โครงการยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย
โดย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
1. แนวคิดและคุณค่า
ร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล ประกอบด้วยเซลล์และอวัยวะมากมาย หลากหลายสุดประมาณ แต่ทั้งหมดบูรณาการกันอย่างสมบูรณ์เป็น
องค์รวมหนึ่งเดียว คือ ความเป็นคนซึ่งมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์
ที่เป็นดังนั้นได้เพราะร่างกายมีระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (Information and communication)
ที่ทำให้รู้ถึงกันหมดทั่วตัว การรู้ถึงกันทันทีทำให้ประสานหรือบูรณาการกันได้ทั้งหมด ทำให้มีความบรรสานสอดคล้อง (Harmony
) และสมดุล ก่อให้เกิดความเป็นปรกติสุขหรือสุขภาพดีและอายุยืน
สังคมก็เช่นเดียวกันที่ต้องการระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารให้ทั้งหมดบูรณาการกัน เป็นองค์รวมที่มีบูรณภาพและดุลยภาพเพื่อความเป็นปรกติสุขและความยั่งยืน
ในความเป็นจริงยังไม่เป็นอย่างนั้น ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารยังไม่ทั่วถึงและดีพอที่จะสร้างสังคมสันติสุข แต่มีวิกฤตด้านต่าง ๆ มากมาย เป็น
วิกฤตชาติที่ยังไม่มีทางแก้ไข
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีพันธกิจในการส่งเสริมการสื่อมวลชนให้สามารถสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็นสังคมสันติสุข จึงขอเสนอ
โครงการยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย
2. ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย
ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ
ในเบื้องต้นจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 6 เรื่อง ดังนี้
- ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ถักทอพลังบวกบนแผ่นดินไทย
- ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
- ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับสมรรถนะของชาติ
- ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หรือ P4
(Participatory Public Policy Process)
- ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตสังคม
- ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยกับการผลิตภาพยนตร์สร้างสรรค์ประเทศไทย
ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์อาจเพิ่มขึ้นภายหลังดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้ว อธิบายความสำคัญของแต่ละยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้
(1) ยุทธศาสตร์ถักทอพลังบวกบนแผ่นดินไทย
คนไทยทำอะไรดี ๆ กันมาก แต่ไม่ค่อยมีการสื่อเพราะข่าวด้านลบได้รับความสนใจมากกว่า ยุทธศาสตร์นี้จะตั้งศูนย์รับการสื่อสารเรื่องดี ๆ ที่มีผู้ทำกันทั่วประเทศ ส่งคนไปศึกษา และนำมาสื่อให้รู้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มพูนกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติ ก่อความบันดาลใจให้มีผู้ปฏิบัติเรื่องดี ๆ เพิ่มขึ้น
พลังบวกบนแผ่นดินไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มประเทศ ก่อให้เกิดความสุข ปัญญา และพลังแผ่นดินที่จะก้าวสู่อนาคตที่ดี
(2) ยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างสุด ๆ มากเป็นที่ ๑ หรือ ๓ ของโลก ความเหลื่อมล้ำ คือ การเสียสมดุล ซึ่งนำไปสู่ปัญหานานาประการเป็นห่วงลูกโซ่ อาจเรียกว่า
วิกฤตความเหลื่อมล้ำก็ได้ การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวขจัดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เพราะธรรมชาติของเศรษฐกิจมหภาค คือ รวยกระจุกจนกระจาย ดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่ดูผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งหลายยังไม่ตระหนักความจริงในข้อนี้
การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ คือ จุดคานงัด
เมื่อทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีเงินออม ก็จะอยู่ดีมีสุข หายจน มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ประชาชนทั้งประเทศจะมีอำนาจซื้อมาก ทำให้เศรษฐกิจมหภาคเติบโตและมั่นคง เพราะอยู่บนฐานความเข้มแข็งของเราเอง ไม่ใช่พึ่งพิงแต่ตลาดโลกซึ่งผันผวนและวิกฤตได้ง่าย
โครงการนี้จะรวบรวมวิธีแก้จนทั้งหมดจากพื้นที่ เช่น ๑๗ วิธีแก้จน
[*] แต่น่าจะมีมากกว่านั้นเอามาสื่อเผยแพร่ให้รู้ทั่วกันอันจะนำไปสู่การปฏิบัติทั่วประเทศ ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำได้จริง ๆ
(3) ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับสมรรถนะของชาติ
สมรรถนะของชาติต่ำเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขวางกั้นการพัฒนาประเทศไทย ที่ต่ำเพราะระบบการศึกษาที่เน้นการท่องวิชาแต่ทำอะไรไม่เป็น การปฏิรูปการศึกษาก็ไม่เคยสำเร็จ
ปฏิรูปการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ทำให้คนไทยทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น คือ ยุทธศาสตร์การยกระดับสมรรถนะของชาติ
โครงการนี้จะสร้างแพลตฟอร์มกลาง เพื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ ให้คนทั้งประเทศที่รู้เห็นหรือมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี สื่อเข้ามา จะเป็นตัวอย่างในประเทศหรือจากทั่วโลกก็ได้ จะเกิดคลังความรู้เรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถสื่อออกไปทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติเพื่อยกระดับสมรรถนะของชาติ
(4) ยุทธศาสตร์ “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ
P4(
Participate
Public
Policy
Process
)
นโยบายสาธารณะควรเป็นปัญญาสูงสุดของชาติ เพราะมีผลต่อ
วัฒนะหรือ
หายนะของชาติ ประเทศไทยมีความสำเร็จทางนโยบายน้อยมากเป็นเหตุให้ชาติวิกฤต ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจเชิงระบบของนโยบาย ได้แต่ทำแบบแยกส่วนและบางส่วนไม่เป็นระบบครบวงจร ถ้าทำอย่างเป็นระบบครบวงจรก็จะสำเร็จทุกเรื่อง เรียกว่า
“สัมฤทธิศาสตร์” เมื่อมีความสำเร็จทางนโยบายชาติก็พ้นวิกฤต และลงตัวทุกด้าน รวมทั้งทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด
P4 เป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จึงเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และเป็นประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ คือ ก่อให้เกิดความสำเร็จทางนโยบาย
ฉะนั้น จึงควรมียุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ P
4 เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ แบบมีส่วนร่วมไปสู่ความสำเร็จ ให้ชาติพ้นวิกฤตและเกิดความเจริญอย่างแท้จริงทุกด้าน รวมทั้งยกระดับคุณภาพการเมือง เพราะการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบาย
(5) ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตสังคม
สังคมมีความเครียดและพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ รวมทั้งการทำร้ายตัวเอง ครอบครัว และคนอื่น เช่น การกราดยิงโดยไม่มีเหตุผลเพิ่มขึ้น ดังที่เกิดในสหรัฐอเมริกา
สังคมปัจจุบันเผชิญความกดดันหลายด้านมากมาย รวมทั้งความเหลื่อมล้ำหรือขาดความเป็นธรรม การรับรู้จากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ซึ่งเป็นดังมลภาวะทางสังคม
นักจิตวิทยา นักพฤติกรรมศาสตร์ และนักจิตเวชศาสตร์ คือใช้สื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตสังคม โดยใช้ข้อมูลและการคิดด้วยเหตุผล ลดความขัดแย้งในจิตใจ สร้างสุขภาวะทางจิตทางปัญญาให้สังคมในวงกว้าง
(6) ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยผลิตภาพยนตร์
มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนรวมกันมีประมาณ ๑๔๐ แห่ง มีนักวิชาการและความรู้ในสาขาต่าง ๆ เป็นอันมาก แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง ในขณะที่สังคมต้องการ
ความรู้เพื่อการใช้งานไม่ใช่ความรู้ที่ลอยตัว
การผลิตภาพยนตร์ดี ๆ เป็นช่องทางใหญ่ที่มหาวิทยาลัยจะคัดสรรกลั่นกรองความรู้ที่เป็นประโยชน์สอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง ผู้คนทุกชาติทุกภาษาล้วนชอบดูหนัง ถ้าทุกตำบลมี
ศูนย์ศิลปะตำบลสำหรับจัดแสดงสุนทรียกรรมต่าง ๆ รวมทั้งฉายภาพยนตร์ ถ้ามีภาพยนตร์ดี ๆ ไปฉายให้ดูกันทุกตำบล จะเป็นเครื่องพัฒนาจิตใจและปัญญาของประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
ทุกมหาวิทยาลัยควรมีสมรรถนะในการผลิตภาพยนตร์ดี ๆ จะทำให้มหาวิทยาลัยต้องสนใจสังคม เข้าใจความต้องการของสังคมและต้องดัดแปลงหรือสร้างความรู้เพื่อการใช้งานของสังคม รวมทั้งคิดถึงศิลปะการถ่ายทอดความรู้ผ่านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องแข่งขันกันสร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมของสังคม ทำให้ยกระดับสมรรถนะของมหาวิทยาลัยโดยรอบด้าน
เรื่องนี้จะเสมือนเพิ่มบริษัทผลิตภาพยนตร์ขึ้น ๑๐๐ กว่าโรง อาจร่วมกันผลิตภาพยนตร์ใหญ่ที่คนอยากดูทั่วประเทศและทั่วโลก ซึ่งจะเป็นพลังบวกที่ใหญ่มาก
3. วิธีดำเนินการ
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผู้เสนอโครงการยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย จะจัดตั้ง
สำนักงานโครงการ เป็นกลไกในการดำเนินการ และดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- จัดประชุมระดมความคิดในแต่ละยุทธศาสตร์ โดยเชิญผู้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นมาประชุมระดมความคิดซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนถึงขั้นชัดเจนที่จะปฏิบัติได้ ในกระบวนการนี้จะปรากฏคนที่มีฉันทะวิริยะและทักษะในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ก็จะเป็นกลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
แต่ละยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์
- จัดตั้งกลุ่มยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย ๖ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีประธานที่มีปัญญาบารมี
- บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่ละยุทธศาสตร์ร่วมทำแผนปฏิบัติ
- ผู้ร่วมทำแผนปฏิบัติลงมือปฏิบัติตามแผน
- จัดทีมติดตามการปฏิบัติเพื่อแก้ไขอุปสรรคขัดข้องให้ปฏิบัติได้
- ประเมินผลการปฏิบัติตามแผนว่าได้ผลตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด ผลการประเมินเป็นข้อมูลป้อนกลับทำให้กระบวนการทั้งหมดดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อมีการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ครบวงจรก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์ของยุทธศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ
4. ผลจากยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยทั้ง ๖ ด้าน
- ผลสร้างสรรค์ประเทศไทย ๖ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทำให้ประเทศไทยเจริญทุกด้าน
- สร้างนักสื่อสร้างสรรค์จำนวนมาก จากการปฏิบัติจริงและได้ผลจริง ไม่ใช่เรียนรู้แต่ทฤษฎีแต่ปฏิบัติไม่เป็น
- สร้างคนไทยจำนวนมากที่มีสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ มหาวิทยาลัยและสังคมคิดเชิงเทคนิคจึงทำโดยเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งที่เรียกว่า Technic-driven ได้ผลแต่เพียงเล็กน้อย ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ การปฏิบัติตามโครงการนี้จะสร้างสมรรถนะใหม่แห่งการคิดเชิงระบบและการจัดการ ทำให้สามารถใช้เทคนิคทำให้เป็นประโยชน์ใหญ่ในวงกว้าง สมรรถนะใหม่ของประเทศนี้จะนำมาใช้พัฒนาสร้างสรรค์ประเทศในทุกด้าน
- ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ระบบการผลิตบุคลากรใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างแก่การผลิตบุคลากรทุกประเภท ซึ่งจำเป็นต้องอธิบาย ที่ผ่านมา ๑๐๐ กว่าปี การศึกษาสำหรับบุคลากรประเภทต่าง ๆ ล้วนเอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง (Technic-oriented) คือ องค์กรใดมีความรู้ในวิชาใดก็เปิดหลักสูตรวิชานั้น ๆ เพื่อผลิตบัณฑิตหรือบุคลากรที่มีความรู้ในวิชานั้น ๆ เช่น นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มักไม่ตระหนักกันว่าวิธีนี้ได้ผลน้อย
ดังที่บัณฑิตที่จบมาทำงานไม่เป็น
เพราะ
งานเป็นระบบ เช่น ระบบการสื่อสาร เทคนิคเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบ แต่ระบบยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีก ถ้าไม่เข้าใจระบบก็ทำงานไม่ได้ผล
การเรียนรู้ในการทำงานในระบบให้ได้ผลต้องเข้าใจระบบทั้งหมด เมื่อ
งานได้ผลคนก็เก่งด้วย นี้เรียกว่าการเรียนรู้โดยเอาระบบเป็นตัวตั้ง
(System-oriented education) ผลสำเร็จไม่ได้มีแต่การผลิตบัณฑิต แต่เป็นการพัฒนาระบบนั้น ๆ ไปด้วย และได้บัณฑิตที่ทำงานเป็นไปด้วยจำนวนมาก มีความพยายามเป็นอันมากที่จะพัฒนานักสื่อให้เก่ง โดยการจัดหลักสูตรอบรมปรากฏว่าไม่ได้ผลเพราะเป็น Technic-oriented
ลองหันไปพิจารณายุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์ แต่ละยุทธศาสตร์คือ
การขับเคลื่อนระบบอย่างครบวงจร และพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ เอาผลสำเร็จเป็น
ตัวตั้ง (Result-oriented)
ไม่ใช่เพียงสอนทางวิชาการ (Academic-oriented)
การทำงานให้ได้ผลสำเร็จต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดและรอบด้านมากกว่าการสอนไปเรื่อย ๆ
ผลผลิตทางบุคลากรจากการทำงานในระบบให้สำเร็จจึงแตกต่างจากบัณฑิตที่จบจากการสอนไปเรื่อย ๆ
ที่ไม่ใช่ Result-oriented
มีข้อเสนอแนะระดับโลกว่าการผลิตบุคลากรในศตวรรษที่ 21
ควรปรับจาก Technic-oriented
เป็น System-oriented
แต่ก็ยังไม่ค่อยมีผู้ใดเข้าใจ
ยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย จะผลิตนักสื่อสร้างสรรค์ที่เก่ง ๆ จำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะนี้คือ System-oriented education และเป็นตัวอย่างให้ระบบการศึกษาทั้งหมดเห็นว่า System-oriented education
นั้นคืออย่างไร และดีอย่างไร
จึงกล่าวว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
- โครงการยุทธศาสตร์สื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยที่สำเร็จ จะทำให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีผลสำเร็จใหญ่สมฐานะแห่งการเป็นองค์กรระดับชาติ และรู้ว่าถ้าจะมีพระราชบัญญัติระบบสื่อมวลชนควรจะตั้งขึ้นในลักษณะใด จึงจะเอื้ออำนวยให้เกิดระบบสื่อมวลชนที่สามารถสร้างสรรค์ประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์
- กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะมีผลงานสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่
คนทั้งประเทศ สร้างศรัทธา ความนิยม และการอุดหนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
5. งบประมาณ
เนื่องจากยุทธศาสตร์นี้เป็นของใหม่ ยังไม่สามารถกำหนดวงเงินงบประมาณได้จนกว่าจะทำแผนปฏิบัติ
หากคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สำนักงานกองทุนอาจมีทางเลือกดังนี้
- ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาโครงการกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จนปรากฏวงเงินงบประมาณ
- ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานกองทุน อาจประมาณการได้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะใช้งบประมาณเท่าใด
สำนักงานกองทุนก็อนุมัติไปตามนั้น
สำนักงานกองทุนอาจมีวิธีอื่นใดอีกก็ได้
———————————————————————————
[*] บทความประกาศสงครามเอาชนะความยากจน
17 มรรควิธี
ความเห็นล่าสุด