คอนเทนต์บันเทิงโดยเฉพาะซีรีส์ แนว ‘หญิงรักหญิง’ (Girl’s Love) ที่เรียกกันว่า Sapphic หรือยูริ (Yuri) กำลังกลายเป็นจุด สปอตไลต์ที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตและชวนตั้งคำถามต่อว่า ปรากฏการณ์ความฮิตของซีรีส์ยูรินั้นมีต้นสายมาจากจุดใด
สิ่งยืนยันว่า ซีรีส์ยูริ ได้กลายเป็นที่สนใจนั้นก็คือเทรนด์ในโลกออนไลน์ของไทย จากงานการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2567 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight พบว่า คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับยูริ ติดเข้ามาใน Top 10 ประเด็นออนไลน์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จากช่วงกลางปีนี้
- เดือน มิ.ย. 2567 มีคอนเทนต์แนวยูริติด Top 10 จำนวน 2 อันดับ ได้แก่
ซีรีส์ Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (16,413,533 engagement) อยู่ในอันดับที่ 5 นำแสดงโดย ‘อิงฟ้า วราหะ’ และ ‘ชาล็อต ออสติน’ เนื้อหาเป็นการสะท้อนปัญหาการทำร้ายจิตใจกันในสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวความรักของผู้หญิงสองคน
ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,629,797 engagement) อยู่ในอันดับที่ 7 เป็นซีรีส์ Girl’s Love แนวพีเรียด นำแสดงโดยนักแสดงสาว ‘ฟรีน–สโรชา จันทร์กิมฮะ’ และ ‘เบ็คกี้–รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง’
- เดือน ก.ค. 2567 มีคอนเทนต์แนวยูริติด Top 10 จำนวน 2 อันดับ ได้แก่
ซีรีส์ใจซ่อนรัก (24,669,345 engagement) อยู่ในอันดับที่ 3 นำแสดงโดย ‘หลิงหลิง–ศิริลักษณ์ คอง’ และ ‘ออม–กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์’ เนื้อหาเล่าถึงแพทย์ผิวหนังผู้มีปมในใจจากการถูกหญิงสาวที่เธอรักหักอกจนชีวิตแทบพัง เธอพยายามอยู่นานกว่าจะกลับมามีชีวิตปกติได้ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกให้ทั้งคู่ต้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง
งานเปิดตัวภาพยนตร์ยูเรนัส 2324 (14,679,970 engagement) อยู่ในอันดับที่ 10 ภาพยนตร์ไซไฟอวกาศเรื่องแรกของไทยที่ผสมเรื่องราวโรแมนติกดราม่าระหว่างนักบินอวกาศหญิงไทยคนแรกกับหญิงสาวผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาดำน้ำ นำแสดงโดยฟรีน–สโรชา และเบคกี้–รีเบคก้า
- เดือน ส.ค. 2567 ซีรีส์ใจซ่อนรัก ยังคงมีกระแสต่อเนื่อง ได้ 21,045,173 engagement อยู่ในอันดับที่ 9
- เดือน ก.ย. 2567 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ กลับขึ้นมาติดอันดับอีกครั้ง ได้ 14,264,331 engagement โดยครั้งนี้อยู่ในอันดับ
ที่ 4
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าในโลกออนไลน์ไทยมีการพูดถึง ‘ซีรีส์ยูริ’ มากขึ้น และการรับรู้ถึงคำ ๆ นี้มีมากขึ้นและชัดเจนขึ้น
ปรากฏการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และทิศทางต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มาร่วมกันหาความหมายที่แท้จริงของซีรีส์ยูริ พร้อมเหตุผลเบื้องหลังว่า เหตุใดคอนเทนต์แนว ‘หญิงรักหญิง’ จึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคมไทย
[ ความนิยม ‘ซีรีส์ยูริ’ เกิดขึ้นในไทยเมื่อใด ]
คำถามแรก ๆ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า คอนเทนต์แนว Sapphic คืออะไร ? ‘ซีรีส์ยูริ’ คืออะไร ? คงต้องเริ่มอธิบายในเรื่องนี้ก่อน โดยคำว่ายูริ (百合) ที่เราใช้กันในบริบทนี้ เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น แปลว่าดอกลิลลี่ และในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึงคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ นิยาย มังงะ เกม ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมย่อยอย่าง Sapphic ก็มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมวาย (Yaoi – คอนเทนต์แนวชายรักชาย) ที่มีรูปแบบความนิยมใกล้เคียงกัน แต่ทว่าในไทยนั้น วัฒนธรรม Sapphic จะมาช้ากว่าวัฒนธรรมวายเล็กน้อย
“สิ่งเหล่านี้เกิดมาพร้อม ๆ กับทีวีดิจิทัลในไทย เมื่อปี พ.ศ.2557 ขณะที่ในปี พ.ศ.2563 เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองในไทย (ชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฏร พ.ศ.2563) ได้ส่งผลมาถึงเนื้อหา และ ‘ความลึก’ ของเนื้อหาในการทำคอนเทนต์ความหลากหลายทางเพศในไทยด้วย เริ่มมีความสนใจ activism การเคลื่อนไหวทางสังคม สมรสเท่าเทียม เรื่องเกย์ เลสเบียน LGBTQIA+ ทั้งหลาย หรือ การปรากฏของ transgender ในซีรีส์วาย สิ่งเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดเจนหลังปี พ.ศ.2563 ทั้งสิ้น นี่คือจุดเปลี่ยนในเชิงอุดมการณ์ และเป็นจุดเปลี่ยนของสุนทรียภาพด้วย เพราะหลังจากนั้น จะมีความพิถีพิถันในการเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพราะการแข่งขันสูงขึ้น”
[ พลังของ ‘แฟนคลับ’ ]
ในส่วนของ ‘ซีรีส์ยูริ’ ความนิยมจากเหล่า ‘แฟนคลับ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลมากถึงขั้นสามารถกำหนดได้ว่า อยากให้นักแสดงคนใด ‘จิ้น’ กับใคร โดยจักรวาลของเนื้อหาในแนวความหลากหลายทางเพศนั้น ได้ถูกขยายออกไปเพราะกลุ่มแฟน ๆ นั่นเอง
“แฟนคอนเทนต์ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ มีอํานาจมาก นักแสดงคู่ใดจะคู่กันจริง ๆ หรือเปล่า ไม่รู้ แต่แฟน ๆ ซีรีส์สามารถจะบอกว่า จะเอาคนนั้น คนนี้ไหม จับคู่กันก็ได้ แล้วก็จะมาจินตนาการต่อ ด้วยการสร้าง fan fiction” รศ.ดร.นัทธนัยกล่าว
อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างกระแสให้กับ ‘ซีรีส์ยูริ’ คือ ผู้สร้างคอนเทนต์นั้นจะใช้กลยุทธ์จัดงาน fan meet ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ซึ่งนี่เป็นเครื่องย้ำว่า โมเดลของการสร้างความฮิตให้ปังนั้นคล้ายคลึงกับช่วงที่ซีรีส์วายได้รับความนิยมมาก่อน โดย รศ.ดร.นัทธนัยวิเคราะห์ว่า ในบางครั้งมีการวางกลยุทธ์สร้างการรับรู้ให้กับแฟน ๆ ด้วยการจับ “คู่จิ้น” กันก่อน เพื่อเป็นการวางกรอบเคมีของนักแสดงให้คนรับรู้ว่า ใครอยู่ในตำแหน่งโพล (Pole Position) ของความสัมพันธ์ ตามไวยากรณ์ของซีรีส์วาย ตั้งแต่รูปแบบ มังงะ อนิเมะ รวมถึงซีรีส์ที่ฮิตในไทยด้วย โดยชื่อของนักแสดงที่อยู่ข้างหน้าจะถือเป็นฝ่ายรุกในความสัมพันธ์
[ ยูริ-วาย ทำให้คนไม่เดียวดาย โดยเฉพาะในประเทศยังไม่เปิดรับ LGBTQ]
ขณะที่ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์แนวยูริ มองว่า สาเหตุที่คอนเทนต์วายรวมถึงยูริได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีกลุ่มฐานคนดูอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งกลุ่มคนที่เป็นแฟนซีรีส์เหล่านี้ ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะมีกลุ่มที่เป็นแฟนคลับอยู่ทั่วโลกด้วย
ขณะเดียวกัน บางประเทศในโลกนี้ยังไม่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการผลิตเนื้อหาในเชิงสนับสนุน LGBTQ หรือซีรีส์ยูรินั้น เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ที่ให้พวกเขาได้เติมเต็มความรู้สึก
“ผู้คนที่เสพซีรีส์วาย-ยูริ ไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQ เสมอไป กลุ่มคนดูคือเขาเลือกเสพสิ่งที่เขาดูแล้วมีความสุข แต่ในส่วนของแฟนคลับต่างประเทศ บางคนที่เป็น LGBTQ อาจมองว่าซีรี่ย์วายไทย-ยูริไทย เป็นเหมือนกับโอเอซิสกลางทะเลทราย เป็นสิ่งที่ปลอบประโลมจิตใจผูุ้คนในประเทศที่ความหลากหลายทางเพศ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เปรียบเสมือนพวกเขาเหล่านั้นมีเพื่อนและไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายบนโลกใบนี้”
อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก” ยังเชื่อว่า ในเชิงธุรกิจของกลุ่มเนื้อหา LGBTQ หรือหากเฉพาะเจาะจงไปที่ตัวซีรีส์แนวยูริ มีเม็ดเงินจำนวนมากในธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มากมาย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงโตได้ในระดับภูมิภาค
“ลองพิจารณาดูนะ ต่อให้เป็นคู่นักแสดงวาย ที่เล่นเรื่องเดียวแล้วดัง ก็กลายเป็น brand ambassador ระดับโลกได้ เป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าระดับโลกได้ นี่คือเครื่องยืนยันการันตีว่า กลุ่มแฟนคลับสามารถทําให้ศิลปินที่พวกเขาเชียร์ ไปแตะระดับนั้นได้ แปลว่ามันมีมูลค่าทางธุรกิจแน่นอน”
กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ยังฉายภาพให้เห็นอีกว่า การที่ประเทศไทยมีคอนเทนต์แนววาย-คอนเทนต์ยูริเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นกระจกเงาส่องสะท้อนสังคมว่าให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปกติ และเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างเป็นปกติอยู่แล้วในเชิงการรับรู้ของสังคม นั่นส่งผลในแง่กฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ผ่านแล้ว (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือตั้งแต่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป)
[ ใครคือกลุ่มคนดูของ ซีรีส์ยูริ ]
หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าซีรีส์ยูรินั้น ‘ตลาด’ หรือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงคือใคร ต่อข้อสงสัยนี้ ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชน หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย มองว่า ซีรีส์ยูริเป็นตลาดของหญิงรักหญิงหรือผู้หญิงที่เป็น bisexual เป็นส่วนใหญ่
“ในช่วง 10 ปีหลัง เรามีการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศของซีรีส์วาย-ยูริ ซึ่งเป็นคนละตลาด อย่างซีรีส์วายตลาดจริง ๆ แล้วเป็นกลุ่มผู้หญิงตรงเพศ ขณะที่ซีรีส์ยูริเป็นตลาดของหญิงรักหญิง หรือผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล”
ครูธัญยังชี้ว่า สังคมไทยตอนนี้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ นี่ถือเป็นประตูที่ทําให้วัฒนธรรมบันเทิงกล้าที่จะผลิตอย่างท้าทายกรอบขนบเดิม
“เรื่องเล่าในสังคมจะเปลี่ยนไป จะครอบคลุมมากขึ้นในความหลากหลายทางเพศในทุกเพศวิถี ซีรีส์ยูริจะเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงการรับรู้เรื่องเล่าวรรณกรรม สื่อบันเทิงของสังคม” สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชนกล่าว
[ อนาคตคอนเทนต์ความหลากหลายทางเพศ ]
หากมองภาพอนาคต คอนเทนต์ยูริจะถูกถ่ายทอดหรือพัฒนาไปทางไหนต่อไป ครูธัญมองว่า ในอนาคต ‘ความไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชาย’ จะถูกนำเสนอมากขึ้น ขณะเดียวกันการเป็นซีรีส์ยูรินั้น ก็อาจจะนําพาไปสู่การเป็นเกิร์ลกรุ๊ปอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับที่คอนเทนต์ซีรีส์วายนำพาให้เกิดบอยแบนด์ในรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตเนื้อหาของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในชีวิตจริง กลุ่มคนเหล่านี้ยังถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม แต่สิ่งที่จะสะท้อนความหลากหลายได้ดีคือสังคมใดที่นำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศได้อย่างเป็นธรมมชาติได้มากเท่าไร ถือเป็นเครื่องชี้วัดความหลากหลายในสังคมได้มากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน คาดการณ์ว่า ต่อไปในอนาคต จะมีกระแสของคำว่า genderless (ไร้เพศ หรือ ไม่มีเพศ) ในงานบันเทิง จะมีการสร้างตัวละครที่มีคาแร็กเตอร์แบบ จะคบกับใครก็ได้ เพศใดก็ได้ กับผู้ชาย กับผู้หญิง หรือกับ LGBTQ ได้หมด ตัวละครจะสามารถคบหากันได้ ด้วยความเป็นมนุษย์ของคนสองคน
นี่คือบทสนทนาเกี่ยวกับความนิยมในซีรีส์ยูริที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้ โดยเสนออย่างกินความตั้งแต่เหตุผลที่คอนเทนต์แนวนี้ได้รับความนิยม, พลังของแฟนคลับ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยและในหลายประเทศที่มีการเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความเห็นล่าสุด