เลือกหน้า

“ท้าสู้เท็จ” เกมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากสื่อและโซเชียลมีเดีย

“ท้าสู้เท็จ” เกมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากสื่อและโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนทั่วไป และเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ความนิยมใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลายมากขึ้นในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสามารถเปิดรับสื่อหรือข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว แต่ผลที่ตามมาคือข่าวสารที่ได้รับมานั้นอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้มีข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ระบุว่า ร้อยละ 70 ของข่าวสารที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย คือ “ข่าวปลอม”    

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ โดยมีประเด็นเรื่องการรับมือกับปัญหาข่าวปลอม คุณชูพล ศรีเวียง ครีเอทีฟ /นักโฆษณา/นักร้อง/นักแต่งเพลง จึงได้ชักชวนคุณเสริมยศ เฉลิมศรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทำเกม มาร่วมกันทำโครงการ
ท้าสู้เท็จเกมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากสื่อและโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนทั่วไป และเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี

โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวปลอม นอกจากนี้ยังขยายโอกาสอย่างเท่าเทียมในกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี ในการพัฒนาทักษะทางความคิดให้รู้เท่าทันและเข้าใจสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

“เราใช้เกมเป็นตัวกลางที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายเพราะเด็กเล่นเกมกัน ถ้าทำให้เกมเป็นลักษณะของการศึกษา เล่นเกมแล้วได้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันข่าวปลอมด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี ให้เด็กได้ทำแบบทดสอบจำลองของการเสพข่าว ได้รู้รูปแบบว่าทำแบบนี้เวลาเจอข่าวปลอมต้องมีวิธีรับมือแบบนี้นะ ได้ฝึกทักษะ พูดง่าย ๆ คือเป็นการสร้างทักษะในการรับมือข่าวปลอมผ่านเกม”

 จากจุดประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและการมองเห็นสี ได้มีภูมิคุ้มกันในการรับมือข่าวปลอมด้วย แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาบางประการทำให้ไม่สามารถพัฒนาเกมให้ตรงกับกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางการมองเห็นสีได้ จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการให้คุณเกียรติศักดิ์ อุดมนาค หรือเสนาหอย นักแสดงและพิธีกรมากฝีมือ มาร่วมในเกมออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ โดยนำคาแรกเตอร์ของเสนาหอยมาเป็นหัวหน้าเหล่าร้าย อยู่ในด่านสุดท้ายของเกมที่ผู้เล่นจะต้องเจอ

 “เรามีการวัดผล เพราะที่คุณเสริมยศวางแผนในตัวเกมเล่นจากด่าน 1 ไปด่านสุดท้าย เรื่องการเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนการสอบย่อย สอบไฟนอล รูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เท่ากับว่าการที่เด็กเล่นไปถึงด่านสุดท้ายคือเด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ถ้าวัดเป็นตัวเลขทางสถิติเกิน 70% ถ้าไปถึงด่านสุดท้ายคือเด็กได้พัฒนาการเรียนรู้ เพราะด่านสุดท้ายออกแบบให้เป็นการตอบแบบสอบถามเป็นข้อสอบไฟนอล ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง”

คุณชูพลยังได้พูดถึงความตั้งใจของทีมงานว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้มีภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อ และถ้าเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันข่าวปลอมได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“เราได้ไปเห็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีปฏิกิริยาที่ดี มีความพยายามในการเล่นก็รู้สึกดีใจ ซึ่งอาจารย์ยังบอกเลยว่าดีใจที่มีคนพัฒนาเกมแล้วคิดถึงพวกเขา ดีใจที่มีคนพัฒนาสื่อแล้วนึกถึงคนเหล่านี้ และเด็ก ๆ ก็มีความสุขมากที่ได้เล่นและตั้งใจมากที่ได้เล่น กลายเป็นว่าเด็กที่มีฟีดแบ็กกับเราคือเด็กหูหนวก เด็ก ๆ ถามว่าจะมีเวอร์ชัน 2 ไหม จะอัปเดตอีกไหม อยากกำจัดตัวร้ายให้สิ้นซาก ทำให้เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างมีความสุข”  

ขณะที่คุณเสริมยศ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเกมในโครงการนี้ บอกว่า หลังจากได้เริ่มโครงการแล้วพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคที่ทีมงานจะต้องแก้ไข โดยในฝั่งของการพัฒนาเกมจะมีปัญหาเรื่องเครื่องมือพัฒนาเกม (Unity Engine) ที่มักจะอัปเดตและเปลี่ยนเวอร์ชันทุก 3 เดือน 6 เดือน ทำให้ต้องวนกลับไปแก้ไขในส่วนที่ดำเนินการไปก่อนแล้ว
จึงอาจเกิดความล่าช้าบ้าง

แม้ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินโครงการจะพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่คุณเสริมยศ บอกว่า หลังดำเนินโครงการเสร็จสิ้นรู้สึกมีความสุขมาก โดยเฉพาะตอนที่นำเกมออกไปให้เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนคน
หูหนวกได้ทดลองเล่น ได้เห็นรอยยิ้ม และรับรู้ว่าเด็กเหล่านั้นมีความสุขที่ได้เล่นเกม ถือเป็นความประทับใจของทีมงานมาก

ตะลุยหวือหวาธานีในเกมสู้เท็จกันได้แล้ววันนี้ที่ http://www.tasutet.com

ดาวน์โหลดสำหรับมือถือและแท็บเล็ตแอนดรอยด์ Google Play Store: https://bit.ly/3tM8P4r

ดาวน์โหลดสำหรับไอโฟนและไอแพ็ด: https://apple.co/3MBtXmy

ดาวน์โหลดสำหรับคอมพิวเตอร์ : https://bit.ly/361MVSx

ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends

จากความชอบส่วนตัวที่หลงใหลการวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ทำให้คุณนภัสญาณ์ นาวาล่อง ตัดสินใจเปิด
แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “Joojee World” เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความชื่นชอบผ่านรูปแบบตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวละครสมมติบนโซเชียลมีเดีย ให้ผู้ที่มีความชอบในลักษณะเดียวกันได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาเคยจัดทำเป็นสื่อเสริมความรู้ในรูปแบบของปฏิทินจำนวน 365 วัน เพื่อบอกเล่าว่าแต่ละวันมีความสำคัญอย่างไร เช่น
วันดื่มนมโลก, วันแห่งแมวเหมียว รวมถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อในรูปแบบปฏิทินนั้นได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย

ต่อมามีรุ่นพี่ที่เคยเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แนะนำให้ลองเสนอโครงการต่อกองทุนฯ จึงตัดสินใจเขียนโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เพราะส่วนตัวนอกจากชอบการวาดการ์ตูนแล้ว ยังชอบภาษาไทย ชอบอ่านหนังสือ และชอบอ่านการ์ตูน ประกอบกับเล็งเห็นว่าในปัจจุบันความนิยมใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการใช้ภาษาไทยบนสื่อเหล่านั้นกลับวิบัติมากขึ้น และเนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ส่งต่อข้อมูลได้รวดเร็ว ดังนั้นการใช้ภาษาไทยที่ผิดตั้งแต่ต้น
ก็อาจจะถูกเผยแพร่ออกไปให้ผู้รับสาร ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จดจำคำที่ผิด ๆ ไปใช้

          สำหรับโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เป็นผลงานประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2564 เป็นการผลิตสื่อการเรียนรู้จำนวน 200 ภาพ และรวบรวมเป็นอีบุ๊ก นำเสนอผ่านภาพวาดการ์ตูน “Joojee and Friends” ที่มีคาแรกเตอร์น่ารัก บอกเล่าเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาไทยที่มักสะกดผิด หรือถูกใช้ผิดความหมาย เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจและจดจำคำศัพท์ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและถูกความหมาย โดย
จะเผยแพร่ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ชื่อว่า “Joojee and Friends”

          คุณนภัสญาณ์ ยังบอกอีกว่า ก่อนที่จะเขียนโครงการเสนอต่อกองทุนฯ ได้ค้นคว้าหาข้อมูลบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บบอร์ด และทวิตเตอร์ พบว่าปัญหาการใช้ภาษาไทยผิดในเด็กและเยาวชนมีอยู่จริง และมีจำนวนค่อนข้างมาก

“คำว่า “ขี้เกียจ” ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่น่าจะมีคนเขียนผิด แต่จริง ๆ แล้วมีเด็กรุ่นใหม่เขียนเป็น “ขี้เกลียด” ซึ่งน้องก็เข้าใจว่าเขียนแบบนี้จริง ๆ มาจากเกลียดที่จะทำ เลยเป็น “ขี้เกลียด” เหมือนกับเด็กมีชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง
เราก็เลยมั่นใจว่าเป็นปัญหาของเด็กจริง ๆ จึงน่าจะทำสื่อเพื่อให้เด็กได้จดจำคำที่ถูกต้องเอาไว้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นเอกลักษณ์ ก็ควรอนุรักษ์ไว้เพราะเราเป็นคนไทย โดยสื่อที่จะทำก็อยากให้มีสีสันสดใส เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย น่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้เรื่องที่น่าเบื่อสามารถดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่ หรือคน
วัยทำงาน สามารถอ่านสื่อชุดนี้ได้”

เมื่อได้เริ่มต้นทำโครงการแล้ว คุณนภัสญาณ์ เล่าว่า มีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ได้ทำ ทั้งเรื่องการสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนแล้ววาดออกมาให้สามารถอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่มักจะมีผู้สะกดผิด หรือใช้ผิดความหมาย โดยสอดแทรกมุกตลกขบขัน เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่าน เรียกว่าเป็นการทำเรื่องยากให้ย่อยง่าย เข้าใจง่าย แต่ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการเผยแพร่ผลงานผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันมีการปิดกั้นการมองเห็นมากขึ้น แต่จุดนี้ได้แก้ปัญหาด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนและเครือข่ายที่เป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อขอให้ช่วยกันแชร์ผลงานออกไป รวมทั้งนำไปสอนนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพื่อเพิ่มการรับรู้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น

ส่วนความท้าทายในการทำโครงการอยู่ที่การคิดคำศัพท์ คิดเนื้อหาให้สนุกสนานสอดคล้องกัน และวาดออกมาให้เข้าใจง่าย แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ กว่าจะครบทั้ง 200 คำ ก็ทำให้ได้ฝึกสมองไปในตัว ซึ่งคุณนภัสญาณ์ บอกว่า โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากทางกองทุนฯ ที่ช่วยชี้แนะรายละเอียดที่อาจจะมองข้ามไป

“คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะแนะนำทีละจุดในส่วนที่เรามองพลาดไป เช่น การเว้นวรรค จะให้ความรู้เราเยอะมาก และมีประโยชน์กับเราด้วย เพราะเราสนใจแต่เรื่องคำศัพท์ ความหมายของคำศัพท์อย่างเดียว แต่ลักษณะการเว้นวรรค การเคาะคำ เราไม่ได้สนใจ ทำให้เรากลับมาคิดว่าตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราควรสนใจ และอีกเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เช่น เราคิดว่าการทำอีบุ๊กน่าจะเหมาะกับสมัยนี้มากกว่า  เพราะยุคนี้ยุคใหม่เป็นยุคอินเทอร์เน็ต แต่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ บอกว่าควรทำเป็นหนังสือรูปเล่มด้วย แม้จะเป็นยุคสมัยใหม่แล้ว แต่คนยังต้องการหนังสืออยู่ ซึ่งตอนแรกเราก็คิดค้านในใจว่าไม่น่าจะใช่ แต่พอทำออกมาจริง ๆ ตอนปล่อยอีบุ๊กออกไป เราได้รับคอมเมนต์กลับมาเยอะมากว่าอยากให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ อยากให้เป็นกระดาษให้ได้จับด้วย เราก็ค่อนข้างประทับใจ ซึ่งส่วนตัวก็ชอบแบบที่เป็นกระดาษอยู่แล้ว แต่พอมาทำโครงการกลับคิดไปเองว่าเด็กยุคใหม่อาจจะชอบสไลด์ดูในไอแพด แต่จริง ๆ แล้วเด็กยุคใหม่ก็ยังชอบที่เป็นกระดาษเช่นเดียวกัน”

นอกจากนี้ยังได้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดผลว่าโครงการที่ทำนี้สามารถเข้าถึงเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และคนในครอบครัวหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมาค่อนข้างเยอะมากว่าได้นำสื่อชุดนี้ไปใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจมาก เนื่องจากผลงานที่ทำตลอด 1 ปี ไปถึงผู้รับสารจริง มีผู้ที่ได้อ่านและได้ความรู้จริง ทำให้หายเหนื่อยและดีใจที่ได้ทำโครงการนี้

คุณนภัสญาณ์ยังได้ฝากเชิญชวนผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะ นักคิด นักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ หากมีผลงานที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่หลากหลาย อาจไม่ได้ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้แง่คิดต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะ หรือดนตรี สามารถทำให้ผลงานของเรามีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อทุกคนมากขึ้น ด้วยการส่งโครงการเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ออกสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น

          สามารถติดตามผลงาน “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ “Joojee and Friends” และสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/download/joojee-and-friends/

น้ำหนึ่งไทยเดียว

“น้ำหนึ่งใจเดียว” เป็นคำที่หลายคนเคยได้ยินและเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ ว่าหมายถึงความสมัครสมานสามัคคี แต่คำนี้ถูกนำมาประยุกต์ใหม่เป็น “น้ำหนึ่งไทยเดียว” หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ประจำปี 2564

ซึ่งคุณกฤติกา เกลี้ยงกลม หัวหน้าโครงการ มองว่า ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ต่างคนต่างอยู่ และ
อยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยได้คุยกัน จึงอาจมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน นำไปสู่การขาดความสามัคคีในที่สุด จึงได้คิดริเริ่มโครงการนี้ขึ้น โดยเน้นสร้างความสามัคคีจากคนกลุ่มเล็ก เริ่มต้นในครอบครัว ชุมชน แล้วขยายผลความสามัคคี
สู่สังคมระดับประเทศ

เมื่อได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนฯ แล้ว ทีมงานจึงได้เริ่มต้นโครงการ แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้บางชุมชนที่มีความโดดเด่นเรื่องความสามัคคีต้องปิดชุมชน ทีมงานจึงไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำรายการได้ จำเป็นต้องหาชุมชนสำรองและนำเสนอต่อคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ เพื่อพิจารณาใหม่ ส่วนบางชุมชนที่ไม่ติดปัญหาเรื่องโควิด 19 แต่เป็นชุมชนที่ผ่านพ้นปัญหามานานแล้ว โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความสามัคคีในอดีต จนกระทั่งก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ มาได้ ทำให้ภาพที่จะสื่อออกมาเป็นรูปธรรมค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เขาหัวโล้น ปัญหาน้ำท่วม
ภัยแล้ง ซึ่งตรงนี้จะติดขัดเรื่องภาพของปัญหา ทีมงานจึงจำเป็นต้องไปค้นหาแฟ้มภาพ หรือบางปัญหาเป็นเรื่องยาเสพติด บุคคลที่เคยทำเรื่องดังกล่าวไม่อยู่แล้ว เพราะปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ทีมงานก็ต้องไปค้นคว้า
หาข้อมูลที่เป็นต้นกำเนิดในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อนำมาสื่อสารสู่สาธารณะ

          สำหรับความท้าทายในการทำโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” คุณกฤติกา เล่าว่า ในฐานะคนทำรายการโทรทัศน์จะต้องทำอย่างไรให้สิ่งที่จะสื่อออกมาเป็นภาพมีความสนุกและน่าสนใจ เพราะรายการมีความยาวประมาณ 25 นาที จึงต้องทำให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ ต้องดึงคนดูให้อยู่กับเราตั้งแต่เริ่มต้น และเนื่องจากปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไขแล้ว ทำให้ภาพที่จะสื่อออกมาต้องจำลองขึ้นมาบ้าง เช่น ปัญหาเด็กติดยา มีการขนส่งยาในพื้นที่มุมอับ ก็ต้องเซ็ตสถานที่ขึ้นมา แต่ต้องทำอย่างไรให้ดูไม่ปลอม นอกจากนี้ยังต้องนำเสนอภาพเชิงสัญลักษณ์ ต้องมีวิธีการเล่าให้คนดูคล้อยตาม เช่น ปัญหาผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ปัจจุบันปัญหานี้ไม่มีอยู่แล้ว จำเป็นต้องจำลองเหตุการณ์ที่สื่อถึงความโดดเดี่ยว อยู่คนเดียวในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายคนทำงานเป็นอย่างมาก

          ส่วนการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น ทีมงานมีความประทับใจมาก เพราะผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านให้ความเป็นกันเอง และให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ บางครั้งทีมงานต้องการนำเสนอภาพของปัญหาให้ชัดเจน เช่น ปัญหาหนี้สินรุมเร้าจนเกิดคิดสั้นฆ่าตัวตาย ประเด็นอยู่ที่การร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินให้หมดไป แต่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ มองว่าการนำเสนอเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่อ่อนไหว จึงให้นำเสนอในมุมอื่นแทน
เพื่อไม่ให้คนดูรู้สึกหดหู่หรือหมดกำลังใจตามไปด้วย     

นอกจากนี้ยังรู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้ทำโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” โดยเฉพาะตอนที่ได้ลงพื้นที่ไปในชุมชน
ทุกคนจะต้อนรับขับสู้อย่างดี บอกเล่าเรื่องราวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้ข้อมูลเชิงหลักการและเหตุผล หรือแม้แต่การเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ที่ไม่สามารถไปได้ คนในชุมชนก็จะคอยช่วยประสานจนงานทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

          ขณะเดียวกันยังมีความภาคภูมิใจที่รายการได้เผยแพร่ทั้งทางออนแอร์และออนไลน์ โดยออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30 น. ” ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 – วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 และทางเพจเฟซบุ๊ก “น้ำหนึ่งไทยเดียวซึ่งทั้ง 2 ช่องทางมีคนดูเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจ ส่วนคนในชุมชนก็ขอบคุณทีมงานที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้ตั้งโครงการดี ๆ อย่างนี้ขึ้น ทำให้ทีมงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชุมชนให้มีต้นแบบ หรือมีตัวอย่างของชุมชนที่ดี เพื่อให้เขาสามารถนำไปใช้กับชุมชนอื่น ๆ ที่มีปัญหาได้ ทั้งในระดับครอบครัว ระดับสังคม และระดับประเทศ ก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด

          นอกจากนี้คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ยังได้รวบรวมโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” จัดทำเป็นนิตยสารนำไปวางไว้ที่กองทุนฯ เพื่อที่ใครผ่านไปผ่านมาจะได้หยิบอ่าน ถือเป็นการขยายการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น แม้โครงการจะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดเกี่ยวกับ “ความสามัคคี” ยังคงอยู่ต่อไป

ธรรมอย่างสังฆราชา สื่อนิทรรศการเพื่อสร้างวินัยและจิตสำนึกสาธารณะ

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเจริญพระชันษาครบ 8 รอบ 96 ปี คณะศิษยานุศิษย์และภาคีเครือข่ายจึงมีดำริที่จะจัดสร้างหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา และที่พักผ่อนของประชาชน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ภายในมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านทั้งหมด โดยเฉพาะหลักคำสอนที่ใช้ภาษาเรียบง่ายและงดงาม ชวนให้น้อมนำเข้ามาสู่ จิตใจของผู้คน ตลอดจนแบบอย่างความเป็นระเบียบและการมีวินัย ความมีจิตสาธารณะที่ควรยกย่องและถ่ายทอดให้แก่สาธารณชน

พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ ประธานมูลนิธิหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก เปิดเผยว่า เมื่อเวลาผ่านไปถึงกำหนดที่จะต้องปรับปรุงชุดนิทรรศการให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้ยื่นเสนอต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอรับทุนในการจัดทำและปรับปรุงสื่อชุดนิทรรศการการเรียนรู้ในชื่อโครงการ “ธรรมอย่างสังฆราชา สื่อนิทรรศการเพื่อสร้างวินัยและจิตสำนึกสาธารณะ” ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2563 นำเสนอพระประวัติ
และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผ่านรูปแบบนิทรรศการการเรียนรู้ที่ทันสมัย โดยใช้สื่อมัลติมีเดียผสมผสานกับกลไก ลูกเล่นต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา

สำหรับอุปสรรคในระหว่างดำเนินโครงการนั้น พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ กล่าวว่า คงจะคล้ายกับอีกหลายโครงการ เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทีมงานและภาคีเครือข่ายต้องปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การประชุมนำเสนอ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางออนไลน์ ส่วนการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เพื่อทำงานก็มีข้อจำกัดในช่วงการผลิตและติดตั้งงานสื่อ รวมถึงการปรับรูปแบบการเผยแพร่สื่อนิทรรศการหลังจากจัดทำเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบหาวิธีการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเรื่องราวคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ให้เหมาะกับสถานการณ์และกลุ่มคนยุคใหม่ที่เราต้องการสื่อสารให้พวกเขามาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งความตั้งใจอันเปี่ยมล้นของภาคีเครือข่ายในการสร้างสรรค์ พร้อมส่งต่อสื่อสร้างสรรค์และมีคุณภาพให้แก่สังคมเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในครั้งนี้

ส่วนการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น รู้สึกประทับใจและชื่นชมการทำงานครั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเหมือนเป็นการทำงานร่วมกันแบบ “เพื่อนคู่คิด” โดยที่คณะทำงานและภาคีเครือข่ายไม่ได้รู้สึกว่ากองทุนฯ เป็นผู้ให้ทุน และทีมงานจะต้องทำงานให้ได้ตามที่แหล่งทุนต้องการ แต่เป็นการเอื้ออำนวย ยืดหยุ่น และสนับสนุนให้ได้คิดสร้างสรรค์งานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและเผยแพร่แก่สาธารณะ

นอกจากนี้ทางกองทุนฯ ยังช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้เกิดงาน โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในงานพิธีเปิดที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเหมือนการตีฆ้องร้องป่าวให้ประชาชนได้ทราบถึงการเปิดเข้าชมนิทรรศการอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อผ่านช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีผู้คนสนใจและเข้ามาชมนิทรรศการชุดนี้จำนวนมาก ทีมงานและภาคีเครือข่ายทุกคนจึงรู้สึกมีความสุข อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ร่วมกันสานต่อโครงการ รวมทั้งส่งต่อและเผยแพร่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ในรูปแบบสื่อนิทรรศการที่มีความทันสมัยแบบสากลและน่าสนใจ อีกทั้งยังสุขใจที่ได้ทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับแหล่งเรียนรู้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ตั้งใจที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในระดับนานานาชาติ สามารถเดินตามเจตนารมณ์ที่พระองค์ท่านได้เคยดำเนินไว้ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สำหรับนิทรรศการ “ธรรมอย่างสังฆราชา” ตั้งอยู่ที่อุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนานานาชาติ หอพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.30 น.

นิทานดีดี เพื่อน้องแอลดี

“ได้มีโอกาสเจอเด็กที่เข้า ป.1 แล้ว แต่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ มีเยอะมาก ก็เก็บความสงสัยอยู่ตั้งนาน เราจะพยายามแก้ไขอย่างไรให้คนอ่านหนังสือได้ และเกิดคำถามว่าเด็กอ่านหนังสือไม่ได้ตามเกณฑ์มาจากปัญหาอะไร”
.
ประโยคข้างต้นนอกจากจะเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจคุณทัทยา อนุสสรราชกิจ หัวหน้าโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้อีกด้วย เนื่องจากเธอทำงานด้านส่งเสริมการอ่านอยู่แล้ว และมีโอกาสได้พูดคุยกับคนสนิทที่ตั้งคำถามว่า “เราจะใช้หนังสือนิทานเล่มไหนกับเด็กแอลดี หรือเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ได้บ้าง” นี่จึงถือเป็นโจทย์สำคัญนำมาสู่การค้นคว้าว่ามีสื่อประเภทใดบ้างที่เหมาะกับเด็กแอลดี ซึ่งก็พบว่ามีอยู่หลายสื่อ แต่ไม่มี “นิทาน” อยู่เลย

“นิทานมีจุดแข็งอยู่ที่เด็กจะสนุก จะเพลิดเพลินกับการอ่าน เขาไม่ได้ถูกบังคับให้อ่าน ดังนั้นพอเราคิดอันนี้ขึ้นมาเราก็เริ่มตั้งโจทย์ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำหนังสือนิทานที่เหมาะกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้โดยเฉพาะ และเราก็ไปพบโครงการของกองทุนฯ ซึ่งเขามีกลุ่มผู้พิการอยู่ พอเราไปศึกษาข้อมูลพบว่าในหนึ่งปีมีเด็กแอลดีเกิดขึ้นเกือบ 400,000 คนในระบบการศึกษา ถือเป็นปัญหาใหญ่ พอเราเริ่มศึกษาก็พบว่าต้นทางของความเป็นแอลดี อาจจะทำให้เด็กมีปลายทางที่ไม่ค่อยสดใสนัก เป็นเพราะเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาจะถูกผลักตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เราต้องมีส่วนร่วม ต้องหาทางทำสื่อนิทานเฉพาะให้กับพวกเขา จึงเป็นที่มาที่เราอยากทำโครงการนิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี”
.
หลังจากนั้นคุณทัทยาจึงเสนอโครงการนี้ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนประจำปี 2564 ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) และเป็นที่น่ายินดีที่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ มีวิสัยทัศน์และให้โอกาสสื่อเล็ก ๆ เพราะในโลกของสื่อส่วนใหญ่คนจะมองอะไรที่เคลื่อนไหว เป็นสื่อสมัยใหม่ แต่หนังสือนิทานมักไม่ค่อยถูกพูดถึงในโลกของสื่อ ซึ่งทีมงานก็สามารถทำให้เห็นว่าสื่อนิทานจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร จึงได้รับโอกาสให้ค้นหานวัตกรรมใหม่เพื่อจะทำหนังสือนิทานขึ้นมาทดลองว่าจะใช้หนังสือเล่มนี้แก้ปัญหาแอลดีได้หรือไม่
.
สำหรับการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น คุณทัทยา บอกว่า นอกจากได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ยังเห็นคุณค่าของคนทำงาน และที่ถือว่าเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือทางกองทุนฯ ใจกว้างพอที่จะรับฟังและเปิดโอกาสให้เสมอ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามีจุดไหนที่ต้องเพิ่มเติมบ้าง เพื่อเป็นการอุดช่องว่างให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนประทับใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบายเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำ หรือเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน ถือว่าเป็นจุดแข็งที่ควรจะเกิดขึ้นในระบบการทำงาน
.
ส่วนความสุขที่ได้รับจากโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” นั้น เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ได้ทำงาน เพราะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาเด็กอ่านไม่ออกมาถอดองค์ความรู้ เมื่อได้นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่จึงจัดการประกวดนิทาน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละคนก็พร้อมนำวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเป็นเป้าหมาย ทำให้งานประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคมได้
.
ขณะเดียวกันทีมงานยังมีความภาคภูมิใจที่โครงการจากสื่อเล็ก ๆ ได้รับรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยังได้นำหนังสือนิทานที่ผลิตขึ้นไปมอบให้กับคุณครูในโรงเรียนได้ลองใช้กับเด็กจริง ๆ ผลปรากฏว่าเด็กที่อ่านไม่ได้ เมื่อได้ทดลองเปิดนิทานแล้วสามารถอ่านและเขียนได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าสื่อที่เราทำนั้นใช้งานได้จริง และที่สำคัญมีหลายคนที่อยากให้ผลิตสื่อนิทานต่อจนจบ ทีมงานจึงรู้สึกดีใจว่าสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่าจะมีอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังและรอคอยว่าจะเกิดประโยชน์กับสังคม
.
คุณทัทยายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะให้คะแนนโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” ขอประเมินไว้ที่ 9.5จากคะแนนเต็ม 10 เนื่องจากเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าพอใจ ทำแล้วสามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริง แต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต
.
สำหรับโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” เริ่มต้นจากการถอดองค์ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์ ทั้งด้านส่งเสริมการอ่าน ด้านเด็ก และด้านเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี มาร่วมกันศึกษาและกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสื่อนิทานเพื่อเด็กแอลดี จากนั้นจึงมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจส่งนิทานเข้าประกวด จนได้นิทานที่ตรงกับวัตถุประสงค์มากที่สุด จึงนำมาผลิตเป็นรูปเล่มในชื่อ “ยากจัง ตอบไม่ได้” โดยคุณ
สวิดา ศุภสุทธิเวช นอกจากนี้ยังได้จัดเวทีฝึกอบรมหลักสูตร การใช้สื่อนิทานสำหรับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ โครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ค้นพบด้วย

นักสืบสายรุ้ง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจบันเทิง เช่นเดียวกับกองถ่ายละครเรื่อง “นักสืบสายรุ้ง” ก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งทางคุณหม่อม อโนมา สอนบาลี ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ ตัวเเทนของบริษัทเเฟลทไฟว์ อินเตอร์ มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับทุน เล่าว่า การทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องรัดกุมมากขึ้น มีการตรวจ ATK สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เนื่องจากนักแสดงส่วนใหญ่เป็นเด็ก จึงจำเป็นต้องคัดกรองทั้งเด็กและผู้ปกครอง ตลอดจนทีมงานทุกคน

ส่วนในแง่ของโปรดักชันก็ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ปัญหาเด็กและเยาวชน ความรุนแรงในครอบครัว และอีกหลายแง่มุม โดยได้คุณอุ๋ย-นนทรี นิมิตบุตร ผู้กำกับมากฝีมือ มาเป็นผู้กำกับละครเรื่อง “นักสืบสายรุ้ง” ซึ่งคุณนนทรีมีความสนใจงานด้านสังคมที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว จึงได้ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งการศึกษาบทและดูโลเคชัน แม้ช่วงแรก ๆ ทีมงานและนักแสดงจะค่อนข้างเกร็งและประหม่าอยู่บ้าง แต่ต่อมาก็สามารถปรับตัวกันได้ ทำให้การทำงานราบรื่น 

“เรามีความสนใจในการทำงานเชิงสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และมองว่าควรจะสะท้อนออกมาผ่านเด็กเพื่อให้เข้าใจและซึมซับตั้งแต่ยังเล็ก สามารถปกป้องตัวเองในแง่ของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกบูลลี่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลบูลลี่ เป็นต้น ซึ่งทีมงานมองว่าหากจะสะท้อนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านสื่อการสอนหรือสารคดีอาจจะไม่ได้รับการตอบรับมากเท่ากับการทำเป็นละคร จึงตัดสินใจนำเสนอต่อกองทุนฯ เพื่อผลิตเป็นละครซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เข้าถึงใจคนได้มากกว่าสื่ออื่น

โดยนำเสนอออกมาในลักษณะของเอ็ดดูเทนเมนท์ หรือสื่อบันเทิงที่ให้สาระประโยชน์ไปด้วยในตัว” สำหรับการร่วมงานกับกองทุนสื่อนั้น คุณอโนมา บอกว่า ประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และทางกองทุนฯ ก็มีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก ด้านสื่อ มาช่วยตรวจสอบบทละครในทุก ๆ ตอน เพราะเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับเด็ก จึงมีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำบทละครจนผ่านมาได้ด้วยดี

ที่สำคัญทุกครั้งที่ทีมงานมีการคัดเลือกนักแสดง เปิดกล้อง แถลงข่าว และระหว่างการถ่ายทำ ทาง ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะให้เกียรติมาร่วมงาน และจะพูดเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ทำให้ทีมงานรู้สึกมีกำลังใจ และดีใจที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของคนทำงานตัวเล็ก ๆ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นทำสัญญากับทางกองทุนฯ จนกระทั่งสิ้นสุดสัญญา ทีมงานจึงมีความสุขมากที่ได้ทำในสิ่งที่มุ่งหวังเพื่อพัฒนาสังคมในเชิงบวก เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรัง และปลูกฝังค่านิยมให้กับเด็กและเยาวชนในระยะยาว

“ในส่วนของทีมเอง เราได้ผู้สนับสนุนที่ดีอย่างกองทุนฯ ช่วยให้เรามีกำลังใจที่จะระดมสรรพกำลัง มีโอกาสได้ทำงานกับมืออาชีพอย่างคุณนนทรี นิมิตบุตร ผู้กำกับมือทอง คุณสุรักษ์ สุขเสวี ที่ให้เกียรติมาแต่งเพลงประกอบละคร ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนรวม Avenger มาไว้ด้วยกัน ที่สำคัญได้รับเกียรติจาก ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ซึ่งทุกคนไม่ได้ซักถามมาก แต่เปิดโอกาสให้เราได้พูดกับสังคม สื่อสารในเชิงบวก มันก็เป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไปในระยะยาวได้” คุณอโนมากล่าว โอกาสอีกอย่างหนึ่งในฐานะคนทำงาน จากตอนแรกที่จะออกอากาศเฉพาะช่องทางออนไลน์ ต่อมาสามารถต่อยอดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย นอกจากนี้ทางทีมงานยังได้เสนอขอรับทุนจากทางกองทุนฯ ในปี 2565 เพื่อผลิตละครโทรทัศน์ในเชิงพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม จึงตั้งใจว่าจะทำออกมาอย่างเต็มที่และดีที่สุด

สามารถรับชมละคร “นักสืบสายรุ้ง” ได้ที่ Facebook และ YouTube นักสืบสายรุ้ง – Rainbow kids series