ถอดรหัส “ครูกายแก้ว” ในโลกออนไลน์: ชาวเน็ตคิด-สื่อสารอย่างไร เมื่อพูดถึง “ครูกายแก้ว”
เดือนสิงหาคม 2566 เป็นอีกเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญหลากหลายประเด็น เช่น การเมืองคือ เศรษฐา ทวีสินได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 บันเทิง คือ มาตาลดาตอนจบ , เดบิวต์บอยแบนด์ จากรายการ 789 Survival ขณะที่เรื่องความเชื่อที่ได้รับความสนใจ คือ ครูกายแก้ว แม้จะไม่อยู่ใน 10 อันดับแรก แต่เป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์สนใจ สื่อสาร และมีส่วนร่วม ที่เริ่มจากเหตุการณ์รูปปั้นครูกายแก้วขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่านสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกได้ จนถึงข่าวลือเรื่องการบูชายันต์ด้วยชีวิตลูกสุนัขลูกแมว เมื่อสมหวังจากการขอพรหรือการบนบาน
กลุ่มเนื้อหาการสื่อสารเรื่อง “ครูกายแก้ว” จาก 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ใช้เครื่องมือ ZocialEye รวบรวม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับครูกายแก้วใน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ครูกายแก้วได้รับความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์จำนวน 7,494,728 Engagement แบ่งเป็น TikTok ถูกกล่าวถึงมากที่สุดประมาณ 3.6 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ Facebook, X, YouTube และ Instagram ตามลำดับ
โดย Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปประมาณ 3.3 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ สื่อสำนักข่าวประมาณ 2.4 ล้าน Engagement ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 1.8 ล้าน Engagement
เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับครูกายแก้วใน 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok ในภาพรวมจัดกลุ่มเนื้อหาได้ 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดคานสะพานลอยรัชดาภิเษก
กลุ่มที่ 2 ข้อถกเถียงเรื่องที่มา หลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว
กลุ่มที่ 3 ความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว
โดยการวิเคราะห์เนื้อหาในแต่ละกลุ่มผ่านการ Sentiment Analysis เพื่อจัดกลุ่มความเห็นเป็น 3 ประเภทคือ 1) ความเห็นเชิงบวก เป็นข้อความในเชิงสนใจ เชื่อ นับถือครูกายแก้ว 2) ความเห็นเชิงกลาง เป็นข้อความในลักษณะให้ข้อมูล สอบถามข้อเท็จจริง ทักทาย 3) ความเห็นเชิงลบ เป็นข้อความในเชิงตำหนิ ไม่ชอบ
เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดคานสะพานลอยรัชดาฯ (342,058 Engagement)
“ครูกายแก้ว” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายครั้งแรกจากข่าวรูปปั้นครูกายแก้วขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ส่งผลให้การจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรในบริเวณดังกล่าว โดยพบใน Facebook มากที่สุดที่ 72 % รองลงมาได้แก่ YouTube, TikTok, Instagram ตามลำดับ โดยกลุ่มของผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็น สื่อ 66% เช่น โหนกระแส ข่าวสด อมรินทร์ทีวี เป็นต้น รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 26% และผู้ใช้งานทั่วไป 8%
จากความคิดเห็นของสื่อสังคมออนไลน์พบว่า 84% เป็นการกล่าวถึงปัญหาจราจรติดขัดจากเหตุรูปปั้นครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความคิดเห็นเชิงลบ เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถบริเวณถนนรัชดาภิเษก ตัวอย่างเช่น บัญชี ไทยรัฐนิวส์โชว์ และอีจัน ส่วน 16% เป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับครูกายแก้ว ซึ่งจัดเป็นความเห็นเชิงกลาง เช่น บัญชี Khaosodonline และ Amarin News เป็นการแจ้งว่ารูปปั้นที่ติดอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษกคือรูปปั้นครูกายแก้ว เป็นต้น
ข้อถกเถียงเรื่องที่มาหลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว (2,215,192 Engagement)
หลังเหตุการณ์การขนย้ายรูปปั้นขนาดใหญ่ครูกายแก้วทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากบริเวณถนนรัชดาภิเษกขาเข้า จนเป็นที่กล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์ ตามมาด้วยการสื่อสารเรื่องที่มา และหลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้วจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่สรุปได้ว่า ไม่พบการมีอยู่ของครูกายแก้วทั้งในประวัติศาสตร์ของไทยและกัมพูชา ทั้งมีการวิเคราะห์รูปลักษณ์ครูกายแก้วว่ามีลักษณะคล้ายกับการ์กอยล์ หรือ ปนาลี ที่เป็นความเชื่อทางยุโรป อย่างไรก็ตาม ความเห็นนักวิชาการ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นว่าครูกายแก้วเป็นตัวแทนของความไม่มั่นคงของสังคมโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ครูกายแก้วได้รับความเคารพนับถือและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
โดยแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ TikTok 57% รองลงมาได้แก่ Facebook 23%, YouTube 11%, X 6% และ Instagram 3% ตามลำดับ ในแง่กลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 53% รองลงมาคือ สื่อ 29% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 18% ตามลำดับ
จากความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องหลักฐานที่มาการมีอยู่ของครูกายแก้ว พบว่า 97% เป็นการให้ข้อมูลเรื่องที่มาของครูกายแก้วโดยนักวิชาการจากผู้ทำการสื่อสาร คือ สำนักข่าวและผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น บัญชี Honekrasae_official, หมอแล็บแพนด้า ที่กล่าวถึงที่มาของครูกายแก้วจากนักประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นความเห็นเชิงกลาง ส่วน 3% เป็นการพูดถึงความเชื่อที่งมงาย และวิเคราะห์ว่ามีเหตุจากความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของคนไทย จนต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความเห็นเชิงลบ
ความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว (4,937,478 Engagement)
กลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว ที่สื่อสังคมออนไลน์กล่าวถึงนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ปฏิเสธความเชื่อครูกายแก้ว กลุ่มนี้มองว่าไม่ควรเคารพสักการะครูกายแก้วเนื่องจากไม่เป็นสิริมงคล เป็นอสูรกาย และเป็นเรื่องงมงาย โดยเป็นการสื่อสารจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ด้านศาสนา ความเชื่อ เช่น พระพะยอม กัลยาโณ, ไพรวัลย์ วรรณบุตร, ริว จิตสัมผัส โหรมาเฟีย เป็นต้น 2) กลุ่มที่เห็นว่าความศรัทธาเป็นเรื่องของบุคคล หากไม่มีพิษภัยก็สามารถนับถือได้ และ 3) กลุ่มที่เชื่อและศรัทธาครูกายแก้วโดยเป็นกลุ่มลูกศิษย์ และผู้ศรัทธา รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น ถูกล็อตเตอรี่ ผู้จำหน่ายเหรียญที่ระลึก เป็นต้น
จากความเชื่อความศรัทธาในครูกายแก้วซึ่งมีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ทำให้เกิดข่าวลือมากมายทั้งการเปิดรับบริจาคสัตว์เลี้ยงมาบูชายันต์ ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ประนามการกระทำดังกล่าว จนกลุ่มลูกศิษย์และผู้ที่ศรัทธาต้องออกมาแจ้งว่าเป็นข่าวปลอม แต่ก็ไม่ทำให้สังคมคลายความกังวล
แม้ประเด็นเกี่ยวกับครูกายแก้วมักไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ความสนใจในมิติความเชื่อได้ คือ สื่อ สำนักข่าว ยังคงให้ความสนใจกับเหตุการณ์การบวงสรวงเบิกเนตรรูปปั้นครูกายแก้วที่บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว ทั้งมีการผลิตซ้ำทางความเชื่อผ่านสื่อ เช่น การนำเสนอข่าวของบุคคลที่มาบนบานแล้วสำเร็จ การนำเสนอข่าวผู้มีชื่อเสียงเชิญชวนให้มาสักการะครูกายแก้ว เป็นต้น
โดยแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ TikTok 46% รองลงมาได้แก่ Facebook 35% , X 14% และ Instagram 3% ,YouTube 2% ตามลำดับ ในแง่กลุ่มผู้สื่อสารพบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 42% รองลงมาคือ สื่อ 33% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 25% ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ในประเด็นความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว พบว่า 59% เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรม/การบูชาครูกายแก้ว ซึ่งจัดเป็นความเห็นเชิงกลาง เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น จากบัญชีหนึ่งใน TikTok ได้โพสต์วิธีการเดินทางไปสักการะครูกายแก้วที่บริเวณสี่แยกลาดพร้าว และวิธีสักการะบูชา ตามด้วย ความเห็น 37% ที่กังวลต่อข่าวลือเรื่องฆ่าสัตว์บูชายัญจากบัญชี ไพรวัลย์ วรรณบุตร และทาสแมวบอกต่อ ที่โพสต์ตำหนิการบูชายันต์หมา แมว ซึงเป็นความเห็นเชิงลบ ที่เหลือ 4% เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับโชคลาภจากการบูชาครูกายแก้ว เช่น บัญชีโหนกระแส และ Amarin News โพสต์ข่าวผู้ที่ถูกลอตเตอรี่จากเลขทะเบียนรถครูกายแก้ว ข่าวการขอพรของผู้ที่ศรัทธาครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความเห็นเชิงบวก
สรุป
ประเด็น “ครูกายแก้ว” ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อศึกษาผ่าน 5 แพลตฟอร์ม ตลอดเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ถูกกล่าวถึงใน TikTok มากที่สุดที่ 48% รองลงมาได้แก่ Facebook 33% , X 11% ,YouTube 5% และ Instagram 3% ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้สื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป 44% รองลงมาได้แก่ สื่อ 33% และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 23% ตามลำดับ ด้านประเด็นสามารถแบ่งได้ 3 ประเด็น คือ
ประเด็น 1 เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกพบใน Facebook มากที่สุดที่ 72 % รองลงมาได้แก่ YouTube 12%, TikTok 10% และ Instagram 6% ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็น สื่อ 66% เช่น โหนกระแส ข่าวสด อมรินทร์ทีวี เป็นต้น รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 26% และผู้ใช้งานทั่วไป 8%
ประเด็นที่ 2 ข้อถกเถียงเรื่องที่มา หลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว พบ TikTok สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 57% รองลงมาได้แก่ Facebook 23% , YouTube 11% , X 6% และ Instagram 3% ตามลำดับ ในด้านกลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 53% รองลงมาคือ สื่อ 29% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 19% ตามลำดับ
ประเด็นที่ 3 ความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว พบมากที่สุดใน TikTok 46% รองลงมาได้แก่ Facebook 35% , X 14% , Instagram 3% และ YouTube 2% ตามลำดับ ในด้านกลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 42% รองลงมาคือ สื่อ 33% และ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 25% ตามลำดับ
ความเห็นล่าสุด