หลังจากสถานการณ์ covid-19 คลี่คลาย หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดประตูต้อนรับการท่องเที่ยวที่พร้อมหลั่งไหลมาจากนานาชาติ เกาหลีใต้คือหนึ่งในประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย เหตุผลหลักที่คนไทยต่างไปเยือนเกาหลีใต้นั้นคือการ “เที่ยวตามรอยซีรีส์ดัง” ในโลกออนไลน์ ที่มีการนำเสนอเนื้อหา “ปักหมุดเที่ยวตามรอยซีรีส์ดัง เกาหลี…เกาใจ ไม่ไปไม่ได้แล้ว” “ปักหมุดไว้ตามรอย! ร้านคิมบับอูยองอู ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo ที่น่าไปเช็คอิน” “10 ที่เที่ยวเกาหลี ตามรอยซีรีส์ดัง พิกัดสุดฟิน ถ่ายรูปปังๆ ไม่ไปไม่ได้แล้ว”
ซีรีส์เกาหลีใต้บางเรื่องจึงเลือกตั้งชื่อเรื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง และอาจแฝงเพื่อโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “Itaewon Class (2020)” ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยสามารถทำเรตติ้งได้ถึง 16.5% ซึ่งเป็นเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของซีรีส์ทั้งหมดที่เคยออกอากาศทางสถานี และยังได้รับความนิยมในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และ ไทย จนสามารถขึ้นอันดับของ Netflix ของทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงปี 2020 โดยจุดเริ่มของ Itaewon Class เป็นรูปแบบการ์ตูนบน Kakao Webtoon ที่มียอดเข้าชมมากกว่า 400 ล้านครั้ง ต่อมามีการสร้างเป็นซีรีส์เผยแพร่ทางสถานี JTBC (กรุงเทพธุรกิจ, 2565)
ซีรีส์ดังกระตุ้นการท่องเที่ยว
ฉากสำคัญในซีรีส์เรื่อง Itaewon Class ที่กลายเป็นภาพจำของซีรีส์เรื่องนี้ มีคำพูดของตัวละครสำคัญในเรื่อง “วันฮาโลวีน วันที่สร้างขึ้นมา เพื่อปลอบโยนดวงวิญญาณของผู้ที่จากไป และปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย ผู้คนแต่งหน้า แต่งตัว ให้เหมือนปีศาจ เพื่อที่จะไม่ได้ทำอันตราย วันนั้น คือ ฮาโลวีน ที่ ผู้คนมากมายเดินทางมาที่ อิแทวอน เพื่อร่วมงาน ฮาโลวีน แม้แต่คนที่โตแล้ว ยังฉลองเทศกาลนี้ และถึงไม่ใช่ช่วงเทศกาล แต่ผู้คนทั่วทั้งโลก ก็ต่างหลั่งไหล มาที่ อิแทวอน เพราะ ความสวยงาม ของตึกรามบ้านช่อง ที่เดินเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน และเหมือนกับรวมถนนทั่วทุกมุมโลกมาไว้ที่นี่” (คมชัดลึกออนไลน์, 2565)
.
อิแทวอนจึงกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องจากอยู่กลางกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน ที่มีผับบาร์ ร้านอาหาร และร้านขายของจำนวนมาก และในช่วงเทศกาลฮาโลวีน อิแทวอนได้จัดเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากที่เกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ covid-19 โดยมีรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมถึงประมาณ 100,000 คน (The Matter, 2022) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าซีรีส์เกาหลีใต้ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในเชิงการท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Soft Power แม้นับจากวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ภาพจำและความรู้สึกต่อวันฮาโลวีนที่อิแทวอน จะเปลี่ยนไปก็ตาม
.
Soft Power กับ อุตสาหกรรมบันเทิง
อุตสาหกรรมบันเทิงส่งต่อ ความนิยม ความชื่นชอบในวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่แพร่ไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งมีที่มาจากซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก
อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดย‘คิมแดจุง’ ผู้นำเกาหลีใต้ ฟื้นฟูวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านนโยบายภาครัฐ โดยเน้นผลักดัน Pop Culture และสื่อต่าง ๆ เกาหลีใต้ใช้เวลาสร้าง Soft Power กว่า 24 ปี ด้วยผลสำเร็จเชิงรายได้ที่เข้าประเทศมากถึง 12.3 พันล้านดอลลาร์ (Venus kanpaksorn, 2022) ซีรีส์เกาหลีใต้จึงเป็นSoft Power ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ส่งต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ไปยังนานาชาติ
.
Soft Power ตามนิยามความหมายของ Joseph S. Nye Jr. นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์คำ “Soft Power”หรือ “อำนาจอ่อน” ในหนังสือ Bound to Lead ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ให้นิยาม Soft Power ว่าหมายถึง การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นโดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องการ ในยุคปัจจุบันเราสามารถเห็น Soft Power ผ่านสื่อ เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ ด้วยเนื้อหาอันเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การแต่งกาย เพลง ศิลปะ ดนตรี การท่องเที่ยว เป็นต้น (Nichkamon Boonprasert, 2021)
.
Soft Power ไทย แต่ผลงานของต่างชาติ
ไม่ใช่แค่เฉพาะเกาหลีใต้ที่สร้าง Soft Power ได้สำเร็จ ประเทศไทยเองก็มีภาพยนตร์ที่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่เสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยแต่เป็นภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand (2555) ภาพยนตร์ตลกแนวโรด มูฟวี่ (road movie) ที่มาถ่ายทำในประเทศไทย โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ถ่ายทำหลัก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างรายได้มหาศาลทั้งในเชิงของธุรกิจสื่อบันเทิงและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคาดการณ์ว่าส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน (Sanook, 2555) เห็นได้ชัดว่าประเทศไทย ของเรา ก็มี Soft Power ที่สามารถนำเสนอและเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
.
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง แนวทางการยกระดับคุณภาพของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย อธิเทพ งามศิลปเสถียร (2563) ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่สวยงามน่าสนใจมากมายและเหมาะที่จะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและถ่ายทำภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ทั้งของไทยและต่างประเทศในทุกโอกาสทุกฤดูกาล ทุกวันนี้หน่วยงานของภาครัฐ เอกชน ชุมชน ได้เผยแพร่ความพร้อมทั้งความสะดวก สะอาด ปลอดภัย การเดินทางที่สะดวกผ่านหลายช่องทาง มีกิจกรรมสนับสนุนการถ่ายทำสื่อ การนำเสนอสิ่งจูงใจเพื่อสนับสนุน รวมถึงการบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ให้แก่ผู้ผลิตจากนานาประเทศ
.
ความรับผิดชอบและระมัดระวังในการใช้ทุนทาง Soft Power เพื่อขยายผลผ่านสื่อ
การอนุญาตให้ใช้สถานที่ธรรมชาติที่สำคัญในประเทศไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ที่คาดหวังการส่งต่อ Soft Power และวัฒนธรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังในการไม่เปิดช่องให้ผู้ได้รับอนุญาต สร้างความเสียหายหรือทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช (The Beach)” ในปี 2541 มีการถ่ายทำที่อ่าวมาหยา หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พื้นที่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติ โดยกองถ่ายภาพยนตร์“เดอะบีช (The Beach)” ได้ทำการปรับสภาพพื้นที่ชายหาด มีการปลูกต้นมะพร้าว ขุดทรายหน้าหาด ปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม เพื่อการถ่ายทำฉากเล่นฟุตบอลชายหาด รวมทั้งการใช้แพขนานยนต์ไปเทียบหาดเพื่อขนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง ทำให้สันทรายเกิดรอยเว้าถูกน้ำทะเลกัดเซาะทราย และสร้างความเสียหายต่อปะการังน้ำตื้นทั้งมีการทำลายพืชประจำถิ่น ขุดย้ายพันธุ์ไม้ชายหาด อาทิ รักทะเล, พลับพลึงทะเล, ผักบุ้งทะเล ฯลฯ เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เสียหายรุนแรงชัดเจน (ผู้จัดการออนไลน์, 2565) จัดเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จนมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชจะเป็น Soft Power ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย แต่หากประเมินผลที่ได้กับความเสียหายต่อทรัพยากรของประเทศแล้ว นับเป็นบทเรียนสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ ในความรับผิดชอบและระมัดระวังในการใช้ทุนทาง Soft Power เพื่อขยายผลผ่านสื่อ
.
ทั้งในกรณีอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ และเกาะพีพี ประเทศไทย ล้วนเป็นผลพวงจาก Soft Power ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อและการท่องเที่ยว อันเป็นผลจากสื่อซีรีส์ สื่อภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูง จนทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากกำหนดเป็นหมุดหมายการเดินทาง เป้าหมายความสำเร็จนี้ต้องมีการเตรียมรับมือสถานการณ์อันอาจเกิดขึ้น หรือมีการเตรียมการป้องกันก่อนจะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
.
ปัจจุบันประเทศไทยก็มีการผลิตสื่อ เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ เพื่อส่งต่อ Soft Power ไทยไปยังนานาชาติ ด้วยวัฒนธรรมและเอกลักษณ์หลากหลาย เช่น อาหาร การแต่งกาย เพลง ศิลปะ ดนตรี รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นSoft Power ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างมูลค่าแห่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ของประเทศไทย
.
โจทย์สำคัญของผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อสร้าง Soft Power ที่มีพลัง คือ ความเข้าใจ Local Content ความเข้าใจแก่นของ เนื้อหา และ การพัฒนาเนื้อหาให้มีความเป็นสากล ต่อยอด Local Content ให้เชื่อมโยงได้กับความเป็นสากล ดังความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ที่มีจุดเด่นหลัก 4 ประการ (The States Times, 2021) คือ
ประการที่ 1 ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง
ประการที่ 2 สร้างตัวตนให้โดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร
ประการที่ 3 การวางแผนการตลาดในระดับโลก
ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง
เห็นได้ชัดว่าเกาหลีใต้นั้นมีการสนับสนุนสำคัญจากภาครัฐในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง รวมไปถึงการสนับสนุนการศึกษาทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อการเข้าถึงเข้าใจเนื้อหาของท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ นำมาสร้างเป็นตัวตนของตนเองที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากชาติอื่น ๆ ทั้งยังเข้าถึงตลาดระดับโลกด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความเป็นสากลและหลากหลาย สุดท้ายคือการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดความทันสมัยและแปลกใหม่ จนทำให้ Soft Power ของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้
ความเห็นล่าสุด