กระแสในสื่อสังคมออนไลน์สะท้อนความ “สนใจ” หรือ “เพิกเฉย” ต่อประเด็นทางสังคม
ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า ลำพังเพียงปริมาณการสื่อสารพูดคุยไม่ได้สะท้อนความจริงของสังคมทั้งหมด ดังนั้น เป็นการยากที่จะบอกว่าคนในสังคมเพิกเฉยต่อการเสพข่าวสารหรือประเด็นทางสังคม ทั้งนี้ต้องดูว่าลักษณะการแสดงความคิดเห็นพูดคุยนั้นเป็นประเภทไหนบ้าง ถ้าเห็นจะสามารถวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรมได้ว่าตอบรับในเชิงอารมณ์หรือเชิงข้อมูล หรืออยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขประเด็นไหน หรือไม่ อย่างไร
คือต้องเข้าไปดูการแสดงความคิดเห็น การพูดคุยที่เกิดขึ้นว่าส่วนใหญ่ไปในทิศทางใด เช่น แสดงความเห็นด้วยอารมณ์อย่างเดียว โกรธ ไม่พอใจ ด่าว่ากัน อันนี้เป็นแค่การแสดงออกทางอารมณ์ ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนประเด็นได้ว่าจะแก้ไข หรือจะช่วยอะไรได้ไหม คนสนใจแค่ระดับอารมณ์ร่วม แต่ถ้าการแสดงความคิดเห็นเป็นลักษณะให้ความเห็น ให้ข้อแนะนำ มีลักษณะของการพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือว่าอยากหาทางออก แสดงว่า
มีความกระตือรือร้นต่อประเด็นนั้นที่อยากให้เกิดการแก้ไข หรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม
“บอกไม่ได้ขนาดนั้นว่าคนไม่สนใจเรื่องสังคม แต่แอบมีความกังวลว่าไม่มีข่าวอื่นเลยที่ติดอันดับ (นอกจากข่าวยิง
ใส่ฝูงชน ข่าวสงครามที่เป็นข่าวใหญ่) อาทิ ประเด็นเงินดิจิทัล ซึ่งสะท้อนได้ว่าคนอาจไม่สนใจ หรือสนใจแต่ไม่ถกเถียง ไม่แลกเปลี่ยน และไม่อยากมีการสนทนาในเรื่องที่เป็นประเด็นหนัก ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่คนใช้ชีวิต
ที่หลุดจากความเป็นจริงแล้วมาอยู่กับความบันเทิง
ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า เป็นความกังวลอย่างหนึ่ง เพราะการที่คนไม่แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้เลย ทำให้บางประเด็นที่อยากจุดให้เป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องรับรู้และผลักดันร่วมกันก็ทำไม่ได้ หรืออยากจะฟังเสียงต่อนโยบายของรัฐก็ทำได้ยากเพราะไม่มีการพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ หรือพวกเขาคุยกันแต่คุยในที่ปิด
นอกจากนี้ อาจจะมีประเด็นว่า คนบนโซเชียลเองเรียนรู้ว่าหากแสดงออกในประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันก็อันตรายว่าจะโดนทัวร์ลง อาจจะต้องทะเลาะกับคนอื่น
“อาจจะเป็นการเรียนรู้ของคนใช้โซเชียลมีเดียว่าเรื่องที่ต้องอภิปรายถกเถียงกันเราเก็บไว้คุยกันข้างนอกไม่คุยบนโซเชียลมีเดีย เพราะไม่อยากเจอสถานการณ์แบบนั้น ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดี เพราะคนควรถกเถียงกันได้”
คนจะปฏิสัมพันธ์กับคนด้วยกันมากกว่าสำนักข่าว
สื่อเปิดประเด็น แล้วคนถกเถียงกันได้ มักจะเป็นประเด็นที่เป็นดราม่า ตอบจริตของคน เป็นคอนเทนต์ที่มีการพูดไปคุยมา อาทิ เป็นข่าวอาชญากรรม ความรุนแรง เพราะคนมีข้อมูล มีคลิปที่แชร์มา ถกเถียงกันต่อได้ มีคนที่เห็นใจแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ในกรณีข่าวสงครามฮามาส อิสราเอลอยากรู้ว่าเขาทำอะไร เขาจะกลับไหม ครอบครัวเพื่อนฝูงก็พูดคุย ถ้ามีข้อมูลพูดได้ ก็จะมีปริมาณการ engagement ที่สูง แต่ก็ไม่มีคอนเทนต์ที่ชวนให้คนพูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล เพราะข่าวส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูล
“คนเริ่มไม่ตามสำนักข่าว แต่ตาม Influencer และแลกเปลี่ยนกันเป็นชุมชน”
Facebook ปิดการมองเห็นมากขึ้น ทำให้ คนเห็นแต่ข้อมูลซ้ำ ๆ ไม่หลากหลาย จนเกิดความไม่สนใจ แต่ใน TikTok คนเห็นคอนเทนต์สดใหม่ตลอด และฟีดมาให้คนเห็น เกิดปฏิสัมพันธ์ง่าย จึงเกิดปริมาณการปฏิสัมพันธ์ที่สูง และ TikTok มีฟีเจอร์ที่ดึงดูดคนใช้มาก ทำให้คนเห็นคอนเทนต์บน TikTok มาก TikTok ใช้ง่าย ผู้ใช้จึงมีทุกช่วงวัย ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นปิดกั้นการมองเห็น ส่วน X เป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่
เรื่องหนักจะยังอยู่บน Facebook เพราะต้องการพื้นที่ในการให้ข้อมูลมาก เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล จึงมักใช้โดยสำนักข่าวและอินฟลูฯ มากกว่าคนทั่วไป
“ถ้าเป็นข่าว คนจะตามสำนักข่าวบน Facebook ถ้าบันเทิงคนจะวิ่งไป TikTok นักข่าวที่ใช้ TikTok เก่งก็ยังมีไม่มาก ในขณะที่มี content creator จำนวนมากเอาข่าวมาเล่า”
ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า หากเป้าหมายการสื่อสารต้องการให้คนพูดคุยกัน ต่อให้เป็นเรื่องยาก ต้องย่อยให้ง่าย ต้องนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคน ต้องทำให้คนรู้สึกว่าประเด็นนั้นเป็นเรื่องของเขา กระทบเขา เขามีความเสี่ยงกับประเด็นนั้น ถ้าเขาไม่รู้ เนื้อหาที่นำเสนอต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อาทิ คุณรู้ไหม คุณบอกข้อมูลได้ไหม คุณมีประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ คุณอยากแชร์ประสบการณ์แบบนี้หรือไม่
“หากพยายามมอบอำนาจให้เขามีส่วนร่วม ก็มีโอกาสที่เขาจะถกเถียง แต่หากเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็ต้องทำใจว่าจะไม่มีคนคุยกับเรา คอนเทนต์นั้นต้องแชร์ประสบการณ์ คอนเทนต์ไหนที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของคนดูคนอ่านได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมี engagement กับมันมากขึ้น แต่หากเขารู้สึกว่าอ่านแล้วแค่รู้ แล้วผ่านไป เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องของเขา ก็ต้องทำใจว่าเขาแค่อ่านแล้วผ่านไป”
สื่อ Influencer ผู้ใช้งานทั่วไป คือ ผู้ร่วมสร้างความสนใจในประเด็น
หากถามว่าจะทำอย่างไรให้คนมีข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่น่าจะนำพาสังคมไปสู่การพูดคุยกันได้ ต้องใช้ 3 พลังร่วมกัน คือ เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใชัทั่วไปอยากคุยกันไหม มีอินฟลูฯ ที่สามารถดึงคนให้มาสนใจแล้วเปิดประเด็นพูดคุยกันได้ไหม พอเกิดการสนทนาแบบนี้บนออนไลน์แล้วสำนักข่าวทำให้เกิดประเด็นต่อเนื่องไหม
หากถอดสูตรไทบ้านออกมาจะได้รูปแบบนี้ ไปดูภาพยนตร์มา รีวิว เกิดกระแส สำนักข่าวทำข่าวต่อ บางประเด็นอินฟลูฯ เปิดประเด็น แล้วสื่อไปทำเพิ่ม มีหน่วยงานมาหยิบประเด็นนี้ไปต่อยอดทำในมุมของตัวเอง เช่น จัดเสวนา ทำคอนเทนต์เพิ่ม ชวนคนมาทำกิจกรรม เป็นการป้อนคอนเทนต์ใหม่กลับเข้าไปในออนไลน์ การสนทนาจะขยับจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง
“หากต้องการให้คนมีการสนทนาเรื่องไหน ต้องออกแบบการสื่อสารที่ทำให้เกิดการพูดคุยได้มากกว่าหนึ่งประเด็น และสามารถขยายประเด็นในการพูดคุยได้”
ถ้าสื่อต้องการมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม “สื่อต้องหาทำเรื่องหนักให้คนอยากคุยกันให้ได้”
“จากที่สอบถามเด็ก ๆ ที่สอนหนังสือว่า เด็ก ๆ สนใจประเด็นอะไรมาก 3 อันดับแรกที่ให้ความสนใจเท่ากันคือ การเมือง อาชญากรรม และบันเทิง เพราะ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ชิดและส่งผลกระทบกับเรื่องอื่น”
ความเห็นล่าสุด