“ลอยกระทง” ขึ้นอันดับ 1 ของความสนใจในโลกออนไลน์เดือนพฤศจิกายน 67
“หมูเด้ง”รั้งอันดับ 2 “แม่หยัว” อันดับ 3 “หมีเนย” กลับขึ้นมาติด 10 อันดับอีกครั้ง
TikTok ยังครอง Engagement สูงกว่าทุกแพลตฟอร์ม
จากการสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ผ่าน 5 แพลตฟอร์มในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า “เทศกาลลอยกระทง” ได้รับความสนใจสูงสุด โดยมีสัดส่วนการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงถึง 36.27% ซึ่งสูงที่สุดในอันดับที่ 1 เช่นเดียวกับเดือน พ.ย.ปี 66 ตามมาด้วย “หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ” ในอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 12.45% “ละครแม่หยัว” อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 11.97% และ “GMMTV2025 RIDING THE WAVE” อยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยสัดส่วนการมีส่วนร่วม 10.41% นอกจากนี้ “น้องหมีเนย” ยังสามารถกลับมาติด 10 อันดับแรกได้อีกครั้งในเดือนนี้
สาเหตุที่สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจใน “เทศกาลลอยกระทง” เนื่องจากเป็นประเพณีอันทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาช้านาน และยังเป็นเทศกาลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่มีการจัดงานลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ เช่น งานลอยกระทงที่เชียงใหม่, สุโขทัย และกรุงเทพฯ เป็นต้น ด้วยความสำคัญทางวัฒนธรรม และการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจสูงสุดในสื่อสังคมออนไลน์และติดอันดับที่ 1 ในการสำรวจครั้งนี้
ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป, กระแสน้องเอวาเสือโคร่งสีทองของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, หนุ่ม กรรชัยตัดขาดฟิล์ม รัฐภูมิจากกรณีถูกแอบอ้างชื่อเรียกร้องเงินจากบอสดิไอคอนเพื่อให้มาออกรายการโหนกระแส, งาน “DENTISTE” Presents LISA Fan Meetup in Asia 2024 และงานรับปริญญาของ ออม กรณ์นภัส นักแสดงจากซีรีส์ใจซ่อนรัก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดดังกล่าวกลับไม่ติด 10 อันดับแรกความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนพฤศจิกายน 2567
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับบริษัท Wisesight ได้ดำเนินการศึกษาการสื่อสารในโลกออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye ในการสำรวจข้อมูลจาก 5 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok การศึกษาครั้งนี้เริ่มต้นจากการค้นหาแนวโน้มกระแสสังคมที่ได้รับความสนใจ เช่น Wisesight Trend และแนวโน้มจากทั้ง 5 แพลตฟอร์ม จากนั้นได้ทำการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับความสนใจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่น “ลอยกระทง” “หมูเด้ง” “แม่หยัว” “gmmtv2025″ “missuniversethailand2024” “คนตื่นธรรม” “ทนายตั้ม” “มิตรภาพคราบศัตรู” “ปิ่นภักดิ์” และ “Butterbear” หลังจากนั้น ข้อมูลที่ได้จะถูกคัดกรองและจัดหมวดหมู่ตามประเด็น กลุ่มเนื้อหา ประเภทแพลตฟอร์ม และกลุ่มผู้สื่อสารตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและเป็นกลาง โดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ซึ่งประกอบด้วย จำนวนค่าการมีส่วนร่วม ข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงวันที่และเวลาในการโพสต์ เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้องและลดอคติในการวิเคราะห์ประเด็นที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 มีดังนี้
อันดับที่ 1 เทศกาลลอยกระทง (95,578,396 Engagement)
เทศกาลลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยมีความเชื่อว่าการลอยกระทงในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นการขอขมาพระแม่คงคา และบูชารอยพระพุทธ ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้มีบทบาทสำคัญในการแบ่งปันภาพถ่าย และวิดีโอจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังสถานที่จัดงานในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย และกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกระแสการลดหรือยกเลิกการใช้กระทงแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะมีความสนใจน้อยกว่าในปี 2566 แต่ในปีนี้เริ่มมีการพูดถึงกระทงที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น “น้องวันเพ็ญ” กระทงพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิ TerraCycle Thai และเพจ Konggreengreen ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แม้ Engagement ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการปัญหาขยะจากกระทงรูปแบบใหม่ในปีนี้ ในด้านของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นแหล่งข้อมูลที่สร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งมียอดการมีส่วนร่วมสูงสุดถึง 71.67%
อันดับที่ 2 หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (32,796,339 Engagement)
“หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระ ได้รับความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนกันยายน มีการเผยแพร่ภาพ และวิดีโอความน่ารักในอิริยาบถต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ความนิยมยังคงต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤศจิกายน มีการนำเสนอในรูปแบบ วิดีโอการ์ตูน ภาพวาด การ Cover เพลงที่เกี่ยวกับหมูเด้ง รวมถึงการใช้ชื่อ “หมูเด้ง” ในรูปแบบการ์ตูนฮิปโปในการสอนศาสนาของบัญชี krubaheng ประเด็นที่น่าสนใจในเดือนนี้ ได้แก่ การนำเสนอความน่ารักของหมูเด้งผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในชื่อ ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง ได้รับความสนใจจนได้รับรางวัลสาขา Video of the year ในงาน TikTok Award นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากแฟนคลับที่ไม่พอใจที่พี่เลี้ยงหมูเด้งมีแฟนแล้ว และการเปรียบเทียบความน่ารักของหมูเด้งกับน้องเอวาเสือโคร่งสีทอง ในส่วนของผู้สื่อสารพบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์เป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงสุด เช่น khamoo.andthegang, kie_alan, และ pondonnews โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 63.71%
อันดับที่ 3 ละครแม่หยัว (31,546,213 Engagement)
ละคร “แม่หยัว” ทางช่อง One 31 เป็นละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ของ “แม่หยัวศรีสุดาจันทร์” ซึ่งเป็นสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราช นำแสดงโดยใหม่ ดาวิกา, ฟิล์ม ธนภัทร, และตุ้ย ธีรภัทร์ ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายน ละครกลับมามีกระแสทางลบ เนื่องจากมีฉากหนึ่งในละครมีการใช้ยาสลบกับแมว ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ แม้ว่าผู้กำกับจะออกมาชี้แจงว่าแมวตัวดังกล่าวไม่ได้รับอันตราย แต่กระแสยังคงมีอยู่ และเกิดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ขึ้น ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตละครจากช่อง One 31, ผู้จัด, นักแสดง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักแสดง เช่น davikahchannel, pizza_movie, และ fernynopjira เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 50.65%
อันดับที่ 4 GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (27,428,973 Engagement)
GMMTV 2025 RIDING THE WAVE เป็นงานแถลงข่าวที่เปิดเผยคอนเทนต์ และซีรีส์ของบริษัท GMMTV ในปี 2025 ซึ่งมีนักแสดงเข้าร่วมงานมากกว่า 100 ชีวิต และสร้างปรากฏการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์จนทำให้แฮชแท็ก #GMMTV2025 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ใน X ทั่วโลกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงที่สุด โดยเฉพาะจากบัญชีนักแสดง fourth.ig, gemini_nt, และ dew_jsu เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม Instagram สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดถึง 61.83%
อันดับที่ 5 การประกวด Miss Universe 2024 (16,095,568 Engagement)
การประกวด Miss Universe 2024 เป็นการประกวดครั้งที่ 73 ซึ่งรอบตัดสินจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก โดย โอปอล สุชาดา ช่วงศรี จากประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลรองอันดับที่ 3 มาได้ ในขณะที่ตำแหน่ง Miss Universe 2024 ตกเป็นของ มารีแอ วิกทอแอร์ แคร์ ไทล์วี จากประเทศเดนมาร์ก ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เช่น missuniverse.in.th, namtanlita, และ suchaaata เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม Instagram มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 42.58%
อันดับที่ 6 อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (14,350,608 Engagement)
อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ด้านธรรมะ ได้รับความนิยมจากการถ่ายทอดคำสอนในสไตล์ที่เข้มข้น และเข้าใจง่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง ในเดือนพฤศจิกายนอาจารย์เบียร์ได้ไปออกรายการโหนกระแสร่วมกับแพรรี่ ไพรวัลย์ และพระครูปลัดธีระ หรือ พระปีนเสา การปรากฏตัวในครั้งนี้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งจากผู้ใช้งานทั่วไป และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่นำวิดีโอจากรายการโหนกระแสไปตัดต่อ และเรียบเรียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อคำสอนของอาจารย์เบียร์เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 57.32%
อันดับที่ 7 ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง (12,639,975 Engagement)
ทนายษิทรา หรือ ทนายตั้ม ทนายความชื่อดังจากคดีหวย 30 ล้านระหว่างหมวดจรูญ และครูปรีชา ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงในกรณีหลอกลวงนางสาวจตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ให้ลงทุนในธุรกิจหวยออนไลน์เป็นเงินจำนวน 71 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมทนายษิทรา ขณะกำลังขับรถไปจังหวัดสระแก้ว ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า สื่อ สำนักข่าวเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยเฉพาะ amarintvhd, khaosodonline, และ thairath_news เป็นต้น ส่วนแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 61.44%
อันดับที่ 8 ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (12,551,059 Engagement)
ซีรีส์ High School Frenemy หรือมิตรภาพคราบศัตรู จากช่อง GMM25 นำแสดงโดยสกาย วงศ์รวี และ นานิ หิรัญกฤษฎิ์ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างนักเรียนจากสองวิทยาเขตที่ต้องมาเรียนร่วมกันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินของโรงเรียน ในส่วนของการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตซีรีส์จากนักแสดงบริษัท GMMTV โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารหลัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการของซีรีส์ รวมถึงบัญชีของนักแสดง เช่น skywongravee, junewanwimol19, และ Viu_th เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม TikTok ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 37.47%
อันดับที่ 9 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (10,531,578 Engagement)
“ปิ่นภักดิ์” ซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หญิงรักหญิง ที่มีเนื้อหาพร้อมบรรยากาศย้อนยุคโรแมนติก ทางช่อง Workpoint นำแสดงโดย ฟรีน สโรชา และ เบ็คกี้ รีเบคก้า ในเดือนพฤศจิกายนซีรีส์เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง ส่งผลให้ผู้ชมพูดถึงละครเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเนื้อหาในตอนที่ 16 ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่อง ในส่วนของผู้สื่อสาร พบว่า ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารหลัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่องทางอย่างเป็นทางการของซีรีส์ รวมถึงบัญชีของนักแสดง เช่น freen_official, idolfactory และ workpointofficial เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม X ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 68.40%
อันดับที่ 10 ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (9,983,541 Engagement)
น้องหมีเนย มาสคอตจากร้าน Butterbear กลับมาได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้งในอันดับที่ 10 หลังจากที่หลุดออกจาก 10 อันดับแรกในเดือนตุลาคม โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูงที่สุดในเดือนนี้มาจากกิจกรรม Butterbear’s 1st Fam Meeting และคลิปการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของ น้องหมีเนย ซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของร้าน Butterbear รวมถึงจากกลุ่มแฟนคลับ มัมหมี ในส่วนของผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด ยังคงเป็นผู้ใช้งานทั่วไป โดยแพลตฟอร์ม TikTok สามารถสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดที่ 41.89%
ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ในด้านกลุ่มเนื้อหา ผู้สื่อสาร แพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหา
จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามจำนวน Engagement ดังนี้
อันดับหนึ่ง กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 140,933,271 Engagement คิดเป็น 53.48% จาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (32,796,339 Engagement) ตามด้วย ละครแม่หยัว (31,546,213 Engagement), GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (27,428,973 Engagement), การประกวด Miss Universe 2024 (16,095,568 Engagement), ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (12,551,059 Engagement), ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (10,531,578 Engagement) และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (9,983,541 Engagement)
อันดับสอง เทศกาล พบ 1 ประเด็น คือ เทศกาลลอยกระทง โดยมีจำนวน 95,578,396 Engagement คิดเป็น 36.27%
อันดับสาม กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ พบ 1 ประเด็น คือ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม โดยมีจำนวน 14,350,608 Engagement คิดเป็น 5.45%
อันดับสี่ กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ พบ 1 ประเด็น คือ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง โดยมีจำนวน 12,639,975 Engagement คิดเป็น 4.80%
จะเห็นว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงเป็นกลุ่มเนื้อหาหลักที่ได้รับ Engagement มากกว่าทุกกลุ่ม และติด 10 อันดับแรกของทุกเดือน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าละครและซีรีส์ต่าง ๆ เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง เช่น ละครแม่หยัว ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม GMMTV 2025 RIDING THE WAVE เพื่อโปรโมตผลงานของบริษัท GMMTV ในปี 2025 และมีซีรีส์ใหม่ที่เพิ่งออกอากาศ เช่น ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในประเด็นสื่อสิ่งบันเทิงมากถึง 7 ประเด็น
กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (57.38%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (27.23%), สื่อ สำนักข่าว (15.13%) และ แบรนด์ (0.26%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 34.75% รองลงมาได้แก่ Instagram (28.24%), X (20.46%), Facebook (13.93%), และ YouTube (2.62%)
กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (50.21%) รองลงมา ได้แก่สื่อ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (44.40%), สื่อ สำนักข่าว (3.77%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (1.61%) ภาครัฐ (0.01%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 71.67% รองลงมาได้แก่ Instagram (12.31%), Facebook (11.80%), X (3.42%) และ YouTube (0.80%)
กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (34.02%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.22%), สื่อ สำนักข่าว (32.70%) และ แบรนด์ (0.06%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 57.32% รองลงมาได้แก่ Facebook (33.03%), YouTube (6.40%), Instagram (2.24%) และ X (1.01%)
กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (61.66%) รองลงมา ได้แก่สื่อ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (33.81%), ผู้ใช้งานทั่วไป (3.87%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (0.66%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 61.44% รองลงมาได้แก่ YouTube (19.75%), Facebook (15.12%), Instagram (2.02%) และ X (1.67%)
กลุ่มผู้สื่อสาร
ในภาพรวมช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่ากลุ่มผู้สื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ในสื่อออนไลน์ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (47.48%) ตามด้วย ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน (37.56%), สื่อ สำนักข่าว (14.20%), แบรนด์ (0.72%) พรรคการเมือง (0.03%) และภาครัฐ (0.01%)
กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้าง Engagement สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง จากการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับหมูเด้ง เช่น ครูบาเฮงที่สอนธรรมะโดยการใช้ตัวละครฮิปโปที่ชื่อหมูเด้งรวมถึงการโพสต์ภาพชีวิตประจำวันของหมูเด้ง การเต้น Cover เพลงหมูเด้ง ส่วนละครแม่หยัวเป็นการโปรโมตละครของนักแสดง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ส่วนในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล เป็นการเป็นการแบ่งปันภาพถ่าย วิดีโอการลอยกระทง ส่วนในกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้น เช่น การตัดคลิปอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม สอนธรรมะ และตัด highlight การดีเบตธรรมะในรายการต่าง ๆ การสรุปประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง ได้แก่ sunny_rung, khamoo.andthegang, ช่อง one Lakorn เป็นต้น
ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้างก Engagement ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาเทศกาลจากการแบ่งปันภาพถ่าย หรือวิดีโอจากเทศกาลลอยกระทงตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมาจากกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง เช่น การแชร์ภาพหมูเด้ง, ละครแม่หยัว, GMMTV 2025 RIDING THE WAVE, การประกวด Miss Universe 2024, ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู, ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear รวมถึงการกล่าวถึงอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม โดยการแชร์คลิปสั้นของอาจารย์เบียร์ ส่วนประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง เป็นการแชร์ข้อมูลการแสดงความคิดเห็น เช่น การคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีทนายษิทรา เป็นต้น
สื่อ สำนักข่าว สร้าง Engagement สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรรม อุบัติเหตุ จากประเด็น ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง โดยสื่อ สำนักข่าวยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาหนักอย่างอาชญากรรม อุบัติเหตุ ด้วยผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและมีทักษะในการนำเสนอที่ดีกว่าผู้สื่อสารกลุ่ม อื่น ๆ
ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์, พรรคการเมือง และ ภาครัฐ พบว่า แม้ในภาพรวมสร้าง Engagement ได้น้อยกว่า 3 กลุ่มแรก แต่ก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล รวมถึงการเชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมลอยกระทง แม้จะไม่ได้เป็นผู้สื่อสารหลัก ยกตัวอย่างเช่น การประกวดนางนพมาศไอคอนสยาม 2567 การซ้อมลอยกระทงออนไลน์ การนำเสนอไอเดียการลอยกระทงรักษ์โลก การจัดกิจกรรมที่ล้อไปกับเทศกาลลอยกระทง เป็นต้น
แพลตฟอร์มการสื่อสาร
จากการสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในโลกออนไลน์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวมพบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TikTok ซึ่งมีสัดส่วน 50.65% ตามด้วย Instagram 19.79%, Facebook 14.25%, X 12.32% และ YouTube 2.99%
เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์ม พบว่า TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง แต่ในเดือนพฤศจิกายน พบ Engagement ส่วนใหญ่บน TikTok จากเทศกาลลอยกระทง ทั้งการแบ่งปันภาพ วิดีโอ ในงานลอยกระทงในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะประเพณียี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ และลอยกระทงในจังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ยังพบความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระทงพลาสติกรีไซเคิล “น้องวันเพ็ญ” กระทงจิ๋ว ทำจากใบลิ้นกระบือ ดอกเข็ม การลอยกระทงออนไลน์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ยังคงมาจากความนิยมในเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่นชอบในเดือนนี้ เช่น การตามติดหมูเด้งในอิริยาบถต่าง ๆ, การเผยแพร่คำสอนพุทธศาสนาของอาจารย์เบียร์ การตัดฉากสำคัญของละครแม่หยัวมาเผยแพร่ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง ซึ่ง TikTok สามารถตอบโจทย์การสื่อสาร และสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น
ขณะที่แพลตฟอร์ม X พบว่า เด่นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเฉพาะจาก GMMTV 2025 RIDING THE WAVE และซีรีส์ปิ่นภักดิ์ ทั้งนี้ การสื่อสารในแพลตฟอร์ม X ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารหรือแสดงความสนใจในเรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเนื้อหาที่ต้องการความสดใหม่และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ จากกลุ่มแฟนคลับละคร รวมถึงแฟนคลับนักแสดงที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค หรือ หญิงรักหญิง และละครวัยรุ่นจากบริษัท GMMTV ที่พบว่าเริ่มเป็นที่นิยมหรือมีการสื่อสารใน X มากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567
Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement จากเทศกาลลอยกระทงและสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเทศกาลลอยกระทงจะมาจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์แต่งกายเป็นนางนพมาศ การโพสต์ Highlight ละครแม่หยัว ส่วนสื่อสิ่งบันเทิงจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อติดตาม เพื่อรายงานเรื่องราวที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เช่น การดีเบตระหว่างอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม กับพระครูปลัดธีระ หรือ พระปีนเสา ในรายการโหนกระแส เป็นต้น
Instagram สร้าง Engagement ได้สูง ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหาเทศกาล เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายได้ดีที่สุด และเป็นช่องทางที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้มากในทุกกลุ่มเนื้อหา เช่น GMMTV 2025 RIDING THE WAVE, การโพสต์โปรโมตละครของนักแสดง, การโพสต์ภาพผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2024, ความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear เป็นต้น
YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ โดยเฉพาะจากสื่อ สำนักข่าว จากประเด็นทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้รับสารต้องการเปิดรับข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถลงพื้นที่เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ได้ดีกว่ากลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิงที่อยู่ใน YouTube มักถูกใช้โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์ตัวอย่างละครที่จะเผยแพร่ในปี 2025 ของบริษัท GMMTV การโพสต์ฉากสำคัญของซีรี่ส์หรือละครตอนต่าง ๆ บนช่องทางอย่างเป็นทางการของช่องที่ออกอากาศหรือจากทางผู้สร้างละคร เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้ความสนใจสูงถึง 7 อันดับ คิดเป็นสัดส่วนที่ 50.65% โดยนับรวม หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (อันดับที่ 2) และความนิยมมาสคอตร้าน Butterbear (อันดับที่ 10) นอกนั้นเป็นสื่อและกิจกรรมให้ความบันเทิง คือ ละครแม่หยัว (อันดับที่ 3) GMMTV 2025 RIDING THE WAVE (อันดับที่ 4) ซีรีส์ High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู (อันดับที่8) และซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (อันดับที่ 9) ตามด้วยกลุ่มเนื้อหาเทศกาล จากประเด็นเทศกาลลอยกระทง (อันดับที่ 1) กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ จากประเด็นอาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม (อันดับ 6) นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 1 ประเด็น ได้แก่ ทนายษิทราถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง (อันดับ 7)
เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจมากเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนผู้สื่อสารและแพลตฟอร์มคล้ายกับปีที่แล้ว
ในปี 2566 เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจเป็นอันดับที่ 1 โดยมี Engagement ประมาณ 85 ล้านครั้ง มีผู้สื่อสารหลักเป็นผู้ใช้งานทั่วไปที่ 53.29% และมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ 63.37% ในขณะที่ปี 2567 เทศกาลลอยกระทงได้รับความสนใจเป็นอันดับที่ 1 โดยมี Engagement ประมาณ 95 ล้านครั้ง มีผู้สื่อสารหลักและแพลตฟอร์มหลักคือ ผู้ใช้งานทั่วไป และ TikTok กล่าวได้ว่า จำนวนผู้ที่ให้ความสนใจกับเทศกาลลอยกระทงมีเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่เนื้อหายังมีลักษณะคล้ายกับปี 2566 คือ การแบ่งปันภาพความสวยงามของสถานที่จัดงานตามจังหวัดต่าง ๆ และภาพของผู้ที่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังพบแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น กระทงทำจากพลาสติกเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้ กระทงจิ๋ว การลอยกระทงออนไลน์ เป็นต้น
หมูเด้งได้รับความนิยมลดลง ในขณะที่ หมีเนย มีความนิยมใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา
หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2567 สื่อสังคมออนไลน์เริ่มให้ความสนใจลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนเนื้อหาที่ยังได้รับความสนใจสูงเป็นความน่ารักของหมูเด้งผ่านช่องทาง ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง ซึ่งได้รับรางวัลในงาน TikTok Award นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวจากแฟนคลับที่ไม่พอใจที่พี่เลี้ยงหมูเด้งมีแฟนแล้ว และการเปรียบเทียบความน่ารักของหมูเด้งกับน้องเอวาเสือโคร่งสีทอง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ความสนใจลดน้อยลงอาจเป็นเพราะสื่อสังคมออนไลน์เริ่มไปโฟกัสที่น้องเอวา เสือโคร่งสีทองที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ประกอบกับหมูเด้งเริ่มโตขึ้นทำให้ไม่น่ารักเท่ากับตอนที่ยังเล็ก
ในเดือนพฤศจิกายน หมีเนยสามารถกลับเข้ามาเป็นอันดับที่ 10 หลังจากหลุดไปอยู่อันดับที่ 12 ในเดือนตุลาคม แม้จำนวน Engagement อยู่ในระดับเดียวกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน คือที่ประมาณ 9 ล้านครั้ง ซึ่งอาจสรุปได้ว่ากลุ่มฐานแฟนคลับของหมีเนยเริ่มคงตัวแต่ยังคงมีความเหนียวแน่น
สื่อ สิ่งบันเทิงยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซีรีส์วายเริ่มกลับมาได้รับความนิยม
ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 7 ใน 10 ประเด็น นอกเหนือจากหมูเด้ง และหมีเนยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีละครและซีรีส์ที่เข้าสู่ช่วงท้ายเรื่องอย่าง แม่หยัว และปิ่นภักดิ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว Content ใหม่ในปี 2025 ของบริษัท GMMTV และการประกวด Miss Universe 2024 ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ได้จนติดอันดับที่ 4 และอันดับที่ 5 ในเดือนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ ซีรีส์วาย กลับมาติดอันดับอีกครั้งหลังจากซีรีส์เขียนรักด้วยยางลบติดอันดับที่ 7 เดือนกรกฎาคม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จัดละครเริ่มกลับมาให้ความสนใจกับซีรีส์วายมากขึ้น หลังจากการทดสอบความนิยมซีรีส์แนวแซฟฟิกซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน
ประเด็นที่ไม่ติด 10 อันดับแรก และแนวโน้มความสนใจในภาพรวม
การสำรวจข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2567 ยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคม และข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่อยู่ในความสนใจในอันดับที่ 11-20 เช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป (อันดับที่ 11) ที่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการออกหมายจับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยเฉพาะนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช นักการเมืองชื่อดัง, หนุ่ม กรรชัยตัดขาดฟิล์ม รัฐภูมิจากการแอบอ้างชื่อเรียกร้องเงินจากบอสดิไอคอนเพื่อให้มาออกรายการโหนกระแส (อันดับที่ 16)
กล่าวได้ว่า 10 อันดับแรกความสนใจของโลกออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นเรื่องของสื่อ สิ่งบันเทิง เป็นหลัก ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่พบตั้งแต่เดือนมกราคม 67 แต่การที่ “เทศกาลลอยกระทง” ขึ้นอันดับ 1 ความสนใจของโลกออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในเดือนธันวาคม ที่มีทั้งวันสำคัญ และ เทศกาล อย่างคริสต์มาส และวันสิ้นปี จะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับวันลอยกระทงหรือไม่
ความเห็นล่าสุด