
ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 67 ถือเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนติดตามรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ ที่สำคัญคือ ประเด็นการฉ้อโกงทั้งกรณีร้านทองแม่ตั๊กฯ กรณีดิไอคอนกรุ๊ป เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับสังคม รวมถึงเหตุอุทกภัยทางภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง
จากการสำรวจสัดส่วนการนำเสนอ 6 ประเด็นข่าวที่สังคมสนใจ จาก 6 รายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูง ช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67 พบว่า ข่าวคดีดิไอคอนกรุ๊ป มีสัดส่วนการนำเสนอกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่ข่าวอุทกภัยซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน และอาจมีมูลค่าความเสียหายที่ไม่น้อยไปกว่าคดีดิไอคอนกรุ๊ป กลับมีสัดส่วนการนำเสนอเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
หน่วยการศึกษา/วิธีการศึกษา
หน่วยการศึกษา
- เลือกรายการข่าวที่ออกอากาศช่วงเย็น-ค่ำ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ที่มีเวลาออกอากาศวันละ 40 นาทีขึ้นไป
- เลือกเฉพาะรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดจาก 3 ช่วงชั้น ได้แก่ 1) เรตติ้ง 2 ขึ้นไป 2) เรตติ้ง 1 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 และ 3) เรตติ้ง 0.6 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1 โดยเลือกเฉพาะรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดช่วงชั้นละ 3 รายการ จากสถานีที่ไม่ซ้ำกัน โดยอ้างอิงจากรายงานข้อมูลการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มเดือนกรกฎาคม 2567 ของ Neilsen [1] ผลคือได้รายการข่าวที่เป็นหน่วยการศึกษาจำนวน 5 รายการ ดังนี้ 1) ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ช่อง Thairath TV) 2) เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง 3) 3) ทุบโต๊ะข่าว (ช่อง Amarin TV) 4) ลุยชนข่าว (ช่อง 8) 5) เข้มข่าวค่ำ (ช่อง PPTV)
- เลือกศึกษารายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส จากช่องไทยพีบีเอสที่มีเรตติ้งสูงสุดในกลุ่มโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ
จึงทำให้ได้รายการข่าวที่เป็นหน่วยการศึกษาทั้งสิ้น รวม 6 รายการ ได้แก่ 1) ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ช่อง Thairath TV) 2) เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง 3) 3) ทุบโต๊ะข่าว (ช่อง Amarin TV) 4) ลุยชนข่าว (ช่อง 8) 5) เข้มข่าวค่ำ (ช่อง PPTV) และ 6) ข่าวค่ำไทยพีบีเอส (ช่องไทยพีบีเอส)
วิธีการศึกษา
- สำรวจสัดส่วนเวลาการนำเสนอเนื้อหาข่าวใน 6 รายการข่าว จากความยาวของเนื้อหาตามเวลาที่ปรากฎจริง (ชั่วโมง:นาที:วินาที) โดยการแสดงสัดส่วนเป็นร้อยละ
- จำแนกสัดส่วนเวลาเนื้อหาที่รายการข่าว 6 รายการนำเสนอ โดยเปรียบเทียบเฉพาะสัดส่วนเวลาของการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นข่าวที่ศึกษา ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ศึกษา ได้แก่ 1) อุทกภัยภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ 2) คดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ 3) ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา 4) คดีดิไอคอนกรุ๊ป 5) 20 ปี คดีตากใบ และ 6) ประเด็นข่าวอื่น ๆ นอกเหนือจาก 5 ข่าวที่กำหนดข้างต้น เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ ข่าวในพระราชสำนัก ฯลฯ
หมายเหตุ: การศึกษาในครั้งนี้มีข้อจำกัดคือ 1) เป็นเพียงการศึกษาเชิงปริมาณ โดยเปรียบเทียบสัดส่วนเวลาของเนื้อหาข่าวในประเด็นที่กำหนดกับเวลาออกอากาศตามที่ระบุในผังรายการ โดยไม่ได้วัดหรือประเมินการนำเสนอเนื้อหาข่าวในเชิงคุณภาพ 2) การศึกษาในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ไฟล์รายการข่าวที่เป็นหน่วยการศึกษาย้อนหลัง ทั้ง 6 รายการ จากสำนักงาน กสทช. แต่จากการตรวจสอบพบว่า รายการทุบโต๊ะข่าว เป็นเพียงรายการเดียวที่มักออกอากาศเกินเวลาที่ระบุในผัง (เวลา 18.55-22.30 น.) ประมาณวันละ 10-15 นาที โดยเนื้อหาที่ออกอากาศเกินเวลาดังกล่าว จึงไม่ได้ถูกบันทึก และไม่ถูกนับเป็นหน่วยการศึกษาในครั้งนี้

ภาพรวมสัดส่วนประเด็นข่าวที่ศึกษา จาก 6 รายการข่าว ช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67
เมื่อสำรวจเนื้อหาของ 6 รายการข่าวที่ศึกษา ช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67 (20 วันออกอากาศ) รวมเวลา 307 ชั่วโมง 51 นาที 15 วินาที พบว่า จะสามารถจำแนกเป็นสัดส่วนการนำเสนอประเด็นข่าวที่ศึกษา ดังนี้
คดีดิไอคอนกรุ๊ป มีการรายงานรวม 64 ชั่วโมง 6 นาที 43 วินาที คิดเป็น 20.83% โดยในภาพรวมเป็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่ถูกร้องเรียนว่าดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย เข้าข่ายเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ โดยการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งมีดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงมีส่วนร่วมในคดีด้วย คดีนี้ถูกพูดถึงหลังจากผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนไปยังเพจหนึ่งโดยอ้างว่าถูกธุรกิจออนไลน์ชื่อดังหลอกให้ลงทุนธุรกิจขายตรง พร้อมชักชวนให้สั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารและเสริมความงาม
คดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ มีการรายงานรวม 35 ชั่วโมง 29 นาที 30 วินาที คิดเป็น 11.53% ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำของ น.ส.กรกนก หรือแม่ตั๊ก, นายกานต์พล หรือป๋าเบียร์ และบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด เป็นผู้ต้องหาในคดี ซึ่งเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคในการแสดงเปอร์เซนต์ทองไม่ตรงกับที่ขายจริง โดยมีผู้เสียหายมากกว่า 1,000 คน อีกทั้งยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
อุทกภัยภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ มีการรายงานเป็นเวลา 33 ชั่วโมง 3 นาที 28 วินาที คิดเป็น 10.74% ประเด็นข่าวเกี่ยวข้องกับการรายงานปัญหาสภาพอากาศ และผลกระทบที่เกิดอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย และรวมไปถึงมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย
ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา มีการรายงานรวม 25 ชั่วโมง 40 นาที 2 วินาที คิดเป็น 8.34% โดยเป็นการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสนำนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดชัยนาท ที่เดินทางไปทัศนศึกษาแล้วเกิดเพลิงไหม้ขณะเดินทางบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ส่งผลให้นักเรียนและครูเสียชีวิตรวม 23 ราย รวมถึงข้อกังวลและการถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็น ความเหมาะสมในการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ความปลอดภัยของรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานมาแล้วหลายปี ระบบการติดตั้งถังแก๊สและการตรวจสอบของกรมการขนส่ง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน
20 ปี คดีตากใบ มีการรายงานรวมเพียง 3 ชั่วโมง 21 นาที 16 วินาที คิดเป็น 1.09% โดยเป็นการย้อนรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิต 85 คน คดีตากใบจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 ชาวบ้านจำนวน 48 คน จึงตัดสินใจรวมตัวฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ ถือเป็นการยื่นฟ้องครั้งสุดท้ายก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ โดยยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 67 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 ศาลพิจารณารับคำฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน
ประเด็นข่าวอื่น ๆ คือ ข่าวอื่นนอกเหนือจาก 5 ข่าวที่กำหนดในการศึกษา มีการนำเสนอรวม 104 ชั่วโมง 27 นาที 55 วินาที คิดเป็น 33.92% ประกอบด้วยการรายงานข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวพยากรณ์อากาศ ข่าวต่างประเทศ ข่าวกีฬา ข่าวเบ็ดเตล็ด ข่าวประชาสัมพันธ์ และข่าวในพระราชสำนัก โดยแต่ละรายการมีการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ในแต่ละสัปดาห์ ที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

เปรียบเทียบสัดส่วนการนำเสนอประเด็นข่าวที่ศึกษาจาก 6 รายการข่าว ช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67
เนื่องจากรายการข่าวที่เลือกศึกษา ทั้ง 6 รายการ มีความยาวของเวลาออกอากาศตามผังรายการที่แตกต่างกัน และอาจมีการออกอากาศที่คลาดเคลื่อนจากเวลาที่ระบุไว้ในผังรายการด้วยเหตุเช่น มีรายการพิเศษ มีการถ่ายทอดสด เป็นต้น จากการสำรวจพบว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษา (ระหว่างวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67 รวม 20 วันออกอากาศ) ทั้ง 6 รายการข่าว มีเวลาการออกอากาศรวมทั้งสิ้น เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ 1) รายการทุบโต๊ะข่าว (AmarinTV) 71 ชั่วโมง 40 นาที 2) รายการลุยชนข่าว (ช่อง8) 65 ชั่วโมง 3) รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ (ThairatTV) 63 ชั่วโมง 26 นาที 35 วินาที 4) รายการเข้มข่าวค่ำ (PPTV) 44 ชั่วโมง 24 นาที 40 วินาที 5) รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส (ThaiPBS) 33 ชั่วโมง 20 นาที และ 6) รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง3) 30 ชั่วโมง
เมื่อนำความยาวเวลาการนำเสนอข่าวที่กำหนดของ 6 รายการที่ศึกษามาคำนวณสัดส่วนโดยเปรียบเทียบกับฐานร้อยละของเวลารวมการออกอากาศของ 6 รายการที่ศึกษา พบข้อมูลสัดส่วนที่สะท้อนการให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็นข่าวที่กำหนดในการศึกษาครั้งนี้ ของแต่ละรายการที่ศึกษา
คดีดิไอคอนกรุ๊ป พบว่า รายการลุยชนข่าว เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวคดีดิไอคอนกรุ๊ป สูงสุดคือ คิดเป็น 28.20% รายการเรี่องเด่นเย็น มีสัดส่วนการนำเสนอ 23.88% รายการทุบโต๊ะข่าว 22.55% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ 21.11% รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส 11.85% รายการเข้มข่าวค่ำ มีสัดส่วนการนำเสนอ 11.53%
คดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ พบว่า รายการลุยชนข่าว เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวคดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ สูงสุง คิดเป็น 19.32% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ มีสัดส่วนการนำเสนอ 15.63 รายการทุบโต๊ะข่าว 14.25% รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ 8.37% รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส 0.88% ขณะที่ พบว่า รายการเข้มข่าวค่ำไม่มีการรายงานข่าวคดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ ในช่วงวันที่ศึกษา
อุทกภัยภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ พบว่า รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส มีสัดส่วนการรายงานข่าวดังกล่าวสูงสุด คิดเป็น 19.38% รายการทุบโต๊ะข่าว มีสัดส่วนการนำเสนอ 14.27% รายการลุยชนข่าว 11.98% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ 8.11% รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ 4.90% รายการเข้มข่าวค่ำ 4.42%
ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา พบว่า รายการลุยชนข่าว เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวดังกล่าวสูงสุด คิดเป็น 10.27% รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ มีสัดส่วนการนำเสนอ 10.19% รายการทุบโต๊ะข่าว 8.85% รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส 8.56% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ 7.80% รายการเข้มข่าวค่ำ มีสัดส่วนการนำเสนอ 4.03%
20 ปี คดีตากใบ พบว่า รายการเข้มข่าวค่ำ เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวดังกล่าวสูงสุด คิดเป็น 4.81% รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอสมีสัดส่วนการนำเสนอ 2.89% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ 0.29% รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ 0.23% ในขณะที่ พบว่า รายการทุบโต๊ะข่าว และรายการลุยชนข่าว ไม่มีการรายงานข่าวดังกล่าว ในช่วงวันที่ศึกษา
สำหรับ ประเด็นข่าวอื่น ๆ สามารถพบได้ในทุกรายการที่ศึกษา โดย รายการเข้มข่าวค่ำ เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวดังกล่าวสูงสุด คิดเป็น 56.40% รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส มีสัดส่วนการนำเสนอ 52.01% รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ 29.72% รายการทุบโต๊ะข่าว 21.11% รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ 27.13% รายการลุยชนข่าว มีสัดส่วนการนำเสนอ 22.32%

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการสำรวจสัดส่วนการนำเสนอประเด็นข่าวที่กำหนด จาก 6 รายการข่าวเย็น-ค่ำ ของสถานีโทรทัศน์ที่เป็นหน่วยการศึกษา ในช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 18 ต.ค. 67 อาจสรุปได้ว่า รายการข่าวที่มีเวลาออกอากาศมาก และมีเรตติ้งสูง เช่น ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ช่อง Thairath TV) เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง 3) ทุบโต๊ะข่าว (ช่อง Amartin TV) และลุยชนข่าว (ช่อง 8) มักมีสัดส่วนการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแสหรืออยู่ในความสนใจของสังคม รวมกันแล้ว มากกว่าประเด็นข่าวอื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวคดีดิไอคอนกรุ๊ป ที่พบว่า ทั้ง 4 รายการ ให้เวลาการนำเสนอในสัดส่วนสูงกว่า 20% ของเวลารวมรายการทั้งหมดในช่วงที่ศึกษา ต่างจากรายการข่าวที่มีเรตติ้งน้อยกว่า ได้แก่ เข้มข่าวค่ำ (ช่อง PPTV) และข่าวค่ำไทยพีบีเอส (ช่อง ThaiPBS) ที่มีสัดส่วนการนำเสนอข่างดังกล่าวประมาณ 11% เท่านั้น เช่นเดียวกับข่าวคดีทองแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ ที่พบว่า รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส มีสัดส่วนการนำเสนอค่อนข้างน้อย ในขณะที่เข้มข่าวค่ำ ไม่พบว่ามีการรายงานข่าวดังกล่าว
ขณะที่กลุ่มรายการข่าวที่มีเรตติ้งน้อยกว่า ได้แก่ เข้มข่าวค่ำ (ช่อง PPTV) และข่าวค่ำไทยพีบีเอส (ช่อง ThaiPBS) มักเน้นนำเสนอเนื้อหาและประเด็นข่าวอื่น ๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่า 50% โดยมากเป็นข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และอื่น ๆ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานฉบับย่อ) ทั้งยังนำเสนอประเด็นข่าวที่อาจไม่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เช่น ข่าว 20 ปี คดีตากใบ ในสัดส่วนที่สูงกว่ารายการไทยรัฐนิวส์โชว์ (ช่อง Thairath TV) เรื่องเด่นเย็นนี้ (ช่อง 3) ในขณะที่รายการทุบโต๊ะข่าว (ช่อง Amartin TV) และรายการลุยชนข่าว (ช่อง 8) ไม่มีการรายงานข่าว 20 ปี คดีตากใบ ในช่วงวันที่ศึกษา
จากการสำรวจยังพบว่า รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส เป็นรายการที่มีสัดส่วนการรายงานข่าวอุทกภัยภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ สูงสุดที่ 19.38% และเป็นเพียงรายการเดียวที่มีการรายงานข่าวดังกล่าวต่อเนื่องตลอดทั้ง 20 วันที่ศึกษา ในขณะที่รายการอื่น ๆ มีการนำเสนอในสัดส่วนที่น้อยกว่า และไม่มีการรายงานอย่างต่อเนื่อง
รายการข่าวค่ำไทยพีบีเอสจึงโดดเด่นในการรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายการอื่น ๆ ทั้งในแง่จำนวนวันและสัดส่วนเวลาการรายงาน เช่นเดียวกับข่าว 20 ปีคดีตากใบที่พบว่า มีเพียงรายการข่าวค่ำไทยพีบีเอส และเข้มข่าวค่ำเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับข่าวดังกล่าวมากกว่ารายการอื่น ๆ ที่ศึกษา
ผลการศึกษาข้างต้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Media Alert หลายชิ้น ที่พบว่า รายการข่าวทางทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะ รายการข่าวที่มีเรตติ้งสูง มักให้พื้นที่การนำเสนอประเด็นข่าวที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม มีลักษณะเร้าอารมณ์ ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ หรืออื่น ๆ ที่อาจมีความสำคัญ แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนในสังคมในขณะนั้น ทำให้เนื้อหารายการข่าวส่วนใหญ่ขาดความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และโจทย์สำคัญ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทางเนื้อหารายการข่าวทางทีวีดิจิทัล ในฐานะสื่อระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นในระดับสถานี บรรณาธิการ ภาคธุรกิจที่สนับสนุนรายการข่าว รวมไปถึงองค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ และหน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงกลุ่มขับเคลื่อนเพื่อสิทธิผู้บริโภคสื่อ ในการเรียกร้อง ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดรายการข่าวที่สามารถเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารให้กับสังคมที่น่าเชื่อถือ สามารถสะท้อนเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างแท้จริง ด้วยมาตรฐานทางวิชาชีพ จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สูงกว่าสื่ออื่น ๆ เกิดเป็นรายการข่าวที่มีคุณภาพที่โดดเด่นและแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกออนไลน์ที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ในปัจจุบัน
อ่านรายงานผลการศึกษาฉบับย่อ :
ความเห็นล่าสุด