เลือกหน้า

วันสงกรานต์ได้รับความสนใจสูงสุด จากผลสำรวจการสื่อสารออนไลน์ใน 4 เดือนแรกของปี 67 (มกราคม – เมษายน) ขณะที่การเมืองไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement จากกลุ่มเนื้อหาเทศกาลมากที่สุด ส่วนคนทั่วไปให้ความสนใจเรื่องบันเทิงมากที่สุด ด้าน TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม

ขณะที่ประเพณีสงกรานต์ 2567 ซึ่งอยู่ใน กลุ่มเนื้อหาเทศกาลและวันสำคัญ ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 1 ในโซเชียลมีเดีย ด้วยสัดส่วนยอด Engagement ที่ 26.87% กลับพบว่า เนื้อหาทางการเมืองไม่ติดใน 10 อันดับความสนใจของเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 (พบเรื่องการเมืองเพียง 1 ประเด็นในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) แตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่เนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน 2566 จากกระแสการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยประเด็นวันสงกรานต์ในปีที่แล้ว ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายนและในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566

เหตุที่กระแสวันสงกรานต์ 2567 กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจและสื่อสารสร้าง Engagement มากที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี อาจเป็นเพราะช่วงปลายปี 2566 UNESCO ประกาศให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ด้านรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ขานรับยกระดับให้วันสงกรานต์ เป็น Mega Event สอดรับกับนโยบาย Soft Power โดยมีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ช่วยสื่อสารสร้าง Engagement จากกลุ่มเนื้อหาเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา เช่น สงกรานต์ หลานม่า ลาบูบู้ ป้าบัวผัน เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement จนพบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567  ดังนี้

อันดับที่ 1 ประเพณีสงกรานต์ 2567

          ประพณีสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นเทศกาลสำคัญสำหรับคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทย ที่มีความเคารพผู้ใหญ่ มีการละเล่นสาดน้ำสนุกสนาน ในแง่ของสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า Engagement จำนวนมากมาจากดารานักแสดงที่โพสต์ร่วมประเพณีสงกรานต์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เจแปน ภานุพรรณ น้องนุช      ประทุมทอง และ วันเดอร์เฟรม เป็นต้น รองลงมาเป็นการกล่าวถึงกับเทศกาลสงกรานต์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในแง่ความสนุกสนาน รวมถึงเพลงที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงสงกรานต์โดยเฉพาะ เมร่อน ร้องโดย เอแคลร์ JUEPAK ft จ๊ะ นงผณี X GUNNER  โดยทั้งหมด ทำให้วันสงกรานต์กลายเป็นประเด็นที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สื่อสารและสร้าง Engagement มากที่สุดทั้งในเดือนเมษายน 2567 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 ต่างจากผลการสำรวจในเดือนเมษายน ปี 2566 ที่พบว่า ประเด็นที่สามารถสร้าง Engagement คือประเด็น การปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อหาการเมือง โดยประเพณีสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก

อันดับที่ 2 วง BUS ในงาน TOTY Music Awards

          วง BUS ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล TOTY Music Awards 2023 โดยได้รับรางวัล Best Music of the Year สาขา Male Group และรางวัล Best Performance of the Year ทำให้ BEUS หรือกลุ่มแฟนคลับของวง
ได้สื่อสารร่วมแสดงความยินดีกับรางวัลดังกล่าว ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะทาง
X

อันดับที่ 3 เปิดตัวภาพยนตร์หลานม่า

          ภาพยนตร์หลานม่า เข้าฉายครั้งแรก วันที่ 4 เมษายน 2567 นำแสดงโดย บิวกิ้น พุฒิพงศ์ และ ตู ต้นตะวัน โดยเนื้อหาเป็นภาพยนตร์ไทยแนวครอบครัวที่มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการรีวิวภาพยนตร์หลังจากได้รับชมในทิศทางชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้

อันดับที่ 4 งาน GMMTV2024 UP&ABOVE PART 2

          เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 GMMTV ได้จัดงานแถลงข่าว “GMMTV 2024 UP & ABOVE PART 2 เปิดตัวคอนเทนต์บันเทิงทั้งโปรเจคพิเศษต่าง ๆ รวมถึงซีรีส์ 14 เรื่องที่จะผลิตขึ้นในพาร์ตที่สองของปี 2024 โดยในงานมีนักแสดงและศิลปินในสังกัด GMMTV เข้าร่วมจำนวนมาก โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Official Account ของ GMMTV และกลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่เข้ามาสร้าง Engagement ในช่องทางของดารานักแสดง เช่น เจมิไนท์ นรวิชญ์, ดิว จิรวรรตน์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ เป็นต้น

อันดับที่ 5 ความนิยม Art Toy ลาบูบู้

          ลาบูบู้ (Labubu) เป็นอาร์ตทอยที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะคอลเลกชัน ลาบูบู้มาการอง ที่ ลิซ่า
ลลิษา มโนบาล ได้ถ่ายรูปกับลาบูบู้คอลเลกชันนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาของลาบูบู้
พุ่งสูงขึ้นแตะหลักหมื่นบาท ในแง่ของสื่อสารในสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแกะกล่องสุ่ม ทั้งจากประชาชนทั่วไป ดารานักแสดง และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนั้นยังมีการออกมาเตือนให้ระวังมิจฉาชีพ และ ดราม่า พิมรี่ พาย ไลฟ์สดขายลาบูบู้ ในราคาถูกกว่าตลาด

อันดับที่ 6 การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้

          วันที่ 21 มีนาคม 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเกาหลีใต้ โดยทีมชาติไทยสามารถตีเสมอเกาหลีใต้ 1-1 พร้อมทำลายสถิติที่สามารถยิงประตูทีมชาติเกาหลีใต้ได้ในรอบ 26 ปี จากการทำประตูของ แบงค์ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ทำให้แฟนคลับออกมาชื่นชมทีมชาติไทยและ แบงค์ ศุภณัฏฐ์ ในการทำประตูประวัติศาสตร์นี้ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง Facebook

อันดับที่ 7 กะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11

          เกิดเหตุการณ์กลุ่มกะเทยชาวฟิลิปปินส์ 20 คนทำร้ายร่างกายกลุ่มกะเทยชาวไทย 4 คนบริเวณซอยสุขุมวิท 11 แล้วโพสต์คลิปเหยียดในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มกะเทยชาวไทย จึงนัดรวมตัวกันหน้าโรงแรมที่กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์พักอาศัย เมื่อตำรวจนำตัวกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ลงมาจากที่พัก ก็เกิดความวุ่นวายขึ้น เหตุการณ์นี้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่อนัดหมาย รายงานสถานการณ์ และสื่อสารชื่นชมกลุ่มกะเทยที่ไปรวมตัวกันในครั้งนี้

อันดับที่ 8 เตนล์ ชิตพล วง NCT เตรียมออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก

          เตนล์ ชิตพล ศิลปินจากวง NCT ประกาศวันออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
ส่งผลให้กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ วง
NCT และ เตนล์ ชิตพล ต่างร่วมแสดงความยินดี และรอการมาของมินิอัลบั้มในครั้งนี้ ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง X

อันดับที่ 9 คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว

          ป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ บัวผัน ตันสุ ถูกพบเป็นศพบริเวณบ่อน้ำ ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เบื้องต้นลุงเปี๊ยก ผู้เป็นสามี ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆาตกรรม ต่อมา ณัฐดนัย นะราช ผู้สื่อข่าวรายการลุยชนข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 พบสิ่งผิดปกติ เช่น ลุงเปี๊ยกไม่สามารถตอบคำถามนักข่าวได้ จากกล้องวงจรปิดพบกลุ่มเด็กอายุ 13 – 16 ปีทำร้ายป้าบัวผันในช่วงเวลาตี 2 เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างออกมาสื่อสารให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำงานที่ผิดพลาดของตำรวจ และยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงว่าทำไมลุงเปี๊ยกถึงได้กลายเป็นผู้ต้องหา และการไม่ดำเนินการใดกับผู้เยาว์ที่ก่ออาชญากรรมรุนแรง

อันดับที่ 10 มหกรรมฟุตบอลดาราช่อง 3

          วันที่ 23 มีนาคม 2567 โอกาสที่ช่อง 3 ครบรอบ 54 ปี จึงจัดงานฉลองในชื่อ 54 ปี 3 Miracles ที่สนามศุภชลาศัย โดยมีดารานักแสดงร่วมงานกว่า 70 คน มีการแข่งขันฟุตบอลของทีมดารา โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากโพสต์บรรยากาศในงาน ภาพดารานักแสดงที่เข้าร่วมงาน เช่น คิม คิมเบอร์ลี่, หมาก ปริญ, ญาญ่า อุรัสยา ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทาง Instagram รวมถึง ช่องทาง TikTok อย่างเป็นทางการของช่อง 3 เป็นต้น

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนมกราคม – เมษายน 2567 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 5 ประเด็นคิดเป็น 43.07% ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาเทศกาลซึ่งมีเพียง 1 ประเด็น แต่มีสัดส่วนถึง 26.87% ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งมี 2 ประเด็น มีสัดส่วน 13.34% กลุ่มเนื้อหาความงาม และ แฟชั่น มี 1ประเด็น สัดส่วนเป็น 8.40% และกลุ่มเนื้อหากีฬามี 1 ประเด็น สัดส่วน 8.32%

 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 พบว่า กลุ่มเนื้อหาการเมือง ได้รับความสนใจมากถึง 68% ของ Engagement ที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มเนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้จากกระแสการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยประเด็นเรื่องวันสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายน 2566 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566
แต่การสื่อสารออนไลน์ช่วงมกราคม-เมษายน 2567 กลับไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองติด 1 ใน 10 (พบประเด็นการเมืองเพียงประเด็นเดียวในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของสภาพการณ์การสื่อสารของสังคมในแต่ละปี เช่น ปี 2566 มีการเลือกตั้งทั่วไป ประเด็นการเมืองจึงอยู่ในความสนใจ ในขณะที่ปลายปี 2566 UNESCO ประกาศให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ส่งผลให้วันสงกรานต์ปี 2567 ถูกเรียกเป็นมหาสงกรานต์ และอยู่ในความสนใจของประชาชน

10 ประเด็น 5 กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 153,082,158 Engagement จาก 5 ประเด็น คือ วง BUS ในงาน TOTY Music Awards (47,108,325 Engagement), เปิดตัวภาพยนตร์หลานม่า (33,429,532 Engagement), งาน GMMTV2024 UP&ABOVE PART 2 (30,528,804 Engagement), เตนล์ ชิตพล วง NCT เตรียมออกมินิอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก (24,212,208 Engagement) และ มหกรรมฟุตบอลดาราช่อง 3  (17,803,289 Engagement) รวมเป็นสัดส่วน 43.07%

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น คือ ประเพณีสงกรานต์ 2567 จำนวน 95,496,128 Engagement คิดเป็น 28.87%  

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 2 ประเด็น คือ กะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11 (27,053,545 Engagement) และ คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว (20,342,435 Engagement) รวมเป็น สัดส่วน 13.34%  

กลุ่มเนื้อหาความงาม และแฟชั่น 1 ประเด็น คือ ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ จำนวน 29,868,180 Engagement คิดเป็น 8.40%  

กลุ่มเนื้อหากีฬา 1 ประเด็น คือ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้ จำนวน  29,569,939 Engagement คิดเป็น 8.32%

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (71.91%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (19.33%), สื่อ สำนักข่าว (8.52%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และ ภาครัฐ รวม 0.24% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 38.28% รองลงมาได้แก่ Instagram (29.58%), X (27.48%), Facebook (4.00%),  YouTube (0.66%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (46.96%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (44.63%), สื่อ สำนักข่าว (4.99%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 3.42% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 74.68% รองลงมาได้แก่ Instagram (11.66%), Facebook (9.20%), X (3.59%), YouTube (0.87%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (45.72%) รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (30.30%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.58%), และอื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง และแบรนด์ รวม 0.4% โดยมี X เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 38.31% รองลงมาได้แก่ TikTok (33.52%), Facebook (20.60%), Instagram (4.19%), YouTube (3.38%)

กลุ่มเนื้อหาความงาม และแฟชั่น มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (59.04%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (36.28%), สื่อ สำนักข่าว (4.52%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.16% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 72.05% รองลงมาได้แก่ Facebook (11.14%), Instagram (9.19%), X (6.69%), YouTube (0.93%)

กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (45.80%) รองลงมาได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (44.82%), สื่อ สำนักข่าว (9.18%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.2% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 35.58% รองลงมาได้แก่ Instagram (28.46%), TikTok (22.77%), X (9.86%), YouTube (3.33%)

ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 พบว่า แต่ละกลุ่มเนื้อหามีสัดส่วน Engagement ของผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์มการสื่อสารที่แตกต่างกัน

วิเคราะห์กลุ่มผู้สื่อสาร

          ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567 สามารถจำแนกผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในสื่อออนไลน์ ในภาพรวมได้ 5 กลุ่ม คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 55.84% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (32.86%), สื่อ สำนักข่าว (10.19%), และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 1.11%

โดยผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และอาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ชื่นชอบดารา ศิลปินจากกิจกรรมต่าง ๆ และกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง อย่างกะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาท ที่สุขุมวิท 11 และคดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว

ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหา เทศกาล, ความงาม และแฟชั่น และกีฬา จากประเพณีสงกรานต์ 2567, ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง มักจะมีผู้ใช้งานทั่วไปเป็นผู้สร้าง Engagement หลักจากกลุ่มแฟนคลับหรือผู้ที่ชื่นชอบดาราและยังสามารถสร้าง Engagement ในกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567  ได้มากกว่าทุกกลุ่ม (45.72%)  ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี มักเป็นประเด็น หรือเรื่องราวเร้าอารมณ์ให้กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เกิดความรู้สึกร่วม และแสดงความคิดเห็นไปไกลกว่าสิ่งที่สำนักข่าวนำเสนอ เช่น การโพสต์รวมตัวกันของกะเทยที่ซอยสุขุมวิท 11 หรือ ความผิดหวังในการทำงานของตำรวจจากคดีฆาตกรรมป้าบัวผัน ที่สระแก้ว เป็นต้น แตกต่างจากผลสำรวจช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน  2566 ที่พบว่า ผู้สื่อสารในกลุ่มสื่อ สำนักข่าว คือผู้สื่อสารสร้าง Engagement ในกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุได้มากกว่าทุกกลุ่ม (41.12%)      

วิเคราะห์แพลตฟอร์มการสื่อสาร

 เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนมกราคม – เมษายน 2567 TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในการแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอสั้น ทำให้เหมาะกับการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดกิจกรรม  การละเล่นต่างๆ  ทั้งการเล่นสาดน้ำ ทำให้ผู้คนอยากแชร์หรือเก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นไว้

เมื่อพิจารณาที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่มี Engagement มากกว่ากลุ่มเนื้อหาอื่น พบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหานี้ คือ TikTok ที่ 38.28% รองลงมาได้แก่ Instagram (29.58%), X (27.48%), Facebook (4.00%), YouTube (0.66%) แตกต่างจากในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่พบว่ากลุ่มเนื้อหาการเมืองสร้าง Engagement ได้มากที่สุด จากกระแสความตื่นตัวในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยเนื้อหาที่ได้รับ Engagement จำนวนมาก คือ ปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกลและการดีเบตของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ในภาพรวม เมื่อพิจารณาในแง่ของแพลตฟอร์ม TikTok ยังคงสร้าง Engagement ได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจาก กลุ่มแฟนคลับดารา ศิลปิน ที่แบ่งปันรูปภาพ วิดีโอหรือช่วงเวลาประทับใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok Instagram และ X โดยข้อความที่ได้รับ Engagement สูงส่วนใหญ่เป็นโพสต์จากงานแถลงข่าว GMMTV 2024 UP & ABOVE PART 2 และ วง BUS ในงาน TOTY Music Awards จากกลุ่มที่ชื่นชอบศิลปินดาราที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือน มกราคม – เมษายน 2567 ประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ ประเพณีสงกรานต์ 2567 ด้วยสัดส่วน 26.87% ซึ่งถือเป็นประเด็นเดียวในกลุ่มเนื้อหาเทศกาลที่ติดอันดับในช่วงสำรวจ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงได้รับความสนใจสูงที่สุด ที่ 43.07% นอกจากนี้ยังมีอีก 3 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจรองลงมาคือ กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม มีสัดส่วน 13.34% กลุ่มเนื้อหาความงาม และ แฟชั่น มีสัดส่วนเป็น 8.40% และกลุ่มเนื้อหา กีฬามีสัดส่วน 8.32%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง, เทศกาล เป็นกลุ่มที่สร้าง Engagement ได้สูงในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 อาจเพราะเป็นประเด็นที่เป็นความสุข ความบันเทิงในเทศกาล ประเด็นที่เป็นความชื่นชอบในบุคคล/สื่อ/กิจกรรมทางบันเทิงเช่นเดียวกับผลการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 66 แต่ประเด็นที่จริงจัง กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่าง กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ก็สามารถสร้าง Engagement ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ เดิมมีผู้สื่อสารหลักเป็น สื่อ สำนักข่าว แต่ในช่วง มกราคม – เมษายน 2567 กลับกลายเป็นบุคคลทั่วไปที่สร้าง Engagement สูงถึง 45.72% ตามด้วย สื่อ สำนักข่าว (30.30%) ซึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นกะเทยไทย – ฟิลิปปินส์ ทะเลาะวิวาทที่สุขุมวิท 11 และ คดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ที่สระแก้ว เป็นประเด็นเชิงเร้าอารมณ์ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าที่สื่อและสำนักข่าวสามารถนำเสนอ  

          นอกจากกลุ่มเนื้อหาหลักที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากติดต่อกัน อย่าง สื่อสิ่งบันเทิง เทศกาล และอาชญากรรมแล้ว ในเดือนนี้มีกลุ่มเนื้อหา ความงามและแฟชัน กลุ่มเนื้อหากีฬา จาก ความนิยม Art Toy ลาบูบู้ และ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยกับเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทั้ง 2 กลุ่มเนื้อหาได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ได้รับอิทธิพลจากผู้มีชื่อเสียง จากกรณี ลิซ่า BLACKPINK ถ่ายรูปคู่กับลาบูบู้ ส่งผลให้กระแสความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจากผู้มีชื่อเสียงและประชาชนทั่วไปที่ต้องการตามกระแสความนิยมนี้ ส่งผลให้ราคาของลาบูบู้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนประเด็นทีมชาติไทย สามารถตีเสมอทีมชาติเกาหลีใต้ได้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรอบ 24 ปี ทำให้เกิดเป็นกระแสการชื่นชมฟุตบอลทีมชาติไทย และแบงค์ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ผู้ทำประตูประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองพิจารณาประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ตั้งแต่ช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567  พบว่า ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางการเมืองใดที่ติดอันดับความสนใจ  (พบเพียง 1 ประเด็นในเดือนมกราคม แต่ในภาพรวม 4 เดือน ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก) แตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีประเด็นในกลุ่มเนื้อหาการเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ จากกระแสการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤษภาคม 2566 ในขณะที่ประเด็นเรื่องวันสงกรานต์ ไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก ทั้งในเดือนเมษายน 2566 และในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566

ความแตกต่างของผลการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ในช่วงปี 2566 และ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อ 28 มีนาคม 2567 ว่า ผลการสำรวจศึกษาในปี 2566 พบว่า คนส่วนใหญ่สนใจและสื่อสารเรื่องการเมืองมากที่สุด เพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่สภาวะปกติ เช่นเดียวกันกับงานการศึกษาของต่างประเทศในปีที่มีการเลือกตั้ง ก็จะเห็นข้อมูลและปรากฎการณ์ที่คล้ายกัน รวมถึงชี้ให้เห็นว่าจากเดิมคนมักคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง แต่งานครั้งนี้ทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ความสนใจร่วมดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆโดยในปี 2567 เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ ทำให้ความสนใจทางการเมืองได้รับความสนใจลดน้อยลงโดยไม่ติดทั้ง 1 ใน 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจใน 4 เดือนแรกของปี 2567

ผู้สื่อสาร

ในแง่ผู้สื่อสารพบว่าสัดส่วนของผู้สื่อสารที่แตกต่างกับ 4 เดือนแรกของปี 2566 กล่าวคือ ในช่วงเดือน มกราคมถึงเมษายน 2566 มีสัดส่วนผู้สื่อสารที่มี Engagement มากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 71.31% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 12.81%, สื่อ สำนักข่าว 12.20%, และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 3.68% ในขณะที่ปี 2567 มีสัดส่วนผู้สื่อสารคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 55.84% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 32.86%, สื่อ สำนักข่าว 10.19%, และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง รวม 1.11% สัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้มากขึ้นมาจากประเพณีสงกรานต์ 2567 ที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ร่วมงานตามสถานที่ต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้งานทั่วไป แม้จะสร้าง Engagement เป็นอันดับที่ 1 แต่เมื่อเทียบกับปี 2566 มีสัดส่วนลดลงประมาณ 15.47% โดยมาจากกลุ่มเนื้อหาการเมืองที่หายไปในปี 2567 ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว   

แพลตฟอร์ม

จากการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร ยังคงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่ายจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุดติดต่อกันหลายเดือน