เลือกหน้า

การสัมมนาประจำปี  Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 67 นำเสนอ
วิดีทัศน์ผลการศึกษา “การสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี
2566”  ที่ Media Alert ร่วมดำเนินการกับบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด และพบว่า ประเด็นการเมืองได้รับความสนใจสูงสุดในสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 58 โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุด 50% จากการสื่อสารในเกือบทุกกลุ่มเนื้อหา ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วไป คือ ผู้สร้าง Engagement ถึงครึ่งหนึ่งของการสื่อสารออนไลน์ทั้งหมด ต่อท้ายวิดีทัศน์เสนอผลการศึกษา ด้วยการเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไร? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในงาน ข้อมูล  แพลตฟอร์ม  สื่อมวลชน การขับเคลื่อนทางสังคม และวิชาการ 

The Story Thailand เรียงร้อยข้อมูล ความเห็น ข้อเสนอของคณะวิทยากร เพื่อต่อยอดข้อเสนอการขับเคลื่อนทางสังคมบนโลกออนไลน์ ให้ชัดเจน และกระตุ้นความสนใจสู่ปฏิบัติการร่วม 

ส่องปัจจัยช่วยหนุนการขับเคลื่อนทางสังคม 

ในฐานะแพลตฟอร์มที่มียอด Engagement สูงอย่าง TikTok ซึ่งหนึ่งในพันธกิจสำคัญขององค์กร คือ การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สุขภาวะดิจิทัล (Digital Wellness) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สิ่งแวดล้อม (Environment) การสนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย (Diversity & Inclusion) และการศึกษา ( Education) ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย นำเสนอว่า “การพัฒนาคอนเทนต์ให้ปัง ต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจแพลตฟอร์ม และเข้าใจคนฟัง” โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า “เข้าใจตัวเอง” คือ รู้ว่าองค์กรของเราเป็นใคร มีเป้าหมายหรือพันธกิจอย่างไร และสิ่งที่ทำจะเกิดความดีงามอย่างไรกับคนฟัง “เข้าใจแพลตฟอร์ม” คือ รู้ว่าแพลตฟอร์มใดเหมาะกับคนฟังกลุ่มไหน รู้จักรูปแบบ คุณลักษณะ และเครื่องมือพื้นฐานในการใช้งาน สุดท้าย คือ “เข้าใจคนฟัง” รู้ว่า คนฟังยุคปัจจุบันนิยมเสพเนื้อหาสั้น จากเดิมให้ความสนใจใน 8 วินาทีแรก เหลือเพียง 2 วินาที ก็ต้องแปะป้ายจั่วหัวไปเลยว่า ต้องการพูดเรื่องอะไร

นอกจากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ที่กว้างและมากขึ้น (Raise Awareness) หรือสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการกระทำหรือการรณรงค์บางอย่าง (Call to Action) บางแพลตฟอร์มยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนสนับสนุนได้ เช่น TikTok ได้เปิดตัวสติกเกอร์การบริจาค (Donation Sticker) สำหรับตกแต่งวิดีโอ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมบริจาคในแคมเปญขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

“หลายครั้งที่การวางแผนงานขับเคลื่อน ขาดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนสำคัญ ก็คือ ผู้บริโภค” กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพราะบุคคลหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนมักคิดว่า ตนเองอยากพูดอะไรมากกว่าสนใจว่าประชาชนชอบฟังอะไร ซึ่งผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่มีพลวัตสูงมาก ดังนั้น การเลือกพื้นที่นี้เป็นช่องทางขับเคลื่อน ก็ต้องเข้าใจผู้ชม เข้าใจสังคม พร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนคิด และจับกระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงให้เป็น

 

แต่เมื่อใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ และทุกคนสามารถมีเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ เห็นว่า หากต้องการผลิตเนื้อหาที่สร้างผลกระทบทางสังคม กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมี “คนขุดค้น และสร้างฐานข้อมูลต้นทาง อาจโดยสื่อมวลชนหรือบุคคลทั่วไปที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้ชาวเน็ตนำไปขยายผลต่อ” ดังเคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้น เช่น กลุ่มรณรงค์ประเด็นข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP- Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเสียประโยชน์ของเกษตรกรในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพยายามค้นคว้าข้อมูลเหล่านี้ นำไปย่อยให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และเล่าผ่านเสียงของตัวเอง

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า การปลุกกระแสสังคมให้เดินไปสู่การขับเคลื่อนที่ถูกควรและยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ต้องมี “การเชื่อมโยง ออกแบบ และทำงานร่วมกัน”
ยกตัวอย่าง Chris Anderson เจ้าของรายการ TED Talks เคยกล่าวว่า หลายครั้งที่ไอเดียดี ๆ ควรได้รับการขยายผลออกไปมาก ๆ แต่เป็นกระแสอยู่แค่พักเดียว ไม่ค่อยเกิดผลในการเอาไปใช้จริง วิธีแก้ไข คือ การออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือ หรือการถอดองค์ความรู้จากแคมเปญการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับการทำงานสื่อสารออนไลน์แล้วประสบความสำเร็จ แต่เท่าที่เห็นโดยส่วนใหญ่ องค์กรสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ ยังประสบปัญหาการทำงานร่วมกับสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ทำอย่างไรจึงจะเกิดการเชื่อมโยงที่เป็นบวก ไม่ขิงใส่กันไปมา ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องออกแบบและเรียนรู้ร่วมกัน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab เสนอว่า ยอด Engagement ไม่ใช่คำตอบของทุกเรื่อง หากอยู่ที่คุณภาพของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะการขับเคลื่อนในประเด็นย่อย ๆ ที่ถึงแม้จะมี Engagement ต่ำ แต่ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าได้เหมือนกัน ดังนั้น ก้าวต่อไปที่สำคัญ คือ ทำให้เกิด “We Power” ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ที่มีอยู่หลากหลาย จนเกิดความเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งผศ.อภิสิทธิ์ มองว่า สื่อนอกจากเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว อาจเป็นผู้กำหนดวาระ รวมถึงสร้างภาวะสมดุลของข้อมูลให้รอบด้านกับสังคม แล้วให้ผู้ใช้งานทั่วไปและอินฟลูเอนเซอร์นำข้อมูลไปเล่าต่อ จนนำไปสู่การ Call to Action ในที่สุด

จัดการอย่างไร? กับความสนใจบนโลกออนไลน์ที่สั้น ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นต้องใช้เวลาที่ยาว

“ก่อนมีสื่อสังคมออนไลน์ การวางแผนสร้างการรับรู้อาจใช้เวลาสัก 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปิดเวทีให้คนมาเข้าร่วม แล้วทำแคมเปญรณรงค์ต่อสัก 3 เดือน แต่ปัจจุบัน การทำแคมเปญเหลือแค่ 3 วัน การ Engagement นับกันเป็นหลักนาที” กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มว่า นั่นทำให้ศักยภาพของสื่อออนไลน์เดินหน้าไปไกลกว่าสื่อในบริบทเดิม กระทั่งผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถใช้ช่องทางสื่อสารนี้ด้วยตัวเอง ทำให้บางครั้งยอด Engagement ที่สะท้อนกลับมา ไม่ได้วัดว่า คนรับรู้หรือสนใจมากขึ้นจริงหรือไม่ สามารถสร้างผลกระทบที่อยากให้เกิด ณ ปลายทางได้หรือเปล่า ยกตัวอย่าง กลุ่มเรื่องบันเทิงที่มียอด Engagement เล็กน้อย แต่เป็นยอดที่มาจากแฟนคลับที่มีพลังขับเคลื่อนสูงในการสนับสนุนศิลปินดาราที่ตนเองชื่นชอบ ถ้าหยิบมาใช้ให้เป็น ก็จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก

บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา กล่าวว่า การผลิตเนื้อหาสั้น ๆ แบบ Short-form Content ปนด้วยความบันเทิง เป็นวิธีการหนึ่งในการดันยอด Engagement แต่ต้องตระหนักว่า กำลังทำเนื้อหาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายอะไร เพราะถ้ามุ่งแค่การนำเสนอเรื่องราวที่สั้นและบันเทิง เนื้อหาสำคัญที่ควรมี จะหายไป สื่อจึงต้องคิดให้หลากหลาย (Diversify) และเท่าทัน (Media Literacy) การใช้งานอย่างถูกจังหวะเวลา เช่น เลือกทำเนื้อหาสั้นเพื่อเข้าถึงผู้ชม เพื่อให้เกิดกระแสความสนใจ ต่อเนื่องด้วยการทำข่าวยาวเชิงลึกแบบ Long-form ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งจากผู้ฟัง มีเดียเอเจนซี แบรนด์ หรือแพลตฟอร์ม ให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน

แม้ว่า TikTok ได้พัฒนาฟีเจอร์ให้สามารถดาวน์โหลดคลิปวิดีโอที่ยาวเกินกว่า 10 นาทีแล้ว แต่ ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย เห็นว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ใช้งานว่าสนใจอยากชมคลิปยาวหรือไม่ ซึ่งประเด็นการขับเคลื่อนทางสังคมเป็นเรื่องต้องใช้เวลา การทำคลิปสั้นเพื่อเรียกความสนใจ แล้วเชื่อมไปหาลิงก์ที่เป็นเนื้อหาฉบับเต็ม น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหา

“ฟังดูเหมือนเรากำลังมองหาวิธีจัดการกับความสนใจของคนบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสั้นลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ศิลปะในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือการบอกเล่าเรื่องราวสำคัญนั้นยาว” ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion สุนิตย์ เชรษฐา เห็นว่า การ Call to Action แล้วเกิดผลแค่ครั้งเดียว เช่น บริจาคครั้งเดียว แยกขยะครั้งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่ไม่เกิดประโยชน์เท่ากับการผลักดันให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน จึงควรมีการจัดการร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ การกำหนดประเด็น การเชื่อมร้อยประเด็นที่ซับซ้อนกับเรื่องราวที่ต้องเล่ากันยาว การสร้าง Engagement การเลือกใช้สื่อออนไลน์ในการดึงดูดผู้คนอย่างเข้มข้น การจัดการกับประเด็นที่เผยแพร่ผ่านสื่อที่หลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

สื่อออนไลน์กับการขับเคลื่อนไม่ให้ประเด็นจมหาย ไม่ไหลไปตามกระแส และสร้างเรื่อง Toxic

ในมุมมอง “การขับเคลื่อนประเด็นไม่ให้จมหาย” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab ผศ.อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ กล่าวว่า ประเด็นขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน บางครั้งเป็นเรื่องเล็ก ๆ เสียจนบางคนไม่รู้ว่ามี ดังนั้น การ “Connect the Dots” ให้เห็นเป็นภาพใหญ่ระดับประเทศ และรวมพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน (We Power) โดยมี “สื่อ” เป็นตัวกลางร่วมกำหนดวาระ หนุนเสริมเนื้อหาให้มีจำนวนมากขึ้น ทั้งยังมีโอกาสเข้าถึงผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลง เช่น ภาครัฐ นักการเมือง รัฐบาล ขณะที่ผู้ใช้ทั่วไปและอินฟลูเอนเซอร์เข้าไม่ถึง ทำให้ประเด็นตั้งต้นโดยสื่อ กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แข็งแรง ไม่จมหาย และมีแรงขับเคลื่อนสูงขึ้น

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า สื่อใหม่ที่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนภาพการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในอดีตจากที่มีคนคิดและสรุปมาให้และสื่อมีหน้าที่แค่รับไปสื่อสาร มาสู่การเน้นการมีส่วนร่วม เช่น การสื่อสารใน TikTok จนเกิดเป็นกระแสสังคม สามารถดึงความสนใจของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหาข้อยุติ หรือข้อตกลงในยโยบายสาธารณะต่าง ๆ

สำหรับ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) เห็นว่า ไม่มีประเด็นที่จมหาย เพียงแค่หาไม่เจอเพราะอาจเป็นเรื่องที่เล็กมาก แต่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มีเครื่องมือสืบค้นข้อมูลและทำให้พบว่า เคยมีคนเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่พลังอาจหายไป จึงต้องกลับไปหาและดึงคนเหล่านั้นมาช่วยขับเคลื่อน ส่วนประเด็นใดที่ทำไปแล้วไม่ค่อยมีคนสนใจ ก็ควรนำกลับมาพิจารณาใหม่

“เนื้อหาที่มีอยู่จำนวนมากมักเป็นคอนเทนต์เชิงปรากฎการณ์ ทุกคนเห็นความสำคัญแต่มักหยุดอยู่แค่นั้น เหมือนจุดพลุแล้วก็หายไป ทำให้บางประเด็นที่มีความสำคัญแต่ทำการขับเคลื่อนได้แค่สร้างการตระหนักรู้ แต่ไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงปลายทางด้วยวิธีไหน” อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวและยกตัวอย่างเพิ่มเติมในประเด็นปัญหาแก๊ง Cal Center ซึ่งสังคมเห็นถึงภัยที่มาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาระดับปัจเจกบุคคลแต่เป็นภัยระดับภูมิภาคที่ต้องตั้งคำถามกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจ หน่วยงานโทรคมนาคม หรือธนาคาร ซึ่งมีความซับซ้อนและยากในการเล่าเรื่อง

ต่อประเด็น “การสื่อสารเพื่อไม่ให้ไหลไปตามกระแส” ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า กระแสไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่เนื้อหาเล็ก ๆ จากกลุ่มคนเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่อยากสนับสนุนให้เกิดการรวมพลังกัน เช่น การใช้แฮชแท็กร่วมกันต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การจัดข้อมูลหรือเนื้อหาให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อดึงคนเข้ามาดู เกิดพลังของกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังต้องรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่งสิ่งที่ TikTok ทำอยู่ คือ การพัฒนาคุณลักษณะที่ปลอดภัยในการใช้งาน เช่น การร่วมต่อต้านข้อมูลที่ผิดและบิดเบือน หรือแคมเปญ Digital Wellness Hub ที่สอนให้คนรู้จัก “หยุด คิด ตัดสินใจ และลงมือทำ” (Stop, Think, Decide and Act) เพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ข้อมูลไหลไปเร็วมาก ๆ หากสามารถหยุดคิดก่อนตัดสินใจแชร์หรือเชื่อ จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง

“สิ่งที่เป็นกระแส เป็นไวรัล ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป แต่ทำอย่างไรให้เนื้อหาที่เล็กกว่ามีที่ทางของตัวเองด้วย ซี่งสื่อต้องจัดสมดุลให้ดีระหว่างการเอายอด Engagement ไว้เลี้ยงกระแส กับการทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะสื่อ” อรพิณ กล่าว

สุนิตย์ เสนอ 3 ทางออก (Solutions) ได้แก่ 1) การส่งเสริมเนื้อหาด้านบวก ไม่ว่าจะเป็น Long Form หรือ Short Form ที่มีคุณภาพสูง การให้ทุนสนับสนุนสื่อที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึก หรือแนวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น 2) การป้องกันกระแสด้านลบ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน แพลตฟอร์ม และสื่อบุคคล ในการกำกับดูแลว่าเรื่องใดไม่เหมาะสม ผิดหลักเกณฑ์ที่ชุมชนโลกออนไลน์กำหนด ผิดข้อบังคับของแพลตฟอร์ม โดยไม่เป็นการปิดกั้นหรือคุกคาม และ 3) แบรนด์ที่ให้ทุนต้องแน่ใจว่า ไม่ได้สนับสนุนอินฟลูเอนเซอร์หรือการสื่อสารด้านลบ ที่เป็นภัยต่อชื่อเสียงของแบรนด์ แต่สนับสนุนการสื่อสารประเด็นสังคมร่วมกันของผู้อยู่ในแวดวงหรือในสายงานจริง เพื่อไม่ให้เงินสนับสนุนไหลไปในที่ ๆ ไม่สมควร

กล้า เสนอการทำ Collaboration โดยนำคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์มาคุยกัน เพื่อรับทราบข้อมูลและช่วยกันปรับสมดุลของการสื่อสารให้เข้ารูปเข้ารอยกว่าเดิม อาจช่วยให้กระแสถูกเกลี่ยไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น เพราะหลายครั้งที่นำเสนอข้อมูลไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะได้รับการตอบกลับมาว่า พวกเขาให้ความสนใจกับการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยไม่รู้ว่าได้ก่อผลเสียตามมา เช่น แบรนด์ต้องการสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดขายแต่ทำร้ายสังคม หรือ สังคมเรียกร้องบางสิ่งที่ทำร้ายองค์กร

ตบท้ายด้วย “การรับมือกับ Toxic บนโลกออนไลน์” กล้า แนะว่า “ถ้าฟังแล้ว Toxic ก็ไม่ต้องฟัง” เราฟังความเห็นเพราะต้องการนำมาปรับปรุง แต่ความเห็น Toxic เป็นอารมณ์ล้วน ๆ จึงขึ้นอยู่กับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของคนฟังที่จะไม่รับ ไม่คล้อยตาม ไม่รับการบูลลี่ ยกเว้นว่าอยากทะเลาะ เช่นเดียวกับ ผศ.อภิสิทธิ์ ซึ่งเห็นว่า ขอแค่ “รู้เท่าทัน ก็จะไม่มีอารมณ์ร่วม”

ชนิดา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ TikTok มีฟีเจอร์ตั้งค่าคำที่ไม่ชอบ คำที่เห็นแล้วบาดใจ รวมถึงความเห็นเป็นพิษ ไม่ให้ปรากฏเวลาลงคลิปวิดีโอหรือไลฟ์สตรีม ทั้งเจ้าของบัญชีหรือผู้ชมสามารถกดลบหรือรายงานได้เหมือนกัน ขอเพียงศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ของเครื่องมือที่แพลตฟอร์มเตรียมให้และใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งที่สื่อออกไป ขณะที่ อรพิณ กล่าวว่า ถ้าความเห็นนั้นเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ไม่ใช่ไอโอ โดยประสบการณ์แล้ว สามารถพูดคุยให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันได้

ด้าน สุนิตย์ เห็นว่า หากเป็นบุคคลทั่วไป ต้องมีความรู้ความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ส่วนแพลตฟอร์มต้องมีความรับผิดชอบและให้การช่วยเหลือ สำหรับพื้นที่สื่อออนไลน์ที่มีการจัดการ เช่น ในกลุ่ม Facebook กลุ่ม Line ควรกำหนดกติการ่วมกันในการเสนอความเห็นที่ไม่รุนแรง หรือปิดกั้นการมองเห็นความเห็น Toxic หากพบว่าใครไม่ปฏิบัติตาม

เมื่อประเด็นที่มี Engagement สูง มักเป็นเรื่องใกล้ตัว มีส่วนร่วมง่าย ทำอย่างไร? ให้ประเด็นสาธารณะหนัก ๆ เป็นที่สนใจ

ชนิดา กล่าวว่า ตัวเนื้อหาต้องมาก่อน แล้วค่อยมาพัฒนาเรื่อง Engagement ในภายหลัง หากเนื้อหาดีจริง สรุปได้ดี ไม่ว่าอย่างไรก็มี Engagement มีไวรัล เว้นแต่ว่าวิธีการสื่อสารอาจยังไม่โดนใจ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปยังสิ่งที่ได้กล่าวไว้ คือ ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักคนฟัง รู้จักแพลตฟอร์ม แต่ถ้าเนื้อหานั้นเข้าถึงยากมาก ก็สามารถใช้ผู้นำความคิด หรือ KOL (Key Opinion Leader) ที่สอดคล้องกับประเด็นสื่อสาร ในการดึงดูดคนให้สนใจประเด็นหรือทำให้เรื่องราวน่าติดตามมากขึ้นได้ อย่างประเด็นการแก้กฎหมายที่เข้าถึงยาก การใช้ KOL ที่มีแฟนคลับมาก เช่น นางงามหรือดาราที่มีชื่อเสียงมาเล่าเรื่อง เท่ากับเป็นการดึงคนวงนอกที่ไม่เคยสนใจประเด็นเหล่านี้มาก่อน เข้ามามีส่วนร่วมหรือสร้างการตระหนักรู้มากขึ้น

อรพิณ กล่าวว่า “หากคิดแบบใช้การตลาดนำ ก็ต้องใช้ KOL” การเล่าคนเดียวโดยสำนักข่าวเดียว อาจไม่มีพลังมากพอเท่ากับมีหลายคนมาช่วยเล่า ทำให้ข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น มีความถี่มากพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อระบบการค้นหา นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตาม เราต้องใส่โครงสร้าง ใส่ข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบ แต่ก็หนีไม่พ้นต้องมีการปลุกเร้าให้คนฟังเกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วม เพราะการให้แต่ข้อมูลมักไม่ค่อยสำเร็จ ขณะที่ สุนิตย์ กล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มนุษย์มีสมองข้างหนึ่งไว้ใช้ในการคิดวิเคราะห์ แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร ต้องมีสมองอีกข้างที่เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ ไว้ประเมินความสำคัญ หรือการให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ได้ย้ำถึงการสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืน ไม่ควรเกิดเป็นช่วง ๆ เป็นจังหวะ ๆ แล้วหายไป

ผศ.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องราวที่ประกอบด้วยความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ Engagement สูง แต่อยากให้กำลังใจสื่อว่า ขอให้ผลักดันต่อไปในเรื่องที่แม้ Engagement ต่ำ แต่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับสังคม เพราะประเด็นบางเรื่อง เช่น ความเจ็บป่วย หนี้สิ้น คนอ่านเพราะอยากมีความรู้ แต่ไม่อยากแชร์เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าป่วย ไม่อยาก Engagement เพราะไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเป็นหนี้ ถ้าสื่อเข้าใจและพยายามขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ จนสังคมมองเห็นความสำคัญ ทุกอย่างจะดีขึ้น

กล้า กล่าวว่า เมื่อเรื่องใกล้ตัวมีความเฉพาะตัว (Personalize) สูง จึงเข้าถึงคนทุกคนได้ง่าย ขณะที่ประเด็นสาธารณะหนัก ๆ เป็น Single Message ที่เน้นสื่อสารแบบ one size fits all คือ เนื้อหาหนึ่งเดียวใช้ได้กับทุกคน เป็นไปได้ไหมที่จะแตกประเด็นสาธารณะหลักออกเป็นประเด็นย่อยสัก 10-20 เรื่อง แล้วทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น นำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแตกเป็นประเด็นย่อยที่เน้นส่งผลกับเด็ก พ่อแม่ที่มีลูกก็จะอ่าน หรือ ในบางครั้ง ต้องยอมปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เหมาะกับคนฟัง โดยนักสื่อสารมวลชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ ปรับเรื่องราวที่ยาวและซับซ้อน ในการขับเคลื่อนประเด็นหนัก ๆ ให้เข้าใจได้ในเวลาสั้น ๆ

ท้ายที่สุด มุมมองของวิทยากรส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ภาคเอกชนช่วยผลักดันให้เกิดพลวัต ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง หรือเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน มีแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังในการออกแบบกลยุทธ์การสื่อสารที่โดดเด่น และหลากหลายไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้เป้าหมายหรือพันธกิจมีความคมมากขึ้น เข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มในสังคม และเดินไปสู่ปลายทางเดียวกัน คือ การพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นและดีต่อไป

ดังที่ สุนิตย์ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นต้องชัดเจนว่า จะเปิดใจคุยกันอย่างไรและจะวัดผลสำเร็จที่จับต้องได้ด้วยข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์แบบไหน ที่สำคัญ คือ ต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงปัญหา เพราะประเด็นสาธารณะต่าง ๆ นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ประเด็นปลาในทะเลไทยสูญพันธุ์ที่ระบุเหตุว่าเพราะคลื่นความร้อน โลกร้อน ทั้งที่ความจริงอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงที่ผิดกฏหมาย สะท้อนการเข้าถึงปัญหาที่ไม่ลึกหรือรอบด้านพอ

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ กล่าวปิดท้ายว่า จากผลการศึกษาและการ
จัดเสวนาครั้งนี้ ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารออนไลน์ที่มีบทบาทขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ขณะเดียวกัน การแก้ไขประเด็นความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ยังเป็นโจทย์ที่ต้องดำเนินการต่อ เช่น อันตรายไซเบอร์ต่อเด็ก ต่อกลุ่มผู้อ่อนไหวที่ใช้งานในโลกออนไลน์ รวมถึงการผลักดันความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เกิดขึ้น อาทิ การทำ MOU ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการแก้ปัญหาแก๊ง Call Center การรวมพลังอินฟลูเอนเซอร์ โปรซูเมอร์ทั้งหลาย มาร่วมกันผลิตเนื้อหาดี ๆ เพื่อสร้างโลกของสื่อที่ปลอดภัย ทำให้สังคมและประเทศน่าอยู่