เลือกหน้า

วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย
และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทน TikTok

 

เดือนธันวาคม 2566 มีวันสำคัญ คือวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตามเกณฑ์การศึกษา จัดอยู่ใน กลุ่มเนื้อหาเทศกาล ได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นอีกเดือนที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 6 ใน 10 อันดับ คือ ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย, เดบิวต์วง BUS Because of you I shine, GMMTV STARLYMPIC 2023, Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13, ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12 และ
THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE ส่วน กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ คือ
ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่, แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี และ
กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

เมื่อจำแนก Engagement ตามกลุ่มเนื้อหา พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 6 ประเด็น เป็นสัดส่วน 50.95%
กลุ่มเนื้อหา เทศกาล มี 1 ประเด็น คิดเป็น 35.04% กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ มี 2 ประเด็น คิดเป็น 11.28% และ กลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ศาสนามี 1 ประเด็น คิดเป็น 2.73%

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนธันวาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok โดยใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เช่น คริสต์มาส, ปีใหม่, พรหมลิขิต, Because of you I shine, ลุงพล เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์
ให้ความสนใจในเดือนธันวาคม 2566 คือ

1. เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่

2. ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย

3. เดบิวต์วง BUS Because of you I shine

4. ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

5. GMMTV STARLYMPIC 2023

6. Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13

7. อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

8. ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12

9. แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

10. THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนธันวาคม 2566

อันดับที่ 1 เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่

เดือนธันวาคมเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงเป็นโอกาสที่มีการสื่อสารเพื่อแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้สึก ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ภาพต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่ตามสถานที่ต่าง ๆ โปรโมชันสินค้าส่งท้ายปีเก่า การรวมตัวกันเฉลิมฉลอง เป็นต้น ส่งผลให้เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ในเดือนธันวาคม 66

อันดับที่ 2 ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย

ในเดือนธันวาคม 66 ละครพรหมลิขิตเข้าสู่ 7 ตอนสุดท้าย และยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม สำหรับเดือนธันวาคมนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงฉากสำคัญ เช่น การเปรียบเทียบฉากงานแต่งงานรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูก ฉากพี่ผินพี่แย้มกล่าวถึงพุดตานว่ามีกิริยาเหมือนการะเกด เป็นต้น

อันดับที่ 3 เดบิวต์วง BUS Because of you I shine

หลังจากได้ผู้ชนะในรายการ 789 Survival ที่ค้นหาศิลปินมาร่วมในวงบอยแบนทั้งหมด 12 คน ตั้งแต่ 26 พฤษภาคม 2566 ล่าสุด เมื่อ 6 ธันวาคม 2566 ได้มีการเดบิวต์วง ชื่อ BUS Because of you I shine พร้อมกับปล่อยเพลงแรกของวง คือ Because of you I shine ที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังพบกลุ่มผู้ที่ติดตามศิลปินในวง เช่น ภีม วสุพล, ไทย ชญานนท์ ฯลฯ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 4 ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี ลุงพล หรือ นายไชย์พล วิภา จากคดีน้องชมพู่ ในสองข้อหา คือ กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร ด้วยในเวลาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา ลุงพล เป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้ประเด็นนี้ได้รับ Engagement สูงเป็นอันดับ 4

อันดับที่ 5 GMMTV STARLYMPIC 2023

GMMTV STARLYMPIC 2023 มหกรรมกีฬาและคอนเสิร์ตที่ทาง GMMTV จัดขึ้นเมื่อ 23 ธันวาคม โดยรวมศิลปินดารากว่า 100 ชีวิต แบ่งเป็น 2 ทีม เพื่อแข่งขัน 3 กีฬา คือ ฟุตซอล บาสเก็ตบอล และแบดมินตัน ซึ่งกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบนักแสดงจากช่อง GMMTV ให้ความสนใจกับมหกรรมนี้ และร่วมแบ่งปันภาพในวันงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

อันดับที่ 6 Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13

เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย Big Mountain Music Festival ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 8 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2566 โดยมีศิลปินกว่า 200 คนที่ร่วมสร้างความสนุก เนื้อหาทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งปันภาพและวิดีโอของผู้ที่เข้าร่วมงาน โดยศิลปินที่ถูกกล่าวถึงแล้วได้ Engagement สูง เช่น ระเบียบวาทศิลป์ , โจอี้ ภูวศิษฐ์ , 4EVE เป็นต้น

อันดับที่ 7 อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

น้องไนซ์ ด.ช. นิรมิต เทวาจุติ อายุ 8 ปี ที่รู้จักกันในชื่อ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต กลายเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเทพลงมาจุติเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ สามารถเชื่อมจิตได้ ทำให้มีลูกศิษย์หลายพันคน โดยเนื้อหาที่ได้รับความสนใจ คือ คำสอนที่ไม่ตรงกับหลักธรรมของพุทธศาสนา การอ้างว่าบรรลุอนาคามี การอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นต้น

อันดับที่ 8 ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12

Lazada จัดแคมเปญสุดพิเศษส่งท้ายปี 2566 กับ “12.12 เซลลดแรง! ส่งท้ายปี!” พร้อมกับศิลปินดารากว่า 40 ชีวิต เช่น เจมิไนน์ นรวิชญ์, โฟร์ท ณัฐวรรธ์, วิน เมธวิน, ไบร์ท วชิรวิชญ์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบศิลปินดาราเข้ามาสร้าง Engagement ในแคมเปญดังกล่าว

อันดับที่ 9 แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก ถูกหญิงอายุ 17 ปี กล่าวหาว่ากระทำล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยเนื้อหาที่เป็นความสนใจ คือ คำให้การของเพื่อนผู้เสียหายที่ไม่ตรงกัน ประเด็นผับเปิดให้เยาวชนอายุ 17 ปี เข้าไปใช้บริการ รวมถึงการสัมภาษณ์ เบสท์ รักษ์วนีย์ ลูกสาวของสมรักษ์ คำสิงห์ ถึงคดีดังกล่าวว่าให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

อันดับที่ 10 THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE

The Universe of Superstars งานเปิด EMSPHERE เมื่อ 1 ธันวาคม 2566 มีศิลปินดาราจำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วมงาน เช่น แอนโทเนีย โพซิ้ว, คิมมินกยู, ใหม่ ดาวิกา เป็นต้น มีผู้ที่ชื่นชอบศิลปินดาราร่วมโพสต์แบ่งปันและมีส่วนร่วมบนสื่อสังคมออนไลน์ จนสร้าง Engagement สูงติดอันดับ 10 ของประเด็นที่ได้รับความสนใจในเดือนธันวาคม 2566

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนธันวาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่าเป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง 6 ประเด็นคิดเป็น 50.95% กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น (35.04%) กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 2 ประเด็น (11.28%) และ ความเชื่อ ศาสนา 1 ประเด็น (2.73%)

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจลดลง จาก 7 ประเด็นในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 6 ประเด็น ในเดือนธันวาคม โดยส่วนใหญ่ยังคงมาจากละครพรหมลิขิต

คอนเสิร์ตภายในประเทศ และงานอีเวนต์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจสูงสุดของเดือนธันวาคม 66 ก็สอดคล้องกับวาระช่วงปลายปี คือ กลุ่มเนื้อหาเทศกาลที่ต่อเนื่องจากประเด็นวันลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายน เป็นประเด็นเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ในเดือนธันวาคม ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุมี 2 ประเด็น คือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ และ แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี สุดท้ายคือกลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ศาสนา คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต ที่มี Engagement น้อยกว่า กลุ่มเนื้อหา เทศกาล กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรมและอุบัติเหตุ ค่อนข้างมาก

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์ม

จาก 10 ประเด็น ที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2566 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 113,962,150 Engagement จาก 6 ประเด็น
คือ ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย (40,403,582 Engagement), เดบิวต์วง BUS Because of you I shine (32,465,017 Engagement), GMMTV STARLYMPIC 2023 (17,999,578 Engagement), Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13 (13,263,330 Engagement), ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12 (5,244,954 Engagement), THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE (4,585,689 Engagement)
กลุ่มเนื้อหา เทศกาล คือ เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ จำนวน 78,368,591 Engagement กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ คือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ (20,456,612 Engagement)
และ แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี (4,771,675 Engagement) กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ
ศาสนา คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต (6,102,932 Engagement)

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (63.62%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (21.79%), สื่อ สำนักข่าว (14.22%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และ ภาครัฐ รวม 0.37% โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 28.82% รองลงมาได้แก่ TikTok (27.47%), X (22.44%), Facebook (19.60%), YouTube (1.67%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (51.71%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (44.57%), แบรนด์ (2.34%) สื่อ สำนักข่าว (1.34%) อื่น ๆ ได้แก่ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.04% โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 37.12% รองลงมาได้แก่ TikTok (25.99%), X (24.31%), Facebook (11.52%), YouTube (1.06%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (59.10%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (20.64%), ผู้ใช้งานทั่วไป (20.17%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 0.09% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 46.96% รองลงมาได้แก่ TikTok (33.93%), YouTube (10.44%), X (6.19%), Instagram (2.48%)

กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ ศาสนา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (48.23%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (39.07%), ผู้ใช้งานทั่วไป (12.66%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 0.04% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 53.98% รองลงมาได้แก่ TikTok (32.32%), X (8.02%), YouTube (3.35%), Instagram (2.33%)

เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนธันวาคม 2566 Instagram เป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งแทนที่ TikTok เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในการแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอสั้น ทำให้เหมาะกับการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ที่มีการตกแต่งสถานที่ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้คนอยากแชร์หรือเก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นไว้

สำหรับกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดกลับเป็น Instagram ที่ 28.82% ตามด้วย TikTok (27.47%), X (22.44%), Facebook (19.60%), YouTube (1.67%) แตกต่างจากเดือนพฤศจิกายน 66 ที่ Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในขณะที่ ผู้สร้าง Engagement ได้สูงที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จาก 51.53% ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็น 63.62% ในเดือนธันวาคม 2566 โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแฟนคลับดารา ศิลปิน ที่แบ่งปันรูปภาพ วิดีโอ ของช่วงเวลาประทับใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Instagram และ TikTok ในสัดส่วนที่ใกล้กันมากคือ Instagram (28.82%) และ TikTok (27.47%) เช่นเดียวกับกลุ่มเนื้อหาเทศกาล คือ วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ที่ผู้สร้าง Engagement มากที่สุด ในสัดส่วน 51.71% คือ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร ในสัดส่วนที่ 37.12% และ TikTok 25.99% ส่วนกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ และความเชื่อ ศาสนา Engagement ส่วนใหญ่ จะมาจากสื่อ สำนักข่าว มากที่สุด และแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด
คือ Facebook

เปรียบเทียบผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของเดือนธันวาคม 2566 ใน 3 ประเด็นคือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ , อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต, แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ: ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ มาจาก Facebook ที่ 56.19% ตามด้วย TikTok (22.84%), YouTube (12.37%), X (5.79%) และ Instagram (2.81%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 มาจาก Facebook บัญชี อีจัน โพสต์คลิป นายชัยรัตน์ ยอด

พรม หรือ ปู่มหามุนีนำพวงหรีดมาให้กำลังใจลุงพล แต่โดนแฟนคลับลุงพลไม่พอใจจนประทะคารมกัน โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 274,307 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก Facebook บัญชี Thairath – ไทยรัฐออนไลน์ โพสต์คลิปย้อนรอยคดีน้องชมพู่ จนถึงวันตัดสินคดีลุงพล ได้รับ 247,046 Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี honekrasae_official โพสต์คลิปวิเคราะห์หลังศาลตัดสินพิพากษาคดีลุงพล จำคุก 20 ปี ได้รับ 200,374 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหา ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 13.02 ล้าน Engagement คิดเป็น 63.64% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 4.43 ล้าน Engagement คิดเป็น 21.64% ผู้ใช้งานทั่วไป 2.99 ล้าน Engagement คิดเป็น 14.61% อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 22,612 Engagement คิดเป็น 0.11% โดยส่วนใหญ่ เป็นรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิพากษาจากศาลชั้นต้น การวิเคราะห์คำพิพากษา และหลักฐานใหม่ คือ เส้นผมน้องชมพู่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ: อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นอาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต มาจาก Facebook ที่ 53.98% ตามด้วย TikTok (32.32%), X (8.01%), YouTube (3.36%) และ Instagram (2.33%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก มาจาก TikTok บัญชี amarintvhd โพสต์คลิป อาจารย์จาตุรงค์ จงอาษา ที่ตำหนิการห้ามไหว้พระด้วยดอกไม้สีเหลือง การกล่าวอ้างว่าเป็นพญานาค เป็นเทพ เป็นอนาคามี ซึ่งทั้ง 3 สิ่งอยู่คนละภพภูมิ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 211,109 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก TikTok บัญชี amarintvhd โพสต์คลิปพระพยอม กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของการตัดต่อหน้าน้องไนซ์ใส่ในภาพพระพุทธเจ้า ได้รับ 186,996

Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี pondonnews โพสต์คลิปน้องไนซ์อธิบายการเชื่อมจิต ได้รับ 167,802 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหาอาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 2.94 ล้าน Engagement คิดเป็น 48.23% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 2.38 ล้าน Engagement หรือสัดส่วน 39.07% ผู้ใช้งานทั่วไป 7.72 แสน Engagement (12.66%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ และ พรรคการเมือง รวม 2,072 Engagement คิดเป็น 0.04% โดยส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าว การสรุปข่าว และการติงน้องไนซ์ที่ไม่เผยแพร่พระธรรมตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงการอวดอ้างอิทธิฤทธิ์จากกลุ่มผู้ศรัทธาน้องไนซ์

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ: แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิง
วัย 17 ปี

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี มาจาก TikTok ที่ 81.48% ตามด้วย X (7.94%), Facebook (7.36%), YouTube (2.16%) และ Instagram (1.06%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก มาจาก TikTok บัญชี gurion99 โพสต์คลิปสัมภาษณ์ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่กล่าวว่าได้กำลังใจจากลูก และหลังจากจบเรื่องนี้จะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 344,418 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก TikTok บัญชี gurion99 โพสต์คลิป สัมภาษณ์ เบสท์ รักษ์วนีย์ ลูกสาวสมรักษ์ คำสิงห์ กล่าวถึงการบอกเลิกแพทริค แฟนหนุ่ม และติดแฮชแท็คสมรักษ์ คำสิงห์ ได้รับ 265,657

Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี onenews31 โพสต์ข่าวเพื่อนของหญิงวัย 17 ปี ยืนยันว่า สาววัย 17 ไม่กลับโต๊ะและไปกับสมรักษ์เอง ได้รับ 261,742 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหาแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี พบว่า เป็นผู้ใช้งานทั่วไป 2.09 ล้าน Engagement คิดเป็น 44.00% รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว 1.89 ล้าน Engagement คิดเป็น 39.65% ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 7.80 แสน Engagement คิดเป็น 16.35% โดยส่วนใหญ่ เป็นการโพสต์เกี่ยวกับข่าวการแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ การสัมภาษณ์สมรักษ์ คำสิงห์, เบสท์ รักษ์วนีย์ และการอัพเดทข้อมูลเกี่ยวข้องต่างๆ เช่น เพื่อนสาว 17 ยืนยันว่าสาว 17 ปี ไม่กลับโต๊ะและอยากไปกับสมรักษ์เอง ภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น

การสื่อสารออนไลน์ในเดือนธันวาคม 2566 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจที่สุดยังคงเป็น กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีสัดส่วน Engagement โดยรวมที่ 50.95% ตามด้วยกลุ่มเนื้อหาเทศกาล (35.04%) กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ (11.28%) และ กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ ศาสนา (2.73%) จะเห็นได้ว่า กลุ่มเนื้อหาเทศกาล และกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีสัดส่วนรวมกันถึง 85.99% สอดคล้องกับการวิเคราะห์ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่สรุปว่าประเด็นที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูงมักเป็นประเด็นที่เป็นความสุข
ความบันเทิง ในเทศกาลต่าง ๆ และประเด็นที่เป็นความชื่นชอบในบุคคล/สื่อ/กิจกรรมทางบันเทิง

 Instagram และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากรูปแบบที่เน้นการแบ่งปันวิดีโอ
และภาพ

จากผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่าย แต่ผลการศึกษาในเดือนธันวาคม 2566 กลับพบว่า นอกจาก TikTok แล้ว Instagram ก็เป็นอีก
1 แพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล อย่างช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ และกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่สัดส่วนระหว่าง Instagram กับ TikTok มีความใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มเนื้อหาเทศกาล Instagram มีสัดส่วนที่ 37.12% ส่วน TikTok ที่ 25.99% ส่วนกลุ่มเนื้อหาสื่อสิ่งบันเทิงมีสัดส่วน Instagram ที่ 28.82% และ TikTok ที่ 27.42% ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มอาจมีส่วนสำคัญในการสื่อสารในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มักจะแบ่งปันภาพหรือวิดีโอจากสถานที่ที่ตกแต่งในวาระเทศกาลผ่านช่องทาง Instagram หรือ TikTok มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ผู้สื่อสารในกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาได้เป็นอันดับ 3 แทนที่ สื่อ สำนักข่าว โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากข้อมูล/ภาพการตกแต่งสถานที่ในเทศกาลวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ไอคอนสยาม สยามพารากอน การจัดโปรโมชันหรือส่วนลดของแบรนด์ต่างๆ ในเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี สะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาที่สอดคล้องกับความรู้สึกและอารมณ์ร่วมในวาระเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี ผ่านทางแพลตฟอร์มที่สื่อสารภาพหรือวิดีโอ สร้างความสนใจได้สูง จนทำให้ผู้สื่อสารในกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาได้เป็นอันดับ 3