหาการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ 1) Cherry Magic 30 ยังซิง 2) ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe และ 3) ความรักเขียนด้วยความรัก ซึ่งทั้ง 3 เรื่องกล่าวถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการยอมรับความรักในทุกรูปแบบของคนทุกเพศ แต่ทั้งหมดเป็นการนำเสนอในระดับสอดแทรกไว้เพียงแค่เรื่องละ 1 ตอน และคิดเป็นสัดส่วนเวลาสั้น ๆ ดังนี้

  • เรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 12 ตอนจบของเรื่อง ประมาณ 20 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 12 ตอน  ตอนละประมาณ 48 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 9 ชั่วโมง 42 นาที)  ดังตัวอย่าง

พ่อของการันต์ : “ถึงแม้ว่าวันนี้จะได้แต่งตามพิธี แต่มองจากรุ่นพ่อรุ่นแม่มาแล้ว เท่านี้ก็ถือว่ามาไกลมากแล้วนะลูก

แม่ของการันต์ : “แม่เชื่อนะว่าลูกทั้งสองจะได้จดทะเบียนกัน ทำทุกอย่างเหมือนทุก ๆ คนเขาทำกัน แล้วแม่จะรอวันนั้นพร้อม ๆ กับลูกนะ”         

  • เรื่อง ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 2 ของเรื่อง ประมาณ 45 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 12 ตอน ตอนละประมาณ 44 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 8 ชั่วโมง 54 นาที)  ดังตัวอย่าง

บทสนทนาระหว่างพนักงานรุ่นพี่ในบริษัทและเชร์

พนักงานรุ่นพี่: บอสเป็นผู้ชายชอบผู้ชาย

เชร์ : “นี่มันยุคไหนแล้วยังเหยียดอยู่หรอ เมื่อวานผมเพิ่งลงชื่อสมรสเท่าเทียมมา โครตวุ่นวายเลยอ่ะเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ยอมสรุปสักที เออ..แล้วพวกพี่ดูซีรีส์วายมั้ยครับ

พนักงานรุ่นพี่ :ดูซิ น่ารักออก 

เชร์ : เห็นมั้ยว่าความรักเกิดขึ้นกับใครก็น่ายินดีทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวผมส่งลิงก์ลงสมรสเท่าเทียมให้ ไปลงด้วยนะ”

  • เรื่องความรักเขียนด้วยความรัก เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในตอนที่ 10 ของเรื่อง ประมาณ 1 นาที 26 วินาที (คิดเป็นร้อยละ 0.20 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 14 ตอน  ตอนละประมาณ 45 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 10 ชั่วโมง 26 นาที ) ดังตัวอย่าง

กันถามรุ่นพี่ที่เป็นคู่รัก ชาย-ชาย ว่า แต่งงานกันมีผลอะไรกับตัวพี่มั้ย

รุ่นพี่ : “ไม่มีหรอกก็แค่ทางใจหน่ะ ประเทศเราไม่มีกฎหมายรองรับ

กัน : “พวกพี่ก็เลยยอมรับกันเองไปก่อนนะ แต่สังคมสมัยนี้ก็ยังไม่ยอมรับอ่ะพี่ กฎหมายก็ไม่มีลายลักษณ์อักษรมายืนยันอีก

กัน : แล้วแบบนี้ของที่พี่ซื้อด้วยกันในอนาคตทำไง ก็อยู่ที่ใจเราว่าเราเชื่อใจกันและกัน ถ้าคนนึงหมดใจเราก็รู้กันเองแหละ

รุ่นพี่ :  พี่ก็อยากจดทะเบียนนะ เราก็อยากให้มันเท่าเทียมกับคนอื่น อย่างเวลาที่เบสป่วยพี่ก็จะได้ตัดสินใจได้ไง ด้วยสถานะคู่ชีวิตไง นี่ก็หวังไว้นะว่าประเทศไทยจะมีสมรสเท่าเทียม น่าจะมีเนอะ

(ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวในช่วงปี พ.ศ. 2555)

  • การให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ

พบว่า “อย่าเล่นกับอนล เป็นซีรีส์วายเพียงเรื่องเดียว จากหน่วยการศึกษาทั้ง 6 เรื่อง ที่มีการให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศในตอนที่ 2  ซึ่งกล่าวถึงการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของเอื้อและคิง ตัวละครหลักทั้ง 2 ตัว หลังจากที่ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่ได้มีการป้องกัน เพื่อความสบายใจ เอื้อและคิงจึงไปตรวจเลือดที่สถานพยาบาล  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ให้คู่รักชายรักชายตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะทางเพศและการดูแลตนเอง และมีความกล้าที่เข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยและป้องกันโรคติดต่อ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการให้รายละเอียดถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อก่อนการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม โดยซีรีส์มีการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว รวมเวลาประมาณ 4 นาที 10 วินาที  (คิดเป็นร้อยละ 0.78 ของเวลารวมซีรีส์ทั้ง 10 ตอน ตอนละประมาณ 47 นาที เวลารวมทั้งเรื่อง 8 ชั่วโมง 10 นาที)

อาชีพของ 12 ตัวละครจากซีรีส์วายไทยที่ศึกษา

จากการสำรวจการนำเสนอ 12 ตัวละครหลักจากซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง พบว่า ตัวละครหลัก มีการประกอบอาชีพดังนี้

  • อาชีพพนักงานบริษัท พบ 4 ตัวละคร ได้แก่ คิง อาชีพ โปรแกรมเมอร์, เอื้อ อาชีพ กราฟฟิกดีไซน์ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล และ การันต์, อชิ อาชีพพนักงานบริษัทเครื่องเขียน จากเรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง
  • อาชีพเจ้าของกิจการ พบ 3 ตัวละคร ได้แก่ หยาง, ภูมิใจ เจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อ จากเรื่องรักไม่รู้ภาษา และ กันต์ เจ้าของบริษัทผลิตเกมออนไลน์ จาก เรื่องชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe
  • อาชีพสถาปนิก พบ 1 ตัวละคร คือ กอล์ฟ จากเรื่องความรักเขียนด้วยความรัก
  • นักศึกษา พบ 3 ตัวละคร คือ คิม, ซัน จากเรื่องเลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night และ เชต์ จาก เรื่องชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe
  • ไม่ระบุอาชีพ พบ 1 ตัวละคร คือ กัน จากเรื่องความรักเขียนด้วยความรัก

 

จากผลการสำรวจพบว่า การนำเสนอตัวละครหลักทั้ง 12 ตัวจากซีรีส์วาย 6 เรื่องที่ศึกษา มีอาชีพที่หลากหลาย โดยพบเพียง 1 ตัวละครที่ไม่มีการระบุอาชีพที่ชัดเจน อาจถือเป็นสัญญาณที่แสดงว่าสังคมไทยเริ่มมองเห็นชายรักชายในบทบาทอาชีพและบริบทการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะความรักของตัวละครนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นมา

การยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อ/แม่ของตัวละครหลัก 

จากการสำรวจลักษณะการยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความสนใจทางเพศจากพ่อแม่ของตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายทั้ง 6 เรื่อง รวมจำนวน 24 ตัวละคร พบว่าพ่อหรือแม่ของตัวละครหลัก มีรูปแบบและพัฒนาการ การยอมรับ-ไม่ยอมรับรสนิยม/ความสนใจทางเพศ (Sexual Orientation) ของลูกตนเอง ดังนี้

  • ยอมรับอย่างเต็มใจ พบใน 4 เรื่อง คือ 1) ความรักเขียนด้วยความรัก 2) รักไม่รู้ภาษา 3) อย่าเล่นกับอนล 4) Cherry Magic 30 ยังซิง จำนวน 11 ตัวละคร เช่น พ่อและแม่ของกอล์ฟจากเรื่อง ความรักเขียนด้วยความรัก ที่แสดงให้เห็นถึงครอบครัวที่พร้อมจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจในความรักรูปแบบชายรักชาย ซึ่งในซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวในช่วงปี พ.ศ. 2555 ที่ประเทศไทยยังไม่เปิดรับคู่รักเพศเดียวกันมากนัก แต่พ่อแม่ของกอล์ฟสามารถยอมรับความสัมพันธ์ของลูกชาย และเข้าใจถึงบริบทสังคม โดยสนับสนุนการตัดใจของลูกชายในการไปเริ่มต้นชีวิตคู่ความรักเพศเดียวกัน ในประเทศที่มีการเปิดรับความรักของเพศเดียวกันมากกว่าสังคมไทยในยุคนั้น
  • ยอมรับแบบไม่เต็มใจในตอนแรก – สู่การยอมรับอย่างเต็มใจในภายหลัง พบใน 1 เรื่อง จำนวน 1 ตัวละคร คือ แม่ของการันต์ จากเรื่อง Cherry Magic 30 ยังซิง โดยปรากฏในตอนสุดท้ายของเรื่องเพียงตอนเดียว ในตอนแรกแม่ของการันต์ยังไม่สามารถยอมรับความรักของอชิและการันต์ได้ ซึ่งแม่แสดงให้เห็นถึงการไม่บอกความจริง และเปลี่ยนเป็นประเด็นอื่นเมื่อมีญาติถามถึงความรักของการันต์และอชิ แต่เมื่อพี่สาวของการันต์อธิบายให้แม่เข้าใจในความรักของการันต์ ไม่อยากให้แม่กดดันการันต์ เพราะการันต์ทำตามคำสั่งของแม่มาตลอด ไม่เคยทำให้ผิดหวัง แม่รับฟังและยอมรับความรักของอชิและการันต์ในที่สุด
  • ไม่ยอมรับในตอนแรก – สู่การยอมรับอย่างเต็มใจในภายหลัง พบใน 1 เรื่อง จำนวน 2 ตัวละคร คือ พ่อและแม่ของกันต์ จาก เรื่อง ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe ที่พยายามทำทุกวิถีทางให้กันต์เลิกชอบผู้ชาย เช่น พาเข้าวัดนั่งสมาธิ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่กันต์เป็นได้ จึงยอมรับตัวตนและรสนิยมทางเพศของกันต์ พร้อมทั้งเข้าใจ สนับสนุน และไม่คัดค้านความเป็นเกย์ของลูกอีก
  • ไม่ยอมรับในตอนแรก – สู่การยอมรับแบบไม่สนใจใยดี พบใน 1 เรื่อง จำนวน 1 ตัวละคร คือ แม่ของเอื้อ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล โดยแม่เริ่มต้นด้วยการดุ ด่า ทุบ ตี และใช้ความรุนแรงต่างๆ เพื่อให้เอื้อเลิกชอบผู้ชาย เอื้อเคยบอกแม่ว่าโดนพ่อเลี้ยงคุกคามทางเพศ แต่แม่ก็ไม่เชื่อ และโทษว่าเป็นความผิดของเอื้อเอง จนเมื่อเอื้อโตขึ้นและสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ จึงขอแยกไปอยู่ตามลำพัง ความสัมพันธ์ระหว่างเอื้อและแม่จึงค่อนข้างห่างเหิน  กล่าวคือ แม่รับรู้ในสิ่งที่เอื้อเป็น แต่ไม่ได้ใส่ใจหรือพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งยังคงคาดหวังให้เอื้อส่งเงินเลี้ยงดู และหวังประโยชน์จากเอื้อเมื่อรู้ว่าเอื้อมีเจ้านายที่เป็นผู้ชายมาชอบพอ 
  • ไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก พบใน 3 เรื่อง คือ 1) รักไม่รู้ภาษา 2) ชอร์กะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe 3) เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night จำนวน 7 ตัวละคร ตัวอย่างเช่น หยาง จากเรื่อง รักไม่มีรู้ภาษา ที่เนื้อเรื่องบอกแค่ว่าพ่อแม่อาศัยอยู่ที่ประเทศจีน หรือ เรื่อง เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night ที่มีการสร้างพล็อตให้ทั้งพ่อและแม่ของคิมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงกลางเรื่อง โดยทั้งสองเรื่องไม่มีการกล่าวถึงว่าพ่อและแม่ของตัวละครรับรู้หรือยอมรับรสนิยม/ความสนใจทางเพศของลูก เป็นต้น
  • เนื้อเรื่องไม่กล่าวถึง จำนวน 2 ตัวละคร คือ พ่อของเอื้อ จากเรื่องอย่าเล่นกับอนล และพ่อของเชร์ จากเรื่อง ชอร์กะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe ที่เนื้อเรื่องไม่มีการกล่าวถึงพ่อเลย

 

จากการสำรวจที่พบว่าส่วนใหญ่ พ่อ/แม่ของตัวละครหลักมีการยอมรับตัวตน รสนิยม/ความสนใจของลูกอย่างเต็มใจตั้งแต่แรก จำนวนรวมมากถึง 11 ตัวละคร สะท้อนว่า ซีรีส์วายมีการสร้างภาพจำของครอบครัวในยุคสมัยใหม่ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศ หรือคู่รักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องปกติ ไม่มีการตั้งคำถามหรือการคัดค้านในรสนิยมทางเพศของลูก แต่ในขณะเดียวกันก็พบตัวละครพ่อ/แม่ที่มีพัฒนาการตั้งแต่การไม่ยอมรับในตอนแรก สู่การยอมรับแบบเต็มใจในภายหลัง หรือ จากการไม่ยอมรับสู่การยอมรับแบบไม่สนใจใยดี ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่เป็นจริงส่วนหนึ่งได้เช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะไม่กล่าวถึงรสนิยมทางเพศของลูก ซึ่งจากการศึกษาพบมากถึง 7 ตัวละคร แม้ในแง่มุมหนึ่งอาจสื่อให้เห็นว่าพ่อแม่ของตัวละครดังกล่าวเลือกที่จะไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นแค่ความเพิกเฉยของซีรีส์วายไทยที่เลือกตัดประเด็นการยอมรับจากพ่อแม่ออกไป หรือกระทั่งการเลือกไม่กล่าวถึงพ่อแม่ในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ อาจเพื่อเน้นจุดขายเรื่องความรักของตัวละครเป็นสำคัญ

วิเคราะห์ผลการศึกษา

จากผลการศึกษา หรือ ข้อค้นพบข้างต้น วิเคราะห์ผลการศึกษาซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง ได้ดังนี้  

1) เน้นเรื่องรัก แต่ไม่เน้นเรื่องสิทธิ

พบว่าซีรีส์วายไทย มักเน้นที่การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความโรแมนติก เป็นหลัก แม้จะพบว่า มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ แต่ยังอยู่ในระดับสอดแทรก และมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเวลารวมของซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง

จากการศึกษาพบว่าซีรีส์วายส่วนใหญ่ยังคงเน้นเล่าเรื่องในระดับความสัมพันธ์รักของตัวละคร ที่เสมือนว่าไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของชายรักชาย หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ตัวอย่างเช่น อิสระในการใช้ชีวิต ความปลอดภัยในชีวิต การเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด สิทธิในการสมรส การมีบุตร สิทธิในการเข้าถึงความรู้เรื่องเพศศึกษาที่มีความเฉพาะ รวมถึงการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ยังคงเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย พยายามเคลื่อนไหวและเรียกร้อง และเป็นประเด็นที่ซีรีส์วายไทยสามารถนำมาใช้พัฒนาบทหรือการเล่าเรื่องเพื่อทำหน้าที่สะท้อนสังคมได้เช่นกัน แม้ซีรีส์วายที่ศึกษาบางเรื่องจะสะท้อนให้เห็นปัญหาดังกล่าว แต่อาจยังไม่มีน้ำหนักสำคัญมากเท่าการเน้นเล่าเรื่องความรักของตัวละครหลัก 

อาจสรุปได้ว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง ประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ อาจไม่ใช่แก่น เป้าหมาย หรือกระทั่งองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเนื้อเรื่องของซีรีส์วายไทย

2) นำเสนอชายรักชายผ่านอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่แกนหลักของเรื่อง

จากผลการศึกษาที่พบว่า ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง ถูกนำเสนอผ่านบริบทการทำงานที่มีความหลากหลาย มีเพียงตัวละครเดียวเท่านั้นที่ไม่พูดถึงเรื่องอาชีพอย่างชัดเจน ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพัฒนาการการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย จากที่ผ่านมามักเน้นนำเสนอความรักของตัวละครในรั้วสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยเป็นหลัก การที่ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยที่ศึกษา มีอาชีพที่หลากหลาย อาจช่วยส่งเสริมให้สื่อและสังคมหันมาใส่ใจและนำเสนอตัวละครกลุ่มเพศหลากหลายในมิติทางอาชีพ ทางสถานภาพ ที่หลากหลาย จากเดิมที่มักจำกัดบทบาทหรือเหมารวมให้ตัวละครกลุ่มนี้มีอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

จากการศึกษายังพบว่า ตัวละครทั้ง 12 ตัว ไม่ได้ถูกเลือกปฎิบัติในด้านหน้าที่การงานแต่อย่างใด ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าสังคมไทยยอมรับความสามารถของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในมิติการทำงานที่หลากหลาย แต่การเลือกเล่าเรื่องที่ไม่มีการกีดกันหรือไม่มีอุปสรรคในการทำงานของตัวละครอาจเป็นการหลีกเลี่ยงหรือเซ็นเซอร์สิ่งที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญในชีวิตจริงก็ได้เช่นกัน และอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “อาชีพ ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย เช่นเดียวกับเรื่อง พ่อ-แม่/ครอบครัว

3) พ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจ-ยอมรับ แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง

การไม่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ทำให้มีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อย เชื่อมโยงกับติดยาเสพติดสูง เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการขาดโอกาสทางด้านอาชีพและรายได้ เป็นต้น  สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวสามารถมอบให้ลูกหลานที่เป็น LGBTQ ได้ก็คือ ความรัก การสนับสนุน และยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ด้านสุขภาพในเชิงบวก รวมถึงความนับถือตนเอง[1]

ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ตัวละครพ่อแม่ส่วนใหญ่ยอมรับตัวตนและรสนิยมทางเพศของลูกแบบเต็มใจ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคมและความเปิดกว้างของพ่อแม่ในปัจจุบันมากขึ้น แต่พบว่าในซีรีส์ที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงแบบผิวเผิน และไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของความสัมพันธ์ รองลงมาเป็นการไม่กล่าวถึงตัวละครพ่อแม่ในเรื่อง นอกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครพ่อแม่ ที่อาจเริ่มจากการไม่ยอมรับ การยอมรับแบบไม่เต็มใจ สู่การยอมรับแบบเต็มใจ หรือไม่สนใจใยดีในภายหลัง และมักถูกเล่าแบบผิวเผิน หรือรวบยอดนำเสนอเพียงไม่กี่ตอน ทั้งหมดอาจสะท้อนให้เห็นว่าพ่อ/แม่ของตัวละครหลักในซีรีส์วายไทยนั้น ยังไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่อง และยังไม่ใช่การเล่าเรื่องเพื่อมุ่งสะท้อนให้สังคมเห็นความสำคัญของพ่อแม่ในการยอมรับ การสนับสนุนตัวตนของลูก ที่อาจเป็นชายรักชาย หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ

แม้ในปัจจุบันซีรีส์วายไทยจะเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก สร้างเม็ดเงินให้แก่นักลงทุน หรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมบันเทิง เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่หลายฝ่ายเล็งเห็นศักยภาพ แต่จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ยังมีช่องว่างที่ซีรีส์วายสามารถเติมเต็มให้กลุ่มละครประเภทนี้ (Genre) เป็นเครื่องมือในการช่วยสะท้อนและส่งเสริมสังคมแห่งการยอมรับเรื่องเพศวิถี ที่หมายรวมถึงพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สรีระ และการดูแลสุขอนามัย ทัศนคติ ค่านิยม สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ มิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อวิถีชีวิตทางเพศ (กระทรวงศึกษาธิการ และ UNICEF, 2559)[2]  

โดยหนึ่งในข้อสังเกตสำคัญจากการศึกษาพบว่า ซีรีส์วายมักเน้นให้น้ำหนักในเรื่องราวความรักของตัวละครชายรักชาย โดยมองข้ามมิติความซับซ้อนในความสัมพันธ์ การต่อสู้เรื่องสิทธิ ที่ในมุมหนึ่งอาจเป็นความพยายามในการส่งเสริมสังคมอุดมคติที่ปราศจากการเหยียดความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน แต่ในมุมหนึ่งก็อาจเป็นความพยายามในการหลีกเลี่ยง ไม่พูดถึง หรือเซ็นเซอร์ตัวเองจากปัญหาที่กลุ่มคนเพศหลากหลาย หรือสิ่งที่กลุ่มชายรักชายกำลังเผชิญอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้เช่นกัน  อีกทั้งยังอาจกลายเป็นแค่การสวมทับรูปแบบความสัมพันธ์แบบชาย-หญิง ลงไปในตัวละคร อันเป็นการนำเอาบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศมาครอบทับตัวละครคู่รักเพศเดียวกันอีกทีหนึ่ง (ปณต สิริจิตราภรณ์, 2022)[3]   

จากการที่วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 67 ที่ผ่านมา และจากผลการศึกษาข้างต้น จึงขอเสนอแนะให้ซีรีส์วายของไทยเพิ่มสัดส่วนการนำเสนอ ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1) เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมในแง่มุมต่าง ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ควรได้รับการคุ้มครองทั้งในระดับกฎหมาย รวมถึงในระดับการปฏิบัติและทัศนคติของสังคม

2) เรื่องสุขภาวะทางเพศ เช่น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และการสร้างความเข้าใจในการปกป้องและป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ฯลฯ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยทำให้สังคมมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องเพศของคู่รักชายรักชาย และสิทธิในการเข้าถึงเพื่อรับบริการด้านการแพทย์ของกลุ่มคนเพศหลากหลายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

3) เรื่องบทบาทอาชีพและบริบทการทำงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยการพัฒนาบทตัวละครกลุ่มที่มีเพศหลากหลายในบทบาทอาชีพการงานต่างๆ อาจเป็นได้ทั้งมุมบวกและมุมลบ แต่ไม่ควรเหมารวมหรือนำเสนอให้กลุ่มคนที่มีเพศหลากหลายสวมบทบาทอาชีพใดเพียงอาชีพหนึ่ง ทั้งสามารถนำเสนอให้อาชีพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการเล่าเรื่อง เช่น ความพยายามในการพัฒนาศักยภาพ การต่อสู้กับอคติในบริบทการทำงาน ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงมิติและพัฒนาการของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ที่ไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป  

4) เรื่องการยอมรับรสนิยมทางเพศของตัวละครจากพ่อแม่ ที่อาจเป็นได้ทั้งการนำเสนอทั้งเชิงบวกและเชิงลบเช่นกัน แต่ควรสอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญคือต้องเป็นการนำเสนอเพื่อสื่อให้คนดูตระหนักและสามารถเรียนรู้ว่าการยอมรับหรือไม่ยอมรับของพ่อแม่ มีผลกระทบสำคัญต่อพัฒนาการ บุคลิกภาพ พฤติกรรม การตัดสินใจ ฯลฯ และคุณภาพชีวิตโดยรวมของลูกหรือบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ หากซีรีส์วาย สามารถก้าวข้ามไปจากสูตรสำเร็จ โดยสามารถนำเสนอทั้งเส้นเรื่องความรักความสัมพันธ์ เพื่อตอบโจทย์ฐานคนดูที่กว้างมากกว่าเฉพาะสังคมไทย อันมีผลต่อความนิยมและรายได้รวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ควบคู่ไปกับการสอดแทรกมิติความซับซ้อนในความสัมพันธ์ พร้อมส่งเสริมเรื่องสิทธิ/เสรีภาพของกลุ่มคนเพศหลากหลาย หรือประเด็นอื่น ๆ ของกลุ่มชายรักชาย ที่สอดคล้อง หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงของชีวิตในสังคม ก็อาจนำไปสู่การยกระดับซีรีส์วายไทยที่ทั้งตอบโจทย์ด้านธุรกิจ รวมถึงตอบโจทย์สังคม และส่งเสริมทัศนคติที่ดีหรือที่ควรจะเป็น เกี่ยวกับกลุ่มคนเพศหลากหลายไปได้พร้อม ๆ กัน   

[1] https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1042489

[2] กระทรวงศึกษาธิการ และ UNICEF (2559). รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย

[3] ปณต สิริจิตราภรณ์ (2022) ความรุนแรงบนฐานเพศสภาพในซีรีส์วาย