เลือกหน้า

จากความสำเร็จของภาพยนตร์ “ธี่หยด” ที่มาจากเรื่องเล่าในรายการ The Ghost Radio ซึ่งมียอดรับชมสูงถึง 14 ล้านครั้งบนยูทูบ สู่ภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ 420 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก Thailand Box Office ) จนทำให้หลายคนสนใจชื่อเรื่องว่า มีที่มาจากไหน มีความหมายอย่างไร เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีบัญญัติในพจนานุกรมไทย และไม่มีความหมายที่บ่งบอกชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของภาษา

          โดยทั่วไปแล้วการตั้งชื่อหนังผี หรือเรื่องเล่าผีนั้น มักเพื่อการสื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราว เพื่อสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดคนดู อีกทั้งยังมุ่งให้เป็นที่จดจำ สื่อความรู้สึกหรืออารมณ์เรื่อง บอกถึงจุดมุ่งหมายหรือเรื่องราวของหนัง แต่ขณะเดียวกัน การตั้งชื่อหนังผี หรือเรื่องเล่าผี ก็มีส่วนสำคัญในการสะท้อนระบบความคิด มโนทัศน์ ความเชื่อและวัฒนธรรมของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องผี ความกลัว และเรื่องเหนือธรรมชาติได้เช่นกัน (เอกชัย แสงโสดา, 2556)

          MEDIA ALERT จึงสนใจวิเคราะห์การตั้งชื่อเรื่องเล่าผี จากรายการ The Ghost Radio โดยศึกษาเรื่องเล่าที่ได้รับความนิยม 100 เรื่อง บนแพลตฟอร์มยูทูบ ช่วงปี 2560-2566 เพื่อวิเคราะห์วิธีการและเทคนิค การตั้งชื่อเรื่องเล่าผี กับความเชื่อเรื่องผีของสังคมไทย

ผลการวิเคราะห์และจัดกลุ่มชื่อเรื่องเล่าผียอดนิยม 100 เรื่อง จากรายการ The Ghost Radio บนแพลตฟอร์มยูทูบ ช่วงปี 2560-2566 พบว่า ชื่อเรื่องเล่าผีที่ระบุสถานที่ เช่น บ้านร้าง ถนน โรงเรียน ฯลฯ มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนถึงนัยยะความเชื่อของไทยในเรื่องผี วิญญาณ ที่ผูกพันกับสถานที่ที่เสียชีวิต ในขณะที่การวิเคราะห์เทคนิคการตั้งชื่อเรื่องเล่าผี พบว่า ชื่อเรื่องเล่าที่ไม่บอกว่าเป็นเรื่องผี มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเทคนิคหนึ่งในการสร้างความน่าสนใจของเรื่องเล่าได้มากกว่าการมีคำว่าผีโดยตรง เช่น กรณีเรื่องธี่หยด เป็นต้น

ชื่อเรื่องผีไทย มาจากอะไร?

จาก 100 อันดับที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่อง The Ghost Radio ระหว่างปี 2560-2566 พบวิธีการการตั้งชื่อเรื่อง แบ่งเป็น 6 กลุ่ม  ได้แก่

  1. การตั้งชื่อเรื่องจากสถานที่เกิดเหตุ พบ 30 เรี่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด โดยการตั้งชื่อเรื่องจะระบุถึงสถานที่เกิดเหตุอย่างชัดเจน ได้แก่ บ้าน บ้านร้าง หอพัก อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านโรงแรม โรงเรียน ป่า ป่าช้า เช่น บ้านตามสั่ง โดยคุณแพร, 308 ห้องผีตายโหง โดยคุณกิ๊ก, โรงแรมร้อยศพ โดยคุณกบ
  2. การตั้งชื่อเรื่องด้วยถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสนใจ ตกใจ สงสัย พบ 28 เรื่อง โดยการตั้งชื่อเรื่องจะเน้นใช้ประโยค กลุ่มคำ ในประเภทต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มคำถามชวนให้อยากรู้หรือสงสัย กลุ่มคำประโยคที่ไม่บอกเรื่องราวที่ชัดเจน กลุ่มคำเตือน คำสั่ง ข้อห้าม กลุ่มคำกริยาทั่วไปที่ไม่บ่งชัดว่าเป็นเรื่องผี กลุ่มคำที่สะท้อนถึงความรู้สึก เช่น โชคดีที่ไม่ว่าง โดยคุณอุ้ม, เอาเรื่องเราไปเล่าสิ น่ากลัวนะ โดยคุณเอก หมีมีหนวด, กลับตาลปัตร โดยคุณโจ
  3. การตั้งชื่อเรื่องจากพิธีกรรม ไสยศาสตร์ พบ 15 เรื่อง โดยในชื่อเรื่องจะระบุถึง พิธีกรรม ความเชื่อไสยศาตร์ มนต์ดำ เช่น โดนของเขมร โดยคุณกาน, เรื่องของคนเล่นของ โดยคุณจิ๊บ, พิธีกรรมที่หนึ่ง โดยคุณบอล
  4. การตั้งชื่อเรื่องจากวัน เวลาเกิดเหตุ พบ 15 เรื่อง โดยชื่อเรื่องจะเน้นถึง วัน วันที่ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น เห็นผี 41 วัน โดยคุณเบิร์ด, เรื่องสยองของเช้าตรู่ โดยคุณฟ้า, เรื่องคืนส่งพัสดุ โดยคุณเอิร์ท
  5. การตั้งชื่อเรื่องจากบุคคล อาชีพ พบ 9 เรื่อง โดยการตั้งชื่อเรื่องจะระบุถึงอาชีพ หรือบุคคล ชื่อคน เช่น กาลครั้งหนึ่งของลุงสัปเหร่อ โดยคุณโอ๊ต, พยาบาล 9 ศพ โดยคุณปุ้ย สุรินทร์, คำสารภาพของหมอผี โดยครูตรี
  6. การตั้งชื่อเรื่องจากวัตถุ สิ่งของ พบ 3 เรื่อง โดยจะเน้นถึงชื่อวัตถุ สิ่งของ ในชื่อเรื่อง ได้แก่ เสื้อวินเทจ โดยคุณเอิร์ท, ของเก่าอาถรรพ์ โดยคุณอาร์ม จอมหักมุม, กระสอบ โดยคุณอาร์ต

นอกเหนือจากการตั้งชื่อเรื่องด้วยถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสนใจ ตกใจ สงสัย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เทคนิคการตั้งชื่อ จะเห็นได้ว่า ผลการจำแนกชื่อเรื่องเล่าในกลุ่มที่เหลือ สะท้อนถึงนัยยะความเชื่อเรื่องผีและปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติบางอย่างของสังคมไทย เช่น ผีและความผูกพันกับสถานที่ที่เสียชีวิตหรือที่เกิดเหตุ ผีและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เวลาที่ผีมักปรากฎตัว บุคคลที่เจอผีซึ่งมักมีอาชีพเกี่ยวข้องกับความตาย เช่น พยาบาล สัปเหร่อ เป็นต้น หรือกระทั่งวัตถุสิ่งของบางอย่างที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับผี หรือผู้ตาย เช่น เรื่อง ของเก่าอาถรรพ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบบ่อยในเรื่องเล่าผี

ผลการวิเคราะห์ชื่อเรื่องตามลักษณะหรือเทคนิคการตั้งชื่อ:

จากการวิเคราะห์ชื่อเรื่องเล่าทั้ง 100 เรื่อง ตามแนวการวิเคราะห์ที่ปรากฎในการศึกษาเรื่อง “การศึกษามโนทัศน์การตั้งชื่อและการเล่าเรื่องของหนังผีไทย ตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์โดย เอกชัย แสงโสดา (2556) ซึ่งแบ่งชื่อเรื่องเล่าผีเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับทั่วไป ระดับพื้นฐาน ระดับเฉพาะเจาะจง และระดับคำไม่พื้นฐาน พบว่า

  1. ชื่อเรื่องระดับทั่วไป (ชื่อเรื่องที่มีคำว่าผี) หมายถึง ชื่อเรื่องเป็นที่รับรู้โดยทันทีว่าเป็นเรื่องผี โดยไม่ต้องตีความเป็นอย่างอื่น มีการเลือกใช้คำที่มีคำว่าผี และสื่อถึงเรื่องผีอย่างชัดเจน พบจำนวน 5 เรื่อง เช่น รถทัวร์ผี โดยคุณพจน์, ป่าผีหลอก โดยคุณยาว, เห็นผี 41 วัน โดยคุณเบิร์ด
  2. ชื่อเรื่องในระดับพื้นฐาน (ชื่อเรื่องที่สื่อถึงผีแต่ไม่มีคำว่าผี) หมายถึง ชื่อเรื่องผีนั้นไม่ปรากฎคำว่าผี หรือวิญญาณ แต่รับรู้ในระดับพื้นฐานว่า เกี่ยวข้องกับผีในมิติใดมิติหนึ่ง เช่น ชื่อเรื่องบอกลักษณะของผี แสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของผี  การเวียนว่ายตายเกิด ความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น พบจำนวน 29 เรื่อง เช่น หลอนทั้งโรง โดยคุณโอ๊ต, ของเก่าอาถรรพ์ โดย คุณอาร์ม จอมหักมุม, ร่างเกิดใหม่ โดยครูพี
  3. ชื่อเรื่องในระดับเฉพาะเจาะจง (ชื่อเรื่องที่บอกประเภทผี) หมายถึง ชื่อเรื่องผีที่เจาะจงลงไปว่าผีในเรื่องเป็นผีชนิดใด โดยระบุชื่อเรียกของผีชัดเจนจนคนฟังรู้ว่าเป็นผีลักษณะอย่างไร พบจำนวน 2 เรื่อง คือ ผีแม่ลูกอ่อน แรงรักแรงอาฆาต โดย พี่บ่าวตูน, ห้องผีตายโหง โดยคุณกิ๊ก
  4. ชื่อเรื่องในระดับคำไม่พื้นฐาน (ชื่อเรื่องที่ไม่บอกว่าเป็นเรื่องผี) หมายถึง เรื่องผีีนั้นไม่่สามารถระบุุได้้ว่่าเป็็นเรื่องผีีหรืือไม่่ หรือบอกไม่ได้ชัดว่าเกี่่ยวข้้องกัับผีีในมิิติิใด ซึ่งพบมากที่สุด จำนวน 64 เรื่อง เช่น โรงแรมข้างทาง โดยคุณชอว์, ประเทศไทย โดยคุณบอล, หมู่บ้านที่ไม่ปรากฏบนแผนที่ โดย คุณเจน นิวซีแลนด์

ผลการวิเคราะห์และจำแนกชื่อเรื่องเล่าผีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องเล่าผีในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ผี” อยู่ในชื่อเรื่องโดยตรง แต่เป็นการตั้งชื่อโดยนำลักษณะเด่นอื่น ๆ ของเรื่องเล่านั้น ๆ มาใช้เป็นชื่อเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น กรณีเรื่องธี่หยด เป็นต้น หรือ อาจเป็นการนำคำคุณศัพท์ คำกริยา หรือคำอื่น ๆ ที่สื่อถึงความน่ากลัว คุณลักษณะ หรือพฤติกรรมของผี ตามความเชื่อของคนไทยมาใช้เป็นชื่อเรื่อง โดยไม่มีคำว่าผีปรากฎอยู่ แต่ผู้ดูหรือผู้ฟังสามารถเชื่อมโยงถึงเรื่องผี หรือเรื่องราวเหนือธรรมชาติได้ทางอ้อม เช่น หลอนทั้งโรง เป็นต้น

สรุปผลการศึกษา        

          จากศึกษาการตั้งชื่อ 100 อันดับเรื่องเล่าผียอดนิยมจากรายการ The Ghost Radio บนยูทูบ ปี 2560-2566 สามารถสรุปได้ดังนี้

จากการวิเคราะห์และจำแนกชื่อเรื่องเล่าผีตามรูปธรรมที่พบจริง พบว่ามีเรื่องผีที่ระบุสถานที่เกิดเหตุมากที่สุด ซึ่งอาจสอดคล้อง หรือสะท้อนความเชื่อเรื่องผีของไทยที่มักจะสิงสถิตในสถานที่ที่มีผู้เสียชีวิต และมักพบเรื่องเล่าหรือตำนานความเชื่อที่เกี่ยวกับสถานที่ได้บ่อยครั้ง เช่น บ้านร้าง ถนน โรงเรียน เป็นต้น

จากการวิเคราะห์และจำแนกชื่อเรื่องเล่าผีตามลักษณะ/เทคนิคการตั้งชื่อเรื่องนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ชื่อเรื่องผีไม่จำเป็นต้องน่ากลัว ไม่ต้องสะท้อนความเป็นผี แต่อาจใช้วิธีการตั้งชื่อเรื่องให้ชวนสงสัย สื่อถึงปริศนาบางอย่าง เพื่อดึงดูดความสนใจใคร่รู้ของคนดู หรือคนฟัง ได้มากกว่าการตั้งชื่อที่มีคำว่าผี หรือมีคำบางอย่างที่สื่อถึงผีโดยตรง  

ไม่ว่าสังคมใด เรื่องเล่าผี เป็นหนึ่งในประสบการณ์ความเชื่อที่มีการส่งต่อรุ่นต่อรุ่นผ่านการเล่าจากในวงคุย พัฒนามาผ่านสื่อหลากหลาย รวมทั้งภาพยนตร์ ที่ไม่ว่าจะตั้งชื่ออย่างไร หนังผี ก็ยังคงเป็นที่สนใจ แม้จะเป็นเรื่องสยองขวัญก็ตาม

 

ข้อค้นพบอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องผีที่ได้รับความนิยม จำแนกภาพรวมรายปี:

จาก 100 อันดับที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่อง The ghost radio ในปี 2560-2566 พบการรับชมวิดีโอสูงถึง 350,112,040 วิว เฉลี่ย 3,501,120 วิวต่อเรื่อง โดย ปี 2566 มีวิดีโอและยอดการรับชมมากที่สุดถึง 21 เรื่อง ยอดการรับชมรวม 72,626,191 วิว สามารถแบ่งตามปีที่อัปโหลดลดวิดีโอ ได้ดังนี้

ชื่อคนเล่าเรื่องผีที่พบมากที่สุด:

จาก 100 เรื่องเล่ายอดนิยมสูงสุดในช่อง The ghost radio ในปี 2560-2566 พบการเล่าเรื่องจากคุณโบนัส มากที่สุดถึง 5 เรื่อง ได้แก่เรื่อง โรงแรมนิรนาม, หมู่บ้านป้าเพ็ญ, สายสุดท้ายหลังเที่ยงคืน, หมู่บ้านนิรนามกับเจ้าสาวปริศนา และ งานใหม่กับความลับของบ้านหลังใหญ่ ยอดการรับชมรวม 22,850,180 วิว สามารถแบ่งเรื่องตามจำนวนผู้เล่าได้ดังนี้

อ่านผลการศึกษา วิเคราะห์การตั้งชื่อเรื่องเล่าผีไทย : กรณีศึกษา 100 เรื่องเล่ายอดนิยม The Ghost Radio ได้ที่