เลือกหน้า

สำรวจความสนใจโลกออนไลน์ ครึ่งแรกของปี 66 การเมือง-การเลือกตั้งนำลิ่ว ตามด้วยประเด็นบันเทิง

สำรวจความสนใจโลกออนไลน์ ครึ่งแรกของปี 66 การเมือง-การเลือกตั้งนำลิ่ว ตามด้วยประเด็นบันเทิง

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight สำรวจการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube เพื่อสรุป 10 ประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดในแต่ละเดือน

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ประเด็นที่ได้รับ Engagement สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งและการปราศรัยของพรรคการเมืองต่าง ๆ รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิง เช่น กิจกรรม Outing ของดารานักแสดงบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023, ละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาของกลุ่ม LGBTQ, กระแสป๊อปคัลเจอร์ของเพลงธาตุทองซาวด์ของยังโอมที่ทำให้การแต่งกายในยุค Y2K หรือการนำภาพในช่วง Y2K กลับมานิยมอีกครั้ง, การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาทั้งในประเด็นดราม่าการจัดงาน การใช้นักกีฬาโอนสัญชาติ และการส่งแรงใจไปเชียร์นักกีฬาทีมชาติในการแข่งขันครั้งนี้

 

ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 10 อันดับในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566

อันดับที่ 1 ความเห็นต่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล

ส่วนใหญ่มาจากโพสต์การปราศรัยตามจังหวัดต่าง ๆ และการโพสต์ภาพพิธา ลิ้มเจริญรัตน์บนเวทีหาเสียงที่ติด Hashtag พรรคก้าวไกล นอกจากนั้นเป็นการโพสต์หาเสียงของผู้สมัครอื่น เช่น รักชนก ศรีนอก, ชัยธวัฒน์ ตุลาธน, วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นต้น โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงออกในเชิงชื่นชอบการหาเสียงและนโยบายที่เน้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

อันดับที่ 2 การจัดดีเบตและเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง

เป็นการกล่าวถึงการจัดดีเบตในที่ต่าง ๆ แล้วติด Hashtag ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การโพสต์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเชิญชวนออกไปเลือกตั้ง การโพสต์ของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม

อันดับที่ 3 พรรคก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมากทั้งจากสื่อต่าง ๆ และผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป โดยประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดมาจากข่าวการประกาศจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 4 ตำหนิ กกต. จัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิการจัดการเลือกตั้งของ กกต. โดยเป็นการกล่าวถึงการทำงานที่ไม่โปร่งใสของ กกต. ในบางเขต การแอบอ้างนำบัตรประชาชนของชาวบ้านไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่จังหวัดอำนาจเจริญ การประกาศไม่นับคะแนนจากบัตรนอกราชอาณาจักรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้เกิดกระแสการลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. ในสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 5 ความเห็นต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและการกล่าวถึงการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 6 กิจกรรม #GmmtvOuting2023

Hashtag ดังกล่าวมาจากกิจกรรม Outing ในช่วงเดือนมีนาคมของดารานักแสดงในสังกัดบริษัท GMMTV ที่ส่งผลให้กลุ่มแฟนคลับดารานักแสดงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์เป็นจำนวนมากจากการแชร์คลิปหรือภาพดาราที่ชื่นชอบ

 อันดับที่ 7 ดราม่าในการแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชา

ส่วนใหญ่มาจากการสรุปเหรียญรางวัล การกล่าวถึงเจ้าภาพกัมพูชาที่จ้างนักกีฬาโอนสัญชาติมาแข่งกีฬา เพื่อให้ได้เหรียญทองมากที่สุดและประเด็นดราม่าอื่น ๆ เช่น การตะลุมบอนกันระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติไทยกับทีมชาติอินโดนีเซีย ความไม่พร้อมของหมู่บ้านนักกีฬา

อันดับที่ 8 มาตาลดา ละครน้ำดีในช่วง Pride Month

ละครเรื่องมาตาลดาถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองกลุ่ม LQBTQ ทำให้ละครซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเดียวกันนี้ถูกพูดถึงไปด้วย โดยกระแสส่วนใหญ่จะเป็นการตัดคลิปสั้น ๆ ที่เป็น Highlight ของละครมาโพสต์ในช่องทางต่าง ๆ

อันดับที่ 9 เพลงธาตุทองซาวด์กับแฟชั่นยุค Y2K

เพลงธาตุทองซาวด์ที่ถูกโพสต์ในช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากและยังสร้างกระแส Y2K ต่อเนื่อง มีการโพสต์ภาพของตนเองในอดีตหรือภาพการแต่งกายในแฟชั่น Y2K เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเพลงนี้ยังโด่งดังไกลไปต่างประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่นำเพลงดังกล่าวไปเปิดในผับ

อันดับที่ 10 การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย

การประกวดรอบสุดท้ายของ Miss Grand Thailand ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นแฟนคลับการประกวดนางงามเข้ามามีปฏิสัมพันธ์จำนวนมาก รวมไปถึงดราม่าของผู้ประกวดบางคนอย่างเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ ที่ปฏิเสธกิจกรรมการดูดวงบนเวทีต่อหน้าคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้จัดการประกวด เป็นต้น

สัดส่วนหมวดหมู่ประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงครึ่งปีแรก

เมื่อนำ 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแต่ละเดือน รวม 60 ประเด็นมาจัดหมวดหมู่ โดยวิธีการอ้างอิงจากเนื้อหาสำคัญ (Content Based) ของประเด็นนั้น ๆ ตามด้วยการตรวจสอบสามเส้าด้านผู้วิเคราะห์ข้อมูล ได้เป็น 23 หมวดหมู่ พบหมวดหมู่ที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

หมวดหมู่ เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นรัฐ เรื่องเกี่ยวกับรัฐ สัญลักษณ์ของรัฐ นโยบายสาธารณะ นิติบัญญัติ กฎหมาย การเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงคราม ความสัมพันธ์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการรณรงค์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับรัฐ และความเคลื่อนไหวทาง

การเมือง เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ ข้อพิพาททางการเมือง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในบริบทของการศึกษาในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปี 2566

หมวดหมู่ สื่อ สิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสื่อและสิ่งบันเทิง

หมวดหมู่ กีฬา (Sport) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับกีฬา การแข่งขันกีฬา และทิศทางความสนใจในกีฬาชนิดต่าง ๆ

ทั้งนี้ หมวดหมู่เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีมากถึง 66% โดยส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมือง การปราศรัยของพรรคต่าง ๆ หมวดหมู่สื่อสิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) มาจากกิจกรรม #GmmtvOuting2023 กระแสความนิยมของละครมาตาลดา และการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย, หมวดหมู่ กีฬา (Sport) ส่วนใหญ่มาจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาที่มีประเด็นดราม่าจากการที่เจ้าภาพใช้นักกีฬาโอนสัญชาติในการแข่งขัน ความไม่พร้อมของสถานที่พักและกรรมการในการตัดสิน หมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) เป็นการที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ยกให้ละครมาตาลดาเป็นละครน้ำดีที่นำเสนอเกี่ยวกับ LGBTQ, ประเด็นส่วยทางหลวงที่พรรคก้าวไกลนำมาเสนอต่อสาธารณะทำให้กลายเป็นกระแสสังคมต่อเนื่องซึ่งในตอนแรกเป็นประเด็นเฉพาะส่วยรถบรรทุก แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นทำให้ขยายไปในการทุจริตอื่น ๆ เช่น ส่วยแท็กซี่ ส่วยล็อตเตอรี่ เป็นต้น ส่วนหมวดหมู่อาชญากรรมและอุบัติเหตุ (Crime & Accidents) เป็นประเด็นเกี่ยวกับการรั่วไหลของ ซีเซียม – 137 ที่จังหวัดปราจีนบุรี

การเปลี่ยนแปลงของ Engagement แต่ละหมวดหมู่ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566

นอกจากการจำแนกให้เห็นหมวดหมู่ประเด็นที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในภาพรวม 10 อันดับแรก ตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แล้ว เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวของ Engagement ในแต่ละกลุ่มประเด็น พบความสนใจในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นการเมืองเริ่มเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าประเด็นอื่น ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เป็นต้นมา

จากแผนภาพที่ 3 เห็นได้ว่า ความสนใจในประเด็นเกี่ยวข้องกับภาครัฐ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจอย่างมากนั้น แบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

1. ก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 20 มีนาคม หรือวันที่ประกาศยุบสภา เห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิงต่าง ๆ

2. โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงช่วงก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียง การดีเบตตามเวทีต่าง ๆ โดยพรรคก้าวไกลถูกกล่าวถึงอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

3. วันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นการโพสต์ว่าไปเลือกตั้งโดยผู้ใช้งานทั่วไป การโพสต์เชิญชวนให้ไปเลือกตั้งโดยดารา ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ หน่วยงาน ฯลฯ การให้ร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนการเลือกตั้งโดยกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. หลังการเลือกตั้ง ช่วงหลังวันที่ 14 พฤษภาคม การพูดถึงการเลือกตั้งจะลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่รอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ทำการเจรจาทางการเมืองกับพรรคอื่น เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

หมวดหมู่สื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน มาจากการจัดกิจกรรม Outing ของบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023 และในเดือนเมษายนมาจากการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย แต่กระแสจะตกไปในช่วงเดือนพฤษภาคม

ส่วนหมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม ในเดือนมิถุนายน มาจากกระแส Pride Month และละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ

กล่าวโดยสรุป ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2566 ความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมือง กล่าวคือ ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะให้ความสนใจในการปราศรัยหาเสียง การเลือกตั้ง และท่าทีของพรรคการเมืองที่ตนเลือกหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แต่หลังการเลือกตั้ง พบว่า กระแสความสนใจในเรื่องการเมืองลดลง เนื่องจากเป็นช่วงรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น ช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว สื่อสังคมออนไลน์จะมีทิศทางและลักษณะความสนใจในการเมืองอย่างไร จะมีการสื่อสารถกเถียงกันในประเด็นหรือหมวดหมู่ใด อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านใด

Media Alert และ Wisesight จะรายงานผลการสำรวจการสื่อสารของสื่อสังคมออนไลน์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กรกฎาคม 66 ประเด็นการเมืองยังเป็นที่สนใจของสื่อสังคมออนไลน์ โดยมี Facebook, TikTok, Twitter เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสาร และมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกรกฎาคม 2566

อันดับที่ 1 การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล

ส่วนใหญ่มาจากช่องทางอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกลใน TikTok โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจจะเป็นแถลงการณ์ให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ส่วนโพสต์อื่น ๆ จะมีทั้งการทำคลิปให้กำลังใจพรรคก้าวไกลจากประชาชน นักร้อง นักแสดง รวมถึงโพสต์จากสื่อต่าง ๆ ที่มีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 2 ความนิยมของละครมาตาลดา

มาจากการตัดคลิปละครสั้น ๆ โดยเฉพาะฉากที่มีนางเอกเต้ย จรินทร์พร โดยเสียงตอบรับของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงชื่นชอบละครเรื่องนี้ทั้งในเรื่องความสนุก มีสาระ นอกจากนั้นยังมีการแสดงความคิดเห็นว่าละครเรื่องนี้มีส่วนให้สังคมไทยผ่อนคลายความเครียดจากการดูข่าวการเมือง

อันดับที่ 3 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากการโหวตนายกทั้ง 2 ครั้งไม่สำเร็จ ทำให้พรรคก้าวไกลต้องถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยท่าทีทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยจะไปรวมกับพรรคฝ่ายอดีตรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทย ต่อมาพรรคเพื่อไทยประกาศร่วมกับพรรคอดีตรัฐบาล ส่งผลให้ได้รับคำตำหนิเป็นจำนวนมาก  

อันดับที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

ในช่วงการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยโพสต์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นโพสต์จากสำนักข่าวที่เสนอภาพช่วงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ส่วนความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ตำหนิความไม่เป็นธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ

อันดับที่ 5 การโหวตครั้งที่ 2 ให้พิธาเป็นนายกฯ

เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งกล่าวถึงการมีองค์กร เช่น สภาทนายความออกแถลงการณ์ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่สามารถอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาบังคับใช้

อันดับที่ 6 พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเสนอวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ

ก่อนหน้าการเสนอชื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ มีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่งผลให้มีการประชุมของทั้งสองพรรคที่ได้ข้อสรุปว่าจะยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับวันมูหะมัดนอร์ มะทา และหลังจากที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิพรรคเพื่อไทยอย่างมาก ในทางตรงกันช้ามก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลที่แม้จะได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งแต่กลับไม่ได้ตำแหน่งใดในสภา

อันดับที่ 7 พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางจากศรีลังกากลับไทยเนื่องจากอาการป่วย

พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างที่ทางการไทยส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีสังกา ตั้งแต่ปี 2544 ภายหลังพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพที่ย่ำแย่เนื่องจากการถูกใช้งานอย่างหนัก ทางภาครัฐนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อรัฐบาลศรีลังการเพื่อให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ขอบคุณทางการไทยที่นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย

อันดับที่ 8 #ธุรกิจสว. และ #เมียน้อยสว. ตอบโต้ สว. ที่ไม่โหวตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล

การที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งมาจาก สว. ไม่ให้การรับรอง ส่งผลทำให้เกิดการตอบโต้จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่พอใจ สว.ด้วยการติดแฮชแท็ก #ธุรกิจสว. เพื่อแบนธุรกิจของ สว.และครอบครัว รวมไปถึงภาคธุรกิจบางส่วนที่ไม่ให้สว. กกต. หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องมาใช้บริการธุรกิจของตน ส่วนการติดแฮชแท็ก #เมียน้อยสว. เป็นการนำภาพเก่าของสว.คนหนึ่งที่ถ่ายภาพคู่กับผู้หญิงที่ไม่ใช้ภรรยาของตนมาประจานบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

อันดับที่ 9 สส. เสรีพิศุทธ์ ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

จากเหตุการณ์ที่ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ร่วมแถลงการณ์กับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยโดยมีถ้อยคำที่ต้องการผลักให้พรรคก้าวไกลเสียสละไปเป็นฝ่ายค้านที่สื่อนำไปเผยแพร่เป็นข่าว ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่โหวตเลือกพรรคก้าวไกลและคาดหวังให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อันดับที่ 10 การอภิปรายของ สส. ชาดา ในการโหวตครั้งที่ 1 ให้พิธาเป็นนายกฯ

ข่าวการอภิปรายของ สส. ชาดา ไทยเศรษฐ์ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก โดยมุ่งเน้นที่การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในการแก้ไข มาตรา 112  รวมทั้งท่าทีและท่วงทำนองการอภิปรายที่ดุดัน ทำให้เกิดเป็นกระแส และสร้างความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ในการสืบหาประวัติของ สส. ชาดา เป็นจำนวนมาก

ด้วยทิศทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนกรกฎาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยศึกษา คือ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการเมือง  Media Alert และ Wisesight จึงเห็นพ้องกันในการเลือกศึกษา 3 ประเด็นทางการเมืองที่ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในอันดับต้น ๆ จากจำนวน Engagement ตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 คือ 1) การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล 2) พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ 3) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เห็นได้ว่า Engagement ส่วนใหญ่มาจากสองช่องทางหลัก คือ TikTok 43% และ Facebook 34%  โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 2 อันดับแรกมาจาก TikTok Official Account ของพรรคก้าวไกลโดยได้ Engagement เฉลี่ยโพสต์ละ 1.7 ล้าน Engagement ส่วนอันดับที่ 3 มาจาก Account Themodevan ที่แต่งเพลงให้กำลังใจพรรคก้าวไกล ได้ Engagement ประมาณ 1.2 ล้าน Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นของพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะโพสต์ประกาศจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ โพสต์แถลงการณ์จากพรรคก้าวไกลก่อนวันเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และโพสต์แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลหลังไม่สามารถได้เสียงโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจากประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า เป็นบุคคลทั่วไปมากถึง 52 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 30.3 ล้าน สื่อหรือสำนักข่าว 10.7 ล้าน พรรคการเมือง 6.4 ล้าน และอื่น ๆ ประมาณ 7,000 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจพรรคก้าวไกล การชื่นชมศิลปินที่แต่งเพลงสนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก

Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 41% และ TikTok 35% โดยประเด็นที่ถูก Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจาก TikTok Zocialnews ที่โพสต์ข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นหากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จจะหลีกทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล, จาก Account Facebook Paul Pattarapon พอล ภัทรพล ที่โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทยไม่ให้ไปรวมกับพรรคอดีตรัฐบาล และ จาก TikTok Pondonnews ที่กล่าวถึงเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยของแอ๊ด คาราบาว

ด้านความสนใจเกี่ยวกับประเด็นพบว่า มาจากสื่อจำนวน 25 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ 8.3 ล้าน Engagement  มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 3.3 ล้าน ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 3.2 ล้าน และอื่น ๆ เช่น แบรนด์ และภาครัฐประมาณ 3 ล้าน Engagement ตามลำดับ โดยเสียงส่วนใหญ่เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเคารพการตัดสินใจของประชาชนและจับมือกับพรรคก้าวไกลไปจนกว่า สว. จะหมดสมาชิกภาพ รวมไปถึงการเหน็บแนมแอ๊ด คาราบาวถึงที่ดินที่เขากระโดงหลังจากที่แอ๊ดแต่งเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 38% และ TikTok 27% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากช่อง PPTV และจากช่อง ONE31 เป็นข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากรัฐสภาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่, คลิปจากสำนักข่าว BBC ในประเด็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ด้านความสนใจของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นนี้พบว่า มาจากสื่อจำนวน 17.3 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 15 ล้าน, ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 9.7 ล้าน Engagement , มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 303,669 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ตำหนิการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีบางส่วนกล่าวว่าไม่ศรัทธาในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคำถามถึงที่มาขององค์กรอิสระอื่นอย่าง กกต. สว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน

กล่าวโดยสรุป ในเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากถึง 8 จาก 10 ประเด็น โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกลทั้งสองครั้ง, ประเด็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ โดยอีก 2 ประเด็นที่เหลือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สิ่งบันเทิง อย่างละครมาตาลดา และประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ คือพลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับเมืองไทย

“คลื่นลูกใหม่ของซีรีส์จีน” บุกตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและคนดูรุ่นใหม่ในเอเชีย

การเข้ามาของระบบแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top หมายถึง เนื้อหาจากสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube หรือ Netflix (กฤษณ์ กำจาย, 2564)) ทำให้คนไทยได้รับชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์จากนานาชาติได้หลากหลายและมากยิ่งขึ้น บทความจาก กสทช. (2562) เรื่อง “คาดการณ์จำนวนผู้ชมทีวีออนไลน์ OTT เปรียบเทียบสภาพตลาดโลกและ OTT ไทย (2019-2023)” เสนอผลสำรวจจำนวนผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD (Subscription Video on Demand ซึ่งเป็นบริการรับชมคอนเทนต์ ทีวีออนไลน์ แบบเรียกเก็บค่าสมาชิก) อยู่ที่ 1.13 ล้านราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 ล้านรายในปี 2023 ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มทำให้ตลาดผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งอาจมีจำนวนมากกว่านี้

ในปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา ตลาดแพลตฟอร์ม OTT มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากเว็ปไซต์ Brand Buffet (2566) พบว่า ในช่วง 3 ปีที่นี้หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย พบว่า ผู้ชมรับชม ทีวี 75% ลดลง 5% (ก่อนโควิด 80%) ออนไลน์ 80% เพิ่มขึ้น 10% (ก่อนโควิด 70%) และสื่อนอกบ้าน (OOH) 35% (ก่อนโควิด 35%) ข้อมูลยังพบว่า คนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือคนไทย 1 ใน 3 ดู Video on demand หรือแอพพลิเคชั่น    และวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน OTT ซึ่งจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ของ กสทช. ในปี 2562 กว่า 13 เท่า 

ด้วยจำนวนผู้ชมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดซีรีส์และภาพยนตร์ในระบบ OTT จึงเริ่มมีการแข่งขันกันสูงและ ด้วยมูลค่าทางการตลาดที่สูงมากขึ้น ข้อมูลจาก Market Think (2565) ระบุ ในปี 2021 ประเมินว่ากลุ่มบริการ Video on demand (เช่น Netflix, LINE TV, Viu, Disney+) มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,186 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักมาจากการสมัครสมาชิก ขณะที่กลุ่มบริการ Video Sharing (เช่น YouTube, Twitch) ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 4,934 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักมาจากการเก็บค่าโฆษณา ด้วยมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ทำให้หลายประเทศต่างมุ่งหน้าสู่ระบบสตรีมมิ่งทั้งสองรูปแบบ รวมถึง “ซีรีส์จีน” ด้วยเช่นกัน

ในอดีต การแข่งขันของบริการสตรีมมิ่งมักอยู่ระหว่างชาติตะวันตก คือตลาดวิดีโอขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ละตินอเมริกา และ อินเดีย ยกเว้นประเทศจีน ที่มีข้อกำหนดทางด้านกฎหมายทำให้บริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ แม้ว่าตลาดจีนจะมีกำลังซื้อที่สูง และมีประชากรที่มากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 บริษัทสตรีมมิ่งของจีน เริ่มขยายตลาดไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า จำนวนนาทีการรับชมสตรีมมิ่งต่อสัปดาห์ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 60% (TV Digital Watch, 2020 ; https://www.tvdigitalwatch.com/special-diney-vs-netflix-2-8-63/)

ซีรีส์จีนดูเหมือนเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน OTT แต่ในความรู้สึกและความทรงจำของผู้รับชมละครชุดจีน หรือซีรีส์ที่ใช้ภาษาจีนทั่ว ๆ ไปในไทยนั้น ต่างมีความคุ้นเคยกับซีรีส์จีนมานานแล้ว โดยหนึ่งในละครชุดจีน ที่หลายคนอาจจะนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ  “องค์หญิงกำมะลอ (Princess Returning Pearl) ที่ออกอากาศปี 1998 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีการสร้างภาคต่อทั้งหมดถึง 3 ภาคในปี 1998, 1999, 2003 และยังมีการหยิบมารีเมกใหม่อีกครั้งในปี 2011 โดยประเทศไทยได้นำเข้ามาฉายออกอากาศทางช่อง 3 ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.25 น. และได้นำกลับมาออกอากาศซ้ำ และออกอากาศจนถึงภาคสาม (จากบทความเรื่อง 10 ซีรีส์จีนระดับตำนาน ที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ โดย Sanook (2022) และข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

นอกจากองค์หญิงกำมะลอ ยังมีละครชุดจีนอีกหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เช่น ละครชุดตำนานรักดอกเหมย (2536) ที่เป็นการนำละครหลาย ๆ เรื่องมาออกอากาศในช่วงเวลาเดิม จนกลายเป็นชื่อช่วง ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี  รวมทั้งซีรีส์ในตำนานอย่าง รักใสใสหัวใจ 4 ดวง (Meteor Garden หรือ F4) ที่ออกอากาศปี 2001 ทั้งนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคแรก ๆ นั้นซีรีส์จีนที่ได้รับความนิยมในไทยส่วนใหญ่มักสร้างโดยไต้หวัน หรือฮ่องกง เพราะในเวลานั้นจีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดของซีรีส์หรือภาพยนตร์เท่าที่ควร จนกระทั่งจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT อย่าง WeTV และบุกเข้าตลาดไทยในปี 2562 ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ซีรีส์จีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และจากข้อมูลในโลกออนไลน์ พบว่าในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา ซีรีส์ไต้หวันได้รับความนิยมน้อยลงเพราะความน่าเบื่อของเนื้อหา และขาดความสนุกสนานของเนื้อเรื่อง (บทความเรื่อง 10 ซีรีส์จีนระดับตำนาน ที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ โดย Sanook (2022) และ Market Think, 2021 ; https://www.marketthink.co/17602)

“ในปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงจีนมีการพัฒนาอย่างมากด้วยรัฐบาลจีนสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านกลยุทธ์รุกตลาดโลกด้วยวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจากการผลักดันนี้ทำให้ซีรีส์จีนคนเริ่มนิยมไปทั่วโลก” (ภากร กัทชลี (อ้ายจง), 2565)

อุตสาหกรรม“บันเทิงจีน”มีการพัฒนาเป็นอย่างมากภายใต้การสนับสนุนจากทางรัฐบาลจีนในรูปแบบของ Creative Cultural Industry อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบันเทิง การผลิตซีรีส์ และภาพยนตร์จีน  แนวทางหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พัฒนาและส่งออกไปสู่นอกประเทศจีน แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและความเป็นจีน (ภากร กัทชลี (อ้ายจง), 2565) จนมาถึงปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) ออกอากาศปี 2019 ที่สร้างกระแสไปทั่วโลก ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในประเทศทั่วเอเชีย และ Netflix ซื้อลิขสิทธิ์ไปสตรีมเกือบทุกประเทศทั่วโลก ครอบคลุมไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย-ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะทั้งชื่อซีรีส์หรือนักแสดง ล้วนติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ไทย (Sanook, 2022 ; https://www.the1.co.th/en/the1today/articles/3372)

ละครโทรทัศน์จีนแผ่นดินใหญ่  มีความคล้ายคลึงกับละครโทรทัศน์ในอเมริกาเหนือแต่มักจะมีจำนวนตอนที่มากกว่า จีนผลิตละครโทรทัศน์มากกว่าประเทศอื่น ๆ คือ มีจำนวนมากกว่า 15,000 ตอน ในปี 2014 ประเภทของละครที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีนคือ โรแมนติก – แฟนตาซี โดยมี 47 จาก 50 เรื่องที่มีคนดูมากที่สุดในประเทศ ในปี 2016 ละครโทรทัศน์ของจีนเป็นที่นิยมและออกอากาศทางทีวีทั่วเอเชีย โดยเฉพาะใน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และกัมพูชา (Wikipedia, nd. ; https://th.wikipedia.org/wiki/ละครโทรทัศน์จีน)

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ซีรีส์จีนและประเทศภายใต้การปกครองโดยจีน เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายลดการผลิตซีรีส์ย้อนยุคลง และเพิ่มซีรีส์แนวสมัยใหม่ขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนในปัจจุบันให้เป็นสากล ในปี 2018 ที่ผ่านมา มีซีรีส์จีนถูกผลิตออกมารวมกว่า 962 เรื่อง ในขณะที่ปี 2019 ลดลงเหลือ 784 เรื่อง โดยซีรีส์ส่วนใหญ่ที่ถูกลดลง จะเป็นแนวย้อนยุค ส่วนซีรีส์ที่เพิ่มเข้ามาแทนคือ แนวคนเมือง, รักวัยรุ่น, สายอาชีพต่างๆ รวมทั้งซีรีส์รีเมก และในปัจจุบันมีช่องทางออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้รับชมซีรีส์จีนโดยเฉพาะ เช่น WeTv แอป Video Streaming ของบริษัท Tencent ประเทศไทย หรือช่อง Mango TV บน YouTube (Market Think, 2019 ; https://www.marketthink.co/520)

บทความเรื่อง “เจาะลึก! ซีรีส์จีน วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วยแว่นทฤษฎี Cultural Soft Power” โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปรากฏการณ์ความนิยมซีรีส์จีนเริ่มเด่นชัดในสังคมไทยช่วงต้นทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา โดยข้อมูลเชิงสถิติพบว่าบริการของ WeTV Thailand ปี พ.ศ. 2564 สามารถสร้างยอดผู้ใช้งานต่อเดือนที่ 13 ล้านคน มีผู้ใช้งานต่อวันเพิ่มขึ้น 13% ราว 2 ใน 3 เป็นผู้ใช้งานเพศหญิง การชมคอนเทนต์จากประเทศจีนโดยเฉพาะซีรีส์เติบโตสูงถึง 137% บ่งบอกความนิยมซีรีส์จีนในหมู่ผู้ชมหญิง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฉายเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและ/หรือการเป็นคอนเทนต์แบบซีรีส์วาย แต่ผู้ชมชายจะเลือกบริโภคงานกลุ่มกำลังภายในโดยเฉพาะงานที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกของ Jin Yong และ Gu Long (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497)

นอกจากเนื้อหาของซีรีส์จีนที่ส่งผลให้คนไทยเลือกชม แล้ว คนไทยบางกลุ่มเสนอว่า รูปลักษณ์แบบจีนคือความน่าใฝ่ฝัน ต่างจากในอดีตซึ่งรูปลักษณ์อย่างตะวันตกเป็นที่นิยมมากกว่าจนนักแสดงสายเลือดตะวันตกได้รับโอกาสในวงการบันเทิงไทย สำหรับมิติทางวัฒนธรรม ชาวจีนเคยถูกค่อนขอดว่า ขาดมารยาทสากล ไร้วินัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสนทนาในหลายฟอรั่มเริ่มเจือพื้นที่ให้กับความแปลกใหม่ด้านศิลปวัฒนธรรม (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497) ด้วยนักแสดงไทยในปัจจุบันมีความนิยมลูกครึ่งหรือมีหน้าตาคล้ายคนตะวันตก ทำให้ซีรีส์จีนที่มีรูปลักษณ์ไม่เหมือนซีรีส์เกาหลีใต้หรือตะวันตก กลายเป็นความน่าใฝ่ฝันของกลุ่มผู้ชมไทย

ทั้งนี้วัฒนธรรมไทยและจีนที่มีการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน จากที่ไทยและจีนมีสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายระหว่างกันมาช้านานกว่า 700 ปี ส่งผลให้วัฒนธรรมและประเพณีของจีนผสมผสานกับของไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้คนไทยและคนจีนมีความใกล้ชิดคุ้นเคยกันดั่งเครือญาติ จนมีคำกล่าวว่า “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง, มปป. ; https://thaiembbeij.org/th/republic-of-china/thai-relations-china/) ทำให้บทบาทของซีรีส์จีนในการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมพร้อมกับป้อนทัศนะเชิงบวกตามหลักทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์และ Cultural Soft Power ซีรีส์ช่วยสร้างภาพจำใหม่ ๆ ผ่านองค์ประกอบอย่างความงามทางวัฒนธรรม บทประพันธ์ และความน่าหลงใหลของตัวละคร (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497)

หลังจากที่ซีรีส์จีนได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น มุมมองคนไทยต่อประเทศจีนก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการมองจีนเป็นชาติด้อยอารยธรรมหรือ กระหายในผลประโยชน์ผู้ชมเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมากขึ้นพร้อมเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกซึ่งทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้เห็นวิถีความเป็นจีน  ความต้องการเรียนภาษา รู้วัฒนธรรมจีนในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์สืบเนื่องมาจากการชมซีรีส์ จากเดิมที่เชื่อว่า ภาษาจีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ผู้เรียนกลับเลือกเรียนด้วยความรู้สึกชมชอบเป็นการส่วนตัว ซีรีส์จีนมีส่วนสำคัญในการช่วยละลายกำแพงระหว่างไทย-จีน รวมทั้งอคติหลายอย่างให้ลดเลือนไป ความหวาดกลัวจีนในทางการเมืองก็เบาบางลงอย่างที่เห็นในการใส่ความจีนเรื่องการเป็นต้นตอวิกฤตโควิด-19 ผู้ชมจำนวนไม่น้อยหันไปติดตามข่าวสารเกี่ยวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาการคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การค้า/การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การมองจีนในมุมใหม่ยังมาจากเนื้อหาซีรีส์ที่พยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพของชาวจีนในการยกระดับตนเอง (ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์, 2565)

ไม่ว่าจะเป็นทั้งความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน หรือการเล่าเรื่องชวนให้ผู้ชมรู้สึกอบอุ่น รู้สึกประทับใจในความสู้ชีวิตของชาวจีนแล้ว ฝีมือการแสดงของผู้เล่นทุกคนก็สะดุดตา การลงทุนด้านฉาก จำนวนผู้แสดง ชุดเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก/การแสดง การจัดแสงของซีรีส์จีน ล้วนทำให้ซีรีส์จีนได้ความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้แล้วการเลือกเปิดรับชมซีรีส์ไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ชมแต่ละคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์จีนได้กลายมาเป็นผู้เล่นในตลาดสตรีมมิ่งที่มีความน่ากลัว เพราะการพัฒนาทั้งด้านเนื้อหาทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตร่วมสมัย รวมทั้ง เทคนิค องค์ประกอบต่างๆ และคุณภาพการแสดง ทำให้ซีรีส์จีนขึ้นมาตีคู่กับซีรีส์นานาชาติได้ การศึกษาการพัฒนาซีรีส์จีนจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากซีรีส์ไทยคิดจะเข้าสู่สนามแข่งขันนี้ เพื่อเป็นซีรีส์ชั้นนำของโลก โดยใช้โมเดลของนานาชาติเป็นฐานในการสร้างอนาคตของซีรีส์ไทยที่มีคุณภาพ สู่ตลาดสากล

พลังแห่ง Soft Power ภาพยนตร์-ซีรีส์ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว

หลังจากสถานการณ์ covid-19 คลี่คลาย หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดประตูต้อนรับการท่องเที่ยวที่พร้อมหลั่งไหลมาจากนานาชาติ เกาหลีใต้คือหนึ่งในประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย เหตุผลหลักที่คนไทยต่างไปเยือนเกาหลีใต้นั้นคือการ “เที่ยวตามรอยซีรีส์ดัง” ในโลกออนไลน์ ที่มีการนำเสนอเนื้อหา “ปักหมุดเที่ยวตามรอยซีรีส์ดัง เกาหลี…เกาใจ ไม่ไปไม่ได้แล้ว” “ปักหมุดไว้ตามรอย! ร้านคิมบับอูยองอู ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo ที่น่าไปเช็คอิน” “10 ที่เที่ยวเกาหลี ตามรอยซีรีส์ดัง พิกัดสุดฟิน ถ่ายรูปปังๆ ไม่ไปไม่ได้แล้ว”

ซีรีส์เกาหลีใต้บางเรื่องจึงเลือกตั้งชื่อเรื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง และอาจแฝงเพื่อโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “Itaewon Class (2020)” ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยสามารถทำเรตติ้งได้ถึง 16.5% ซึ่งเป็นเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของซีรีส์ทั้งหมดที่เคยออกอากาศทางสถานี และยังได้รับความนิยมในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และ ไทย จนสามารถขึ้นอันดับของ Netflix ของทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงปี 2020 โดยจุดเริ่มของ Itaewon Class เป็นรูปแบบการ์ตูนบน Kakao Webtoon ที่มียอดเข้าชมมากกว่า 400 ล้านครั้ง ต่อมามีการสร้างเป็นซีรีส์เผยแพร่ทางสถานี JTBC (กรุงเทพธุรกิจ, 2565)

ซีรีส์ดังกระตุ้นการท่องเที่ยว
ฉากสำคัญในซีรีส์เรื่อง Itaewon Class ที่กลายเป็นภาพจำของซีรีส์เรื่องนี้ มีคำพูดของตัวละครสำคัญในเรื่อง “วันฮาโลวีน วันที่สร้างขึ้นมา เพื่อปลอบโยนดวงวิญญาณของผู้ที่จากไป และปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย ผู้คนแต่งหน้า แต่งตัว ให้เหมือนปีศาจ เพื่อที่จะไม่ได้ทำอันตราย วันนั้น คือ ฮาโลวีน ที่ ผู้คนมากมายเดินทางมาที่ อิแทวอน เพื่อร่วมงาน ฮาโลวีน แม้แต่คนที่โตแล้ว ยังฉลองเทศกาลนี้ และถึงไม่ใช่ช่วงเทศกาล แต่ผู้คนทั่วทั้งโลก ก็ต่างหลั่งไหล มาที่ อิแทวอน เพราะ ความสวยงาม ของตึกรามบ้านช่อง ที่เดินเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน และเหมือนกับรวมถนนทั่วทุกมุมโลกมาไว้ที่นี่” (คมชัดลึกออนไลน์, 2565)
.
อิแทวอนจึงกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องจากอยู่กลางกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน ที่มีผับบาร์ ร้านอาหาร และร้านขายของจำนวนมาก และในช่วงเทศกาลฮาโลวีน อิแทวอนได้จัดเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากที่เกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ covid-19 โดยมีรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมถึงประมาณ 100,000 คน (The Matter, 2022) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าซีรีส์เกาหลีใต้ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในเชิงการท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Soft Power แม้นับจากวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ภาพจำและความรู้สึกต่อวันฮาโลวีนที่อิแทวอน จะเปลี่ยนไปก็ตาม
.
Soft Power กับ อุตสาหกรรมบันเทิง
อุตสาหกรรมบันเทิงส่งต่อ ความนิยม ความชื่นชอบในวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่แพร่ไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งมีที่มาจากซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก
อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดย‘คิมแดจุง’ ผู้นำเกาหลีใต้ ฟื้นฟูวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านนโยบายภาครัฐ โดยเน้นผลักดัน Pop Culture และสื่อต่าง ๆ เกาหลีใต้ใช้เวลาสร้าง Soft Power กว่า 24 ปี ด้วยผลสำเร็จเชิงรายได้ที่เข้าประเทศมากถึง 12.3 พันล้านดอลลาร์ (Venus kanpaksorn, 2022) ซีรีส์เกาหลีใต้จึงเป็นSoft Power ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ส่งต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ไปยังนานาชาติ
.
Soft Power ตามนิยามความหมายของ Joseph S. Nye Jr. นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์คำ “Soft Power”หรือ “อำนาจอ่อน” ในหนังสือ Bound to Lead ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ให้นิยาม Soft Power ว่าหมายถึง การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นโดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องการ ในยุคปัจจุบันเราสามารถเห็น Soft Power ผ่านสื่อ เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ ด้วยเนื้อหาอันเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การแต่งกาย เพลง ศิลปะ ดนตรี การท่องเที่ยว เป็นต้น (Nichkamon Boonprasert, 2021)
.
Soft Power ไทย แต่ผลงานของต่างชาติ
ไม่ใช่แค่เฉพาะเกาหลีใต้ที่สร้าง Soft Power ได้สำเร็จ ประเทศไทยเองก็มีภาพยนตร์ที่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่เสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยแต่เป็นภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand (2555) ภาพยนตร์ตลกแนวโรด มูฟวี่ (road movie) ที่มาถ่ายทำในประเทศไทย โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ถ่ายทำหลัก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างรายได้มหาศาลทั้งในเชิงของธุรกิจสื่อบันเทิงและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคาดการณ์ว่าส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน (Sanook, 2555) เห็นได้ชัดว่าประเทศไทย ของเรา ก็มี Soft Power ที่สามารถนำเสนอและเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
.
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง แนวทางการยกระดับคุณภาพของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย อธิเทพ งามศิลปเสถียร (2563) ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่สวยงามน่าสนใจมากมายและเหมาะที่จะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและถ่ายทำภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ทั้งของไทยและต่างประเทศในทุกโอกาสทุกฤดูกาล ทุกวันนี้หน่วยงานของภาครัฐ เอกชน ชุมชน ได้เผยแพร่ความพร้อมทั้งความสะดวก สะอาด ปลอดภัย การเดินทางที่สะดวกผ่านหลายช่องทาง มีกิจกรรมสนับสนุนการถ่ายทำสื่อ การนำเสนอสิ่งจูงใจเพื่อสนับสนุน รวมถึงการบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ให้แก่ผู้ผลิตจากนานาประเทศ
.
ความรับผิดชอบและระมัดระวังในการใช้ทุนทาง Soft Power เพื่อขยายผลผ่านสื่อ
การอนุญาตให้ใช้สถานที่ธรรมชาติที่สำคัญในประเทศไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ที่คาดหวังการส่งต่อ Soft Power และวัฒนธรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังในการไม่เปิดช่องให้ผู้ได้รับอนุญาต สร้างความเสียหายหรือทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช (The Beach)” ในปี 2541 มีการถ่ายทำที่อ่าวมาหยา หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พื้นที่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติ โดยกองถ่ายภาพยนตร์“เดอะบีช (The Beach)” ได้ทำการปรับสภาพพื้นที่ชายหาด มีการปลูกต้นมะพร้าว ขุดทรายหน้าหาด ปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม เพื่อการถ่ายทำฉากเล่นฟุตบอลชายหาด รวมทั้งการใช้แพขนานยนต์ไปเทียบหาดเพื่อขนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง ทำให้สันทรายเกิดรอยเว้าถูกน้ำทะเลกัดเซาะทราย และสร้างความเสียหายต่อปะการังน้ำตื้นทั้งมีการทำลายพืชประจำถิ่น ขุดย้ายพันธุ์ไม้ชายหาด อาทิ รักทะเล, พลับพลึงทะเล, ผักบุ้งทะเล ฯลฯ เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เสียหายรุนแรงชัดเจน (ผู้จัดการออนไลน์, 2565) จัดเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จนมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชจะเป็น Soft Power ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย แต่หากประเมินผลที่ได้กับความเสียหายต่อทรัพยากรของประเทศแล้ว นับเป็นบทเรียนสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ ในความรับผิดชอบและระมัดระวังในการใช้ทุนทาง Soft Power เพื่อขยายผลผ่านสื่อ
.
ทั้งในกรณีอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ และเกาะพีพี ประเทศไทย ล้วนเป็นผลพวงจาก Soft Power ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อและการท่องเที่ยว อันเป็นผลจากสื่อซีรีส์ สื่อภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูง จนทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากกำหนดเป็นหมุดหมายการเดินทาง เป้าหมายความสำเร็จนี้ต้องมีการเตรียมรับมือสถานการณ์อันอาจเกิดขึ้น หรือมีการเตรียมการป้องกันก่อนจะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
.
ปัจจุบันประเทศไทยก็มีการผลิตสื่อ เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ เพื่อส่งต่อ Soft Power ไทยไปยังนานาชาติ ด้วยวัฒนธรรมและเอกลักษณ์หลากหลาย เช่น อาหาร การแต่งกาย เพลง ศิลปะ ดนตรี รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นSoft Power ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างมูลค่าแห่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ของประเทศไทย
.
โจทย์สำคัญของผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อสร้าง Soft Power ที่มีพลัง คือ ความเข้าใจ Local Content ความเข้าใจแก่นของ เนื้อหา และ การพัฒนาเนื้อหาให้มีความเป็นสากล ต่อยอด Local Content ให้เชื่อมโยงได้กับความเป็นสากล ดังความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ที่มีจุดเด่นหลัก 4 ประการ (The States Times, 2021) คือ
ประการที่ 1 ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง
ประการที่ 2 สร้างตัวตนให้โดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร
ประการที่ 3 การวางแผนการตลาดในระดับโลก
ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง
เห็นได้ชัดว่าเกาหลีใต้นั้นมีการสนับสนุนสำคัญจากภาครัฐในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง รวมไปถึงการสนับสนุนการศึกษาทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อการเข้าถึงเข้าใจเนื้อหาของท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ นำมาสร้างเป็นตัวตนของตนเองที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากชาติอื่น ๆ ทั้งยังเข้าถึงตลาดระดับโลกด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความเป็นสากลและหลากหลาย สุดท้ายคือการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดความทันสมัยและแปลกใหม่ จนทำให้ Soft Power ของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้

ประชาสัมพันธ์บทความวิจัยเรื่อง “มารยาทดิจิทัล: ข้อกำหนดในการสื่อสารออนไลน์ที่พลเมืองดิจิทัลไทยควรตระหนัก”

ตามที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิตินันทน์ ผิวนิล อาจารย์สังกัดภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยเรื่อง “มารยาทกำหนดในการสื่อสารออนไลน์ที่พลเมืองดิจิทัลทยควรตระหนัก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง “มารยาททางสังคมในการปฏิสัมพันธ์แบบออนไลน์ของนิสิตนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร” บัดนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว

ซีรีส์วายกับช่องว่างในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ

             ทุกปีในเดือน “มิถุนายน” หลายประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เช่นเดียวกัน ประเทศไทยที่มีการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศเช่นกัน เห็นได้จากเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อกรุงเทพมหานครจัดงาน BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

             หากพิจารณาสถานะของคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยผ่านทางสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ พบว่า คนหลากหลายทางเพศได้ปรากฏในรายการต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “ซีรีส์วาย”  จากบทความเรื่อง “หรือ ‘ซีรีส์วายนี่แหละคือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” โดย สันติชัย อาภรณ์ศรี (2565) กล่าวว่า ซีรีส์วายไทยได้ส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก เช่น เมื่อปี 2017 แฟนคลับชาวจีนของหนุ่มสิงโต ปราชญา (นักแสดงซีรีส์วาย SOTUS The Series) ได้ซื้อดาวพร้อมตั้งชื่อดาวว่า ‘Singto Prachaya Ruangroj’ ให้กับเขา หรือแม้กระทั่งการจัดแฟนมีตติ้งในประเทศจีน  แต่ยังรวมไปถึง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย

             แม้จะได้รับความนิยม แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมซีรีส์วายไทยถึงยังถูกตั้งคำถามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ด้วยข้อสงสัยว่าซีรีส์วายขับเคลื่อนและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือแค่เป็นเครื่องมือทางการตลาด บทความชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านร่วมวิเคราะห์ถึงบทบาทของซีรีส์วายไทยกับการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

ซีรีส์วายขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ?

              ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “ซีรีส์วาย และความหลากหลายทางเพศ” โดย Media Alert (2564)  ผศ.ดร. ปุรินทร์ นาคสิงห์ ได้ให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับ ซีรีส์วายและการยอมรับความเสมอภาคทางเพศ ไว้ดังนี้

ซีรีส์วายแต่ละเรื่อง ถ้าจําไม่ผิด เยอะมาก มีหลายสิบเรื่อง ถ้าเป็นหนังสือ คงหลายร้อยเล่ม เหล่านี้มีการพูดถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ มันไม่ได้บอกว่าเราสามารถอยู่ท่ามกลางความหลากหลายอย่างไร เราจะยอมรับกลุ่ม LGBT ที่มีความแตกต่างได้อย่างไร แต่เรากําลังพูดถึงผู้ชายที่มาเจอกันในเรื่อง ทะเลาะกัน รักกัน คนดูก็จะชอบดูแต่ฉากจิ้น ฉากโรแมนติกจิกหมอน ฉากเลิฟซีน อาจไม่ต้องถึงขั้นถึงพริกถึงขิง แค่กุ๊กกิ๊ก คือพล็อตมันฟินแล้วก็จบ ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงสิทธิ พูดถึงในเรื่องของการเคารพกัน หรือการให้ความรู้กับคนดูในการปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มีเเค่บางรูปแบบของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ถูกนํามาผลิตซ้ำ เพราะมีผู้ชายหน้าตาดี หุ่นดี ขายได้ มีเด็กใหม่ ๆ ที่เดินทางเข้าสู่วงการบันเทิงที่มีลักษณะเดียวกัน คือรูปร่างหน้าตาดีพิมพ์นิยม มีความเป็นชาย หรือมีความเป็นเกาหลี วนอยู่อย่างนั้น

ซีรีส์วาย ทำขายใคร?

             แล้วความหมายที่แท้จริงของคำว่า “วาย” มีที่มาอย่างไร ทำไมซีรีส์วายจึงไม่สามารถเป็นหนทางสร้างการยอมรับและความเสมอภาคทางเพศในสังคมได้ บทความเรื่อง “วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน” โดย Chanan Yodhong (2021) ได้อธิบายความหมายของ ‘วาย’

‘วาย’ มาจากป๊อปคัลเจอร์สัญชาติญี่ปุ่น Yaoi หรือ BL (boy love) เดิมเป็นนิยายและมังงะ ก่อนจะเพิ่มแพลตฟอร์มเป็นซีรีส์ในทีวีในยุคหลัง เล่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ โรมานซ์ ๆ ระหว่างชายหนุ่ม ที่ตัวละครเป็นชายรักต่างเพศซึ่งมักจะชอบนิยามตัวเองว่า ชายแท้แต่มาตกหลุมรักใส ๆ กันเอง

 

             เมื่อการยอมรับรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย ไปพร้อมกับรสนิยมทางวรรณกรรม วัฒนธรรมการบริโภค ‘วาย ก็เดินทางออกจากใต้ดินขึ้นมาสู่บรรณพิภพบนดิน ก่อนจะขยายแพลตฟอร์มมายังสื่อโทรทัศน์ เกิดซีรีส์วายที่กลุ่มผู้บริโภค วาย หรือ ‘สาววาย’ เป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิง ดังนั้นแล้ว เพศวิถีรักเพศเดียวกัน เพศสภาพเกย์ และวัฒนธรรมวาย อาจจะสัมพันธ์กันหรือไม่สัมพันธ์กันก็ได้ สาววายหรือผู้ที่ชื่นชอบบริโภค วาย ๆ อาจจะสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ เคารพสิทธิเสรีภาพเกย์กะเทย หรือไม่สนอะไรใดๆ เลย จิ้นฟินประโลมโลกย์อย่างเดียว เก้งกวางกะเทยก็อาจจะเป็นแฟนคลับซีรีส์วาย หรือไม่อินก็มี (Chanan Yodhong, 2021)

สาววาย กลายเป็นวัฒนธรรมย่อยและกลุ่มผู้บริโภคหลักของซีรีส์วาย หลายครั้งที่ผู้จัดฯซีรีส์ คนเขียนบท หรือผู้กำกับซีรีส์ต่างพัฒนาแนวทางของซีรีส์ให้ตอบโจทย์กลุ่มสาววายที่เป็นเป้าหมายหลักของการตลาดซีรีส์วาย

ชูเรื่อง LGBTQ แต่ไม่ใช้นักแสดง LGBTQ

               เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “กระแสวายมาแรง เข้าใจ “เพศสภาพ” หรือแค่สนองความฟิน?” โดยเว็ปไซต์ Sanook (2563) กล่าวว่า ซีรีส์วายของไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้นักแสดงนำที่เป็นคนกลุ่ม LGBTQ จริง ๆ แต่จะเลือกชายจริงหญิงแท้มารับบท แล้วให้คนกลุ่ม LGBTQ ไปเป็นตัวประกอบ หรืออยู่ในฐานะตัวตลกแทน ทำให้มีประเด็นถกเถียงทางสังคมกันบ่อยครั้งว่าชายหญิง สเตรต’ (Straight) หรือ ผู้ที่มีความชื่นชอบในเพศตรงข้ามตามที่สังคมกำหนด (หรือ Heterosexual man/woman) ยอมมารับบทนี้ก็เพราะเงินดีและแจ้งเกิดได้เร็ว ทั้งที่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่ม LGBTQ และไม่ช่วยชี้นำให้สังคมเข้าใจเรื่องเพศสภาพของคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับการรณรงค์เรื่อง LGBTQ

                เมื่อตัวละครหลักในซีรีส์วายที่ได้รับการตอบรับดี ส่วนใหญ่มักมีรสนิยมทางเพศในชีวิตจริงแบบชาย-หญิง ดังนั้น การที่วงการซีรีส์วายยังไม่ยอมให้นักแสดงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รับบทตัวละครหลัก  แต่ให้แสดงเป็นตัวประกอบหรือตัวตลกเท่านั้น  อาจสะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ อย่างแท้จริง

                ขณะที่บทความเรื่อง “มอง ‘ซีรีส์วายไทย’ อีกด้าน กับสารพัดคำถามที่คนดูอาจต้องการคำตอบ” โดย ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ (2565) ในเว็ปไซต์ไทยรัฐพลัส ได้กล่าวว่า การจับคู่ชาย-ชาย (หรือหญิง-หญิง) ในสื่อวายนั้น ไม่ได้ถูกคิดขึ้นบนพื้นฐานว่าตัวละครนั้น ๆ มีเพศสภาพอะไร แต่แค่เป็นการจับคู่กันเพื่อผูกเรื่องให้ดูน่าดึงดูดใจก็เท่านั้น และหลายครั้ง การสร้างตัวละคร ผู้ชายฝ่ายรับที่มีความเป็นหญิงอยู่สูง ก็เกิดมาจากการมองโลกผ่านสายตาของผู้หญิงที่เป็นผู้เล่าเรื่อง และความคลุมเครือของตัวละครชาย-หญิงในสื่อที่มีอยู่ก่อนหน้ามาผสมผสานกันนั่นเอง ซีรีส์วายในมุมของ ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ จึงแตกต่างจากสื่อแนวโฮโมอีโรติกอันดุเดือดเลือดพล่านของญี่ปุ่น ที่เกย์หรือคนเพศอื่นๆ เป็นผู้เขียน เพื่อต้องการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงเช่นกัน

บทพระเอกหรือนายเอกของเรื่อง ที่ตามปกติมักมีรูปร่างหน้าตาที่ชวนมอง และมาพร้อมกับฉากโชว์เรือนร่าง ไม่ก็แสดงความสัมพันธ์แบบถึงเนื้อถึงตัว หรือที่เรียกรวมกันสั้นๆ ว่าเป็น ‘ซีนเซอร์วิส’ (ฉากขายแฟนคลับ) เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทำสื่อบันเทิงยังคงมีพื้นฐานอยู่บนการทำธุรกิจตอบสนองรสนิยมของผู้ชมกระแสหลักเพื่อสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงทุกองคาพยพในกระบวนการผลิต และเมื่อสื่อวายได้กลายมาเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถ ‘ทำเงิน’ ได้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน การขับเน้นจุดขายผ่าน ‘จุดเด่น’ ของวายจึงอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายอย่างที่ใครคิด

              เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับซีรีส์วาย แม้การให้นักแสดงสเตรต’ (Straight) มาเป็นตัวละครหลักที่มีความหลากหลายทางเพศ จะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เมื่อซีรีส์เรื่องนั้นสร้างรายได้ดี ก็ตามมาด้วยการยืนยันใช้นักแสดง Straight ในซีรีส์วาย จึงนำมาซึ่งความเห็นของกลุ่มและผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศต่อซีรีส์วายว่าไม่สะท้อนแสดงความเป็นจริงเพื่อตัวตนคนหลากหลายทางเพศที่ควรมีสถานะทางสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

เพศหลากหลายหรือชายเป็นใหญ่?

          จากบทความเรื่อง “ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย: เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบทหน้าจอ” โดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น (2564) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2020 และต้นปี 2021 ของ Rocket Media Lab บนแพลตฟอร์มไลน์ทีวี ทั้งหมด 13 เรื่อง พบว่าเกือบทั้งหมดยังคงเสนอภาพของชายตรงเพศ (Straight) ที่รักกัน และทั้ง 100% จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูมีความเป็นชายมากกว่าอีกฝ่าย ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาที่มีแต่ความเกี่ยวข้องกับเพศชายนั้นสร้างภาพจำให้คนดูยึดติดว่านักแสดงจะต้องเป็นชายตรงเพศเท่านั้น การนำเอานักแสดงที่อยู่ในกลุ่มชายรักชายมาเล่นซีรีส์วายกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลก และนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบ หรือหากเป็นตัวละครที่มีลักษณะอ่อนหวาน (Feminine) ก็อาจได้รับบทบาทสำคัญในเรื่อง แต่ก็ต้องถูกนำเสนอในลักษณะเป็นตัวตลก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่สะท้อนชุดความคิดที่ผู้ชายต้องเป็นใหญ่เท่านั้น

จากค่านิยมเหล่านี้ทำให้มองเห็นได้ว่า สังคมยังคงนิยามคำว่าเพศเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใช้สำหรับการจำกัดความเป็นคนเอาไว้ สังคมยังคงมีความเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิง สังคมไม่ได้มองลึกลงไปในตัวบุคคล เพราะหากเรามาลองวิเคราะห์ดูดีๆ ก็จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับความเป็นซีรีส์วายในจอทีวีอย่างชัดเจน โลกแห่งความเป็นจริงของกลุ่มคน LGBTQIA+ นั้นแทบจะกลายเป็นโลกคู่ขนานของคนทั่วไป แต่ในซีรีส์กลับกลายเป็นอีกแบบ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

แล้วสุดท้ายแล้ว การจะขับเคลื่อนความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศให้ปรากฏในซีรีส์ไทยนั้นต้องทำอย่างไร ในบทความเรื่อง “เรียนรู้ รับฟัง ความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ผ่านสื่อบันเทิง” โดย เอกชัย สุทธิยั่งยืน (2563) กล่าวไว้ว่า

หากมีการผลิตภาพยนตร์ หรือผลงานที่พูดถึง LGBTQ+ แต่ไม่ได้มีการโปรโมตออกมาอย่างตรงไปตรงมา เช่น นี่คือภาพยนตร์เกย์ นั่นคือภาพยนตร์เลสเบี้ยน แต่เป็นการนำเสนอความหลากหลายทางเพศผ่านความลื่นไหล (Gender Fluidity) หรือแม้กระทั่งการไม่ใช่หญิง หรือชาย และไม่อยู่ในกรอบบรรทัดฐานของสังคม (Non-binary) ที่ไม่ได้เป็นตัวบังคับว่าคนคนหนึ่งจะต้องมีเพศสภาพ หรือเพศวิถีทางใด อาจจะเป็นส่วนช่วยให้คนทั่วไปสามารถซึมซับและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของคนอีกกลุ่มในสังคมแบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย หรืออาจเป็นการลดอคติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้วก็เป็นได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้ก็คือตัวคุณเอง ว่าคุณพร้อมจะเปิดกว้างขนาดไหน ซึ่งเราอยากบอกอีกครั้งว่าแค่เพียงการรับรู้และรับฟังกลุ่มคนที่แตกต่างไปจากตัวคุณ ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ทำไมถึงต้องเป็นแค่ความรักชาย-ชาย เมื่อชีวิตจริงหลากหลายกว่านั้น

            LGBT เป็นคำที่หลาย ๆ คนรู้จัก แต่แท้ที่จริงแล้วนิยามความหมายของคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่ยังรวมไปถึง QIAN+ แล้วทำไมซีรีส์ไทยถึงให้ความสำคัญแค่ความรักของชายชายเท่านั้น ในเมื่อยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มากกว่าความรักชายชาย

            ในบทความเรื่อง “เปิดจักรวาลภาพยนตร์ ‘หญิงรักหญิง’ เมื่อพวกเธอถูกมองข้ามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” โดย Peeranat Chansakoolnee (2564) กล่าวว่า เพราะอะไรกันที่ทำให้ภาพยนตร์แนวหญิงรักหญิงยังไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าสื่อบันเทิงแนวชายรักชาย… อนึ่ง โลกสมมติอย่างโลกภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมาจากโลกจริง และโลกแห่งความจริงก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เช่นเดียวกัน เมื่อ 2 สิ่งสะท้อนหาซึ่งกันและกันเช่นนี้แล้ว หากในโลกแห่งความเป็นจริงที่เลสเบี้ยน และความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงยังคงถูกมองข้าม ลืมเลือน และยังไม่เป็นที่คุ้นชินเหมือนดั่งความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ก็เป็นไปได้ที่ความนิยมในภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงก็จะแปรผันตามกัน

            เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถนำเสนอความหลากหลายทางเพศที่มีความหลากหลายจริง ๆ ในซีรีส์เรื่องเดียว บทความเรื่อง “Heartstopper ซีรีส์โอบรับความหลากหลายผ่านการค้นหาและยอมรับตัวตนของวัยรุ่น” โดย กุลธิดา สิทธิฤาชัย (2565) ได้หยิบยกเรื่องราวของตัวละครในซีรีส์เรื่อง Heartstopper ที่ซีรีส์นี้นำเสนอตัวแทนความหลากหลายทางเพศผ่านตัวละคร อย่างที่รู้ว่าชาร์ลี คือตัวแทนของเกย์ (Gay) และเพื่อน ๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็น เทา ซวี (วิลเลียม เกา) ตัวแทนของคนที่ชอบเพศตรงข้าม (Straight) แม้จะอยู่ภายใต้บุคลิกออกสาว แอลล์ อาร์เจนท์ (ยัสมิน ฟินนีย์) ตัวแทนของคนข้ามเพศ (Transgender) และไอแซค แฮนเดอร์สัน (โทบี้ โดโนแวน) ตัวแทนของคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Aesexual) พวกเขาคือคนที่คอยให้คำปรึกษาและเป็นเซฟโซนให้กับชาร์ลีจนสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้ นอกจากนี้ยังมี ทารา โจนส์ (คอรินนา บราวน์) และดาร์ซี่ โอลซ์สัน (คิซซี่ เอ็ดเจล) เป็นตัวแทนของเลสเบี้ยน (Lesbian) ด้วย

 

            การขับเคลื่อนและสร้างความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สำคัญ คือการสร้างความสำคัญและความหมายทางเพศให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างความปกติให้กับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด แต่เมื่อมองผ่านการสร้างสรรค์ของสื่อที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือละครไทย จะวายหรือไม่วายนั้น ส่วนใหญ่พยายามชูประเด็นความรักเพศเดียวกัน มาเป็นจุดขายให้กับเรื่องนั้น ๆ หรือช่วงชิงอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นสินค้าในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพียงกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติให้ผู้ชมได้ซึมซับและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

แม้จะมีจุดขายเรื่องความรักชาย-ชาย แต่สิ่งที่ซีรีส์วายอาจทำได้ คือการไม่ละทิ้งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไว้ข้างหลัง หรือเลือกนำเสนอเพียงนักแสดงที่เป็น ‘สเตรต’ (Straight) เท่านั้น เพราะการบอกเล่าเรื่องราวจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริง ๆ อาจสร้างการขับเคลื่อนและความเสมอภาคทางสังคมได้ดีกว่า หรือการพูดคุยอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ที่มากกว่าชาย-ชาย ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นช่องว่างที่สื่อยังขาดการหยิบยกขึ้นมานำเสนอหรือบางเรื่องที่สื่อทำได้ดีแล้วแต่ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ หากสื่อยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายตั้งแต่ต้นทางการสร้างสรรค์ อาจเป็นหนทางในการลดอคติทางเพศ รวมไปถึงเป็นหนทางที่สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมที่ดีได้จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน