เลือกหน้า

ในโลกซึ่งไม่เคยถูกอุกกาบาตพุ่งชน ไดโนเสาร์และมนุษย์มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกันในสังคม “เอพี” เด็กชายชาวมนุษย์คนหนึ่ง อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ เนื่องจากพ่อแม่ของเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว

“แป้งบางกรอบ หน้าทริปเปิ้ลโฟร์ชีส ว้าว แถมหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วด้วย สุดยอดจริง ๆ เลือกหมาละกัน จะกดแล้วนะ”

ระหว่างที่ เอพี นั่งเล่นแท็บเล็ต และกำลังจะกดสั่งซื้อพิซซ่าอยู่นั้น สัญญาณไวไฟก็ถูกตัดพอดี หลังจากพ่อซึ่งเป็นไดโนเสาร์พยายามไปเปลี่ยนฟิวส์ตู้รับสัญญาณทีวีที่หน้าบ้าน แต่ดันตัดสายผิด ไปพลาดตัดสายไวไฟขาด

“ไม่!!! นะ เอาสัญญาณไวไฟกลับมาเดี๋ยวนี้ ผมจะกินพิซซ่า”
เอพี ตะโกนโวยวายเสียงดัง จนแม่ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ ต้องรีบเข้ามาปลอบ ชวนพูดคุยถามว่า เอพี กำลังโกรธและรู้สึกผิดหวังใช่ไหม และเมื่ออารมณ์เย็นลง แม่ก็ชวนเอพีไปทำพิซซ่าทานเอง สอนให้นวดแป้ง สอนให้รู้จักรอ เพราะการทำพิซซ่าต้องใช้เวลาอบแป้งนานกว่า 1 ชั่วโมง

ระหว่างนั้นแม่ก็ชวนเอพีไปช่วยพ่อเก็บของ กระทั่งครบเวลาได้ทานพิซซ่าที่ทำเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอนให้รู้ว่า “ความพยายามสร้างได้ ด้วยการอดทน ทำได้ในสิ่งที่ยาก แม้ว่าเราจะไม่ชอบ”

เรื่องราวของเด็กชายเอพีและครอบครัวไดโนเสาร์ที่เกิดขึ้น ถูกถ่ายทอดอยูในการ์ตูน“ ไดโนแอลฟา” ตอนความพยายามสร้างได้ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ตอน ของการ์ตูนแนวไซไฟสำหรับเด็กก่อนวัยประถม ที่ นภดล แก้วบำรุง และทีมงานผู้สร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องปังปอนด์และก้านกล้วย ร่วมกันผลิตขึ้น จากไอเดียที่ได้มาจากเรื่องราวใกล้ตัว การเลี้ยงลูกชายคนเล็กวัย 6 ขวบ ซึ่งมีความแตกต่างจากการเลี้ยงลูกชายคนโตที่มีอายุห่างกันถึง 11 ปี อยู่ในวัย Gen Z ค่อนข้างมาก
.
“ผมเชื่อว่าพ่อแม่หรือคนส่วนใหญ่ อาจยังไม่ค่อยรู้จัก ว่าจริง ๆ แล้ว Genแอลฟา คืออะไร เด็กวัยนี้เขาสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ไวจนน่าตกใจ จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การเปิดทีวี เปิดมือถือ หรือเล่นคลิปวิดีโอต่าง ๆ ส่วนลักษณะนิสัยก็จะมีความเป็นวัยทองสองขวบ มีenergyเยอะ เขาจะมีความง๊องแง๊ง ไม่นิ่งเหมือนเด็กยุคGen Z อยากรู้นั่น อยากรู้นี่ บางทีเราก็ให้เขาไม่พอ เราไม่ทันเขา”

จึงเป็นที่มาของการนำเสนอเรื่องราวความแตกต่างระหว่างวัย เพื่อทำให้สังคมเข้าใจเด็กGenแอลฟามากขึ้น ทั้งในแง่มุมของตัวเด็กเอง และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีการเลี้ยงดูพวกเขาใหม่

“การใช้คำว่า ไดโนแอลฟา ไดโนก็เปรียบเสมือนพ่อแม่ ผมพยายามอธิบายเด็กที่ดูการ์ตูนของเรา ให้เข้าใจบริบทของตัวเอง ว่าเขาคือ Genแอลฟา ที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยแบบนี้ ซึ่งถ้าทุกคนได้รู้ว่าตัวเองเป็นยังไง ยอมรับในความเป็นเรา แล้วเราก็จะยอมรับคนอื่นได้ เช่น เด็กเกเรเพราะต้องการอะไรสักอย่าง เมื่อดูการ์ตูนแล้วเขาจะเข้าใจว่า อ๋อที่เป็นอย่างนี้ เพราะรุ่นพ่อแม่เขาเป็นแบบนี้มาก่อน เด็กจะซอฟลงและหันหน้ามาคุยกัน ไม่ใช่จะเอาอะไร ก็จะงอแงเอาให้ได้ดั่งใจ”

การ์ตูนชุด“ไดโนแอลฟา” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565 เริ่มนำเสนอตอนแรกเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางช่อง ALTV และช่อง Thai PBS สามารถชมย้อนหลังได้ที่ ยูทูบ Dino-Alpha โดยในการ์ตูนชุดนี้ทั้ง 10 ตอน

เด็กชายเอพีและครอบครัวไดโนเสาร์ของเขา จะพาไปชมความสนุกสนานและข้อคิดที่จะได้เรียนรู้จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในแต่ละตอน ซึ่งล้วนแต่ช่วยให้เด็กGenแอลฟาและพ่อแม่มีความเข้าใจกันมากขึ้น นอกจากตอนความพยายามสร้างได้ ก็ยังมีตอน พ่อผู้ไม่อยากเปลี่ยนแปลง , ดาบสองคมของโซเชียลมีเดีย , เพื่อนในอุดมคติ , อดเปรี้ยวไว้กินหวาน , แม่ที่มีอยู่จริง , ระดมสมอง , คำตอบไม่ได้มีหนึ่งเดียว , เห็นความทุกข์ของผู้อื่น , และ ตอนสร้างอนาคตร่วมกัน

“เราอยากให้มีคนรู้จักและเข้าใจเด็กGenแอลฟามากขึ้น ว่าควรจะต้องดูแลในทางที่เหมาะสมอย่างไร ถ้าทิ้งขว้างเขา หรือเลี้ยงแบบเดิม ๆ เปรียบเทียบง่าย ๆ พ่อแม่ในยุค GenZ ก่อน Gen แอลฟา จะตีความว่าไม่ควรยื่นมือถือ หรือไอแพด ให้ลูกเล่น แต่ Gen แอลฟา ไม่ใช่แล้ว

เราจะต้องรู้ว่าควรยื่นยังไง จัดการเวลายังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมาก เพราะถ้าไม่ให้เขาเล่น เขาก็จะไม่รู้ ไม่ทันเพื่อน แต่ถ้าให้เล่นมากเกินไป เขาก็เพี้ยน มันคือ Gen ใหม่ ที่เราไม่สามารถเลี้ยงดูเหมือนเด็ก Gen เดิม ๆ ได้อีกแล้ว” นภดล แก้วบำรุง ผู้สร้างการ์ตูน “ไดโนแอลฟา” ย้ำเตือนทิ้งท้าย หวังจุดประกายให้พ่อแม่ในยุคนี้ได้ไปคิดต่อ และหาข้อมูลมาดูแลลูก Gen แอลฟา ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข