เลือกหน้า

สื่อมีส่วนในการหล่อหลอมและปลูกฝัง ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับชม หากผู้ชมได้รับเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีสาระประโยชน์ อย่างสร้างสรรค์ ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาจิตใจและสติปัญญา แต่ในทางกลับกัน หากได้รับชมสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว การสร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยน เป็นต้น ดังนั้น สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์แบบบริการทั่วไป จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสื่อ ด้วยการแจ้งเตือนว่าเนื้อหาที่นำเสนอมีความเหมาะสมกับผู้รับสื่ออย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแล

ปัจจุบัน ผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์มีทางเลือกในการรับชมได้หลากหลาย ทั้งช่องทาง เนื้อหา เวลา วิธีการรับชม นอกจากรายการผ่านทางโทรทัศน์แล้ว ยังมีการออกอากาศรายการผ่านบริการ OTT (Over the Top) ความน่าสนใจ คือ ควรมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ในการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะนำเสนอทางช่องทางใด การจัดระดับความเหมาะสมของรายการ (การจัดเรต) โดยเฉพาะรายการสำหรับเด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรง ภาษาไม่สุภาพ เนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสม

อีกทั้งช่วยเตือนผู้ปกครองให้ควบคุมการรับชม ช่วยเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่มีความรุนแรง ส่งเสริมการใช้ดุลยพินิจในการเลือกรับชม สร้างความตระหนักในบริบททางวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่ถือเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง การจัดเรตคือกลไกการกลั่นกรองเนื้อหาที่ควรดำเนินการอย่างมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ทั้งเป็นแนวทางสำหรับการสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

MEDIA ALERT กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ศึกษาเปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการระหว่างทีวีดิจิทัลไทย และบริการ OTT 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Netflix และ Prime Video ว่ามีความเหมือน ความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ใน 3 ประเด็น คือ 1) ระบบการจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม 2) ระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม และ 3) การจัดระดับความเหมาะสมจากตัวอย่างรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม หน่วยการศึกษา คือ ละครหรือซีรีส์ และภาพยนตร์ ที่เผยแพร่ทางทีวีดิจิทัล และบริการ OTT 2 ได้แก่ Netflix และ Prime Video ระหว่างวันที่ 15-30 ธันวาคม 2566 โดยใช้วิธีสุ่มเลือก

ระบบการจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม

การจัดเรตของรายการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย และการจัดเรตเนื้อหาของ Netflix และ Prime Video ใช้หลักเกณฑ์คล้ายคลึงกันในการพิจารณา อาทิ เนื้อหาทางเพศ ความรุนแรง การใช้ภาษาไม่สุภาพ มีระดับการจัดเรตติ้งที่แบ่งตามความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับกลุ่มอายุต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

รายการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย จัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะที่การจัดเรตรายการของ Netflix และ Prime Video เป็นกติการ่วมกันของผู้ประกอบการ

ในประเทศไทยนั้น การจัดเรตติ้งเนื้อหารายการและภาพยนตร์เป็นไปตามกฎหมายและการกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานเหล่านี้จะกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบในการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา โดยคำนึงถึงบรรทัดฐานทางสังคม ศีลธรรม ประเพณี และผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

 การจัดช่วงอายุของผู้ชม ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม มีการกำหนดผู้รับชมในทุกช่วงอายุที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน คือ

  • ทีวิดิจิทัลใช้สัญลักษณ์ ท (ทั่วไป)
  • Netflix ใช้สัญลักษณ์ ทุกวัย
  • Prime Video ใช้สัญลักษณ์ ALL

ความแตกต่างในการจัดช่วงอายุผู้รับชมในกลุ่มรายการสำหรับเด็ก

  • ทีวีดิจิทัลไทยแบ่งเป็น ป 3+ (3-5 ปี) และ ด 6+ (6-12 ปี)
  • Netflix แบ่งรายการสำหรับเด็กเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+)
  • Prime Video กำหนดช่วงอายุเป็น 7-12 ปี (7+) เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ทั้ง Netflix และ Prime Video จะมีช่องทาง Kid Safe หรือมุมเด็ก ซึ่งในโหมดนี้จะแบ่งเนื้อหารายการสำหรับเด็กไว้โดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์แอนนิเมชัน การ์ตูน ฯลฯ ใน Netflix พบว่าเป็นรายการที่สามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (ทุกวัย) รวมถึงกลุ่ม 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+)  ส่วน Prime Video เป็นรายการที่มีสามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (All) และกลุ่ม 7-9 ปี (7+)

กลุ่มรายการสำหรับวัยรุ่น พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Netflix มีการแบ่งช่วงอายุการรับชมของวัยรุ่นที่เหมือนกัน คือ เป็นรายการที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป  (น 13+ และ 13+)  ต่างจาก Prime Video ที่กำหนดช่วงอายุวัยรุ่นไว้ 2 ช่วง ได้แก่ 13 ปีขึ้นไป (13+) และ 16 ปีขึ้นไป (16+)

การจัดช่วงอายุการรับชมของผู้ใหญ่ พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Prime Video มีความเหมือนกันในการกำหนดช่วงอายุ คือ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป (น 18+ และ 18+) 

นอกจากนี้ในทีวีดิจิทัลไทย ยังมีการจัดเนื้อหาเฉพาะ (ฉ) สำหรับรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ โดยออกอากาศได้ในช่วงเวลา 24.00-05.00 น. ในขณะที่ Netflix มีการจัดช่วงอายุผู้ชมในรายการสำหรับผู้ใหญ่ ไว้ 2 ช่วงอายุ คือ 16 ปีขึ้นไป (16+) และ 18 ปีขึ้นไป (18+) 

ระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม

การจัดเรตเนื้อหารายการทีวีดิจิทัลไทยให้ความสำคัญกับอายุของผู้ชมมากกว่าการแจ้งข้อควรระวัง คือ เน้นการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมในการรับชมเนื้อหานั้น ๆ เป็นหลัก โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้แก่ ป 3+ (3-5 ปี), ด 6+ (6-12 ปี), น 13+ เป็นรายการที่เหมาะกับอายุ 13 ปีขึ้นไป, น 18+ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป และ เป็นรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าเกณฑ์หลักคือการบ่งบอกกลุ่มอายุที่เหมาะสมต่อการรับชมเนื้อหานั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมลักษณะเนื้อหาบางประเภท เช่น ห้ามมีเนื้อหาลามก ส่งเสริมความรุนแรง ยั่วยุก่อการร้าย

ในขณะที่การแจ้งข้อควรระวังลักษณะเนื้อหาจะปรากฏในรูปแบบคำเตือนเสริม เช่น ระวังมีภาษาหยาบคาย, มีฉากรุนแรง หรือมีเนื้อหาทางเพศ เป็นต้น แต่ไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักในการจัดเรตรายการของทีวีดิจิทัลไทย

กล่าวได้ว่า นโยบายการจัดเรตรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ให้น้ำหนักและความสำคัญกับช่วงอายุของผู้ชมเป็นหลัก เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างเคร่งครัดกว่าลักษณะเนื้อหา โดยข้อควรระวังเนื้อหาจะมีบทบาทเป็นคำเตือนเสริม เช่น ระวังมีภาษาหยาบคาย มีฉากรุนแรง หรือมีเนื้อหาทางเพศ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักในการจัดเรตรายการของทีวีดิจิทัลไทย

ในขณะที่การจัดเรตเนื้อหาของ Netflix และ Prime Video นั้น จะให้ความสำคัญกับการระบุลักษณะเนื้อหาที่ควรระวังหรือการแจ้งคำเตือนเป็นหลัก มากกว่าการจำกัดด้วยช่วงอายุผู้ชม กล่าวได้ว่า แนวทางการจัดเรตรายการของ Netflix และ Prime Video เน้นที่การบอกลักษณะของเนื้อหาอย่างละเอียด เช่น ภาษาหยาบคาย ความรุนแรง เนื้อหาทางเพศ สถานการณ์ที่น่ากลัวหรือก่อให้เกิดความวิตกกังวล เนื้อหาเกี่ยวกับสารเสพติด การพนัน เป็นต้น จากนั้นจึงจัดระดับความรุนแรงของเนื้อหาเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ชมได้รับข้อมูลและตัดสินใจว่าจะรับชมหรือไม่

โดยรวมแล้ว จุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดเรตรายการระหว่างทีวีดิจิทัลไทย กับ Netflix และ Prime Video มีความใกล้เคียงกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคม วัฒนธรรม และกฎระเบียบของแต่ละประเทศ

การจัดระดับความเหมาะสมจากตัวอย่างรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม

การศึกษาเพื่อวิเคราะห์การจัดระดับความเหมาะสมของรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม หรือออกอากาศทั้งในทีวีดิจิทัลไทย และใน Netflix หรือ Prime Video ในครั้งนี้ หน่วยการศึกษาคือ ละคร 6 เรื่อง ได้แก่ พรหมลิขิต (ช่อง 3) พนมนาคา (ช่อง ONE) รากแก้ว (ช่อง 3) Home School นักเรียนต้องขัง (ช่อง GMM 25) สืบลับหมอระบาด (ช่อง 3) และ Enigma คน มนตร์เวท (ช่อง GMM 25) ผลการศึกษาพบว่า ทีวีดิจิทัลไทย ใช้สัญลักษณ์และเสียงบรรยายในการบอกระดับความเหมาะสมของอายุคนดู ตามความแตกต่างของกลุ่มรายการ โดยใช้คำเตือนหรือคำชี้แจงก่อนเข้าเนื้อหารายการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ไม่มีการจำแนกให้เห็นความเฉพาะของเนื้อหานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้เสียงบรรยายเตือนว่า “รายการต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ”

ขณะที่ Netflix และ Prime Video มีมากกว่า 1 คำเตือนในแต่ละตอน เช่น การระบุถึงเซ็กซ์ที่รุนแรง ทารุณกรรมเด็ก การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ปรากฏในเนื้อหาละครตอนนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อเตือนให้ทราบก่อนตัดสินใจรับชม

เช่นเดียวกับ Prime Video ที่มีการจัดระดับความเหมาะสมในทุกตอนของละครที่เป็นหน่วยการศึกษา ตามลักษณะของเนื้อหาที่ปรากฏจริง จึงทำให้ระดับความเหมาะสมของละครแต่ละตอนมีความแตกต่างกัน ส่วนเนื้อหาที่ยังไม่มีการกำหนดระดับความเหมาะสมจะขึ้นสัญลักษณ์ NR และคำเตือน เรตติ้งอายุ NR (Not Rated) ในรายการตอนนั้น ๆ

การที่ทีวีทีวีดิจิทัลไทยจัดเรตติ้งให้ละครบางเรื่องที่เป็นหน่วยการศึกษาเป็น ท ทั่วไป (เหมาะสำหรับทุกวัย) หรือเป็น น13+  (ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ)  แต่เมื่ออกอากาศทาง OTT กลับพบว่า มีการจัดเรตที่สูงกว่า เช่น  จาก ท เป็น น13+  หรือ จาก น13+ เป็น น 16+ ใน Netflix หรือ จาก น 13+ เป็น น 16+ ใน Prime Video แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเกณฑ์การจัดเรตติ้งของประเทศไทยกับมาตรฐานสากล

อาจวิเคราะห์สาเหตุหลักของความแตกต่างได้ดังนี้

  1. ด้วยความแตกต่างของบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่รุนแรงในสังคมไทย อาจถูกมองว่ารุนแรงหรือไม่เหมาะสมในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอื่น
  2. มีเกณฑ์การจัดเรตรายการที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมักให้ความสำคัญกับการกำหนดอายุของผู้รับชมมากกว่าการระบุลักษณะเนื้อหา ขณะที่มาตรฐานสากลจะเน้นไปที่การเตือนต่อลักษณะเนื้อหามากกว่า
  3. มีกระบวนการตรวจสอบที่แตกต่างกัน การตรวจสอบเนื้อหาเพื่อจัดเรตรายการของไทยและต่างประเทศอาจมีกระบวนการและคณะกรรมการที่ต่างกัน ทำให้มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
  4. การคำนึงถึงลูกค้าทั่วโลก ด้วย Netflix/Prime Video ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ชมทั่วโลกที่หลากหลาย จึงอาจเลือกใช้มาตรฐานการเตือนที่เข้มงวดกว่า เพื่อความปลอดภัย

สะท้อนให้เห็นว่าการจัดเรตเนื้อหาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ต้องพิจารณาหลายปัจจัย โดยมีความแตกต่างระหว่างสังคมวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ  ขณะที่การมีมาตรฐานร่วมอย่างสากล เป็นความท้าทาย