“ตอนนี้ผมอายุ 50ปีแล้ว พึ่งไปผ่าตัดมะเร็งมา เชื่อว่าน่าจะอีกไม่กิน 10 ปี ตัวเองก็น่าจะตายแล้ว แต่สารคดีชุดนี้น่าจะยังอยู่ อาจจะอยู่ได้อีกเป็นร้อยปี ตราบใดที่มีอินเทอร์เน็ตอยู่ อย่างน้อยก็อยากให้ผู้ชมได้ซึมซับและอยากไปต่อยอดหาความรู้เพิ่ม ได้รู้ความจริงแล้วไปสื่อสาร ไปคุยกันต่ออย่างถูกต้อง”
ธันวา เสียงหวาน หัวหน้าโครงการและควบคุมการผลิตสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชุด “ฉันจะไปอนุสาวรีย์” บอกเล่าถึงความตั้งใจในการทำสารคดีชุดนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว เกร็ดน่ารู้ และแง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ในไทย ทั้ง 52 แห่ง รวมทั้งหมด 52 ตอน เหมือนให้คนรุ่นใหม่ได้ท่องเที่ยวและย้อนอดีตไปเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ทั่วไทยได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น
“ผมให้น้องในทีมไปถ่าย อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่ประดิษฐานอยู่ตรงสะพานพุทธ แล้วน้องก็แคปเจอร์ภาพส่งมาให้ดูว่าใช่ไหมครับ ก็ตกใจว่าน้องเขาอายุ 35 แล้ว น้องไม่รู้จักรัชกาลที่ 1 เหรอ นี่แหละแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากทำให้ อย่างน้อย ๆ หนึ่งในทีมงานได้รู้ว่าอนุสาวรีย์ตรงนี้คืออะไร ขนาดทีมงานเรายังไม่รู้จักเลย แล้วคนที่เหลือละ อาจจะเป็นเพราะว่าปัจจุบันคนเลือกเสพสื่อเฉพาะที่อยากฟัง จะดูเฉพาะที่อยากดู แต่ความจริงไม่อยากฟัง”
โดยสารคดีชุดนี้ พาไปเที่ยวชมความหลากหลายของเรื่องราวและเกร็ดน่ารู้ของอนุสาวรีย์ต่าง ๆ แบบสบาย ดูง่าย ดูสนุก ได้สาระความรู้ ทั้งอนุสาวรีย์ของบูรพกษัตริย์ไทย อย่างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่หน้าพระราชวังสราญรมย์ นอกจากทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทยผู้ยิ่งใหญ่แล้ว พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถด้านการต่างประเทศด้วย หรืออนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีอนุสาวรีย์พระองค์ท่านอยู่ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สารคดีชุดนี้ได้เสนอแง่มุมพระมหากษัตริย์
นักอักษรศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของไทย หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จย่า ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และยังมีอนุสาวรีย์บุคคลที่มีชื่อเสียงและสร้างคุโณปการให้กับประเทศไทยในแต่ละด้านอีกมากมาย
ทั้งอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปูชนียบุคคลด้านศิลปะ อนุสาวรีย์ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแห่งวงการเพลงไทย อนุสาวรีย์โผน กิ่งเพชร แชมป์มวยสากลคนแรกของไทย ที่หัวหิน
“แต่ละตอน เราพยายามนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ เช่น พระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงสนามหลวง ที่หลายคนคิดว่าสร้างเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ แท้ที่จริงแล้วมันคือก๊อกน้ำ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ที่มีการทำน้ำประปา เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำสะอาดใช้ หรืออนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ที่บริเวณหัวลำโพง ก็คือก๊อกน้ำเช่นกัน”
ธันวา เล่าถึงความทุ่มเทของทีมงานที่พยายามค้นหาข้อมูลอนุสาวรีย์ทั้งบุคคล สถานที่ เรื่องราว และแง่มุมต่าง ๆ ที่คนอาจจะยังไม่รู้ และจุดประกายให้ไปหาข้อมูลที่ลึกขึ้น
“ส่วนตัวเราชอบตอน จิตร ภูมิศักดิ์ ชอบมาก ๆ ชอบตรง “เขาตายในชายป่าเลือดแดงทาดินเข็ญ” นี่คือ คอมเมนต์แรกเลยจากผู้ชม ถ้าเราไม่ได้ไปสืบค้นและดูอนุสาวรีย์ของท่าน ก็ไม่มีทางรู้เลยว่า ท่อนหินที่สร้างเป็นที่นั่งทั้ง 3 แท่ง มีนัยยะสำคัญอะไร หินชิ้นหนึ่งชี้ไปต้นมะพร้าวเป็นจุดที่เขาโดนจับได้ หินก้อนที่สองชี้ไปยังจุดที่ถูกยิง ชิ้นที่สามชี้ไปยังจุดที่เขาเสียชีวิต อยากให้ผู้ชมชมแล้วอยากรู้ต่อ อยากไปศึกษาต่อ และเมื่อได้รู้เรื่องจริงแล้ว เขาจะนำข้อมูลที่ถูกต้องไปสื่อสารต่อกับคนอื่น”
สารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ชุด “ฉันจะไปอนุสาวรีย์” ทั้ง 52 ตอน ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2564 นำเสนอผ่านช่องยูทูบ “ฉันจะไปอนุสาวรีย์ Will Go To Monument” มียอดรับชมจำนวนมาก แต่ยังอยากให้คนไทยได้ดูกันทุกคน
“อยากให้เข้ามาดูสารคดีชุดนี้กัน ถ้าดูแล้วจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ดูแล้วจะได้เข้าใจ ไม่มีใครหรอกที่ตายไปแล้วคนแช่งแล้วจะมาทำอนุสาวรีย์ให้ คนที่ตายไปแล้วเขาทำอนุสาวรีย์ให้คือคนดีทั้งนั้น ดูเถอะจะได้รู้ความจริง ไม่ต้องมาถกเถียงกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม”
ธันวาทิ้งท้ายไว้อย่างภูมิใจกับผลงานสารคดีชุดนี้ของเขา ที่อยากให้ทุกคนได้ไปอนุสาวรีย์ เช่นเดียวกับคนที่ได้ชมสารคดีชุด ”ฉันจะไปอนุสาวรีย์” มาแล้ว
ความเห็นล่าสุด