เลือกหน้า

แม่ : “พอได้แล้วมั้งลูก เห็นเล่นเกมมาตั้งนานแล้ว เดี๋ยวสายตาเสียหมด มากินข้าวได้แล้ว”
ลูก : “ขออีกหน่อยนะแม่ กำลังมันส์เลย โอ้ย ทำไมเน็ตช้าเป็นเต่าแบบนี้”
บทสนทนาเล็ก ๆ ระหว่างแม่ลูกหรือคนในครอบครัว ที่อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือทำให้เด็กหลายคนที่ติดเกมอารมณ์เสีย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย โมโห เกรี๊ยวกราดอย่างมาก เมื่อโทรศัพท์หาย ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม
.
เชื่อว่าหลาย ๆ บ้าน คงเคยพบเจอกับอาการเหล่านี้ของลูกหลาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด19 เกือบ 3 ปี ที่เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์ ติดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ จนนำไปสู่ปัญหาการติดเกม ที่พบเพิ่มขึ้นกว่า 14% สอดคล้องกับปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็กที่มีความซับซ้อน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ซึมเศร้า เก็บกด ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ละเมิดกฎระเบียบ และต่อต้านสังคม แต่เมื่อได้เล่นเกม พวกเขาก็จะอารมณ์ดี รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ

“หลัง ๆ มานี้ ปัญหาติดเกมรุนแรงขึ้น ผมเป็นจิตแพทย์ เจอเคสที่เป็นเด็กและวัยรุ่น เข้ามารับการรักษา ส่วนใหญ่ติดเกมตั้งแต่เด็ก และมีปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงตอนโต ส่วนพ่อแม่ที่เข้ามารับคำปรึกษา ก็ล้วนเป็นทุกข์มาจากลูก ไม่มีเวลาและไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร ปัญหานี้จึงไม่ได้กระทบเฉพาะกับตัวเด็ก แต่ยังลามไปถึงคนในครอบครัวและสังคมด้วย”

ผศ.ดร.นพ.วรภัทร รัตอาภา คณะทำงาน “โครงการ Chatbot เพื่อให้คำแนะนำปัญหาการติดเกม” เล่าถึงสถานการณ์เด็กติดเกมที่กำลังส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง จุดประกายกลายเป็นไอเดียแรกเริ่มให้ ผศ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข และทีมงานภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รวมถึง รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการดูแลเด็กติดเกม และการพัฒนาสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้มาเกือบ 20 ปี ร่วมกันพัฒนา “Chatbot ปรึกษาปัญหาติดเกม” เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงการบำบัดรักษาเด็กติดเกมได้อย่างถูกวิธี จึงเสนอโครงการนี้เข้าไปขอทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทั่งได้รับทุนประเภทความร่วมมือ ประจำปี 2564

“Chatbot ปรึกษาปัญหาติดเกม” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปรอพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย และต้องรอคิวนัดนาน ส่วนขั้นตอนการใช้งานก็ง่าย เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค๊ด หรือแอดไลน์ไปที่ @healthygamer ระบบแชทบอทก็จะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันไลน์ ผู้ใช้สามารถแชทพูดคุย ประเมินอาการ และขอรับคำปรึกษาได้โดยตรง เพื่อที่จะได้รู้ก่อน รู้เท่าทัน และเฝ้าระวังป้องกัน ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น

“การไปหาหมอ พ่อแม่ผู้ปกครองแต่ละคนแต่ละพื้นที่ ต่างมีโอกาสไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องรอหมอเฉพาะทาง ซึ่งบางพื้นที่ อย่างในต่างจังหวัด ก็ค่อนข้างมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ในโรงพยาบาลรัฐ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ไม่อาจเข้าถึงได้ หรือถ้าเข้าถึงได้ ก็ต้องใช้เวลานัดคิวนาน”

ทีมงานผู้ผลิตใช้เวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ทุ่มเทสรรพกำลังพัฒนาและทดสอบ “Chatbot ปรึกษาปัญหาติดเกม” หวังอยากให้เครื่องมือนี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบำบัดรักษาเด็กติดเกม แต่กว่าที่จะสำเร็จ ระหว่างทางก็ต้องเจอกับอุปสรรคและประเด็นท้าทายมากมาย ทั้งเรื่องของระบบเอไอที่มีความยากซับซ้อน และการสอนให้บอทตีความภาษาธรรมชาติ ตอบกลับไปยังผู้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง จึงอยากให้ผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกหลานกำลังจะมีปัญหาติดเกม รวมถึงผู้ที่สนใจ ได้ลองเข้าไปสัมผัสและใช้บริการ “Chatbot ปรึกษาปัญหาติดเกม” กันดูสักครั้ง อาจจะช่วยให้ลูกหลานถอยห่างจากเกมและใช้เวลาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

#กองทุนสื่อ #Chatbotปรึกษาปัญหาติดเกม
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund