ตุลาคม 66 ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย
และ TikTok กลับมาเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมอีกครั้ง
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนตุลาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ การยิงใส่ฝูงชนในห้างสยามพารากอน หรือกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้กลับของอิสราเอล เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในเดือนตุลาคม 2566 คือ
1. กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ |
2. กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต |
3. เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน |
4. กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล |
5. งานแถลงข่าวเปิดตัวคอนเทนต์ของ GMMTV ในปี 2024 UP & ABOVE PART 1 |
6. กระแสภาพยนตร์เรื่องธี่หยด |
7. BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK |
8. The Grand Concert Engfa Live in Vietnam |
9. ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’ |
10. อิงฟ้า-ชาล็อตร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova |
จาก 10 อันดับข้างต้น เมื่อจำแนกตามกลุ่มเนื้อหา พบว่า
สื่อ สิ่งบันเทิง เป็นกลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจสูงสุด คิดเป็น 72.18% ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่ กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ, กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต, งานแถลงข่าวเปิดตัวคอนเทนต์ของ GMMTV ในปี 2024 UP & ABOVE PART 1, กระแสภาพยนตร์เรื่องธี่หยด, BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK, The Grand Concert Engfa Live in Vietnam, ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’ และ อิงฟ้า–ชาล็อตร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova โดยรวม
อาชญากรรม คือ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในห้างสยามพารากอน (15.88%)
การเมืองระหว่างประเทศ คือ กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้กลับของอิสราเอล (11.94%)
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนตุลาคม 2566
อันดับที่ 1 กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ
สัปเหร่อเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 6 ของจักรวาลไทบ้าน ภายหลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉายก็กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยเนื้อหาที่ตีแผ่วิถีชีวิตของคนอีสานผ่านความสยองขวัญ และสื่อสารออกมาได้ครบรส ทั้งตลก ซึ้ง เศร้า และน่ากลัว ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้มากถึง 700 ล้านบาท โดยกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่จะมาจากโพสต์โปรโมทภาพยนตร์จากผู้กำกับคือ ต้องเต ธิติ ศรีนวล ตามด้วยโพสต์ของเหล่านักแสดงและโรงภาพยนตร์ที่ฉาย
อันดับที่ 2 กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต
พรหมลิขิตเป็นละครย้อนยุคและภาคต่อของบุพเพสันนิวาสที่ประสบความสำเร็จจนสร้างกระแสในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อ 6 ปีก่อน ทั้งกระแสการแต่งกายชุดไทย หรือการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตามรอยประวัติศาสตร์ อีกทั้งพรหมลิขิตยังใช้นักแสดงชุดเดิมจากบุพเพสันนิวาส ทำให้แฟนละครต่างเฝ้ารอ จนสร้างกระแสความนิยมตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ โดยส่วนใหญ่มาจากการกล่าวถึงการแสดงหลายบทบาทของ โป๊ป ธนวรรธน์, เบลล่า ราณี แคมเปน รวมถึงตัวละครอย่าง การะเกด พ่อเดช พ่อเดื่อหรือพระเจ้าเสือ และพุดตาน เป็นต้น
อันดับที่ 3 เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน
เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอนสร้างความตระหนกและสะเทือนใจให้กับสังคมไทย เนื่องจากเกิดเหตุในห้างใหญ่กลางกรุงเทพฯ ด้วยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุเพียง 14 ปี ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในประเด็นนี้ ทั้งในแง่การตั้งคำถามต่อการจัดการของภาครัฐและเอกชนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงฉับพลันเช่นนี้ การตั้งข้อสงสัยถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุของเยาวชนคนนี้ และการแสดงความเสียใจต่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้
อันดับที่ 4 กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล
06.30 น.วันที่ 7 ตุลาคม 66 กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลอย่างฉับพลันรุนแรง และไม่มีใครคาดคิด ด้วยการยิงจรวดและบุกประชิดตัว สังหารผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกว่าเป็นคนอิสราเอลหรือคนชาติใด รวมถึงคนไทยที่เป็นแรงงานภาคการเกษตรก็ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ถูกจับตัวไป ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานจำนวนคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บ 13 คน เสียชีวิต 20 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 14 คน ดังนั้นเนื้อหาที่ได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์ คือ การรายงานสถานการณ์ของ ผู้ถูกจับตัวไป ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต การเปิดเผยสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในอิสราเอล การอพยพแรงงานไทยกลับประเทศไทย
อันดับที่ 5 งานแถลงข่าวเปิดตัวคอนเทนต์ของ GMMTV ในปี 2024 UP & ABOVE PART 1
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 GMMTV ได้จัดงานแถลงข่าว “GMMTV 2024 UP & ABOVE PART 1” เปิดตัวคอนเทนต์ส่วนแรกประจำปี 2024 พร้อมนักแสดงและศิลปินกว่า 100 คน ที่เข้าร่วมในงานปีนี้ โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่เข้ามาสร้าง Engagement ในช่องทาง official account ของดารานักแสดง เช่น โอม ภวัต จิตต์สว่างดี, นนน กรภัทร เกิดพันธุ์ เป็นต้น
อันดับที่ 6 กระแสภาพยนตร์เรื่องธี่หยด
ธี่หยด ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของเสียงปริศนา โดยมีจุดเริ่มต้นจากกระทู้เรื่องเล่าเขย่าขวัญบน Pantip ที่สร้างเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจนต่อยอดเป็นหนังสือ และถูกหยิบไปเล่าทางช่อง YouTube ของ The Ghost Radio จนเป็นภาพยนตร์ผีที่ถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์ จากการรีวิวในแง่บวกจากผู้ชม ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเป็นภาพยนตร์ผีเรื่องแรกของไทยที่ฉายบนจอ IMAX ส่งผลให้ธี่หยดประสบความสำเร็จจากรายได้ 400 ล้านบาท ในเวลาเพียง 10 วัน
อันดับที่ 7 BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK
หลังจาก แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ประกาศจัดคอนเสิร์ต BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK ในวันที่ 28 -29 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ตลอดทั้งเดือนตุลาคม มีการกล่าวถึงคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งจากกลุ่มแฟนคลับ และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้ชมคอนเสิร์ตผ่านการแชร์ภาพหรือคลิปที่บันทึกขณะชมคอนเสิร์ต ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มแฟนคลับ
อันดับที่ 8 The Grand Concert Engfa Live in Vietnam
อิงฟ้า วราหะ เดินทางไปประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมงาน The Grand Concert Engfa Live in Vietnam พร้อมแขกรับเชิญสุดพิเศษอย่างชาล็อต ออสติน และ สแน็ก อัจฉรีย์ ศรีสุข โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากช่องทางหลักของอิงฟ้า ชาล็อต และ สแน็ก ที่โพสต์รูปภาพและวิดีโอ ทำให้กลุ่มแฟนคลับเข้ามาแสดงความยินดี ชื่นชม ในการแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศเวียดนามครั้งนี้
อันดับที่ 9 ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’
ซี พฤกษ์ พานิช และ นุนิว ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ นักแสดงคู่จิ้นจากละครเรื่อง Cutie Pie Series – นิ่งเฮียก็ว่าซื่อ ได้แสดงคอนเสิร์ตคู่กันครั้งแรกใน ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’ โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากช่องทางหลักของ ซี พฤกษ์ และ นุนิว ชวรินทร์ รวมถึงกลุ่มแฟนคลับที่โพสต์ภาพจากงานคอนเสิร์ตดังกล่าว
อันดับที่ 10 อิงฟ้า-ชาล็อตร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova
อิงฟ้า วราหะ และ ชาล็อต ออสติน ร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova ภายใต้แฮชแท็ก #Englotx AELOVA จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในช่องทาง X และสามารถสร้างยอดขายได้นับล้านบาทในช่องทาง TikTok Shop นอกจากนี้ พบฉากการแสดงความรักระหว่าง อิงฟ้าและชาล็อต ถูกส่งต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จนสร้าง Engagement เป็นจำนวนมาก
โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนตุลาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจสูงสุดที่ 72.18% ตามด้วยกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม (15.88%) และกลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ (11.94%)
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 66 ที่ความสนใจมีความหลากหลายถึง 5 กลุ่มเนื้อหาคือ กลุ่มอาชญากรรม (33.63%) สื่อ สิ่งบันเทิง (26.3%) เทคโนโลยี (22.77%) กีฬา (13.63%) และการเมือง (3.94) จะเห็นได้ว่าความสนใจในกลุ่มประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิงเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จาก 26.3% ในเดือนก.ย. เป็น 72.18% ในเดือน ต.ค. อาจเป็นเพราะในเดือนตุลาคมมีภาพยนตร์และละครหลายเรื่องที่สามารถสร้างกระแสการกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ สัปเหร่อ ธี่หยด และพรหมลิขิต อีกทั้ง มีการจัดคอนเสิร์ตภายในประเทศหรือต่างประเทศอย่างหลากหลาย เหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้กระแสสื่อสังคมออนไลน์หันเหไปยังกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิงมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในเดือนต.ค. 66 มีเหตุการณ์รุนแรง ที่เกิดขึ้นฉับพลันทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ คือ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน ห้างกลางกรุงเทพฯ และเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก
กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์ม
จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2566 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่มเนื้อหา คือ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 208,240,319 Engagement จาก 8 ประเด็น คือ กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ, กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต, งานแถลงข่าวเปิดตัวคอนเทนต์ ของ GMMTV ในปี 2024 UP & ABOVE PART 1, กระแสภาพยนตร์เรื่องธี่หยด, BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK, The Grand Concert Engfa Live in Vietnam, ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’ และอิงฟ้า-ชาล็อตร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม คือ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน จำนวน 45,818,251 Engagement และ กลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ คือ กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล จำนวน 34,454,461 Engagement
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (46.88%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (37.82%), สื่อ สำนักข่าว (14.86%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ และพรรคการเมืองรวม 0.44% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 41.91% รองลงมาได้แก่ Facebook (25.4%), X (17.24%), Instagram (14.29%), YouTube (1.16%)
กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (57.32%) รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (23.72%), ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (18.89%) อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง ภาครัฐ แบรนด์และนักการเมืองรวม 0.07% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 49.09% รองลงมาได้แก่ X (28.45%), Facebook (16.67%), Instagram (4.31%), YouTube (1.48%)
กลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (63.65%), รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (20.61%), ผู้ใช้งานทั่วไป (15.58%) อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง ภาครัฐ แบรนด์และนักการเมืองรวม 0.16% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 41.71% รองลงมาได้แก่ TikTok (32.71%), X (11.70%), YouTube (9.26%), Instagram (4.62%)
แม้แต่ละกลุ่มเนื้อหาจะมีสัดส่วน Engagement ของผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์มการสื่อสารที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาในแง่แพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนตุลาคม 2566 TikTok ขยับขึ้นเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทนที่ Facebook โดยมีสัดส่วน Engagement ที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ TikTok 41.95%, Facebook 25.96% สาเหตุที่ TikTok ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มีผู้ทำการสื่อสารมากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ด้วยการโพสต์ภาพหรือวิดีโอสั้นเป็นหลัก สาเหตุอาจมาจาก TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่ชมวิดีโอประมาณ 1 นาทีก็สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้ นอกจากนั้นยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้จำนวนมาก อาจด้วยรับรู้ได้ง่ายไม่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเนื้อหามากนัก
เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของเดือนตุลาคม กับเดือนกันยายน ในปีเดียวกัน คือ 2566 พบความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา แพลตฟอร์ม และผู้สื่อสาร กล่าวคือ เดือนกันยายน Facebook เป็นอันดับ 1 ที่ 34.37% ตามด้วย TikTok 32.08% ขณะที่ความสนใจมีต่อประเด็นที่หลากหลายถึง 5 กลุ่มเนื้อหาคือ กลุ่มอาชญากรรม (33.63%) สื่อ สิ่งบันเทิง (26.3%) เทคโนโลยี (22.77%) กีฬา (13.63%) และการเมือง (3.94) โดยในภาพรวม มีสื่อ สำนักข่าวเป็นกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด (35.87%) รองลงมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (32.46%) ผู้ใช้งานทั่วไป (29.55%) และ และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง ภาครัฐ รวม 2.12%
จากการศึกษา พบว่า สัดส่วนของกลุ่มเนื้อหาและกลุ่มผู้สื่อสารที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อสัดส่วนของแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงในแต่ละเดือน กล่าวคือ เดือนกันยายน 66 มีสัดส่วนของเนื้อหากลุ่มอาชญากรรมสูงสุด และมี สื่อ สำนักข่าวเป็นกลุ่มผู้สื่อสารสูงสุด ซึ่งกลุ่มดังกล่าว นิยมรายงานข่าวเนื้อหากลุ่มอาชญากรรม ผ่าน Facebook เป็นหลัก ทำให้เดือนกันยายน 66 มีสัดส่วนของ Facebook สูงเป็นอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม Facebook และ TikTok มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สอดคล้องกับสัดส่วนของกลุ่มเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย ขณะที่เดือนตุลาคม 66 ผู้ใช้งานทั่วไปนิยมใช้ TikTok นำเสนอวีดีโอเนื้อหากลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิง ทำให้ TikTok มีสัดส่วนสร้าง Engagement สูงสุด และสูงกว่า Facebook เกือบเท่าตัว เนื่องจากสัดส่วนของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีจำนวนถึง 72.18% และผู้สื่อสารหลัก คือ ผู้ใช้งานทั่วไปที่มีสัดส่วนมากถึง 44.8%
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอันดับที่ 1 : กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ
Engagement ส่วนใหญ่ต่อภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อมาจาก TikTok ที่ 49.30% ตามด้วย Facebook (40.88%), Instagram (6.47%), X (2.16%) และ YouTube (1.19%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากผู้ใช้งาน TikTok บัญชี Tongte_thiti ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ เนื้อหาของคลิปเป็นการขอบคุณทีมงาน นักแสดงสัปเหร่อ ที่ร่วมงานกันตลอดช่วงเวลาถ่ายทำ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 1,921,696 Engagement อันดับที่ 2 มาจากบัญชี thibaan_official ซึ่งโพสต์คลิปบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ได้รับ 1,226,750 Engagement อันดับที่ 3 มาจากบัญชี kongbell8888 ที่โพสต์คลิปตนเองทานข้าวกับ ต้องเต ธิติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อได้รับ 1,202,712 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ พบว่า เป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากถึง 49.1 ล้าน Engagement คิดเป็น 66.30% รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป 14.6 ล้าน Engagement คิดเป็น 19.72%, สื่อ สำนักข่าว 10.2 ล้าน Engagement คิดเป็น 13.78%, และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 149,128 Engagement คิดเป็น 0.2% โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นโพสต์โปรโมตภาพยนตร์ เบื้องหลังการถ่ายทำ และการแสดงความยินดีกับภาพยนตร์ที่สามารถทำรายได้มากถึง 700 ล้านบาท
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอันดับที่ 2 : กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต
Engagement ส่วนใหญ่มาจาก TikTok ที่ 63.34% ตามด้วย Facebook (23.63%), Instagram (8.61%),
X (2.98%) และ YouTube (1.44%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี TikTok kittingninetisud นำเนื้อหาละครมาทำเป็นมีม (meme) ในฉากการสนทนาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระเจ้าเสือ ที่กระเซ้าเย้าแหย่พระเพทราชาให้ทรงพิโรธ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 576,301 Engagement อันดับที่ 2 มาจากบัญชี ppopenbelle โพสต์การให้สัมภาษณ์ของโป๊ป ธนวรรธ์ และ เบลล่า ราณี นักแสดงนำจากละครเรื่องพรหมลิขิต ในรายการ Today Show ได้รับ 508,828 Engagement อันดับที่ 3 มาจากบัญชี lihuiling145 โพสต์คลิปตัดต่อใส่เพลงใหม่ในฉากพระเพทราชาตำหนิพระเจ้าเสือในเรื่องความเจ้าชู้ ได้รับ 420,787 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับละครพรหมลิขิต พบว่า เป็นผู้ใช้งานทั่วไป 42.4 ล้าน Engagement คิดเป็น 65.02% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 13.4 ล้าน Engagement คิดเป็น 20.52% สื่อ สำนักข่าว 9.4 ล้าน Engagement คิดเป็น 14.42% อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง ภาครัฐ รวม 26,259 คิดเป็น 0.04% โดยส่วนใหญ่เป็นการทำคลิปจากฉากที่ชื่นชอบมาโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบฉากนั้นเข้ามาสร้าง Engagement จำนวนมาก
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอันดับที่ 3 : เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน
Engagement ส่วนใหญ่มาจาก TikTok ที่ 49.09% ตามด้วย X (28.45%), Facebook (16.67%), Instagram (4.31%) และ YouTube (1.48%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี bookscookbook โพสต์คลิปตำหนิการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในไทยว่าทำได้ล่าช้าและไม่ดี โดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่พบในต่างประเทศ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 536,800 Engagement อันดับที่ 2 มาจากบัญชี seyathongchua โพสต์คลิปตนเองขณะอยู่ในเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน ได้รับ 520,705 Engagement อันดับที่ 3 บัญชี onenew31 โพสต์นาทีการเข้าจับกุมเยาวชนผู้ก่อเหตุยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน ได้รับ 486,740 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน พบว่า เป็นผู้ใช้งานทั่วไป 26.3 ล้าน Engagement คิดเป็น 57.32% รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว 10.9 ล้าน Engagement คิดเป็น 23.72% ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 8.7 ล้าน Engagement คิดเป็น 18.89% และ อื่น ๆ ได้แก่ ภาครัฐ พรรคการเมือง แบรนด์ นักการเมือง รวม 30,609 Engagement คิดเป็น 0.07% โดยส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์โดยการเสนอคลิปข่าวการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอันดับที่ 4 : กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล
Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Facebook ที่ 41.71% ตามด้วย TikTok (32.71%), X (11.7%), YouTube (9.26%), และ Instagram (4.62%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี ejan2016 เนื้อหาเป็นการแชร์คลิปคนไทยในอิสราเอลที่อยู่ในพื้นที่สีแดง เล่าสถานการณ์การโจมตีของกลุ่มฮามาส และ
ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยการมีส่วนร่วมในโพสต์ดังกล่าวมี จำนวน 514,747 Engagement อันดับที่ 2
จากบัญชี Khaosod – ข่าวสด โพสต์ข่าวกลุ่มฮามาสนำร่างสตรีชาวเยอรมันที่เสียชีวิตแห่ไปรอบเมือง เนื่องจากคิดว่าเป็นทหารอิสราเอล ได้รับ 266,718 Engagement อันดับที่ 3 จากบัญชี onenews31 โพสต์ข่าวฮามาสพร้อมเจรจาสงบศึก หลังอิสราเอลรุกหนัก ได้รับ 201,197 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 21.9 ล้าน Engagement คิดเป็น 63.65% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพล
ทางสื่อสังคมออนไลน์ 7.1 ล้าน Engagement คิดเป็น 20.61% ผู้ใช้งานทั่วไป 5.4 ล้าน Engagement คิดเป็น 15.58% และอื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง แบรนด์ ภาครัฐ รวม 55,972 Engagement คิดเป็น 0.16% โดยส่วนใหญ่เป็นการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การสัมภาษณ์แรงงานไทยในอิสราเอล โดย สื่อ สำนักข่าว และผู้มีอิทธิพล
ในสื่อสังคมออนไลน์
กล่าวโดยสรุปในเดือนตุลาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจสื่อสารในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงมากที่สุด เมื่อวัดจาก Engagement โดยใน 10 อันดับความสนใจ เป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ถึง 8 ประเด็น
ได้แก่ กระแสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ, กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต, งานแถลงข่าวเปิดตัวคอนเทนต์ของ GMMTV ในปี 2024 UP & ABOVE PART 1, กระแสภาพยนตร์เรื่องธี่หยด, BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK, The Grand Concert Engfa Live in Vietnam, ZeeNuNew 1st Concert ‘Another Life’ และ
อิงฟ้า ชาล็อตร่วมไลฟ์กับแบรนด์ Aelova อีก 2 อันดับเป็น กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม คือ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน
ในสยามพารากอน และ กลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ ประเด็น กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้กลับของอิสราเอล
การสื่อสารกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ใน 4 ประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด พบว่า
1) ภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ และ ธี่หยด โดยผู้สื่อสารที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุดคือ
ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป สื่อ สำนักข่าว แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ TikTok ตามด้วย Facebook, Instagram, X และ YouTube สาเหตุที่ TikTok ได้รับความนิยมมาจากรูปแบบของแพลตฟอร์มเป็นวิดีโอสั้น สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย แต่เมื่อเจาะลึกถึงรูปแบบวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจะเห็นถึงความแตกต่างกันคือ ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อจะมาจากโพสต์ของ ต้องเต ธิติ
ที่ขอบคุณแฟนคลับที่ช่วยให้สัปเหร่อประสบความสำเร็จ ส่วนภาพยนตร์เรื่องธี่หยดจะมาจากรีวิวภาพยนตร์ของบุคคลทั่วไปและผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์
2) ละครโทรทัศน์ ได้แก่ ละครเรื่องพรหมลิขิต โดยผู้สื่อสารที่ที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุดเป็น ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และ สื่อ สำนักข่าว ขณะที่แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมยังคงเป็น TikTok ตามด้วย Facebook, Instagram, X และ YouTube เช่นเดียวกับภาพยนตร์ โดยวิดิโอที่ได้รับความนิยมสูงมาจากการตัดฉากละครทำเป็นมีม (meme) โดยเฉพาะฉากการสนทนาระหว่างพระเพทราชาและพระเจ้าเสือที่ถูกนำมาทำเป็นมีมหลายครั้ง รวมถึงตัวละครอื่น ๆ เช่น การะเกด พ่อเดช จ้อย พุดตาน เป็นต้น
3) งานโปรโมตสินค้าและคอนเทนต์ ผู้สื่อสารที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป จากกลุ่ม
ของแฟนคลับดารานักแสดงที่ร่วมโปรโมทสินค้าและคอนเทนต์ ตามด้วยสื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Instagram ตามด้วย X, TikTok, YouTube และ Facebook สาเหตุอาจเพราะ Instagram และ X เป็นช่องทางหลักที่ดารา นักแสดงวัยรุ่นเลือกใช้สื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับ
4) คอนเสิร์ต ผู้สื่อสารที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อสำนักข่าว แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ X ตามด้วย TikTok, Instagram, Facebook และ YouTube โดยสาเหตุที่ X ขึ้นเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดเพราะกลุ่มแฟนคลับผู้ชื่นชอบดารา
นักร้องใช้ X เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร ส่วน TikTok และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการโพสต์
ภาพ วิดีโอสั้น มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นและยังเป็นช่องทางหลักของดารานักแสดงที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้ชม
สำหรับการสื่อสารในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และการเมืองระหว่างประเทศ พบว่า
1) กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม – เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน ผู้สื่อสารที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ตามด้วยสื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง ภาครัฐ แบรนด์ นักการเมือง แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ TikTok ตามด้วย X, Facebook, Instagram และ YouTube สาเหตุอาจเพราะ ผู้ใช้งานทั่วไปมักแชร์คลิปเหตุการณ์ รายงานสถานการณ์และการวิเคราะห์เหตุการณ์ผ่านทางช่องทาง TikTok ส่วน X ที่เป็นอันดับ 2 มาจากการแชร์ข่าวและอัพเดตสถานการณ์ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ
2) กลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ – เหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้กลับของอิสราเอล ผู้สื่อสารที่สนใจสื่อสารในประเด็นนี้มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ใช้งานทั่วไป อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง แบรนด์ ภาครัฐ แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Facebook ตามด้วย TikTok, X, YouTube และ Instagram สาเหตุมาจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จะติดตามสถานการณ์ผ่านทางช่องทางของสื่อสำนักข่าว ซึ่งสอดคล้องกับแพลตฟอร์ม Facebook ที่เป็นช่องทางหลักของสื่อ สำนักข่าวต่าง ๆ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนตุลาคม 2566 คือ
แม้ว่าในเดือนนี้มีเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นฉับพลันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน
ในสยามพารากอน และเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล แต่ทั้ง 2 เหตุการณ์
แม้สร้าง Engagement เป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสนใจกลับลดลง และในท้ายที่สุด เมื่อรวม Engagement ทั้งหมด พบว่า กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม (เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน) กลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ (เหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้กลับของอิสราเอล)
ได้รับความสนใจน้อยกว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง อาจเนื่องจากช่วงวัยของคนกลุ่มใหญ่ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และความชอบ ความสนใจ ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ไม่สนใจ ไม่ติดตาม หรือให้เวลามากกับเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง หดหู่ สะเทือนใจ ทั้งอาจรู้สึกว่าไกลตัว ขณะที่ประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิง มีเนื้อหาสนุกสนานเร้าอารมณ์ และผ่านการดัดแปลงเพื่อสานต่อความบันเทิงไปอีกระดับ รวมถึงมีการสร้างกระแสจากผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่า อะไรคือเหตุปัจจัย ที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ สนใจกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มากกว่าเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง ความสูญเสียของสังคม และมนุษยชาติ อาจเป็นเหตุจากความสนใจของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือเป็นเหตุจากรูปแบบและการจัดกระทำการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ แม้ว่าสิทธิในการเลือกรับเนื้อหา และ การสื่อสาร จะเป็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ถ้าการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์
เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในสังคม เป็นสิ่งสะท้อนการสื่อสารของสังคม โจทย์นี้ก็ควรเป็นที่สนใจของสังคม
เช่นกัน
ความเห็นล่าสุด