“สวัสดีครับ ผมชื่อติ๊กต็อกครับ เป็นแชทบอทในโครงการ Chatbot เพื่อให้คําแนะนําปัญหาการติดเกม” น้องติ๊กต็อกส่งข้อความทักทายตอบกลับทันที เมื่อมีผู้ใช้งานสแกนคิวอาร์โค้ด หรือแอดไลน์ไปที่ @healthygamer กดเพิ่มเพื่อน เข้ามาขอรับคำปรึกษาในแชทบอท ก็จะมีเมนูให้เลือกมากมาย ใน 3 หัวข้อสำคัญ เช่น รู้ได้ไงว่าลูกติดเกม เมื่อคลิกเข้าไปก็จะมีเมนูให้ทำแบบทดสอบการติดเกม แบบทดสอบติดสื่อออนไลน์ แบบทดสอบการเลี้ยงลูก และแบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต ทั้งฉบับของตนเองและฉบับผู้ปกครองให้ได้ทดลองทำ เพื่อวัดระดับอาการที่เป็นอยู่ว่าเข้าข่ายติดเกมและต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่ อีกทั้งยังมีหัวข้อคำถามที่พบบ่อย รวมถึงสื่อวิดีโอและอินโฟกราฟฟิกความรู้เกี่ยวกับโรคติดเกม สัญญาณเตือน อันตราย สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ และการป้องกันอย่างถูกวิธี ไว้ให้ดูอีกด้วย
“Chatbot ปรึกษาปัญหาติดเกม” เปิดให้บริการฟรี มากว่า 1 ปีแล้ว จากความตั้งใจของ ผศ.ดร.นพ.วรภัทร รัตอาภา ทีมงานภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดเกมมาเกือบ 20 ปี ที่อยากจะสร้างเครื่องมือช่วยให้ผู้ปกครองได้เข้าถึงคำปรึกษาเบื้องต้นและข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่ต้องเดินทางไกล หรือไปรอคิวนานเพื่อพบแพทย์เฉพาะทาง จึงนำไอเดียนี้ไปเสนอกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนได้รับการทุนประเภทความร่วมมือ ประจำปี 2564 มาพัฒนาเอไอ “น้องติ๊กต็อก” แชทบอทแก้ปัญหาติดเกม ซึ่งใช้เวลาพัฒนาและทดสอบอยู่เกือบ 1 ปี ทั้งในส่วนของเนื้อหาและการสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิก่อนนำข้อมูลไปใส่ในแชทบอท และทดลองใช้จริง
เป้าหมายทีมผู้ผลิตอยากให้ตัวแชทบอทเข้าใจภาษา และสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ได้ เหมือนคุยกับคน ซึ่งมันค่อนข้างยาก ฉะนั้นเมื่อบอทตอบคำถามกลับไปยังผู้ใช้งาน ทีมงานจะนำคำตอบเหล่านั้นมาตรวจสอบอีกครั้งว่าบอทตอบได้เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเหมาะสมก็ให้เรียนรู้ด้วยลักษณะคำตอบแบบนั้น แต่ถ้าไม่เหมาะสม ก็จะเปลี่ยนคำให้มันเกิดการเรียนรู้ใหม่ว่าควรตอบอย่างไร รวมถึงสิ่งที่ผู้ปกครองถามซ้ำ ๆ คำที่ใช้บ่อย ๆ ก็จะเข้าไปสู่การเชื่อมโยงในส่วนที่เป็นเป้าหมายที่ผู้ปกครองต้องการได้เร็วขึ้น
“มีหลายประเด็นที่เป็นอุปสรรคท้าทาย ข้อจำกัดแรกที่เราพยายามเอาชนะมัน ก็คือความแม่นยำ และการตีความภาษาธรรมชาติของบอทให้เข้าใจภาษาคน การเข้าใจข้อความที่ผู้ใช้งานพิมพ์เข้ามา และการเข้าใจบทสนทนาของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบอทมันจะเข้าใจได้ยาก เช่น บางครั้งเจอบทสนทนาที่ใช้คำยาวเกินไป หรือใช้คำที่ไม่เคยถูกเรียนรู้มาก่อน ก็เป็นความยากที่บอทจะเข้าใจและตอบคำถามได้ ”
ในการพัฒนาช่วงแรก จึงมีนักจิตวิทยาที่เป็นคนจริง ๆ มาคอยช่วยตอบคำถามแทนบอทด้วย โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกฟังชั่นคุยกับนักจิตวิทยาได้โดยตรง และถ้าพบคนที่มีปัญหาหนักจริง ๆ ก็จะแนะนำให้เข้าสู่ระบบการรักษา ส่วนคนที่ไม่ได้มีปัญหามาก สามารถรับคำปรึกษาใน Chatbot ได้จนจบ ซึ่งทางทีมงานจะนำคำพูดและข้อความต่าง ๆ ไปใส่ในระบบให้บอทเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่ง และเมื่อได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความผิดพลาดก็จะน้อยลง
“ในกระบวนการทำงานของบอท ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง ผู้ใช้ก็คงไม่อยากคุยด้วย โดยเฉพาะข้อคำถามชุดที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับมนุษย์ และพฤติกรรม ที่มีหลากหลายมาก เช่นเดียวกับลักษณะการใช้คำหรือประโยคในภาษาไทย อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่า เพราะฉะนั้นแชทบอทก็อาจยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ในฟังชั่นที่ต้องการปรึกษาปัญหาเยอะ ๆ ”
ฟีดแบคที่ส่งเข้ามาจึงมีทั้งคำชื่นชมและข้อแนะนำ ส่วนใหญ่บอกว่าแชทบอทมีประโยชน์มาก แต่ควรพัฒนาให้เข้าใจภาษามนุษย์ ความซับซ้อนของประโยค โต้ตอบได้ตรงคำถามมากขึ้น
“เสียงสะท้อนเหล่านี้ ไม่ว่าจะด้านบวก หรือด้านที่ต้องพัฒนาเพิ่ม ผมรู้สึกว่าตรงนี้มันทำให้เราเข้าใจคนใช้งานได้มากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้ว เขาอยากให้มันเป็นยังไง อยากใช้งานอย่างไร แบบไหน และความต้องการของเขาคืออะไร” ผศ.ดร.นพ.วรภัทร กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงดีใจ ที่อย่างน้อยทีมงานก็เดินมาถูกทางแล้วในระดับหนึ่ง มีคนเห็นคุณค่ามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเด็กติดเกมให้กับสังคมได้
#กองทุนสื่อ #Chatbotปรึกษาปัญหาติดเกม
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ความเห็นล่าสุด