เลือกหน้า

ปิดฉาก กองทุนสื่อลุยจัด Road to Creators ครั้งที่ 4 ภาคใต้ จ.สงขลา ชวนขอทุนทำสื่อปี 66 ผู้สนใจร่วมงานอื้อ

(15 ตุลาคม 2565) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงาน “Road To Creators สื่อสร้างสรรค์ โอกาสสำหรับทุกคน” ครั้งที่ 4 ชวนคนขอรับทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณรวม 300 ล้านบาท ณ โรงแรมเอส หาดใหญ่ จ.สงขลา

ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายสำหรับปีนี้มี นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยกล่าวว่า สื่อดีต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ขัดต่อกฏหมายและจรรยาบรรณสื่อมวลชน

ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

‘เราเชื่อว่าทุกคนเป็นสื่อ และมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม’

ร.ท. ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายเรื่องลิขสิทธิ์และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับการขอทุนกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่า ผลงานที่เกิดขึ้นการจากทำโครงการที่ได้รับทุนจากกองทุนนั้นเป็นลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่างผู้จัดทำโครงการกับกองทุนสื่อ

ให้ระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ แนะนำให้ขออนุญาตการใช้สื่อกับเจ้าของผลงานให้เรียบร้อยก่อน เช่น การนำภาพกราฟิก เพลง หรือ คลิปสั้น มาใช้ประกอบการผลิตสื่อ เป็นต้น

โดยทรัพย์สินทางปัญญาในการผลิตสื่อจะจัดอยู่ภายใต้กฏหมายลิขสิทธิ์ เมื่อสร้างสื่อขึ้นมาลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้สร้างโดยทันที และสามารถแจ้งจดลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานที่สร้างขึ้น โดยความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีโทษปรับสูงสุด 8 แสนบาทหรือจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนเชื่อว่าสื่อที่ดีสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ ทุกคนคือพลเมืองที่มีสิทธิและหน้าที่ในการสร้างสื่อ เพื่อให้มีสื่อน้ำดีแก้น้ำเสียในสังคม

สำหรับการจัดสรรทุนในปี 2566 นี้ยังคงรูปแบบเดิม คือแบ่งทุนเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) งบประมาณ 90 ล้านบาท คือการให้ทุนผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการผู้ด้อยโอกาส

2. ทุนประเภทยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) งบประมาณ 170 ล้านบาท เปิดให้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนผลิตสื่อใน 7 ประเด็นตามที่กองทุนกำหนด

และ 3. ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) งบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดให้กับภาคีเครือข่าย ผู้ที่เคยร่วมงานกับกองทุน ผู้ขอต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น

ผู้สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับการขอทุนได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th ยื่นข้อเสนอผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 ภายในเวลา 16.30 น. ผ่านเว็บไซต์ https://granting.thaimediafund.or.th

ขอฝากชวนทุกท่านมาร่วมทบทวน ซักถาม ตอบทุกปัญหาเรื่องขอทุนในงานเสวนาออนไลน์ “ติวเข้มโค้งสุดท้ายก่อนปิดขอทุนปี 66 ในวันที่ 25 ต.ค.65 เวลา 14.30-16.30 น. ทาง Facebook Live กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://forms.gle/NrWTfJFfbRUiCzo47

นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ยังได้ย้ำประเด็นสำคัญในการขอทุน คือ หัวใจหลักสำคัญในการเขียนโครงการเพื่อขอรับทุนจากกองทุน โดยขอให้เขียนสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับแต่อ่านแล้วเข้าใจ ครบถ้วน ตอบโจทย์ที่กองทุนต้องการ

โดยมีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถทำได้จริง โดยยึดหลัก 5 W 1 H = What-When-Where-Why-How
ให้สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คุ้มค่ากับงบประมาณ และเหมาะสมสิ่งจะได้รับ

ทั้งนี้ ช่วงเสวนา “แนะแนวคิด แชร์ประสบการณ์ จากผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มี

ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี ผู้รับทุนโครงการพลังเยาวชนไทยร่วมสร้างสังคมปลอดภัยไร้ Hate Speech ปี 2564 และ

คุณกฤติกา เกลี้ยงกลม ผู้รับทุนโครงการน้ำหนึ่งไทยเดียว ปี 2564

ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ แนะนำว่าการเขียนโครงการเขียนให้ ‘ดีดังโดนเด่น’ ข้อเสนอดี มีความโดดเด่น โดนใจกรรมการ

ขณะที่คุณกฤติกา ฝากถึงคนที่กำลังจะขอทุนในปีนี้ว่าให้ ‘ททท.’ คือทำทันที ให้ลองเขียนมาก่อน ถ้าเขียนแล้วมีคนถามแปลว่ายังเขียนได้ไม่เข้าใจให้เขียนใหม่

กองทุนสื่อ ลุยจัด Road to Creators ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม ติวเข้มผู้สนใจขอทุนปี 66

(8 ตุลาคม 2565) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าอย่างต่อเนื่องลุยภาคอีสานพบผู้ผลิตสื่อ ในงาน “Road To Creators สื่อสร้างสรรค์ โอกาสสำหรับทุกคน” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จ.นครพนม ชวนคนขอรับทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณรวม 300 ล้านบาท มีนางกรรญา ศูนย์คำ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยกล่าวว่า สื่อดีสร้างได้ แต่สื่อไม่ดีเราต้องป้องกันไม่ให้เข้าใกล้ เพราะสื่อมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ถ้าเราตั้งหลักไม่ดีสื่อลบก็จะส่งผลลบต่อชีวิต ในทางกลับกันถ้าเราเปิดรับสื่อดีก็จะส่งผลกระทบที่ดีต่อเราเช่นกัน สื่อที่ดีคือสิ่งที่ทำให้คนยิ้มได้ ทำให้เกิดความรัก เกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม เราอยากเห็นสื่อที่จุดประกาย สร้างประเด็นให้คนฉุกคิด เกิดผลกระทบเชิงบวกในสังคม

‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่อยากสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม สื่อมีพลังทั้งทำลายและสร้างสรรค์ สื่อที่ทำให้คนหันกลับมารักกัน และฟื้นฟูสังคมประเทศชาติ กองทุนไม่ได้เพียงแค่ภารกิจสร้างสรรค์สื่อดีๆ เพียงอย่างเดียว แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้จับมือภาคีทุกภาคส่วนร่วมกัน และใช้กระบวนการขับเคลื่อนสังคมผ่านมิติของสื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในเกิดขึ้นในสังคม’

สำหรับการจัดสรรทุนในปี 2566 นี้ยังคงรูปแบบเดิม คือแบ่งทุนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) งบประมาณ 90 ล้านบาท คือการให้ทุนผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการผู้ด้อยโอกาส  2. ทุนประเภทยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) งบประมาณ 170 ล้านบาท เปิดให้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนผลิตสื่อใน 7 ประเด็นตามที่กองทุนกำหนด และ 3. ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) งบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดให้กับภาคีเครือข่าย ผู้ที่เคยร่วมงานกับกองทุน

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th กองทุนเปิดให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2566 มาแล้ว 8 วัน มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาในระบบแล้วจำนวนมาก สำหรับใครที่สนใจหรือยังลังเลอยากให้รีบคิดรีบเขียนโครงการส่งเข้ามา พร้อมทั้งยังแนะนำให้ยื่นก่อนปิดระบบล่วงหน้า 3 วัน ไม่อยากให้ทุกท่านเสียโอกาส โดยยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 ภายในเวลา 16.30 น. ผ่านเว็บไซต์ https://granting.thaimediafund.or.th

นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ยังได้ย้ำประเด็นสำคัญในการขอทุนเหมือนกับทุกภูมิภาคที่ได้บรรยายมาว่า หัวใจหลักสำคัญในการเขียนโครงการเพื่อขอรับทุนจากกองทุนขอให้เขียนสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับแต่อ่านแล้วเข้าใจ ครบถ้วน ตอบโจทย์ที่กองทุนต้องการ โดยมีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถทำได้จริง โดยยึดหลัก 5 W 1 H = What-When-Where-Why-How ให้สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คุ้มค่ากับงบประมาณ และเหมาะสมสิ่งจะได้รับ

ทั้งนี้เวทีเสวนา “แนะแนวคิด แชร์ประสบการณ์ จากผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ที่มีนายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีคุณอรอุมา เกษตรพืชผล หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนประจำปีงบประมาณ 2565 เล่าถึงประสบการณ์ในการทำโครงการผลิตสื่อและเผยแพร่สถานีเฟซบุ๊กไลฟ์และศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ “สื่ออาสาประชาชน” ระยะที่ 2 ร่วมกับกองทุนว่า

ก่อนหน้านี้ปี 2564 เคยขอทุนกับกองทุนสื่อทำรายการเกี่ยวกับเด็กแต่ไม่ได้ทุน พอในปี 2565 จึงปรับรูปแบบการเขียนข้อเสนอโครงการใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยพิจารณาจาก 2 ส่วน คือสื่อที่เราทำมีลักษณะปลอดภัย สร้างสรรค์หรือไม่ ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร อีกส่วนคือสื่อหรือโครงการที่เราจะทำนี้ตอบโจทย์ที่กองทุนต้องการหรือไม่ ศึกษาจาก พรบ.กองทุนฯ ว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์กองทุนอย่างไร นโยบายในการทำงานเป็นอย่างไร และกองทุนอยากได้อะไรจากการให้ทุนนี้สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำหรือไม่ หรือดูจากผลงานที่กองทุนเคยให้ทุนไว้ในปีที่ผ่านมาก็ได้ จะช่วยให้เห็นความเป็นกองทุนชัดเจนมากขึ้น

ตอนเขียนโครงการเราชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ในการทำโครงการของเราคือต้องการเป็นสื่อกลางในการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดีซึ่งตรงกับภารกิจของกองทุน เราตั้งใจให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน และช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนคือกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงยังเกิดการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทุนอยากเห็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนทำสื่อเท่านั้นแต่เป็นความร่วมมือในการทำงานของภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมกันสร้างสรรค์สื่อดี ๆ

สำหรับการทำงานกับกองทุนเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาในการทำงาน แต่กองทุนมีพี่เลี้ยงโครงการที่คอยให้ความช่วยเหลือคำแนะนำตลอดการทำโครงการ ทำให้การทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้

‘มองว่ากองทุนสื่อก็เป็นทีมเดียวกันกับเราอยากทำงานดีๆ ออกมาให้ภูมิใจในฐานะสื่อมวลชน เรามองเห็นว่าสิ่งที่เราทำสังคมได้ ประชาชนได้ เราก็ภูมิใจ ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดตอนนี้ยังพอมีเวลาในการขอทุน หากมีข้อสงสัยหรือติดปัญหาอะไรกองทุนพร้อมให้คำแนะนำทุกท่าน’   คุณอรอุมา กล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรม Road to Creators ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. 65 ณ โรงแรมเอสหาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://shorturl.asia/xRFBw

กองทุนสื่อเดินหน้า Road to Creators ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จ.น่าน ติวเข้มเปิดขอทุนปี 66

(1 ตุลาคม 2565) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงาน “Road To Creators สื่อสร้างสรรค์ โอกาสสำหรับทุกคน” ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จ.น่าน ต่อเนื่องจากครั้งที่ 1 ภาคตะวันออก จ.ระยอง เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมสำหรับการให้ทุน ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ณ โรงแรมน่านตรึงใจ จ.น่าน โดยมีนางภัทรภร ชัยวัฒนกุล วัฒนธรรมจังหวัดน่าน กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กองทุนได้มาพบปะเยี่ยมเยียน creators และผู้ผลิตสื่อในภูมิภาค ภาคเหนือ ที่ จ.น่าน

และวันนี้ก็ยังเป็นวันแรกที่กองทุนเปิดให้ข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน ประจำปีงบประมาณ 2566 ผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย โดยเปิดให้ยื่นเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 เวลา 16.30 น. ผ่านเว็บไซต์ https://granting.thaimediafund.or.th 

ทั้งนี้ ‘สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ที่กองทุนตั้งใจดำเนินการขยายผล โดยเป้าหมายสำคัญของการให้ทุนคือการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้เกิดสื่อดีมีคุณภาพ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเป็นสุข และขจัดสื่อร้ายที่สร้างความเกลียดชัง ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ให้น้อยลง พร้อมทั้งค้นหาผู้ผลิตสื่อที่มีความสามารถและศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์นิเวศสื่อที่ดีสืบไป

‘เอาจินตนาการ ความรู้ นวัตกรรม สร้างสรรค์ปั้นออกมา ทำให้เกิดพลังบวกของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เต็มไปหมด ทำให้สังคมโลกน่าอยู่’

นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้แนะนำทุนทั้ง 3 ประเภทที่เปิดให้ยื่นขอทุน รวมถึงกระบวนการพิจารณาและกรอบระยะเวลาในการขอทุนที่ผู้ขอทุนควรทราบ โดยแนวทางการให้ทุนในปีงบประมาณ 2566 นี้ จะยังคงรูปแบบภายใต้งบประมาณรวมทั้งหมด 300 ล้านบาท
ด้วยการแบ่งประเภททุนเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

• ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) งบประมาณ 90 ล้านบาท คือการให้ทุนผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการผู้ด้อยโอกาส

• ทุนประเภทยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) งบประมาณ 170 ล้านบาท เปิดให้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนผลิตสื่อใน 7 ประเด็นตามที่กองทุนกำหนด

• ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) งบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดให้กับภาคีเครือข่าย ผู้ที่เคยร่วมงานกับกองทุน

จากนั้น ได้โฟกัส ประเด็น “ขอทุนกับกองทุนสื่อ แบบไหน? อย่างไร?” โดยแนะนำว่า หลักในการเขียนโครงการขอทุนกับกองทุน ควรสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับแต่อ่านแล้วเข้าใจ ครบถ้วน ตอบโจทย์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ ความเป็นไปได้ โดยยึดหลัก 5 W 1 H = What-When-Where-Why-How สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คุ้มค่ากับงบประมาณ และสอดคล้องเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับ

นอกจากนี้ในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “แนะแนวคิด แชร์ประสบการณ์ จากผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จากผู้ที่เคยได้รับทุนจากกองทุนร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่

– คุณศรุตยา เจริญพรพานิชกุล โครงการเปลี่ยนจอเป็นใจ ปีที่ 2 ได้รับทุนปี 2565
– คุณสิริภา เล้าสุวรรณเวช โครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ จังหวัดน่าน ได้รับทุนปี 2563
– คุณระรินทร์ โรจนวัฒนวุฒิ โครงการผลิตชุดสื่อการเรียนรู้เรื่องลายไทยของผู้พิการทางสายตา ได้รับทุนปี 2563

ดำเนินรายการโดย นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม

โดยสามารถรับชมเนื้อหารายละเอียดย้อนหลังได้ที่ช่องทางนี้

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1298885117588931&id=100064661113249 

ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรม Road to Creators ในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้

– ครั้งที่ 3 วันที่ 8 ต.ค. 65 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จ.นครพนม

– และครั้งที่ 4 วันที่ 15 ต.ค. 65 ณ โรงแรมเอสหาดใหญ่ จ.สงขลา

ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://shorturl.asia/xRFBw 

“กองทุนสื่อ” ลงพื้นที่ภาคอีสาน เปิดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 จ.อุดรธานี มั่นใจพลังสื่อปลอดภัยสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าสร้างแนวร่วมสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โรดโชว์จัด   เวที “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี เพิ่มทักษะประชาชนรู้เท่าทันสื่อ รวมพลังเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนการสร้างนิเวศสื่อดีในสังคมไทย พร้อมสนับสนุนการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม สร้างปรากฏการณ์ Soft Power ผ่านนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศ

อุดรธานี – 18 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยได้รับเกียรติจาก นายธีทัต พิมพา วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับภาคีเครือข่าย โดยระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดอุดรธานี ต่างมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ที่สามารถนำไปผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ส่งต่อระดับสากล แทนที่สื่อร้ายและข้อมูลเท็จ ที่ระบาดอยู่ทั่ว และทุกคนต่างที่ต้องตระหนักรู้ร่วมกัน

ทั้งนี้ขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะได้นำความรู้ความเข้าใจแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ รวมถึงดิจิทัล มาส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคีเครือข่าย ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดนิเวศสื่อที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลัก ของการเดินสายรับฟังการคิดเห็น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและวางแผนร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งการสร้างโอกาสและยกระดับประชาชน ต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อท้องถิ่นที่พัฒนาเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ได้ตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมเป็นผู้มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล สามารถคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้ ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างนิเวศสื่อที่ดี รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายในการตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) และไม่แชร์ข้อมูลเท็จต่อ

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ 5 ปีระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องเริ่มใช้ในปี 2566 – 2570 ทางกองทุนฯ คาดหวังว่า จะได้รับข้อเสนอแนะ  ที่จะพัฒนา และขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน

เพราะกระบวนการสื่อสาร ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

‘คอนเทนต์ เรื่องราวดี ๆ มาจากเรื่องเล่า ที่ระเบิดมาจากข้างใน ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่สู่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์’ ดร.ธนกร กล่าว

นอกจากนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้ร่วมให้ข้อมูลและบอกเล่า ‘ ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ภาคีเข้มแข็ง’ ต่างให้มุมมอง ที่เป็นประโยชน์

โดยเห็นว่า การที่ประชาชนและภาคีทุกแขนง มาเป็นเครือข่าย ที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน แต่หากมาร่วมจับมือ โดยใช้พลังของสื่อมาเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพใหญ่ที่ดีงาม ซึ่งเท่าที่รับรู้ ประชาชนที่สัมพันธ์กับกองทุนฯ ไม่ได้คิดแค่จะได้การสนับสนุนเป็นตัวเงิน แต่พร้อมจะให้ความร่วมมือในมิติอื่น ซึ่งเป็นเรื่องดอกไม้หลากสี ที่สวยงามมาก

นางกรกนก ศิริวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ด้านคนพิการและผู้สูงอายุ ได้สะท้อนให้เห็นภาพว่า คนพิการในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน จะต้องทำอย่างไร ที่ทลายข้อจำกัด ให้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เข้าถึงและตอบโจทย์ กลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

‘คนพิการ , ผู้สูงอายุ มีหลากหลายประเภท ทั้งตาบอด หูหนวก ป่วยติดเตียง ทำอย่างไรให้สื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยเช่นนี้ ได้เข้าถึงอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากใช้เครือข่ายที่เป็นองค์กรรองรับแล้ว’

อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายที่ร่วมรับทุน ต่างให้ความคิดเห็น และทัศนคติที่ดี โดยให้มั่นใจว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมให้โอกาสและร่วมทำงาน แต่ต้องคำนึง กรอบของพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย

ทั้งนี้ปี 2565 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีกำหนดการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค จำนวน 4 ครั้ง โดยจัดไปแล้ว 2 ครั้ง ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช,  ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยหลังจากจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว

จะมีการจัดงานครั้งสุดท้าย ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีปิดท้าย

สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://forms.gle/k2PR8rTb7jrLcqHS9 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.tmfpowerforchange.com/

“กองทุนสื่อ”  เปิดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จ.เชียงราย ร่วมปลุกพลังสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สัญจร 5 ภูมิภาคปี 2565  ชูแนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” เปิดเวที “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เปิดพื้นที่สร้างพลังการมีส่วนร่วม รู้เท่าทันสื่อ สร้างเครือข่ายนิเวศสื่อที่ดี พร้อมยกระดับสู่แนวร่วมผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2565) ที่โรงแรมเดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ โดยมี ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งเครือข่ายภาคีและประชาชนที่สนใจ ร่วมงานคับคั่ง

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี การผลิตสื่อในเชิงบวก การใช้สื่อเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ซึ่งนอกจากการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมเสริมเข้าไปคือ เรื่องของ Soft Power เพราะทุกวันนี้สื่อไม่ได้ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่สื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนและเป็นตัวนำในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่อง Soft Power ของประเทศไทยซึ่งเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องการใช้สื่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติ

“การเปิดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สัญจร 5 ภูมิภาค ปี 2565 ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคีเครือข่าย หน่วยงาน องค์กรภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปในระดับภูมิภาค เพื่อต่อยอดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อท้องถิ่นที่พัฒนาเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งการนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพ และเป็นผู้รับสื่อที่ดี รู้เท่าทันสื่อร้าย ขยายสื่อดี และมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง” ดร.ยุพา กล่าว

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คือ ให้ประชาชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รู้ทันข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสามารถรับมือกับข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นได้ รวมถึงการสนับสนุน และกระตุ้นให้เกิดการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อที่มีความปลอดภัย และสร้างสรรค์ออกไปสู่สังคมไทย และสังคมโลก ซึ่งการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ได้ตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมเป็นผู้มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล สามารถคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้ ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างนิเวศสื่อที่ดี เป็นสื่อที่มีความปลอดภัย และสร้างสรรค์ มีช่องทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งสามารถตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) ได้ตลอดเวลา รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันผลิต และเผยแพร่สื่อที่มีความปลอดภัย และสร้างสรรค์สังคม รวมถึงการสร้างผลงานจาก Soft Power ของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก   

สำหรับเวที “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” มีกำหนดการจัดงาน 5 ภูมิภาค 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่2 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะจัดขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี และครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออก จะจัดในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ที่ https://forms.gle/k2PR8rTb7jrLcqHS9 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.tmfpowerforchange.com

กองทุนสื่อ เปิดเวที TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนสร้างแนวร่วมสื่อปลอดภัย–ติดอาวุธคนไทยรู้เท่าทันสื่อ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) คิกออฟโครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ชูแนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” ปูพรมโรดโชว์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย จัดงาน “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” นำร่องเปิดเวทีครั้งที่ 1 ภาคใต้ พร้อมเดินหน้าขยายเครือข่ายขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หนุนประชาชนเข้าถึง เข้าใจ รู้เท่าทันสื่อ และสร้างนิเวศสื่อที่ดียิ่งขึ้นในสังคมไทย

 วันนี้ (13 มิถุนายน 2565) ณ โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดฉากโครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 ภาคใต้ โดยมี ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร  กล่าวว่า กองทุนสื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี  ผลิตสื่อในเชิงบวก ใช้สื่อในการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม  และวันนี้นอกจากการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่จะต้องเติมเข้าไปคือเรื่องของ Soft power  การผลิตสื่อที่ไม่ได้ใช้เพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ หรือสร้างการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่สื่อ ณ วันนี้กำลังจะขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจ ดังนั้นขอให้ท่านจงภูมิใจที่ทุกท่านอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ทุกท่านเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องของ Soft power ซึ่งเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องการใช้สื่อในการทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ดร.ธนกร ศรีสุขใส กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และฉลาดใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยนิเวศสื่อที่ดี” โดยภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต้องการที่จะสร้างให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ ให้ประชาชนเกิดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ในขณะเดียวกันพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกไปสู่สังคมโลก

เวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาคในภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนสื่อมีความคาดหวังในการมีส่วนร่วมใน 3 ระดับ โดยระดับที่ 1 ร่วมเป็นผู้มีทักษะการรู้ทันสื่อ, ระดับที่ 2 ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างนิเวศสื่อที่ดีที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีกลุ่มสำหรับการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล และตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) ได้ตลอดเวลา และระดับที่ 3 ร่วมเป็นเครือข่ายผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์   เพื่อร่วมกันผลิตและเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสร้าง Soft Power ของสังคมไทยผ่านสื่อที่ดีออกสู่สาธารณะ

สุดท้ายนี้ กองทุนสื่อ มีความเชื่อมั่นว่ายังมีช้างเผือกอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เราพร้อมที่จะเปิดพื้นที่และสนับสนุนให้ช้างเผือกเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพออกมาเต็มที่ วันนี้เราจึงเดินสายเพื่อมาพบกับภาคีเครือข่าย      เพื่อรวมพลังกันสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

สำหรับโครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค จัดขึ้นเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ภายใต้แนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” โดยในปีนี้ใช้ชื่องานว่า “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยจะมีการสัญจรครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคทั้งเครือข่ายการทำงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค รวมทั้งหน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนที่สนใจ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟัง ตลอดจนเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกัน

โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ เสวนาเชิงวิชาการสร้างพลังการมีส่วนร่วม ในหัวข้อ “รู้ทันสื่อร้าย ขยายสื่อดี ภาคีเข้มแข็ง” เพื่อตอกย้ำถึงการสร้างความร่วมมือ การสร้างองค์ความรู้ให้กับเครือข่าย การสนับสนุนทุน และการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กิจกรรมประชุมระดมสมองและอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ด้านการผลิตและเผยแพร่สื่อ การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับเวที “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” จะสัญจรอีก 3 ครั้ง ครอบคลุมใน 5 ภูมิภาค โดยครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จะจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรม เดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี และครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออก วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://forms.gle/k2PR8rTb7jrLcqHS9 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tmfpowerforchange.com