เลือกหน้า

จากการสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ผ่าน 5 แพลตฟอร์มในเดือนตุลาคม 2567 พบว่า “คดีดิไอคอนกรุ๊ป” ได้รับความสนใจสูงสุดในอันดับที่ 1 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงถึง 26.48% ตามด้วย “หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ” ในอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่ 21.64% สำหรับ “อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษานักเรียน” อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 10.48% และ “ภาพยนตร์ธี่หยด 2″ อยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 10.32% และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่”น้องหมีเนย” ไม่ติด 10 อันดับแรก

ความสนใจใน “คดีดิไอคอนกรุ๊ป” เริ่มต้นจากการรายการโหนกระแส นำผู้เสียหายมาเล่าถึงการถูกฉ้อโกงจากกลไกการตลาดของดิไอคอนกรุ๊ป นำไปสู่การสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้บริหาร ที่มีบุคคลในวงการบันเทิง เช่น กันต์ กันตถาวร, ยุรนันท์ ภมรมนตรี, พิชญา วัฒนามนตรี รวมถึงบุคคลอื่น ๆ อีกหลายคน โดยมีผู้เสียหายมากกว่า 10,000 ราย ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง 

แม้ในเดือนตุลาคม 2567 จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เช่น อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ การสิ้นสุดอายุความของคดีตากใบ นักธุรกิจสาวแจ้งความทนายษิทราข้อหาฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท รวมถึงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดกลับไม่ติด 10 อันดับแรก ในความสนใจของโลกออนไลน์เดือนตุลาคม 2567

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนตุลาคม 2567

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับบริษัท Wisesight ดำเนินการศึกษาการสื่อสารในโลกออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจข้อมูลจาก 5 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1) Facebook 2) X (Twitter) 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok โดยเริ่มต้นจากการค้นหาแนวโน้มกระแสสังคมที่เป็นที่พูดถึง เช่น Wisesight Trend และแนวโน้มจากทั้ง 5 แพลตฟอร์ม หลังจากนั้นได้ใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่พบจากการสำรวจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ คำว่า ดิไอคอน” “หมูเด้ง” “ไฟไหม้รถบัส” “ธี่หยด “คนตื่นธรรม” “#bus_knockknockknock” “ปิ่นภักดิ์” “มิสแกรนด์ 2024” “แม่หยัว” “หนึ่งในร้อย” หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาคัดกรองและจัดหมวดหมู่ตามประเด็น กลุ่มเนื้อหา ประเภทแพลตฟอร์ม และกลุ่มผู้สื่อสารตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น พร้อมจัดทำสรุปข้อมูลสำคัญใน 10 อันดับแรกของการมีส่วนร่วม (Engagement) ประจำเดือน โดยอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ซึ่งประกอบด้วย จำนวนค่าการมีส่วนร่วม ข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์ วันที่และเวลา เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และลดอคติของผู้วิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ ประเด็นที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 มีดังนี้

อันดับที่ 1 คดีดิไอคอนกรุ๊ป (103,965,017 Engagement)

            ดิไอคอนกรุ๊ปเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และความงาม โดยจดทะเบียนเป็นธุรกิจการตลาดแบบตรง โดยมีวรัตน์พล วรัทย์วรกุล เป็นผู้บริหารหลัก อีกทั้งยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงเกี่ยวข้องด้วย เช่น กันต์ กันตถาวร ยุรนันท์ ภมรมนตรี พิชญา วัฒนามนตรี เป็นต้น คดีเกี่ยวกับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปเริ่มได้รับความสนใจเมื่อมีผู้เสียหายมาร้องเรียนผ่านรายการโหนกระแส และต่อมามีการนำผู้เสียหายเข้าแจ้งความบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เพื่อรับแจ้งเหตุจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจขออนุมัติศาลออกหมายจับ 18 ผู้ต้องหาคดีดิไอคอนกรุ๊ปในข้อหาร่วมฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ โดยคุมตัวมาสอบปากคำ รวมถึงยึดทรัพย์สินหลายรายการ อาทิ รถยนต์หรู เงินสด และสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น ในส่วนของผู้ส่งสาร พบว่าสำนักข่าวและสื่อ เช่น โหนกระแส ข่าวสดออนไลน์ และเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด โดยแพลตฟอร์ม TikTok มียอดการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 48.81%

อันดับที่ 2 หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (84,970,100 Engagement)

            “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนกันยายน โดยมีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอที่นำเสนอความน่ารักในอิริยาบถต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ในเดือนตุลาคมได้มีการนำเสนอเนื้อหาหลากหลายรูปแบบเพิ่มเติม อาทิ วิดีโอการ์ตูน, ภาพวาด, การ Cover เพลงเกี่ยวกับหมูเด้ง, ข่าวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางจากนิวยอร์กเพื่อมาชมหมูเด้งโดยเฉพาะ นอกจากนี้บัญชี TikTok krubaheng ได้นำเสนอวิดีโอในการสอนศาสนา โดยใช้ตัวละครหมูเด้งในรูปแบบการ์ตูนฮิปโป ซึ่งได้รับการมีส่วนร่วม (Engagement) เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบความน่ารักของหมูเด้ง แห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียวกับลูกฮิปโปแคระเกิดใหม่ที่สวนสัตว์ศรีสะเกษ ในส่วนของผู้ส่งสาร พบว่าผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงสุด อาทิ khamoo.andthegang pairoat และ pimprapa โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 48.81%

อันดับที่ 3 ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา (41,137,905 Engagement)

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสนำนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดชัยนาท เดินทางไปทัศนศึกษา แต่เกิดเพลิงไหม้ขณะเดินทางบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ส่งผลให้นักเรียนและครูเสียชีวิตรวม 23 ราย เหตุการณ์นี้เป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนก่อให้เกิดข้อกังวลและเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็น ความเหมาะสมในการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ความปลอดภัยของรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ระบบการติดตั้งถังแก๊สและการตรวจสอบของกรมการขนส่ง รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน ในสื่อสังคมออนไลน์มีการแสดงความเสียใจอย่างล้นหลามต่อเหตุการณ์นี้ โดยเนื้อหาในช่วงแรกเน้นการรายงานเหตุการณ์และการอัปเดตสถานการณ์ในวันที่เกิดเหตุ รวมถึงในวันพระราชทานเพลิงศพครูและนักเรียนทั้ง 23 ราย สื่อและสำนักข่าวที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารประเด็นนี้ เช่น thairath_news khaosodonline และ thaich8news โดยแพลตฟอร์ม TikTok เป็นช่องทางที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงที่สุดที่ 51.94%

อันดับที่ 4 ภาพยนตร์ธี่หยด 2 (40,502,912 Engagement)

ภาพยนตร์ “ธี่หยด” ภาค 1 ได้รับความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันดับที่ 6 ในเดือนตุลาคม 2566 โดยเป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการทำรายได้มากกว่า 400 ล้านบาทภายในระยะเวลาเพียง 10 วัน สำหรับปีนี้ ภาพยนตร์ “ธี่หยด” ภาค 2 สามารถทำรายได้สูงถึง 700 ล้านบาท ด้วยเนื้อเรื่องที่มีความแปลกใหม่และสนุกสนานมากกว่าภาพยนตร์ผีทั่วไป ส่งผลให้ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ในด้านผู้ส่งสาร พบว่าผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด เช่น sunantra_chery, denise_jelilcha, และ zo_pim เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok มียอดการมีส่วนร่วมสูงที่สุดที่ 67.74%

อันดับที่ 5 อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (30,190,697 Engagement)

อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ผู้มีอิทธิพลในสังคมออนไลน์ด้านธรรมะ มีความโดดเด่นจากการสอนธรรมะในสไตล์ที่เข้มข้นและเข้าใจง่าย โดยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากการให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ในประเด็น “อยากรวยต้องทำยังไง” และรายการโหนกระแสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม  2567 ตอน “หมอดูสวนกลับอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม พูดไปเรื่อย ไม่มีอาจารย์โหรคนไหนสอนให้หลอกคน” หลังจากนั้นในสื่อสังคมออนไลน์มีการพูดถึงอาจารย์เบียร์อย่างแพร่หลาย จากคลิปสั้นตอบปัญหาธรรมะในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการถูกเชิญไปออกรายการต่าง ๆ เช่น Woody FM เป็นต้น ในด้านผู้ส่งสาร พบว่าผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด เช่น  pondonnews, gurion99, และ Woody โดยแพลตฟอร์ม TikTok มียอดการมีส่วนร่วมสูงที่สุดที่ 68.29%

อันดับที่ 6 การประกวด Miss Grand International 2024 (29,871,433 Engagement)

การประกวด Miss Grand International 2024 จากเดิมประเทศเมียนมาได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวด แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดการประกวดได้ ประเทศกัมพูชาจึงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแต่สุดท้ายไม่พร้อม จึงขอเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศไทย แต่ระหว่างกิจกรรมเก็บตัวที่ประเทศกัมพูชา มีความไม่ราบรื่นในการจัดกิจกรรม จนเป็นข่าว ทำให้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมีสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกาศยกเลิกให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพและตัดสินใจจัดการประกวดในประเทศไทย โดยในการประกวดรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ผู้ครองตำแหน่ง Miss Grand International 2024 คือ เรเชล คุปตะ จากประเทศอินเดีย รองอันดับหนึ่งคือ คริสติน จูเลียน โอเปียซ่า จากประเทศฟิลิปปินส์ รองอันดับสอง คือ แต้ ซู เญ่น จากเมียนมา แต่ Nation Director (ND) ของเมียนมา ไม่พอใจผลการตัดสิน จึงพากลุ่มคนทำการถอดสายสะพายและมงกุฎ ทั้งนำตัว แต้ ซู เญ่น ออกจากงาน วันต่อมาแต้ ซู เญ่น ก็สื่อสารทางออนไลน์ไม่ยอมรับผลการตัดสิน ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมและวิเคราะห์สาเหตุของพฤติกรรม ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ช่องทางอย่างเป็นทางการของ Miss Grand International ได้ออกแถลงการณ์ปลด แต้ ซู เญ่น รองอันดับ 2 ออกจากตำแหน่งเนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสม  ในด้านผู้ส่ง

อันดับที่ 7 คอนเสิร์ต Knock Knock Knock: BUS 1st THAILAND FANCON TOUR (28,391,620 Engagement)

         วงบอยแบนด์ชาวไทย “Bus” หรือ “Because of You I Shine” ได้ประกาศจัดคอนเสิร์ต “ Knock Knock Knock: BUS 1st THAILAND FANCON TOUR” ซึ่งเป็นการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ชลบุรี และเชียงใหม่ ในด้านผู้ส่งสาร พบว่าผู้ส่งสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วยแฟนคลับและผู้ที่ติดตามวง ได้มีการโพสต์ภาพการแสดงคอนเสิร์ตในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีการสร้างการมีส่วนร่วมสูงที่สุดที่ 48.59%

อันดับที่ 8 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (13,948,360 Engagement)

ปิ่นภักดิ์ ซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หญิงรักหญิงพี่เรียดย้อนยุคโรแมนติกจากช่อง Workpoint นำแสดงโดย ฟรีน สโรชา และ เบ็คกี้ รีเบคก้า โดยในเดือนนี้ได้มีการปล่อยเพลงประกอบละคร “Cheevee” (ชีวี) ซึ่งร้องโดยสองนักแสดงนำ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยซีรีส์ในรูปแบบ Uncut ส่งผลให้ในเดือนนี้ การมีส่วนร่วม (Engagement) ในแง่ผู้สื่อสาร มีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นผู้สื่อสารหลัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนช่องทางอย่างเป็นทางการของซีรีส์ รวมถึงบัญชีของดารานักแสดง เช่น idolfactory, srchafreen, และ workpointofficial เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม X ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 73.37%

อันดับที่ 9 ละครแม่หยัว (10,057,059 Engagement)

ละคร “แม่หยัว” จากช่อง One 31 เป็นละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการตีความเนื้อหาใหม่ของ “แม่หยัวศรีสุดาจันทร์” ซึ่งเป็นสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ละครนี้นำแสดงโดย ใหม่ ดาวิกา, ฟิล์ม ธนภัทร, ตุ้ย ธีรภัทร์ ในส่วนของผู้ส่งสารพบว่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากการโปรโมทละครของทางช่อง ผู้จัด นักแสดง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักแสดง เช่น davikah, channel. one31, และ terchantavit เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 35.79%

อันดับที่ 10 ละครหนึ่งในร้อย (9,614,475 Engagement)

 ละคร “หนึ่งในร้อย” จากช่อง 3 สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของดอกไม้สด เล่าเรื่องราวของหญิงสาวทายาทนายธนาคารผู้สูงศักดิ์ ที่ครอบครัวคัดสรรคู่ครองให้ด้วยความพิถีพิถัน วิชัย ผู้พิพากษาหนุ่มบังเอิญเข้ามาเป็นพ่อสื่อ ช่วยกีดกันชายที่ไม่เหมาะสม แต่อนงค์กลับพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อพิชิตใจวิชัยให้ได้ ในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าการมีส่วนร่วม (Engagement) ส่วนใหญ่เกิดจากการโปรโมทละครจากช่องทางอย่างเป็นทางการของช่อง 3 และนักแสดงนำ เช่น Ch3 Thailand, ญาญ่า อุรัสยา และ ต่อ ธนภพ เป็นต้น โดยสื่อและสำนักข่าวสามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากช่องทางอย่างเป็นทางการของช่อง 3 ที่มีการโปรโมทและได้ Engagement สูง โดยแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้าง Engagement สูงสุดที่ 48.22%

ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ในเดือนตุลาคม 2567 ในด้านกลุ่มเนื้อหา ผู้สื่อสาร แพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหา

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่ม ตามจำนวน Engagement ดังนี้

อันดับหนึ่ง กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 217,355,959 Engagement คิดเป็น 55.36% จาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย อันดับ 2 หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (84,970,100 Engagement) ตามด้วยภาพยนตร์ธี่หยด 2 (40,502,912 Engagement), การประกวด Miss Grand International 2024 (29,871,433 Engagement), คอนเสิร์ต Knock Knock Knock: BUS 1st THAILAND FANCON TOUR (28,391,620 Engagement), ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (13,948,360 Engagement), ละครแม่หยัว (10,057,059 Engagement) และละครหนึ่งในร้อย (9,614,475 Engagement)

อันดับสอง กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ พบ 2 ประเด็น จำนวน 145,102,922 Engagement คิดเป็น 36.95% คือคดีดิไอคอนกรุ๊ป (103,965,017 Engagement) ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา (41,137,905 Engagement)

อันดับสาม กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ พบ 1 ประเด็น จำนวน 30,190,697 Engagement คิดเป็น 7.69% คือ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม

จะเห็นว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงเป็นกลุ่มเนื้อหาหลักที่ได้รับ Engagement สูงติด 10 อันดับแรก ของทุกเดือน โดยในเดือนตุลาคม 2567 พบว่าหมูเด้งยังคงได้รับความนิยมใกล้เคียงกับเดือนกันยายน 2567 แต่ด้วยในเดือนนี้มีประเด็นคดีดิไอคอนกรุ๊ปซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากและมีผู้มีชื่อเสียง ดารา นักแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจมากกว่าหมูเด้ง

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (54.52%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (38.30%), สื่อ สำนักข่าว (6.93%) และ แบรนด์ (0.25%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 58.58% รองลงมาได้แก่ X (15.04%), Facebook (13.90%), Instagram (10.67%) และ YouTube (1.81%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (47.23%) รองลงมา ได้แก่สื่อ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (38.26%), ผู้ใช้งานทั่วไป (14.06%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (0.28%) แบรนด์ (0.15%) ภาครัฐ (0.02%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 49.70% รองลงมาได้แก่ Facebook (35.65%), YouTube (5.52%), X (4.99%) และ Instagram (4.14%)

กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (38.37%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (33.38%), สื่อ สำนักข่าว (28.21%) และ แบรนด์ (0.04%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 68.29% รองลงมาได้แก่ Facebook (24.83%), YouTube (4.58%), Instagram (1.25%) และ X (1.05%)

กลุ่มผู้สื่อสาร ในภาพรวมช่วงเดือนตุลาคม 2567 พบว่ากลุ่มผู้สื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ในสื่อออนไลน์ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (47.27%) ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน (28.97%), สื่อ สำนักข่าว (23.46%), แบรนด์ (0.20%) พรรคการเมือง (0.09%) และภาครัฐ (0.01%)

กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง จากการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับหมูเด้ง เช่น การโพสต์ภาพชีวิตประจำวันของหมูเด้ง การเต้น Cover เพลงหมูเด้ง รวมถึงครูบาเฮงที่สอนธรรมะโดยการใช้ตัวละครฮิปโปที่ชื่อหมูเด้ง ส่วนภาพยนตร์ธี่หยด 2 เป็นการโปรโมทภาพยนตร์ตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ส่วนในกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้น เช่น สรุปประเด็นในคดีดิไอคอน ทำความรู้จักกับอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มมีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง ได้แก่ pairoat.edit2, khamoo.andthegang, gurion99 เป็นต้น

ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการแชร์ภาพหมูเด้ง, คอนเสิร์ต Knock Knock Knock: BUS1st THAILAND FANCON TOUR, ภาพยนตร์ธี่หยด 2, การประกวด Miss Grand International 2024, ละครแม่หยัว, ละครหนึ่งในร้อย และซีรีส์ปิ่นภักดิ์ รวมถึงการกล่าวถึงอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม โดยการแชร์ข้อมูลคำสอนของอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ส่วนประเด็นคดีดิไอคอนกรุ๊ป และไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา เป็นการแชร์ข้อมูล การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การแชร์ภาพอุบัติเหตุ การตัดคลิปข่าวมาโพสต์ซ้ำ การแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

สื่อ สำนักข่าว สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรรม อุบัติเหตุ จาก คดีดิไอคอนกรุ๊ป และไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา โดยสื่อ สำนักข่าวยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาหนักอย่างอาชญากรรม อุบัติเหตุ ด้วยผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและมีทักษะในการนำเสนอที่ดีกว่าผู้สื่อสารกลุ่มอื่น ๆ

ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์, พรรคการเมือง และ ภาครัฐ พบว่า แม้ในภาพรวมสร้าง Engagement ได้น้อยกว่า 3 กลุ่มแรก แต่ก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ, สื่อ สิ่งบันเทิง, ศาสนาและความเชื่อ แม้จะไม่ได้เป็นผู้สื่อสารหลัก ยกตัวอย่างประเด็นคดีดิไอคอนกรุ๊ป พบว่าห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม แถลงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอนกรุ๊ป หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติโพสต์ความคืบหน้าของคดีดิไอคอนกรุ๊ป เป็นต้น

แพลตฟอร์มการสื่อสาร

จากการสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในโลกออนไลน์ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ในภาพรวมพบว่าแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TikTok ซึ่งมีสัดส่วน 56.04% ตามด้วย Facebook 22.78%, X 10.25%, Instagram 7.54% และ YouTube 3.39%

 เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์ม พบว่า TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง สาเหตุมาจากความนิยมในเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่นชอบในเดือนนี้ เช่น การพากย์เสียงหมูเด้ง, การตามติดหมูเด้งในอิริยาบถต่าง ๆ, การเผยแพร่วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับหมูเด้ง, การเผยแพร่คำสอนพุทธศาสนาของอาจารย์เบียร์ รวมถึงการสรุปเหตุการณ์ของคดีดิไอคอน ซึ่ง TikTok สามารถตอบโจทย์การสื่อสาร และสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น

ขณะที่แพลตฟอร์ม X พบว่า เด่นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเฉพาะจากซีรีส์ปิ่นภักดิ์ ซึ่งมี Engagement บนแพลตฟอร์ม X เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม 2567 ที่ 73.37% ทั้งนี้ การสื่อสารในแพลตฟอร์ม X ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารหรือแสดงความสนใจในเรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเนื้อหาที่ต้องการความสดใหม่และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ จากกลุ่มแฟนคลับละคร รวมถึงแฟนคลับนักแสดงที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค หรือ หญิงรักหญิง ที่พบว่าเริ่มเป็นที่นิยมหรือมีการสื่อสารใน X มากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567

แม้ X จะเป็นแพลตฟอร์มที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง สามารถสร้าง Engagement ได้สูงต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกในสังคม เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา X ก็เป็นช่องทางในการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การอัพเดทสถานการณ์ รวมถึงการสดุดีต่อวีรกรรมของครูที่เสียชีวิตจากการปกป้องเด็กนักเรียน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอน ที่ X มีบทบาทในการอัพเดทสถานการณ์ขณะเกิดเหตุ การสื่อสารเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัยของผู้ประสบเหตุ ทำให้ X เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการอัพเดทข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์หากเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือเป็นประเด็นที่มีความสนใจเป็นวงกว้าง

Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement จาก อาชญากรรม อุบัติเหตุ และ สื่อ สิ่งบันเทิง โดยกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ จะมาจากสื่อหรือนักข่าวที่ลงพื้นที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อติดตาม เพื่อรายงานเรื่องราวที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เช่น ภาพเหตุการณ์การเข้าจับกุมบอสพอล วรัตน์พล และทีมผู้บริหารดิไอคอนกรุ๊ป, การอัพเดทเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาการดีเบตในประเด็นความเชื่อเรื่องดวงระหว่างอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม กับหมอดู ในรายการโหนกระแส เป็นต้น ส่วนสื่อ สิ่งบันเทิง เป็นการโปรโมท ละครแม่หยัว ละครหนึ่งในร้อย จากช่องทางอย่างเป็นทางการอย่าง One31 และ ช่อง 3 ทำให้ Facebook มีบทบาทในการสร้าง Engagement ของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ด้วยเช่นกัน

Instagram สร้าง Engagement ได้สูง ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และอาชญากรรม อุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายได้ดีที่สุด และเป็นช่องทางที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้มากในทุกกลุ่มเนื้อหา เช่น การแชร์ภาพบรรยากาศคอนเสิร์ต, การโพสต์โปรโมทละครของนักแสดง, การโพสต์ภาพผู้เข้าประกวด Miss Grand International 2024, การแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา เป็นต้น

YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ โดยเฉพาะจากสื่อ สำนักข่าว ทั้งนี้ เนื่องจากคดีดิไอคอนกรุ๊ป และเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา เป็นประเด็นที่ผู้รับสารต้องการเปิดรับข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถลงพื้นที่เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ได้ดีกว่ากลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงที่อยู่ใน YouTube มักถูกใช้โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น คอนเทนต์ดูธี่หยด 2 คนเดียว การโพสต์ซีรี่ส์หรือละครตอนต่าง ๆ บนช่องทางอย่างเป็นทางการของช่องที่ออกอากาศหรือจากทางผู้สร้างละคร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนตุลาคม 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้ความสนใจสูงถึง 7 อันดับ คิดเป็นสัดส่วนที่ 55.36% โดยนับรวม หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (อันดับที่ 2) นอกนั้นเป็นสื่อและกิจกรรมให้ความบันเทิง คือ ภาพยนตร์ธี่หยด 2 (อันดับที่ 4) การประกวด Miss Grand International 2024 (อันดับที่ 6) คอนเสิร์ต Knock Knock Knock: BUS1st THAILAND FANCON TOUR (อันดับ 7) ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (อันดับ 8) ละครแม่หยัว (อันดับ 9) ละครหนึ่งในร้อย (อันดับ 10) ตามด้วยกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ คิดเป็นสัดส่วนที่ 36.95% จาก 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็น คดีดิไอคอนกรุ๊ป (อันดับ 1) ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา (อันดับ 3) นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ คิดเป็นสัดส่วนที่ 7.69% จากประเด็นอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (อันดับ 5)

ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Enagaement ได้มากกว่าผู้ใช้งานทั่วไป

             ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาผู้ใช้งานทั่วไปมีบทบาทในการสร้าง Engagement ได้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้สื่อสารกลุ่มอื่น แต่ในเดือนตุลาคม 2567 พบว่า ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement สูงที่สุด ทั้งนี้อาจมาจาก มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง มากถึง 7 ประเด็น นอกจากนั้นในกลุ่มเนื้อหาอื่น อย่างศาสนา ความเชื่อ ที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้าง Engagement ได้เป็นอันดับที่ 1 ในขณะเดียวกันในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ก็สามารถสร้าง Engagement ได้เป็นอันดับที่ 2 ส่งผลในเดือนตุลาคม 2567 ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้าง Engagement มาเป็นอันดับที่ 1

หมูเด้งยังคงได้รับความนิยมใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว / สื่อ สิ่งบันเทิงยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 แต่ในเดือนตุลาคม 2567 นอกจากการนำเสนอความน่ารักของหมูเด้งแล้ว ยังพบการนำชื่อของหมูเด้งไปเป็นส่วนประกอบของเนื้อหาแล้วโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้ได้รับความนิยม เช่น การแต่งเพลงหมูเด้ง การทำหมูเด้งให้เป็นการ์ตูน เป็นต้น ทั้งนี้วิดิโอเหล่านั้นก็ประสบความสำเร็จในแง่ของ Engagement ยกตัวอย่าง บัญชี krubaheng ที่นำหมูเด้งไปเป็นตัวละครในวิดีโอของตนเองแล้วประสบความสำเร็จ ได้รับ Engagement สูง ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้หมูเด้งได้รับความนิยมในเดือนตุลาคมนี้ใกล้เคียงกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ละครหนึ่งในร้อย แม้จะอยู่ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง แต่กลับมีผู้สื่อสารหลักเป็น สื่อ สำนักข่าว เนื่องจาก Engagement ส่วนใหญ่มาจากการโปรโมทละครของช่องทางอย่างเป็นทางการของช่อง 3  ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า จากการสำรวจข้อมูลที่ผ่านมา กลุ่มสื่อ สำนักข่าว มักมีบทบาทมากในการสื่อสาร กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ และการเมือง ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เช่น กลุ่มแฟนคลับ มักมีบทบาทสูงในการสื่อสารเรื่องบันเทิง เช่น ละครที่เป็นกระแสต่างๆ  แต่ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ช่อง 3 คือผู้สื่อสารหลักเพื่อโปรโมทละครของช่อง จนทำให้ในภาพรวม Engagement ของละครหนึ่งในร้อยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสื่อ สำนักข่าว เป็นหลัก  

 คดีดิไอคอนกรุ๊ปขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 แซงหน้าหมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ

คดีดิไอคอนกรุ๊ปเป็นประเด็นที่ได้รับ Engagement เป็นอันดับที่ 1 สาเหตุจากเกิดจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีผู้ต้องหาเป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งดารา นักแสดง พิธีกร ส่งผลให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมากจนแซงหมูเด้งลูก ฮิปโปแคระ ที่ได้รับ Engagement เป็นอันดับที่ 1 ในเดือนกันยายน

เหตุการณ์สะเทือนขวัญแม้ได้รับความสนใจเป็นช่วงเวลาที่สั้น แต่สามารถสร้าง Engagement ที่สูง

 จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน จนเป็นเหตุให้มีนักเรียนและครูเสียชีวิตจำนวน 23 คน ทำให้สังคมออนไลน์อยู่ในความตื่นตระหนกและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้จำนวน Engagement พุ่งขึ้นสูงในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ และลดลงอย่างมากหลังจากผ่านไปเพียง 2 วัน ซึ่งรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่มีเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่ห้างสยามพารากอน โดยในช่วงเวลาเกิดเหตุพบว่าจำนวน Engagement พุ่งขึ้นสูง และลดระดับลงอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 -2 วัน

ทั้งนี้เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษายังมีประเด็นที่สอดแทรกขึ้นมาเช่น ความกังวลเรื่องการทัศนศึกษาของเด็กเล็ก หรือความตื่นตัวในเรื่องรถบัสนำเที่ยวที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แต่กลับสามารถนำรถออกมาให้บริการได้ แต่ประเด็นดังกล่าวก็เลือนหายไปจากการสื่อสารออนไลน์ในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับกระแสความสนใจในประเด็นอุบัติเหตุอื่น ๆ

ประเด็นที่ไม่ติด 10 อันดับแรก และแนวโน้มความสนใจในภาพรวม

จากการสำรวจข้อมูลในเดือนตุลาคม 2567 ยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่อยู่ในความสนใจในอันดับที่ 11-20 เช่น คดีนักธุรกิจสาวแจ้งความทนายษิทราข้อหาฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท  (อันดับที่ 11) อุทกภัยที่จังหวัดเชียงใหม่ (อันดับที่ 13) คดีตากใบสิ้นสุดอายุความ (อันดับที่ 15) และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (อันดับที่ 17) เป็นต้น 

ความสนใจของโลกออนไลน์ใน 10 อันดับแรก ของเดือนตุลาคม 2567 มีแนวโน้มเหมือนเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงมกราคม 2567 ที่มักเป็นเรื่องของสื่อ สิ่งบันเทิง เป็นหลัก แต่ถ้ามีประเด็นที่ ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง หรือเหตุฉุกเฉินสะเทือนอารมณ์ เกิดขึ้นเมื่อใดก็สามารถ ติดอันดับขึ้นมาได้เช่นกัน เช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา  เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงปลายปี 2567 กลุ่มเนื้อหาเทศกาลอย่างวันลอยกระทง และวันส่งท้ายปีเก่า จะสามารถติด 1 ใน 10 อันดับ ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์เช่นเดียวกับปี 2566 หรือไม่ รวมถึงเทศกาลอื่น ๆ อย่าง คริสต์มาส หรือวันสำคัญ อย่างวันรัฐธรรมนูญ จะถูกกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์มากน้อยเพียงใด